วีระชาญ อุสาหะนันท์

วีระชาญ อุสาหะนันท์

“ผมเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ครับ ตอนนั้นเริมจากการเป็นลูกมือเขียนโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ ที่โรงหนังแถวๆ เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อเรียนจบมัธยมฯ ก็ตั้งเข็มทิศมุ่งหน้าเข้าเรียนศิลปะอย่างเดียว มาสอบเข้าโรงเรียนเสาวภา ได้เป็นรุ่นที่ 2 ชีวิตก็เริ่มพลิกผัน เมื่อมีบริษัทจากออสเตรียเข้ามาในเมืองไทย เขาหาช่างวาดภาพไปซ่อมภาพฝาผนังที่ประเทศเขา ก็เลยไปสมัคร ตอนนั้นอยากไปเรียนดนตรีเพิ่มเติมด้วย บอกกับพ่อว่าจะหาเงินส่งเรียนเอง ตอนนั้นไม่ได้มองศิลปะการเขียนรูปเลย ได้แต่ชอบเท่านั้น พอไปถึงเวียนนา เขาให้ไปเขียนภาพตามฝาผนัง ก็ได้เงินคิดเป็นชั่วโมง ผมบอกกับเขาว่าอยากจะเรียนด้านดนตรีด้วย หลังเลิกงาน หัวหน้าก็เลยพาไปสมัครที่เวียนนาอะคาเดมี่ซึ่งดังมากๆ มีเปิดสอนหลายแผนกทั้งดนตรีและศิลปะ แต่พอเริ่มเรียนดนตรีจริงๆ จังๆ มันไปไม่ไหว ก็ขอเปลี่ยนสาขา หันมาเรียนศิลปะ โชคดีที่มีอาจารย์ดีๆ เขาก็รับไปอยู่ด้วย เรียนศิลปะเป็นเรื่องเป็นราวและทำงานไปด้วย จากนั้นก็มุ่งหวังที่จะเป็นศิลปินอย่างเดียว โดยเรียนแนว Realistic Fantasy

 

“มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์บอกว่าทำไมเขียนภาพแฟนตาซีมาเยอะ ทำไมไม่เขียนภาพหน้าคนแบบแฟนตาซีบ้าง จะได้มีคนดูเข้าใจมากขึ้น ผมเลยเขียนหน้าอาจารย์ แล้วเผอิญอาจารย์แนะนำให้รู้จักกับมิสเตอร์เปรช ซึ่งเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวออสเตรีย ก็พูดคุยถูกคอเพราะเขาชอบมาเมืองไทยมาก ผมเลยเสนอตัวที่จะเขียนใบหน้าของเขา พอเขียนเสร็จเขาตื่นเต้นมากถึงกับปลดภาพศิลปินใหญ่ที่ติดอยู่ด้านหลังโต๊ะทำงานออก แล้วเอารูปที่ผมเขียนมาแขวนแทน เขาบอกว่าวิธีนี้สร้างสรรค์ เพราะไม่มีใครเขาทำกันในยุคนั้น อย่างพวกยุโรปจะเขียนหน้าคนเป็นการ์ตูน แต่ของผมเขียนเหมือนจริง แต่มีลูกเล่นแฟนตาซีรอบๆใบหน้า จากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในออสเตรีย ผมใช้ชีวิตอยู่ที่เวียนนาเกือบทศวรรษ มีงานแสดงศิลปะในยุโรปมากมายในช่วงพ.ศ. 2534-2541 พอปี พ.ศ. 2543 ก็กลับมาแสดงผลงานชุดแรกที่ประเทศไทยชื่อชุดว่า The Fantasy Portraitที่ศูนย์การค้าเกสรพลาซ่า ช่วงนั้นขอยืมภาพที่ผมเขียนหน้าฝรั่งและเพื่อนๆ ส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงด้วย เพราะผมอยากกลับบ้านมาก รู้สึกเหงา ต่อมาผมก็ขายบ้านและงานที่ผมสร้างสรรค์มาทั้งหมด เพื่อเป็นค่าบินมาตั้งรกรากในเมืองไทยเมื่อปี ค.ศ.2000

 

“ตอนที่กลับมาประเทศไทยใหม่ๆ ยังเคว้งอยู่ แฟนผมเขาเปิดร้านขายผ้าไหม เขียนภาพและผ้าบาติค อยู่ที่เกสร พลาซ่า มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์ช่วง มูลพินิจ เดินมาเห็นรูปที่ผมเขียนหน้าแฟนแขวนติดอยู่ในร้าน ท่านจึงเข้ามาถามว่าใครเขียน พอรู้ว่าเป็นผมเขียนจึงเข้ามาคุยด้วย ผมนับถืออาจารย์ช่วงตั้งแต่เด็กๆ เผอิญตอนนั้นผมจะแสดงงานที่เมืองไทยพอดี จึงขออนุญาตเดินทางไปที่บ้านท่านเพื่อเขียนหน้าอาจารย์เพื่อเป็นมงคลชีวิต เสร็จแล้ววันงานจึงกราบเรียนเชิญให้ท่านมาเปิดผ้าแพร เป็นงานชุดแรกในประเทศที่ค่อนข้างฮือฮามากในสมัยนั้น

 

“จากนั้นก็เริ่มค้นหาแก่นแท้ของชีวิตว่าจะสร้างสรรค์งานทำอะไรต่อ เพราะเราเรียนศิลปะมา เราเคารพพระพิฆเณศอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ผมยังไม่รู้เลยว่านับถือทำไม แต่เขาว่ากันมาผมก็ว่าตามไป เหมือนกับได้ยินผู้ใหญ่บอกต่อๆ กันมา จากนั้นก็ไปอ่านประวัติพระพิฆเณศพร้อมกับสืบเสาะไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครบอกเราได้ว่าคืออะไร ตอนนั้นผมพอจะมีเงินทุนอยู่บ้าง ก็เลยบินไปที่อินเดียเนปาล บาหลี อินโดนีเซีย

 

“แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาเพราะเรานับถือ ผมเขียนภาพท่านแล้วรู้สึกว่าสบายใจ นิ่ง สงบ มีสมาธิและสติ อีกอย่างผมเรียนศิลปะมาผมไม่เคยเขียนพระพิฆเณศเลย พอเขียนรูปแรกออกมาแล้วรู้สึกว่ามันเข้าไปลึก เราเริ่มมองอะไรออกหลายๆ อย่าง ในขณะเดียวกันผมก็เริ่มเขียนโดยไม่ได้เงินสักสลึง ผมเขียนโดยไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพราะช่วงที่เขียน ผมไม่รับงานอื่นเลย ผมบอกกับท่านว่าผมจะเขียนพิฆเณศ แต่ให้ท่านช่วยให้ผมทำงานพอแล้ว เชื่อมั้ย ผมจะเอาอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเหลือตลอด ไม่ว่าเรื่องกรอบรูป เรื่องผ้าใบ สี และปัจจัย

 

“ผมอยากทำงานตรงนี้จบให้ได้ ผมเคยจัดงานที่ริเวอร์ไซด์ งานใหญ่มากแต่แทบไม่ได้ใช้เงิน ผู้รับเหมางานผม เขาส่งทีมงานมาช่วย 50 คน เขาทำด้วยพลังศรัทธาในพิฆเณศ เมื่อมีคนมาชมงาน เขาเห็นแล้วเขารู้สึกว่ามันคืออะไร ผมสื่อถึงอะไร ส่วนแรงบันดาลใจที่ผมทำเพราะผมอยากรู้ว่าผมนับถือเพราะอะไรมากกว่า แล้วทำไมต้องนับถือท่าน ผมจึงไปค้นหาคำตอบ เขียนภาพด้วย เพื่อให้ได้คำตอบ อย่างแฟนผมเขาก็บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนคนไทยทั่วๆ ไป แต่ผมไม่ไหว้หรือบูชาตามเขา เพราะผมถือว่าผมเขียนรูปท่าน ก็เหมือนกับผมบูชาท่านแล้ว

 

“ผมไม่อยากให้พิฆเณศเป็นเหมือนองค์จตุคามฯ ที่ผู้คนนับถือแล้ว ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าคืออะไร นั่นคือความมุ่งหมายที่แปลออกมาเป็นรูปธรรมร่วมสมัย ผมเกิดปีหนูผมก็นำสัญลักษณ์หน้าตาของผมใส่ แต่ตัวเป็นหนูอยู่บนหลังแมว เพราะหนูคือบริวารพระพิฆเณศ มีศิวลึงค์ เขียนให้รู้สึกว่าเข้าถึงจริงๆ เขาจะไม่ได้มองเห็นเป็นเรื่องอนาจาร อย่างปางหนี้สิน มีห้าเศียรในงานของอินเดียจะนั่งอยู่บนสิงโต เมื่อมองดูจะไม่เกิดอารมณ์ สิงโตเป็นสัตว์ที่ทรงพลังมาก เราทำให้ดูบาปด้วยความมีพลังแห่งความเมตตาด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยความมุ่งหมาย ภายในภาพจะมีเรื่องราวซ้อนเต็มไปหมด ผมอธิบายรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะเขียนมากับมือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องเป๊ะๆ อาจจะมีไหลไปบ้าง อย่างผู้หญิงถือค้อนกับเคียว ด้านบนของภาพไม่ใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเรื่องเพศแม่ ผู้สร้างโลกมากกว่า เป็นเรื่องของแรงงานกับเกษตร เราให้เกียรติผู้หญิงมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ว่าผู้หญิงนั้นเป็นใหญ่ แต่ต่อมามีผู้ชายเข้ามาปฏิวัติต่างๆ ที่เห็นกันอยู่ตรงนี้

 

“ภาคที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ ภาคอวตาร พระอุฉิษฎะ คณะปติ ภาคแห่งความรัก มีรูปลักษณ์เชิงสังวาส ผมเอาความกล้าหาญของผมเขียนลงไป แต่สังคมบ้านเรารับไม่ได้ ผมแสดงงานครั้งแรกโดนเลย เจอโจมตีในเว็บไซต์เสียๆ หายๆ แต่ปรากฏว่ารูปที่โดนโจมตีมากที่สุด ก็มีคนซื้อ คือคนซื้อเขาเข้าใจ ทีนี้คนที่โจมตีเขาไม่ได้ไปดูของจริง เขาดูเฉพาะในเว็บไซต์ที่นำไปลงไว้เท่านั้น ผมมองว่าเขายังเป็นเด็ก เหมือนเด็กมือบอนทั่วไปที่เที่ยวโทรศัพท์ส่งข้อความไปบนจอโทรทัศน์ แล้วเว็บก็ลงไปโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ โดนเต็มๆเลย (หัวเราะ) เพราะในเว็บไซต์เป็นภาพที่ไม่มีคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ผมโดนอย่างนี้ก็ไม่ได้หมดกำลังใจนะ ผมอยากจะเอาชนะ กะว่าต้องเขียนให้เขาดูให้เขาเข้าใจให้ได้”

อาจารย์วีระชาญ คือผู้เคี่ยวกรำในห้วงมหรรณพ