ถิรชัย วุฒิธรรม

ถิรชัย วุฒิธรรม

บิ๊กแป๊ะ หรือ คุณถิรชัย วุฒิธรรม คือผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการกีฬามากกว่า 30 ปี เรียกได้ว่าถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ บอกได้ว่าเขาคือตัวจริงสำหรับวงการนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนากีฬาหลายๆ ชนิด ดำรงตำแหน่งด้านการกีฬาและอื่นๆ มานับไม่ถ้วน อาทิ เคยเป็นทั้งอุปนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อุปนายกสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทย และปัจจุบันเป็นประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติ ประธานมูลนิธิฟุตบอลชาติไทยอีกด้วย

เรื่องราวชีวิตของเขาได้ผ่านประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจ การเมือง และที่สำคัญเขาคือคนที่ผลักดันวงการกีฬาไทยให้เทียบอยู่ในสากลในหลายชนิดกีฬา แต่กว่าจะประสบความสำเร็จมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาคุยถึงเรื่องราวในชีวิตของเขาที่แทบจะไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 

“ผมกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเสียตั้งแต่ผม 5 ขวบ ครอบครัวผมก็เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่ได้มีเงินมากมาย ถึงเวลาไปโรงเรียนพี่น้องผมเราก็ไปกันตามอัตภาพ โชคดีที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ที่วัดใกล้ๆ บ้านคือวัดประยุรวงศาวาสฯ แถวสะพานพุทธฯเพราะความสามารถในการอยู่รอดในวัดอุดมสมบูรณ์กว่า ผมไปอยู่วัดก็ไปถือปิ่นโตให้พระตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ครั้งแรกที่เดินตามพระก็หลงทาง เพราะตรงนั้นมันมี 2 สะพานคือสะพานพุทธฯ กับสะพานพระปกเกล้าฯ หลงทางจนตำรวจต้องพามาส่งที่วัด 

“ตอนเด็กผมเรียนอยู่ 3 โรงเรียน คือ ทวีธาภิเษก สามเสนวิทยาลัย แล้วก็อำนวยศิลป์ ไล่มาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นโรงเรียนกีฬาเป็นส่วนใหญ่ แล้วผมก็เล่นกีฬามาโดยตลอด สาเหตุที่ทำให้ผมเล่นกีฬาก็เพราะกีฬาทำให้เรามีชื่อเสียง เป็นนักกีฬาโรงเรียนได้รับทุน ได้รับการดูแลอะไรต่างๆ ตามมา พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้มีโอกาสไปเป็นนักฟุตบอลของแบงค์กรุงเทพในขณะนั้น ของท่านบุญชู โรจนเสถียร ก็มีเงินเดือนมาจุนเจือชีวิต ตอนนั้นแบงค์กรุงเทพโด่งดังมากเรื่องสโมสรฟุตบอล 

“ในวัยรุ่นผมอยู่วัดเป็นทางสองแพร่ง คือถ้าเรียนกลับมาเร็วก็มั่วสุมนั่งราวสะพาน เพราะไม่มีอะไรทำ แต่เราอยากใช้เวลาอยู่โรงเรียนมากๆ หลังเลิกเรียนก็ต้องเล่นกีฬา เพื่อที่อยากจะหลีกเลี่ยง ผมอาจจะมีความคิดที่โตเร็วกว่าพวกเพื่อนๆ คือไม่อยากกลับมามั่วสุม เรามีความรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ สมัยนั้นยาเสพติดเริ่มระบาด เราอยากจะหนีโดยใช้กีฬา ก็เลยเล่นกีฬา ผมก็เข้าไปคุยกับหลวงพ่อว่าจะทำตรงนี้ พอผมเล่นกีฬาก็เกิดการยอมรับในกลุ่มมั่วสุมเหมือนกัน กลุ่มตรงนี้เขาก็จะไม่มาระรานเพราะเขาเห็นว่าเราเล่นกีฬา จึงไม่มาชวนเราไปเสีย แล้วพอผมไปแข่งกีฬากลายเป็นว่าพวกกลุ่มนี้นี่แหละที่เข้ามาเชียร์ ซึ่งก็ถือว่าผมรอดจากตรงนี้ไปได้ มันเหมือนทางสองแพร่งว่าเราจะเดินทางไหน นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องกตัญญูต่อกีฬาที่ชุบชีวิตเรา โอกาสในชีวิตผมเกิดจากกีฬาทั้งนั้น ไม่ใช่จากฐานะทางบ้านเลย เมื่อมีโอกาสผมจึงคืนกลับไปให้สังคมกีฬามาโดยตลอด” 

เล่นกีฬาเปลี่ยนชีวิต 

“ในช่วงเวลาที่ผมเรียนอุดมศึกษาตอนปลาย พี่น้องผมก็เรียนจบหมอกันหมดแล้ว เขาก็เริ่มมีฐานะพอที่จะทำอะไรได้บ้าง เพราะก่อนหน้านั้นทุกคนก็ดิ้นรนไปอยู่วัดกันหมด ผมเองก็ได้ทุนจากกีฬาไปเรียนประเทศสหรัฐอเมริกา ไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ลำบากอะไรเพราะการหากินเอง ช่วยเหลือตัวเองทำอะไรต่างๆ ได้ เพราะเราทำมาจนชินแล้วจากตอนที่อยู่วัด

“ส่วนในมหาวิทยาลัย สำหรับผมก็เหมือนโชคดีอีก ที่ได้ไปร่วมทีมทางด้านกีฬาในมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้รับการยอมรับ พวกอเมริกันเขาก็ถามผมว่าเล่นกีฬาอะไรเป็นบ้าง ผมบอกว่าเล่นฟุตบอลเป็น แล้วเมื่อสมัย 40 -50 ปีก่อน ประเทศอเมริกาเขาก็ยังไม่ได้เก่งฟุตบอล พอผมไปเล่นก็เลยได้เข้าร่วมทีมของมหาวิทยาลัย แล้วที่นั่นก็มีชุมชนคนไทย เขาก็จัดแข่งประจำปี พอเรามีกิจกรรมทำก็มีเพื่อน พอทำอะไรก็เลยได้รับความร่วมมือ ได้รับความสะดวกสบาย ทั้งหมดมันมาจากกีฬาอย่างเดียวเลยที่สร้างสถานภาพทางสังคมให้ผม 

“หลังจากเรียนจบ ผมกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต) ในยุคอาจารย์ไสว สิทธิพิทักษ์ พอเป็นอาจารย์ได้ระยะเวลาหนึ่งผมก็ไปอยู่ในกลุ่มของ PSA Group สมัยนั้นถือว่าเป็นนักบริหารที่เป็นรุ่นยังเติร์กที่สุด ภายใต้การนำของคุณพร สิทธิอำนวย, คุณอํานวย วีรวรรณ, คุณสุธี นพคุณ ด้านเงินทุนก็มาจากคุณบุญชู โรจนเสถียร คือธุรกิจไหนขาดทุนก็ซื้อเข้ามาบริหารใหม่ แล้วธุรกิจใดที่เห็นว่ามีแววดีก็ไปเปิดใหม่ เราทำหลายธุรกิจครับ เช่น ข้าวแกงราม่า โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ซึ่งสมัยก่อนชื่อ รามาทาวเวอร์ บริษัทยูเนี่ยนโซดา เราก็ซื้อมาบริหารใหม่ 

“กลุ่ม PSA Group จะทำงานเยอะครับ ผมก็อยู่ตรงนั้นมาแล้วถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ขยายทำอะไรไปเรื่อย จนผมถูกชักชวนให้มาเป็นผู้บริหารที่ไทยประกันชีวิตอยู่พักนึง แม้ว่าในด้านหนึ่งผมดำเนินชีวิตเป็นนักธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งผมก็เริ่มเข้ามาสู่ในวงการกีฬาด้วยเหมือนกัน”

ชีวิตผู้จัดการทีมกีฬา

“ผมเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลเยาวชนไทยเป็นครั้งแรกตอน ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ติดทีมครั้งแรก ผมกับเขามีอะไรที่เหมือนกันก็คือปิยะพงษ์ติดทีมชาติครั้งแรก ผมก็เป็นผู้จัดการทีมครั้งแรกเหมือนกัน ปิยะพงษ์ ติดทีมชาติครั้งสุดท้าย ผมก็เป็นผู้จัดการทีม คือที่ซีเกมส์ที่อินโดนิเซีย ซึ่งเราได้แชมป์เป็นสมัยที่ 3 เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นคู่บารมีกันก็ว่าได้ 

“ในวงการฟุตบอล สมัยก่อนการเป็นผู้จัดการทีมไม่ต้องหาเงินเข้าสมาคมเลย เพราะสมาคมในยุคก่อน มีงบประมาณจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย แล้วไม่มีคนที่แสวงหาชื่อเสียงทางการเมืองด้วยกีฬา มีหลายคนที่มีเงินแล้วไม่คิดจะเล่นการเมือง แต่เข้ามาช่วยในสมาคมอย่างจริงจังเยอะ ที่ผมเข้ามาทำเพราะชีวิตผมเริ่มต้นชีวิตจากกีฬา ก็เลยอยากจะเข้ามาตอบแทนบุญคุณให้กับวงการกีฬา

“นอกจากเรื่องของฟุตบอลแล้วผมยังมีโอกาสได้เข้ามาสู่วงการกีฬาด้านอื่น อย่างวันนึงเจ้าของแกรนด์สปอร์ตไปชวนคุณพิศาลมูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นนายกสมาคมวอลเลย์บอล ตอนนั้นวอลเลย์บอลตกต่ำมาก ทีมหญิงไม่เคยไม่ได้เหรียญอะไรมาหลายปี แม้กระทั่งซีเกมส์ คุณพิศาลก็บอกให้ผมมาช่วยสมาคมวอลเลย์บอล ให้มาเป็นประธานพัฒนาและวางแผน ผมบอกท่านว่าผมดูวอลเลย์ไม่เป็น นับแต้มยังไม่เป็นเลย สงสัยมองผิดคนแล้วครับ ปรากฏว่าท่านบอกว่าผมเข้าใจผิดแล้ว ทุกอย่างมันเป็นไปได้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการบริหารการจัดการ คนเราไม่ต้องเป็นทุกอย่าง แค่มีแผนงานบริหารที่ดีก็เพียงพอ

“ผมจึงกลับมานั่งวิเคราะห์ว่าประเทศไหนที่วอลเลย์บูมที่สุด ช่วงเวลานั้นก็มีจีนกับญี่ปุ่น แล้วโตโยต้ามีทีมวอลเลย์บอลอยู่ เราก็ขอไปฝังตัวอยู่ที่ญี่ปุ่น 3 เดือน พอกลับมาแข่งซีเกมส์ก็ได้เหรียญเงิน ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ผมจึงได้แง่คิดจากท่านว่าการจะทำอะไรไม่ต้องเก่งมาก่อน แต่มันอยู่ที่การบริหารจริงๆ และนั่นก็คือสิ่งที่สืบทอดกันมาจนกลายเป็นความสำเร็จของวอลเลย์บอลจนถึงปัจจุบัน 

“ผมเป็นผู้จัดการทีมหญิงในยุคบุกเบิก เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ที่เป็นโค้ชก็เป็นนักวอลเลย์หญิงตอนนี้ เขาก็เคยเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลบอลทีมชายในยุคของผมเหมือนกัน 

“หลังจากนั้นผมได้เป็นนายกสมาคมทั้งเทนนิส สนุกเกอร์ โบว์ลิ่ง รักบี้ ผมเคยเป็นมาหมด แต่ผมเป็นแล้วไม่เคยผูกขาดตำแหน่งพอน้องในสมาคมอยู่กันดี ก็ถึงเวลาที่ผมต้องลุกออกมาเปิดโอกาสให้คนอื่นบ้าง มันจึงเป็นคำตอบว่าผมไม่เคยยึดติด ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตาม ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องมาอาศัยเพื่อหากินกับกีฬา มันต้องมีแต่ให้ จะรับอย่างเดียวไม่ได้ พอให้ มันก็อยากให้แพร่หลาย ไม่ใช่แค่กีฬาประเภทเดียว อะไรที่ทำอะไรแล้วสนุก มันก็ทำให้เกิดเป็นคุณภาพชีวิต มันเป็น Quality Time และQuality of Life แบบนี้ผมว่ามันมีความสุขที่สุด

“พอทำงานหลายอย่างประสบความสำเร็จมากๆ เข้า พอเกิดปัญหาติดขัดอะไร ผมเอ่ยปากออกไปก็จะมีเพื่อนช่วยเหลือ ทำอะไรก็ง่ายขึ้น ความเป็นบิ๊กแป๊ะที่สื่อเขาเขียนกันมันก็เป็นแบบนั้นแหละ มันมาจากกีฬา ไม่มีเรื่องอื่นเลย วงการกีฬาเขาก็ขนานนามสนุกสนานกันไปอย่างนั้นเอง”

กีฬาสร้างคน

“ในชีวิตผมมีอย่างนึงที่จะต้องทำก็คือ ผมจะสนับสนุนนักกีฬาอาชีพ นักกีฬาเก่งๆ ผมก็สร้างมาหลายคน แต่เรารู้ว่ามันยากลำบากกว่าเขาจะมาถึงตรงนี้ เราจะไปหวังจากรัฐบาลตลอดไม่ได้ เพราะลำพังแค่เขาดูแลเรื่องปากท้องก็เหนื่อยแล้ว หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังของคนเหล่านี้กว่าจะมาถึงตรงนี้มันเหนื่อยยาก ในช่วงที่ผมอยากทำ แต่ผมมีภารกิจอื่นก่อนเกษียณมีเยอะ อย่างตอนนี้ผมเกษียณแล้ว ตรงนี้ต้องใช้คำว่าบั้นปลายชีวิต ก็อยากจะเข้ามาทำเรื่องนี้เต็มตัว 

“นักกีฬาปัจจุบันพัฒนาไปถึงอาชีพแล้ว ปรัชญาของการเล่นกีฬามันมีอยู่สามอย่างคือ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และเล่นเพื่อเป็นอาชีพ ตอนนี้ทั้งโลกพัฒนาถึงขั้นที่สามแล้ว คือเล่นกีฬาเป็นอาชีพได้ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วใครจะคิดว่าตอนนี้นักฟุตบอลในไทยเงินเดือนเป็นแสน ต่างประเทศเป็นร้อยล้านหรือพันล้าน 

“กีฬาเทนนิสแกรนด์สแลมมีแข่งทุกสัปดาห์ กอล์ฟมีแข่งทุกสัปดาห์ รายได้เฉลี่ยมวลรวมของธงชัย ใจดี, ถาวร วิรัตน์จันทร์, จิรเดช อภิบาลรัตน์ นักกอล์ฟแนวหน้าของประเทศตอนนี้รวมกันแล้ว 5-6 ร้อยล้านบาทต่อปี นี่แค่เขาช่วยเหลือตัวเองนะ ไม่ได้มีทีมงาน ไม่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพเข้ามาช่วย ยังเติบโตได้ถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อสเต็ปของกีฬามาถึงตรงนี้แล้ว มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เกิดเป็นแนวคิดที่ว่าการเล่นกีฬาสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ แล้วประเทศเราก็ยังมีคนเก่งๆ จำนวนมากที่มีลูกหลานเก่งๆ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่ถูกทาง 

“ผมจึงพยายามทำโครงการนี้ให้เกิดภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยผมจะก่อตั้งมูลนิธิพัฒนากีฬาขึ้นมา อาจจะมีคนถามว่าทำไมต้องเป็นมูลนิธิ เพราะมันจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าเรามีเจตนารมณ์อย่างไร หลังจากนั้นมูลนิธิอาจจะไปมอบหมายงานให้บริษัทชั้นนำของไทยหรือต่างประเทศเข้ามาช่วยงานก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าผมบอกว่าผมตั้งบริษัทหลายคนอาจไม่มั่นใจเต็มร้อย แต่ถ้าเป็นมูลนิธิ ความร่วมมือมันจะสูง

“ถ้าวันหนึ่งผมประกาศออกไปว่าใครมีวัตถุดิบส่งมาที่ผม ผมมั่นใจว่าด้วยชื่อของผมจะมีคนพาลูกหลานมาให้ดูตัว ถ้าเป็นนักแสดงก็เหมือนกับเป็นพวกแคสติ้ง เราก็ต้องมาดูแล้ววางขั้นตอนให้เขา คือเรามองทั้งภาพรวมว่ามีแววขนาดไหน หน้าตายังไง เพราะสมัยนี้เป็นส่วนสำคัญมาก เหมือนอย่างในวงการเทนนิส เซเรนา วิลเลียมส์ เป็นแชมป์มากที่สุดคนหนึ่งในโลก แต่เงินและสิทธิประโยชน์น้อยกว่า มาเรีย ชาราโปวา 

“ความสุขของผมคือการที่ได้เห็นคนไทยดูกีฬา อย่างเช่นฟุตบอลมีการยิงลูกเข้าประตูคนเป็น 10 ล้านคนกระโดดดีใจในวินาทีเดียวกัน มันคือความสุข เงินกี่ร้อยล้านก็ซื้อความสุขแบบนี้ไม่ได้ วันที่ภราดรชนะอังเดร อากัสซี่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คนมากมายเท่าไหร่ที่ยืนดูอยู่ แล้วผมก็ฝันว่าจะไปกับพวกเขาในบั้นปลายของชีวิต คนไหนไปแข่ง ผมไปด้วย เพราะผมชอบดูกีฬาอยู่แล้ว 

“ที่กล่าวมาทั้งหมดผมอยากทำให้มันสำเร็จ ให้มันเกิดขึ้นได้จริงในปีนี้ แต่ความคิดแบบนี้คนที่มีภาระอื่นๆ เขาจะไม่ทำหรอกเพราะมันเสียเวลา 

“คือบ้านเมืองเราขณะนี้ความภูมิใจในความเป็นชาติมันลดลงมาก การแตกความสามัคคีกันมาก เพราะฉะนั้นกีฬาคือการรวมชาติคนที่ทำสำเร็จมาแล้วก็คือ เนลสัน มันเดลา ตอนที่เขามาเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ เพราะคนผิวขาวกับผิวดำรบกัน เขาก็ใช้กีฬารักบี้ โดยมีทั้งผิวขาวและผิวดำอยู่ในทีมเดียวกัน ถือเป็นการรวมชาติ เวลาที่ทีมวางไทด์ได้ ไม่ว่าผิวขาวหรือผิวดำเขาก็ดีใจกันหมด ไม่มีอะไรมาซื้อได้ ความสามัคคีมันก็ก่อเกิดขึ้นมา โดยกีฬามาเป็นสื่อตรงนี้

“ที่ผมทำตรงนี้ได้ ไม่ใช่ว่าผมมีฐานะการเงินที่ร่ำรวยมากมาย แต่ผมมีแนวร่วม มีเพื่อนฝูงที่เข้าใจในแนวคิดที่ร่วมทำธุรกิจกัน แล้วเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเสนอออกไป ผมคิดว่าคนเราต่อให้ผมมีเงินมหาศาลยังไงก็ทำไม่สำเร็จหรอก หากไม่มีแนวร่วม อย่าคิดว่าเงินจะทำได้ทุกอย่าง ใส่เท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก ถ้าไม่มีวิธีบริหารจัดการ คุณต้องมีเพื่อนที่เชี่ยวชาญแต่ละแนวทางมาช่วยกันคิดต้องมีศรัทธา ต้องมีทรัพยากรมาให้เรา เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด แต่ความเข้าใจสำคัญกว่า ผมสะสมเพื่อนเยอะ วันนึงที่ผมต้องการทำในสิ่งที่อยากจะทำ ก็จะมีคนที่มาร่วมมือกันทำด้วยความจริงใจ”

ครอบครัวที่เรียบง่าย

“ชีวิตครอบครัวของผมเรียบง่าย ไม่มีอะไร มีความสุขดี ลูกๆ ก็โตกันพอสมควร ทุกคนก็รับผิดชอบตัวเองหมด ผมบอกไว้เลยว่าไม่มีอะไรเหลือไว้ให้ ไม่มีมรดก มรดกของผมคือการศึกษากับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นใจ ผมไม่ต้องการให้ลูกสอบได้ที่ 1 เวลาที่ลูกเอาสมุดพกมาให้ดูเพื่อจะเอารางวัล ผมบอกไม่ให้รางวัลเพราะว่าลูกสอบได้ที่ 1 จากการเรียนเก่ง แต่ผมจะยินดีมากกว่าถ้าลูกมีกิจกรรม มีเพื่อนมาเที่ยวบ้าน แต่ถ้าสอบได้ที่ 1 แล้วไม่มีเพื่อนเลย แบบนี้ผิดหลัก เพราะคนเรามันเก่งคนเดียวไม่ได้ แต่ถ้ามีประกาศนียบัตรไปเข้าแคมป์ทำกิจกรรม อันนี้ผมจะให้รางวัล 

“แล้วอีกอย่างหนึ่งอย่ามาให้ผมสอนการบ้านผมจะไม่สอน ต้องไปถูกครูตีมาก่อน เพราะครูจะรู้ว่าคุณอ่อนอะไร ครูจะเป็นคนเกลาให้ถูกที่ ผมอยากให้เอาหลักการใช้ชีวิตจริงเป็นหลัก แทนที่จะใช้เงินนำทาง คืออย่างแรกต้องมีเพื่อน ต่อมาก็ต้องเผื่อแผ่คนอื่นคุณต้องรู้จักที่จะให้มากๆ 

“ลูกผมไปเรียนหนังสือเลยไม่ค่อยกดดัน กระเป๋าไม่เคยโตไปโรงเรียน ผมบอกแล้วว่าผมไม่สนใจ แล้วเรียนพิเศษอย่ามาหวังจะได้เงิน บ้านนี้ไม่เคยมีใครเรียนพิเศษ อย่างลูกชายคนโตของผมเรียนที่โรงเรียนสาธิตเกษตรตอน ม.ต้น แต่พอตอน ม.4 ไปสอบที่เตรียมอุดม ผมบอกว่าไม่ให้ไป มันไกล แล้วมันกดดัน เขาก็กลับมานั่งร้องไห้ จนผมต้องให้ไปสอบพร้อมเพื่อนๆ แต่ดันสอบติด แต่ผมไม่ให้เขาไปเรียนนะ ยังยืนยันเหมือนเดิม ผมก็มาปรึกษาอธิการบดี ได้คำตอบว่าวันหน้าถ้าลูกล้มเหลวขึ้นมา เขาจะมาโทษเรา สุดท้ายผมจึงต้องให้ลูกไปเรียนเตรียมอุดม พอไปเรียน ลูกผมได้เกรดเฉลี่ย 3.90 ผมจึงต้องกลับมาขอบคุณท่านอธิการบดี ตอนนี้เขาใกล้เรียนจบแล้ว แต่พอผมถามว่าอยากเป็นอะไร เขากลับบอกว่าอยากเป็นดีเจ นี่แหละชีวิต (หัวเราะ)

“ผมคิดแค่ว่าตัวผมเองโตมาอย่างไรแล้วก็ถ่ายทอดให้ลูกๆ หลักเดียวที่มีคือธรรมชาติ การยืดหยุ่นให้มันเกิดขึ้นตามสถานการณ์ถ้าเราไปฝืนมันหมด แล้ววันหนึ่งมันไม่ได้เป็นตามนั้น เราจะแก้ไขอย่างไร ผมถึงบอกว่าคุณเรียนเก่งตามตำราได้ที่ 1 แต่เวลาที่ทำงานจริง หากมันไม่ได้อยู่ในตำรา คุณจะทำอย่างไร

“ในอดีตผมอาจจะอยู่ในส่วนของคนที่มีโชคในการแข่งขันไม่สูง แล้วได้กีฬาเข้ามาช่วย แต่ว่าในปัจจุบัน คนอื่นอาจไม่ได้เป็นเหมือนผม แต่อย่างเดียวที่ทำให้เป็นคนจริงๆ ได้ก็คือ คุณต้องรักดีก่อน ไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมไหน ถ้าเราไม่รักดี มันก็จะไม่มีวันเสีย แล้วถ้ามีกีฬาเข้ามาช่วย ก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้นตามลำดับ”

ผมอายุ 64 ปีแต่ทุกวันนี้ยังเตะฟุตบอลทุกวันพฤหัส