ชไมพร ปภัสร์พงษ์

ชไมพร ปภัสร์พงษ์

จากโอกาสที่ได้รับมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่หญิงสาวคนนี้จะก้าวมาบริหารงาน แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะง่ายดายไปหมด เพราะเธอเองก็ต้องผ่านขั้นตอนการบ่มเพาะชีวิตให้มีคุณภาพมากที่สุดเช่นกัน หลังจากที่เธอจบการศึกษาในคณะศิลปะศาสตร์ เอกวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เธอก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโท การสื่อสารการตลาด ที่มหาวิทยาลัยเวสมินเตอร์ประเทศอังกฤษ

 

“การไปเรียนที่นั่นมันต่างกับประเทศไทยเยอะเหมือนกันนะคะ มันต้องปรับตัวหลายๆ อย่าง ปรับตัวทั้งด้านสังคมด้วย อย่างการเข้าสังคมใหม่ และการอยู่ด้วยตัวเอง เพราะดิฉันเองเป็นลูกคนเล็ก อยู่กับพ่อแม่มาตลอด เราจึงต้องใช้เวลาในการปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะอยู่ที่นั่นเราต้องทำอะไรด้วยตัวเองตลอดเลย

 

“อยู่ที่เมืองไทย ดิฉันเรียนศิลปะศาสตร์ เรื่องของภาษา เสียดายตรงที่ว่าเราไม่มีประสบการณ์การทำงานไปก่อน ทำให้ไปต่อโทที่เป็นการตลาด เราก็จะได้แค่ทฤษฎีในหนังสือ ส่วนคนที่ทำงานแล้วไปเรียนเขาจะได้รับอะไรที่ลึกกว่านั้น เราจะได้แต่ตัวหนังสือที่เขาสอน แต่การเรียนของบ้านเรากับที่อังกฤษก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก จะมีแค่การทำรายงานที่เยอะ อย่างที่ทราบกันดีว่าปริญญาโทการทำรายงานจะเยอะมาก เนื้อหาก็จะลึกขึ้น”

 

เมื่อเรียนจบจากต่างประเทศ เธอกลับมาเมืองไทย ใครๆ ก็คงคิดว่าเธอจะมาช่วยงานที่บริษัทของพ่อตัวเองแบบนักเรียนนอกไฟแรง แต่เธอกลับถูกส่งตัวไปทำงานที่บริษัทอื่น

 

“คุณพ่อเขาอยากให้ไปลองดูประสบการณ์การทำงานข้างนอกก่อน ไปเป็นลูกน้องเขาจะเป็นยังไงบ้าง ไปลองทำทุกอย่างที่อยากทำก่อนที่เข้ามา แล้วก็หาตัวเอง ที่สำคัญคือหาตัวเองให้เจอ พอกลับมาทำงานที่บริษัทคุณพ่อ ก็มีบ้างที่นำเอาความรู้จากบริษัทอื่นมาปรับใช้ อย่างเรื่องของระบบ แล้วก็เรื่องของนิสัยส่วนตัวของเจ้านาย อะไรที่เราเห็นว่าเขาดีเราก็เอาไปใช้ คือถ้ามีโปรเจ็คต์ที่ดีเราก็ทำตามนั้น ถ้าออกมาเราจะได้ไม่พลาด เพราะเราเซ็ตไว้แล้ว

 

“ยิ่งพอมาทำงานกันจริงๆ คุณพ่อก็แนะนำในเรื่องของความอดทน เพราะว่าอาจจะเป็นเรื่องของลูกคนเล็กด้วยที่ความอดทนอาจจะต่ำ คุณพ่อก็เลยบอกว่าทำอะไรก็ตามต้องมีความอดทน มุ่งมั่น ทำอะไรอย่ายอมแพ้ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรต้องลุยต่อ ยิ่งเจอปัญหายิ่งทำให้เราเก่งขึ้น เพราะฉะนั้นอย่ากลัวกับปัญหา เราต้องสู้”

 

หน้าที่หลักของคุณชไมพรตอนนี้ก็คือดูแลภาพรวมเรื่องของการตลาดของบริษัท รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะการจัดงาน Motor Expo ที่มีจุดประสงค์ในการเป็นสื่อกลางที่รวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ให้คนเข้ามาชมอุตสาหกรรมรถยนต์

 

“กิจกรรมที่ดูแลจริงๆ ก็คือกิจกรรมพิเศษของ Motor Expo หนึ่งคือ จะพยายามหากิจกรรมพิเศษให้คนดูมากขึ้น สองคือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ให้ความรู้กับประชาชน สามคือ เป็นกิจกรรมเสริมที่นอกเหนือจากการซื้อขายรถ คือเราพยายามเสริมเข้าไปปีนี้เราจะพิเศษกว่าปีอื่นคือถ้าอยากซื้อรถหนึ่งคัน แต่ขี้เกียจเดินดูงานรอบๆ เราไปที่จุด Information Center ได้เลย จะมีBuyer Guide เหมือนเราสามารถรวบรวมทุกอย่างเลย แล้วเอารถแต่ละรุ่นมาเปรียบเทียบกันได้เลย”

 

นอกจากเรื่องการดูแลเรื่องของการตลาดแล้ว เธอยังรับอาสาเป็นผู้อำนวยการ โครงการ “ลมหายใจไร้มลทิน” ซึ่งเป็นโครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อเยาวชน โดยจัดให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องของความรับผิดชอบ และจัดให้มี 3 กิจกรรมหลักขึ้นมา คือ การประกวดร้องเพลง ประกวดข้อเขียน ประกวดโครงงาน

 

“อย่างในงาน Motor Expo เราจะมีวันหนึ่งที่เก็บเงินค่าบัตรผ่านประตูไว้เพื่อบริจาค แล้วคืนนั้นจะเรียกว่า แกรนด์แชริตี้ไนท์ เราจะเอาเงินรายได้จากบริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อกับลูกค้าของเราทั้งหมดมารวมกัน ส่วนหนึ่งเราจะบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเราจะเอามาบริหารกิจกรรมเพื่อเยาวชน

 

“คุณพ่อจะตระหนักถึงความรับผิดชอบ คือเราเป็นส่วนกลางยานยนต์ที่ทำให้เกิดมลภาวะ แล้วเราก็เป็นหนึ่งในสังคม เราควรจะมีส่วนที่จะพัฒนาเรื่องของมลภาวะทางจิตใจ”

 

ปลายปีนี้จะมีการจัดงาน Motor Expo ขึ้น ตามคอนเส็ปต์ที่ตั้งไว้คือ “ลดโลกร้อน” ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักถึงผลกระทบของสังคมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม มีการขอความร่วมมือจากบริษัทรถยนต์ต่างๆ ให้แสดงจุดยืนว่าจะสามารถลดโลกร้อนด้วยวิธีใดได้บ้าง

 

“ตอนนี้พลังงานทดแทนออกมาเยอะจริงๆ ก็อยากให้รัฐบาลเลือกมาสักหนึ่ง เพราะมันยากที่เราจะผลิตอะไรกันดี เลือกไม่ถูกเชื่อว่าในอนาคตจะมีพลังงานทดแทน จะเป็นแบบผสมแอลกอฮอล์ หรือ อาจจะเป็นน้ำเลยที่วิ่งด้วยไฮโดรเจน ก็มีวิ่งให้เห็นแล้วในต่างประเทศ

 

อย่างปีนี้ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่อยากให้คนมาดูเยอะๆ ก็พอ ถึงแม้เศรษฐกิจอาจจะไม่ดี แต่ก็หวังว่าปีนี้ธุรกิจยานยนต์ก็น่าจะไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเรา”

ปัจจุบันเธอเป็นรองผู้อำนวยการ กองพัฒนาธุรกิจ