ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า

ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า

“ตอนนี้ผมมีวงดนตรีร่วมสมัย ชื่อ ขุนอินออฟบีทสยาม แล้วก็มีอีกวงหนึ่งชื่อขุนอินแจ๊ชออฟสยาม สองวงนี้เป็นคนละสไตล์กัน วงแรกเป็นวงใหญ่สไตล์ลาติน เคยออกอัลบั้มมาแล้ว ส่วนอีกวงเป็นแจ๊ซที่ผสมกับดนตรีไทยแต่ออกมาเป็นแจ๊ซแท้ๆ เหมือนเป็นฟิวชั่นที่ไม่มีใครทำมาก่อน”
 

“ผมเองเล่นดนตรีไทย ถามว่าผมเก่งด้านไหน ผมเก่งด้านระนาด แต่อย่างอื่นไม่ใช่ว่าผมไม่เก่ง ผมเป็นครอบครัวดนตรีไทย คุณพ่อหรือปู่ย่าตายายเก่งหมดเลย ผมถูกฝึกให้มาเป็นครู ให้เป็นคนควบคุมวงดนตรี ดูแลวง และกิจการของพ่อคือวงปี่พาทย์ ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แล้วเป็นบ้านเดียวที่เหลืออยู่ที่มีการสืบทอดต่อๆ กันมา
 

“ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมเล่นได้ดีทุกชิ้นเลย ถ้ามีการแข่งกันนะ ผมว่ายากที่จะชนะผมได้แม้แต่ชิ้นเดียว”
 

ขุนอินเติบโตมาจากครอบครัวที่เล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาซึมซับเรื่องของดนตรีไทยมาโดยตลอด สิ่งที่เรียนรู้จากบรรพบุรุษหลายๆ อย่างถูกถ่ายทอดกันมา เช่น สิ่งที่คุณพ่อของเขา ครูสุพจน์ โตสง่า ได้คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมา จนได้ฉายาว่า “ระนาดน้ำค้าง” เนื่องจากลองฝึกไล่ระนาดท่ามกลางน้ำค้าง ทำให้กำลังข้อแข็งแรง ซึ่งจุดนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดมายังตัวละครขุนอินด้วย
 

ด้วยทักษะทางดนตรีไทยนี้เอง ทำให้เขาเลือกที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยการเป็นครู และอาจารย์พิเศษที่สอนดนตรีไทยมาถึง 20 กว่าปี จนกระทั่งอยู่ที่ระดับซี 7 ต่อมา เมื่อมีภารกิจดนตรีไทยด้านอื่นมากขึ้น ทำให้เขาต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ปัจจุบันเขาลาออกจากราชการครูมากว่า 7 ปี เพื่อทำในสิ่งที่ตัวรักในอีกรูปแบบหนึ่ง
 

“ผมเป็นครูมาตั้งแต่อายุ 21 ปี แต่ต้องลาออกมาเพื่อทำงาน ถ้าเราเป็นครู แล้วเราเป็นนักดนตรีไทยด้วย พอวันเสาร์อาทิตย์มีงานเราก็มาทำ แต่เมื่องานเยอะมากๆ จนไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ เราต้องเลือก ถ้าเราเลือกที่จะเป็นซี 7 เราต้องอย่ารับงาน ไม่ต้องออกมาเป็นศิลปินเต็มตัวอย่างทุกวันนี้ อย่าเอาเวลาราชการมาเป็นงานส่วนตัว เพราะว่าอาชีพครูกินภาษีของประชาชน ผมอยากจะทำให้เป็นตัวอย่าง” 
 

มาถึงวันนี้ เขามองภาพรวมของดนตรีไทยว่ายังไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก แต่การพัฒนาของคนเล่นดนตรีไทยในสมัยนี้มีเยอะกว่าแต่ก่อน เพียงแต่คุณภาพอาจลดลงตามไป เพราะการเล่นดนตรีไทยเมื่อก่อนอยู่ตามสำนัก ตามบ้านของครูที่มีชื่อ แต่ปัจจุบันดนตรีไทยไปอยู่ตามสถาบันต่างๆ อาจทำให้ความเข้มข้นของคนเล่นดนตรีไทยเปลี่ยนแปลงไป
 

“คำว่าบ้าน คำว่าโต้โผปี่พาทย์มันเริ่มหายไป ไม่มีใครรู้จักแล้ว อย่างปี่พาทย์งานวัดนี่เป็นการฝึกที่ดี ผมนี่โตมาจากวัดเลย ผมไปมาเป็นหมื่นครั้งแล้วมั้ง มันได้ฝึกความอดทน โดนยุงกัดเป็นเรื่องธรรมดา มีประสบการณ์ มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีสังคม มีความสนุก มีภูมิปัญญาไทยอีกหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น พอสมัยนี้ไม่มีโต้โผปี่พาทย์ อะไรที่เราเคยได้ เด็กๆ สมัยนี้ก็จะไม่มีกันเลย อย่างความอดทนหรือความซึมซับทางเสียงเพลงก็มีให้เห็นน้อยมาก
 

“การเล่นดนตรีต้องได้ออกงานบ่อยๆ เพราะมันจะฮึกเหิม สนุก ได้เจอหลายอย่าง พอไม่มีตรงนี้คนเล่นดนตรีก็ไม่ฮึกเหิม เหมือนเล่นไม่สนุก ผมว่าสมัยก่อนเล่นสนุกกว่านะ จะไปโทษเด็กก็ไม่ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยน ความนิยมมันน้อยลง จะไปโทษใครได้ เพราะถ้าทำอะไรที่เกี่ยวไทยอย่างเดียว มันก็เสี่ยงสำหรับคนสนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วการพัฒนาดนตรีไทยต้องได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ แต่ผมเข้าใจกระทรวงต่างๆ นะว่ามันต้องมีลำดับขั้นตามงบประมาณ” 
 

ส่วนผลงานที่เขาเลือกมาเป็นมาสเตอร์พีซนั้น ถือว่าเป็นผลงานที่แปลกตาและทันสมัยมากๆ สำหรับดนตรีไทย เพราะมันคือ “แอ๊ปพลิเคชั่น” ของเขาเองที่มีชื่อว่า “Khun-In” ซึ่งรวบรวมเอาผลงานดนตรีไทยที่เขาได้จัดทำขึ้น พร้อมทั้งเรื่องราวของดนตรีไทยที่น่าสนใจมากมาย
 

“ผมเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมาก การจะขายซีดีเราต้องเอาแผ่นไปด้วย มันก็เลยยุ่งยาก บวกกับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ตอนนี้ทุกคนก็รู้อยู่ว่ามันตายหมดแล้ว เพราะมีการโหลดกันฟรี แต่ผมไม่ได้สังกัดค่ายของใคร ผมจึงคิดสิ่งที่นอกเหนือจากริงโทน เราก็เลยคิดแอพตัวนี้ขึ้นมา ผมไปอเมริกาบ่อยแล้วทางฝั่งนั้นมีเทคโนโลยีพร้อม คนไทยก็มีเป็นล้านแล้ว ผมก็เลยทำเพื่อฝรั่งและคนไทยที่อยู่ทั่วโลกที่อยากจะฟังดนตรีไทยเดิมแบบร่วมสมัย
 

“นอกจากนี้ผมก็ยังสอนดนตรีไทยให้กับเด็กและเยาวชนผ่านทางแอ๊ปนี้ได้ฟรี แม้ว่าจะไม่ได้เรียนสดๆ กับตัวผม แต่ก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน อย่างน้อยชั่วโมงกิจกรรมอย่างของโรงเรียนเอกชน ก็เปิดตรงนี้ให้ศึกษาได้ แล้วโรงเรียนก็ไม่ต้องเสียเงินมาจ้างผมด้วย ทุกโรงเรียนสามารถเปิดสอนให้เด็กดูได้เลย 
 

“เพราะผมเคยเป็นครูมาก่อน ก็เลยอยากทำตรงนี้ให้ ผมอยากนำสิ่งที่ผมมีตรงนี้กลับไปในสิ่งที่ผมเคยอยู่ในสังคมเดิมๆ ได้รับรู้และซึมซับ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นข้าราชการครูแล้วก็ตาม” 

ชายชุดดำใส่แว่นถือไม้ระนาด ที่ใครรู้จักในนามขุนอิน