เปียงหลวง

เปียงหลวง

ผมมาถึง “เปียงหลวง” หมู่บ้านของชาวจีนยูนนานที่อยู่ร่วมกับผู้คนชาวไทยใหญ่แห่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านพ้นการหมุนเหวี่ยงไปมานับร้อยครั้งของถนนบนภูเขา ภาพตรงหน้าคือความงดงามของบ้านเรือน ที่ราบทางการเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยวและสุ้มเสียงหลากหลายที่ไม่ได้มีเฉพาะความคิดและถ้อยคำที่เป็นของตัวเรา
 

อยู่ที่นี่หลายวัน บางอย่างกลางหุบเขาและเรื่องราวของอดีต ใช่หรือไม่ว่าการหยัดยืนของพวกเขาคล้ายมีเส้นทางเดินพิเศษ เป็นเรื่องเฉพาะอย่าง เฉพาะตัว บางแง่มุมไร้ความต้องการการรับรู้หรือตีความ และมีจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวของมันเอง
 

เหตุผลอาจไม่ได้มากไปกว่า...นั่นคือวิถีทางของมัน

 

ภูเขาไม่เคยจางคลายความสูงชัน แม้หนทางจะปรับเปลี่ยนพื้นผิวของมันไปสักเท่าไหร่ก็ตาม
 

จากแยกเมืองงาย เลยเชียงดาวมาไม่มาก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1322 พาผู้คนที่พร้อมจะร่วมก้าวไปข้างหน้ากับมันขึ้นสู่ความสูงไม่ต่ำกว่าพันเมตร จากระดับทะเลปานกลาง สนสามใบไล่เรียงผ่านแสงบ่ายมีมิติ บางตอนโอบอยู่ด้วยต้นท้อออกดอกสีขาวโพลน รอบด้านงดงามและถนนก็ดูอ่อนโยน
 

ขึ้นลงเปิดวิวกระจ่างตาเป็นช่วงๆ บางครั้งก็ดิ่งลงสู่หุบ บังคับให้การใช้เกียร์สโลว์เป็นเรื่องต้องเคารพสำหรับรถคันเล็กๆ ของเรา เมื่อมาถึงบ้านเลาวู หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอเรียงรายไล่ไปตามระดับเขา นางพญาเสือโคร่งติดดอกชมพูพราว ความหนาวเย็นแม้เป็นยามบ่ายส่งให้พวกเขามานั่งผิงไฟ พูดคุย ผสานลมหนาวกันเป็นกลุ่มที่ลานหน้าบ้าน ชีวิตเป็นเรื่องหมุนเคลื่อนไปตามวันเวลา
 

นาทีท้าย ๆ ที่ถนนนำเรามาส่งลงสู่ที่ราบสีน้ำตาลทอง เมืองเวียงแหงเงียบงันอยู่ในสายลมหนาว นาข้าวอันโอบล้อมเหลือเพียงลอมฟางก่ายกอง วัวควายไล่เล็มมันไปอย่างละเมียด ทว่าความเคลื่อนไหวล้วนเงียบงัน
 

สักพักถนนก็พาเราไปถึงปลายทางที่เป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง ทั้งการสิ้นสุดของถนนและการกลับบ้านของใครบางคน
 

10 กิโลเมตรจากเวียงแหง บ้านเปียงหลวงขนัดแน่นราวเมืองในหุบเขา บ้านไม้ ตึกแถวโอบล้อมถนนสายเล็กที่ทอดผ่าน ทว่ารอบด้านในบ่ายจัดคือความเหงาเงียบของร้านรวง สินค้าประดามีจากจีนและตัวเมืองเชียงใหม่พอจะทำให้บางคนจินตนาการถึงอดีตอันคึกคักที่ผ่านพ้น
 

การมาถึงของผู้คนบนเปียงหลวง เริ่มด้วยพี่น้องชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ซึ่งเส้นทางอันเชื่อมโยงได้นำพาการตั้งถิ่นฐานมาสู่ที่นี่นับร้อยปี ว่ากันว่านายจองดี พ่อค้าวัวต่าง คือผู้นำชาวไทยใหญ่ให้มาถึงแผ่นดินกลางหุบเขาแห่งนี้ราวร้อยกว่าปีก่อน
 

ที่ราบอันแสนกว้างใหญ่ตามความหมายของการเรียกขานเริ่มกลายเป็นชุมชน ไล่เลยจากบ้านหลักแต่งที่ชายแดน ต่อมาถึงบ้านเปียงหลวง บ้านจอง ลงไปถึงเวียงแหง ทุ่งนาสีเขียวชอุ่มและไร่ข้าวโพดผ่านพ้นตัวเอง รองรับความเป็นบ้านกลางหุบเขามาเนิ่นนาน
 

ไม่เพียงชาวไทยใหญ่ที่ปักหลักสืบสาน หากแต่เส้นทางอันเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างเวียงแหงไปสู่รัฐฉานในพม่ายังนำพากองกำลังทหารจีนคณะชาติ กองพล 93 ที่แตกพ่ายรอนแรมและใช้ชีวิตอยู่ด้วยการสู้รบ บางส่วนของทหารและครอบครัวที่แยกย่อยออกมาจากทัพที่ 3 ของนายพลหลี่เหวินหวน คือส่วนของนายพันหลอเจี๋ยหวา ได้เลือกเปียงหลวงเป็นบ้าน ผนวกร่วมผสมผสานไปกับผู้คนไทยใหญ่ดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนและใช้ชีวิตอยู่ด้วยการค้าขายชายแดน และรวมไปถึงทหารไทยใหญ่ ซึ่งนำโดยเจ้ากอนเจิง ชนะศึก ประธานกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่เลือกเปียงหลวงเป็นฐานที่มั่นในการกอบกู้เอกราชจากพม่า
 

ความคึกคักของการค้า เส้นทางที่ปนเปไปด้วยเรื่องราวของสงครามกู้ชาติ รวมไปถึงรอยยิ้มยามใครสักคนรู้จักคุณค่าของคำว่าบ้าน เหล่านี้คือสีสันที่เคยชัดเจนบนหุบเขา
 

“แต่ก่อนเปียงหลวงคึกคักกว่านี้เยอะ” ไคหลี แซ่ปี่ เปรยเบาๆ ราวความหลังผ่านพ้นไปนาน ทั้งที่มันห่างหายไปไม่ถึงสามสิบปี ด้วยพรมแดนเปิดกว้าง ผู้คนหลากหลายทั้งไทยใหญ่หรือคนจีนยูนนานรุ่นพ่อของเขา ที่เริ่มปักหลักและหันเข้าสู่การเกษตร รวมไปถึงเรื่องค้าขายที่เชื้อชาติของตัวเองถนัด
 

การเงินสะพัดไปทั่วตำบล เริ่มมาตั้งแต่บ้านหลักแต่งตรงชายแดน ต่อมาถึงเปียงหลวงที่ห่างออกมา 2 กิโลเมตร
 

ว่ากันว่าตลาดนัดวัวควายที่บ้านหลักแต่งนั้นแสนมีสีสัน เมื่อรวมการค้าที่เปียงหลวงเข้าไปด้วย ก็ทำให้หมู่บ้านเล็กๆ มากมายไปด้วย “ชีวิตที่ดี”
 

อย่างไรก็ตาม เปียงหลวงก็ยังเป็นดินแดนดอยไกลในอดีต หากเทียบกับโลกภายนอกที่พวกเขาเลือกออกไปติดต่อค้าขาย สินค้าของกินของใช้นั้น พ่อค้าชาวจีนยูนนานที่ต้องลงไปหามาจากเชียงใหม่ ต้องรอนแรมกันร่วมอาทิตย์
 

“ขี่ม้าไปจนถึงบ้านเลาวู ตรงนั้นเป็นกึ่งกลางเปียงหลวงกับเมืองงาย จากนั้นต่อรถไปเชียงใหม่เป็นวันๆ โอ้ย สามวันโน่น กว่าจะถึงเชียงใหม่” ไคหลีว่าคนรุ่นปู่ของเขายิ่งกว่านั้น ที่ออกขบวนเดินเท้าตัดป่าลงไปเชียงใหม่ ของป่าอย่าง เมี่ยงแห้ง หนังเสือ เขากวาง หนังเก้ง คือสิ่งที่พวกเขานำลงไป และเกลือรวมไปถึงปลาแห้งคือสิ่งมีค่า ว่ากันว่าขบวนการค้าของผู้ชายเปียงหลวงไปกลับเชียงใหม่ร่วม 2 เดือน
 

“แต่มันก็เงียบเหงาเช่นนี้แหละ” ละเอียด แซ่หลี หญิงสาวลูกหลานจีนคณะชาติว่าขึ้น หลังยุคเตี่ยของเธอผ่านพ้น
 

“จริงๆ มันเริ่มจากปิดด่าน” เธอว่าสิ่งที่คนเปียงหลวงและพื้นที่ชายขอบได้ยินได้เห็นมันส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลง
 

จากปี พ.ศ. 2545 เปียงหลวงค่อยๆ ถูกผลพวงแห่งสงครามย่อยสลายภาพแห่งความคึกคัก เมื่อพม่าสั่งปิดชายแดนที่บ้านหลักแต่ง เนื่องจากการสู้รบแสนหนักหน่วงระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ที่นำโดยเจ้ายอดศึก ผลลัพธ์ล่องลอยอยู่ในควันปืน อุดมการณ์ และความหวัง ทว่าภาพจริงแท้คือการเร่ร่อนทิ้งบ้านเกิดเรือนนอนของพี่น้องไทยใหญ่ ที่ส่วนใหญ่อีกมากมายจากเมืองปั่น ไกลออกไปในเขตพม่า พวกเขาพากันหนีแรงกดดันของสงครามเข้าสู่เปียงหลวงอีกระลอก ไม่นับพวกที่มาก่อน ได้ลงหลักปักฐาน หลายคนกลายเป็นชีวิตไร้แผ่นดิน ต้องอยู่ตามศูนย์อพยพบนแดนดอย
 

เราขึ้นไปจนถึงบ้านหลักแต่ง รั้วลูกกรงเหล็กถูกกั้นไว้อย่างหลวมๆ คร่ำคร่า ทว่าหนักแน่นในความหมายว่าไม่มีการข้ามพ้นพบเจอของคนทั้งสองฟากมาเนิ่นนาน แผงค้าขายหายสูญ เหลือเพียงรอยยิ้มของพี่น้องไทยใหญ่ตามบ้านเรือน ความชัดเจนในผ้าทอปรากฏบนเสื้อผ้าลายสวยของเหล่าผู้หญิง
 

เหนือยอดดอยคือวัดฟ้าเวียงอินทร์ที่เคยเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนทั้งสองฟากฝั่งขุนเขา หากในวันนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนของพม่า คือพระอุโบสถและโรงเรียนปริยัติธรรม ชัดเจนด้วยค่ายทหารและความตึงเครียดทางการเมือง จะมีผ่อนคลายบ้างก็กับการโบกมือไหวๆ ของเหล่าทหารและรอยยิ้มจากระยะไกล พอเดาได้ในความเป็นเพื่อนร่วมโลกที่ยืนอยู่คนละเส้นเขตแดน
 

องค์มาระชินะเจดีย์ หรือ กองมูแหลนหลิน อันหมายถึงเจดีย์แห่งเขตแดนในภาษาไทยใหญ่ กำลังได้รับการบูรณะ จากการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวยกทัพผ่านไปรบกับพม่า และได้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยเจ้ากอนเจิง ชนะศึก ในห้วงเวลาที่เปียงหลวงคือฐานที่มั่นสำคัญในการทำศึกสงคราม
 

รูปทรงอลังการอ่อนช้อยของศิลปะไทยใหญ่ทั้งองค์เจดีย์ หอฉัน วิหาร ในส่วนที่ยังเหลือเป็นของเรายังคงงดงาม แม้จะปกคลุมอยู่ด้วยความเงียบงันและบรรยากาศของการแบ่งแยก ทางเดินไต่เลาะสันดอยไล่ไปจนจุดสูงสุด ที่มีสุสานของเจ้ากอนเจิง ชนะศึก ผู้ซึ่งหลับใหลไปพร้อมกับความหวังที่เอาสงครามและอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อชนชาติเข้าแลกจนวันสิ้นลมหายใจ
 

นาทีที่ยืนอยู่เหนือลมพัดทิวสนไหวเอน หลุมศพเงียบสงบไร้ความเคลื่อนไหว ไม่แตกต่างจากซากบ้านเรือนเบื้องล่างของอีกประเทศที่ผ่านพ้นการทำลายด้วยแรงสู้รบ วันเวลา และการย่อยสลายของความไว้วางใจ
 

ใช่หรือไม่ว่าภูเขาคือพื้นที่อันพิเศษสำหรับคนที่อยู่กับมัน พวกเขาไม่เคยผิดพลาดในเรื่องการก้าวย่างอยู่บนความสูงชันอันหนาวเหน็บ ใช้ชีวิต หรือสืบทอดอุดมการณ์
 

แต่ใครจะบอกได้ว่าสงครามและหนทางที่บางคนเลือกได้นำพาอะไรมาสู่ภูเขาอันเป็นบ้านแสนงดงามแห่งนี้
 

จะว่าไป เปียงหลวงไม่ใช่หมู่บ้านในหุบเขาแปลกหน้ามาแล้วหลายสิบปี ทุกอย่างเดินทางมาถึงเท่าที่การเปลี่ยนแปลงทำหน้าที่ของมันอย่างเท่าเทียม
 

ข้อคิดเขียนหรือภาพถ่ายจากนักเดินทางรุ่นเก่า หรือความเป็นเมืองที่ฉุดดึงหนุ่มสาวลูกหลานเปียงหลวงให้ก้าวลงจากที่ราบในหุบเขายุคบุกเบิกของนายกองดี เพื่อไปหางานทำในเชียงใหม่หรือเมืองกรุง เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการเปิดเผยภาพความเป็นบ้านอันงดงามของพวกเขาเท่าที่ความเป็นจริงจะดำเนิน
 

แต่บางอย่างก็เป็นตัวของตัวเองอยู่ราวกับไม่ใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลง
 

อากาศกดหนักเหน็บหนาวส่งผลให้หมอกขาวอ้อยอิ่งไม่ละจากขุนเขา ตลาดเช้าเคลื่อนไหวตัวเองอยู่เท่าที่มันควรจะเป็น พี่น้องคนจีนฮ่อ ไทยใหญ่ ไล่เลยไปถึงทหารที่มาประจำการ ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับชีวิตยามเช้า
 

แทบทุกวันผมมักผ่านพ้นตัวเองไปกับน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ที่ปากทางเข้าตลาด ของกินแปลกใหม่แทรกซ้อนเรื่องราวของวัฒนธรรม เด็กน้อยแก้มแดงที่ต่องแต่งอยู่ในผ้าลวดลายจีนที่ผู้หญิงหลายคนใช้มัดลูกๆ ของเธอเวลาเดินมาจ่ายตลาด
 

ดอกไม้เมืองหนาวสีสันสดใสจมอยู่ในกระบุงเล็กๆ แม่ค้าหาบคอนเร่ขายอย่างไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นสินค้า “ประจำวัน” ผสานกลืนไปกับของกินตามแบบฉบับจีนยูนนานอย่างก๋วยเตี๋ยวเต้าหู้อ่อนที่มักจะหมดไม่เกินแปดโมงเช้า เต้าหู้ทอดทรงสามเหลี่ยมนั่นอีก เด็กๆ มักติดมือก่อนไปโรงเรียน ผักกาดเขียวดอง หัวไชเท้าดอง มีให้เลือกไม่ต่างจากหมั่นโถวและซาลาเปา
 

ตลาดเช้าเผยตัวตนอันเป็นจริงของเปียงหลวงอยู่ชั่วครู่ ไม่ได้คึกคักอะไรนัก คล้ายๆ กับชีวิตที่พ้นผ่านความรุ่งเรืองของพวกเขา ทว่าตามถนนและลัดเลาะเข้าไปตามตรอกซอย ล้วนคือภาพชัดเจนกระจ่างตาอันซุกซ่อนหลายเรื่องราวไว้อย่างเงียบเชียบ
 

ผ่านโรงเรียนราษฎร์รัฐพัฒนา เด็กๆ เจื้อยแจ้วสำเนียงฟังยากปะปนกับเสียงประกาศลักษณะ “ทางการ” อย่างที่มันจำเป็น หรือ “ต้องเป็น” บ้านเรือนไล่เลยไปตามระดับขึ้นลงของภูเขา อักษรจีนและคติธรรมที่เขียนตามหน้าบ้าน สีแดง น้ำเงิน บนพื้นขาว ทำให้รู้สึกว่าราวกับนี่ไม่ใช่เมืองไทย
 

ผมแวะทักพี่ละเอียดในทุกเช้า ชาร้อนที่เธอตระเตรียมแทบทุกครั้งที่พบหน้ากันทำเอาผมเกรงใจ คำว่ามิตรและน้ำชาสำหรับเธอคล้ายจะหลอมรวมอยู่ในควันหอมๆ ยามเทชาลงจอก
 

ตามบ้านเรือนระโยงระยางอยู่ด้วยไส้กรอกยูนนาน เนื้อหมูที่แขวนเผชิญอากาศเย็นเพื่อลดวันเน่าเสีย ข้าวโพดเต็มราวมีฉากหลังเป็นไม้สีน้ำตาลสวย พวกเขาใช้เลี้ยงไก่
 

จะว่าไป ความเป็นเมืองย่อมๆ ของเปียงหลวงก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก หากเทียบกับโลกข้างล่าง ทว่ามันอัดแน่นอยู่ด้วยเรื่องราวในแทบทุกอณู สำหรับคนต้องการทำความรู้จักและเคารพความแตกต่างหลากหลายในความคิดความเชื่อ
 

ชายชราที่ล้อมวงไพ่นกกระจอกตามบ้านโน้นบ้านนี้ หรือแม่เฒ่าที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้นอกจากรอยยิ้ม ชีวิตกลางหุบเขาของคนรุ่นปู่ของเจ้ละเอียดเหมือนจะไม่ง่ายนัก สำหรับหมู่บ้านทัพทหารที่กลายเป็นหมู่บ้านเกษตรกร ความเปลี่ยนแปลงผลักดันให้วิถีชีวิตต่อสู้กับผืนดินแทนสนามรบ ข้าวดอย ข้าวโพด ลิ้นจี่ มันอาลู ผักนานา ถูกเรียนรู้สำหรับผู้ที่คิดว่าแผ่นดินมีค่ามากกว่าจะจากจร
 

ดอกผลของการเปลี่ยนทิศทางของพวกเขาส่งต่อมายังเด็กหนุ่มสาวที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่าที่ชีวิตบนแดนดอยจะดิ้นรนและพามันออกออกมาหาความเท่าเทียม
 

“คนจีนเราเน้นเรื่องการศึกษาเคียงคู่คุณธรรม” ครูเฉาหยง แซ่หวาง เปรยเป็นประโยคแรกๆ เมื่อเรามาถึงโรงเรียนภาษาจีนกวางหัว กลางหุบเขาห้อมล้อม มีบึงน้ำขนาดใหญ่เป็นฉากหน้า โรงเรียนจีนแห่งนี้โดดเด่นด้วยอาคารเรียนสีขาวสลับฟ้า มากมายอักษรและสำเนียงภาษาที่เป็นแบบเฉพาะของพวกเขา เด็กๆ ทยอยกันมาถึงหลังจากเรียนภาคปกติเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายบ่าย เสียงเจื้อยแจ้วและเสื้อกันหนาวหลากสีราวดอกไม้เล็กๆ ลู่ตามลมไหว
 

“เทียบกับแต่ก่อน ผมว่าแค่นี้น้อยเกินไป แต่ก่อนเช้ามืด เด็กๆ ตื่นตีสี่ไปเรียนภาษาอังกฤษกับคนพม่าที่รับสอนแลกค่าแรง กลางวันไปโรงเรียนหลวง เย็นๆ มาโรงเรียนภาษาถึงสามทุ่ม” ครูเฉาหยงก็เช่นเดียวกับผู้ชายยูนนานคนอื่นๆ ในเปียงหลวง เขาผ่านช่วงเป็นวัยรุ่นติดตามพ่อซึ่งเป็นนายทหารมาในกองทัพ รู้จักการศึกษาก็ต่อเมื่อได้ปักหลักฝังราก
 

“เดี๋ยวนี้อะไรๆ มันง่ายขึ้น ผู้ปกครองก็ยอมจ่ายค่าเล่าเรียน” โรงเรียนจีนแห่งนี้เก็บค่าเล่าเรียนเป็นเดือน เริ่มตั้งแต่อนุบาล 150 บาท เพิ่มขึ้นทีละชั้นปีละ 10 บาท ไปจนจบมัธยมศึกษาตอนต้น สอนทั้งคำนวณ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และที่เน้นคือภาษาจีนกลางและเรื่องจริยธรรม
 

นาทีนั้นหุบเขาดูอบอุ่น มีทิศทาง และมากไปด้วยความมั่นคง
 

ความประณีตยามไม่ต้องรอนแรมสู้รบของพวกเขาไม่เพียงถ่ายทอดอยู่ในบทกวีจีน การละเลียดชาหรือหลักธรรมคำสอน บางคราวอาจหมายรวมไปถึงสิ่งที่ผ่านมาจากมือ
 

หลังเด็กๆ เข้าเรียน ผมใช้เวลาท้ายๆ วันอยู่ในบ้านของอาฉิง แซ่หวาง บ้านของเธอถัดสูงขึ้นมาบนไหล่ดอย ลมหนาวสะบัดแนวผ้าจนลู่เอียง เธอหยิบรองเท้าผ้าลายสวยออกมาให้เราดู
 

นั่งดูรองเท้าผ้าของอาฉิง มันงดงามราวกับงานศิลปะที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เธอหยิบกาบไม้ไผ่ที่ได้ขนาด แข็งแรง ทว่ายืดหยุ่น ก่อนที่จะผสานผ้าสีสันจัดจ้าสดใสลงไป เย็บทุกขั้นตอนด้วยมือ ลวดลายต่างๆ บอกถึงความถนัดและเจนจัดของช่างทำรองเท้าแต่ละคน
 

“เดี๋ยวนี้เหลือน้อยแล้ว คนทำเฉ่าไห่” เธอพูดน้อย แต่มากรอยยิ้ม รองเท้าที่เห็นในวันนี้มีน้อย เธอเลือกคู่สวยๆ มาให้เราดู ก่อนบอกว่าหากอยากได้ให้รอสักนิด คำว่ารอของเธอไม่ใช่เป็นชั่วโมง หากหมายถึงให้เธอเลือกผ้า วัดขนาด และใช้มือที่มีขนาดเทียมเท่ากับหัวใจสร้างมันขึ้นมาอีกราวอาทิตย์ ไม่มีการร้องขอลูกค้า
 

“อยากได้ก็บอก สั่งไว้ จะทำ” เธอหมายถึงเช่นนั้นจริงแท้
 

เราจากลาเธอลงมาพร้อมน้ำชาอุ่นๆ ในลำคอ ความรู้สึกแบบญาติมิตรกรุ่นหอมอยู่ตรงเนินดอยแห่งนั้น ไม่มีเรื่องของการค้าหรือแง่มุมใดแทรกซ่อนยามไร้ซึ่งการสั่งจองรองเท้า และทุกเช้าหลังจากวันนั้น ทุกคำพูดของเธอดูห่วงใยในเรื่องอาหารการกินและที่หลับที่นอนของผมและเพื่อนๆ ไม่ห่างตา
 

ครอบครัว บ้าน ความอบอุ่น หลายคนที่นี่รู้จักมันดีและพร้อมส่งถึงคนอื่นก็ต่อเมื่อผ่านพ้นเรื่องราวอันหน่วงหนัก คืนค่ำหนาวเหน็บ และหนทางยาวไกล
 

เมื่อบ้านไม่ได้กินความแค่พื้นที่คุ้มแดดฝน หากแต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ และขนาดของพื้นที่ที่พร้อมจะฝากฝังลมหายใจ
 

หนทางทอดยาวไร้การย้อนกลับก็สั้นลง และพื้นที่กว้างไกลเวิ้งว้างแห่งหนึ่งอาจหดแคบพอที่ใครสักคนพร้อมจะโอบกอดไว้ในอ้อมอก


HOW TO GO?

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1178 ตรงไปเรื่อยๆ ถึงสามแยกแม่จา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1322 ถึงบ้านเปียงหลวง รวมระยะทาง 168 กิโลเมตร เส้นทางคดเคี้ยววกวนบนภูเขา แต่ลาดยางตลอด รถควรมีกำลังเครื่องดีและสภาพสมบูรณ์
 

เมื่อมาถึงเวียงแหง แวะสักการะพระบรมธาตุแสนไห คู่บ้านคู่เมืองคนเวียงแหง เลยต่อไปเที่ยวเปียงหลวง ชายแดนที่บ้านหลักประชิดกับเมืองต๋น เขตรัฐฉาน สหภาพพม่า มีวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดไทยใหญ่ที่ไทยและพม่าเป็นเจ้าของประเทศละครึ่ง ข้างบนสวยงามด้วยวิวทะเลภูเขากระจ่างตา
 

ตลาดเช้าเปียงหลวงมีสีสัน น่าเดินและลองชิมอาหารจีนยูนนานและไทยใหญ่ ผสมผสานไปกับภาพชีวิตละลานตา
 

เดินเที่ยวตามบ้านเรือนและบรรยากาศแบบจีน ไม่น่าพลาดโรงเรียนภาษาจีนกวงหัว หากมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อ อย่าลืมขึ้นไปชมเมืองเปียงหลวงกลางม่านภูเขาบนศาลเจ้าเงิน

กลางลมหนาวโบกโบยกรีดผิว