อริยา สิทธิบุศย์

อริยา สิทธิบุศย์

เพราะตั้งแต่เรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ “ปู อริยา สิทธิบุศย์” ก็เหมือนหนุ่มสาวทั่วไปที่ยังไม่แน่ชัดกับความต้องการของตนเอง ในช่วงนั้นเธอได้ลองทำอะไรหลากหลายอย่าง เผื่อจะพบเจออะไรที่เป็นคำตอบ แต่สุดท้ายทุกอย่างที่ลงมือทำกลับยังไม่ตรงกับโจทย์ชีวิตที่ต้องการ

เธอจึงตัดสินใจหันมาลองจับงานเซรามิค ซึ่งเป็นอย่างสุดท้ายที่ยังไม่เคยลอง หลังจากนั้นเธอก็ได้ค้นพบว่างานเซรามิคคือสิ่งที่รอเธออยู่นานแล้ว เมื่อได้พบกับสิ่งที่ค้นหาจนเจอ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จนเกิดเป็นแบรนด์ของตัวเองชื่อว่า “Ariya Ceramic”

“งานเซรามิคคืออย่างเดียวที่ยังไม่ได้ลอง ซึ่งความตั้งใจลึกๆ เรานั้นอยากทำเซรามิคเป็นมานานแล้ว ก็เลยไปเรียนกับรุ่นพี่ที่ช่างศิลป์ ซึ่งเปิดเป็นคอร์สสอน ผ่านไปอาทิตย์กว่าก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ใช่ จนเมื่อจบคอร์สก็ไปเรียนต่อที่กรมวิทยาศาสตร์และการบริการ เรียนเรื่องการเผาเคลือบ การผสมเคลือบเพิ่มเติม พอจบจากตรงนั้นก็ตัดสินใจซื้อเตาเผา แล้วเริ่มลงมือทำเลย

“งานชุดแรกๆ ทำออกมาค่อนข้างหนามาก ทั้งที่พอมีพื้นฐานมาระดับนึง แต่เราไม่สามารถควบคุมดินได้มาก ก็ทดลองทำมาเรื่อยๆ ถ้าเกิดปั้นหนาเกินไปจะเป็นอย่างไร หรือปั้นบางไปจะเบี้ยวแค่ไหน ซึ่งจริงๆ เริ่มทำมาตั้ง 7-8 ปีที่แล้ว แต่ 3 ปีหลังสุดผลงานเริ่มจะมีความลงตัวมากขึ้น คือเริ่มรู้คอนเส็ปต์ตัวเองที่ชัดเจน เริ่มควบคุมชิ้นงานได้ เริ่มทำเคลือบได้ เริ่มเจอแนวทางของตัวเอง”

ผลงานหลักๆ ของเธอทำควบคู่กันไป 2 ประเภท คืองานที่ตอบสนองตลาด ส่วนนี้จะไม่ทำให้มีความแปลกมากมาย เช่น แจกัน กระถาง แก้ว ที่วางสบู่ เชิงเทียน และงานคอนเส็ปต์ซึ่งเป็นงานที่เธอรักและอยากจะทำออกมาตามความชอบส่วนตัว โดยไม่คำนึงว่าทำออกมาแล้วจะขายดีหรือไม่ และตลาดจะตอบรับอย่างไร

เธอเล่าให้ฟังว่างานที่ทำตามคอนเส็ปต์ในสไตล์ที่ชอบส่วนใหญ่จะขายคาแร็กเตอร์ของตัวเอง โดยพยายามถ่ายทอดอารมณ์ สีหน้าท่าทางผ่านผลงาน เน้นการแสดงอารมณ์ผ่านใบหน้านิ่งเฉย ไม่แสดงออกถึงความสุขหรือเศร้า นอกจากนั้นเธอยังพยายามนำความชอบอื่นๆ เช่น การร้อยลูกปัด ถักโครเช เย็บผ้ามาใส่ในงานเซรามิค ทำให้แต่ละชิ้นงานโดดเด่นด้วยลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์

สำหรับการวางแผนก่อนที่ผลงานจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างเธอบอกว่า เกิดจากความรู้สึกล้วนๆ ถ้าวันนั้นรู้สึกอย่างไร ก็สเกตซ์ร่างมันขึ้นมา แต่เวลาเอามาปั้นจริงมันอาจแตกต่างกับแบบสเกตซ์ไปเลยก็ได้ อาจมีการปรับเปลี่ยน ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นตามแบบร่างทั้งหมด เพราะนั่นจะเป็นการพยายามกดดันตัวเอง

ในส่วนของผลงานชิ้นมาสเตอร์พีช เธอยกให้กับผลงานชุด “ครอบครัว” ซึ่งมีด้วยกัน 8 ตัว เธออธิบายถึงแนวคิดว่า ครอบครัวทุกครอบครัว ไม่มีครอบครัวไหนที่มีความสุขไปตลอด หรือมีความทุกข์ไปตลอด คือทุกครอบครัวมีปัญหา แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่รวมกันเป็นครอบครัว เพราะฉะนั้นสีหน้าที่แสดงออกมาคือไม่สุขไม่เศร้า เธอพยายามทำออกมาเพื่อไม่ให้มันยืนอย่างโดดเดี่ยว  

“สังเกตได้อย่างหนึ่งคือเวลาลูกค้าซื้อไปตัวหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็จะกลับมาซื้อตัวอื่นเพิ่มอีก เพื่อให้มันไปอยู่ด้วยกัน” และเธอยังบอกถึงเรื่องฟังก์ชั่นว่าต้องควบคู่กับเรื่องดีไซน์ นอกจากสวยแล้วยังต้องใช้งานได้จริงอีกด้วย

“เราทำงานศิลปะให้มีฟังก์ชั่นการใช้งาน เพราะมักเจอปัญหาว่าลูกค้าที่ไม่ได้เข้าใจศิลปะจริงๆ ก็จะมองแค่ผิวเผิน ไม่รู้ว่ามันเอาไปใช้ทำอะไร เลยแก้ปัญหาด้วยการทำงานศิลปะให้มีฟังก์ชั่นไปด้วย เช่นแจกัน ก็ไม่ใช่แจกันเรียบๆ อยากให้งานมันมีชีวิต เอาไปวางในบ้านแล้วทำให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วม แต่จะไม่ทำให้ดูสนุกหรือเศร้าไปเลย พยายามให้มันดูกึ่งๆ เพราะมีอะไรให้ชวนค้นหา ชวนให้คนสงสัย มันจะทำให้ไม่น่าเบื่อ”

กระทั่งทุกวันนี้ผลงานของเธอได้กระจายออกไปวางตามบ้านของผู้ที่นิยมไม่น้อย โดยเฉพาะลูกค้าชาวญี่ปุ่นและความนิยมดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เธอก็ยังยืนยันหนักแน่นว่ายังไงก็คงไม่เปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง

“เราอยากทำงานด้วยความสุข ถ้าเกิดวันหนึ่งเรามีออเดอร์เป็นร้อยเป็นพัน แล้วต้องมาทำชิ้นเดิมๆ ก็คงไม่มีความสุขแล้ว เราอยากเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันสนุกกว่า เรื่องผลงานข้างหน้าก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึก มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ” ความคิดและมุมมองซึ่งสะท้อนตัวตนของเธอคนนี้ที่ดำเนินภายใต้วิถีศิลปินผู้นิยมความสุข โดยพร้อมปฏิเสธกับทุกปัจจัยที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้หล่นหายไป

เพราะมีอะไรมากำหนดให้เธอและงานเซรามิคเป็นของคู่กัน