ยรรยง โอฬาระชิน

ยรรยง โอฬาระชิน

“ผมเองชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่สมัยอยู่ ม.6 ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ ผมสอบได้ที่ 1 ของอำเภอ ครูใหญ่ชื่อครูคล้าย จึงให้ผมเรียนฟรี ตั้งแต่ ม.1-ม.6 พอจบออกมาเนื่องจากเป็นคนชอบถ่ายภาพและไปสอบติดที่เทคนิคกรุงเทพฯ เลือกเรียนวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ รุ่นที่ 6 จบปีการศึกษา พ.ศ. 2506 ด้วยแรงบันดาลใจที่อยากจะมีวิชาความรู้ติดตัว ถ้าเราเรียนแล้วคงมีความรู้ทางด้านการถ่ายภาพ เลยคิดว่าถ้าเปิดร้านถ่ายรูปข้างๆ ร้านขายยาของครอบครัวก็คงจะดี เพราะสมัยก่อนเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ จำได้ว่ามีร้านขายยาเยอะมาก แล้วตอนนั้นร้านทำฟันกับร้านถ่ายรูปก็เป็นของคู่กัน ก็คิดไว้อย่างนั้น แต่พอเรียนจบก็ล้มเลิกความตั้งใจนี้ไป เพราะถ้าเปิดแล้ว คงไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ที่ร้านถ่ายรูปอย่างเดียว

“ระหว่างเรียนที่เทคนิคกรุงเทพฯ ก็มักจะเห็นการประกวดภาพถ่ายของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งเขาจะเข้าจะมาประชุมและจัดกิจกรรมที่ตึกช่างภาพ ภายในวิทยาลัยเป็นประจำ เมื่อเราเข้ามาดูจึงซาบซึ้งถึงความสวยงามของภาพถ่าย เขาจะมีการประกวดพร้อมมีวิทยากรมาบรรยาย เราเรียนทางด้านนี้มา เลยอยากจะประกวดบ้าง ก็เลยมีความสนใจตั้งแต่นั้นมา สมัยนั้นการประกวดภาพถ่ายแต่ละครั้งจะเป็นภาพขาว-ดำ เท่านั้น”

สุดยอด...คลาสสิค

“คนที่จะประกวดภาพถ่าย ก็จะต้องล้างฟิล์ม อัด ขยาย ภาพด้วยตนเอง เพราะไม่นิยมที่จะไปจ้างเขาล้าง เพื่อผลของความถูกใจการไปจ้างเขา อาจจะทำไม่ได้ดั่งใจที่เราคิด

“รุ่นผมที่ดังๆ สมัยนั้น ก็มี คุณน้อมพงศ์ กาญจนานุกูล เก่งมาก เวลานี้เป็นช่างภาพส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เวลาที่มีพระราชพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือภาพแจกจ่ายสื่อมวลชน ล้วนเป็นผลงานของคุณน้อมทั้งนั้น

“ระหว่างที่เรียนกำลังจะจบปี 5 ก็มีการออกไปถ่ายภาพนอกสถานที่ ก็ชักสนุก เผอิญช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่จากกองบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เข้ามาพบอาจารย์พูน เกษจำรัส หัวหน้าแผนกวิชาการถ่ายภาพที่เทคนิคกรุงเทพฯ เขาก็ขอให้อาจารย์ช่วยส่งเด็กสัก 5-6 คนไปช่วยราชการ ด้วยการฝึกและเป็นผู้แนะนำในการฝึกอบรมเจ้าหน้า ที่กองบัตรฯ เกี่ยวกับการถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวประชาชน เขาให้ออกต่างจังหวัด โอ้โห พอผมได้ยินคำว่าต่างจังหวัด หูผึ่งเลย(หัวเราะ) แล้วผมก็ถูกเลือกไป

“ช่างภาพในสมัยนั้น ตั้งแต่รุ่นแรกๆ มาสู่รุ่นผม เวลาทางสำนักพระราชวัง หรือ อสท. (องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว) หรือไทยทีวี ฯลฯ ต้องการช่างภาพ ก็จะต้องไปที่เทคนิคกรุงเทพฯเท่านั้น เพราะมีที่เดียว โดยอาจารย์พูนจะเป็นผู้คัดเลือก ส่งเด็กไปเป็นช่างภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ส่วนช่างภาพทีวีที่ถือว่าดังมากๆ ก็จะมี อสท. และช่างภาพ ช่องสี่บางขุนพรหม และช่างภาพประจำพระองค์ ส่วนทางภาคราชการ ยังไม่มีการบรรจุช่างภาพเท่าไร

“เมื่อผมอยู่กองบัตรฯ ก็ต้องออกต่างจังหวัดครั้งละ 3-4 เดือน สนุกมาก ตอนนั้นไปฝึกอบรมด้านการถ่ายภาพบุคคลให้กับเจ้าหน้าที่ที่อำเภอ เพราะเขาไม่ได้จบสายตรงเหมือนเรา ตอนหลัง ผมจบจากเทคนิคกรุงเทพฯ ทางกรมการปกครองก็บรรจุผมให้เป็นข้าราชการตำแหน่ง ครูฝึกช่างภาพ ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปี พ.ศ. 2506 ทำอยู่ 2 ปีกว่า เขาหมดโครงการที่จะทำบัตรประชาชนทั่วประเทศ เพราะอบรมครบหมดทุกจังหวัดแล้ว อีกอย่าง ผมก็เกิดความเบื่อหน่ายด้วย จึงกลับกรุงเทพฯ เพื่อลาออก”

อาจารย์พูน พ่อพระของสานุศิษย์!

“สุดท้ายผมก็ต้องไปหาอาจารย์พูนที่เทคนิคกรุงเทพฯ อีก อาจารย์พูนท่านก็บอกว่า เฮ้ย! เวลานี้มีให้เลือกอยู่ 2 งาน มีงานองค์การอาหารและเกษตร(FAO) กับสถาบันวิจัยแห่งชาติ อยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ ให้เลือกเอา แต่อาจารย์พูนแนะนำให้ผมไป FAOดีกว่าเพราะเงินเดือนดี เป็นขององค์การสหประชาชาติ เมื่อไปเขียนใบสมัครเสร็จ ฝรั่งเขาก็นัดดูตัว เสร็จแล้วเขาก็ไม่รับผม เขาบอกว่าคนนี้เด็กเกินไป ไม่มีความรับผิดชอบ ปรากฏว่าฝรั่งอีกคนหนึ่งระดับหัวหน้าใหญ่ เขาก็บอกกับฝรั่งหัวหน้าแผนกว่าคนนี้เขาเรียนจบด้านการถ่ายภาพมา เขาได้อันดับ 1 ในรุ่นนะ มีผลงานก็มากมาย อายุก็ไม่มาก แค่ 26 ปีเอง คือฝรั่งคนนั้นเขามองที่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้ดูประวัติเราเลย (หัวเราะ) เขาจึงรับผมเข้ามาทำงานเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในตำแหน่งช่างภาพเทคนิคเชียล ซึ่งส่วนมากจะถ่ายภาพเกี่ยวกับเกษตรกรรม พวกชาวนาทำนา ชาวสวนทำไร่ พวกชาวประมงหาปลา เพราะองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่เขาอยู่ที่ภาคพื้นเอเชียแปซิกฟิก

“จากนั้นผมก็จะเข้าห้องมืดล้าง อัด ขยายภาพที่ตัวเองถ่าย ตอนหลังเริ่มมีลูกน้องในแผนกมาช่วย แต่นานๆ ครั้งก็จะออกต่างจังหวัดสักครั้ง ไปถ่ายภาพเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก เพราะเขาจะทำวารสารของ FAO

“อยู่ไปอยู่มาได้ 2 ปีกว่า ไม่อยากจะบอกเลยว่าเบื่ออีกแล้ว เลยไปลาออก จากนั้นก็เดินทางไปหาอาจารย์พูนอีกครั้ง อาจารย์พูนท่านก็รักลูกศิษย์ของท่านทุกคน ท่านก็บอกผมว่า ตอนนี้ทางธนาคารทหารไทย เขาต้องการช่างภาพ 1 อัตรา มีอาหารให้กินฟรีด้วย มีเสื้อผ้าให้ใส่ ลองไปดูสิ เพราะอยู่ใกล้ๆ FAO พอไปถึงผมก็บอกว่ามาสมัครช่างภาพ ท่านอาจารย์พูนส่งมา เขาก็ให้เขียนใบสมัครพร้อมกับดูผลงาน เสร็จแล้วเขาก็รับเข้าทำงาน มีข้าวกลางวันให้กิน มีผ้าให้ตัดเครื่องแบบชุดทำงาน ผมได้ตำแหน่งผู้ชำนาญการถ่ายภาพ ของธนาคารทหารไทย จำกัด จนเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ. 2542

“ผมมีหน้าที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพข่าว เพื่อออกข่าวให้กับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น แบงก์ไปเปิดสาขา แบงก์มอบทุนการศึกษาหรือบริจาคสิ่งของต่างๆ แล้วก็มีถ่ายภาพโฆษณาบ้างนิดหน่อย นอกนั้นเป็นการถ่ายภาพตามต่างจังหวัดเพื่อทำปฏิทิน ก็เรียกว่ารับผิดชอบทั่วๆ ไป ช่วงหลังมีลูกน้องเพิ่มมาอีก 4 คน

“ผมทำงานอยู่ที่นี่ถึง 40 ปี ที่ทำได้นานจนเกษียณอายุก็เพราะมีเจ้านายดี มีเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจแล้วผู้หลักผู้ใหญ่ก็ให้ความสำคัญด้านการถ่ายภาพ เมื่อเราอยู่ใกล้ชิดจึงรู้จักผู้ใหญ่มาก ได้รับใช้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทั้งส่วนตัวและส่วนรวมอย่าง คุณสุขุม นวพันธ์ เจ้านายเก่า ท่านเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผมยังไปถ่ายสนามกอล์ฟของท่านให้เลย ท่านเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมผมอย่างดี ท่านยังบอกกับใครต่อใครว่ายรรยงเป็นคนไม่ยึดถือตัวบุคคล คุณมาอยู่กับใครก็มีแต่คนรัก คนเขาชมว่าคุณเสมอต้นเสมอปลาย แต่ไม่ใช่ว่าพอนายรักแล้ว เราก็ไปทำเบ่งกับคนอื่น วิสัยผมไม่ใช่เป็นคนแบบนั้น

“คุณอนุตร์ อัศวานนท์ ประธานบริษัทโอลีน ก็มีพระคุณกับผม ช่วยจัดพิมพ์หนังสือแนวถ่ายภาพศิลปะเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงานของผม พิมพ์ 1,000 เล่ม เล่มละ 350 บาท ขายหมดแล้วก็ไม่ได้พิมพ์เพิ่ม นำเงินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาทมอบให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำเงินไปรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและดวงตา เพราะหัวใจผมไม่ค่อยดี ส่วนดวงตาผมก็อยากให้เขามองโลกสดใส อย่างน้อยก็ดูรูปผมแล้วสดชื่น (หัวเราะ)”

ดั่งแก้วตาดวงใจ

“ผมมองว่าหากศึกษาวิชาภาพถ่ายพวกนี้ ชีวิตไม่ตีบตันหรอก แต่สมัยก่อนวิชานี้จะค่อนข้างใหม่ จึงหางานยาก ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันที่เปิดกว้าง มีอาชีพอิสระ มีโปรดักชั่นเฮ้าส์ มีหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีนอะไรต่างๆ อีกมากมาย เพื่อนๆผมก็ไปเติบโตสาขาอาชีพอื่นจำนวนมาก มีทั้งนายทหาร นายตำรวจ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับการถ่ายภาพเลย แต่ผมโชคดีที่มีอาจารย์ดี มีชื่อเสียง อาทิอาจารย์พูน เกษจำรัส อาจารย์ระบิล บุนนาค อาจารย์รัตน์ เปสตันยี อาจารย์จำรัส เอี่ยมพินิจ และอีกหลายๆ ท่าน

“ผมกับเพื่อนอีกคนได้นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากเทคนิคกรุงเทพฯ ไปสอน ไปบรรยาย ไปใช้งาน จนประสบผลสำเร็จในชีวิตฉะนั้นคุยได้เลยว่าเวลานี้ผมสำนึกถึงพระคุณของอาจารย์และตึกช่างภาพที่ผมร่ำเรียนมา เพราะว่าทำให้ผมมีอาชีพ ทำงานเลี้ยงเมีย เลี้ยงลูก 3 คนจนได้ดิบได้ดี ไม่เป็นภาระสังคม ลูกเป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 1 คน คนโตจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ที่สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ ทำธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ คนที่ 2 จบปริญญาโทจากเอแบคแล้วไปต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ทำงานอยู่ที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ คนสุดท้อง ผู้หญิงจบปริญญาโทเอแบค ทำงานอยู่แบงก์ชาติ ทุกคนไม่มีใครสืบทอดอาชีพของพ่อเลย (หัวเราะ)”

เปิดเลนส์ เปิดโลก

“ผมโชคดีในการถ่ายภาพอยู่เสมอๆ เมื่อแบงก์ธนาคารทหารไทย จะไปเปิดสาขาหรือจะมีเจ้าหน้าที่หลายระดับไปตรวจเยี่ยมลูกค้าที่ต่างจังหวัดหรือมีการสัมมนาทั่วประเทศ ผมมักจะเดินทางไปด้วยในระหว่างตรวจเยี่ยม เมื่อเรานั่งรถไปเห็นวิวทิวทัศน์ที่ไหนสวย เราก็จำไว้ วันหลังเราก็ชักชวนเพื่อนๆ ไปถ่ายภาพ หากเปิดสาขาช่วงบ่าย เราก็ตื่นตั้งแต่เช้ามืด ออกไปตระเวนถ่ายภาพวิถีชีวิต ตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ

“ช่างภาพสมัยนั้น ที่ดังๆ ก็มี อาจารย์จิตต์ จงมั่นคง คุณทอม เชื้อวิวัฒน์ คุณรังสรรค์ ศิริชู ช่วงนั้นคุณทอมเขาจบการถ่ายภาพมาจากต่างประเทศ ดังมาก ขนาดเปิดกล้องอย่างเดียวยัง 4,000 บาท ถ่ายไม่ถ่ายไม่รู้ หากตกลงถ่ายหลังจากนั้นเขาคิดอีกรูปละ 2,000 บาท เป็นฟิล์มสไลด์ ส่วนที่ อสท.ที่ดังๆ มีคุณดวงดาว สุวรรณรังสี และคุณปราโมทย์ ทัศนะสุวรรณ ทั้งเขียนสารคดีทั้งถ่ายภาพ

“สำหรับผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ผมในยุคแรกๆ ก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ก็เริ่มทยอยส่ง ส่วนมากเป็นพรอทเทรต วิวทิวทัศน์และภาพทั่วๆ ไป ส่วนมากจะไม่ค่อยจำกัดว่าต้องถ่ายอะไรเป็นพิเศษ แต่ภาพที่ผมเห็น ผมเห็นว่ามันมีเรื่องราว มีองค์ประกอบที่ดีหรือมีคอมโพสิชั่น และมีเทคนิคในการถ่ายทำ ผมจะเน้นการถ่ายภาพโอเวอร์ อันเดอร์ เพื่อผลทั้ง 3 อย่าง โดยปีแรกที่ส่งประกวดเป็นสไลด์สี ก็ได้รางวัลที่ 1 ชื่อ ภาพ ‘วิดน้ำเข้านา’ ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

“ปัจจุบันคนที่จะล้างฟิล์ม อัด ขยาย ภาพเองเหลือน้อยมาก ส่วนใหญ่จะจ้างเขาทำ แต่ของผมล้างอัดขยายเองหมด ภาพขาวดำผมจะไม่ขาย ใครมาขอซื้อก็ไม่ขาย ขอบางทีก็ไม่ให้ เหตุผลเพราะว่ามันทำขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ถึงทำได้มันก็จะไม่เหมือนเก่า โดยเฉพาะภาพขาวดำ การผสมน้ำยา อย่าไปถามเลยว่าผสมอย่างไร เพราะการที่ออกมาแล้วรูปจะสวย มันขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน ส่วนหนึ่ง ผมได้วิชามาจากเทคนิคกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งผมได้เรียนรู้จากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย

ถ่ายภาพภาพเดียว รอนานนับปี

“ภาพถ่ายทุกอย่างเราต้องทำเต็ม 100% ทำด้วยตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบใคร เราต้องมีมุมมองที่มีศิลปะ การที่จะถ่ายภาพให้สวยก็ต้องอาศัยมุมกล้อง รู้ว่าใช้ฟิล์มอะไร เปิดหน้ากล้องเท่าไร ใช้ฟิลเตอร์อย่างไร

“ภาพๆ หนึ่ง บางครั้งเราต้องใช้เวลานานนับปี อย่างเช่นผมไปถ่ายภาพวันมหัศจรรย์ ที่เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ วันนั้นไปถึง 3โมงกว่าแล้ว แสงที่หน้าบันจั่วปราสาทพระวิหาร ประตูทุกบานที่พระอาทิตย์จะมาทาบตกกระทบรวมเป็นจุดเดียวกัน ปรากฏว่าวันนั้นแสงที่ลง มันเลยขึ้นไปแล้ว เพราะเรามาช้า ผมก็จัดแจงจดวันเวลา ปีหน้าผมก็ไปถ่ายใหม่ คราวนี้ผมไปก่อนเวลา รอถ่ายภาพจนได้ภาพที่สมบูรณ์

“อีกภาพหนึ่งผมถ่ายที่ฟาร์มจระเข้ ผมรอเสือลงมาจากเขามากินน้ำ รออยู่ 3 ชั่วโมง กว่าจะได้ภาพภาพเดียวที่สมบูรณ์ คือต้องรอให้เสือมันลงมาได้จังหวะพอดี มันสะท้อนน้ำสวยงามมาก พอมันลงมาเล่นน้ำ น้ำกระจาย สมใจอยากที่เรารอคอย

“หรือบางครั้งการถ่ายทอดเรื่องราวแต่ละครั้ง ช่างภาพก็จะจ้างแบบเข้ามาอยู่ในมุมกล้องที่ตนเองเตี๊ยมไว้ เพื่อให้ได้องค์ประกอบเรื่องราวที่ดี เช่น การจ้างเรือพายมา อันนี้เขาเรียกว่าการจัดแบบ ก็มีบ้าง แต่ผมพยายามจะหลีกเลี่ยง ยกตัวอย่างเช่นภาพ ‘กลับบ้าน’ ถ่ายที่อุทยานประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย มรดกโลก ใช้เลนส์ 80 มิลลิเมตร ฟิล์มสไลด์ ด้านซ้ายเป็นเจดีย์เก่า มีแบ็คกราวนด์ เป็นกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ ผมนิมนต์พระมาเพื่อให้ท่านเดินจากขวามาซ้าย เพื่อถ่ายทำปฏิทินของธนาคารชุดสุโขทัยทั้งหมด ปรากฏว่าระหว่างที่ถ่ายภาพพระที่เดินอยู่ พระท่านก็เดินไปตั้งไกล เผอิญมีป้าแก่ๆ ไม่รู้มาจากไหน เดินหาบของมาขายเข้ามาพอดี ผมก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่เซ็ตกล้องไว้เรียบร้อยแล้ว พอป้าเดินเข้ามาได้จังหวะ ผมก็กดชัตเตอร์ แชะ! สมบูรณ์แบบแต่พอบอกให้ป้ากลับไปเดินให้ผมถ่ายใหม่ ปรากฏว่าถ่ายไม่ได้ ตัวป้าแกเดินแข็งทื่อ เกร็งไปหมด

“ผมกลับไปทำเทคนิคห้องมืดอีกนิดหน่อย ที่เรียกว่าโพลาไลน์สเตชั่น เอาไปซ้อนกับต้นฉบับ แล้วไปย้อมสีซีเปียเพื่อให้มันดูโบราณ เราถ่ายจริง 30% เข้าห้องมืดอีก 70% ส่วนการเลือกใช้กระดาษอัดขยาย การใช้น้ำยา มีซ้อนมีบัง มีเพิ่มแสงของความเข้ม อ่อนเพื่อให้มีจังหวะ การล้างก็ต้องล้างให้ออกมาสดใส รูปจะออกมาเห็นชัดสดใส”

รูปละ 7 หลักก็ไม่ยอมขาย

“อย่างรูปถ่ายภาพขาวดำ ผมบอกว่าไม่เคยขาย เช่น ภาพ “บินเดี่ยว” ผมได้รับรางวัลพระราชทานถ้วยยอดเยี่ยมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่นี้คุณสุขุม เจ้านายเก่าเขาก็เข้ามาบอกหัวหน้าผมว่าให้ไปบอกยรรยงด้วยว่า ภาพบินเดี่ยวที่เขาได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน ผมชอบมาก อยากจะเอาไปไว้ที่แบงก์ ให้ยรรยงไปขยายให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสร็จแล้วให้ทำลายฟิล์มต้นฉบับทิ้ง แล้วแต่ยรรยงจะเอาเท่าไรก็บอกตัวเลขมา แต่ผมก็ขอขัดใจนายว่าไม่ขาย นายไม่เคยถูกใครขัดใจมาก่อน แต่ผมขัดใจ (หัวเราะ)

“ผมให้เหตุผลว่ารูปที่ผมได้รับรางวัลมันเป็นเกียรติประวัติ ผมได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวงถึงขั้นนี้แล้ว โอ้โห ตอนนั้นถ้าคุณเอาเงินมาให้ผม 1 ล้าน ตอนนี้ผมก็ใช้หมดแล้ว แต่ตอนนี้รูปนี้ยังอยู่ ฟิล์มผมพร้อมที่จะขยายใหม่ จะทำอะไรต้องมีเหตุมีผลเพราะภาพมันจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อเวลาผ่านไป สรุปแล้วผมไม่ขาย ฟิล์มก็ยังอยู่ ภาพก็ยังอยู่

“ตอนนี้ก็มีอยู่หลายท่านที่เป็นเศรษฐีนักธุรกิจ มักจะชอบสะสมงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติ อย่างคุณสุขุม ท่านบอกว่าแบงก์ที่พญาไทสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาบอกให้ผมนำรูปที่ได้รับรางวัลมาติดที่ห้องประชุม แล้วจะขอซื้ออีก ผมก็ยืนยันอีกว่าไม่ขาย ถ้าอยากนำไปติดที่ห้องประชุมจริงๆ ผมให้ 20 รูป คือท่านจะชอบสะสมภาพเยอะมาก อย่างภาพเขียนขาวดำของศิลปินที่ดังๆ อย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ซื้อมาไม่รู้กี่สิบล้านบาท เอามาแขวนไว้ที่แบงก์รูปหนึ่ง ผมบอกว่า ‘นาย ลูกค้าจะมากู้แบงก์ พอเขาเห็นภาพนี้ เขาอาจจะกลับไปกู้ที่อื่นเลย’ (หัวเราะ) ภาพของอาจารย์ถวัลย์ ต้องดูอีกแบบหนึ่ง เพราะดุเดือด ไม่เหมือนรูปของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่เป็นแบบไทยๆ”

อารมณ์ควัน

“บางรูปผมทำ 28-30 รูป ถึงจะได้รูปรูปหนึ่ง เรียกว่าผมเสียไป 27 รูป อย่างภาพ ‘อารมณ์ควัน’ ภาพขาวดำ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2513 ในร้านอาหารที่หาดใหญ่ เผอิญผมไปเจอชายชรานั่งอยู่พอดี แกนั่งอยู่ข้างๆ ผมกับเพื่อนๆ แสงก็เข้ามาด้านข้างพอดีดวงตาแกเหม่อลอยน้ำตาคลอเบ้า หนวดเคราขาวรุงรัง ผมก็เอาบุหรี่ให้แก่สูบ แกก็คีบบุหรี่ด้วยมือซ้าย สูบอย่างมีอารมณ์ นั่งปล่อยพ่นควันล่องลอย ด้านหลังมีพวกตู้อะไรต่างๆ เยอะแยะเลอะเทอะไปหมด ผมก็เอาไฟฉายไปไล่ให้ดำ เหมือนกับการระบายสี ทำอยู่หลายใบในห้องมืด กว่าจะได้ แล้วรูปนี้เป็นปีแรกที่ภาพได้เข้าไปในวังสวนจิตรฯ และได้รับรางวัลเหรียญทองสมาคมถ่ายภาพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ท่านได้พระราชทานถ้วยรางวัล พระองค์ทรงตรัสกับผมว่า “อะไรอะไรก็ดีเพราะเป็นคนบ้านนอก แต่เสียอยู่อย่างเดียว ช่างภาพไปจัดให้สูบบุหรี่สมัยใหม่” พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าภาพนี้ให้ไปลองใหม่ ผมฟังแล้ว สำนึกถึงความเป็นจริง จึงยึดภาพนี้ใส่เกล้าไว้

“ภาพอารมณ์ควัน ถ้าขยายใหญ่จะเห็นภาพผมกำลังถ่ายภาพอยู่ในดวงตาของเขา และเห็นเพลิงหน้าร้าน หน้ากล้องกว้างเปิดหมด3.5 สปีดความไว 15 แรกๆ

“พรรคพวกเพื่อนฝูงเรียกผมว่า ยอยอ หรือ ยรรยง ต่อมาก็ขนานนามผมใหม่ว่า เจ้าพ่อขาวดำ คือถนัดสร้างสรรค์ภาพขาวดำ”

ตามเสด็จฯเบื้องยุคลบาท

“ผมเคยตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเพื่อฉายภาพสมัยที่พระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมพสกนิกร ที่ภาคอีสานเมื่อปีพ.ศ. 2533 ผมเป็นผู้ฉายภาพเพื่อที่จะจัดทำเป็นหนังสือฉลองครบ 5 รอบ 60 พรรษา ผมจึงขออนุญาตจากสำนักพระราชวัง เชิญพระบรมฉายาลักษณ์มาลงปกหนังสือรวบรวมผลงานการถ่ายภาพศิลปะของตัวเอง อีกภาพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแย้มสรวล ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน เปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปีพ.ศ. 2509 ซึ่งหาดูได้ยาก รวมทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ฉายเมื่อวันที่ 2เมษายน พ.ศ. 2534 วันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ผมยังถวายงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผมจึงได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 9 จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเหรียญนี้ เพราะผมทรงรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด

“รางวัลพระราชทานภาพบินเดี่ยวและธารน้ำใส ถือว่าเป็นสุดยอดถ้วยรางวัลพระราชทานสูงสุดในชีวิตของผม ที่ช่างภาพทุกคนอยากได้ เพราะเป็นความภาคภูมิใจที่พระองค์ท่านเสียสละเสด็จมาทอดพระเนตรการตัดสินรูปประกวด พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยะภาพในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการถ่ายภาพ เพราะพระองค์ทรงถ่ายและล้าง อัด ขยายภาพขาวดำด้วยพระองค์เอง”

ในฐานะอาจารย์และศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานที่สร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 200 ภาพ และที่ยังไม่ได้ล้างอัดขยายอีกจำนวนมากมายหลายม้วน ทั้งฟิล์มสี สไลด์และภาพขาวดำ ยังคงถูกเก็บเงียบรอเวลาสุกงอม เขากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผมมุ่งมั่น สร้างสมผลงานภาพถ่ายขาวดำ ให้มีคุณค่าศิลปะไว้เป็นเกียรติประวัติของตน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ผมอาจจะขายภาพแต่หากจะขาย ก็ต้องขายเป็นชุด แล้วคนที่จะซื้อไป จะต้องเป็นนักสะสมจริงๆ ที่ชื่นชอบและศรัทธาในผลงานทัศนศิลป์ เพื่อนำไปติดแสดง หลังจากนั้นผมก็จะมอบภาพให้กับหอจดหมายเหตุฯ และหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นสมบัติของชาติต่อไป ภาพอีกส่วนหนึ่งจะนำไปติดไว้ที่เทคนิคกรุงเทพฯ แผนกภาพถ่าย ที่ผมสำเร็จการศึกษามา"

เมื่อครั้งเมืองไทยเรายังชื่อว่าประเทศสยาม