สุภา สิริสิงห

สุภา สิริสิงห

บุปผชาติจากสรวงสวรรค์นาม “โบตั๋น” คือราชินีแห่งดอกไม้อันหอมหวนขจรขจายในฐานะนักประพันธ์ นวนิยายชิ้นเอกแนวเรียลิสติก ณ วันนี้ ดอกไม้แห่งวรรณกรรมยังคงชูช่องดงาม หลากหลายรสชาติ สร้างตัวตัวละครในจินตนาการให้มีน้ำหนัก จังหวะความรู้สึก มีเลือดเนื้อ มีตัวตน มีจิตวิญญาณ และซาบซึ้งกินใจ

ละอองฝนจากปลายฟ้า เม็ดฝอยโปรยปรายปูพรม ในวันที่เราตามรอยวรรณกรรมมายังสำนักพิมพ์สุวิริยาสาสน์ ซอยประชาอุทิศ91/1 ที่เป็นแหล่งผลิตหนังสือเด็กชั้นดีนับพันหัวเรื่อง เพื่อมาพบกัลยาณมิตรน้ำหมึก นักเขียนรุ่นใหญ่วัย 64 คุณสุภา สิริสิงหศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี พ.ศ.2542

“โบตั๋น” ฉายาเฉิดฉายราวๆ ปี พ.ศ.2508 เธอคือนักประพันธ์มือทอง ผู้รุ่มรวยอารมณ์ศิลป์ แววตาเป็นมิตร ริมฝีปากเปื้อนรอยยิ้ม ใบหน้าอวบอิ่ม นอบน้อมถ่อมตน เสียงดังฟังชัด ทั้งหมดเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของผู้หญิงคนนี้ซึ่งเป็นเจ้าของนวนิยายที่นำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า อาทิ “ทองเนื้อเก้า” “ลำยอง” “บัวแล้งน้ำ” “กว่าจะรู้เดียงสา” “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” “กลิ่นดอกส้ม” “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” ผลงานอันคมคายเคลือบทองคำเหล่านี้เป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่า ให้ทั้งสาระความบันเทิง และสะท้อนสภาพปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการส่งเสริมศีลธรรมอันดี

เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ.2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติใหม่ๆ เติบโตที่บ้านสวนบางจาก อำเภอภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี เรียนมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนสุธรรมศึกษา เตรียมอุดมศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมงานกับวิริยะ สิริสิงห เพื่อนรักนักทำหนังสือมืออาชีพ บรรณาธิการหนังสือชัยพฤกษ์และสมรสกันเป็นคู่ชีวิต มีโซ่ทองคล้องใจเป็นบุตรี 2 คน นาม “สุวีริยา”และ “ภาวสุ” 

ผกาแก้ว...ผกายแสง

“ดิฉันเริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี ขณะศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษและภาษาไทย เริ่มสนใจงานเขียนจริงๆ จังๆ มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วค่ะ เพราะสมัยก่อนมันไม่มีความบันเทิงอะไรให้สนใจ มีแต่หนังสืออย่างเดียว ก็อ่านหนังสือ อ่านนิทาน อ่านทุกอย่างที่สนใจ พอเข้าเรียนเตรียมอุดม พญาไท ก็ได้อ่านหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จนเกือบหมดห้องสมุด ตอนนั้นยังไม่มี ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมเลย ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ เพราะอยู่บ้านสวนริมคลอง ล้อมรอบด้วยน้ำ

“จำได้ว่าสมัยเรียนชั้นมัธยม สอบเขียนเรียงความเกือบตก (หัวเราะ) ได้มา 6 คะแนน แต่ก็ได้มาเขียนนิยายตั้งแต่มัธยมต้นลงในหนังสือนิตยสารดรุณสารและชัยพฤกษ์ แต่ไม่ได้ประสบผลสำเร็จอะไรมากมาย มาประสบผลสำเร็จ เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อตอนเรียนอยู่ปี 3 ปี 4 ที่จุฬาฯ ดิฉันเขียนเรื่องสั้นชื่อ ไอ้ดำ ใช้นามปากกา ทิพเกสร ลงพิมพ์ในนิตยสารขวัญจิต ส่วนนามปากกา โบตั๋น เกิดขึ้นครั้งแรกราวปี พ.ศ.2508 ใช้นามปากกานี้เขียนเรื่อง น้ำใจ เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร จากนั้นจึงใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“นักเขียนสมัยนั้นส่วนมากไม่จำเป็นจะต้องจบคณะอักษรศาสตร์หรอกค่ะ ดูอย่าง สีฟ้า ทมยันตี หรือ กฤษณา อโศกสิน ก็ไม่ได้เรียนอักษรศาสตร์ ยุคนั้นมีความคิดว่าหากไม่เรียนอักษรศาสตร์ก็ต้องเรียนคุรุศาสตร์ ตอนดิฉันเรียนเตรียมอุดมก็ท็อปทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ข้อสำคัญเราต้องเลือกในสิ่งที่เรารู้ เราเก่งทางด้านภาษา ก็มุ่งไปอักษรศาสตร์เลย พอจบอักษรฯ ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2509 มันไม่มีอะไรให้ทำ นอกจากการเป็นครูสอนภาษาไทย ก็เลยไปสอนที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง สอนได้แค่เทอมเดียว ก็ไปไม่รอด รู้สึกเบื่อ เด็กมีทั้งหมด 6 ห้อง ห้องที่ 1-6 ท่องกาพย์เห่เรือกันจนจะอ้วก (หัวเราะ) จะไปสอบราชการบรรจุครูในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีตำแหน่ง มีแต่ที่แม่ฮ่องสอน สกลนคร เรื่องลำบากนั้นไม่เคยกลัว เพราะเราเกิดจากบ้านสวน แต่ที่อยากสอนเด็กที่กรุงเทพฯ ก็เพราะมันอ่อนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย

“เมื่อไม่ได้ จึงลาออกจากการเป็นครู หลังจากนั้นก็มาทำงานไซด์ไลน์ด้านการเขียน เกือบจะไม่เคยนั่งเขียน จนกระทั่งได้มาทำงานอยู่ที่ไทยวัฒนาพานิช จากนั้นก็ไปทำสตรีสารภาคพิเศษสำหรับเด็ก ก่อนจะกลับมาทำหนังสือวิชาการด้านแบบเรียนเด็กทำอยู่สักพักหนึ่ง จึงออกมาทำสำนักพิมพ์พร้อมกับตั้งชมรมเด็กประมาณปี พ.ศ.2517-2518 ส่วนมากคุณวิริยะ สามีเป็นผู้ดูแลเราก็ช่วยบ้าง ในช่วงนั้นจึงนั่งเขียนนิยายเป็นงานหลัก งานบริษัทเป็นงานรอง

“ต่อมาปี พ.ศ.2542 สามีเริ่มป่วย ดิฉันจึงมาทำงานสำนักพิมพ์เป็นงานหลัก ต้องทำเต็มตัว จนกระทั่งเมื่อปีกลาย คุณวิริยะก็จากไป ชีวิตจึงต้องรับผิดชอบสูง แต่ก็ยังเขียนนิยายมาโดยตลอด เพราะเราทำอะไรแต่พอตัว อย่างงานเขียนเรื่อง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ก็ไม่ค่อยได้สนใจเนื้อเรื่อง แต่จะสนใจเรื่องความคิดของคน สำหรับนิยายไทยก็จะเน้นความขัดแย้งทางใจกัน ทั้งการดำเนินชีวิต ความรู้สึก

“การเขียนแต่ละเรื่อง แรงบันดาลใจที่จะเขียนมาจากเรื่องราวที่มากระทบจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจที่อยากจะเขียน เวลาเห็นอะไรนิดหนึ่งที่มากระทบ เราจะรู้สึกตรงนั้นได้ทันที ก็จะนำสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเขียนโดยเกิดมาจากจินตนาการของตัวเราเอง”

ลำยอง ....ทองเนื้อเก้า

“อย่างเรื่อง ทองเนื้อเก้า ดิฉันไปเห็นชีวิตเด็กที่แม่เขาใช้ชีวิตเละๆ เทะๆ ในสวนที่บางแวก ใกล้บ้านจะมีเพื่อนบ้านคนหนึ่ง เขาเป็นลูกชาวสวนเก่า มีสามีมามาก ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน หายออกจากบ้านไปพักหนึ่งก็ท้องกลับมา เอาลูกมาให้ยายเลี้ยง คนแล้วคนเล่าเรียกว่ามีลูกเป็นพรวน อึ ฉี่ เรี่ยราด แต่บังเอิญลูกชายคนโตของเขาเป็นคนดี ขยันขันแข็ง ผิดกับแม่เหมือนไม่ใช่แม่ลูกกัน วันหนึ่งเด็กคนนี้ก็ไปบวช แล้วกลับมาบิณฑบาต ดิฉันเห็นความแตกต่าง เหมือนฟ้ากับเหว การที่เขาได้เป็นพระ เป็นเณร ทำให้เขางดงามมาก ดิฉันเลยเอามาเขียนเป็นนิยาย แต่มันก็มันไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดหรอกค่ะ ตอนที่ลำยองเป็นบ้าและเป็นกามโรค แล้วเณรต้องฉุดลากโยมแม่ไปหาหมอ ตอนเขียนก็อึ้งๆ เขียนไปก็สะเทือนใจไปด้วย เรื่องนี้ส่งผลให้ คุณแก้ว อภิรดี ภวภูตานนท์ ซึ่งเข้ามาเล่นละครในยุคแรกๆ รับบทเป็น ลำยอง โด่งดังเป็นพลุแตก

“โดยมากเรื่องที่เขียนมันมีเหตุมากระทบใจ แล้วเราก็จะไปเขียนทางด้านความรู้สึก ถ้าเราพลาดพลั้งเป็นอย่างตัวละครตัวนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะเกิดอารมณ์อย่างไร พยายามทำให้คนเขียนมีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร มันถึงจะออกมาด้วยอารมณ์ความรู้สึก

“อย่างตอนที่ทำหนังสือเด็ก เราก็อ่านจดหมายเด็กที่เขียนเข้ามา อ่านวันละเป็นร้อยฉบับ เด็กบางคนเขาไว้ใจเรา เวลาเขามีอะไรเขาจะระบายความรู้สึกนั้นออกมาหมด ทั้งความคิด ปัญหาของเขา นำมาปรึกษาเรา ฉะนั้นเมื่ออ่านแล้ว มันก็จะมีเรื่องมากระทบใจเยอะ เพราะเด็กยุคก่อนไม่เหมือนยุคปัจจุบันนี้ ยุคนี้เอะอะเขาก็ไประบายอารมณ์ออกกับการเล่นเกมออนไลน์ แต่เด็กสมัยก่อนเขาจะเขียนจดหมายเข้ามา”

จดหมายจาก...เมืองไทย

“นวนิยายของเราส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องชิงรักหักสวาท พาฝัน มันไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่แหวกแนวออกมา เวลามีเรื่องอะไรที่แปลกแหวกออกมา ต่างชาติเขาจะสนใจมาก อย่าง จดหมายจากเมืองไทย แปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 10 ภาษา มันไม่ใช่ว่าได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นแล้วจะต้องนำไปแปลทุกเรื่อง มันก็ไม่ใช่ แก่นของเรื่องมันจริงๆ เป็นความรู้สึกของตัวละคร ในเรื่องมันต้องเป็นอารมณ์ร่วม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนไทย คนจีน คนชาติต่างๆ เมื่ออ่านแล้วเขารู้สึกได้ เขาเรียกว่าความเป็นสากล

“อย่างความรู้สึกของคนอพยพ มันเป็นสากล อย่างเรื่อง ยิว พิมพ์ไม่รู้กี่รอบ เพราะเขามีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร มันไม่ใช่ความเป็นวัฒนธรรม มันเป็นความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ถ้าคุณเป็นคนอพยพ คุณก็จะเกิดปัญหานี้ทันทีถ้าคุณมาจากวัฒนธรรมที่สูงกว่า แต่มายากจน อดอยาก อย่างคนจีนโล้สำเภาอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ มาแผ่นดินสยาม ความรู้สึกในส่วนลึกของเขาคิดว่า ฉันสูงส่ง แต่จริงๆ แล้วเมื่อมาอยู่กับคนที่เป็นเจ้าของประเทศ เขาก็จะดูถูกว่าคุณมาแย่งเขาทำมาหากิน เพราะมันไม่ใช่กรณีอย่างโรฮินญาอพยพมา นั่นมันอีกปัญหาหนึ่ง แต่คนพวกนี้มันได้หมด ทั้งวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งมันก็มาแบบถูกกดขี่ ฉะนั้นคนจีนหรือคน ยิวเขาไม่คิดอย่างนี้ เขามีความรู้สึกว่าเขาสูงส่ง เขาเก่าแก่กว่า เพราะฉะนั้นเวลาแปลเป็นภาษา

ฮิบรู ภาษาชนชาติยิวโบราณแล้ว เขาอ่านปุ๊บ เขาเข้าใจ เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมทันที ถ้าเราเป็นอย่างพวกเขา เราก็คงเป็นอย่างนี้แหละ และลูกเราก็คงเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มันมาจากความรู้สึก อย่างภาษาเยอรมัน คนก็ชอบเยอะ

“แต่ความโดดเด่นของนิยายที่เขียนจากเรื่องนี้ เป็นจดหมายล้วนๆ ถึงร้อยฉบับ เล่าเรื่องชีวิตของตัวละครเอกชื่อ ตันอ่วงสู ผ่านจดหมายที่เขาเขียนถึงคนสนิทในเมืองจีน นิยายเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของนวนิยายไทย ซึ่งเสนอภาพปัญหาวัฒนธรรมไทยจีนและความขัดแย้งของคนต่างวัย ทั้งๆ ที่ดิฉันเขียนเรื่องนี้มากว่า 40 ปีแล้ว

“ในความรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างนักประพันธ์ของไทยและของต่างประเทศ เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้ว่าของเขาจะจริงจังมากกว่าของเรา ของเราไม่ค่อยจะมีชั้นเชิง เป็นอย่างละครน้ำเน่า เราถือว่าเป็นความไม่รู้ของคนเขียนมากกว่า เพราะคนเราถ้าจะทำพินัยกรรมมรดก คนมีฐานะระดับนั้นต้องมีทนาย มีนายทะเบียนอำเภอ ไม่รู้หรือว่าการทำพินัยกรรมสามารถต่อไปถึงอำเภอได้ฝากไว้กับสำนักทนายความก็ได้ มันเป็นความไม่รู้ทั้งของคนเขียนและคนอ่าน เอามัน เอาสนุกอย่างเดียว นิยายพวกนี้มีตั้งเยอะแยะ เพราะพื้นฐานความรู้ของคนเขียนไม่ดีพอ หรือไม่มีการศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเขียน แต่ความรู้บางอย่างในสมัยก่อน มันก็หายากด้วยอย่างบางกรณี เพราะห้องสมุดบ้านเรามันแย่ แต่ถ้าเป็นยุคนี้สงสัยอะไรค้นหาทางเว็บไซต์ ก็รู้แล้วว่ามันถูกหรือมันผิดยุคนี้มันจึงเป็นเรื่องง่าย ยุคก่อนมันค้นหายาก อาจจะไม่มีความพยายามอยากจะค้นด้วย

“อย่างดิฉันมันก็ยังมีข้อผิดพลาดบ้าง อย่าง จดหมายจากเมืองไทย พลาดมาตั้งแต่หน้าแรกเลย เขียนเมืองเซียงไฮ ผิด ที่จริงมันต้องที่ซัวเถา เพราะจดหมายจากเมืองไทยมันข้ามไปเซียงไฮไม่ได้หรอก มันต้องตรงมาที่ซัวเถา ก็รู้ว่าผิดนะ แต่ไม่เคยแก้ ก็เพราะตอนที่เขียนเรื่องนี้ ดิฉันอายุเพียง 22 ปีเท่านั้นเอง ผิดก็คือผิด เพราะฉันทำได้แค่นี้ หนังสือแปลบางแห่งต้องทำเป็นฟุตโน้ตไว้ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษกับฉบับภาษาญี่ปุ่น ผิดก็รู้ตัวว่าผิด เหมือนมันเป็นประวัติศาสตร์ เพราะเรารู้เพียงแค่นี้”

ราชินีแห่งดอกไม้

“นักเขียนไทยที่โกอินเตอร์นั้นมีมากมายหลายคนอย่าง แดนอรัญ แสงทอง ก็แปลหนังสือของเขาเป็นภาษายุโรปหลายภาษา แต่เรื่องของเขาไม่ค่อยยาว ส่วนมากจะเป็นเรื่องสั้น เรื่องราวของคนไทยเองส่วนมากทั่วโลกเขาไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ นอกเสียจากโดนบังคับจากโรงเรียนให้เด็กมัธยมปลายบ้านเราอ่าน ส่วนนามปากกา คำว่า โบตั๋น ที่ใช้นั้น มาจากชื่อดอกไม้ แต่อย่าไปใส่ สเสือ นำหน้านะ ถ้าใส่แล้วมันจะกลายเป็นสถานอาบอบนวด (หัวเราะ) เพราะดอกโบตั๋นเป็นแบบจีนๆ อยู่ มันคือราชินีแห่งดอกไม้ในความรู้สึกของคนจีน เขาจะมีเทศกาลดอกโบตั๋นที่เมืองลั่วหยางทุกปี ดอกโบตั๋นจะคล้ายๆ ดอกกุหลาบ เป็นดอกไม้เมืองหนาวต้องปลูกทางภาคเหนือของไทยเท่านั้น

“หลายคนอยากจะเป็นนักเขียน และมักจะตั้งคำถามว่านักเขียน นักประพันธ์ คือศิลปินไส้แห้ง จึงอยากจะบอกว่าในอดีตกับปัจจุบัน มันไม่ได้แห้งทั้งหมดหรอก เพียงแต่ว่าตอนเริ่มเขียน มันยังไม่ดัง พอดังขึ้นมา ไม่เห็นมันจะไส้แห้งเลย นักเขียนรุ่นใหม่ๆมักมาหารือ ก็จะบอกเขาว่าอย่าเพิ่งทำเป็นอาชีพเลย เพราะคุณยังไร้ประสบการณ์ แล้วคุณจะนำเอาอะไรมาเขียน คุณก็อาจจะเขียนได้ อาจจะดังได้กับเรื่องรักกระจุ๋มกระจิ๋ม สัก 1-2 เรื่อง หลังจากนั้นคุณก็จะไม่มีอะไรเขียน เพราะคุณไม่มีประสบการณ์ชีวิตอะไรเลย คุณไม่มีอะไรแปลกใหม่ออกมาที่จะทำให้คนอ่านจดจำคุณได้เลย ทำงานสัก 10 ปีก่อน จึงค่อยริเริ่ม

“มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยเขียนลงในนิตยสารสกุลไทย แล้วมีคนเข้ามาสัมภาษณ์ ชีวิตคนธนบุรี ก็เลยคุยกับเขา เขาบอกว่าอยากจะลาออกจากงานมาเขียนนวนิยาย เราก็บอกว่าอย่าเพิ่งลาออกได้ไหม พร้อมยกตัวอย่างให้เขาฟังในฐานะนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่มีสังกัด อย่างเมื่อตอนที่อยู่ชัยพฤกษ์ แม้แต่โรงพิมพ์ธนบัตร เรายังขอเขาเข้าไปดูได้ ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่นักเขียน ทำได้ไหม มนุษย์ทั่วไปหรือชาวบ้านเขายังไม่ให้ดูเลย แต่เราเข้าไปดูในนามนิตยสารของเด็ก เพื่อถ่ายรูป นำไปแนะนำ หรือไปศูนย์ฝึกการบินพลเรือน เขาให้เรานั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นนั่งไปกับเขาด้วย คนธรรมดาจะทำได้ไหม ไม่ได้หรอก

“หรืออย่างการทำนิตยสารสารคดีสักเรื่อง เพื่อให้คนได้อ่านในระยะเวลาสั้นๆ นักเขียนต้องไปกินไปนอนอยู่บนเรือขนทราย เพื่อถ่ายทำชีวิตของคนที่ล่องเรือทรายไปตามลำน้ำหลายวัน หรือการเข้าไปเขียนเรื่องราวต่างๆ ในสถานที่ต้องห้าม เพื่อเข้าไปสัมภาษณ์ นำไปเขียนเป็นสารคดี บทความ เรื่องสั้นอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นประสบการณ์ที่คุณหาไม่ได้อีกแล้ว ต่อให้เราไม่ได้นำเอามาใช้โดยตรงก็เถอะ สิ่งที่เราได้ใช้ก็คือ เราได้ใช้สมอง

“ถ้าคุณเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมา เริ่มทำงานเมื่ออายุ 25 ปี แล้วคุณลาออกมาเพื่อมานั่งเขียนนวนิยาย ถามหน่อย คุณจะเอาอะไรมาเขียน คิดเอาง่ายๆ ว่าคุณเขียนเรื่องที่ดี เรื่องที่มันอยู่ยงคงกระพัน ให้คนจดจำไปอีก 30-50 ปี คุณทำได้ไหม ในเมื่อคุณยังเด็ก อายุเพียงแค่นี้ คุณจบมา มีประสบการณ์อะไรติดตัวมาอย่างเด็ก แล้วคุณก็ไม่เคยออกไปผจญโลก คุณไม่เคยทำการค้า คุณไม่เคยทำนิตยสารเจ๊งสักเล่มเดียว (หัวเราะ) คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตนี้มันมีอะไรบ้าง

“เพราะฉะนั้นดิฉันจะไม่สนับสนุนพวกนี้เลย ถ้าอยากจะมาเป็นนักเขียนอาชีพ ต้องรอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้อายุถึง 35 ปีก่อนอยากให้ไปทำงานอย่างอื่น แล้วระหว่างนั้นก็พยายามสร้างสมชื่อเสียงเอาไว้ก่อน ไม่ได้บอกให้หยุดเขียน แต่คุณเขียนเป็นงานรอง คุณต้องขยัน ต้องอดทน อดหลับอดนอนบ้าง งานประจำก็ต้องทุ่มเททำให้ดี แล้วถ้าคุณมีโอกาสทำนิตยสารอย่าง สารคดีหรือ National Geographic คุณจะได้รู้ได้เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเขาไม่มีโอกาส

“ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายๆ แล้วไม่เสียเหงื่อ มันต้องดิ้นรนหาอะไรที่ทำให้เรารู้อะไรมากกว่าคนอื่น เราต้องสร้างชื่อเสียงให้คนได้รู้จักตัวเราก่อน แต่สิ่งสำคัญ เราต้องรู้จักตัวเองด้วย”

ชีวิตจริง...อิงนิยาย

“โบตั๋นโด่งดังและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดจากเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย มันคงเป็นเรื่องของการบังเอิญมากกว่า พอมาประมาณปี พ.ศ.2530-2540 ชื่อเสียงก็เริ่มโด่งดัง เรื่องที่ชาวบ้านชอบที่สุดก็คือเรื่อง ทองเนื้อเก้า กับ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ช่วงนั้นดังสุดๆ ตามมาด้วยอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง บัวแล้งน้ำ เกิดแต่ตม ตะวันชิงพลบ กว่าจะรู้เดียงสา อย่างเรื่อง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ที่เขียนเมื่อปี พ.ศ.2522 ยุคแรก คุณมยุรา ธนะบุตร เล่นเป็นนางเอก รับบทบุญรอด พอนำมาสร้างภาพยนตร์ คุณลินดา ค้าธัญเจริญ ก็แสดงเป็นบุญรอด คุณลินดาก็สบายหน่อย ไม่ต้องพอกผิวให้คล้ำ เพราะเขาดำอยู่แล้ว (หัวเราะ)

“บทละครพวกนี้เมื่อซื้อขายไปแล้ว เขาต้องนำไปทำบทใหม่ เขาต้องไปจ้างคนมาทำบท ซึ่งราคาค่อนข้างแพง เราต้องทำสัญญาตกลงกับผู้ที่จะมาซื้อบทประพันธ์ของเรา ว่าจะเอาไปทำกี่ปี ถ้าเกินกำหนดแล้ว เธอไม่ทำก็เรื่องของเธอ ฉันมีสิทธิ์จะขายให้คนใหม่ โดยมากมันจะมีอายุของมัน ก็ประมาณ 4-5 ปี คนที่จะซื้อไปทำละครทีวี บทประพันธ์เรื่องหนึ่งก็หลายแสนบาท ยกเว้นคนไม่ค่อยดังก็จะถูกหน่อย ให้เขาต่อรองราคา ก็ต้องยอมให้เขาไปก่อน แต่ถ้าเกิดมันฮิตขึ้นมาเรื่องต่อไปก็จะแพงขึ้น ดิฉันเคยขายบทประพันธ์เรื่องแรกๆ 2-3 หมื่นบาท เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนั้นทองคำบาทละ 200 บาทเอง

“ส่วนใหญ่บทสรุปของนวนิยายในแต่ละเรื่องที่เขียนไม่ได้มีเจตนาจะมุ่งสอนในเรื่องจริยธรรม คุณธรรม แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องพวกนี้ เพราะอย่างตัวละครที่ดิฉันเขียนมันจะไม่ค่อยน่ารักสักเท่าไหร่อย่าง บุญรอด นี่ก็ร้ายจะตาย พอๆกับ ลำยอง แต่ถึงที่สุดแล้ว เจตนาเราอยากให้สังคมก้าวไปในทิศทางไหน เจตนาที่ดีของคนเรา มันก็ต้องมีบ้าง แต่ถามว่า เจตนาต้องการเขียนเพื่อตรงนี้หรือเปล่า ก็ไม่นะคะ ฉันอยากเขียนอะไร ฉันก็เขียน แล้วแต่สิ่งที่เราอยากเขียน มันจะแนะนำไปในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าอยากจะเขียนเรื่องผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศสูงๆ แล้วเราแต่งเรื่องไปจนจบ มันก็น่ารังเกียจ เหมือนนักเขียนรุ่นใหม่บางคนเขียนเราไม่อยากทำ

“แต่บางครั้งอยากจะเขียนอีกมุมหนึ่ง เพราะมันมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมสังคมมันบังคับกะเกณฑ์ผู้หญิงเหลือเกิน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้น จะไม่เป็นกุลสตรี ผู้หญิงไม่มีอารมณ์ ไม่มีกิเลสหรืออย่างไร อย่างคุณกฤษณาเขียนเรื่อง เนื้อนาง กับ เนื้อในก็ใช่ เรื่อง แต่งไม้ไร้นาม นั่นก็ใช่อีก เกี่ยวกับผู้หญิงที่มีอารมณ์ทางเพศสูง แต่ถ้าจะถามว่าเจตนาของนักเขียน ต้องการทำโทษตัวละครเหรอ ก็เปล่า แต่สิ่งแวดล้อมมันทำให้เขาพ่ายแพ้ แล้วจะไปเขียนให้เขาชนะเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ในสังคมของเรา จะให้ผู้หญิงทำตัวแบบ เรือนพลับพลา หรือ เนื้อนาง มันก็เป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะรับ มันเป็นการถ่ายทอดเพื่อกระตุ้นตัวเรา เพราะ

ผู้หญิงก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรไปหมด ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส ตัณหา แต่ทำไมเราต้องไปซ้ำเติมตัวละครหนักหนา มันไม่ได้ถึงขั้นจะไปเป็นเด็กเก็บแต้ม อย่างนั้นมันน้ำเน่า นอกจากจะผิดศีลธรรมแล้ว ยังผิดทางด้านสุขอนามัยอีกด้วย”

สู่ภูผา...วรรณกรรม

“ดูเหมือนว่านักเขียนสมัยก่อนจะมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทตั้งใจ เอาจริงเอาจังกับการเขียนมากกว่า แต่ยุคนี้มันเป็นนักเขียนแบบแฟชั่นเสียส่วนมาก อย่างยุคไทยวัฒนาพานิชก็สร้างนักเขียนขึ้นมาเยอะอยู่ในแวดวงวรรณกรรมที่ทำงานร่วมกันก็มีคุณวิทยากร เชียงกูลคุณประยงค์ อนันทวงศ์ คุณสุภาวดี โกมารทัต คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ คุณอวบ สาณะเสน และอีกมาก โดยมีอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นบรรณาธิการ

“สำหรับคนที่จะก้าวเข้ามาบนถนนสายนี้ให้ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ ต้องเริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ด้วย คนเป็นบรรณาธิการต้องเข้มข้นแบบนี้ ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เวลาใครดังมาจากในเว็บไซต์ เขาก็เอาคนนั้นมาเป็นนักเขียน เราคิดแต่เรื่องธุรกิจมากเกินไป พอมีใครดังมาจากเว็บไซต์ก็เอามากันใหญ่ เสร็จแล้วก็โปรโมทอย่างใหญ่โต นอกจากเด็กพวกนี้แล้ว ยังมีคนดังมาเขียนหนังสือเต็มไปหมด ปรากฏว่าของเขาขายได้ดีมาก ของเราขายได้แค่ 600 เล่ม (หัวเราะ) คนดังบางคนเขียนภาษาไทยยังไม่ได้เลย แต่ก็แต่งหนังสือออกมาขาย ก็เลยมีความรู้สึกว่าไอ้ที่ดีๆ มันน่าจะมีแหวกออกมาบ้าง คงหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

“ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นอักษรศาสตร์หลายคนก็ชอบทำงานอิสระ พอออกมาทำงานส่วนตัว ก็ไม่พ้นวงการหนังสือ หลายคนประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่ อีกหลายคนพออยู่ได้ อาจจะมีบ้างที่ล้มเหลว แต่ไม่อับจน อย่าง อนันต์ญา เขาใช้นามปากกาว่า วรญา แกเขียนเรียงความดี ตอนหลังเลิกเขียนหนังสือ หันมานั่งแปลอย่างเดียว อีกคน พรนิภา ลิมปพะยอม อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สมัยก่อนจะใช้ปากกาเขียนหนังสือ ก็ประพันธ์ด้วยปากกาอยู่ 2 เรื่อง นอกนั้นจะใช้พิมพ์ดีด พิมพ์หมด เครื่องพิมพ์ดีดก็เครื่องเก่าสุดเป็นรุ่นหูหิ้วกระเป๋าหนังสีดำ มอบให้กับสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติ นำไปโชว์ไว้ที่หออัครศิลปินที่คลอง 6 จังหวัดปทุมธานีค่ะ

“ฉะนั้นการจะประพันธ์งานเขียนแต่ละเรื่องให้ประสบผลสำเร็จ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความจริงจังกับมัน มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เขียนเล่นๆ ตบกันไปตบกันมา ตัวละครทุกตัวมันมีชีวิตอื่นๆ รวมอยู่ด้วย อย่ามองเรื่องตลาดเป็นหลัก คู่หมั้นพระเอกดี๊ดี ด่วนมาตายจากกัน เพราะกลัวว่าเดี๋ยวนางเอกไม่ได้แต่งงานกับพระเอก อย่างนี้ไม่ชอบเลย มันมักง่าย มันไม่จริงจัง จริงใจ เขียนเพื่อป้อนตลาดว่าตลาดต้องการอะไร ในยุคก่อนที่ประพันธ์ออกมาก็ไม่มีใครคิดว่าจะนำไปทำเป็นละครหรือทำเป็นภาพยนตร์ อยากจะเขียนเพื่อให้อ่านมากกว่า เราไม่ได้เขียนเพื่อให้ไปทำละคร อย่างบางคนมาถามว่า เรื่องที่ดิฉันเขียน เขานำไปทำละครตั้ง 30-40เรื่อง ตกลงตั้งใจเขียนเพื่อทำละครเหรอ เราก็บอกเขาไปว่าเปล่า ฉันก็เขียนของฉันตามปกติ แต่ว่าเขานำเอาเรื่องของฉันไปทำละคร แล้วมันเกิดดังขึ้นมา

“ดิฉันอยากจะบอกกับนักเขียนรุ่นใหม่ว่าอย่าเพ้อให้มันมากนักเลย แล้วนักเขียนเยอะมากที่ลอกเลียนแบบนิยายของเกาหลีมาโดยเฉพาะนิยายเกย์ที่เขียนในเว็บไซต์หรือการ์ตูนบนแผง บางคนเขียนลงในนิตยสารแนวอีโรติก หนักเข้าไปอีก เหมือนกับโหยหาเซ็กซ์

“สำหรับนักเขียนในดวงใจถ้าไม่นับของต่างประเทศ ของไทย คงต้องอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ชอบมาก อ่านแล้วมันดีค่ะ คนต่อมาคือ สีฟ้า ดิฉันอ่านเรื่อง เกิดแล้วเป็นคน อ่านแล้วเศร้าไปนาน มีความรู้สึกว่าหมดแล้วชีวิต เป็นนิยายไทยที่อ่านแล้วไม่เคยลืม ต่อให้ลืมชื่อตัวพระเอก นางเอก แต่ความรู้สึกตรงนั้นมันยังอยู่ ก็เรื่องนี้แหละค่ะเป็นนวนิยายที่ดิฉันอ่านจนจบเป็นเรื่องแรก หรืออย่าง หญิงคนชั่ว ของ ก. สุรางคนางค์ มันไม่ได้โป๊อะไรหรอก แต่ชื่อเรื่องมันทำให้คนกลัว ของ ศรีบูรพา ก็อ่านแต่ของ ยาขอบ เรียนตามตรงไม่ค่อยชอบ โดยเฉพาะเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ถามว่าทำไม ก็เพราะอ่านแล้วอยากจะตบ จะเด็ด ที่บอกว่า ‘พี่รักจันทราด้วยใจพรรค์ รักกุสุมาด้วยใจปอง’ ดิฉันยังจำได้ อยากจะตบจะเด็ดจริงๆ (หัวเราะ) ก็เลยอ่านไปเพียงแค่ 4เล่มจาก 8 เล่ม แล้วจึงเลิกอ่าน ส่วน ขุนช้างขุนแผน ชอบมาก อ่านเป็นสิบๆรอบจำได้หมด แม้กระทั่ง อิเหนา รามเกียรติ์ อ่านเรียงตามตัวอักษร อ่านจนขึ้นใจ มันจำได้ทุกบททุกตอน ไม่เคยลืมเลือน”

บันไดก้าวแรกที่เหยียบย่างสู่เส้นทางฝัน