รองศาสตราจารย์ เข็มรัตน์ กองสุข

รองศาสตราจารย์ เข็มรัตน์ กองสุข

รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) คือครูผู้มีพระคุณท่านนั้น ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นอาจารย์ผู้สอนแล้ว ท่านยังดำรงตนเองเป็นศิลปินผู้พัฒนาในงานอยู่เสมอ เห็นได้จากการสะท้อนเรื่องราวผ่านผลงานที่มักจะแฝงแนวความคิดให้ผู้เสพได้คิดตามอย่างมีตรรกะและแยบยล

มากกว่าคำว่าศิลปิน

เมื่อครั้งยังเด็ก รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์มักจะฝึกวาดเขียนอยูเสมอ จนมีฝีมือพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การได้เข้ามาเรียนศิลปะจึงนับได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันที่แน่วแน่ในสมัยนั้น ด้วยเพราะนึกไปถึงสิ่งที่จะได้เรียนรู้ที่ซ่อนอยู่ภายในรั้วเพาะช่าง

“พี่ชายผม (อาจารย์ฉลอง กองสุข ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เรียนที่เพาะช่างอยู่ก่อน แล้วผมก็อยากจะเรียนเขียนรูปอย่างพี่เขาบ้าง เมื่อสนใจก็เริ่มลองหัดเขียนรูปเองอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงมัธยม เริ่มต้นด้วยการลอกรูปไปเรื่อยๆ จนมีครั้งหนึ่งช่วง ม.5 ก็แอบหนีเข้ามากรุงเทพกับเพื่อนๆ เพราะคิดอยากจะมาดูโปสเตอร์หนัง ตอนนั้นผมชอบมาก อยากจะหัดเขียนรูปสีบ้าง เพราะรูปขาวดำเราเขียนเป็นแล้ว ก็มีเพื่อนพาเข้าไปหาสตูดิโอของเปี๊ยก โปสเตอร์ เพื่อที่จะไปเรียนรู้งานเขียนคัตเอาท์ ผมก็ได้เรียนรู้มาบ้าง พอดีตอนนั้นพี่ชายคนกลาง (อาจารย์บำรุงศักดิ์ กองสุข) ก็เรียนอยู่ที่เพาะช่างก็เลยไปกันที่นั่น 

“พอผมเข้าไปเพาะช่างก็ไปเจอรูปผลงานของอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง (นักวาดภาพเหมือน ศิลปินเอกของชาติ) ก็เกิดความรู้สึกชอบ เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากจะเขียนรูปผู้หญิงบ้าง งานศิลปะในช่วงนั้นผมฝึกเขียนเอง และแอบดูจากช่างที่เขาเขียนคัตเอาท์เอา พอกลับบ้าน (จ.สุรินทร์) ไปก็คิดอยากจะเขียนรูปผู้หญิงอารมณ์ดีๆ ในบรรยากาศทึมๆ มีแสงสดใสของใบหน้าแต่ทีนี้ผมไม่มีแบบ เพื่อนก็ไปหารูปของโมนาลิซ่าที่เขาลงในหนังสือเสรีภาพฉบับที่ 93 ก็เลยใช้แบบเป็นรูปของโมนาลิซ่า 

“ตอนนั้น ในหนังสือเล่มนั้นเขาตีพิมพ์ว่าภาพของโมนาลิซ่ามีมูลค่ามากถึงสองพันล้านบาท ผมก็เลยรับรู้ได้ว่างานศิลปะเช่นนี้มันต้องมีอะไรแน่นอน ก็เลยเริ่มเขียนภาพโมนาลิซ่า โดยใช้ความรู้หลังจากที่ได้ไปดูเขาเขียนโปสเตอร์หนังนั่นแหละมาเขียนในเวอร์ชั่นของตัวเอง ตัดทอนแบ็คกราวนด์ออกไป ใช้สีฝุ่นวาดเพราะอยากลองใช้สีที่มันหลากหลายมากขึ้น

“เมื่อวาดเสร็จ อาจารย์ที่สอนวาดเขียน ท่านก็นำงานของผมไปแสดงในงานช้าง จังหวัดสุรินทร์ ปรากฏว่าฝรั่งมาเห็นแล้วชอบ เขาก็มาขอซื้อ ให้ราคาประมาณสองพันบาท เพื่อนๆ ก็มาตามหาผมกันใหญ่เลยว่าจะขายไหม นัยว่าถ้าขายได้ก็คงจะได้ฉลองกัน(หัวเราะ) ปรากฏว่าตามผมไม่เจอ รูปนั้นก็เลยไม่ได้ขาย ยังเก็บไว้ถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีมากที่ไม่ได้ขายไป เพราะถือเป็นงานการเรียนรู้ชิ้นแรกของเรา

 “เมื่อได้เข้ามาเรียนต่อที่เพาะช่างแล้ว ช่วงนั้นผมวาดสีน้ำ ดรอว์อิ้งมากมาย อาจารย์เฉลิม นาคีลักษณ์ ท่านประทับใจในงานของผม เขียนอะไรท่านก็ให้รางวัลหมด ท่านเคยขายงานให้ผมชิ้นหนึ่ง เป็นงานเขียนรูป Self Portrait เมื่อตอนอยู่ปีหนึ่ง เขียนด้วยสีน้ำ แล้วเอาไปแสดงงาน มีชาวญี่ปุ่นมาเห็นแล้วชอบเลยขอซื้อ ท่านก็เลยไปตามตัวผมมาแล้วถามราคาว่าจะขายเท่าไหร่ ผมก็บอกไปสี่ร้อยบาท ซึ่งในตอนนั้นถือว่าแพงนะ ปรากฏว่าก็ขายได้”

ความคิดเปลี่ยน

“ช่วงนั้นผมอยากจะเป็นจิตรกรนะ แต่พอมาเรียนที่ศิลปากรช่วงปีสาม ความคิดก็เปลี่ยนไป ความอยากรู้ของผมทำให้เป้าหมายแรกเปลี่ยนแปลง เพราะช่วงนั้นได้เรียนเทคนิคใหม่ๆ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำงานที่หลากหลายมากขึ้นเกี่ยวกับรูปทรงนามธรรมทีนี้ผมก็เกิดมีความคิดอยากรู้ว่างานนามธรรมนั้นมีคุณค่าอะไร น่าสนใจแค่ไหน แล้วเวลานั้นเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังนิยมงานในแนวนามธรรมพอดี

“สุดท้ายผมก็เลยมาจับทางเรียนประติมากรรม เริ่มด้วยงานสลักหิน สลักไม้ เชื่อมโลหะ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ผมก็เลือกทำสลักหินหลังจากนั้นมาก็ฉุกคิดได้ว่างานหิน สลักไปมันก็เป็นก้อนๆ อยู่อย่างนี้ แล้วงานหินบางทีเป็นงานใหญ่ๆ เราก็ไม่มีกำลังพอ จะย้ายทีก็มีค่าใช้จ่าย เก็บงานลำบาก พอช่วงเรียนปริญญาโท ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นเทคนิคปั้น ซึ่งก็สะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นงานนามธรรมอยู่

“หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรี ผมมีโอกาสไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาปีหนึ่ง ช่วงนั้นชีวิตค่อนข้างได้รับความกดดันอยู่พอสมควร ก็เลยวาดงานสีน้ำออกมา เป็นชิ้นงาน Landscape รูปทะเล แขวนไว้ที่ห้องแล้ว มันทำให้ห้องมันดูมีความรู้สึก ในรูปมีสัญลักษณ์ของเรือที่กำลังแล่นเข้าฝั่ง ในช่วงเวลาที่แดดยามบ่ายกระทบกับผิวน้ำ ส่องประกายระยิบระยับ ผมใช้พู่กันอันใหญ่ปาดไฮไลต์ที่แหลมของภูเขาของอ่าวอุดม ชลบุรี ซึ่งผมไม่เคย ตอนนั้นอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) ได้มาดูก็เห็นว่าท่านชอบมาก แต่ก็ไม่ได้ขายไป เพราะงานนั้นถือว่าเป็นงานที่เขียนให้กับตัวเอง เป็นงานที่สะท้อนตัวตนของตัวเองในช่วงนั้นว่ามีความทุกข์ยากอย่างไร

“พอผมหันมาทำงานด้านประติมากรรม ก็พักงานเพ้นท์เอาไว้ข้างหลัง หลังจากนั้นก็พยายามพัฒนางานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2525-2534 ผมก็ได้ทำงานนามธรรมในเรื่องแม่กับลูก พลังแห่งอิสรภาพ เมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการ มนุษย์กับความปรารถนา ฯลฯ จนมาถึงงานชีวิตและศรัทธา ซึ่งเป็นงานที่ได้เหรียญทอง ถือได้ว่าเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของผม และก็เป็นเหรียญแรกหลังจากอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขต (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) ได้ในรูปแบบประติมากรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่เป็นงานนามธรรม

“งานของผมไม่เหมือนใคร อาจมีบ้างที่เรื่องราวอาจเหมือนกัน แต่รูปทรงการนำเสนองานนั้นต่างกันแน่นอน รูปทรงของผมจะมีลักษณะพิเศษที่ตรงเหลี่ยมสัน มีส่วนเว้าโค้ง ฟรีฟอร์มผสมกับเรขาคณิต ในส่วนของเรื่องราวมันเหมือนกันได้ อย่างเรื่องของนิพพานทุกคนก็ทำบัวตูม บัวบาน แต่เรื่องของคาแรกเตอร์ที่สอดแทรกอยู่ในงานนั้นแตกต่างกันแน่นอน”

ศิลปะจรรโลงสังคม

ศิลปินมักใช้ผลงานเป็นสื่อแสดงแนวคิด หรือในบางครั้งก็สะท้อนมุมมองที่มีต่อสังคมออกไปเพื่อเป็นการกระตุ้นการรับรู้ให้กับผู้คนได้ตระหนักถึงความจริง หากแต่สิ่งเหล่านี้จะสมบูรณ์ต้องสะท้อนผ่านกระบวนการแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพราะการใช้ความคิดจะเป็นตัวแยกระหว่างขยะกับงานศิลปะออกจากกันอย่างชัดเจน

“จริงๆ เรื่องของศิลปะไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ผู้เสพหรือใครก็แล้วแต่ การจะมีส่วนช่วยผลักกันและกันได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีความเข้าใจในกระบวนการ แยกแยะให้ออกเสียว่านี่คือช่วงแรงบันดาลใจ นี่คือวิธีการ นี่คือผลของทั้งสองอย่างรวมกัน ถ้าแยกแยะไม่เป็น งานมันก็จะซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

“ผมมีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะก้าวหน้าเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายของเขาได้ ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งที่ทำกำหนดทิศทางที่ตนเองจะไป เขาก็จะเจอตัวตน ผมเน้นสอนให้ลูกศิษย์ทุกคนต้องมีความเข้าใจในกระบวนการ มีการแยกแยะ มีความเข้าใจในทัศนธาตุที่เอามาประกอบ วิธีการปรุงแต่งนั้นทำอย่างไร ผมจะพยายามให้เขามีทักษะ และไม่ขาดจินตนาการ ก็จะเกิดพลังสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์แบบนั่นเอง

“การทำงานมันต้องอาศัยประสบการณ์และความเพียรในการทำ แล้วก็ต้องหมั่นวิเคราะห์ตัวเองด้วยว่าเราจะไปทางไหน เราต้องการอะไร เวลาผมทำงาน แม้มันจะมีบางส่วนที่อาจสะท้อนตัวตนของผมออกไปบ้าง แต่เป้าหมายหลักที่ผมแน่วแน่ก็คือผมจะทำงานศิลปะที่เป็นงานนามธรรม เราก็จะต้องมีวิธีคิดสอดแทรกเข้าไปให้มันกลายเป็นงานศิลปะ ซึ่งงานศิลปะก็คืองานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นสอดแทรกความดีงาม ซึ่งความดีงามนี้อาจจะแสดงออกในแง่ลบหรือบวกก็ได้ แต่เป้าหมายคือต้องสร้างสรรค์หรือจรรโลงให้คนได้เห็นถึงความดีและความชั่วให้ได้”

สร้างสรรค์นามธรรม

“ส่วนเรื่องของการดูงานนามธรรม แม้รูปทรงมันอาจจะไม่สามารถบอกเรื่องราว แต่ทัศนธาตุการปรุงแต่งนี้มันจะบอกถึงวิธีคิดของผู้สร้างสรรค์ออกมา การที่คนดูไม่รู้เรื่อง เพราะคนที่ดูมักจะไปตั้งความคิดว่ามันจะต้องมีรูปทรงที่เขาจะต้องดูรู้เรื่อง พอเขามาดูก็เลยจะพูดแค่ว่ามันดูไม่รู้เรื่อง ซึ่งอันที่จริงแล้วมันเป็นเพียงแค่เรื่องของรูปทรง แต่วิธีประกอบนี้ ศิลปินต้องรู้เรื่องและต้องเข้าใจ ซึ่งจะต้องเป็นความเข้าใจตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของชีวิต เป้าหมายของรูปทรงนั้นต้องการให้คนรู้สึกอะไร มีอะไรไปในทางไหน ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความอบอุ่น ความมีพลัง ความรุนแรง มันจะสะท้อนอยู่ในชิ้นงานนั้นได้ชัดเจน

“ถ้าคนดูอยากจะเข้าใจก็ต้องมีการเรียนรู้ และเปิดรับก่อน ไม่งั้นมันก็จะดูไม่เป็น ศิลปินก็เหมือนกัน เราดูแล้วเห็นความสวยงาม แต่อธิบายความหมายหรือวิเคราะห์ไม่ได้มันก็จบ ดังนั้นตามการแสดงผลงาน จึงจำเป็นจะต้องมีคนที่จะมาคอยอธิบายงานให้ผู้ชมงานได้รับทราบด้วย เพราะนั่นจะเป็นไกด์ให้ผู้ชมได้พอสมควร

“อันที่จริงแล้วถ้าหากตัวศิลปินเองเป็นผู้พูด เป็นผู้อธิบายงานได้เองก็จะยิ่งดี เพราะเขาจะเข้าใจงานของตัวเองมากกว่าใครๆ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา เรามีสถาบันการศึกษาที่จะให้ความรู้ก็จริง แต่ในระดับการเรียนในแต่ละทีก็แตกต่างกัน แล้วเราก็ยังมีนักวิจารณ์ที่มีความรู้จริงๆ น้อยมาก

“แต่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักวิจารณ์ มันจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราต้องมีกฎหมายที่รองรับและสนับสนุน คนอาจสงสัยว่าศิลปะกับกฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร อย่างเช่นการจะทำตึกขึ้นมาหนึ่งหลัง เราไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้เขาต้องมีศิลปะด้วยเป็นองค์ประกอบหนึ่งในนั้น ซึ่งตามปกติแล้ว เราก็จะมีนักตกแต่งนำศิลปะแบบ Pure Art เข้าไป แต่มันก็เป็นแค่รูปแบบเท่านั้น ไม่ได้เป็นงานของศิลปิน ศิลปินจึงมักจะโตยาก”

สิ่งมีชีวิตย่อมต้องงอกเงย

ด้วยความเป็นศิลปินที่หมั่นถามความต้องการของตัวตนอยู่เสมอ และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตลอดเวลา ทำให้ในอีกบทบาทของการเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เขาเฝ้าปลูกฝังให้เหล่าเมล็ดพันธุ์ศิลปะได้เรียนที่จะรู้จักความหมายที่ลึกซึ้งและแท้จริงของคำว่า “ศิลปิน”

“ศิลปินต้องพัฒนางาน ตัวตน และความคิดอยู่เสมอ ไม่ใช่หวังเพียงแค่การแสดงงานเป็นครั้งๆ ไป ศิลปินต้องทำงาน ปรับปรุงเรียนรู้ และเปิดใจอยู่ตลอด มันก็จะทำให้ศิลปะและตัวของเขาได้พัฒนาขึ้น

“การแสดงงานคือเป็นโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ แต่ขณะเดียวกันผลเสียที่สะท้อนกลับมาก็คืองานเหล่านั้นเขาเอาไปเก็บไว้ที่ไหนมันไม่มีการจัดการ ผลสุดท้ายแม้จะเป็นงานที่ได้รับรางวัล แต่เมื่อไม่มีที่เก็บ แล้วเอาไปวางกองๆ มันก็เป็นชิ้นงานขยะไปโดยปริยายมันก็เลยมีคำถามว่าเราจะแสดงงานกันไปทำไม งานที่ว่านี้เป็นงานรางวัลใหญ่ๆ ทั้งนั้นนะ ผมได้มีการเก็บข้อมูลเรื่องราวเหล่านี้แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นการแสดงงานเมื่อครั้งที่ผมเกษียณครั้งที่สอง ชื่องานว่า ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคต อโหสิกรรม’ งานชิ้นนี้ผมอยากสะท้อนมุมมองที่ผมเห็น หรือได้พบเจอออกไปให้คนได้รับรู้ รูปแบบอาจไม่เป็นที่ประทับใจ แต่เนื้อหานั้นสำคัญกว่า ถือว่าเป็นชิ้นงานที่มีเนื้อหาที่ผมชอบมาก เพราะว่าผมเรียน ผมสอน ผมทำงาน แล้วสุดท้ายทุกอย่างกลายเป็นขยะ

“การที่ผมได้มาอยู่ในราชการ ผมได้เห็นอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ท่านสอนท่านทุ่มเทให้กับลูกศิษย์ เมื่อผมมีโอกาสได้เข้ามาทำผมก็คิดแค่ว่าจะทำให้ดีที่สุด และการที่ผมได้เข้ามาเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ซึ่งผมมองว่าเป็นอาชีพอันสูงส่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนนะ ตอนที่ผมเรียนภาพที่ผมมองผู้ที่เป็นครูคือความยิ่งใหญ่มาก ยิ่งผมได้มาเจออาจารย์เฟื้อที่ว่าเป็นที่สุดของผมแล้ว เราคงไม่มีโอกาส ไม่มีวันที่จะถึงจุดนี้ ตอนเรียนจบก็คิดแค่ว่าจะหางานทำเลี้ยงชีพเท่านั้น ตอนที่เรียนผมก็คิดแค่นั้น ไม่ได้คิดอะไรที่มันสูงหรือไกลเกินเอื้อม เพราะผมคิดว่าถ้าเราหวังไว้สูงมากไปเราจะเป็นทุกข์เปล่าๆ

“พอผมได้รับพระราชทานศิลปินแห่งชาติ ตอนแรกผมไม่คาดคิดว่าก่อนว่าจะได้รับเกียรตินี้ คือไม่ได้คาดหวังเพราะผมมองว่าตำแหน่ง ลาภ ยศเป็นของภายนอก ไม่ได้มีส่วนจะทำอะไรให้ได้ดีขึ้นในชีวิตนี้ เป้าหมายของผมคือการทำงานให้มันดีกว่านี้ไปเรื่อยๆ

“ผมมีความสุขกับการทำงานที่ดีขึ้น งานที่ได้ให้อะไรกับสังคม ผมจะไม่มีความสุขเลยถ้าผมได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้วงานของผมกระจอก ไม่มีการพัฒนา สิ่งที่ผมกลัวก็คืองานที่มีความซ้ำซาก แต่เมื่อผมได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ผมก็คิดว่าก็จะยังคงพัฒนางานของตนเองต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้สอดคล้องกับคำว่าแห่งชาติที่ได้รับ ระดมพละกำลังให้กับงานให้เต็มที่มากกว่านี้และพยายามจะทำงานในทุกรูปแบบหากได้มีโอกาส อย่างตอนนี้ผมกระหายงานเพ้นติ้งมาก เพราะผมทิ้งช่วงมานาน ผมก็หาโอกาสที่จะเริ่มกลับมาทำอีกครั้ง ผมจะยังคงทำงานจนกว่าสมองของผมจะเกษียณ

“จินตนาการเกิดจากความคิด จากประสบการณ์ เกิดจากการที่เราจะสร้างมันขึ้นมาเพื่อขจัดปัญหาให้สมบูรณ์ที่สุด ในการทำงานแต่ละชิ้น แล้วที่สำคัญการทำงานที่คนอื่นเคยทำมาแล้ว ไม่เคยเกิดประโยชน์ งานแต่ละชิ้นก็ต้องทำให้มันตรงกับใจของเราให้มากที่สุด สะท้อนแง่มุมที่คนอื่นเขานึกไม่ถึงให้ได้”

คำว่าครูไม่ใช่เพียงแค่สอนวิชาชีพไปวันๆ ตามหน้าที่