ดอกดิน กัญญามาลย์

ดอกดิน กัญญามาลย์

คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตตามหาความฝัน แต่ผู้ชายคนนี้ใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อขับเคลื่อนให้ความฝันนั้นได้กลายเป็นจริงได้อย่างใจ กว่าจะมาเป็นอดีตผู้กำกับที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุคหนึ่งของประเทศไทย เขาเริ่มต้นชีวิตศิลปะการแสดงครั้งแรกด้วย ‘การสวดคฤหัสถ์’

“เมื่ออายุได้เพียง 8 ปี ผมก็ได้เริ่มเรียนสวดคฤหัสถ์ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) จากนั้นปีหนึ่งก็มีคนมาว่าจ้างให้ไปช่วยตามงานศพ ซึ่งชุดหนึ่งมีสี่คน นั่งอยู่บนเตียงยาวสองเมตร ตอนนั้นใครเขาชอบใจเราเขาก็ให้เศษสตางค์ บางทีก็ให้ตั้งบาทหนึ่ง คนดูเขาก็ชอบเพราะผมเล่นแบบสมัยใหม่ คนเขาก็ครื้นเครงกัน มีเล่นแบบหนังเรื่องเลือดสุพรรณบ้าง พระลอตามไก่บ้าง ฯลฯ ว่ากันจริงๆ แล้วมันก็คือต้นฉบับของจำอวดนะ แต่จำอวดนั่นดีกว่าตรงที่เขามีโรงเล่น

“สวดคฤหัสถ์อยู่ 4 ปี ช่วงนั้นผมก็ไปช่วยนักเรียนการรถไฟแผนกช่างหล่อกลอนทองเหลืองอะไหล่ของรถไฟ     ไปด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายในทาง การเมือง (พ.ศ.2475) จากนั้นพี่ชายก็มาขอให้ไปช่วยงาน       ขายอาหารในร้านข้าวแกงที่จังหวัดยะลา อยู่มาไม่นานพี่ชายติดการพนันร้านไปไม่รอด ผมเลยต้องเปลี่ยนไปขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวพี่ชาย (สมัยนั้นจอมพลป.สนับสนุนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว)

“ต่อมาเมื่ออายุได้ 16-17 ปี เพื่อนๆ ที่ห่างๆ กันไป เขาไปเล่นละครเร่ ก็เลยมาชวนผมกลับไปเล่นละครเร่ จำอวดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยกัน ก็ตระเวนกันไปตามแถบจังหวัดต่างๆ ซึ่งละครเร่นี้ผู้หญิงจะเล่นเป็นตัวพระเอกนะ แล้วผมนี่จะเป็นตัวตาม คอยเป็นเพื่อนของพระเอก คนติดมากเลยนะตัวเอกเนี่ยะ ผมที่เล่นเป็นเพื่อนจะไปแตะไปกอดคอเสมือนเป็นเพื่อนชายก็ไม่ได้ คนดูจะโวยเอา แล้วพอมีคนติดมากเข้า บางทีตัวเอกก็หายไปกับเจ้าของเหมืองแถบนั้นไปเลย หรือบางทีเอาเพชรเอาอะไรมาให้เต็มไปหมด ก็หายไปทั้งตัวนาง ตัวพระเลยทีเดียว ละครก็เจ๊งน่ะสิ (หัวเราะ) มาช่วงหลังๆ ละครเร่คนติด ได้เงินแยะ โต้โผก็หอบเงินหนี มันก็จะไปอยู่กันได้อย่างไร ผมก็ต้องเป็นเขียนเรื่อง เพื่อที่จะแสดงกันเองต่อไปทุกคืนๆ เขียนได้ 30 กว่าเรื่องนั่นแหล่ะ ไอ้ที่ไม่เคยเขียนมันก็ได้เคยกันคราวนี้ ก็เลยกลายเป็นฝึกทักษะการเขียนบทไปเลยในตัว” 

จับกล้องถ่ายหนัง

เมื่อคิดได้ว่าชีวิตละครเร่นั้นเริ่มจะมองไม่เห็นปลายทาง เขาจึงตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของคุณสมพงษ์ พงษ์มิตร ตลกรุ่นลายครามเพื่อมาเล่นละครใหญ่ด้วยกัน จากความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นผู้ร่วมงาน ที่ต่างก็ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าให้แก่กัน

“ในตอนนั้นจะมีพี่จอก ดอกจัน พี่ต๊อก ล้อต๊อก ที่เล่นด้วยกันอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งคิดว่าละครมันก็อยู่เท่านี้ เลยคิดที่จะทำหนังดีกว่า หนังขาวดำ 16 มม. ก็เอาเรือนหอตรงหลานหลวงไปจำนำได้เงินมาสี่หมื่น ทำหนังไปสองหมื่น ที่เหลือก็เอาไว้โฆษณาบ้าง หนังชื่อเรื่องสามเกลอถ่ายหนัง มี สมพงษ์ ล้อต๊อก ดอกดิน ถ่ายด้วยกล้องตัวแรกนี่เลย ไปล้างฟิล์มที่ร้านลุงฟื้นตรงสะพานพุทธ พองานออกมาก็เริ่มพอได้ ให้คนมาพากย์เสียงส่วนบท ก็เอาบทละครนี่แหละ อีกเรื่องหนึ่งก็เรื่องสามเกลอเจอจานผี เพราะช่วงนั้นมันมีหนังฝรั่งเข้ามาฉายที่โอเดี้ยน เราก็ได้มุขนี้มาแทรกในหนังของเราบ้าง 

“วันที่คิดตัดสินใจเอาเรือนหอไปจำนำ ก็บอกกับภรรยาว่าเราต้องเอาไปทำทุน เพราะคิดว่าทำอะไรให้คนเขาดู มันก็ต้องเต็มที่ ซึ่งเขาก็เข้าใจ มันเป็นข้อดีของครอบครัวสามีภรรยาสมัยก่อนนะ ที่ภรรยาเขาจะเชื่อใจในความเป็นผู้นำของครอบครัว แต่ก็แน่ล่ะว่าผมต้องคิดเยอะ หลายตลบอยู่แล้ว แต่มันก็โชคดีที่ก็ไม่ได้เจ๊งอะไร (หัวเราะ) ได้กำไรหกหมื่นบาท ส่วนสามเกลอเจอจานผีนี่ก็ทำเงินสดเลยไม่ได้กู้แล้ว แต่พอได้สองเรื่องก็ต้องหยุด เพราะหนังสีๆ มันมาแล้ว ถ้ายังทำขาว-ดำออกไปกลัวว่าจะเจ๊ง 

“จากนั้นคุณบรรจง เลาหะจินดา (ศิริ ศิริจินดา) มาติดต่อให้ช่วยเขียนบทอยู่หลายครั้ง ได้ค่าตอบแทนครั้งละ 5,000-6,000 บาท เขาก็ขอให้ผมเป็นตลกในหนังเรื่องนั้นๆ อีก ก็ได้เงินเพิ่ม สักระยะหนึ่งเขาก็พานางเอกคนหนึ่งมาหา เพื่อให้ผมตั้งชื่อให้ใหม่ ผมก็มองว่าสวยดี ก็เลยตั้งชื่อว่า ‘เพชรา’ (เพชรา เชาวราษฎร์) จากนั้นผมก็ได้ซื้อกล้องเพื่อถ่ายหนังเองราคาสองหมื่นกว่าบาท เรื่องแรกนั้นคือ ‘แพนน้อย’ (มิตร-เพชรา) ต่อมา ‘ฝนแรก’ (ไชยยา สุริยันต์-เพชรา) และ ‘นกน้อย’ (มิตร-เพชรา) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำรายได้ 1 ล้านเป็นเรื่องแรกของเมืองไทยในพ.ศ.ปี 2507 ซึ่งก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในปีนั้นเช่นเดียวกัน ที่สำคัญหนังเรื่องนกน้อยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานเพลงชะตาชีวิต เพื่อประกอบเพลงนกน้อย ซึ่งไม่เคยมีใครได้รับเกียรติเช่นนี้มาก่อน 

“ส่วนเรื่องที่ประทับใจมากที่สุดก็เรื่องนกน้อยอีกนั่นแหล่ะ กับเรื่องมือปืนพ่อลูกอ่อน ที่มยุราเล่นกับสมบัติ เมทะนี ตอนที่มยุรามา เป็นช่วงหลังที่คุณเพชราเขาไม่รับงานแล้วเนื่องจากปัญหาสุขภาพตา ผมเห็นมยุราจากโฆษณาทางโทรทัศน์ ก็เลยให้คนไปตามเขามา แล้วก็ตั้งชื่อให้เสียใหม่ ให้ชื่อว่ามยุรา ที่แปลว่านกยูง นี่ก็คือคนสุดท้ายที่ผมสร้าง ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ผมทำคือ ‘สาวแดดเดียว’ เพราะว่าผมมีปัญหาสุขภาพ ต้องทำบายพาสต์ที่หัวใจ ก็เลยต้องดูแลตัวเองมากขึ้น 

“สมัยก่อนถ้าเป็นหนังของผม ผมจะต้องตั้งชื่อให้กับดาราเองทุกคน เพราะผมถือว่าผมสร้างเขามาเองกับมือนี่ แล้วผมก็ไม่หวงนะ เขาสามารถรับงานอื่นๆ ได้ด้วย และการที่จะสร้างคนๆ หนึ่งมันก็ดูคาแร็กเตอร์ของเขาด้วยว่าเขาควรจะไปได้ดีทางไหน อย่างเพชราเล่นร้องไห้เก่ง ส่วนมยุราจะแนวแก่นๆ ผมก็ปรับบทส่งเขาก็ดังเลย สมัยนั้นนางเอกจะดังและอยู่นาน 10 ปีขึ้น เพราะเราเชิดเขาไว้แบบนั้น แต่สมัยนี้อยู่กันได้ไม่กี่ปีเดี๋ยวก็มีหน้าใหม่ๆ เข้ามาอีกแล้ว

“ตั้งแต่นั้นมาก็ทำหนังอีกรวมแล้ว 26 เรื่องได้เงินล้านทุกเรื่อง ขนาดไปช่วยสร้างหนังให้คนอื่นเขาก็ยังได้ล้าน มีมากที่เดือดร้อนเจ๊งมาแล้วอยากให้ผมช่วยทำหนังให้เขาจะได้ฟื้นได้ ผมก็ช่วยนะ ถือว่าพรรคพวกวงการเดียวกัน ก็ช่วยเหลือกัน”

โอกาสเป็นของคนไขว่คว้าเสมอ

คำว่า ‘โอกาส’ คือสิ่งที่หลายๆ คนต้องการ แต่ต่างพยายามหาทุกหนทางเพื่อที่จะได้มา แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อดอกดิน กัญญามาลย์ เขากลับเลือกที่จะใช้ความเพียรเป็นอาวุธในการไขว่คว้า จึงไม่แปลกใจเลยว่าทุกความสำเร็จที่ปรากฏในผลงานแต่ละชิ้นของเขานั้น มันใช่และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

“สมัยเล่นละครนั้น สภาพมันค่อนข้างแย่นะ ขนาดละครใกล้จะเล่นแล้วแต่พระเอก ยังเมาอยู่เลย ผมก็เล่นเป็นตลกจะขึ้นก็ไม่ได้ เพราะต้องรอพระเอกก่อน ตอนนั้นเสี่ยซัว พิศิฐ ตันสัจจา เจ้าของศาลาเฉลิมไทยท่านก็เป็นหัวหน้าคณะ ท่านก็ว่าไม่เอาแล้วละคร เอาหนังดีกว่า มันอยู่ในกระป๋องมันเมาไม่ได้ ต่อจากนั้นท่านก็เลิกจริงๆ แล้วก็ไปฮ่องกง ไปซื้อหนัง แต่มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาเอามาเป็นหนังฝรั่งเศสราคาสองแสนกว่าบาท เรื่องราวเกี่ยวกับนักกีฬา มันตลกมากเลย เขาก็มาถามผมว่า พอจะทำบทพากย์ได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ แม้ตอนนั้นจะไม่เก่งภาษา แต่ก็อาศัยเทคนิคลงเสียงให้ตรงกับตัวละครเข้าไว้ มันก็ได้เรื่องอยู่ หนังเรื่องนั้นชื่อนักกีฬาทีเด็ด เข้าฉายที่แกรนด์ แถวๆ วังบูรพา ทำเงินได้แปดแสนกว่า เขาก็เห็นช่องทางว่าผมทำได้ ก็เริ่มหาซื้อหนังมาลงเสียงพากย์อีกเรื่องสองเรื่อง 

“ผมมองเห็นขีดความสามารถของตัวแล้วว่าเราพอจะทำอะไรได้ ผมก็บอกเสี่ยเลยว่า ช่วยผมหน่อยได้ไหม ผมอยากได้สคริปต์ที่เขาทำหนัง เพราะผมจะทำหนังเองแล้ว เขาก็บอกว่ามันใช้เงินหลายตังค์อยู่นะ แต่ผมคิดว่า มันคงไม่เกินความสามารถของผม แต่อันดับแรกผมต้องศึกษาขั้นตอนการทำที่ถูกต้องจากหนังของต่างประเทศพวกนี้ก่อน เพราะถึงแม้เราจะมาทำหนังไทย แต่เราก็ควรจะมีหลักที่ดีจากต้นแบบเอาไว้ก่อนซึ่งเสี่ยซัวแกก็ไป แล้วก็หาบทหนังมาได้ ซึ่งเป็น Shooting Scrip มีร่องรอยการฉีก การขีดฆ่าอะไรต่ออะไรมากมาย 

“ผมคิดว่าผมสนใจทำหนัง เพราะได้มองเห็นเสน่ห์ของมันตั้งแต่ครั้งที่ยังเล่นละครอยู่ บนเวทีต้นไม้มันก็คือต้นไม้อยู่นิ่งๆ อย่างนี้ แต่หนังมันเคลื่อนไหวได้ คือหนังมันมีความสมจริงมากกว่า ซึ่งผมไม่มีความรู้ในด้านการทำหนังก็จริง แต่ผมเชื่อมั่นว่าตัวเองจะต้องทำได้ เพราะส่วนหนึ่งผมมีประสบการณ์เมื่อครั้งเล่นละครเร่ไปตามจังหวัดต่างๆ” 

ชีวิตจริงของตลก

ว่ากันว่าชีวิตจริงของตลกมักไม่ตลกอย่างที่คิด แต่สำหรับตลกระดับตำนานหลายทศวรรษคนนี้ แม้เขาจะผ่านวันเวลาอันยากลำบากมาอย่างไร เมื่อความคิดดีกอปรกับความเป็นคนอารมณ์ดี จึงไม่แปลกที่ทุกการแสดงจะโน้มนำให้เขาได้รับสมญานามว่า‘ตลกสีขาว’

“ผมภาคภูมิใจมากนะ ที่ใครๆ ก็บอกผมว่าอย่างนี้ มันเป็นเหมือนเสียงสะท้อนสิ่งดีๆ ที่เราได้ตั้งใจทำลงไป หลายคนบอกว่าเป็นเพราะผมไม่หยาบคาย ไม่เล่นแรง ฯลฯ แต่ผมขอเล่าเรื่องราวหนึ่งในวันแต่งงานของผม ซึ่งตอนนั้นผมก็ยากจนอยู่ไปแต่งงานที่บ้านของผู้ใหญ่ที่นับถือ แต่งงานยังยืมเงินสินสอดเขา 7,000 เลย อยู่ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งนุ่งกางเกงแพร ใส่เสื้อคอตั้งมาหาผมในงาน ผมก็ไม่ได้เชิญ เพราะไม่กล้าเชิญใคร ไม่มีสตางค์จะไปเลี้ยงอะไรมากมาย แต่เขามา ขณะที่ผมกำลังไหว้ เขาก็บอกว่า ‘พี่เอาหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง พี่ชอบเธอนะ เธอเล่นตลกที่ โรงละครเฉลิมไทย เธอเป็นตลกที่สะอาด พอแกไปแล้วผมก็กลับมาเปิดหนังสือดู ชื่อหนังสือข้างหลังภาพ เซ็นชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ... ผมช็อกไปเลย ไม่คิดว่าเราจะได้รับเกียรติมากมายขนาดนี้

“เช่นกันกับเมื่อครั้งได้รับรางวัลพระสุรัสวดี มันคือความยิ่งใหญ่มากสำหรับคนในวงการภาพยนตร์ ปีที่ผมรับจากหนังเรื่องนกน้อยนั้นเป็นปีสุดท้ายที่จะได้รับจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะพระองค์ท่านทรงมีภารกิจมาก ความรู้สึกถึงบรรยากาศในครั้งนั้นมันประทับใจมากที่สุด แต่ถ้าพูดถึงงานในปัจจุบันนี้ ผมรู้สึกว่าเกียรติคนทำหนังมันหายไปนะ เพราะการให้รางวัลโดยเอารางวัลไปตั้งไว้กลางเวที คนที่ได้ก็เดินขึ้นไปหยิบเอา มันดูไม่มีจิตวิญญาณน่ะ ถึงจะบอกว่าเอาอย่างฝรั่งเขาก็เถอะนะ ถ้าเป็นผมได้ขึ้นไปรับ ผมจะบอกเลยว่า ‘นี่ใครเอาตุ๊กตาทองมาไว้นะ ของใครก็ไม่รู้ ฉันเอานะ’ ก็จะเล่นมุขไปแบบนี้ 

“การทำงานทั้งชีวิตนี้ผมใช้หลักการเดียวนะคือ ทำให้ดีที่สุด ซึ่งได้มาจากคำสอนของท่านพุทธทาสฯ เวลาทำหนังผมจะมีเทคนิคและจังหวะที่จะใช้แต่ละองค์ประกอบเสริมอารมณ์กันแต่ละฉาก แล้วก็เดาอารมณ์คนดูได้อย่างถูกจังหวะ ผมเชื่อว่าการที่ผมทำอะไรแล้วก็เหมือนจะดวงขึ้นไปเสียหมดในตอนนั้น ผมว่าส่วนสำคัญเลยก็เพราะคนดูเมตตา สนับสนุนผม จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังคงเมตตาผมอยู่มันเป็นเรื่องที่ผมประทับใจมากเลยชีวิตนี้”

มิตรตลอดกาล

แม้เขาจะสร้างดวงดาวมาประดับท้องฟ้าวงการภาพยนตร์ไทยไว้ไม่น้อย แต่คนๆ หนึ่งที่จะอยู่ในใจของเขาตลอดไปนั่นก็คือพระเอกตลอดกาลอย่าง มิตร ชัยบัญชาผู้ล่วงลับ ก่อนหน้านั้นแทบจะเรียกได้ว่าเขาทั้งสองคือพระเอก-ผู้สร้างคู่บุญ แต่เมื่อเสียงซุบซิบได้ไปไกลเหมือนไฟลามทุ่ง ช่องว่างระหว่างเขาสองคนจึงมากขึ้น และมากขึ้น

“จะบอกว่าคุณมิตร กับผมนี่รักกันมากนะ แต่มันก็มีบางคนที่อยู่รอบๆ ตัวเขา คอยเสี้ยมให้เราห่างกัน ปกติผมจะถ่ายหนังก็จะเรียกเขาเสมอๆ มีบทก็จะขอคิวเขาไป เขาก็จะตอบรับเป็นอย่างดี ช่วงไหนคิวแน่นเขาก็พยายามหาคิวมาให้มีโทรคุยกันตลอด แต่มันมีหลายเสียงไปบอกเขาว่า ผมนี่ทำหนังอะไรก็ได้อยู่คนเดียว ได้เพราะคุณมิตร ก็อยากจะให้คุณมิตรนี้ไปเล่นหนังให้พวกเขาบ้าง 

“ทีนี้ผมก็ไม่รู้ วันหนึ่งผมทำหนังอีก ก็ขอคิวไปทางคุณมิตร ทีนี้เขาไม่ให้คิวผมเลย มันก็ตกใจนะ เพราะงานทุกอย่างมันถูกเตรียมพร้อมไว้แล้ว ผมก็เลยไปหาคุณสมบัติ เมทะนี ก็ได้เขามาเล่น ทีนี้มันก็จะมีบทที่เขาเล่นแล้วต้องโหนคอปเตอร์ด้วยนะ ซึ่งผมก็มีการวางแผนแล้วเซฟอย่างดี มีการใช้สลิงเพื่อป้องกันตัวนักแสดง แล้วผมก็ใช้วิทยุสื่อสารเป็นตัวกำกับคิว โดยมีการวางแผนว่าถ้าหากเกิดเหตุสุดวิสัย วิทยุใช้การไม่ได้ เราก็จะมีธงเขียวธงแดงคอยบอกสัญญาณ งานก็ผ่านไปด้วยดี จนกระทั่งใครเขาก็อยากจะทำอย่างที่ผมทำบ้าง จนกระทั่งคุณมิตรเสียชีวิต ก็ยังมีการโทษว่าคุณมิตรกำกับเองนะ ผมรู้เรื่องก็เสียใจมาก วันนั้นผมไปรอรับเขาที่วัด พอไปเห็นแล้วมันพูดไม่ออก...

“การเดินทางของผมนั้นเห็นอะไรมาเยอะ เจออะไรมาก็มาก เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ก็ถูกเก็บไว้ในความทรงจำที่ดี และมิตรภาพดีๆ ก็ยังทำให้คิดถึงกันอยู่เสมอ ยิ่งบ้านหลังนี้เมื่อก่อนคนเดินเข้าเดินออกกันแทบทั้งวัน เดี๋ยวมาเตรียมความพร้อมเปิดกล้อง เดี๋ยวคัดตัวนักแสดง นั่นก็เดี๋ยวมีนางเอกมาใหม่ เอ้าให้ลองบทกันซิ นี่มันคือความมีชีวิตชีวาในวันเก่า จากชีวิตที่ยากจนลำบากลำบนกระทั่งมีทุกวันนี้ ก็เพราะความรอบคอบ นี่คือวันวานของผม โลกละครของผม...” 

ภาพแต่ละภาพยังคงทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในแบบของมันได้อย่างชัดเจน