กิติกร เพ็ญโรจน์

กิติกร เพ็ญโรจน์

“จริงๆ กว่าจะเรียนจบวิศวะฯ มามันก็ยากนะครับ (หัวเราะ) สมัยก่อนเห็นเพื่อนเข้าวิศวะฯ ประกอบกับคุณพ่อเป็นวิศวกร จึงเลือกเรียนด้านนี้ ซึ่งการไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ทำให้เราได้ประโยชน์เรื่องวิธีการคิดตรรกะต่างๆ แต่ในขณะที่เรียนอยู่ก็มีโอกาสทำกิจกรรมเกี่ยวกับด้านร้องเพลง การเอ็นเตอร์เทน จึงรู้ตัวว่าชอบงานเกี่ยวกับด้านนี้ พอจบมหาวิทยาลัยก็เริ่มทำงานเกี่ยวกับการเอ็นเตอร์เทนมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ดูแลอัลบั้มเพลงที่คีตา เรคคอร์ดส ต่อมาย้ายมาทำที่กันตนา กรุ๊ป, ไอทีวี, ยูบีซี, บีอีซี เทโร และทรู วิชั่นส์ จนมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง

“จริงๆ แล้วผมทำรายการมาหลายรูปแบบ แต่ที่ชอบทำรายการแข่งขันร้องเพลง เพราะเป็นคนชอบเสียงเพลง บวกกับคิดว่าการทำงานงานเกี่ยวกับโทรทัศน์น่าจะเป็นสิ่งที่สนุก จึงเกิดรายการต่างๆ เช่น The Trainer ปั้นฝันสนั่นเวที, LG Entertainer ล้านฝันสนั่นโลก ซึ่งผมคิดว่า 80% ของคนทั่วไปก็น่าจะชอบร้องเพลง ส่วนจะเพี้ยน ไม่เพี้ยนก็อีกเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ) อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราชอบทำมากที่สุดคือ รายการที่เกี่ยวกับการแข่งขันหรือไม่ก็เรียลลิตี้โชว์ ซึ่งรายการเรียลลิตี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเกี่ยวกับดนตรีเสมอไป เพียงแต่รายการที่เกี่ยวกับดนตรีเป็นรายการที่ทำให้คนดูทั่วไปเข้าถึงได้และสามารถสนุกกับรายการได้ง่ายๆ

“จากการทำงานมา สิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ผมคิดว่ามีอยู่ 2 จุด จุดแรกคือ ต้องมองว่าตัวเองชอบอะไร เมื่อเห็นสิ่งที่ชอบ เราก็จะวิ่งไปยังจุดนั้น และอะไรก็ตามถ้าเป็นสิ่งที่ชอบ เราก็จะทำได้ดีกว่า ส่วนจุดที่ 2 คือ เมื่อเรารู้แล้วว่าชอบอะไร เราก็จะต้องทำการบ้าน เพราะการทำงานทุกวันคือการสอบ มันมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ผิดกับตอนที่เราเรียนหนังสือ อาจใช้เวลาอ่านหนังสือแค่เพียงช่วงเวลาใกล้สอบ”

กว่าจะผลิตรายการโทรทัศน์ให้ออกมาแหวกแนว โดนใจผู้ชมได้นั้น นอกจากจะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิดแล้ว ยังต้องมีลูกทีมที่คอยสนับสนุนกระบวนการทำงานทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ขาดไม่ได้

“การทำงานที่ผ่านมาเราไม่สามารถคิดได้คนเดียว ต้องมีทีมงานที่ช่วยกันคิด ความยากลำบากของการทำงานตรงนี้จึงเป็นการสร้างทีมที่ดีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะคิดงานต่างๆ ออกมาให้ดีที่สุด และรักษาทีมที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพราะจุดสำคัญของธุรกิจนี้คือ ไอเดีย แต่ปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ปัญหาเกี่ยวกับโทรทัศน์ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่แน่นอน ต่อสู้ แย่งชิง เพื่อให้ได้ช่วงเวลาอากาศ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างงานให้ผู้ชมพอใจภายในระยะเวลาที่รายการออกฉาย ซึ่งมีกำหนดเพียง 3 - 6 เดือน 

“การที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องมีทีมที่แข็งแรง มีประสบการณ์ และมีหัวใจรักในการทำงาน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องห้ามหยุดทำงาน บริษัทถึงจะโตได้ นอกจากนี้บริษัทยังต้องเติบโตไปเรื่อยๆ เพื่อให้พนักงานโตตามไปด้วย ถ้าบริษัทคิดว่าได้กำไร แล้วก็หยุดอยู่แค่นี้ ไม่คิดที่จะเปลี่ยนหรือลงทุนอะไรเพิ่มนั่นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะความสนุกของคนทำงานคือได้ก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุดย่ำอยู่กับที่ ถ้าธุรกิจหยุดนิ่งก็เท่ากับรอวันนับถอยหลัง

“สิ่งที่จะพาองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้นั้น คงต้องมาดูว่าช่องว่างในการโตเป็นอย่างไร จุดสำคัญคือต้องเลือกช่องทางในการเติบโตที่ถูกต้อง ดูให้เหมาะสมว่าจะไปในทิศทางไหน สถานีมีทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ช่วงเวลาออกอากาศมีจำนวนเท่าเดิม นั่นหมายความว่าเราต้องมีการต่อยอดจากรายการโทรทัศน์ปกติทั่วไป โดยอาจดูว่ามีธุรกิจอื่นที่เข้ามาเสริมตรงไหนได้บ้าง

“วิกฤติหนักๆ ที่เจอคือตอนที่รายการ The Iron Chef เชฟกระทะเหล็ก ออกอากาศเทปแรกๆ เมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความที่เราอยากให้คนไทยดูแล้วมีความสุข จึงคิดว่าถ้านำคนมาแข่งทำอาหาร จะดูธรรมดาไป ดังนั้นจึงนำดารา นักแสดง มาแข่งขันกันปรากฏว่ามีแต่เสียงวิจารณ์ในแง่ลบ เพราะรูปแบบรายการเปลี่ยนไป สิ่งที่คิดอยู่ในหัวตอนนั้นคือ กลัวรายการโดนถอด ซึ่งเราลงทุนไปเยอะพอสมควร แต่ในเวลานั้นผมเลือกที่จะเลิกอ่านในสิ่งที่คนอื่นเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ายิ่งอ่านก็จะยิ่งทำให้จิตตก และจะไม่กล้าทำอะไรต่อไป เมื่อเราเจอวิกฤติก็ต้องเก็บอารมณ์ไว้ก่อน แล้วดึงเอาเหตุผลขึ้นมาวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาให้ชัดเจน ผมตัดสินใจบอกลูกทีมว่าให้ประเมินข้อบกพร่องทั้งหมด แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับ จากนั้นทุกอย่างก็พลิกกลับจากหลังมือเป็นหน้ามือ เรทติ้งก็ดีขึ้น

“การทำงานด้านนี้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา รายการโทรทัศน์แต่ละรายการต้องสู้กัน เพราะเรทติ้งวัดกันนาทีต่อนาที จึงต้องปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะให้มีคนดูเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นเสน่ห์ของการทำรายการก็คือ มีคนพูดถึงรายการของเรา และเขารู้สึกสนุก มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ผมคิดว่าส่วนนี้มันคือความสุขของคนทำงาน ความสุขไม่ได้   เท่ากับความสำเร็จอย่างเดียวเสมอไป แต่ความสุขอยู่ที่เราให้ความสำคัญกับทุกๆ สิ่งอย่างบาลานซ์กันหมด” 

Know Him

• หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณกิติกร เพ็ญโรจน์ ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขา MBA เพื่อหวังมาทำงานด้านบริหารในธุรกิจบันเทิง

• ขณะเรียนปริญญาตรี เขาประกวดร้องเพลงชนะ จนได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU-BAND 

• นอกจากจะชอบร้องเพลง และเล่นเปียโน เขายังสามารถทำอาหารได้อร่อยอีกด้วย

หากพูดถึงชายหนุ่มไฟแรงที่มีใจรักด้านเสียงดนตรี