
ตำนานปฐพีพิโรธ สิ่งที่น่ากลัวของแผ่นดินไหวนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวใน Legend ฉบับนี้ ได้รับแรงบันดาลใจสืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ด้วยความรุนแรงระดับ 7.4 แมกนิจูดจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ได้ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนออกไปในวงกว้างและสั่นไหวอย่างรุนแรงจนเกิดความเสียหายหลายแห่ง
สำหรับประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นอาคาร 30 ชั้นและอยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายหลายราย ซึ่งในขณะที่กำลังเขียนเรื่องราวอยู่นี้ซากอาคารยังกองพะเนินสูงยิ่งกว่าตึก 4 ชั้น การรื้อซากยังคงดำเนินไปได้เพียงแค่ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว แถมยังเกิดสถิติโลกที่ไม่ควรจะได้รับนั่นคือเป็นอาคารสูงที่สุดในโลกที่ถล่มจากการเกิดแผ่นดินไหวและเป็นอาคารสูงที่ถล่มจากแรงแผ่นดินไหวอันไกลจากจุดศูนย์กลางมากที่สุด นับเป็นสถิติอันน่าอับอายและอัปยศที่เราไม่อยากจะได้รับ มันมีกลิ่นถึงความฉ้อฉลต่าง ๆ มากมายเหลือเกินที่เราสามารถรับรู้และสัมผัสได้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมจะนำมาเล่าและเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านได้อ่านครับ
ประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบหนักจากแผ่นดินไหวมาแล้ว 2 ครั้งใหญ่ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ส่วนครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2547 จากเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลบริเวณเกาะสุมาตรา ความรุนแรงระดับ 9.1 แมกนิจูด แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดรอยแยกยาวเกือบ 1,300 กิโลเมตรและคลื่นสึนามิแผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อพ.ศ. 2547 นี้ถือเป็นสึนามิที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้ ประเทศไทยบริเวณจังหวัดที่มีชายหาดทางใต้ เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเขาหลักและเกาะพีพีได้ถูกคลื่นยักษ์ซัดถล่มจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คนโดยครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 37 สัญชาติ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บเกือบ 8,500 คนและมีผู้สูญหายอีกราว 3,700 คนด้วย ทว่าความเสียหายของประเทศไทยนับเป็นเพียงอันดับ 4 จากทั้งหมด 18 ประเทศที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะประเทศที่มีผู้เสียชีวิตอันดับ 1 จากเหตุการณ์นี้คืออินโดนีเซียที่มียอดกว่า 165,495 คน นับว่าเป็นครั้งที่สึนามิคร่าชีวิตผู้คนไปมากสุดในหน้าประวัติศาสตร์ อันมีสาเหตุมาจากปฐพีพิโรธนั่นเอง
แต่ในครั้งก่อน ๆ ล่ะ..?? แผ่นดินไหวคร่าชีวิตคนไปมากเท่าใดและรุนแรงในระดับใด ทั้งนี้ผมขออธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบจากข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่าครั้งที่ปฐพีพิโรธที่สุดนั้นไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากสุด และครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนั้นแผ่นดินไหวก็ไม่ได้รุนแรงสุดเช่นเดียวกัน โดยครั้งที่แผ่นดินไหวรุนแรงสุดในโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้เกิดขึ้นเมื่อค.ศ. 1960 เป็นแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลีซึ่งมีความรุนแรงถึง 9.4 - 9.6 แมกนิจูด อีกทั้งการไหวของแผ่นดินยังสั่นสะเทือนกินเวลาไป 11 นาที นับว่ายาวนานมากทีเดียว
ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา แผ่นดินไหวมาเยือนประเทศไทยราว 1 นาทีสภาพของผู้คนในประเทศยังแทบแย่ ต่างคนต่างนึกว่าบ้านหมุน อาคารโยก วัตถุก่อสร้างในพื้นที่สูงต่างร่วงหล่นลงสู่พื้นสร้างความเสียหายอย่างมาก แล้วแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลียาวนานถึง 11 นาทีความรุนแรงที่กระทบต่อผู้คนจะมากขนาดไหน ทว่าที่แน่ ๆ คือความรุนแรงขนาดนี้ได้ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิตามมาและกระทบไปยังชิลีตอนใต้ ฮาวาย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะอะลูเชียนในสหรัฐอเมริกา แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดสึนามิพัดถล่มชายฝั่งชิลีอย่างรุนแรงโดยมีคลื่นสูงถึง 25 เมตร และคลื่นก็ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ามาทำลายเมืองฮิโลในฮาวายซึ่งมีการบันทึกว่าคลื่นสูงถึง 10.7 เมตรในพื้นที่ไกลจากศูนย์กลางกว่า 10,000 กิโลเมตร นับว่าแนวความสูงคลื่นนั้นลดระดับลงน้อยมาก แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตราว 6,000 คน แต่ด้วยคลื่นที่ถล่มตามเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ กลับสร้างความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจอีกกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันซึ่งคิดตามอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากสุดในโลกนั้น มันเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ความรุนแรงเพียงแค่ 7 - 8 แมกนิจูด หลายท่านคาดเดาว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อค.ศ. 2010 เมืองปอร์โตแปงซ์ ประเทศเฮติที่สร้างความเสียหายกระทบต่อผู้คนนับล้านและมีผู้เสียชีวิตที่ 316,000 ราย แต่แท้จริงแล้วเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่คร่าชีวิตผู้คนมากสุดในโลกได้ย้อนไปไกลถึงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1556 (พ.ศ.1013) ซึ่งเกิดขึ้น ณ ประเทศจีนครับ มันเป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 8 แมกนิจูดและนับเป็นแผ่นดินไหวที่อันตรายสุดในหน้าประวัติศาสตร์เท่าที่ได้เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดที่มณฑลส่านซี ประเทศจีน รู้จักกันในชื่อ "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เจียจิง" หรือ "Jiajing Great Earthquake" แผ่นดินไหวนี้ทำให้ขนาดพื้นที่ 621 ตารางไมล์ (1,000 ตารางกิโลเมตร) ของมณฑลส่านซีกลายเป็นซากปรักหักพังราบเป็นหน้ากลอง ทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 830,000 คน มากเป็น 2 เท่าจากเหตุแผ่นดินไหวที่ปอร์โตแปงซ์เลยทีเดียว
สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวคือนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าประเทศไทยหรือประเทศใด ๆ ในโลกนั้นจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อใด เวลาใด หรือตำแหน่งใด ปัจจุบันยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักธรณีวิทยารายใดประสบผลสำเร็จในการคาดการณ์เหตุล่วงหน้าได้เลยสักครั้ง ทำได้เพียงแค่การออกประกาศแจ้งเตือนผลกระทบของแผ่นดินไหวอย่างสึนามิหรืออาฟเตอร์ช็อกออกมาเท่านั้น ช่วงที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ก็เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในประเทศแถบ South East Asia โดยตลอด ล่าสุดคือวันที่ 14 เมษายน 2568 ได้เกิดแผ่นดินไหวจำนวน 15 ครั้ง โดยครั้งแรกศูนย์กลางอยู่ตำบลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 1.4 แมกนิจูด หลังจากนั้นอีก 14 ครั้งเกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมา รุนแรงสุดคือ 5.3 แมกนิจูด ส่งผลกระทบแก่จังหวัดทางตอนเหนือและจังหวัดทางด้ามขวานของไทย
นับจากนี้เชื่อได้ว่าแผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีขึ้นมาก็คือจากนี้ผู้คนจะได้ตื่นรู้ มีประสบการณ์ในการเข้าที่ปลอดภัย พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น และภาวะความตื่นตกใจน้อยลง ได้แต่หวังว่าหากเกิดเหตุการณ์ครั้งต่อ ๆ ไปคงจะไม่ใช่เหตุที่รุนแรงและมีความเสียหายมากสุดเท่านั้นเอง