ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : สถาปัตยกรรมแห่งการสังเคราะห์ | Issue 163

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : สถาปัตยกรรมแห่งการสังเคราะห์ | Issue 163

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา คือสถาปนิกคนสำคัญท่านหนึ่งของประเทศไทย ที่สร้างผลงานคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ เป็นสถาปนิกไทยคนแรกที่คว้ารางวัลชนะเลิศ The ar+d  Awards for Emerging Architecture 2011, รางวัลชนะเลิศสูงสุด Overall Winner และ The Winner Hospitality Category จาก THE PLAN AWARD 2017 ประเทศอิตาลี, รางวัล Royal Academy Dorfman Award 2019 โดยราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ส่วนในประเทศไทยท่านได้รับอย่าง รางวัลศิลปาธร (สถาปัตยกรรม) ในปี พ.ศ. 2562 อีกด้วย

นอกจากนี้ท่านมีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักอย่างมากมาย เช่น อาคารกันตนา สถาปัตยกรรมอาคารอิฐไทยร่วมสมัย The Wine Ayudhya งานออกแบบร้านหรูที่ใช้วัสดุไม้อัดยางมาทำเป็นโครงสร้างทั้งหลัง Elephant Stadium งานออกแบบเพื่อคนและช้าง ของชุมชนชาวกุยในจังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดไปแล้ว Elephant Tower อีกหนึ่งแลนด์มาร์กภายในโลกของช้าง โดยหอชมช้างนี้สร้างขึ้นจากผังทรงหยดน้ำ ใช้ฝีมือและเทคนิคของอิฐและช่างก่อสร้างท้องถิ่น โดยผลงานของอาจารย์บุญเสริมส่วนใหญ่จะกลมกลืนกับธรรมชาติและชุมชน ใช้วัสดุพื้นฐานที่อยู่ในท้องถิ่นสร้างผลงานออกมา จนกลายเป็นไอคอนที่สร้างงานและรายได้ให้กับชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : ผมกับสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่คิดถึงกันตลอดเวลา แค่เห็นสมุดก็นึกถึงสถาปัตยกรรม มันเป็นความคิดถึง ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นจิตใต้สำนึกเป็นพรหมลิขิตก็ได้ที่ทำให้เราคิดถึงกัน คิดถึงงาน บทสรุปมันคือสิ่งที่เรารัก ไม่ได้บ้างานแต่ไปไหนเราก็จะคิดถึงมัน ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจความสำคัญกับสถาปัตยกรรมที่ผมกำลังจะสื่อสาร ว่าทำไมจะต้องมีสถาปัตยกรรมที่ดี เพราะมันจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคน ให้กับธรรมชาติ

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : สิ่งที่เราคุ้นเคยหรือมองว่าเป็นสิ่งธรรมดา แต่ผมได้มองลึกว่าอันนี้คือรากของเรา ผมมองแค่ว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงนั้น คือสิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจ แม้มันเป็นสิ่งที่มันดูธรรมดามาก เพราะว่างานของผมไม่ได้ใช้คนพิเศษทำ แต่มันเกิดขึ้นจากฝีมือชาวบ้านธรรมดา ผมไม่ได้เรียนรู้ที่หน้าตาแต่เรียนรู้ให้เข้าใจถึงคนที่สร้าง ให้เข้าใจถึงเจ้าของที่ครอบครองมันอยู่ และพอเข้าใจเสร็จแล้ว ก็นำวิธีการเหล่านี้มาใช้กับงานของเรา นั่นคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญกับมัน งานที่ออกมานั้นคือ มาสเตอร์ แต่ละท่านก็มีวิธีการหรือกระบวนการที่แตกต่างกัน ผมไม่ใช่มาสเตอร์แต่ผมก็ทำแบบที่ผมเห็นว่าควรจะเป็น เห็นว่ามันเหมาะสมกับคนนี้ที่สมควรครอบครองและใช้งานมัน

อย่างงานของผมที่ใช้อิฐเป็นส่วนประกอบ ผมกำลังบอกว่าในสิ่งที่เรามีอยู่ใกล้ตัว และสิ่งที่เรามีอยู่นั้น เราสามารถที่จะหยิบออกมาใช้ทุกเมื่อ เราสามารถเอามาพัฒนาต่อได้ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ได้มองไปไกลมาก มองข้ามสิ่งที่เรามีอยู่ไปเราอาจจะไม่เห็นอะไร เพราะการมองไปไกลสุดมันอาจจะมองไม่เห็นอะไรเลย นอกจากความว่างเปล่า ฉะนั้นสิ่งที่อยู่รอบ ๆ อิฐ ซากปรักหักพังต่าง ๆ ดังนั้นถ้าเรามองมุมกลับ เหมือนที่ผมกำลังพูดว่าการมองมุมกลับนั้นมันเป็นการทำให้เราได้กลับมาทบทวน การมองมุมกลับนั้นเป็นการมองหาที่มาที่ไปของมันว่ามันมายังไง และสุดท้ายมันจะไปไหนต่อ หรือเราจะปล่อยให้มันกองอยู่กับพื้น หรือเราจะยกมันขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนมัน เปลี่ยนรูปร่างของมัน เปลี่ยนชีวิตของมันใหม่ ชุบชีวิตให้มันใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับคนในรุ่นของเราที่อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นมันเลยไม่มีอดีตอีกต่อไป อดีตนั้นผมว่ามันเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ถ้าเรารู้จักหยิบมัน และเอามาสังเคราะห์ใหม่ เราก็จะได้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น

ชีวิตวัยเด็กของอาจารย์บุญเสริมไม่ได้สวยหรูนัก ท่านเติบโตในชุมชนย่านบ่อนไก่ กรุงเทพฯ ฐานะทางครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยมาก โดยมีคุณพ่อเป็นช่างไม้ต่อมาผันตัวเองเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ตรงส่วนนี้เองทำให้อาจารย์บุญเสริมได้คลุกคลีซึมซับเรื่องของหลักการและพื้นฐานงานก่อสร้างมาได้พอสมควร

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : สิ่งหนึ่งที่พ่อผมสอนเสมอแม้แต่การตัดไม้ต้องวัดก่อน และไม่ได้วัดครั้งเดียวต้องวัดหลาย ๆ ครั้ง เพราะถ้าไม้เวลาถูกตัดแล้วมันจะเสียไปเลย มันต่อไม่ได้ถึงต่อได้ก็เป็นรอย ฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ทำให้เรารอบคอบ พ่อผมพูดเสมอว่าเวลาทำต้องลงมือทำจริง คนที่เป็นช่างต้องลงมือทำจริง ผมกลับมาย้อนดูการลงมือทำจริงมันเป็นประโยชน์อย่างไร ปรากฏว่ามันทำให้เราเข้าใจในสัดส่วนสเกล เวลาผมคิดคือคิดและเขียนแบบในสเกลเล็ก แต่พอทำจริงมันทำให้เราเข้าใจในสัดส่วนของสเกลใหญ่ ตรงนี้เองที่หลายคนได้เห็นงานของ บุญเสริม มันมีความรู้สึกเพราะเราเข้าใจในสเกล 

ถ้าลองมองย้อนกลับไปตอนที่ผมอยู่กับครอบครัว ผมคิดว่าอาจจะเป็นพรหมลิขิตที่มาทดสอบก็ได้ ว่าผมนั้นคือตัวจริงเสียงจริงรึเปล่า แล้วถ้าคุณผ่านในเรื่องแบบนี้มาได้ คือผ่านจุดที่มันยากลำบากมาขนาดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์มากสำหรับตัวเอง เมื่อมองย้อนกลับไปการไปอยู่ตรงนั้นมันทำให้เรารู้สึกไม่ดี คือในวัยเด็กมันก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไรหรอกเด็กมันก็คือเด็กสนุกสนาน แต่ในความเป็นผู้ใหญ่ท่านไม่อยากให้เราไปลำบากแบบเขา ครอบครัวจึงต้องให้การศึกษากับผม 

ฉะนั้นการศึกษาของผมมันไม่ได้มีทางเลือกมาก ผมจึงต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็มีส่วนสำคัญ แต่ด้วยความที่พวกท่านไม่ได้มีความรู้เยอะ ฉะนั้นไม่มีทางหรอกครับที่จะมาสอนเราได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือตัวเองต้องควบคุมตัวเองให้ดี และผมเชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันก็เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันมันโชคดีกว่า เพราะคนรุ่นใหม่มีเครื่องไม้เครื่องมือมีสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่า

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : ในช่วงที่ผมเรียนหนังสือ ผมเป็นนักเรียนธรรมดาที่ยังไม่มีความคิดอะไร แบล็คกราวของผมคือไม่มีใครมาชี้แนะ เด็กคือเด็กผมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแรงบันดาลใจอะไรมากมาย คือตอนที่เป็นเด็กคิดแบบนั้น แต่พอมองย้อนกลับไปนั่นคือที่ที่หล่อหลอมเรามา ซึ่งทำให้ผมเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้บอกว่าบุญเสริมตอนเด็กนั้นจะเกิดมาเพื่อเป็นอะไร แต่ตอนนั้นอย่างน้อยที่สุดมันทำให้ผมเข้มแข็ง ดังนั้นผมจะทำอะไรก็ได้ถ้าผมเข้มแข็ง ผมอดทน ขยัน มุ่งมั่น ผมเชื่อว่าตรงนั้นสำคัญกว่า

หลังจากผมเรียนจบสถาปัตย์ อย่างแรกทุกคนที่เรียนจบออกมาอย่าลืมว่าเราคือมนุษย์ต้องการเงิน ต้องการทุนต้องกินต้องใช้ คุณมีพ่อแม่เมื่อคุณเรียนหนังสือจบก็ต้องตอบแทนเลี้ยงดูท่าน อันนี้คือเรื่องจริงในสังคมไทย และเป็นวัฒนธรรมของเรา ดังนั้นใครที่เรียนจบออกมาแล้วเริ่มเป็นตัวของเราเองเลยผมคิดว่ามันมีน้อยมาก คนที่จะมีโอกาสแบบนั้นคือคนที่จะต้องมีพร้อมมาแล้ว ในกรณีของผม ผมถือว่าการได้เรียนรู้ถูกรู้ผิด มันคือทุกอย่างที่ค่อย ๆ หล่อหลอมกันมาซึ่งต้องใช้เวลากับมัน

การใช้หัวใจในการพิสูจน์ว่าจะเข้มแข็งอดทนกับมันได้ไหมคือ ‘คำว่าอยากเป็นไหม’ มันเป็นความฝันของเด็กที่เรียนสถาปนิก แน่นอนเราอยากเป็นเราอยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าต้องถ่อมตัวยังไง ผมบอกว่าจริง ๆ ผมผ่านมาถึงขนาดนี้มันก็ไม่ต้องถ่อมตัวอะไรมาก แค่ทำงานให้ดีมันก็จะมีคนมาชื่นชมคุณเอง แต่ก็อย่าไปหลงกับความชื่นชม หรืออย่าไปหลงกับรางวัล เพราะต้องเข้าใจว่ารางวัลที่ให้ เขาคือให้กำลังใจ ไม่ได้ให้เอารางวัลไปอวด เขาให้กำลังใจในความมุ่งมั่นในความศรัทธาของคุณ ถึงเห็นว่ามันมีรางวัลหลาย ๆ ระดับ อย่างพวกศิลปิน สถาปนิกรุ่นใหญ่ก็ให้รางวัลกับคนอีกประเภทหนึ่ง คือพวกนี้วัดกันมาแล้วแบบม้าวิ่งกันยาว ๆ แรงดีไม่มีตก งานพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ

การทำงานของอาจารย์บุญเสริมเริ่มต้นฝึกฝนฝีมือจากการทำงานกับบริษัทสถาปนิกแบบคนทั่วไป และเรียนรู้ตามทฤษฎีตะวันตก แต่มาวันหนึ่งได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซึ่งท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากตรงนั้น จึงได้กลับมาคิดทบทวนตัวเองว่าอาจเดินตามเส้นทางของฝรั่งมากจนเกินไป จนเปลี่ยนแนวคิดของตนเองหันมาทำงานเน้นการใช้วัสดุใกล้ตัวที่อยู่ในประเทศจนเกิดเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ในเวลาต่อมา

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : ผมก็คิดว่าเราต้องพึ่งพาตนเอง ในการพึ่งพาตนเองเราจะต้องหาวิธี คือสถาปัตยกรรมมันไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว คือความสวยงามหรือล้ำสมัย แต่มันมีทางอื่นด้วย สถาปัตยกรรมสามารถจะเป็นสื่อกลาง ผมใช้คำแบบนี้เพราะว่า สถาปัตยกรรมนั้นมันจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการเชื่อมโยงกันระหว่างคนกับสถานที่ กับสิ่งที่มันปรากฏอยู่ตรงนั้น การเชื่อมโยงกันเข้าหากันทั้งหมดนั้น มันก็ทำให้เราสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผมไม่ได้รู้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่ามันจะดี เพียงแต่ว่าผมทุ่มเทกับมัน ผมหาข้อมูลกับมัน ผมตั้งใจกับมัน

ศิลปะมันคือสิ่งที่มันสะท้อนสภาพของศิลปินที่ประสบอยู่ มันคือการถ่ายทอดสภาพความคิดเห็นของสังคมในตอนนั้นที่เรากำลังเจออยู่ เหมือนที่เรากำลังเจออยู่ตอนนี้ งานผมก็จะถ่ายทอดถึงสถานการณ์ของชีวิตผู้คนที่อยู่ในชนบทคนที่ไม่ได้มีโอกาส สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคนนั้นคือสัตว์ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ผมทำสถาปัตยกรรมที่สร้างดินให้กับชายฝั่งขึ้นมาในขณะที่ชายฝั่งกำลังหดหายไป นั่นคือสิ่งที่ผมสะท้อนให้เห็น งานของผมไม่ได้จะให้เห็นแค่ว่านี่คืองานของอาจารย์บุญเสริมออกแบบ แต่บุญเสริมได้ใส่ความคิดถ่ายทอดความรู้สึกลงไปว่า ถ้าคุณไม่ดูแลในชายฝั่ง คุณก็จะไม่เหลือชายฝั่งให้เดิน อนาคตคุณอาจจะไม่มีแผ่นดินใหญ่เหยียบไปที่ไหนก็คงมีแต่น้ำตลอด 

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : มีอยู่งานหนึ่งผมทำสถาปัตยกรรมให้กับชุมชนที่เลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์ แล้วถูกกล่าวหาว่านี่คือการทรมานสัตว์ ผมไม่เห็นด้วย เพราะบางคนเคยไปพื้นที่แค่วันสองวันถ่ายรูปกลับมา พอถ่ายมาก็เอาลงสื่อออนไลน์ พออยู่บนคีย์บอร์ดคุณก็พิมพ์อะไรก็ไม่รู้ลงไป ชาวบ้านเขาไม่รู้หรอกแล้วไม่รู้ภาษาอังกฤษด้วย ที่สำคัญเขาไม่มีปัญญามาโต้ตอบ แล้วผมก็ทำหน้าที่สร้างสถาปัตยกรรมไม่ใช่มาโต้ตอบเหมือนกัน ผมไม่ได้มีหน้าที่มาแก้ตัว หน้าที่ของผมคือทำให้ชีวิตคนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คุณจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็เรื่องของคุณ ผมถือว่าอันนี้มันเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้คุณคงต้องไปหาความรู้ให้เยอะขึ้น และสุดท้ายผมก็ต้องบอกว่า นายไม่เคยไปสุรินทร์แล้วนายจะรู้อะไร

ด้วยความเป็นมนุษย์ก็มีท้อบ้าง แต่บางทีเราก็ได้พักนิดหน่อยแล้วก็เดินหน้าต่อ คำว่าท้อคือการที่เราได้หยุดทบทวนมัน เพราะมีปัญหาเยอะ ผมว่าทุกงานมีปัญหาหมด ทุกชิ้นงานทุกสถานการณ์ทุกที่ทำงานทุกสถานที่ หรือแม้แต่คนทุกคนก็มีปัญหาหมด เพียงแต่ว่าเราจะยึดติดกับมันแค่ไหน บางทีเราก็ต้องปล่อย ปล่อยให้เวลานำ ทำให้รู้สึกว่าบรรเทาขึ้น บางครั้งบอกเลยว่างานที่ผมทำแล้วไม่ถูกสร้างก็มี ผมนั่งทำงานมา 4 ปี วันดีคืนดีนายทุนบอกว่าไม่สร้างแล้วเพราะไม่มีเงิน แต่ถามว่าเราเสียใจไหม โอโหผมนั่งทำงานมา 4  ปี ทีมงานเรานั่งทำอยู่หลายปี ไม่ได้ทำอะไรเลยนั่งมุ่งมั่นกับโครงการนี้ อยู่ ๆ วันดีคืนดีบอกไม่สร้าง มันเหมือน 4 ปีที่ผ่านมาล่มสลาย ทำไงได้เราเสียใจแต่เราต้องรีบฟื้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่เราต้องทำงานอื่นแล้วไปข้างหน้าต่อ มันไม่มีเวลามาคร่ำครวญไม่มีประโยชน์

ประสบการณ์ทั้งชีวิตสอนผมให้เรียนรู้ ดังนั้นวิธีคิดของบุญเสริม จึงไม่ได้เป็นเส้นตรง วิธีคิดของบุญเสริมคือ วน วน วน ค่อย ๆ ลึกลงเรื่อย ๆ แล้วก็เคลื่อนที่ไปข้างหน้า การคิดวนคือการทบทวน การเดินไปข้างหน้าจะเดินไปอย่างไร จะต้องทำทบทวน ทบทวนเสร็จกลับมานั่งทดลอง ทดลองเสร็จลองมาพัฒนา พัฒนาเสร็จมูฟไปข้างหน้าหน่อยหนึ่ง ถ้ามีอุปสรรค์หรือปัญหาในระหว่างทางก็ทบทวนกลับมาใหม่ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันก็จะทำให้เราชำนาญและเข้าใจ

ในอีกด้านบทบาทหนึ่งของอาจารย์บุญเสริมคือเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ลงมือทำงานจริงมาตลอดชีวิตรวมถึงการเป็นสถาปนิกฝีมือระดับโลก ทำให้มุมมองและการถ่ายทอดความรู้ของท่านนั้นมีความเฉียบคมอยู่เสมอ

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : สิ่งที่ผมสอนลูกศิษย์มี 2 ส่วนคือ หนึ่งในเรื่องของการสอนเป็นเรื่องวิชาการ สองเป็นเรื่องที่เราขาดไม่ได้ก็คือความเป็นมนุษย์ผมว่ามันสำคัญ เพราะต่อให้คุณมีวิชาการมีความรู้ดียังไง แต่ความเป็นมนุษย์คุณไม่มี คุณไม่มีวันเข้าใจจิตวิญญาณ ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ในสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้อยู่ คุณก็จะไม่อิน เมื่อคุณไม่อินคุณก็ไม่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ว่าจะเรียนกันไปทำไม ผมก็เลยคิดว่าในความเป็นมนุษย์เหมือนที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีท่านเอ่ยถึงคือ ท่านต้องการให้พวกเราได้กลับไปสู่พื้นฐานที่เป็นพื้นฐานจริง ๆ ผมคิดว่าความรู้คือการถ่ายทอดไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหน จะไปสอนหนังสือหรือเป็นแรงบัลดาลใจให้กับคน มันก็คือการถ่ายทอด มันก็คือการเรียนรู้ทั้งสิ้น 

จริง ๆ สถาปัตยกรรมที่เกิดในโลกปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องใหม่ งานของผมไม่ใช่การสร้างใหม่ถ้าเรา Transform หรือการเปลี่ยนรูปใหม่ วิธีการของคนอื่นอาจใช้ Analogy คือการเปรียบเปรย เช่น การสร้างตึกนั้นมีที่มาจากปลาตัวหนึ่งอะไรแบบนี้ แต่วิธีการของผมมันคือการสังเคราะห์ (Synthesis) วิธีการสังเคราะห์มันสามารถ Transform เปลี่ยนรูปไปได้หลากหลาย 

ยกตัวอย่างเรื่องการสังเคราะห์สำหรับนักเรียนง่าย ๆ ผมวาดรูปวงกลมสองวงบนกระดาน แล้วให้นักเรียนออกมาเติมวงกลม 4 คนแรกทำเป็นรถจักรยาน พอคนที่ 5 เริ่มรู้สึกโดนจูงจมูก ก็ใส่หูเข้าไปแทน กลายเป็นแว่น คนที่ 6-7 เริ่มรู้ทางพยายามเปลี่ยนไม่ให้เป็นแว่นเป็นจักรยานก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็สรุปว่านี่คือการสังเคราะห์จากจุดเริ่มต้นคือวงกลม 2 วง แล้วให้นักเรียนใช้วิธีการสังเคราะห์มันออกมา นี่คือการสอนวิจัยที่สั้นที่สุดในโลก เพราะหัวใจของการทำวิจัยคือการสังเคราะห์ นักเรียนหลายคนวิเคราะห์มาดีมากเลย แต่พอให้สังเคราะห์แล้วทำไม่ได้เพราะในสมองมีข้อมูลมากมายเต็มไปหมดคือถามแล้วตอบได้ แต่ถามว่าจะไปยังไงตอบไม่ได้ ผมจึงสอนวิธีสังเคราะห์ว่าจะไปต่อยังไง

สำหรับผมเวลาสอนนักเรียนนอกจากการสอนในเรื่องวิชาการแล้ว สิ่งที่ผมทำอยู่ก็คือ การสร้างของ สร้างอาคาร สร้างงานศิลปะ สร้างงานจริงขึ้นมา นี่ก็คือการสอนชนิดหนึ่ง และมันเป็นการสอนที่ทำให้คนมาเรียนรู้ ไม่ได้แค่เฉพาะในห้องเรียนหรือในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสอนอย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นการที่ให้คนทั้งโลกได้มาศึกษาเรียนรู้ บางทีการสอนมันไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเสมอไป การสอนที่ให้คนได้เข้ามาสัมผัสจริง ๆ รู้สึกจริง ๆ ใช้ความรู้สึกของตัวเอง ใช้ความเป็นมนุษย์ของตัวเองเข้าไปรู้สึกและเรียนรู้มัน อาจจะทำให้เป็นแรงบันดาลใจ และอาจทำให้ค้นพบทางของคนคนนั้นต่อไปได้

Did You Know

•    ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สำเร็จการศึกษา ประกาศนียบัตรช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย
•    ปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) มหาวิทยาลัยศิลปากร 
•    ปริญญาโทจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    เป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio

Photo : Pronsarun Siotong

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา : Architecture that Leads to Building a Local Community สถาปัตยกรรมแห่งการสังเคราะห์ | Issue 163