สารในภาพถ่าย

สารในภาพถ่าย

ในทุกครั้งเวลาที่ผมได้เดินทางไปท่องเที่ยว นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับผมก็คือ “คน” สังคม เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่หล่อหลอมให้เกิดอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่น ผมเชื่อว่าการเข้าไปถ่ายภาพเพื่อค้นหาตัวตน ประกอบกับหาความรู้ความเข้าใจถึงเหตุของการกระทำนั้น ๆ จะทำให้เราสามารถสื่อสารงานภาพถ่ายของเราได้อย่างครบทุกมิติมากขึ้น มีครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อท่องเที่ยวดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ซึ่งต่อไปผมจะขอเขียนเป็นชื่อย่อว่า พม่า นะครับ) พอไปถึงที่อำเภอสังขละบุรี ผมได้ยินคนสนทนากันเป็นภาษาพม่าตลอด แทบจะไม่ได้ยินภาษาไทยเลย ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็สามารถเข้าใจได้ทั้งสองภาษา และจุดที่น่าสังเกตคือคนในพื้นที่แถบนี้จะมีการทาแป้งที่หน้าบริเวณหน้า เหมือนคนพม่า ผมก็สงสัยอยากรู้จึงไปสอบถามจึงได้ความว่า การที่คนพม่าชอบทาแป้งนั้นไม่ใช่เพียงเพราะความสวยงามเท่านั้น

การประทินผิวแห่งศรัทธานี้ มีชื่อว่า “ทานาคา” โดยคนพม่ามีความเชื่อว่า แป้งทานาคาคือเศษธุลีดินที่อยู่ใต้พระบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจึงพบเห็นผู้คน ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้หญิงที่ทาแป้งเท่านั้น ผู้ชายและเด็ก ๆ ต่างก็มีแป้งแห่งศรัทธาอยู่ที่ใบหน้าพุทธศาสนิกชนพม่าเกือบทุกคน (คนพม่านับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 80)

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงใบหน้าของเด็กสองคนที่ทาแป้งทานาคา ยืนอยู่หน้าเจดีย์สามองค์ เด็กทั้งสองชูนิ้วสองนิ้ว อันเป็นท่าพื้นฐานที่น่ารักซึ่งช่วยให้น้อง ๆ ลดความประหม่าลงไปได้บ้าง และการปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าเพียงเล็กน้อยก็ช่วยให้ภาพสดใสขึ้น หากเด็กในภาพทำหน้านิ่ง ๆ ทำตัวเฉย ๆ ผมขอบอกว่ารูปออกมาดูค่อนข้างน่ากลัวเลยละครับ ดังที่เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบถึงเหตุที่คนพม่าทาทานาคานั้นเชื่อมโยงกับความศรัทธาของพุทธศาสนา ผมจึงจัดให้เด็กทั้งสองมายืนอยู่หน้าเจดีย์สามองค์ซึ่งก็มีประวัติความเป็นมาจากความศรัทธาด้วยเช่นกัน ในสมัยก่อนนักเดินทางมีธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมา เมื่อจะต้องเดินผ่านป่าเขาอันมีโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม ต้องสักการบูชาเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สิงสู่บริเวณสถานที่นั้น แต่ในที่เช่นนั้นไม่มีใครนำดอกไม้ธูปเทียนติดตัวไปด้วย จึงเกิดการใช้กิ่งไม้หรือก้อนหินแทน นานเข้าเมื่อมีผู้คนเดินผ่านมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้พบเห็นมีผู้กระทำการสักการะในที่ใดไว้ก่อน ก็ถือกันว่าควรปฏิบัติตามกัน หากไม่แล้วก็อาจจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรืออันตรายขึ้นได้ ต่อมาเครื่องสักการะจึงเกิดการทับถมมากขึ้นจนกลายเป็นเจดีย์สามองค์ การที่เราจะเป็นนักสื่อสารที่ดี เราก็ควรที่จะมีความรู้ความเข้าใจกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้พอสมควร ผมไม่ได้ต้องการที่จะให้ท่านผู้อ่านรู้ลึกถึงรายละเอียด แต่การที่เราถ่ายภาพคนทาแป้ง กับการที่เรารับรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงทาแป้งจนหน้าขาว มิติในการตีความ และการสื่อสารจะแตกต่างกัน อย่างน้อยที่สุด การที่เราหาค้นคว้าความรู้ถึงสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ที่เราจะเดินทางไป ย่อมทำให้การท่องเที่ยวในทริปนั้น มีรสชาติมากขึ้นไม่ใช่หรือ ขอให้มีความสุขในการถ่ายภาพครับ 

อัตลักษณ์ในภาพถ่าย