Under  the Shadow

Under the Shadow

เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงแบบปากต่อปาก นับตั้งแต่ออกฉายในเทศกาลต่าง ๆ กรณีที่หนังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการทางศาสนาหลายอย่าง จนเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับความเชื่อที่ตั้งคำถามให้คนดูได้ไปใคร่ครวญคิดว่าสิ่งใดคือแก่นแท้ของศาสนากันแน่ นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม จากประเทศอังกฤษ

ใช่แล้วครับ ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังพูดภาษาอิหร่าน เหตุเกิดในอิหร่าน แต่ว่าไม่ใช่หนังสัญชาติอิหร่านครับ เหตุการณ์คาบเกี่ยวช่วงเวลาของหนังเกิดขึ้นในปี 1988 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งขณะนั้นกำลังตึงเครียด เพราะว่าอิหร่านเพิ่งผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมมา รวมไปถึงสงครามที่ยืดเยื้อกันมาเป็นระยะเวลานานระหว่างอิหร่านกับอิรักก็ยังไม่สู้ดี อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกนำมาผูกเรื่องราวนี้ไม่ได้ถูกถ่ายทำที่ประเทศอิหร่านจริง ๆ อย่างที่หนังกล่าวอ้าง แต่ไปถ่ายทำกันในประเทศจอร์แดนแทน เพื่อความสะดวกเรียบร้อย

หนังเปิดเรื่องด้วยความผิดหวังซ้ำ ๆ ของชีเดห์ ภรรยาสาวลูกหนึ่ง นับตั้งแต่ผิดหวังจากการเรียนต่อด้วยเหตุผลที่เธอไปร่วมขบวนทางการเมือง ความผิดหวังจากการไม่ได้เป็นหมอ เรื่อยมาจนถึงความเครียดจากการที่สามีถูกเกณฑ์ไปเป็นแพทย์สนามในสงคราม ทำให้เธอไม่สามารถจัดการกับทุกสิ่งที่ถาโถมเข้ามาพร้อม ๆ กันได้ จวบจนกระทั่งบทสรุปสุดท้ายของเรื่อง ที่ทำให้เราได้ตระหนักและหวนคำนึงถึงสิ่งสำคัญที่จำเป็นเวลาที่เราเกิดความทุกข์ขึ้นในใจก็คือสติ ไม่ว่าจะกดดันหรือเครียดด้วยสาเหตุใด ถ้าหากว่าสามารถรวบรวมสติได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

อีกประเด็นที่สำคัญเพิ่มเติมจากสภาวะจิตใจของตัวชิเดห์ ก็คือมุมมองของตัวผู้กำกับในด้านศาสนาอิสลาม ซึ่งจากการนำเสนอในหนังเรื่องนี้เราก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่า อันวารี ผู้กำกับของเรื่องเป็นชาวมุสลิมหัวสมัยใหม่พอสมควร ที่ได้ตั้งคำถามถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติตนของชาวมุสลิม ที่ยังคงมีข้อห้ามบางอย่างที่ยังล้าหลัง ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมของการยกบุรุษเพศไว้เหนือกว่าสตรีเพศ ซึ่งปรากฏในหนังหลาย ๆ ฉากตอนที่ตั้งคำถามกับค่านิยมดังกล่าวว่า สตรีเพศก็เป็นคนเหมือนกันใช่หรือไม่ เหตุใดเราจึงไม่มอบความเท่าเทียมให้กับผู้หญิงบ้าง รวมไปถึงฉากที่ชีเดห์พาลูกสาวหนีเอาตัวรอดออกจากบ้าน ด้วยความที่ฉุกละหุกนั้นเองทำให้เธอเผลอลืมนำฮิญาบติดตัวออกมาด้วย ซึ่งเป็นบทบัญญัติของตัวศาสนาที่สตรีมุสลิมเมื่อยามออกนอกบ้านจะต้องปกปิดร่างกายให้มิดชิด ส่งผลให้ผู้ชมได้ตระหนักว่าบางสิ่งที่ถูกตั้งขึ้นเหล่านั้น ได้ทำการละเมิดอะไรบางอย่างหรือไม่

เรื่องของความเชื่อ เราอาจจะทราบเกี่ยวกับเรื่องของ ญิน ในศาสนาอิสลามกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ขออนุญาตบอกกล่าวถึงญินให้ผู้อ่านได้เข้าใจตรงกันตามนี้นะครับ ญิน ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม เปรียบได้กับปีศาจร้าย ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน โดยปกติทั่วไปคนจะมองไม่เห็น แต่ญินสามารถสำแดงกายให้คนเห็นได้หากประสงค์จะทำ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะสามารถพบเห็นญินเหล่านั้นได้ สำหรับญินในเรื่องนี้นั้นถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของผีลักซ่อน ที่จะมาเอาวิญญาณลูกสาวของชิเดห์ไป ซึ่งถ้าเรามองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพรวมแล้วนั้น ก็อาจจะบอกได้ว่าญินตนนี้ปรากฏออกมาเพื่อปกป้องตัวลูกสาวจากความไร้สมรรถภาพของผู้เป็นแม่ก็คงจะไม่ผิดนักความจริงแล้วยังมีหนังอีกมากมายที่ไม่ใช่หนังแมส หรือว่าหนังตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็มีทั้งดูเข้าใจยากง่ายแตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความ รวมถึงประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับความหลากหลายทั้งเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยม หรือว่าจะเป็นความเชื่อก็ตาม อันเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่และยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมายไม่รู้จบครับ

หนังสัญชาติอิหร่าน เหตุการณ์คาบเกี่ยวช่วงเวลาของหนังเกิดขึ้นในปี 1988 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งขณะนั้นกำลังตึงเครียด เพราะว่าอิหร่านเพิ่งผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมมา