Organic Soy Milk

Organic Soy Milk

จากแรงบันดาลใจที่อยากใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียงตามพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้สองสาวรุ่นใหม่อย่าง ‘แอม-ศิวรี มีนาภินันท์’ และ ‘จิง-ธีรา ลื้อบาย’ สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มออกเดินทางตามหาถั่วเหลืองอินทรีย์บริสุทธิ์ถึงเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นน้ำเต้าหู้ออร์แกนิค แบรนด์ “Yellow Hello”

Yellow Hello ร้านน้ำเต้าหู้ออร์แกนิคแบบเคลื่อนที่ได้ สไตล์ Food Truck ที่ทั้งคู่ลงมือทำด้วยตนเองทุกขั้นตอน และปรุงรสชาติตามใจคนดื่ม เน้นความสด ใหม่ และมีแบบขวดสเตอริไลซ์ สามารถจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ แถมยังนำกากถั่วเหลืองมาแปรรูปให้เป็น วาฟเฟิลรสต่าง ๆ คุ้กกี้ถั่วเหลือง หรือแยม (ตามฤดูกาล) ไม่ใช่มีแต่เพียงเมนูเพื่อสุขภาพเท่านั้น ยังขายสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างผลิตภัณฑ์สบู่ถั่วเหลืองอีกด้วยจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Yellow Hello เกิดจากความต้องการกลับคืนสู่การเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการทำกิจการเล็ก ๆ เพื่อหารายได้ระหว่างทาง แต่ผ่านไป 1 ปี ยังไม่เห็นความคืบหน้า พวกเธอเลยลงมือทำอะไรบางอย่างที่มีอยู่ใกล้มืออย่างถั่วเหลือง โดยเริ่มมองหาว่ามีถั่วเหลืองอินทรีย์ไหม

“พวกเราสนใจในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พยายามเดินทางไปถึงจุดนั้น แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก่อนที่จะง่ายมันต้องยากก่อน เราเลยได้ไปดูถั่วเหลืองอินทรีย์ที่เชียงใหม่ ไปเยี่ยมฟาร์มและอยู่กับเขา 4 วัน จากนั้นก็รับถั่วเหลืองเขามา ระหว่างนั้นก็ศึกษา หาวัตถุดิบไป บวกกับมีโอกาสได้ส่งประกวดเวทีออมสินจากร้อยสู่ล้าน เพราะตอนนั้นเราอยากลองส่งประกวดดู ก็มีคนมาชี้แนะแนวทาง ได้ลองเขียนแผนธุรกิจ ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ เลยถึงจุดที่ตัดสินใจเปิดแบรนด์ Yellow Hello

“เราคิดว่าหลัก ๆ ของเราคือไม่สร้างภาระให้โลก แล้วสิ่งที่เราทำต้องเป็นสิ่งที่ดีด้วย แต่กากถั่วเหลืองที่เราทิ้งมันคือขยะ เป็นการสร้างภาระ โมเดล Zero Waste ยังไม่เกิดขึ้นจริง เราได้นำกากไปแปรรูปเป็นขนม แต่ก็ยังเหลือกากเยอะอยู่ ซึ่งคนเลี้ยงไก่ก็อยากได้กากถั่วเหลืองนะ แต่ไม่มีคนจัดการตรงนี้ เราเลยอยากจะสร้างฟาร์มที่อยู่ในโรงงาน มีพื้นที่ให้เราได้เอาขยะไปใช้ จนได้เข้าร่วมโครงการ Banpu Champions for Change 6 เราเลยอยากพยายามสานฝันตรงนี้ให้สำเร็จ แต่โครงการนี้อยากให้ธุรกิจเป็นไปได้จริง เขาเลยมองความเป็นจริงว่าทีมไหนไปต่อได้ 

“จริง ๆ ตอนนั้นด้วยงบที่เราได้มา เราสร้างฟาร์มไม่ได้หรอก เราไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง พอมีไร่ดินดีใจมาเป็นพาร์ทเนอร์ เลยใช้พื้นที่ตรงนี้แทน เพราะไร่ดินดีใจเขาทำฟาร์มออแกนิกมาเป็นสิบปีแล้ว เขาบอกว่าสิบปีแรกที่เขาเริ่มต้น เขาก็เรียนรู้เพื่อจะอยู่พึ่งพาตัวเองได้ แล้วก็เป็นจังหวะช่วงที่มาเจอเรา คือเป็นช่วงที่เขาอยากแบ่งปัน เป็นช่วงที่เขาอยากเกษียนตัวเองพอสมควร พอมาถึงตอนนี้เราก็เลยอยากจะทำแบบครบวงจร ทำน้ำเต้าหู้ขาย แปรรูปเป็นขนม แล้วได้เลี้ยงไก่ในฟาร์มเขา”

พวกเธอมองว่า ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำก็จะไม่เกิดปัญหาสังคม ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากตัวเราเอง แค่คิดว่าการที่เราจะแบ่งปันให้คนอื่นได้ มันต้องเริ่มแข็งแรงจากข้างใน อะไรที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองมันก็จะยั่งยืน 

“เราอยากพึ่งพาตัวเองให้ได้ พึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยลง อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งความมุ่งหวังไว้ แต่ก็ต้องเรียนรู้กันไป เพราะตอนนี้เรายังไม่มีประสบการณ์ อาจจะยังไม่ตกตะกอน มันอาจจะมีจุดหนึ่งที่เราพร้อมที่จะแบ่งปันให้คนอื่น อีกอย่างเราไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็น Social Enterprise เราก็เป็นเราแบบนี้ หลัก ๆ ก็คิดจากเรื่องของตัวเอง ผลิตภัณฑ์ก็ยังคงอยู่ในวงล้อมของถั่วเหลือง เรามีอะไรก็ใช้สิ่งนั้น ไม่ได้มองที่ตัวเงินเป็นสำคัญ ตอนนี้อาจจะอยู่ยากนะ แต่ว่าอนาคตมันอาจจะแข็งแรงได้แค่เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ”

ตอนนี้พวกเธอได้เริ่มการทดลองทำเต้าหู้ โยเกิร์ตเต้าหู้บ้าง แต่ก็ยังคงอยู่ในวงการของถั่วเหลือง ซึ่งเป็นการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์มากขึ้น หากทุกอย่างลงตัว สองสาวหัวใจเกษตรก็จะเตรียมผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว ปลูกถั่วเหลืองและขายน้ำเต้าหู้ออร์แกนิคควบคู่กันไป ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ หากลงมือตั้งใจทำอย่างจริงจัง 

พระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้สองสาวรุ่นใหม่อย่าง แอม-ศิวรี มีนาภินันท์ และ จิง-ธีรา ลื้อบาย สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์