ชักกะเย่อสากล (Tug of War)

ชักกะเย่อสากล (Tug of War)

ถ้าเอ่ยถึง “ชักกะเย่อ” หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงการละเล่นพื้นบ้านที่มีมานานตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งในเมืองไทยเองก็ไม่มีที่มาชัดเจนว่าเริ่มต้นเล่นเมื่อไหร่แต่รู้ว่านานมาก และมักจะเล่นกันตามงานประเพณีหรืองานเทศกาลต่าง ๆ เป็นประจำ เพราะเป็นเกมกีฬาที่เล่นง่าย สนุกและไม่เสียเวลาในการตัดสินหาผลแพ้ชนะ

แต่ก็มีข้อสันนิษฐานหลายข้อว่าอาจจะดัดแปลงมาจากการละเล่นที่เรียกว่า “ยู้สาว” ทางภาคเหนือหรือเรียกว่า “ซักส้าว” ทางภาคกลางที่มีลักษณะการเล่นที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องดึงเชือกไปมาทางฝั่งตนเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะ

อย่างไรก็ตามการแข่งขัน “ชักกะเย่อ” ถูกบรรจุในการแข่งขันกรีฑานักเรียนครั้งแรกสุดของกรมศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2441 ณ ท้องสนามหลวง และแพร่หลายไปตามที่ต่าง ๆ โดยปกตินิยมแข่งเป็นหมู่คณะ 7-20 คน 

ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการละเล่นหรือกีฬาแต่ “ชักกะเย่อ” ได้กลายเป็น “กีฬาสากล” เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งในเมืองไทยเองก็มี “สมาคมชักกะเย่อแห่งประเทศไทย” (Tug of War Thailand Association) ที่คอยดูแลการแข่งขันกีฬาชักกะเย่อสากลมีกฎระเบียบที่ชัดเจนภายใต้การรับรองจาก “สหพันธ์ชักกะเย่อสากล” (Tug of War Federation) ที่มีสมาชิกกว่า 68 ประเทศทั่วโลก 

โดยสมาคมชักกะเย่อแห่งประเทศไทยมี “คุณนริส สิงหวังชา” นั่งตำแหน่งนายกสมาคม พร้อมด้วยผู้ใหญ่ในวงการกีฬาอย่าง คุณกร ทัพพะรังสี และ คุณมนตรี ไชยพันธุ์ รวมทั้งตัวผมเองที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาบริหารสมาคม

จริง ๆ แล้วกีฬาชักกะเย่อในระดับสากลจะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือทีม 8 คน, ทีม 4 คน และทีม 2 คน ส่วนวิธีการเล่นก็เหมือนตามที่เข้าใจกันคือผู้เล่นทั้งสองฝั่งต้องดึงเชือกให้เข้ามาที่ฝั่งตัวเองให้ได้ อาจจะดูเหมือนว่าเล่นไม่ยากแต่ความเป็นจริง
ถ้าจะเล่นให้ชนะก็ต้องมีเทคนิคกลยุทธ์มากมายรวมทั้งการมีโค้ชในแต่ละทีมด้วย ดังนั้นจึงเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ไม่ใช่แค่ออกแรงใช้แต่กำลังดึงเชือกเพียงอย่างเดียว

แถมกีฬาชนิดนี้ยังเคยถูกบรรจุเป็นกีฬาที่ใช้แข่งในโอลิมปิกเกมส์ในอดีตอีกด้วย ระหว่าง พ.ศ.2443 ถึง พ.ศ.2463 อีกด้วย ในปัจจุบันก็ถูกบรรจุใน “มหกรรมการแข่งขันเวิลด์เกมส์” ซึ่งเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับสากลที่ไม่ได้ถูกบรรจุในโอลิมปิกแต่ก็มีโอกาสถูกผลักดันให้บรรจุในโอลิมปิกอีกครั้ง เพราะฝ่ายจัดการแข่งขันอยู่ภายใต้ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล”

ในบ้านเราเอง ทัวร์นาเม้นต์ที่ใหญ่ที่สุดประจำปีของกีฬาชนิดนี้คือการแข่งขันชักกะเย่อชิงแชมป์ประเทศไทยที่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี โดยปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากจากทั้งโรงเรียน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศส่งทีมเข้าร่วม
การแข่งขันโดยจัดแข่งทุกปีและกีฬาเยาวชนแห่งชาติล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว “ปากน้ำเกมส์” ที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันเป็นครั้งแรกด้วยหลังจากครั้งที่แล้วเป็นกีฬาสาธิต พร้อมทั้งกำลังผลักดันเพื่อบรรจุในกีฬาแห่งชาติ

นอกจากนั้นทีมที่ชนะเลิศในแต่ละปีก็จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยเสมือนว่าเป็นทีมชักกะเย่อสากลทีมชาติไทย ไปแข่งในระดับนานาชาติด้วย ซึ่งเดือนนี้ก็จะมีรายการใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งทางสมาคมชักกะเย่อแห่งประเทศไทยก็ส่งตัวแทนทีมชาติไทยเข้าไปแข่งทั้งทีมหญิงและทีมชาย คือ World Championship Indoor Tug of War 2016 ที่เมืองโวเลนดัมม์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2559

สุดท้ายอยากฝากถึงท่านผู้อ่านลองเปลี่ยนบรรยากาศมาทำความรู้จักกีฬาเก่าแก่ชนิดนี้ที่กำลังเริ่มแพร่หลายออกไปได้จากทั้งทางสมาคมเอง www.twta-thailand.com หรือ Facebook ของ “สมาคมกีฬาชักกะเย่อ แห่งประเทศไทย” เชื่อเถอะครับว่าถ้าลองรู้จักกีฬาชนิดนี้ นอกจาก “เสน่ห์” แล้ว ยังมีดีมากกว่าที่คิดเพราะ “ชักกะเย่อ” ไม่ใช่ “กีฬาพื้นบ้าน” แต่เป็น “กีฬาสากล” แล้วนะครับ 

 

อีกชนิดกีฬาที่ไม่ใช่แค่พื้นบ้าน