ไพโรจน์ ธีระประภา

ไพโรจน์ ธีระประภา

หลายคนรู้จักชายคนนี้ในชื่อ “โรจ สยามรวย” ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์ชุดตัวอักษรไทยที่เป็นงานระดับมาสเตอร์พีช “ฟ้าทะลายโจร” เมื่อสิบกว่าปีก่อน ต่อยอดมาจากการออกแบบตัวหนังสือที่ใช้เป็นโลโก้ภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ของผู้กำกับชื่อดัง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และอีกหลายเรื่อง อาทิ หมานคร, เปนชู้กับผี, อินทรีแดง ฯลฯ

ปัจจุบันเขาเปิดร้านขายของที่ระลึกชื่อ The Chonabod (เดอะชนบท) ซึ่งเป็นร้านที่ชาวต่างชาตินิยมเป็นอย่างมาก เขามีดีกรีเป็นอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (ศิลปะไทยเพื่อการออกแบบนิเทศศิลป์) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Typography) 
สอนวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์เพื่อนำไปใช้กับงานดีไซน์ต่างๆ 

ไพโรจน์ ธีระประภา
ไพโรจน์ ธีระประภา

“งานออกแบบฟอนต์ตัวอักษรไทยเป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า เพราะไม่ได้มีรายได้กับส่วนนี้ Type Designer เป็นอาชีพที่ยังไม่ได้เงิน ถ้าอาชีพหลักตอนนี้น่าจะเป็นขายของในแบรนด์เดอะชนบทนี่แหละ 

“เมื่อก่อนเราทำงานในแวดวงโฆษณา เวลาเราทำงานก็จะมีโจทย์ของลูกค้า ทำอยู่พักใหญ่ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความสุข ก็เลยเริ่มทำร้านของตัวเองควบคู่ไปด้วยที่สวนจตุจักร ชื่อร้านสยามรวย พอทำร้านของตัวเองก็ปล่อยไอเดียได้เต็มที่ คิดงานอะไรออกมาก็ทำออกมาเป็นชิ้นงานได้เลย มีอะไรก็ปล่อยของได้ที่ร้านเลย 

“แล้วอยู่มาวันหนึ่งดีไซน์งานของเราก็ไปถูกใจผู้กำกับอย่างพี่วิศิษฏ์เข้าพอดี เขาเลยเชิญมาให้ช่วยงาน เริ่มจากทำฟอนต์โลโก้หนังเรื่องนางนาก จนเขามากำกับเองเรื่องแรกใน ฟ้าทะลายโจร ก็ได้มาทำอีก แต่เรื่องนี้นอกจากแจ้งเกิดให้แกแล้วยังแจ้งเกิดให้เราด้วย จากนั้นก็ทำให้พี่เขามาตลอด

ไพโรจน์ ธีระประภา
ไพโรจน์ ธีระประภา

“จริงๆ ฟอนต์ฟ้าทะลายโจรเกิดขึ้นทีหลังหนังอีกนะ แรกเริ่มเราคิดทำฟอนต์ไทยเพราะมันไม่มีให้ใช้ ก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องการทำฟอนต์เพื่อนำไปใช้งานกับโปรแกรมในเครื่องแมคอินทอช ตอนโปรโมทหนังเรื่องฟ้าทะลายโจรต้องทำตัวอักษรเพื่อไปใช้งาน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เลยคิดว่าน่าจะทำฟอนต์ให้พิมพ์ได้ไปเลยดีกว่า 

“มาสำเร็จและใช้ได้จริงตอนทำฟอนต์โลโก้หนังเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของพี่เก้ง จิระ มะลิกุล จากนั้นเวลาทำให้หนังเรื่องไหนก็จะต้องทำฟอนต์พ่วงไปด้วย เหมือนการโปรโมทไปในตัว ตอนแรกพอทำฟอนต์ฟ้าทะลายโจรเสร็จก็จะแจกจ่ายเพื่อนๆ ในแวดวงงานดีไซน์เป็นหลัก ให้ทดลองใช้งานกันดู ใครขอก็ให้ 

“ช่วงนั้นกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทด้วย ใครตอบแบบสอบถามให้เรา ก็จะให้ฟอนต์เขาเป็นของกำนัลเหมือนเป็นคำขอบคุณ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนในแวดวงนี้ทั้งนั้น พอมีคนนำไปใช้เยอะทั้งโปสเตอร์ ป้ายโฆษณาต่างๆ ที่เป็นไทยๆ กลิ่นย้อนยุค ก็มีคนมาเสนอว่าขอเอาไปแปลงใช้กับโปรแกรมในเครื่อง PC ด้วย ทีนี้มันเลยถูกใช้งานจนเป็นที่นิยม ทีนี้เห็นแต่ฟอนต์นี้เต็มไปหมดทั่วทั้งเมือง ทั้งป้ายร้านรวงต่างๆ โฆษณา โปสเตอร์ บิลบอร์ด ฯลฯ

ไพโรจน์ ธีระประภา
ไพโรจน์ ธีระประภา

“ตอนนี้กำลังทำฟอนต์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากครบรอบร้อยปีของศิลปากร ซึ่งเสร็จใช้งานไปแล้วบ้าง แต่กำลังแก้ไขบางส่วนอีกเล็กน้อยเพื่อให้สมบูรณ์แบบ และกำลังเริ่มทำฟอนต์ใหม่ชื่อสะหวันสำราญ ซึ่งทำให้เพื่อนสนิทคนหนึ่ง เขาไปเปิดโรงแรมชื่อสะหวันสำราญที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามเป็นจังหวัดสะหวันนะเขต ของประเทศลาว เราออกแบบโลโก้ให้เขาก็เลยทำฟอนต์ด้วย ทำมานานแล้วแต่ยังไม่เสร็จ

“ในยุคเราการทำฟอนต์เริ่มมาจากการทำแจกหาเพื่อนมาร่วมกันทำฟอนต์ที่เขาอยากทำ จนมีสังคมนักออกแบบเกิดขึ้น เพราะอยากให้เขารู้ว่ามันไม่ได้ทำง่ายๆ แม้จะเป็นฟอนต์ลายมือก็ตาม พอมีคนทำเยอะๆ เข้าก็อยากให้มันมีเครดิตเหมือนงานชิ้นอื่นๆ ที่สามารถทำเงินได้จริงๆ อยากให้คนในยุคถัดไปรุ่นน้องรุ่นลูกได้ประโยชน์จากงานของเขา”

หากไม่นับรวมฟอนต์ชุดอักษรฟ้าทะลายโจรแล้ว ผลงานมาสเตอร์พีชอีกอย่างของเขาก็คือร้านเดอะชนบท ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสามเสน เพราะของที่ระลึกในร้านได้แฝงไปด้วยดีไซน์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองไทยที่เขาได้ใส่ไอเดียและดีไซน์เอง หยิบยกความเป็นบ้านนอก ชีวิตในสังคมชนบทมาผสมกับการจัดวางดีไซน์ตัวอักษร รูป และความสวยงามแบบไทยอันเป็นเสน่ห์ชวนให้ชาวต่างชาติระลึกถึง ของที่ระลึกในร้านมีตั้งแต่โปสการ์ด เข็มกลัด กระเป๋า เสื้อยืด หมวก ฯลฯ 

ไพโรจน์ ธีระประภา
ไพโรจน์ ธีระประภา

“เน้นที่ความเป็นไทยจริงๆ ฝรั่งเขามองเราเป็นแบบนี้ ไม่ใช่มองแบบสังคมเมืองทันสมัย เคยมีลูกค้าคนหนึ่งบอกไปที่ไหนก็ไม่คิดที่จะซื้อของที่ระลึกนะ แต่พอมาร้านนี้ต้องซื้อกลับไปเป็นที่ระลึก เพราะเป็นงานที่สะท้อนความเป็นสังคมชนบทแบบไทยจริงๆ ลูกค้าคนไทยไม่ค่อยมีนะ ส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง เราขายของที่เป็นกลิ่นอายความเป็นไทยแต่คนไทยกลับไม่สนใจนะ แปลกมั้ย! แต่ชาวต่างชาติกลับชอบชื่นชมกันน่าดู ล่าสุดก็มีสื่อต่างชาติลงแนะนำ เราว่าความเป็นไทยมันต้องแบบนี้นะ หรือจะเป็นไทยวิจิตรแบบอลังการก็ได้ แต่ไม่ใช่โมเดิร์นเพราะฝรั่งเขาก็โมเดิร์น 

“สำหรับน้องๆ หรือนักศึกษาที่อยากเป็นนักออกแบบ เราอยากบอกว่า ยิ่งถ้ายังเรียนอยู่หรือเพิ่งเรียนจบ เพิ่งเริ่มทำงาน รีบลองผิดลองถูกไปเถอะ ทำพลาดเยอะๆ ได้เลย เพราะมันคือประสบการณ์ที่เราได้สัมผัส ในแง่ของงานศิลปะมันไม่มีผิดถูกหรอก มันวัดยาก ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ดีกว่า แต่พอโตขึ้นเป็นซีเนียร์แล้ว โอกาสที่จะได้ทำผิดหรือลองผิดลองถูกจะไม่มีแล้ว หรือน้อยลงเยอะ ข้อคิดของพี่คือการทำงานที่ดีต้องมองที่ประโยชน์ของคนอื่นก่อน อย่าเห็นแก่ตัว แล้วงานนั้นมันจะไปได้ไกล” 

 

Type Designer