EDITOR’S PAGE

EDITOR’S PAGE

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ผมมีโอกาสพบปะสนทนากับบุคคลเป็นจำนวนมาก หลายครั้งสามารถนำการตกผลึกทางความรู้ ความคิด มาถ่ายทอดผ่านตัวอักษรใน MiX MAGAZINE อันสามารถสร้างประโยชน์ต่อยอดได้นานานัปการ ไม่ว่าผู้อ่านเองจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม 

แต่ยังมีบุคคลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถนำเสนอได้ด้วยความหมิ่นเหม่ทางความคิด เนื่องจากมีแนวคิดทัศนคติ ความเชื่อมาจากต้นแบบทางความคิดของบุคคลที่เขาเชื่อว่าถูกต้องเสมอ ไม่ว่าถูกหรือผิดก็ตามไม่สามารถให้ผู้อื่นใดคิดต่างหรือแนะนำอะไรได้อีก ทำให้บางครั้งผมถามกลับไปว่า ‘ความเชื่อทั้งหลายเหล่านี้ ท่านได้แต่ใดมา เคยใช้ความเพียรพยายามศึกษาเพื่อแสวงหาแก่นแท้ของความจริงหรือเจตนารมณ์กันบ้างหรือไม่’ ส่วนใหญ่คำตอบที่ผมได้รับในทำนองเดียวกันก็คือ ‘ไม่รู้ แต่เชื่ออย่างนี้ก็เท่านั้น’

เมื่อผมได้พิจารณาแล้วจึงเข้าใจว่า อคติ 4 นั่นเองเป็นการทำให้คนส่วนหนึ่งเดินเข้าไปหาฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะรัก ด้วยความเป็นพวกเดียวกัน เป็นมิตรสนิทสนมกัน ทำให้มองไม่เห็นความบกพร่องไม่ว่าเขาจะกระทำความผิดอะไรก็เห็นเป็นชอบ ส่วนโทสาคติ ก็เป็นความลำเอียงเพราะเกลียดชังกันไม่ว่าจะทำดีเช่นไรก็มองไม่เห็น มักจะมองหาและเห็นแต่สิ่งไม่ดีหรือข้อบกพร่องเท่านั้น ส่วนภยาคตินั้นเป็นความลำเอียงเพราะความขาดกลัว เกรงใจ จะเป็นเพราะเขามีพวกมากกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าก็ตาม จึงตกอยู่ในความกลัวก็ไม่กล้าแสดงออกหรือพูดความจริง และสุดท้ายโมหาคติ ความลำเอียง ด้วยความไม่รู้หรือโง่เขลาก็ตาม เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปถึงข้อมูล ความรู้ความจริงอย่างแน่แท้ได้ ในที่สุดก็ต้องยึดถือความเชื่อแทน 

ถ้าอคติทั้งหลายสามารถเข้าไปครอบงำจิตใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบังคับทางกายภาพได้มากเท่าใด ในสังคมโดยทั่วไปคงต้องรับความสุขลดน้อยลง

อย่าปล่อยให้อคติมาครอบงำจิตใจได้นะครับ สังคมของเราจะได้น่าอยู่และสามารถร้องเพลง บ้านเราแสนสุขใจ ... ได้อย่างเต็มเสียงกันสักที

ชโลทร ศิวารัตน์
บรรณาธิการบริหาร

ชโลทร ศิวารัตน์, บรรณาธิการบริหาร, mixmagazine