ฉลอง ภักดีวิจิตร

ฉลอง ภักดีวิจิตร

“ผมยังคิดที่จะทำหนังอีกครั้ง และมันต้องเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ตามแบบฉบับหนังของผมแน่นอน” ท่าทีของความมั่นใจ พร้อมกับแววตาที่ฉายแววแห่งความสุขในการทำงานที่กำลังจะโชติช่วงอีกครั้ง เพราะอะไรด้วยวัยกว่า 83 ปี ของศิลปินแห่งวงการภาพยนตร์ไทยท่านนี้ถึงยังไม่ทำให้ความฝันเสื่อมคลายไปตามกาลเวลา ...

ช่วงของชีวิตการทำงาน แม้จะได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย แต่ในวันที่เกือบจะถึงสุดปลายทาง การได้รับเกียรติยกย่องประกาศอย่างเป็นทางการว่าคนทำหนังท่านนี้ ‘ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ - ผู้สร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ความฝันในบั้นปลายนี้ยังคงทำหน้าที่นำพาจิตวิญญาณของเขาให้ก้าวเดินต่อไป 

เติบโตมากับกองฟิล์ม

ฉลอง ภักดีวิจิตร คือสายเลือดศิลปินที่ดำเนินตามรอยของตระกูลโดยแท้ แม้ว่าด้วยความทรงจำในวัยเด็กจะถูกแต่งเติมด้วยองค์ประกอบของโปรดักชั่นภาพยนตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อถึงคราวต้องเลือกทางเดินด้วยตนเอง เขากลับเลือกที่จะยึดมั่นในอาชีพของผู้ให้กำเนิดเป็นสำคัญ

“ผมเกิดมาตอนอายุ 5 ขวบ ก็ได้เห็นภาพการทำงานของคุณพ่อ เห็นการทำงานของครอบครัว เห็นคุณพ่อสร้างหนัง ตอนนั้นเขาใช้ฟิล์ม 16 มม. ได้เห็นเขาถ่ายเอง ล้างฟิล์มเอง ก็ทำกันในบ้าน มันก็เลยได้เรียนรู้ไปกับเขาได้หมด ตอนนั้นอาจยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรนัก แต่มันก็ซึมซับเข้าไปในสมองนะ มันจำได้หมด แล้วคุณอาผมก็เป็นช่างภาพเอง (สด ภักดีวิจิตร / สดศรี บูรพารมย์ เจ้าของศรีบูรพารมย์ภาพยนตร์) ก็ได้เรียนรู้จากท่าน เห็นท่านทำงานกันทุกขั้นตอน และนอกจากประสบการณ์ที่เราได้เห็นจากทีมงานในบ้าน ครูที่มีส่วนสำคัญในการเรียนการถ่ายภาพของผมนั่นก็คือคุณอา ถือได้ว่าท่านเป็นครูคนแรกเลย เรียกได้ว่าพอเรามาทำงานตรงนี้ มันเลยเป็นงานทางสายเลือดนะ 

ฉลอง ภักดีวิจิตร
ฉลอง ภักดีวิจิตร

“อย่างอยู่บ้านผมชอบไปดูหลังฉาก ดูการสร้างของเขา ดูเทคนิคต่างๆ เช่น เขาจะมีผ้าขาวกรองอยู่ข้างบนเพื่อไม่ให้แสงจัด อะไรแบบนี้ คือทำฉากกันที่บ้าน ผมก็จะเห็นทุกอย่างเดินไปดู มันก็เรียนรู้จดจำไปโดยปริยาย แล้วที่คุณพ่อจับให้ผมมาทำงานด้านถ่ายรูปให้นั้น ก็เพราะผมถ่ายรูปอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อถ่ายรูปครั้งแรกนั้นผลงานมันออกมาดี คล้ายๆ ว่ามีแวว ท่านก็เลยจับมาช่วยงานให้ถ่ายอะไรต่ออะไร 

“ตอนนั้นก็หาเลี้ยงชีพด้วยการถ่ายภาพเรื่อยมา ทำงานอยู่กับผู้กำกับหลายคน พี่ ส.อาสนจินดา ก็เป็นหนึ่งในนั้น ทีนี้ก็มาคิดได้ว่า ‘ถ้าเรายังมัวแต่ถ่ายภาพอยู่ ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวคงจะไม่ดีแน่’ ก็เลยหันมาทำภาพยนตร์ของตนเอง เพื่อความก้าวหน้าก็เลยสั่งหนังสือจากฮอลลีวู้ด เพื่อมาศึกษาโดยตรงเลย เทคนิคต่างๆ ที่เห็นนี้ ผมศึกษามาจากตำราทั้งนั้น ไม่เคยไปเรียน ผมเป็นคนแรกที่ถ่ายบลูสกรีนในภาพยนยตร์ไทย 35 มม. เป็นฉากดิ่งพสุธา หลายคนก็ไม่เชื่อว่าผมจะทำได้ แต่ผมก็ทำได้สำเร็จนะ 
ท่านมุ้ย (มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ท่านไปเรียนที่เมืองนอกกลับมาเห็นผมท่านก็ยังแปลกใจเลยว่าผมทำได้อย่างไรรางวัลการทำงานที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้นก็เห็นจะเป็นการได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสี่ถึงครั้ง ครั้งแรกที่ได้คือ ผู้พิชิตมัจจุราช พ.ศ. 2507, ละอองดาว พ.ศ.2508 (ภาพยนตร์สียอดเยี่ยม), ทอง พ.ศ. 2509 (ลำดับภาพยอดเยี่ยม), ตัดเหลี่ยมเพชร พ.ศ. 2510 (ลำดับภาพยอดเยี่ยม)”

ประสบการณ์ที่มากกว่าแค่สะสมจากเวลา

เขาเริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2493 แม้ขณะนั้นจะอายุเพียง 19 ปี แต่เขาก็ไม่หวั่นไหวกลับพร้อมที่จะดำเนินงานใหญ่ตามที่จินตนาการของตัวเองวางโครงเรื่องไว้ให้สมบูรณ์ จากจุดเริ่มต้นที่ไม่เล็ก จึงกลายเป็นปลายทางที่ยิ่งใหญ่ของเขาในวันนี้

“ก่อนหน้านั้นผมเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมาก่อนจนถึง ม.6 พอโตขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2493 ผมไปเรียน ม.8 อยู่ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ (ปากคลองตลาด) ตอนนั้นนั่งรถรางไปเรียน นึกถึงแล้วยังจำได้เสมอ แม้จะยังเด็กคุณพ่อก็ยอมให้ถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่อง “แสนแสบ” เป็นหนังฟิล์ม 16 มม. จากนั้นก็ทำภาพยนตร์อย่างจริงจังเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ 

“อาจเป็นเพราะผลงานที่ผมได้ทำมาตลอดตั้งแต่เมื่อครั้งทำภาพยนตร์ มันก็เป็นผลงานระดับชาตินะ ได้ออกไป เผยแพร่ระดับโลก อย่างเรื่อง ทอง ที่ทำมาหลายภาค แต่ที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูงนั้นก็เป็นเรื่อง ทอง ภาคแรก ตอนนั้นผมได้รับรางวัล The Best Entertaining Team จากไต้หวัน ส่วนคุณกรุง ศรีวิไล เขาก็ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น อันนี้มันเป็นชนวนจุดแรกที่หนังเราได้ออกตลาดโลก เพราะว่าบริษัท โกลเด้น ฮาเวส มาขอซื้อหนังผมเองเลย

“สำหรับเรื่อง ทอง ในภาคแรกๆ มันมีการคิดไว้ล่วงหน้า พอมันประสบความสำเร็จแล้ว ภาคต่อไป มันก็เป็นธรรมดาที่แบกความคาดหวังของคนดูเอาไว้มาก มันจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายกระแส ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนจะมองว่ามันไม่สนุกเหมือนภาคแรก แต่ในฐานะผู้กำกับผมก็ต้องทำให้สุดความสามารถนะ แต่พอวันหนึ่งที่ความประทับใจเริ่มน้อยลง เราก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ หาอะไรใหม่ๆ มาให้คนดูได้ตื่นตากันอีก สำหรับตัวผมเองก็ยอมรับว่า ทอง ภาคแรกนี้มันที่สุดแล้วจริงๆ ภาคอื่นๆ แม้จะทุ่มเทเต็มที่แต่อาจได้ไม่ครบรสเท่าภาคแรกจริงๆ 

ฉลอง ภักดีวิจิตร
ฉลอง ภักดีวิจิตร

“ผมมองการตลาดไปด้วยในขณะที่กำลังจะทำหนังสักเรื่อง ตอนนั้นผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้หนังนั้นออกไปขายยังต่างประเทศให้ได้ ซึ่งก็ต้องมาคิดแล้วว่าอะไรจะเป็นตัวดึงดูดความสนใจผู้จำหน่ายต่างประเทศ เขาต้องมีความเชื่อว่าเราทำได้ อย่างตอนที่ได้ เกร็ก มอริส มาแสดงในเรื่อง ทอง ภาคแรกนั้น เขากำลังดัง ผมก็ไปที่ฮอลลีวู้ดเลย ไปหาเอเจนซี่ของเขา แล้วก็ไปหาผู้จัดการ มันมีอยู่สองทางนี้แหละไม่ได้ทางใดก็ทางหนึ่งตอนนั้น ซึ่งเมื่อไปถึงก็พบว่าบทภาพยนตร์นั้นสำคัญมาก ต้องเป็นภาษาของเขา ผมก็บินกลับมาเมืองไทย มาหาคนแปลให้ จากบทภาษาไทยที่พี่ส. อาสนจินดาเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันด้วย เพราะงั้นความยุ่งยากมันก็มีตั้งแต่ต้องจ้างคนไทยที่พูดสำเนียงอเมริกันได้ และต้องจ้างฝรั่งที่พูดไทยได้มาทำงานด้วยกัน 

“ตอนนั้นผมจ้างเกร็ก มอริส มาด้วยค่าตัว 10 ล้านบาท (ประมาณปี พ.ศ. 2510) ก็ขอคิวเขามา 4 สัปดาห์ สำหรับการดูแลเขาทุกอย่างต้องเฟิร์สคลาสหมด เราเต็มที่เขาก็เต็มที่ อย่างเราไปถ่ายหัวหิน เขาก็คลุกคลีอยู่กับดินกับทรายอะไรได้หมด ดาราฮอลลีวู้ดนี่เขาดีนะ เวลาจะถ่ายซีนนี้บทนี้อะไรเขาจำได้หมด เขาทำการบ้านมาดี เตรียมพร้อม ทำงานง่ายทีเดียว อย่างเวลาอยู่ในกองถ่ายมีล่ามมีอะไรนี่เขาไม่ค่อยชอบนะ เขาอยากให้ผมพูดเอง ผมว่าเขาก็ดีนะอยากสื่อสารกับเราโดยตรง ใช้เวลาถ่ายทำกันอยู่ 1 ปี ใช้งบประมาณโดยรวมแล้วหมดไปกว่า 30 ล้านบาท (ค่าตั๋วหนังแพงที่สุดราคา 16 บาทเท่านั้น) 

“หนังเรื่องนี้โชคดีได้ฉายที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งถ้าฉายแค่ในเมืองไทยผมมองว่าอาจได้รายได้เพียงพอดีทุนอาจได้กำไรนิดหน่อย เพราะว่าสายต่างๆ ในประเทศที่ซื้อหนังไปฉายเขาก็ได้กำไรกันนะ แต่เมื่อนำไปขายต่างประเทศได้นั้นก็เป็นเรื่องของกำไรที่ได้มากขึ้น ต้องบอกว่าในสมัยนั้นหนังเรื่อง ทอง นี่มันสุดยอดจริงๆ ใครๆ ก็มาดู” 

โปรดักชั่นใหญ่ใจต้องถึง

หากจะพูดถึงสไตล์หนังหรือละครของศิลปินท่านนี้ ต้องบอกว่าแทบจะเผาเงินทิ้งกันเลยทีเดียวสำหรับคิวแอคชั่นแต่ละครั้ง เพราะด้วยเอฟเฟคที่มาเต็มเพื่อความสมจริงและสะใจคนดู แม้จะยังมีคนคาดหวังที่จะได้เห็นผลงานในสไตล์อื่น แต่เมื่อมันไม่ใช่ ยังไงมันก็ไม่ใช่อยู่ดี

“หลายคนบอกว่าผมมักทำแต่หนังแอคชั่น คือเริ่มแรกที่ทำมันก็สร้างภาพยนตร์แอคชั่นแล้วนะ มันเกิดขึ้นจากจินตนาการของผมซึ่งมันแตกต่าง ทีนี้คนก็เลยติดใจตามดูว่าหนังของฉลองเรื่องต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไร จะเอาดาราฮอลลีวู้ดเป็นใครบ้าง มีฉากอะไรบ้าง เพราะมันทำให้เขาตื่นเต้นประทับใจ เราผู้สร้างก็เลยต้องคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้ผู้ชมเขาไม่ผิดหวัง ได้ตื่นตาตื่นใจกับหนังของเรา เรื่องพวกนี้ผมคิดตลอดนะ ขนาดนอนยังคิดเลยว่าจะทำยังไง 

“การที่ผมทำหนังแต่หนังประเภทแอคชั่นนั้นมันจะต้องมีการลงทุนที่มหาศาล มันเป็นงานที่ท้าทาย หนังของผมเนื้อเรื่องมันก็เกี่ยวเนื่องกับต่างชาติด้วย มันเลยน่าสนใจ แปลกใหม่ในช่วงนั้น ส่วนหนังชีวิตสำหรับผมมันไม่มีค่อยมีอะไรก็เลยไม่เคยคิดจะทำหนังแบบนั้น อย่างเนื้อเรื่องของผม มีคนมาอ่าน อยากจะทำนะแต่ก็ทำไม่ได้ จึงกลายเป็นผมคนเดียวที่ทำได้ขนาดนี้

ฉลอง ภักดีวิจิตร
ฉลอง ภักดีวิจิตร

“พอมาถึงยุคหนึ่ง ที่เขาเรียกยุคหนังเฉลิมกรุงนั้นมีผู้สร้างเกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำหนังแป๊บเดียวออกมาฉายแล้ว เรียกได้ว่าสุกเอาเผากินนะ คนดูเขาก็เหมือนค่อยๆ ซาไป หนังไทยไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนเคย ผมก็หันมาทำละครแทน แม้จะเป็นสไตล์เดิมแต่ก็ไม่สามารถทำให้มันยิ่งใหญ่ได้เท่าเดิมแล้วเพราะเป็นละคร ก็อึดอัดอยากใส่เต็มเหมือนกันนะบางที (หัวเราะ) แต่ที่ผมทำมาคนดูเขาก็สนุก อย่างระย้า อังกอร์ ชุมแพ เสาร์ห้า พ่อตาปืนโต เลือดเจ้าพระยา ถือว่าเป็นละครที่ได้เรทติ้งสูงๆ ทั้งนั้นนะ แม้จะโปรดักชั่นไม่ใหญ่เท่าเดิม แต่เราก็ต้องเต็มที่ให้คนดู ให้เขาประทับใจในแต่ละซีนที่เราทำ แม้จะได้ทุนมาเท่านี้ แต่ผมก็อัดงบส่วนตัวเข้าไปเพิ่มอยู่เหมือนกัน คือเรามองแล้วว่ามันต้องมากกว่านี้ หาที่ไหนไม่ได้ ก็เอาของเราเองนั่นแหละ (หัวเราะ) 

“อย่างหนังเรื่อง ตัดเหลี่ยมเพชร นี่ก็ได้รับความนิยมมากนะสมัยนั้น เมื่อย้อนมาดูผลงานแล้ว ก็มานั่งคิดว่าเออ เราทำไปได้อย่างไร ตอนนั้นอายุ 42 แล้วนะ หนังของผมก็มีคนซื้อมาสเตอร์ไปทำแต่ก็รอดูอยู่นะว่าเขาจะทำกันเมื่อไหร่”

มองผ่านสายตาที่กว้างไกล

กว่า 63 ปีที่โลดแล่นบนถนนสายภาพยนตร์และละคร มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กองถ่ายฯ คุณฉลองได้เกิดเหตุที่ถือว่าจำได้ไม่เคยลืมคือเมื่อครั้งทำหนังเรื่อง ตัดเหลี่ยมเพชร มีฉากที่ต้องใช้เครื่องบิน เขาลงทุนซื้อเครื่องบินมาจากจังหวัดขอนแก่นในราคาประมาณสามแสนห้าหมื่นบาท เพื่อมาเข้าฉากที่หัวหิน เป็นฉากที่มีตัวละครขับรถชนเครื่องบิน เครื่องบินขาดสองท่อนแล้วก็ระเบิด ครั้งนั้นสตั๊นท์แมนมีทักษะจึงเสียหายเพียงแค่เครื่องบินและอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งนั่นถือเป็นอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียวในกองถ่ายฯ ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร

“นั่นเป็นอุบัติเหตุครั้งแรกและครั้งเดียวในกองถ่ายของผม หลังจากนั้นก็ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย เพราะเรามีการวางแผนแล้ว เรามีการเซฟทุกอย่างไว้หมดเพื่อความปลอดภัยของทีมงานเป็นหลัก อย่างเรื่อง เลือดเจ้าพระยา มันก็มีฉากลุ้นๆ กันอยู่เป็นฉากไล่ยิงรถ จะให้พลิกคว่ำธรรมดาคนก็เห็นกันหมดแล้ว แต่ผมต้องมากกว่านั้นผมก็จัดการเอฟเฟคให้มีการพลิกคว่ำถึงหกตลบด้วยกัน คือผมเสริมเข้ามาใช้ทุนของเราเอง หมดไปสองแสนบาท เพื่อสร้างให้พระเอกเขาเกิดจากเรื่องนี้ฉากนี้ได้เลย เรียกได้ว่าต้องทำตามความฝันของเรา เจ๊งไม่ว่า นี่คือแนวทางการทำงานของผม

ฉลอง ภักดีวิจิตร
ฉลอง ภักดีวิจิตร

“ที่สำคัญเลยการทำงานของผม มันต้องใช้โปรดักชั่นที่ใหญ่เสมอ เพราะงั้นมันจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ทีมงานที่ดี ตรงนี้สำคัญ ตอนนี้ก็มีทีมงานบางคนที่อยู่กันมาตั้งแต่ครั้งทำภาพยนตร์นะ นอกนั้นก็เป็นเด็กใหม่ๆ ที่มีฝีมือกันทีเดียว ตอนนี้เรื่องเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้กับการทำโปรดักชั่นมันก็สำคัญมากนะ เพราะมันสามารถมาต่อยอดความฝัน จินตนาการของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ 

“การคัดเลือกนักแสดงของผม เขาต้องบึกบึน ต้องลุยๆ กล้าเล่น มันจะได้สมจริง ซึ่งแต่ละคนที่ผ่านมาก็ไม่ทำให้ผิดหวังนะ เขาจะมีความสามารถในการแสดงที่เฉพาะตัว อย่างคุณเอก รังสิโรจน์ เขาเป็นคนกล้าที่จะลองทำทุกอย่าง ร่วมงานกันง่าย เวลาทำงานผมจะเป็นคนดุนะ นักแสดงหลายคนจะกลัวผมนะ เมื่อไหร่ที่ผมพูดว่า ‘อย่าทำให้ภาพยนตร์หรือละครมีปัญหา ต้องทำทุกอย่างให้สมจริง’ เขาก็จะฮึดขึ้นมา ซึ่งที่ผมพูดก็หมายความตามนั้นจริงๆ และมันก็จะกลายเป็นข้อคิด 

วันนี้ของศิลปินผู้ไม่เกษียณวัย

ตั้งแต่สร้างงานมาทุกอย่างเกิดขึ้นจากจินตนาการของเขา  และเมื่อใดก็ตามที่มันถูกสร้างออกมาได้ไม่เหมือนกับความฝันหรือจินตนาการ เขาก็พร้อมที่จะเริ่มกันใหม่ได้อย่างไม่ลังเล เรียกได้ว่าไม่เคยประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ได้ตรงตามโจทย์ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องได้ ...“ผมชอบหนังของ เจมส์ คาเมรอน เรื่อง AVATAR นะ เขาใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ มากมาย และฉากประทับใจผมก็คือฉากที่พระเอกจะต้องพยายามนำนกมาเป็นยานพาหนะของตัวเอง ฉากนั้นมันสวยงามสมบูรณ์ในความรู้สึกของผมมองหมดนะ ทั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ชม ผมอ่านเรื่องราวของเขาก็ยิ่งชื่นชมว่าเขามีการเตรียมโปรดักชั่นกันอยู่ถึง 4 ปี จากนั้นก็ถ่ายทำกันอยู่ 6 ปี ใช่เทคนิคกรีน สกรีน และ โมชั่นแคปเจอร์ในการถ่ายทำ 

“ตอนนี้ทีมโปรดักชั่นของไทยนั้นแตกต่างกับทีมต่างประเทศมาก อย่างตอนนี้ผมมีโปรเจ็กต์ที่จะทำอังกอร์ขึ้นมาใหม่เป็นภาพยนตร์ ผมก็วิเคราะห์ดูแล้วว่าต้องใช้ทีมฮอลลีวู้ดเท่านั้นถึงจะทำออกมาได้อย่างที่ผมตั้งใจมากที่สุด ตอนนี้ก็รอจังหวะและโอกาสดีๆ ที่จะได้เริ่มทำ แม้ในวันนี้ที่อายุ 83 ปีแล้ว แต่ผมยังแข็งแรง ยังพร้อมที่จะทำงานใหญ่อยู่เสมอ และอยากที่จะเห็นผลงานของตัวเองอีกครั้ง ผมได้แรงบันดาลใจจากหนังสือที่ผมอ่าน ผมติดตามความก้าวหน้าในแวดวงภาพยนตร์ในระดับฮอลลีวู้ดอยู่เสมอ จึงพร้อมที่จะสร้างความท้าทายครั้งใหม่ 

“แนวคิดของผมคือ ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ชมในโรง หรือในจอทีวี เห็นจริงทุกอย่างเหมือนเรา ต้องมีความรู้ ความอดทน ที่จะสิ้นเปลืองเวลามากในการทำงาน แต่เราก็ยอมทำ คนอยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์นั้นต้องหมั่นศึกษา ทั้งคาร์แร็กเตอร์ของตัวละคร อารมณ์ต่างๆ จะได้สามารถแนะนำผู้แสดงได้ถูกต้อง รวมไปถึงการวางมุมกล้อง เทคนิคต่างๆ รายละเอียดมีมาก ผมให้นิยามในงานของผมไว้ว่า ... ‘งานสร้างภาพยนตร์เป็นงานสุนทรียศาสตร์ เป็นงานศิลปะที่ต้องใช้งบการลงทุนมหาศาล เพราะฉะนั้นต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชน’ 

ด้วยสายเลือดภาพยนตร์