หัวเราะบำบัด ยาดีใกล้ตัว

หัวเราะบำบัด ยาดีใกล้ตัว

“คิดหวังอันใดให้เธอหวัง พลาดพลั้งอันใดให้เธอแก้

เงียบเหงายามใดไม่อ่อนแอ ดูแลเถิดความหวังกำลังใจ

หัวเราะเถิดแล้วโลกจะหัวเราะ  ใจจะเกาะกลุ่มงามความสดใส

หากอ่อนแอ อ่อนล้า อ่อนอาลัย  อยู่ตรงไหนก็คงเหงาเท่าๆ กัน”

 

กลอนบทนี้แวบเข้ามาในหัวทันทีครับ หลังจากที่เห็นตัวเลขที่จะต้องระบุบนหน้าปกเล่มนี้ว่าฉบับที่ 55 ผมจำไม่ได้แล้วว่า กลอนที่เขียนขึ้นมานี้ใครเป็นคนแต่ง แต่จำได้เพียงว่าวันนั้นเป็นเพียงวันอาทิตย์ธรรมดาๆ วันหนึ่ง ผมและครอบครัวกำลังเดินทางกลับจากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ระหว่างนั่งแท็กซี่กลับ วิทยุก็ประกาศว่ากลอนบทดังกล่าวเป็นกลอนที่ได้รับรางวัลใดสักรางวัลหนึ่ง ผมฟังแล้วรู้สึกประทับใจมากและจำมาถึงทุกวันนี้

 

ที่เกริ่นแบบนี้ก็เพราะเห็นว่าในกลอนมีกล่าวถึงของการหัวเราะอยู่ คล้ายกับบอกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา การหัวเราะไว้ก่อน จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น และเล่มนี้เราจะคุยกันเรื่อง “หัวเราะบำบัด” ครับ

 

หัวเราะบำบัดนั้นไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างนะครับ แต่มีงานวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญเขาวิจัยกันจริงๆ จังๆ ถึงผลของการหัวเราะ อย่างงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ โซฟี สก๊อต จากสถาบันประสาทวิทยาการจดจำแห่งประเทศอังกฤษ เขาได้ทำการทดลองและศึกษาผลของการหัวเราะโดยให้อาสาสมัครทดลองเปิดเทปบันทึกเสียงแล้วฟัง จากนั้นก็วัดปฏิกิริยาในสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

 

เสียงที่ให้เปิดฟังนั้น มีเสียงต่างๆ มากมาย ทั้งเสียงหัวเราะ เสียงดีใจ โห่ร้อง ยินดีกับชัยชนะ และรวมไปถึงเสียงร้องไห้ กรีดร้อง อาเจียน เป็นต้น ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า เสียงทั้งหมดก่อให้เกิดปฏิกิริยาในสมองส่วนที่เรียกว่า พรีมอเตอร์คอร์ติคอล (Premotor Cortical) โดยการตอบสนองในเสียงที่ส่อไปในเชิงบวก เช่น เสียงหัวเราะ เสียงยินดี จะมีมากกว่าเสียงที่ส่อไปในเชิงลบ เช่น เสียงกรีดร้อง เสียงอาเจียน ผลการทดลองนี้ทำให้สามารถช่วยอธิบายเหตุผลว่าเหตุใดคนทั่วไปจึงตอบสนองเสียงหัวเราะหรือเสียงแห่งการยินดีด้วยรอยยิ้มโดยอัตโนมัติ มีข้อมูลว่าในหนึ่งวันโดยเฉลี่ย เด็กจะหัวเราะประมาณ 400 ครั้ง ส่วนผู้ใหญ่เพียงแค่วันละ 14 ครั้งเท่านั้น นี่ก็น่าจะเป็นอีกคำตอบที่ทำให้ใครหลายคนอยากกลับกลายเป็นเด็ก เพราะหัวเราะได้บ่อยครั้งกว่าและน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขมากกว่า

 

การหัวเราะยังเป็นสาเหตุหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง เพราะโรคนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด โดยงานวิจัยจากศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนมากจะค่อนข้างประสบกับภาวะเครียด ไม่ค่อยมีโอกาสได้หัวเราะ หรือยิ้มกับบุคคลอื่น ถ้าคิดเป็นตัวเลข ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสได้หัวเราะหรือมีรอยยิ้มน้อยกว่าคนปกติประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการหัวเราะเป็นประจำจึงถือว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยยะสำคัญได้

 

การหัวเราะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเราหัวเราะ ร่างกายก็เพิ่มระดับความเข้มข้นของแอนติบอดี้ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันหมุนเวียนในกระแสเลือด รวมทั้งยังเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวคอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้ามาในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น โดย ดร.เอวี พรี ไพจิต รองประธานคณะแพทย์ของโรงพยาบาลเวอร์คงราม ประเทศอินเดีย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ความเครียดหรืออาการวิตกกังวล จะทำให้สุขภาพทรุดโทรม และทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย แต่การหัวเราะจะช่วยทำให้ความเครียดในร่างกายลดลง และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ทั้งนี้ในประเทศอินเดียยังได้นำการหัวเราะมาใช้ฝึกโยคะ และเป็นส่วนร่วมในการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกต่างๆ อย่างแพร่หลาย

 

นอกจากนี้ การหัวเราะยังช่วยบำบัดอาการอีกหลายๆ อาการได้ เช่น ช่วยทำให้ร่างกายต้านทานโรคติดเชื้อได้ดีขึ้น จากงานวิจัยของ ดร.เซลคอน โคเฮน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการหัวเราะยังช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราหัวเราะมากๆ เข้า ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟินออกมา ซึ่งเป็นสารที่สร้างมาจากต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ร่างกายเกิดความสุข โดยการหลั่งเอนโดรฟินนั้นเมื่อเราออกกำลังกายต่อเนื่องเกิน 30 นาที ร่างกายก็หลั่งสารนี้ได้เช่นกัน และทำให้เรารู้สึกมีความสุขครับ

 

ที่เล่ามาทั้งหมดในเรื่องของการหัวเราะ อาจจะไม่สามารถสัมผัสได้เท่าของจริงครับ ผมแนะนำให้คุณผู้อ่าน ลองปล่อยอารมณ์สบายๆ สักพัก แล้วสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ฉีกปากสองข้างออกจากกัน กำมือชูนิ้วโป้งระดับท้อง แล้วเปล่งเสียง โอ๊ะๆๆๆ พร้อมขยับมือเป็นจังหวะ ง่ายๆ แค่นี้ก็นับเป็นการเริ่มต้นหัวเราะที่ดีแล้วครับ

 

ลองหัวเราะดู โลกนี้สดใสแน่นอนครับ 

 

ระวังฝนนี้ ไข้เลือดออกระบาดหนัก

ดร.อุษาวดี ถาวระ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยา และนิเวศวิทยา สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเปิดเผยงานวิจัยเรื่อง ชีววิทยา และอัตราการติดเชื้อของยุงพาหะโรคไข้เลือดออก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ายุงลายบ้านมีอัตราการกัดสูงสุดเท่ากับ 45 ตัวต่อคนต่อชั่วโมง และยุงลายบ้านมีอัตราการติดเชื้อมากกว่ายุงลายสวน และยังพบว่ามีการถ่ายทอดเชื้อจากยุงลายรุ่นแม่สู่รุ่นลูก โดยจากเดิมเข้าใจว่า ยุงลายจะได้รับเชื้อจากการกัดคนที่มีเชื้อเท่านั้น และในหน้าฝนปีนี้ มีน้ำขังในหลายพื้นที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกมากขึ้น ดังนั้นใครที่พบเห็นแหล่งน้ำขังที่มีโอกาสเพาะยุงจำนวนมาก รีบกำจัดทิ้งด่วนครับ

 

มอยเจอร์ไรเซอร์เพิ่มสาร เสี่ยงก่อภูมิแพ้

ตอนนี้วงการแพทย์ทั่วโลกต่างเป็นห่วงผู้บริโภคที่ใช้ครีมมอยส์เจอร์ไรเซอร์ปรุงแต่งสารธรรมชาติ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้รุนแรงในผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ

 

โดยในงาน American Academy Allergy Immunology รัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาพบว่า สารสกัดจากธรรมชาติจากพรรณพืชนานาชนิด ไม่ว่าจะดอก ใบ กลิ่น ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดต่อผู้บริโภคเลย ซ้ำยังอาจก่อให้เกิดโทษในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอีกด้วย เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ที่ผิวหนังอยู่แล้ว เมื่อใช้สารเหล่านี้ผิวหนังก็อาจถูกกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าแพ้ง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นโดยไม่ผสมสารอื่นๆ เข้าไป เพราะจะทำให้ผิวเสี่ยงต่อการแพ้ได้ลดลง

 

เครื่องดื่มชูกำลังไร้ผลช่วยสร่างเมา 

ความนิยมชมชอบดื่มแอลกอฮอล์ของคนในยุคนี้เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้มีหลายๆ คนพยายามหาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงอาการเมาหลังการดื่ม ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังก็ถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าจะช่วยในการสร่างเมา แต่ความเป็นจริง การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังไม่ได้มีผลทำให้สร่างเมาเร็วขึ้น หนำซ้ำยังไปเพิ่มความอ่อนล้าให้กับร่างกายมากขึ้น และหากใครขับรถก็อาจเสี่ยงต่อการหลับในเป็นอย่างยิ่ง

 

เครื่องดื่มชูกำลังนั้นมีสารประเภทคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ทำให้สารนี้ไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว และทำงานต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ร่างกายก็ต้องฝืน แต่เมื่อฝืนไม่ไหวก็จะทำให้เกิดอาการหลับใน ทำให้มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นครับ

 

เด็กเล็กดูทีวี ไอคิวดี อีคิวเพิ่ม

แม้พฤติกรรมของเด็กในยุคปัจจุบันจะหันเข้าหาอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นก็ตาม แต่การดูทีวีวันละ 1-2 ชั่วโมงก็ช่วยทำให้ลดความเสี่ยงพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิว และอีคิวมากกว่าเด็กที่ไม่ดู แต่ทั้งนี้ต้องควบคุมไม่ให้เด็กดูเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

 

ศ. น.พ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าไอคิวของเด็กไทยค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เกิดงานวิจัยหาสาเหตุผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก และผลการวิเคราะห์ก็ออกมาว่าการดูโทรทัศน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ลดความเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าได้ร้อยละ 21-31 และลดความเสี่ยงเรื่องการด้อยความสามารถทางสังคม และอารมณ์ได้ร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ 

 

 

ผมและครอบครัวกำลังกลับจากการไปรับประทานอาหาร