ปราณบุรี

ปราณบุรี

1. ถนนรัฐบำรุงของตลาดเก่าปราณบุรีในยามบ่ายวันธรรมดาแสนเงียบเชียบ ลมร้อนกวาดไล่ฝุ่นผงคละคลุ้ง ลึกเข้ามาจากถนนเพชรเกษมราว 5 กิโลเมตร ขณะที่การเปลี่ยนเวียนของกาลเวลาฉุดดึงความเป็นเมืองออกไปที่ข้างนอก โลกใบเล็กๆ ของคนปราณบุรียังคงขับเคลื่อนตัวมันเองอยู่อย่างสงบเงียบ

เมืองปราณบุรีคือหนึ่งในเมืองท่าที่อยู่ในเส้นทางค้าขายทางเรือมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 6 ด้วยทองคำ เครื่องเทศ ของป่า ไหลเวียนผ่านการค้าทั้งทางคาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู

โลกแห่งความเป็นเมืองท่าทางการค้า ทำให้พ่อค้าชาวต่างชาติทั้งแขกปาทานจากอินเดียมะละกา และจีน ที่เป็นผู้นำพามาซึ่งอารยธรรมรวมถึงพัฒนาการต่างๆ ได้ตกทอด ฝังราก และต่อยอดสู่การเป็นเมืองแสนเก่าแก่ของปราณบุรี

หลายสิ่งไม่เพียงบอกว่าที่มาของพวกเขาคือทะเล แม่น้ำ และการค้าขายเชื่อมโยง หากชัดเจนแน่นลึกลงไปว่า หากพื้นที่ริมทะเลอันแสนสมบูรณ์และยั่งยืนมากไปด้วยคุณค่าของการปักหลัก ก็ไม่แปลกที่บ้านของใครสักคนจะมากไปด้วยเรื่องราวและการค้นคว้าถึงที่มาของตัวตน

“เมืองปราณมันอยู่ในเส้นทางการเดินทัพของพม่า ถูกเผาถูกทำลายหลายหน บางทีทางอยุธยาก็ให้ทำแหล่งน้ำเป็นพิษ กว่าจะเติบโตได้มันเนิ่นนาน” ลุงวิลาศ แตงเกตุ ศึกษาและเข้าใจมันเป็นอย่างดี

“รถไฟนี่ล่ะที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้เมืองปราณเติบโต” ลุงวิลาศรื้อฟื้นจุดเปลี่ยนในเรื่องคมนาคมของปราณบุรีให้ฟัง สถานีรถไฟเก่าแก่ตั้งอยู่ถัดจากหัวมุมเรือนแถวไม้ของแกไปไม่กี่ร้อยเมตร แสงบ่ายไล้อาคารไม้ทาสีขาวแดงที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2449 จนเกิดมิติสวยของไม้และเงา

จากที่แม่น้ำและทะเลเคยขับเคลื่อนให้เมืองปราณบุรีเป็น ‘ศูนย์กลาง’ จนเมื่อรางเหล็กและไม้หมอนท่อนหนาๆ ถูกเรียงรายและตอกหมุดลงที่ตำบลบ้านเมืองเก่า ทางราชการจึงย้ายที่ว่าการอำเภอจากตรงปากน้ำกลับมาที่ชุมชน

“ตอนนั้นที่นี่คึกคักเชียวล่ะ เป็นยุคทองของเมืองปราณ ถนนเพชรเกษมข้างนอกยังไม่มีเลย ไม่มีหรอกรถรับส่งสินค้า แต่ที่นี่คึกคักมาก แผงขายของริมทางรถไฟยาวเป็นกิโลฯ” ป้าพูดถึงพ่อค้าแม่ค้ารวมไปถึงคนต่างถิ่นที่เดินทางมาถึง ทั้งล่องเรือจากปากน้ำ บรรทุกสินค้าข้าวของผ่านทางเกวียนที่ปกคลุมด้วยฝุ่นดิน “บางคนมาไกลจากเพชรบุรี ราชบุรีนั่นเลย รวมถึงลุงด้วย” ป้าหมายถึงลุงวิลาศ ที่เลือกมาเป็นครูอยู่ที่ปราณบุรีก่อนจะมาพบรักกัน

การมาถึงของถนนเพชรเกษมหลังปี พ.ศ.2500 ไม่นาน คือ ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ค่อยๆ เลือนสลายภาพของตลาดบ้านเมืองเก่าลงอย่างช้าๆ แต่ด้านล่างสถานีรถไฟตรงที่พวกเขาเรียกว่า ‘ถนนปีกกา’ ที่เป็นชุดห้องแถวที่เกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นในยุคที่การรถไฟให้เวนคืนแล้วเปลี่ยนแปลนแบบให้เหมือนกันหมด ยังคงภาพแห่งการค้าขายเชื่อมร้อยผู้คนเหมือนที่มันเคยเป็น

“ช่วงปี 2520 นั่นล่ะ ที่ทางการย้ายส่วนราชการออกไปอยู่ริมถนนใหญ่ด้านนอก หลายคนก็ย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนออกไป เขาว่ามันค้าขายดีกว่า” ลุงว่าเมืองมันเติบโต ปราณบุรีกลายเป็น 2 เมือง คือเมืองใหม่ที่แยกปราณ ที่โตวันโตคืน กับเมืองเก่าตรงบ้านตลาดเก่า ที่กำลังค่อยๆ เงียบเหงาลงจากการโยกย้ายถิ่นฐานทำกิน

 

2. วันนี้วันเสาร์ ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาของบ้านเมืองเก่าปราณบุรีจะเริ่มมีตั้งแต่เลยเที่ยงมาไม่นาน ตามห้องแถวต่างๆ มากมายไปด้วยภาพการตระเตรียมขนม อาหารนานา หลายคนรู้ว่ายามเย็นกำลังจะมาเยือน

เกือบสองปีแล้วที่คนบ้านเมืองเก่าเริ่มหันหน้าเข้ามาหากัน ความเงียบเหงาเหมือนจะเป็นแรงขับให้หลายคนเลือกที่จะเลือกเดินบนทางสายหนึ่ง “บ้านเรามันมีราก มีประวัติศาสตร์ มันเคยคึกคัก เช่นนั้นมันจึงไม่ยากถ้าเราจะทำอะไรให้บางอย่างย้อนกลับมา” ลุงวิลาศว่างาน “ถนนคนเดิน ตลาด 200 ปี ปราณบุรี” เกิดขึ้นมาจากตัวตนของคนที่นี่เอง

การเกิดขึ้นนั้นไม่ยาก ทว่าการดูแลและประคบประหงมให้มันอยู่ในที่ทางนั้น หลายคนที่ปราณบุรีต้องสร้างความเข้าใจในส่วนรวม เห็นส่วนดีในการเกิดขึ้นของงาน ที่สำคัญมันต้องออกมาจากความเป็นตัวตนของพวกเขาเอง

“บางคนก็ถือโอกาสซ่อมแซมบ้านที่มันโทรม คนที่ย้ายออกไป ลูกหลานเขาก็หาของมาขาย มาพบปะ คนรุ่นเก่าๆ เจอก้น คุยกัน ก็คราวนี้” ป้าสุขุมาลย์และเพื่อนๆ กลุ่มแม่บ้านเล่าผ่านสีหน้าระบายยิ้ม

ยังไม่ทันค่ำ บนถนนรัฐบำรุงก็เรียงรายด้วยแผงขายของ สินค้านานาจากคนหลายรุ่น ที่ส่วนใหญ่ไม่พ้นลูกหลานปราณบุรีทำให้ริมทางเดินมากมายด้วยสีสัน คุณป้าคุณยายตามห้องแถวที่เห็นนั่งผ่านพ้นคืนวันในช่วงวันธรรมดา วันนี้กลายเป็นแม่ค้าขายขนม ขายอาหาร

ผู้คนขวักไขว่ไหลเวียนกันตั้งแต่เย็นย่ำ หลังรถเที่ยวล่องใต้ขบวนสุดท้ายผ่านพ้นราวเกือบทุ่ม สีสันของถนนคนเดินปราณบุรีก็พร่างพราว

นักท่องเที่ยวจากชายหาดปราณหรือหัวหินเดินจมไปในอีกหนึ่งคืนวันที่คนปราณบุรีร่วมกันสร้างมันขึ้นมา ร้านอย่าง ‘โปรดปราณ’ และ ‘บ้านอาม่า’ ผสมผสานความเป็นห้องแถวโบราณเข้ากับกระแสโหยหาอดีตของคนรุ่นใหม่ ผ่านข้าวของโบราณ กาแฟรสชาติดี และบรรยากาศที่ใครสักคนซึ่งหลงใหลการหยิบจับอดีตขึ้นมาดูเป็นต้องแวะเยือน

นาทีเช่นนั้นผมไม่เห็นอะไรมากมายไปกว่าแสงสีที่อาบไล้ไปบนถนนรัฐบำรุง และหลายห้วงตอนของที่หลอมรวมกันในห้วงเวลาสั้นๆ อย่างมีชีวิตชีวา

 

3. ตั้งแต่ยามเช้าตรงปากแม่น้ำปราณ ชีวิตเริ่มต้นมาแล้วเมื่อค่ำคืน เรือประมงชายฝั่งและเรือหาปลาขนาดใหญ่ก่ายเกยตัวเองอยู่ริมตลิ่ง สีสันของมันสดใสในแดดสาย ซึ่งต่างก็หลอมรวมและฉายชัดความเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่มานับร้อยปี

แพปลาขนาดใหญ่ริมแม่น้ำปราณบุรีมากมายด้วยสุ้มเสียงแห่งการงาน เรือประมงน้ำลึกหลากหลายเจ้าเข้าเทียบ การขึ้นปลาเริ่มต้นตั้งแต่ย่ำรุ่งไล่เลยไปถึงปลายสาย

“เดี๋ยวนี้ปลามันน้อยลงเยอะนะ บ่อกุ้งนั่นล่ะ ที่ทำให้ปลาชายฝั่งลดน้อยถอยหาย” แม้คเชน คชสังข์ จะเดินตามหนทางที่คนรุ่นปู่รุ่นย่าวางเอาไว้อย่างมั่นคง แพปลาของเขาตรงปากน้ำปราณแสนใหญ่โต ทว่าเมื่อพูดถึงห้วงเวลาของตัวเอง ใครหลายคนที่ปากน้ำปราณก็รู้ว่าบ้านของเขาต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่าง

วันนี้เรือปลาทูเข้า มันก่ายกองคละขนาดคอยถ่ายเทลงมาจากลำเรือ เสียงลูกเรือชาวเขมรโหวกเหวกแข่งกับเวลาและปริมาณปลาที่ค่อยๆ พร่องไปจากเรือลำใหญ่ ไต๋เรือนอนนิ่งอยู่ด้านบน ค่อยๆ มองผลตอบแทนจากการพาลูกเรือกว่า 20 คน แรมรอนออกไปนอกอ่าว “ช่วงนี้ปิดอ่าวไปถึงขนอมโน่นครับ หาไม่ได้มากหรอก” เขาว่ายามผมป่ายปีนขึ้นไปหาเขาข้างบน เหมือนจะตัดพ้อปรับทุกข์ แต่ชีวิตก็ไม่มีทางเลือกมากนักเมื่อถึงที่สุดแล้ว

ปลาขนาดใหญ่อย่างปลาอินทรีถูกคัดแยก แม่ค้าปลาสดต่อคิวยาวเหยียดข้างบน สารทุกข์สุกดิบส่งต่อเป็นสายสัมพันธ์ในยามใกล้เที่ยง การพักผ่อนหลังขึ้นปลาเสร็จคือห้วงเวลาที่ทุกคนที่เพิ่งมาจากทะเลหวงแหน และใช้จ่ายมันไปอย่างละเลียดหลากหลาย

การงานในหมู่บ้านปากน้ำปราณดูเหมือนจะหล่อหลอมและมีทะเลเป็นตัวผลักดัน สะพานปลาคึกคักและค่อยๆ ผ่อนคลายจนเงียบสนิท ร้านรวงที่ขายอุปกรณ์การประมงอย่างแห อวน ใบจักร เริ่มมีผู้คนเข้าออก ในนั้นมากกว่าการเป็นคู่ค้าขาย หากแต่มากไปด้วยบรรยากาศและถ้อยคำห่วงใย

ภาพสองฟากฝั่งถนนปะปนไปอย่างน่าใส่ใจ ปลายทางจากการรอนแรมออกทะเลอยู่ที่นี่ แทบทุกบ้านนั้นเต็มไปด้วยเสียงพูดคุยและเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล หมึก หอย รวมถึงเหล่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตากแห้ง ล้วนมีที่มาอยู่ในหมู่บ้านประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งริมทะเลอ่าวไทย

แดดเย็นใกล้ราโรย ตามลานทรายปากน้ำมากมายด้วยการงานจนค่ำมืด อวนหมึกค่อยๆ ถูกพับม้วนเก็บเข้าที่เข้าทาง รอคอยยามค่ำคืนที่เรือเล็กจะบ่ายหน้าสู่ทะเล ไปวับแวมไฟสีเขียวตรงเส้นขอบฟ้า

มีเพียงใครบางคนที่กลับจากทะเลเท่านั้นที่รู้ว่า ของขวัญจากค่ำคืนในลำเรือนั้นเปี่ยมค่ากับคนที่เฝ้ารออยู่ริมฝั่งมากเพียงใด 

 

How to Go?

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี–ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านสมุทรสงครามแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านเพชรบุรี ชะอำ หัวหิน ถึงอำเภอปราณบุรี แยกซ้ายเข้าปากน้ำปราณบุรีอีกราว 16 กิโลเมตร

ร่วมอาทิตย์ที่ปราณบุรี