ดร.จินดารัตน์  ชุมสาย ณ อยุธยา

ดร.จินดารัตน์ ชุมสาย ณ อยุธยา

ถ้าไม่บอก คงไม่มีใครคิดว่าเจ้าของความคิดเห็นนี้จะเป็นถึงดอกเตอร์ที่จบปริญญาตรีจากประเทศอังกฤษ ปริญญาโทและเอกจากประเทศฝรั่งเศส เท่านั้นไม่พอเธอยังอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงที่น่าจะเคร่งครัดในเรื่องระเบียบกฏเกณฑ์ของสังคม

เท่านี้ก็คงพอจะบอกได้ว่าบทสนทนาของเรากับ ดร.จินดารัตน์ ชุมสาย ณ อยุธยา (ชื่อเดิม ปาริชาติ) ในวันนี้น่าจะสนุกและได้มุมมองความคิดที่ฉีกออกไปอย่างแน่นอน

เรานัดพบกับ ดร.จินดารัตน์ หรือ “คุณเอ๊าะ” ที่โรงแรมดุสิตธานีช่วงเที่ยงๆ ของวันธรรมดา เธอบอกว่าวันนี้เราจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนถึงช่วงเย็น และจะพาเราไปเยี่ยมชมโรงเรียนสอนการประกอบอาหารอันดับ 1 ของโลกอย่าง “เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” ซึ่งเธอเป็นผู้บริหารอยู่ที่นี่ 

บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นกันเอง ณ ห้องอาหาร เบญจรงค์ 

อาหารอร่อย ดนตรีไทยขับกล่อมเบาๆ ทำให้บทสนทนาในบ่ายนี้ออกรสชาติได้เป็นอย่างดี

“ดิฉันมีพี่ชายสองคน โด่งดังมีชื่อเสียงทั้งคู่ค่ะ คนแรกคือ ดอกเตอร์ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านเป็นสถาปนิกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 50 สถาปนิกเอกของโลก ผลงานการออกแบบของท่านมีทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น ตึกหุ่นยนต์ที่ถนนสาทรใต้ ตึกบริติช เคานซิล ที่สยามสแควร์

“ส่วนคนที่สองคือ ดอกเตอร์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านเคยทำงานให้กับองค์การนาซา เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานไวกิ้งที่ถูกส่งไปลงบนดาวอังคาร

“ที่ต้องพูดถึงพี่ชายละเอียดขนาดนี้ ก็เพราะดิฉันจะบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ท่านอยากได้ลูกสาวมาก ลูกชายคนแรกท่านตั้งชื่อเล่นว่า แอ๊ะ พอได้ลูกชายอีกคน ท่านก็ให้ชื่อว่า เอ๊ะ กว่าลูกคนสุดท้องคือดิฉันจะมาเกิดก็ตั้ง 15-16 ปีผ่านไปแล้ว เรียกว่าเป็นลูกหลง คุณพ่อตั้งชื่อดิฉันว่า เอ๊าะ

“ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ปารีส คุณพ่อทำงานอยู่ที่ยูเนสโก้ คุณแม่ก็เป็นนักสังคมสงเคราะห์ พอคนไทยไปเที่ยวปารีส เขาก็จะถามกันว่ารู้จักใครที่อยู่ที่ปารีสบ้างไหม ทุกคนก็จะบอกว่า หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ไง ท่านอยู่ที่นั่น ทีนี้พอคนไทยมาเที่ยวก็จะชอบพากันไปดูระบำเปลือยอก แบบที่เราเห็นในหนังเรื่อง Moulin Rouge นั่นล่ะค่ะ วันนั้นพอคุณพ่อกลับมาดูระบำปุ๊บ คืนนั้นคุณพ่อเห็นคุณแม่สวยเลย ดิฉันก็เลยปฏิสนธิที่ปารีส (หัวเราะ)”

ด้วยความที่คุณพ่อของคุณเอ๊าะเป็นนักภาษาศาสตร์ จึงตั้งชื่อลูกสาวว่า “ปารีส์ชาติ” ซึ่งหมายถึงเกิดที่ปารีส แต่ตอนหลังก็ถูกปรับให้เขียนเป็น “ปาริชาติ” ซึ่งที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าเป็นชื่อของดอกไม้ ตามพจนานุกรมจะต้องสะกดว่า “ปาริชาต”

อย่างไรก็ตามคุณเอ๊าะเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “จินดารัตน์” ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“บางคนบอกว่าชื่อใหม่เชย แต่ตามหลักเลขศาสตร์ รวมแล้วมันได้ 99 ส่วนตามหลักทักษา ก็มีตัวอักษรที่มีทั้งบริวาร อายุ ศรี มูละ มนตรี เรียกว่ามีแต่ดีๆ ทั้งนั้น แต่ไม่มีอุตสาหะเหมือนชื่อเดิม เพราะชื่อเดิมชีวิตเหนื่อยมาก หนักกายเหนื่อยใจไปหมด ตอนนี้เลยไม่อยากได้อุตสาหะแล้ว

“คนอาจจะมองว่าเรียนมาก็สูง ทำไมเชื่อเรื่องดวงชะตา แต่ดิฉันเชื่อนะคะ เชื่อว่าเราโดนลิขิตชีวิตไว้แล้วว่าจะเป็นเช่นไร อย่างเรื่องชีวิตคู่ ดิฉันแต่งงานมาแล้วสองครั้ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองครั้ง เพราะเราอยู่ในดวงที่จะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องนี้ไม่เหมือนเพื่อนดิฉัน เป็นสาวเสิร์ฟที่ร้านอาหารอยู่ดีๆ มาพบรักกับเศรษฐีที่มาทานอาหาร เวลานี้มีชีวิตยิ่งกว่าเจ้าหญิง มีบ้านใหญ่โตอย่างกับคฤหาสน์ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดกับชีวิตที่ถูกลิขิตมา

“ถามว่าเปลี่ยนชื่อแล้วชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นค่ะ งานไม่หนักเหมือนเดิม มีเวลาไปเที่ยวบ้าง อย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ไปที่กรีซมา ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่สามารถทำได้เลย หยุดสามวันนั้นเป็นไปได้ยาก”

ที่บอกว่ายากก็เพราะในวันธรรมดา คุณเอ๊าะทำงานเป็นผู้บริหารอยู่ที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็สอนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศสอยู่ที่บ้าน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม

“แต่ดิฉันสนุกกับการสอนนะคะ มันเหมือนเรากำลังค้นหาตัวเองอยู่ว่าชอบอะไร ดิฉันกำลังคิดอยู่ว่าตอนเกษียณจะทำอะไรดี ตอนนี้ลูกก็มาบอกให้ทำโรงเรียนสอนภาษา แล้วก็สอนอย่างอื่นด้วย เช่น มารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทการเข้าสังคม หรือเรื่องการบริการในโรงแรม” 

อาหารที่สั่งไว้ถูกยกมาเสิร์ฟ คุณเอ๊าะสั่งผัดไทยซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของห้องอาหารแห่งนี้ พลางเชิญชวนให้เราทานไปคุยไป ไม่ต้องเกรงใจ เพราะเธอเป็นคนที่ทำอะไรพร้อมกันได้หลายอย่างอยู่แล้ว

คุณเอ๊าะเล่าให้เราฟังว่าสาเหตุที่เธอเกิดที่เมืองไทยก็เพราะนอกจากคุณพ่อของเธอจะเป็นนักภาษาศาสตร์ที่โด่งดังทางด้านการจัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมันแล้ว ยังเป็นนักประวัติศาสตร์อีกด้วย เมื่อท่านเห็นว่าฝรั่งเศสนั้นข่มเหงประเทศไทยจนต้องเสียดินแดนบางส่วนเพื่อรักษาเอกราชไว้ จึงไม่อยากให้ลูกสาวได้สัญชาติฝรั่งเศส จึงให้คุณแม่นั่งเครื่องบินกลับมาคลอดที่เมืองไทย

เธอบอกว่าคุณพ่อเห่อลูกสาวมากๆ ถึงขนาดร่อนการ์ดบอกคนไปทั่วว่าได้ลูกสาวแล้ว

“ชีวิตวัยเด็กของดิฉันถูกสปอยล์มากๆ อยากได้อะไรก็ได้หมด คนรับใช้มีเป็นสิบคน จะออกจากบ้านทีก็มีคนส่งขึ้นถึงที่ เรียกว่าเท้าไม่แตะพื้นเลย อาหารมื้อนึงก็ 7-8 อย่าง กินก็ไม่หมด นิสัยแย่มากๆ

“ดิฉันเข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสมถวิล คุณแม่เล่าให้ฟังว่าเป็นเด็กที่กล้ามาก เวลาที่โรงเรียนมีฉีดยา ดิฉันจะเป็นคนที่ยื่นแขนให้หมอฉีดเลย พอมาเรียนชั้นประถมหนึ่งถึงสี่ที่โรงเรียนมาร์แตร์เดอีวิทยาลัย ก็เป็นคนที่กล้าแสดงออก ทำกิจกรรมหลายอย่าง เป็นดรัมเมเยอร์ วิ่งเปี้ยว อีกกิจกรรมที่ชอบที่สุดก็คือ วาดรูป

“พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ ก็จะต้องไปเรียนต่อเมืองนอกเหมือนอย่างพี่ชายทั้งสองคน ดิฉันก็ไปเรียนที่ปารีส ตอนนั้นรู้เลยว่าชีวิตเปลี่ยนแน่ๆ เพราะพ่อไม่เหมือนกับแม่ พ่อจะเข้มงวดเรื่องการเรียนมากๆ เรื่องเรียนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน ไม่อย่างนั้นห้ามดูโทรทัศน์ มีครูมาสอนพิเศษถึงที่บ้าน

“คุณพ่อจะใส่ข้อมูลไว้ในหัวดิฉันตลอดว่า ‘ที่สองก็ไม่พอ ต้องที่หนึ่ง’ เพราะฉะนั้นภายในปีเดียวที่ไปอยู่ที่ปารีส ดิฉันก็สอบได้ที่หนึ่งของห้อง พอสองปี ก็ได้ที่หนึ่งของประเทศฝรั่งเศส คะแนนเต็ม 100 คะแนน ดิฉันได้ 97 คะแนน ถามว่าอีก 3 คะแนนหายไปไหน ที่หายไปก็เพราะดิฉันคิดว่าทำไมมันง่ายอย่างนี้ สงสัยจะต้องเอาคำตอบอะไรออกบ้าง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะโดนหมั่นไส้ (หัวเราะ)”

พอเห็นว่าเรียนที่ฝรั่งเศสง่ายเกินไป คุณพ่อของคุณเอ๊าะจึงส่งเธอไปเรียนที่อังกฤษ ในโรงเรียนที่มีชื่อว่า Heathfield School ที่นี่เป็นโรงเรียนที่เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนของเจ้าหญิง เพราะไม่มีใครจบแล้วไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเลย เกือบทุกคนออกไปเพื่อเป็นภรรยา เป็นคุณผู้หญิง

“หลังจบจากตรงนั้น ทีแรกดิฉันไม่อยากจะเรียนมหาวิทยาลัย เพราะใจมันรักเรื่องแฟชั่น ก็เลยแอบไปสอบเข้าที่ Lucie Clayton School of Fashion แต่คุณพ่อท่านไม่ให้เรียน บอกว่าเธอจะไปแหกแข้งแหกขาให้คนอื่นดูทำไม (หัวเราะ)

“ก็เลยเป็นอันว่าต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ดิฉันก็ตามเพื่อนไปอีกแล้ว ก็ได้ไปเรียนที่ Newcastle University จนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมภาษาฝรั่งเศสกับสเปนค่ะ ตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถพูดได้ตลอดว่าสำหรับดิฉันเรื่องการเรียนมันเป็นเรื่องง่ายมากๆ ดิฉันสอบได้ทุนของรัฐบาลประเทศอังกฤษด้วย แต่ก็ไม่ได้บอกพ่อ เพื่อที่จะได้ทุนจากพ่อด้วย

“พอจบปริญญาตรี เรายังไม่อยากกลับ มีทางเดียวก็คือต้องเรียนต่อ คุณพ่อก็ให้เรียน ดิฉันไปเรียนปริญญาโทและเอกที่ฝรั่งเศส ตามเพื่อนไปอีกแล้ว สนุกสนานกันมาก ปริญญาโทใช้เวลาเรียนแค่ปีเดียว ส่วนปริญญาเอก เขามีข้อบังคับว่าไม่อนุญาตให้จบก่อนหนึ่งปี ดิฉันก็เลยทัวร์ยุโรปเลย ไปเที่ยว ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ สนุกมากๆ

“เมื่อถึงเวลาจะต้องส่งวิทยานิพนธ์ ก็เร่งทำ ใช้เวลาแค่สามสัปดาห์ วิทยานิพนธ์ 350 หน้าก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมสอบ ดิฉันทำวิทยานิพนธ์เกีี่ยวกับ Semiology เป็นศาสตร์แห่งการละครสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า ทำผม แต่ละอย่างมันมีสัญลักษณ์ของมันหมด เพราะละครหลายๆ เรื่องไม่มีบทพูดเลยด้วยซ้ำ มีแต่มูฟเมนต์

“นับเป็นความภูมิใจของครอบครัวที่จบดอกเตอร์กันหมด จนคุณแม่พูดเล่นๆ ว่าคนอื่นเป็นดอกเตอร์กันหมด เหลือแต่ฉันเป็นด็อกตัวเดียวที่บ้าน 

เด็กหนุ่มร่างสูงคนนั้นเข้ามาสวัสดีทักทายเราอย่างมีมารยาท ก่อนที่จะกลับไปนั่งที่โต๊ะห่างออกไป คุณเอ๊าะแนะนำว่านี่คือลูกชายคนเดียวของเธอ

“ดิฉันมีลูกสาว 2 คนที่เกิดกับ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชื่อ อ้อนแอ้น อิสริยภรณ์ กับ อ้อมอก อธิฏฐานพร คนแรกเป็นคุณครูสอนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติ KIS ส่วนคนที่สองคนนี้เจริญรอยตามพ่อของเขา เป็นนักกฏหมาย จบปริญญาโท 2 ใบจากอเมริกา ตอนนี้ทำงานอยู่ที่กรรมสรรพากร

“พอดิฉันแต่งงานครั้งที่ 2 ก็มีลูกอีก 2 คนที่เกิดกับคุณสุวัฒน์ สุขสงเคราะห์ ลูกสาวชื่อ โอบอุ้ม วัฒน์ธิดา ส่วนลูกชายก็คนนี้ล่ะค่ะ ชื่อ อวบอ้วน วัฒนา ตอนนี้โอบอุ้มกับอวบอ้วนเป็นนางแบบกับนายแบบทั้งคู่เลยค่ะ”

หลังจากคุณเอ๊าะเรียนจบและกลับมาที่เมืองไทย เธอก็ไปทำงานอยู่ที่สถานฑูตฝรั่งเศสอยู่พักนึง ก่อนจะมาทำงานอยู่ที่โรงแรมเพรสสิเดนท์ 2 ปี จากนั้นทางศศินทร์ (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็เรียกตัวให้ไปช่วยทำการตลาด

“จากนั้นก็มาทำงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลอยู่ถึง 10 ปี ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ก่อนที่จะมาควบตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เรียกว่าทุ่มเทกับงานเต็มที่ ถ้าจะต้องตื่นตีห้าไปรับแขกวีไอพีที่สนามบินก็ต้องทำ ตีสองตีสามถ้าต้องอยู่ก็ต้องอยู่

“จนกระทั่งชีวิตมาเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพี่ชายมาบอกว่าให้ไปช่วยงานหนังสือของคุณพ่อ ท่านมีร้านและสำนักพิมพ์ชื่อ เฉลิมนิจ เพราะตอนนั้นท่านเริ่มอายุมากแล้ว สุดท้ายดิฉันก็ต้องตัดใจออกมาจากโอเรียนเต็ล มาปรับปรุงหนังสือใหม่หมดเลย หนังสือของคุณพ่อจะเป็นพวกพจนานุกรม พวกหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็ทำไปจนกระทั่งทุกอย่างเริ่มลงตัว จึงออกมาทำงานที่เซ็นทรัลรีเทลได้ปีนึง ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้บริหารที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ดิฉันมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เขาเปิดได้เกือบๆ ปี เข้ามาก็มาช่วยจัดงานฉลองครบรอบ 1 ปี ตอนนี้จะครบ 5 ปีแล้วค่ะ”

เราย้ายจากห้องอาหารเบญจรงค์ เดินผ่าน Dusit Gourmet ร้านเบเกอรี่ชื่อดังที่ใครหลายคนมักจะแวะมาเพื่อซื้อเค้กของที่นี่ติดไม้ติดมือกลับบ้าน ออกจากตัวโรงแรมเข้าสู่อาคารดุสิตธานีที่อยู่ติดกัน

พลันเมื่อผลักบานประตูที่เขียนไว้ว่า Le Cordon Bleu Dusit Culinary School เข้าไป เราก็ได้กลิ่นหอมของขนมปังลอยอบอวลอยู่ในบรรยากาศ ทุกคนต่างใส่ยูนิฟอร์มสีขาวดูเรียบร้อย เป็นระเบียบมาก

คุณเอ๊าะพาเราเข้าไปสำรวจยังห้องต่างๆ ของโรงเรียนแห่งนี้ที่มีนับสิบๆ ห้อง แต่ละห้องเต็มไปด้วยนักเรียนที่กำลังหัดทำอาหารอย่างตั้งใจ ความสะอาดและมาตรฐานความครบครันของข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ คือสิ่งที่เราประทับใจ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่านี่คือสวรรค์ของคนที่ชอบทำอาหารอย่างแท้จริง

“เห็นทำงานอยู่ที่โรงเรียนสอนทำอาหารแบบนี้ ใครๆ ก็คิดว่าคงจะได้ชิมของอร่อยๆ อยู่เรื่อย เปล่าเลยค่ะ เพราะเด็กๆ มาเรียนมาหัดทำ เสร็จแล้วเขาก็เอาใส่กล่องกลับบ้าน เราได้แต่ดมกลิ่น (หัวเราะ)

“แนวโน้มของธุรกิจสอนทำอาหารนั้น ดิฉันต้องบอกว่าไม่มีวันตายค่ะ โดยเฉพาะอย่าง เลอ กอร์ดอง เบลอ นั้นเป็นแบรนด์ที่ดังที่สุดในโลกในด้านการสอนทำอาหาร เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1895 ร้อยกว่าปีมาแล้ว ยิ่งมาเปิดในบ้านเรายิ่งประสบความสำเร็จ แต่ละเทอมนั้นเต็มตลอด ต้องจองล่วงหน้า ทัั้งที่ค่าใช้จ่ายต่อเทอมนั้นอยู่ประมาณ 2 แสนบาท เทอมนึงเรียน 10 สัปดาห์หรือ 180 ชั่วโมง”

หลักสูตรของที่นี่จะมีด้วยกัน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับเบสิค ระดับกลาง ไปจนถึงระดับสูง และมีแยกเป็นหลักสูตรอาหารคาว (Cuisine Diplome) กับหลักสูตรขนมอบ (Patisserie Diplome) ถ้าเรียนจบทั้งสองหลักสูตรก็จะเรียกว่า Le Grand Diplome เหมือนอย่างที่คุณพล ตัณฑเสถียร ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้รับ Le Grand Diplome เพราะเรียนครบทั้งสองหลักสูตรทุกระดับชั้น ใช้ค่าเล่าเรียนไปทั้งหมดร่วมๆ สองล้านบาท แต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะไปเปิดร้าน Spring & Summer ก็ประสบความสำเร็จมาก

“หลักสูตรของที่ดุสิตหรือที่ไหนในโลกก็ตาม จะเป็นหลักสูตรเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นหลายๆ ครั้งก็จะมีคนต่างชาติบินมาเรียนที่เมืองไทย เพราะประหยัดกว่ากันเยอะ เขาอาจจะเรียนที่นู่น 2 ล้านบาท แต่มาเรียนที่เรา 1 ล้านบาท มีเงินเอาไปเที่ยวได้สบายๆ”

ปัจจุบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ยังเปิดหลักสูตร Thai Cuisine ด้วย ซึ่งตอนนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 540 ชั่วโมง และไม่ใช่แค่สอนทำอาหารเท่านั้น แต่ที่นี่ยังสอนเรื่องของการทำ Presentation ของจาน จัดอาหารอย่างไรให้น่าทาน รวมไปถึงหลักสูตรการทำธุรกิจร้านอาหารอย่าง Restaurant Operation Cost Control, Menu Planning เรียกว่าจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้เลย

หลังคุณเอ๊าะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายกลายเป็นเชฟสาวอารมณ์ดีให้เราถ่ายรูปเรียบร้อยแล้ว สถานที่สุดท้ายที่เราจะนั่งพูดคุยและถ่ายรูปก็พร้อมแล้ว มันคือสวนจำลองขนาดย่อมๆ ที่ครึ้มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เสียงน้ำตกไหลเบาๆ ฟังแล้วใจสงบอย่างบอกไม่ถูก เราเปลี่ยนเรื่องคุยไปที่มูลนิธิที่เธอดูแลอยู่

มูลนิธิเฉลิมขวัญ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นมูลนิธิที่คุณแม่ของคุณเอ๊าะ-เฉลิมขวัญ ชุมสาย ณ อุธยา-จัดตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว พอคุณเฉลิมขวัญจากไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คุณเอ๊าะจึงอาสาเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้แทน เพราะการที่จะทำองค์กรการกุศลนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้จักคนเยอะ โดยมูลนิธินี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสใน 22 อำเภอของจังหวัดหนองคาย มีทั้งทุนการศึกษา พัฒนาโรงเรียน รวมถึงการสร้างอาชีพ อาทิ ปลูกเห็ดนางฟ้า เลี้ยงปลา ไก่ เป็ด ปลูกพวกพืชสวนครัว

“การที่ดิฉันได้มาดูแลตรงนี้ต่อ ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ว่าเราได้ทำอะไรให้แม่บ้าง เพราะตอนที่แม่ยังอยู่ เราเองก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราไม่ค่อยจะคิดตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ขอทำให้แม่บ้าง ถึงท่านจะไม่อยู่แล้วก็ตาม ปัจจุบันมูลนิธินี้เป็นมูลนิธิดีเด่นของอีสาน ส่วนดิฉันก็ได้เป็นสตรีดีเด่นของสังคมไทยด้วยค่ะ

“จริงอยู่ที่การเลี้ยงลูกของดิฉันอาจจะสปอยล์ในแง่ของวัตถุไปบ้าง แต่ในเรื่องการช่วยเหลือตัวเองนั้น ดิฉันเลี้ยงแบบฝรั่ง ให้เขาดูแลตัวเอง อย่างลูกสาว ดิฉันพาไปโรงเรียนแค่สองวัน หลังจากนั้นก็ให้ไปเอง หรืออย่างลูกชายถ้าเกิดหิวตอนดึกๆ ขึ้นมาก็ต้องทำอาหารกินเอง

“ส่วนเรื่องความคาดหวังที่มีต่อลูก เมื่อก่อนเคยค่ะ แต่ตอนนี้เลิกแล้ว เพราะเคยหวัง แล้วเขาไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เราก็ผิดหวังเอง ตอนนี้ก็ขอแค่ไม่ไปเบียดเบียนชาวบ้านก็พอ ลูกอยากจะทำอะไร เราก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ อย่างตอนนี้ลูกชายก็มีทำธุรกิจขายครีม ลูกสาวก็ทำอีเวนต์ เราก็คอยแบ็คอัพอยู่ข้างหลัง”

ก่อนจะจบการพูดคุยในวันนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าชีิวิตการเป็นไฮโซนั้นเป็นอย่างไรบ้าง คุณเอ๊าะตอบทีเล่นทีจริงกลับมาว่า

“คนเรียกดิฉันว่าเป็นไฮโซ แต่ดิฉันว่าโซซัดโซเซมากกว่า (หัวเราะ) ไปงานไหนก็ไม่ได้เงิน แต่ถ้าเป็นเซเล็บได้เงิน เหมือนอย่างลูกชายลูกสาว ไปงาน

ทีไรก็ได้แล้ว ผู้จัดงานก็ใส่ซองมาเลย ส่วนของแม่ นอกจากจะไม่ได้เงินแล้ว ยังต้องเสียค่าแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ค่ารถอีก (หัวเราะ)” 

ดิฉันไม่ค่อยชอบคนรุ่นเก่าที่คิดอะไรเก่าๆ