สมชัย อภิวัฒนพร

สมชัย อภิวัฒนพร

แต่ในยุคนี้ การที่จะประสบความสำเร็จนั้นอาศัยเพียงความขยันอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ นั่นคือ นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้งาน

คุณสมชัย อภิวัฒนพร ประธานอำนวยการโรงงานยาสูบ คือคนที่ใช้ความรู้ที่ตัวเองเรียนมาอย่างมีค่ามากที่สุด เมื่อรวมกับประการณ์ที่มี ทำให้เขาสามารถนำพาองค์กรที่ตัวเองบริหารอยู่ไปสู่ความสำเร็จได้ภายหลังที่เขามารับตำแหน่งประธานอำนวยการโรงงานยาสูบ หลายอย่างในองค์กรมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนเรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความพร้อมมากที่สุดองค์กรหนึ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจด้วยกัน ด้วยความได้เปรียบจากวิชาที่เขาเรียนมาจึงสามารถแกะรูปแบบองค์กรได้อย่างละเอียด และชัดเจนบรรทัดต่อจากนี้เองที่เราจะได้รู้ว่าชีวิตเขาเริ่มจากอะไร และทำได้อย่างไรจึงมีทุกวันนี้

จากสุโขทัยสู่เมืองกรุง

“ผมเป็นคนสุโขทัยโดยกำเนิด ตอน ป.5 พ่อส่งผมไปเรียนลูกคิดแล้ว ผมก็เลยดีดลูกคิดได้ ผมเริ่มเก่งคำนวณตั้งแต่ป.5 พอ ป.6 พอพ่อไม่สบาย ก็เลยต้องไปซื้อถั่วแทนพ่อ ผมนำถั่วไปชั่ง ใส่รถสิบล้อขึ้นรถมาขายที่ปากน้ำโพ พอขายถั่วคิดเงินเสร็จก็ขึ้นรถไฟกลับบ้าน จากนครสวรรค์มาพิษณุโลก จากพิษณุโลกกลับบ้านในอำเภอ สมัยนั้นมันไกลมากนะ ผมยังจำได้ว่าเริ่มค้าขายของเป็นตั้งแต่สมัยนั้น พอเรียนจบ มศ.3 ที่สุโขทัยก็เข้ามากรุงเทพ

“สมัยมาเรียนกรุงเทพฯใหม่ๆ คอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ๆ เพิ่งเข้ามาเอง โทรศัพท์มือถือก็ไม่มี มีแต่โทรศัพท์บ้าน เราก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ สมัยนั้นผมมาเรียนพาณิชย์เชตุพน ผมเรียนรอบเช้า บ่ายผมก็หางานทำพิเศษ ทำบริษัทวิจัยธุรกิจ วิเคราะห์สินค้าแต่ละตัวๆ ทำให้มีประสบการณ์ ผมเข้าไปทำวิจัยธุรกิจ การจะออกแบรนด์ใหม่เขาทำยังไง เช่น จะออกพวกเครื่องดื่ม ออกแป้งตัวใหม่ หรือสินค้าหลายประเภท เราก็ไปทำวิจัย ไปให้เขาทดลองดูว่ามันใช้ได้หรือไม่ มันก็เลยทำให้รู้ระบบการทำงาน ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญช่วงนึงในชีวิตของผม

“แต่พอมาเรียนหนังสือจริงๆ ผมกลับเรียนไม่เก่ง สาเหตุมันเกิดจากการไม่ตั้งใจเรียน ด้วยสิ่งแวดล้อมและมีเพื่อนเยอะ ก็เที่ยวไปเรื่อย ตอนเย็นก็เล่น กลางคืนก็เที่ยวได้สักระยะหนึ่ง พอหันกลับมามองพี่ๆ น้องๆ ของผมทุกคนเรียนหมอเรียนปริญญาโทหมด พวกเขาเรียนเก่งเพราะตั้งใจเรียน ผมก็คิดได้ว่าจะมาเที่ยวเล่นแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ผมก็เลยกลับมาตั้งใจเรียน ผมก็ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขามีให้เรียน 4 ปี แต่ผมเรียนจบ 3 ปี พอจบปุ๊บ ผมก็สอบเป็นผู้สอบบัญชีได้เป็นคนแรก จบรุ่นแรกของรามคำแหงด้วย

“หลังจากเรียนจบ ผมก็เข้ามารับราชการ ที่แรกคือกรมสรรพกร ชีวิตช่วงนั้นก็ไม่ได้ลำบากนัก สบายๆ ลองคิดดูว่าผมทำงานสมัยก่อน ข้าวแกงจานละหกสลึง ไปทำงานได้วันละเป็นร้อย ลองคิดดูสิ ทำงานสิบห้าวันได้สองพันกว่าบาท โอ้โหสองพันกว่าบาท สมัยนั้นทองบาทละสี่ร้อยเองนะ 

“ระหว่างที่รับราชการ พอมีเวลาว่างผมก็ไปหุ้นทำธุรกิจกับเพื่อนๆ สร้างทาวน์เฮ้าส์ สร้างคอนโดขาย ผมทำหลายอย่าง ทั้งร้านอาหาร คอกเทลเลานจ์ ผมก็ทำ

มีอะไรดีก็ทำหมดเลยนะ คือเรื่องของธุรกิจนั้นอย่างที่บอกว่าผมชอบมาตั้งแต่เรียนอยู่ประถมแล้ว เพราะที่บ้านทำการค้า เราก็ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ตรงนี้มาช่วย ทำอะไรมันก็เลยกำไรหมด 

“ผมทำคอนโดขายคอนโดก็กำไร เพราะสมัยก่อนยังไม่ฮิต มีคู่แข่งน้อย แล้วผมก็ขายยกฟลอร์ให้ออฟฟิศที่เขามาซื้อเลยไง ผมให้เขาเหมาไปหมด เพราะถ้าเขาไปเช่า ราคาต่อตารางเมตรคำนวณแล้วมันแพง การทำคอนโดก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตอย่างหนึ่งของผม ส่วนทาวน์เฮ้าส์ที่สร้างก็กำไรอีกแบบหนึ่ง”

มีวิชาเหมือนมีทรัพย์

“ความจริงแล้วงานหลักของผมคือรับราชการ ผมรับราชการที่แรกคือกรมสรรพากรทำมาสามสิบกว่าปี พอแล้วได้เป็นบอร์ดเอกชน เป็นอะไรแบบนี้ได้ มันไม่มีข้อขัดแย้งกัน ผมก็ทำงานมาเรื่อยๆ จนได้เป็นรองอธิบดีกรมสรรพสามิต แล้วก็เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง คือเป็นหลายอย่างมาก 

“ชีวิตที่กรมสรรพสามิตนั้นได้พบเจออะไรเยอะมาก เพราะคุณต้องออกไปพบผู้เสียภาษี ออกไปตรวจกิจการนั้น กิจการนี้ ดูว่าเขาทำธุรกิจกันยังไง พอไปดูคนอื่นมากๆ เข้า เราก็เห็นว่าการคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์เขาทำกันยังไง เราก็จะรู้เลยว่ากรมโยธาเขามีราคากลางเท่าไหร่ต่อตารางเมตร ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด ท่อระบายน้ำ ถนน แล้วผมไปเป็นอนุกรรมการประเมินราคาที่ดิน เราก็รู้วิธีการประเมินราคาที่ดิน ราคากลาง ราคาตลาด รู้หมด ก็เลยเอามาปรับใช้ได้

“พอมีประสบการณ์ บริษัทเอกชนก็เริ่มอยากให้ผมไปช่วยงานมากขึ้น อย่างเรื่องการสอบบัญชี ราคาแบบนี้แพงไป ไม่ได้แล้ว จากเดิมที่ผู้สอบบัญชีคิดราคา 6-7 ล้าน พอเราเข้าไปก็คิดแค่ 5 ล้าน เท่านี้บริษัทเขาก็กำไรแล้วเกือบ 2 ล้าน 

“ผมนำประสบการณ์ของผมไปสอนเขา แล้วเรามาจากสรรพากรก็รู้ว่าบริษัทควรจะทำยังไงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมก็ไปแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้กับเขา นี่เองที่อาจจะเป็นข้อหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ที่ผมได้เปรียบตรงที่ว่ากรรมการอิสระควรจะจบบัญชีมาอย่างน้อยหนึ่งคน 

“นอกจากนี้เวลาว่างๆ ถ้าเรามีความละเอียดนิดนึงก็จะไปวิเคราะห์บริษัทให้ เช่น ผมไปอยู่บริษัทคอมพิวเตอร์ ผมก็จะไปจ้ำจี้จ้ำไช กวดขันเรื่องสินค้าคงคลัง เพราะสินค้าราคาจะลดลงไปเรื่อย ต้องเข้าเร็วออกเร็ว ต้องไปดูอายุของมัน คำนวณต้นทุน การตีราคา และไปดู Ratio ซึ่งเราก็เข้าไปดูว่าควรจะลดตรงนั้น ปรับตรงนี้ ก็แนะนำเขาได้ 

“การเรียนบัญชี 1+1 มันเป็น 2 แต่ถ้าคุณเรียนรัฐศาสตร์ 1+1 อาจจะไม่ใช่ 2 อาจเป็น 3 ก็ได้ บัญชีมันบอกเราแน่นอนตรงเป๊ะ เพราะฉะนั้นแทบทุกอย่างในชีวิตของผมมันก็มาจากวิชาการที่ผมศึกษามาทั้งนั้น”

ปลุกปั้นโรงงานยาสูบ

“จากประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบในตลาดหลักทรัพย์อยู่ 3-4 ปี ผมไปอยู่ฝ่ายเอกชน เรารู้ว่าเอกชนเขาทำกันยังไง พอได้มาทำงานที่โรงงานยาสูบที่เป็นบริษัทก็เป็นผู้ผลิต ทำการค้า ทำการขาย จากประสบการณ์สิ่งที่ผมทำอย่างแรกเลยคือ การวิเคราะห์งบ 

“ผมเรียนจบบัญชี เป็นผู้ตรวจบัญชี ได้รับใบอนุญาต พอไปเป็นบอร์ดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ก็มีหน้าที่ดูงบ วิเคราะห์งบการเงิน เราก็ได้หลักใหญ่เหล่านี้มาว่าจะทำการค้าต้องขายทำยังไง เพิ่มยอดขายรายได้ ตรงไหนจะมีกำไรมาก มาร์จิ้นสูง ทำยังไงจะลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ผมก็มาวิเคราะห์ทีละตัวๆ เริ่มจากเรื่องราคาก่อน ดูมาร์จิน เพิ่มยอดขายได้มั้ย ตัวไหนเพิ่มได้ก็เพิ่มไป ราคาตรงนี้ต่ำไปหรือไม่ ก็เอามาพิจารณาทีละตัว เจาะทีละตัว ตัวนี้ราคาขั้นต้นเท่าไหร่ ผมก็จะเจาะไปเลย แล้วก็จะพบว่าบางตัวขายดี แต่กำไรต่ำ พอเพิ่มราคาไป ก็ได้กำไรเพิ่ม 

“ไปทำตลาด ตัวไหนขายเพิ่มขึ้น ก็มีนโยบายเพิ่มเลย ทุกครั้งที่ออกแบรนด์ใหม่ ก็จะดูว่ามาร์จิ้นจะต้องไม่ต่ำกว่าตัวเก่าของโรงงานยาสูบ ผมคิดง่ายๆ แค่นี้แหละ แล้วก็จัดการไปทีละตัว กำไรยาสูบก็เพิ่มขึ้น ไปดูรายการรายจ่าย ไปดูค่าใช้จ่าย ไปวางหลักเกณฑ์ใหม่ ตัวไหนผูกขาดเราก็ขาย TOR (Term of Reference) เพิ่มขึ้น ดูผลิตภัณฑ์

ของต่างประเทศมาแข่งขัน มันก็ได้ราคาต่ำลง ค่าใช้จ่ายในการผลิตก็ลดลงไป อันนี้เป็นมาตรฐานของทั่วโลก ซองนอกซองในกล่อง กระดาษแก้ว กระดาษฟอล์ย เจาะกันแบบละเอียดทีละตัวเลย พอเราดูปุ๊บก็ค่อยๆ ปรับไป 

“แต่ต้องยอมรับนะครับว่าโรงงานยาสูบเป็นองค์กรที่นานแล้ว 70 กว่าปี การที่จะไปแก้ไปปรับเปลี่ยนอะไรง่ายๆ เขาอยู่กันมานานแล้วเราไปปรับไปเปลี่ยน ก็ต้องไปอธิบายใช้เวลา เช่น เขาต่อต้านว่าโรงพยาบาลภายในโรงงานยาสูบ มีผลประกอบการขาดทุน เพราะคนไม่ค่อยมาใช้บริการ ผมก็เชิญอาจารย์จากจุฬาฯ มาศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดว่าทำอย่างไรให้มันสามารถอยู่แบบมีผลกำไร 

“แล้วผมก็ต้องอธิบายพวกเขาว่าทำอย่างนี้ดีนะ ยาสูบไม่มีขาดทุน มีแต่ได้ พนักงานก็ไม่เสียประโยชน์ แถมได้รักษาพยาบาลที่มีหมอเก่งๆ เข้ามา มีเครื่องมือทันสมัย แล้วเราได้กำไร พนักงานก็ใช้ได้ เบิกได้ไม่เสียสิทธิ์และดีขึ้น โรงงานยาสูบก็มีรายได้เพิ่มขึ้น การเป็นนิติบุคคล ไม่มีเสีย มีแต่ได้ การดำเนินงานมีสภาพคล่องขึ้น ก็ปรับเปลี่ยน เราอาจจะทำอย่างอื่นได้เพิ่มตามมาอีกด้วย 

“ผมจัดการเพิ่มโอกาสให้พนักงาน ในการที่จะปรับฐานเงินเดือนปรับรายได้ ได้สิทธิ์อะไรเพิ่มขึ้น มีที่บางแห่งของโรงงานเป็นที่ราชพัสดุ ก็ไม่สามารถนำไปหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราเป็นนิติบุคคลเราทำได้ อย่างที่เชียงใหม่ ถ้าทำที่จอดรถยนต์ได้ ก็จะมีกำไรเข้าโรงงานวันละไม่น้อย แต่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะว่าเป็นที่ราชพัสดุ ตอนนี้จึงกำลังดำเนินการให้เป็นนิติบุคคล ตามนโยบายกระทรวงการคลัง 

“เรากำลังทำโรงพยาบาลให้ทันสมัย มีหมอดีๆ เก่งๆ เครื่องมือใหม่ๆ เป็นข้อเรียกร้องของสหภาพบอกว่าห้ามแตะเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ผมก็ต้องทำความเข้าใจกับสหภาพว่ามีอะไรที่เสียประโยชน์บ้าง แต่ผมไม่กลัวการประท้วงนะ เพราะผมชี้แจงเขาได้ว่ามันสามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในองค์กรมากขึ้น”

ไม่ส่งเสริมแต่จำเป็น

“เรื่องของบุหรี่ผมว่าไม่มีใครอยากสนับสนุนให้ทำหรอกครับ แต่มันคือความจำเป็น เพราะถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้เอง บริษัทต่างชาติก็จะเข้ามาครองตลาดอย่างครอบคลุม ตอนนี้เราก็โดนปัญหาต่างประเทศมารุมเร้าหลายเรื่อง ผมอยากบอกว่าตอนนี้ต่างประเทศเขาสามารถแสดงราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงได้ โดยที่กรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะระเบียบกฎขององค์การการค้าโลกที่เป็นช่องโหว่ช่องใหญ่ของกฎหมาย คือเราไปปรับไปเพิ่มราคาเขาไม่ได้ 

“ตอนนี้สัดส่วนต่างประเทศกับของไทย ของต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 25-30% ของเราประมาณ 70-75% แต่การแข่งขันกันก็ถือว่าสูงมาก เพราะต้องยอมรับว่าเขาเป็นแบรนด์เนม คนเขาอยากสูบของต่างประเทศ 

“สมมติถ้าเราไม่ทำบุหรี่ออกมาขาย ต่างประเทศก็ขายกันสบายกลุ่มเดียว เขาก็เอาเงินตราไทยไปประเทศเขาทุกปี เงินที่เขาขนออกปีละหลายพันล้านบาทอยู่แล้ว เฉพาะกำไรนะครับ สองพันล้านบาทขึ้นไปทุกปี ถ้าเราไม่ทำเขาก็จะขนไป มันมีทั้งดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ผมว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจระหว่างประเทศเลย การค้าก็เสียดุล ดุลการชำระเงินก็เพิ่มขึ้น ถ้าปล่อยให้บุหรี่ต่างประเทศขายฝ่ายเดียว 

“เราไม่ส่งเสริม แต่เราจำเป็นต้องทำ บางคนอาจจะบอกว่าถ้าอยากให้คนเลิกสูบบุหรี่ก็ควรปิดโรงงานไป แต่ถ้าเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราต้องยอมรับนะว่ามันไม่มีผลเลย คนก็จะยังสูบบุหรี่อยู่ดี คุณไปห้ามคนตั้งกี่ล้านคนไม่ให้เขาสูบ มันไม่ได้หรอกนะ เรื่องแบบนี้มันมีมาหลายพันปีแล้ว”

สูงสุดสู่สังคม 

“เรารู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ มันบั่นทอนชีวิต ทำให้เราเป็นโรคนู่นนี่ แต่องค์กรของเราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คนสูบบุหรี่ เราส่งเงินไปสนับสนุนให้ สสส.รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วยซ้ำไป 

ปีนึงไม่ต่ำกว่าแปดร้อยล้านบาท แต่ทุกคนที่สูบก็ยังเลิกไม่ได้ ยังสูบอยู่ เพราะฉะนั้นไหนๆ ก็จะสูบแล้ว เราก็อยากให้ช่วยมาสูบบุหรี่ของไทย 

“ใบยาเราใช้ระบบ GMP คือควบคุมคุณภาพ ไม่ให้ใช้สารที่มันเกินมาตรฐาน พวกให้ยาก่อนเก็บเกี่ยวไม่มี ไม่มีสารตกค้าง เราควบคุมไว้ ถ้าสูบบุหรี่ไทยผมว่าอาจจะปลอดภัยกว่าบุหรี่นอกด้วยซ้ำ เพราะเรามีชาวไร่เป็นของเราเอง ส่งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามภูมิภาคเข้าไปดูแล แล้วเราก็ประกันราคาให้เขา ชาวไร่ทุกคนก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรลูกเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโทสามสี่คน ทำยาสูบอย่างเดียวนะครับ

“ตอนนี้มีมติคณะรัฐมนตรีจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาว่า ห้ามเราทำ CSR โครงการดีๆ ของเราจึงลดลงไปเยอะ อย่างเราไปติดต่อทำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีมูลนิธิทำอยู่ เขาเอาพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเครื่องสูบน้ำทำให้เสร็จเลย ไม่กี่หมื่นหรอก มีปั๊มน้ำเสร็จ พอแดดออกก็สูบเลย คนมาใช้น้ำฟรีจากพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละไม่ถึงแสน แล้วก็เราจะทำทุกโรงเรียนเลย เรากะว่าจะทำแบบนั้น แต่น่าเสียดายที่ทำไม่ได้ 

“คนอาจจะมองว่ายาสูบจะไปโฆษณา บอกผมไม่โฆษณาหรอกเรื่องบุหรี่เนี่ย ยิ่งไปที่โรงเรียนนี่ยิ่งโฆษณาไม่ได้ มีแต่ป้ายว่าการสูบบุหรี่เป็นภัยต่อสุขภาพ ไม่มีผลดีต่อสุขภาพ อะไรทำนองนี้ เราทำป้ายไปให้โรงเรียนด้วย ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเราไปแจกจักรยานนักเรียนหรืออะไรแบบนี้ ไปปลูกป่าชายเลน รักษาสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ คืนธรรมชาติ แบบนี้ทำไม่ได้หมดเลย ช่วงนี้เราก็เลยเน้นการบริจาคไปก่อน จากนั้นค่อยคิดในลำดับต่อไปในอนาคตว่าเราจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง 

KnowHim

• สมชัย อภิวัฒนพร จบปริญญาตรี บัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท ศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการงานสาธารณะ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

• ก่อนที่จะมาเป็นประธานอำนวยการโรงงานยาสูบ เขาเคยผ่านการทำงานในหลายองค์มาแล้ว อาทิ ประธานกรรมการ โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต, ประธานกรรมการ องค์การสุรา กรมสรรพสามิต, รองประธานกรรมการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รวมทั้งยังเป็นผู้กรรมการตรวจสอบในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

สร้างตัวเองจากความขยันจนกลายเป็นเศรษฐี