เคะอิโก๊ะ อาคะโฮริ

เคะอิโก๊ะ อาคะโฮริ

จากที่เคยเป็นช่างทำผมในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กระทั่งบริษัทที่เธอทำงานอยู่ด้วยตอนนั้นได้ส่งเธอมายังประเทศไทย เนื่องจากที่นี่ไม่มีช่างประจำอยู่ก่อนเลย และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมาเปิดร้านซาลอนเป็นของตัวเองขึ้นภายใต้ชื่อ “Akru (อะคูรุ)” ที่มีอยู่ 3 สาขาในกรุงเทพฯ และนอกจากจะเป็นเจ้าของร้านคอยดูแลบริหารจัดการต่างๆ แล้ว เธอยังเป็นแฮร์สไตลิสต์ที่สร้างความพอใจให้กับลูกค้าได้ไม่น้อย

“ก่อนที่จะมีร้านทั้ง 3 สาขานี้ ดิฉันเคยเปิดร้านอยู่แถวชิดลมมาก่อน แต่ก็ปิดไปนานแล้ว เพราะเจอปัญหาหลายอย่าง จนเมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มปรับตัวได้ และมาเปิดสาขาแรกที่ ธนิยะ พลาซ่า จนกระทั่งตอนนี้ขยายเพิ่มอีก 2 สาขาที่อโศกและที่ตึกคิวเฮ้าส์ ลุมพินี ตอนนี้ลูกค้าเป็นคนญี่ปุ่นเกือบ 80% ค่ะ ลูกค้าคนไทยก็เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนลูกค้าฝรั่งก็มีเข้ามาบ้างเหมือนกัน”

เธอเริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของร้านนี้ให้ได้รู้จัก ด้วยระยะเวลากว่า 10 ปีที่เธออาศัยอยู่ในเมืองไทย การสื่อสารกับคนไทยของเธอดูจะทำได้ดีไม่น้อย ทุกประโยคภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่นที่ได้ฟังระหว่างสนทนา สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอออกมาจนรู้สึกได้ทันที

ถ้าการไปอาศัยยังต่างแดนเป็นเรื่องยาก การจะออกไปเปิดธุรกิจก็ยิ่งถือว่ายากกว่าเดิมหลายเท่า

เธอเล่าให้ฟังว่าปัญหาใหญ่ที่เจอก็คือ ทัศนคติและสไตล์การทำงานของคนแต่ละเชื้อชาตินั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเวลาอยู่ที่ร้าน เธอจะต้องยืนตลอดเวลา แต่พนักงานทุกคนกลับนั่งกันหมด ซึ่งในช่วงแรกที่เจอ เธอเองก็ดุพนักงานเพราะไม่เข้าใจ พนักงานบางคนพอเจอแบบนี้ก็ทนไม่ไหว จนลาออกไปก็มี จนเวลาผ่านไปจึงเริ่มเข้าใจถึงความแตกต่าง และต้องค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน

“เมื่อก่อนดิฉันดุพนักงานมากนะคะ แต่เดี๋ยวนี้ลดลงเยอะแล้ว (หัวเราะ) เริ่มเข้าใจแล้วว่าดุไปก็ไม่มีประโยชน์”

การเปิดใจและยอมรับทำให้ทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอยในแบบที่ควรจะเป็น เรื่องราวที่เคยเป็นปัญหา พอเวลาผ่านไปก็กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เรียกเสียงหัวเราะได้เท่านั้น และเมื่อพนักงานทุกคนพอใจ ความทุ่มเทก็พร้อมมอบให้กับสิ่งที่ทำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเรื่องการบริการให้กับลูกค้าที่เป็นจุดเด่นของร้าน Akru

“สิ่งที่ทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาใช้บริการสม่ำเสมอคงเป็นเรื่องการบริการมากกว่าค่ะ ถือเป็นนโยบายที่ดิฉันให้กับพนักงานทุกคนเลยว่าจะต้องทำให้ลูกค้ามีความสุขเวลามาใช้บริการ และได้รับความพอใจกลับออกไป ช่างแต่ละคนก็จะเน้นความใส่ใจในรายละเอียดควบคู่ไปกับการบริการที่ดี

“ลูกค้าอยากได้แบบไหนก็ต้องทำให้ได้ตามความต้องการ มันควรจะเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ว่าทำอะไรโดยเอาความพอใจของคนทำเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว”

ตลอดระยะเวลาที่เธออาศัยอยู่ประเทศไทย สิ่งที่ได้ซึมซับจากคนไทยซึ่งเธอบอกว่าหาไม่ค่อยได้ในตัวคนญี่ปุ่นก็คือ คนไทยชอบพูดชมพูดให้กำลังใจ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น เช่น วันไหนแต่งตัวสวย ก็จะชมกัน เธอเล่าด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ก่อนจะบอกว่าความสุขในทุกวันนี้ของเธอคือการได้ทำงานที่รัก ได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี อยู่กันเป็นครอบครัวแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้นั่นเอง  

เมื่อจังหวะชีวิตได้นำพาให้ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง