ถาวร โกอุดมวิทย์

ถาวร โกอุดมวิทย์

ศิลปินรุ่นใหญ่วัย 53 ปีบุคลิกดี มีรสนิยม พ่วงดีกรีศิลปินชั้นเยี่ยม เปี่ยมด้วยมนุษยสัมพันธ์ มั่นคงเด็ดเดี่ยวในท่วงที ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ผู้อุดมปัญญา ออกมาเปิดประตูอารยชนต้อนรับขับสู้ สู่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ย่านถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เยื้องหมู่บ้านเบลเลอวิว ตรงข้ามโรงพยาบาลธนบุรี 2 หลักกิโลเมตรที่ 10.5  สถาปัตยกรรม ดูกลมกลืน

กลิ่นกาแฟโชยตามลมหอมกรุ่น สวนหย่อมขนาดย่อม รับกับเก้าอี้ไม้และประติมากรรม ทำให้บรรยากาศโปร่งสบายตา ตัดกับความเป็นโมเดิร์นอาร์ต อบอุ่นนุ่มนวลจรรโลงจิต การสนทนากับศิลปินผู้ก้องนาม ล้วนลงลึกถึงแก่นกระพี้กับจินตนาการของเขาเมื่อเมียงมองเยี่ยงไรก็เสถียร เผยให้เห็นความคิดของศิลปินถึงการคลี่คลายรูปแบบเนื้อหาอย่างชัดเจน

เขาเริ่มให้ความสนใจกับพิธีกรรมเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีน นำเอาผลไม้ อาหารคาว หวานไปเซ่นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ประสบการณ์จากการร่วมพิธีกรรมดังกล่าว ค่อยๆ ซึมซับเข้าสู่จิตใจตั้งแต่เด็ก สู่การเจริญวัยกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความละเอียดรอบคอบ ด้วยวิธีคิดได้ถูกนำมาถ่ายทอดเชิงสัญลักษณ์ในผลงานศิลปะนานนับสิบปี ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติ ทั้งก้อนหิน กิ่งไผ่ กิ่งไม้ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องไม้ เครื่องมือทำมาหากินในอดีต มาผสมประสานเชื่อมโยงให้เป็นเอกภาพ ด้วยการจัดวางองค์ประกอบแบบง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน บนพื้นภาพสีขาวอันว่างเปล่าของผนังห้อง เป็นความงดงามตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนารากเหง้าศิลปะ ที่แตกหน่อมาจากศิลปะสาขาภาพพิมพ์ จนมาถึงการจัดองค์ประกอบรูปทรง การเล่นเส้น สี สอดคล้องกับวิถีชีวิต ถ่ายทอดเนื้อหา ทำให้รู้ซึ้งถึงความสุขุมเยือกเย็นของศิลปินที่แฝงอยู่ ดุจมังกรหนุ่มแห่งลุ่มเจ้าพระยา เราจะมาขอดเกร็ดวัฒนธรรมของเขาไปพร้อมๆ กัน

ความทรงจำกับทิวาวานอันงดงาม

“ผมเติบโตมาจากจากครอบครัวคนจีน คุณพ่อมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ คุณแม่เป็นคนจีนเกิดในแผ่นดินไทย เราเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้อง 6 คน ผมเป็นคนสุดท้อง คุณแม่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ ส่งเสริมให้ลูกๆ ทุกคนเรียนจบปริญญาเกือบทุกคน ผิดกับพ่อที่มีความเห็นขัดแย้งกับแม่บ้าง โดยเฉพาะครอบครัวคนจีนยุคก่อน การจะให้มาเรียนศิลปะถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระแก่นสาร ไม่สามารถประคับประคองชีวิตให้อยู่สุขสบายไปได้ แต่ด้วยความทันสมัยของแม่ๆ บอกว่าอยากเรียนก็เรียนไปเถอะ

“พี่น้องส่วนใหญ่จะเรียนทางด้านบัญชี การบริหาร เรียนทางด้านธุรกิจกันหมด จะมีผมคนเดียวที่ผ่าเหล่าเรียนทางด้านศิลปะ ด้วยความรู้สึกชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นคิดว่ามันไม่ใช่เหตุผลของการดำรงชีวิต อย่างมากเราก็ตัวคนเดียว ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จอย่างน้อยคงพอหาอะไรทำปะทังชีวิตไปได้ จึงบอกกับแม่ไปว่า ไม่เป็นไรหรอก แม่มีลูกๆ เยอะถ้าผิดหวังกับผมสักคนคงไม่เป็นไร พี่ๆ ทุกคนก็บอกผมว่าผมเป็นกาในฝูงหงส์ (หัวเราะ) ผมก็พูดอำกันเล่นๆ ตามปะสาพี่น้องว่า ตอนนี้เห็นหรือยังว่าผมเป็นหงส์ในฝูงกาแล้ว

“เริ่มแรกทีเดียวตอนนั้นยังไม่รู้จักสถาบันศิลปะใด นอกจากเพาะช่าง ซึ่งก่อนหน้านั้นผมเรียนที่ทวีธาภิเษก ครูที่สอนส่วนมากมาจากเพาะช่าง จึงแนะนำให้ไปสอบ เมื่อสอบเข้าได้อันดับต้นๆ พอไปศึกษาที่นั่น ก็สงสัยว่าทำไมเขาเรียนหนังสือน้อยจัง เพราะเราเรียนที่ทวีธาภิเษก เราเรียนเยอะมากพวก วิชาการต่างๆ ที่เพาะช่างจะไม่ค่อยได้เรียนเลย แสดงว่าเรามีภูมิเยอะกว่าเพื่อนๆ

“ผมเรียนอยู่ที่นั่น 3 ปี จึงมาสอบเข้าที่ศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ จะมีอาจารย์เป็นไอดอล ต้นแบบสมัยนั้นก็จะมี อาจารย์ปรีชา เถาทอง และอีกหลายๆ ท่าน ทำให้เรารู้ว่าคนที่จบมาจากศิลปากรมีเก่งๆ หลายคน ทำให้ช่วงนั้นผมมุ่งมั่นทุ่มเท ขยันมากขึ้น บางวันเรียนดรอว์อิ้ง ต้องอดกินข้าว เพราะเอาสตางค์ไปซื้อกระดาษหมด ต้องเขียนเยอะมาก ทำให้เรารู้สึกว่าวิชาการที่มีอยู่เมื่อ 30-40 ปีก่อน ทุกคนต้องดรอว์อิ้งและวาดรูปเก่ง มันอาจจะไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่ใช้กราฟิกคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยมากมาย เมื่อก่อนนั้นใช้ฝีมือล้วนๆ

“ผมค่อนข้างขยัน จะใส่ใจไม่ค่อยทำอะไรในวันสุดท้าย ซึ่งธรรมชาติของศิลปากรส่วนใหญ่ ถ้าส่งงานพรุ่งนี้ก็ต้องทำวันนี้ แต่ผมจะไม่มีธรรมชาติแบบนั้นเลย ผมจะเป็นคนเสร็จก่อน เวลาที่เหลือก็จะไปช่วยเพื่อน ช่วยพี่ๆ ซื้อกระดาษบรู๊ฟ ซื้อโอเลี้ยง ซึ่งเราคลุกคลีกับรุ่นพี่และอาจารย์ที่มีศักยภาพสูงมากๆ เช่น อาจารย์ อิทธิพล ตั้งโฉลก เราก็ช่วยจับกระดาษให้

“ผมไม่ดื่มเหล้า ผมเลยสามารถใช้เวลากับการทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลา 4-5 ชั่วโมงไปกับการดื่มเหล้า ผมทำงานศิลปะทุกวันจึงมีหน้าที่จัดส่งเพื่อนๆ เวลาเมา (หัวเราะ) ผมคิดว่าการมีวินัยทำให้ผมประสบผลสำเร็จ พอผมจบปริญญาตรีปั๊บก็ได้เป็นอาจารย์เลย ในขณะนั้น ก็เรียนต่อมหาบัณฑิตที่ศิลปากร เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โชคดีได้รับทุนจากมูลนิธิ Rockefeller 3rd ปีพ.ศ.2525 เพื่อไปศึกษาและดูงานที่สหรัฐอเมริกา อยู่ที่นั่นประมาณ 4-5 เดือน ตอนนั้นผมไม่ค่อยได้คำนึงถึงอนาคตว่าจะเป็นอะไรเท่าไหร่ในการที่เราเบนเข็มมาทำงานศิลปะ ผมเป็นคนที่ทำปัจจุบันทุกขณะให้ดีที่สุด จะใส่ใจในปัจจุบันให้มากที่สุด

“ผมคิดว่าศิลปินทุกคนต้องมีวินัย หลายคนคิดว่าศิลปินจะเป็นอะไรก็ได้ เราต้องแยกในส่วนของอารมณ์กับหน้าที่ เพราะฉะนั้นบางคนจะเอาแต่จูงกันไป แล้วดูเหมือนประหนึ่งเนื้อนาบุญเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่ ความรับผิดชอบของคุณ มีศิลปินหลายคนที่เก่งๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จก็มีมาก ด้วยเหตุผลว่าเป็นพวกเอาแต่อารมณ์ การนัดหมาย การรับผิดชอบต่อความรู้สึกคนอื่นจะไม่มี คนอื่นจะคิดอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับตัวเองคิดอะไร ซึ่งมันไม่ได้ เราต้องเข้าใจอกเขาอกเรา ความมีวินัยนี่จึงสำคัญ ศิลปินหลายคนมีฝีมือ มีผลงานดีๆ แต่ไม่มีชื่อเสียงก็เพราะเป็นคนไม่มีวินัย”

รันเวย์...สู่ทางช้างเผือก

“จากการศึกษาดูงานที่ต่างประเทศนั้น ผมได้รับประสบการณ์เยอะมาก จากสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็น ก็ได้เห็น ผมได้มีโอกาสไปดูงานเวิร์คช็อปดังๆ ของโลกอย่างที่เจนีวา ได้เข้าไปฝึกทำภาพพิมพ์ ที่นี่เป็นเวิร์คช็อปที่เก่าแก่ชื่อดังมาก โดยมีพี่กมล ทัศนาญชลีดูแลผมอย่างดีมาก ให้ที่พัก พาไปดูงานศิลปะตามที่ต่างๆ ผมคิดว่าท่านมีคุณูปการต่อวงการศิลปะ ด้วยการสนับสนุนศิลปินอีกหลายคน

“จากประสบการณ์อันนั้นมันทำให้เราเห็นถึงศิลปินต่างประเทศเขาก็ลำบากเหมือนกัน บางคนต้องไปทำงานทาสี บางคนต้องไปล้างจาน เพื่อนำเงินมาซื้อสี สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันทำให้เรารู้ว่า โอกาสของเรากับโอกาสของเขา มันก็ไม่แตกต่างกัน หลังจากกลับมาแล้ว เราก็เป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรงกับการทำงาน ผมอาจจะโชคดีที่ผมประสบผลสำเร็จในการแสดงงาน การประกวด มักจะได้รับรางวัลเยอะแยะมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมเมื่อปี พ.ศ.2537 ช่วงนั้นอายุน้อยที่สุด จนกระทั่งคุณอนุพงษ์ จันทร เพิ่งทำรายสถิติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมอายุน้อยที่สุดกว่าผม แต่มันก็ไม่ได้สำคัญอะไร ผมยังได้รับรางวัลประกวดศิลปะภาพพิมพ์ทั่วโลกที่ญี่ปุ่น อเมริกา นอร์เวย์ อังกฤษ ฯลฯ และได้รับเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยในแคนนาดา ที่แอตแมนตัน และเป็นผู้บรรยายพิเศษ โดยมีโปรเฟสเซอร์มหาวิทยาลัยดังๆหลายแห่งสนใจก็เชิญไปสอนที่นั่น แต่ผมมีความรู้สึกว่าไม่ชอบชีวิตความเป็นอยู่แบบนั้น ถ้าสมมติผมเลือกที่จะอยู่ต่างประเทศก็อาจจะสบายเพราะเงินเดือนสูงมาก

“หลังจากนั้น ผมก็กลับมาเพื่อมาแสดงผลงานทุกปี ผมมีคอนเน็กชั่นกับ 2 แกลเลอรี่ที่ญี่ปุ่น คือ อะป้าแกลเลอรี่ อยู่ที่นาโฮยาอีกอันอยู่ใกล้ๆ กับโตโยต้าซิตี้ จะแสดงปีเว้นปีกับทั้ง 2 แกลเลอรี่ที่นั่น ผมเคยร่วมแสดงกับศิลปินใหญ่ๆ ระดับโลกอีกหลายคนแล้วก็จะมีศิลปินจีน ที่รู้จักกันดีที่ชื่อไชโปชา เป็นคนออกแบบคบเพลิงไฟกีฬาโอลิมปิก ที่ผ่านมา คนนี้ก็ดังระดับโลก ซึ่งก็เติบโตมาพร้อมกันกับเรา ด้วยสภาพเศรษฐกิจและการสนับสนุนที่ดีกว่า เขาจึงไปไกลกว่าเราเยอะ

“ผมอยากเป็นศิลปิน อยากทำงาน โชคดีที่ครอบครัวไม่ได้ลำบาก คุณแม่ค่อนข้างมีฐานะ ท่านจะขายกาแฟแบบคนจีน ขายน้ำอัดลม ไอศกรีมบานานาขายดีมาก ได้ไอเดียมาจากประเทศสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่คิดเรื่องนี้ สมัยที่ผมเรียน เพื่อนๆ ที่ลำบากเราก็จะคอยเกื้อกูลหนุนกัน เมื่อเห็นความลำบากของเพื่อนบางคน มันทำให้เรามุมานะมากขึ้น เหมือนผมมาทำหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดลฯ พอก้าวมาถึงความสำเร็จในระดับหนึ่ง จากความเป็นศิลปินแล้ว และเราเองก็ไปเมืองนอกบ่อยๆ เราก็อยากเจอแกลเลอรี่ดีๆ แต่มีอยู่วันหนึ่งผมไปที่แกลเลอรี่แห่งหนึ่งในเมืองไทยนี่แหละ เราอยากแสดงที่เมืองไทย แต่เขาบอกว่าไม่รับแสดงงานของคนไทย เขาจะแสดงงานของศิลปินดังๆ ทั่วโลก

“สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ผมอยากมาสร้างแกลเลอรี่สำหรับศิลปินไทยและไม่ปฏิเสธศิลปินต่างประเทศ และวันหนึ่งเราก็ทำแกลเลอรี่ขึ้นมาอย่างที่เห็น หลายคนก็บอกว่าเราทำได้ดี ซึ่งผมคิดว่าวิทยาการจัดการ ถ้าเราประสบผลสำเร็จทางศิลปะแล้ว วิทยาการจัดการมันจะอยู่ในตัวคุณ คุณจะเป็นคนละเอียดแล้วมองข้ามช็อตอยู่ตลอดเวลา ผมจะเป็นคนดู เป็นผู้บริหารที่ดี ต้องทำให้ดี แต่เรามาประสบปัญหากับเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่ค่อยมีสามัญสำนึก เพราะเขาจะอินเทอร์แอคทีฟกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียว เขาจะไม่คิดอะไรที่ก้าวไปอีกสเต็ปเหมือนคนรุ่นผม

“โดยธรรมชาติแล้ว เด็กจะมีสไตล์การแต่งตัวอีกแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ฉะนั้นรูปแบบในการนำเสนอของศิลปินก็แตกต่างกัน งานศิลปินรุ่นเก่าค่อนข้างอิงอยู่กับบริบทด้านวัฒนธรรม เรื่องของศาสนา แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่คิดแบบนั้น อะไรที่เข้ามากระทบ เขาจะถ่ายทอดออกมาทันที อันนี้ก็ต้องฝึก แต่ความรับผิดชอบก็ถือว่าใช้ได้ บางคนถามว่าผมประสบผลสำเร็จในงานศิลปะแล้ว ทำไมต้องมาทำแกลเลอรี่ด้วย ผมคิดว่าสุดท้ายถ้าทุกคนคิดอยู่อย่างนั้น ไอ้สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ๆ มันจะไม่มี ผมทำแกลเลอรี่ขึ้นมา ทำให้ศิลปินอีกหลายร้อยคนได้มีโอกาสมากขึ้น

“ผมมีวิทยาการในการจัดการ เพราะผมรู้ว่าศิลปินต้องการอะไร ศิลปินบางคนเก็บเงินมาเป็นแสนๆ เพื่อมาแสดงผลงาน จากนั้นก็หายไปโดยไม่ได้อะไรเลย นอกจากความภาคภูมิใจ เหมือนคนที่เรียนดนตรีก็อยากแสดง ทำไมนักเขียนถึงไส้แห้ง ทั้งที่เขาเขียนหนังสือเก่ง เมื่อเราอ่านบทความเรื่องราวของเขาที่เข้าไปอยู่ในหนังสือ ความปีติมันจะมากกว่าที่เราจะได้รับเงิน

“ผมเป็นคนที่สนใจอะไรทุกด้าน ทั้งการถ่ายภาพ ทำทุกอย่างที่เราคิดว่าเราทำได้ เราก็จะทำ เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ผมมีชื่อเสียงเติบโตมาจากภาพพิมพ์ ในระยะหลังผมก็จะทำสื่อผสม เมื่อผมเป็นรองอธิการบดี ผมก็คิดโครงการผลิตสี สำหรับศิลปินตอนนี้ก็ใช้กันอยู่ทั่วประเทศ ตอนนั้นเราก็จะมาวาดรูปเพื่อให้มันรู้ว่าสีนั้นเป็นอย่างไร ก็ฟื้นฟูวิทยาการต่างๆ ที่เราเคยเขียนรูปสมัยเราเรียนมา ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่เคยเขียนมาหลายสิบปี ก็ทำให้เราได้ผลงานจิตรกรรมชุดใหญ่ๆ ชุดหนึ่ง โครงการผลิตสี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าบางทีความสามารถของเรามันยังประโยชน์เพื่อตัวเรา เมื่อมันเต็มแล้ว เราต้องจุนเจือ

“วิถีของศิลปะของเราไปได้อยู่แล้ว แต่ส่วนหนึ่งเรามาทำเพื่อสังคม เพื่อศิลปิน เราจะรู้สึกดีแล้วรู้สึกว่า เด็กใหม่ๆมีโอกาสเติบโตที่อาร์เดล เราสร้างศิลปินใหม่ๆ เยอะมาก การสร้างในที่นี้ ตัวศิลปินเองต้องมีความสามารถด้วย อย่าง อนุพงษ์ จันทร ที่เขียนภาพภิกษุสันดานกา ตอนนี้ก็โด่งดังมาก เมื่อก่อนก็ไม่มีใครสนใจที่จะแสดงงานของเขา เราเป็นคนแรก ที่เลือกเขามาแสดง และยังมีอีกหลายคนที่ไปโด่งดังยังต่างประเทศ”

มัชฌิมาปฏิปทา

“ที่ผมแตกต่างจากศิลปินบางคนเพราะผมชอบอ่านหนังสือ แต่ศิลปินบางคนไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะเขาอยู่ในวิธีคิดของความเป็นปัจเจก ทำให้มุมมองหรือวิธีคิดจำกัด แต่ผมจะอ่านหนังสือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับปรัชญา วิธีคิดเหล่านั้น มันช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น งานของผมส่วนมากจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ การใช้สัญลักษณ์ ซึ่งผมอาจจะเป็นคนแรกๆ ที่ไม่ยึดติดกับแบบหรือประเพณีนิยมของการสร้างงานศิลปะ อย่างกรณีที่ผมจะทำงานภาพพิมพ์ ผมจะไม่อยู่ในกระบวนการที่เป็นประเพณีนิยม ผมจะคิดขึ้นมาใหม่ ทั้งการใช้วัสดุ ผมจะไม่ค่อยชอบทำอะไรที่เหมือนใคร และผมชอบที่จะคิดอะไรใหม่ๆ เสมอ เพราะฉะนั้นงานของผมบางชุด ขายได้เยอะมาก ผมเองไม่ได้ยึดติดหรือตกหล่มมันอยู่ตรงนั้น ศิลปินบางคนทำอยู่อย่างเดียวชุดเก่าๆ เดิมๆ เพราะเขาขายได้ บางทีทำชุดใหม่แล้วขายไม่ได้ แต่ของผมบางทีทำชุดใหม่แล้วขายไม่ได้เลยก็มี เราก็ต้องทำต่อไป เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่เรื่องเงิน การขายได้ มันเป็นผลพลอยได้

“สำหรับคนที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะวาดรูปขาย บางครั้งส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เพราะเงื่อนไขถูกประนีประนอมด้วยอามิส บางช่วงแม้งานผมอาจจะขายไม่ได้เลย อันนี้มันอยู่ที่กลไก แต่ที่สุดแล้ว เราจะต้องแข็งแรงต่อความเชื่อมั่นของเรา ถ้าเราขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำแล้ว เรามัวแต่ประนีประนอมเพื่อให้ได้อามิสมา เราก็อาจจะล้มเหลว แต่ถ้างานขายได้เราก็ดีใจ แต่คิดว่าศิลปินส่วนใหญ่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแบบนั้น

“ผมเองก็ไม่ได้เป็นศิลปินจ๋ามากมายนักที่จะปฏิเสธทุกอย่าง ผมจะยึดหลักพุทธศาสนา มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง บางทีการที่เขาได้ค่าคอมมิชชั่นมา ก็ต้องทำตามใจคนอื่นบ้าง ถ้าได้เงินนั่นมา สามารถนำกลับมาหล่อเลี้ยงและสามารถสร้างงานชุดใหม่ได้ต่อไปอย่างอิสระ มันก็จะดีกว่าจะนอนแห้งตาย ด้วยปฏิภาณ ความหยิ่งทะนงของตัวเอง ซึ่งมันไม่ได้เกิดประโยชน์ มันต้องเข้าใจศิลปิน ศิลปินบางคนอาจจะไม่อยากขายงาน ทำได้ 5 ชิ้น จะหยิ่งยโสในความสามารถของตัวเอง ปล่อยให้ครอบครัวลำบากสุดท้ายศิลปะเลยเป็นเรื่องกระจอก

“อย่างผมเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ผมก็ไม่เคยจะไปโอ้อวดอะไร นอกจากเวลาให้สัมภาษณ์ ก็ต้องเขียนในประวัติ ผมว่าคนที่ยอดเยี่ยมกว่าผม ยังมีอีกเยอะแยะ เพียงแต่กรรมการเขาอาจจะไม่ชอบ เขาอาจจะชอบรสนิยมของเรามากกว่า เพราะฉะนั้น ศิลปินชั้นเยี่ยมบางคนที่ได้รางวัลนี้ไป ก็ไม่ได้รังสรรค์อะไรต่อสังคมบางคนที่ไม่ได้อีกเยอะแยะ แต่พวกเขายังมีคุณูปการต่อวงการศิลปะ ทุกอย่างมันเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น

“ผมจะเป็นคนสนุกสนานกับเพื่อนๆ กับแวดวงสื่อฯ มากกว่า ผมจะเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคน แต่ก่อนจะปฏิเสธ เวลามีใครมาขอสัมภาษณ์ อย่างหนังสือในแวดวงศิลปะ แต่เมื่อมาคิดว่าทุกคนล้วนมีหน้าที่ บางทีเราก็ต้องขอความร่วมมือกับเขาบ้าง ก็ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เราจะเอาอย่างเดียว

“ผมมองว่าประเด็นทางศิลปะมันเยอะแยะ แล้วประเด็นของผมมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่า นั่นคือเรื่องชาติพันธุ์ของเรา วัฒนธรรมของเราที่เข้ามาอยู่ในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ในการหลอมรวมของวัฒนธรรมธรรมไทยกับจีนซึ่งมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สามารถพุ่งตรงออกมาได้ มันไม่เหมือนทางสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งตรงนั้นมันเป็นความขัดแย้ง ผมสนใจเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ผมโชคดีอาจารย์ที่สอนผมค่อนข้างสมัยใหม่ อย่างอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ท่านจะเป็นคนหัวก้าวหน้า ท่านก็สนใจวิธีคิดของเรา

“งานศิลปะมันไม่ใช่เกิดจากทักษะเพียงอย่างเดียว บางทีมันต้องผสมผสานวิธีคิดหรือแนวความคิดด้วย ฉะนั้นคำว่าศิลปะตามแนวคิดของผม อย่างในสมัยเด็กๆ เราจะมุ่งมั่น เพราะศิลปะมันเป็นเรื่องสุดยอด เป็นสิ่งที่ต้องกราบไหว้บูชา แต่เมื่อเราโตขึ้น เราผ่านพ้นจุดนั้นไปแล้ว เราจะคิดอย่างไร เราจะใช้ชีวิตเราอย่างมีศิลปะได้อย่างไร ไม่ใช่ให้มันอยู่แค่ บนกระดาษ บนไม้ หรือบนโลหะ ที่เราเรียกมันว่าศิลปะ บางทีศิลปะมันเยอะแยะมากมาย ทั้งการนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การปฏิสัมพันธ์กับตนเอง ถ้าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ครบ ศิลปะมันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เหมือนเรามีธรรมะ แต่ศิลปะ มันเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจเบื้องต้น สำหรับมนุษย์ชาติ แล้วมันจะทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น เราเข้าใจธรรมชาติแล้ว หมายถึงเราเข้าใจธรรมะ เราอาจจะไม่ต้องมีศิลปะก็ได้ ศิลปะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง”

Life...Still Life

“ผมคิดว่ารูปหรือผลงานทางศิลปะมันเป็นเหมือนสสารอย่างหนึ่งที่อยู่บนโลกนี้ แต่สำหรับผลงานบางชิ้นที่มีประวัติศาสตร์หรือความเชื่อมโยง อย่างชุดที่ผมแสดงในวันคลื่นยักษ์ สึนามิถล่ม ที่ภูเก็ต ผมก็จะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานชม ประเด็นก็คือผลงานภาพทั้งหมดของผมจัดแสดงอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ก่อนที่ผมจะบินไปที่นั่น เพื่อนโทรมาบอกว่า สนามบินปิด น้ำท่วม มีคนเสียชีวิตนับพันคน ผลงานของผมลอยไปกับน้ำหมด ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้น้ำแห้ง จึงเก็บกลับมา ทุกวันนี้ยังเก็บไว้เลยอย่างน้อยมันเป็นชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์สำหรับชีวิตศิลปินคนหนึ่ง

“ผมอาจจะเกือบตายก็ได้ ถ้าผมไปเปิดนิทรรศการเร็วกว่านั้นอีกสัก 2 วัน เป็นผลงานนิทรรศการชื่อ Life…Still Life ประกอบด้วยผลงานประเภทภาพพิมพ์และสื่อผสม เพ้นท์ พวกตัวอ็อพเจ็กต์ต่างๆ ที่เป็นวัตถุ ที่จิตเราเข้าไปสัมผัสเรียกว่า จิตสัมผัสวัตถุอย่างงานชุด เพราะมีสิ่งนั้น จึงมีสิ่งนี้ เรามองว่าคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่ได้อยู่ที่ตัวผม มันอยู่ที่จิตของเราจะไปสัมผัสกับมัน บางคนอาจจะชอบรถ บางคนชอบซื้อต้นไม้ ฉะนั้นความเป็นปัจเจกของจิตแต่ละคน มันก็อยู่ที่ประสบการณ์ของคนนั้น ที่จิตของเราไปสัมผัสกับวัตถุใดให้มันมีความหมาย

“อย่างงานสื่อผสมบางชิ้น เป็นเครื่องมือทำขนมทองหยอด ฝอยทอง เครื่องทำขนมจีน เรารู้สึกว่ามันเป็นองค์ความรู้โบราณที่เขาคิดขึ้นมาได้ พอเราไปเห็นวัตถุเหล่านั้นแล้ว มันบอกได้ว่าเป็นเครื่องมือทำอะไร มันทำให้เราเกิดจินตนาการและคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น มันจะมีความหมายขึ้นมา ซึ่งวัสดุที่บางคนดูแล้วไร้ค่า เรากำลังหยิบมันขึ้นมาให้คนร่วมพิจารณากับมันว่ามันมีความหมายมีคุณค่านะ ทั้งในแง่ของผลทางอ้อมในการที่เราจะอนุรักษ์หรือการเกิดใหม่ ของบางอย่างมันน่าจะถูกเก็บเอาไว้ จากการที่เราเห็นของเก่า แทนที่เราจะทิ้งมันไป มันก็เป็นเหมือนภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้แต่ซี่เล็กๆ แหลมๆ ของตะปูที่ถูกทำมาเป็นเครื่องเกาะน้ำแข็งสำหรับใช้ใสน้ำแข็งเกล็ดเล็กๆ แล้วใช้น้ำหวานราด ซึ่งเคยทิ่มแทงบนฝ่าเท้าอ่อนๆ ของผมตอน 4 ขวบ ผมก็นำมันมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานศิลปะด้วย

“เมื่อผมเห็นสิ่งนี้ ผมจะรู้สึกกลัวทุกครั้งเวลาไปต่างจังหวัด ตอนที่ผมเหยียบมันลงไปที่ฝ่าเท้า จะมีแผลเป็นรูๆ เลือดออกเต็มไปหมด คุณแม่หาอะไรไม่ทันก็นำขนมปังปอนด์มาซับเลือด แน่นอนที่สุดมันกินได้มันย่อมสะอาด แม่บอก ท่านมีคอมมอนเซ็นส์ดีมากในเรื่องระบบการจัดการ ส่วนพ่อตั้งปรัชญาว่าจะเป็นคนสมถะ ซึ่งผมคิดว่ามันพอดีกันมาก ผมจึงได้สิ่งเหล่านั้นมาจากท่านทั้ง2 งานชิ้นนั้นจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ งานอันหนึ่งที่ผมเห็นแล้ว เรารู้สึกว่าจิตเราสัมผัสกับวัตถุอันนี้ได้ เพราะเรามีประสบการณ์ตรง”

อย่า/อยู่/อย่าง/อยาก

“ฉะนั้นคนที่อยากเข้ามาในสายอาชีพนี้หรืออยากจะเป็นศิลปินโดยเฉพาะเด็กปัจจุบัน ถ้ามาเรียนศิลปะเพื่อนำไปประกอบอาชีพจะยากแล้ว เพราะด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยอะไรต่ออะไรมีเงื่อนไขเยอะแยะ มันจึงค่อนข้างยาก เด็กที่มาเป็นผู้ช่วยที่หอศิลป์ฯ ที่นี่หลายคน เก่งๆ ทั้งนั้น เรียนระดับได้รับเกียรตินิยม โอกาสที่เขาจะเป็นศิลปินก็ยาก มันต้องมีความมุมานะ ที่สำคัญครอบครัวต้องช่วยเหลือเขาได้ด้วย ถ้ามาจากครอบครัวที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว การที่คุณเป็นศิลปินทำงานแล้วเมื่อไหร่จะขายรูปได้ ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ศิลปินที่มีชื่อเสียงยังเหนื่อยเลย ถ้าจะทำต้องทำด้วยความรัก แล้วหาอาชีพอื่นประกอบเช่นเป็นครูเป็นนักออกแบบ ถ้ามีเวลาว่างก็ทำงานศิลปะ ไม่อย่างนั้นมันจะอยู่ลำบาก มันต้องอาศัยความมุ่งมั่น

“เมื่อไม่นานมานี่ ผมได้คุยกับคุณธงชัย เจ้าของก๊อกน้ำซันวา เพื่อนที่เป็นนักสะสมงานศิลปะ ซึ่งเป็นคนที่สนับสนุนศิลปะ แล้วก็เป็นพาร์ตเนอร์กับผม เขาให้พื้นที่ผมย่านทองหล่อซอย 10 จำนวน 100 ตารางเมตร ถ้าจะเช่าเดือนละหลายแสน ปีละเป็นล้านเขาบอกว่าอาจารย์อยากจะเอาไปทำอะไร ก็ทำไปเลย ผมจึงทำหอศิลป์อาร์เดลเธิร์ดเพลส แกลเลอรี่ ขึ้นมา ผมจัดแสดงงานศิลปะ มีรายได้ก็แบ่งกัน เพื่อให้มันอยู่ได้ เขาบอกว่าขาดทุนก็ไม่เป็นไร ได้กำไรก็คืนมาสู่ศิลปะ

“ผมต้องการคนแบบนี้สัก 10 คนก็พอ ผมคิดว่าไม่นานในอนาคตก็จะเริ่มมี แทนที่คนมีเงินเยอะๆ จะไปซื้อรถ ซื้อนาฬิกาแพงๆซื้อคอนโดมีเนียมหรูๆ เพียงอย่างเดียวเขาน่าจะแบ่งมาให้ทางด้านศิลปะบ้าง มันไม่ใช่แค่คุณได้งานศิลปะดีๆ มันเป็นการทำบุญให้กับวัฒนธรรมของประเทศ หากคุณไปซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์หรือปาเต๊ะ เม็ดเงินมันก็ไหลออกไปข้างนอกหมด แต่ถ้าคุณซื้องานศิลปะไม่แน่วันหนึ่ง งานที่คุณซื้อไปแสนกว่าบาทหรือห้า-หกหมื่นบาท มันอาจจะเป็น 10 ล้านก็ได้ ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นมาเยอะแล้วอย่างศิลปินจีนเพื่อนผมที่เล่าให้ฟัง สมัยแรกที่แสดงงาน ไม่มีเงินจะเช่าโรงแรม ต้องไปอาศัยพักบ้านเพื่อนศิลปินด้วยกัน งานชิ้นหนึ่งราคาไม่กี่บาท เดี๋ยวนี้งานของเขาชิ้นหนึ่งราคาเป็นร้อยๆ ล้าน ผมเชื่อว่าบุญคุณที่คุณสะสมงาน มันจะกลับมาถึงคุณได้ แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีในปัจจุบัน เริ่มหันมาสะสม เก็บงานของศิลปินกันแล้ว เพราะเขาคิดว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้า งานมันอาจจะมีมูลค่ามหาศาล

“เมืองไทยคนมีสตางค์เยอะมาก บางคนมีหลายร้อย หลายพันล้าน อย่าไปเก็บไว้เลย เอามาซื้องานศิลปะดีๆสะสมดีกว่า คุณจะได้ทั้งความสุนทรีย บ่งบอกถึงรสนิยม แล้วก็ได้บุญด้วย สุดท้ายคุณได้สร้างวัฒนธรรมเพื่อให้ศิลปินได้มีแรง มีน้ำเลี้ยงต่อไป เมื่อมีการแบ่งปัน ผมเชื่อว่าคนหนึ่งชีวิตมันใช้ไม่เยอะหรอก จิตเท่านั้นที่จะเก็บมันเยอะ”

เมื่อฮอร์โมนหยั่งรู้ทางทัศนียภาพถูกสูบฉีด