นิธิ สถาปิตานนท์

นิธิ สถาปิตานนท์

อาคารอันทันสมัยสไตล์โมเดิร์นของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ตั้งอยู่ภายในซอยสุขุมวิท 26 ปกคลุมด้วยต้นไม้ ร่มรื่น อบอวลด้วยมวลศิลป์ ทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ ติดผนัง และประติมากรรมลอยตัว การเล่นระดับสถาปัตยกรรมแลดูเนียนนุ่ม การจัดแสงและการวางห้องหับลงตัว ดุจขุมกำลังคลังสมอง

อาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ คือหนุ่มใหญ่วัยเกษียณ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ปีพุทธศักราช2545 และเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทสถาปนิก 49 เมื่อเราได้ปฏิสัมพันธ์สนทนาในเชิงบวกกัน ท่านก็ได้ขยายถึงที่มาของคุณสมบัติเบื้องต้นของเหล่าสถาปนิกว่าจะต้องมีความอดทน มีจิตวิทยาสูง ใจกว้าง ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ มีมนุษย์สัมพันธ์กับการเข้าสังคม นอบน้อมถ่อมตน ผูกมิตรไม่คิดสร้างศัตรู พร้อมยกย่องสรรเสริญผู้อื่นให้เข้ากับยุคสมัยได้ นั่นคือสุดยอดของจุดมุ่งหมายแห่งความคิดของสถาปนิกร่วมสมัยเยี่ยงเขา

อาภรณ์ประดับชาติ

อาจารย์นิธิ พรรณนาจั่วหัว ถ่ายทอดอารมณ์เสมือนเป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อย หลังจากคุ้นเคยกัน

“งานของผมเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย จะแตกต่างจากอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร อาจารย์ฤทัย ใจจงรัก และอาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น พี่ทั้งสามท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สายสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี จะสร้างบ้านมีช่องลม มีช่อฟ้าใบระกา แต่ของผมเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ยกตัวอย่างเช่น ตึกมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ อยู่หน้ามหาวิทยาลัย ริมถนนพหลโยธิน รังสิต ตึกนี้มีคนพูดถึงกันเยอะ หรืออย่างตึกของ คิงเพาเวอร์ ก็เป็นไฮไลต์ของเรา เพราะใหญ่มาก มีทั้งโรงแรมออฟฟิศ ดิวตี้ฟรี

“ผลงานที่เด่นชัดอีกอันหนึ่งก็คือ อาคารที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ อันนี้ชนะเลิศการประกวดออกแบบ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อปี พ.ศ.2536 ตอนที่ออกแบบอาคารกระทรวงการต่างประเทศนั้น ต้องตั้งใจมาก เพราะว่ากระทรวงการต่างประเทศต้องรองรับแขกบ้านแขกเมืองระดับประเทศ ทั้งภายใน ภายนอก เราต้องคิดกันหนักเพื่อทำออกมาให้ประณีตสวยงาม งานใหญ่ๆ ระดับนี้ต้องช่วยกันทำงานหลายคน

“ผมเองมีความสนใจงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา ตอนที่ผมสอบเข้าจุฬาฯ ผมก็ปักหลักเข้าสถาปัตยกรรมเลยโดยเฉพาะชีวิตช่วงที่เรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้สอนอะไรผมเยอะมาก ไม่ใช่มุ่งแค่เรียนอย่างเดียว ที่นี่สอนเรื่องการปกครอง เด็กโตต้องปกครองเด็กเล็ก เด็กเล็กต้องเคารพเด็กโต เด็กโตต้องทำโทษเด็กเล็กได้ สมัยผมนั้นเฆี่ยนได้ ตีได้(หัวเราะ) คนที่จะลงโทษต้องมีการตัดสินใจที่ยุติธรรม นั่นคือระบบจึงจะทำให้นักเรียนส่วนใหญ่รู้เรื่องการปกครอง รู้จักเรื่องของจิตวิทยา เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของในหลวงรัชกาลที่ 6 อยู่แล้ว ที่ต้องการให้เด็กวชิราวุธฯ นั้นเป็นสุภาพบุรุษ แล้วพระองค์ก็ทรงวางรากฐานมุ่งเน้นการเรียนแบบโรงเรียนประจำ สอนให้เป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้การให้อภัย เพราะมันอยู่ในเกมหมดสิ่งที่ผมได้ติดตัวมาตลอดคือด้านการปกครอง จนกระทั่งผมได้มาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้เป็นหัวหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วก็มาทำงานด้านสังคม ผมจะสอนให้เด็กรู้จักการบริหารจัดการ เมื่อเริ่มจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ก็ต้องปกครองบริหารคนกว่า 300 ชีวิตโดยใช้หลักของวชิราวุธฯ ปกครอง จะลงโทษเขาต้องมีความยุติธรรม แล้วต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเขา การปกครองต้องอ่านจิตวิทยาเขาให้ออก เราถึงจะได้คนดีมีฝีมือมาอยู่ด้วยกันกับเรา”

พรสวรรค์ & พรแสวง

แรงบันดาลใจที่ทำให้ชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ มาจากอะไรนั้น อาจารย์นิธิเปรยให้ฟังพอเป็นน้ำจิ้ม

“ผมมองว่าตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นพวก Born to Be เหมือนอย่างอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผมรู้จักกับเขาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่วชิราวุธฯ ตอนเด็กๆ เขาชอบเขียนรูปมาก เขาเขียนได้สวยมาก จนส่งเข้าประกวดได้รับรางวัล กรรมการบางท่านเขาไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือของนักเรียนซึ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมเป็นคนเขียน เพราะเขาเขียนรูปสีน้ำมัน แต่ของผมไม่ใช่สไตล์แบบเขามากนัก จนกระทั่งได้มาเรียนสายอาร์ต แต่ความจริงมันชอบด้วยความเป็นตัวตนของเรา เพราะสมัยนั้นเวลามีงานที่โรงเรียน เราจะต้องทำฉาก เขียนฉาก ออกแบบเวที ผมจึงได้รับมอบหมายทุกครั้งที่มีงานของโรงเรียน หรืองานของคณะสถาปัตยกรรม ก็ต้องทำอย่างนี้อยู่ 4-5ปี ก่อนจะจบ มันจึงทำให้ผมชอบงานด้านนี้

“ตอนอยู่วชิราวุธฯ ผมได้เป็นนักเขียนและได้เป็นบรรณาธิการหนังสือของโรงเรียน แต่พอมาตั้งบริษัทสถาปนิกฯ ผมจึงมาตั้งบริษัททำหนังสือชื่อบริษัทลายเส้น พับบลิชชิ่ง จำกัด ผมชอบทำหนังสือและเป็นนักเขียนไปด้วย ปัจจุบันทำหนังสือชื่อ หนังสือ‘เยี่ยมบ้านศิลปิน’ และหนังสือในเครืออีกหลายเล่ม เช่น art4d

“พอเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเรียนถึง 5 ปี ชีวิตมันก็ถูกหล่อหลอมทำให้เราได้ฝึกฝนจนออกมาเป็นสถาปนิกที่ดีได้ คำว่าสถาปนิกนั้นคืออะไร ผมมาเข้าใจในตอนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยว่าเราชอบ หรือไม่ชอบ หรือชอบมันจนอยู่ในสายเลือด บางคนอาจจะไม่ชอบ เรียนมา 5 ปี แทบเอาตัวไม่รอดเลยก็มี เมื่อทำงานไปแล้ว มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากตัวเองไม่ชอบจริงๆ อย่างผลงานของศิลปินก็เหมือนกัน ถ้าศิลปินไม่ชอบเขียนภาพ มันทำไม่ได้หรอก กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาเป็นเดือน เงินก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า สถาปนิกทำงานโปรเจ็คท์หนึ่งใช้เวลา 3 ปี 5 ปี ถ้าเราไม่มีเลือดของสถาปนิกอยู่ในตัว เราก็จะเบื่อ กว่าเราจะทำเสร็จต้องไปอธิบายกับลูกค้า เขาจะให้เราแก้ไขอย่างไร เราก็ต้องเฮฮาสนุกสนานกับลูกค้า ก็ต้องแก้กันไป เหมือนกับที่ผมทำคิงเพาเวอร์ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์”

ดีเอ็นเอเข้มข้น ต้นตระกูลช่าง

อาจารย์นิธิสืบทอดสายเลือดเข้มข้นช่างสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่อดีตบรรพบุรุษ จึงมีความชำนิชำนาญด้านสถาปัตยกรรมมาถึงปัจจุบัน

“นามสกุล สถาปิตานนท์ เป็นนามสกุลพระราชทานมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ผม คือพระยาอุภัย ภาติเขตร์ สมัยนั้นคุณปู่ท่านไปเป็นนายอำเภออยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นายอำเภอเองก็ไม่ได้ใกล้ชิดในหลวงเท่าไร แต่ด้วยความที่คุณปู่ชอบทำบ้านทรงไทย ชอบทำพลับพลา เวลาในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปที่อำเภอสองพี่น้อง คุณปู่ท่านจะเป็นคนทำพลับพลาที่ประทับทำด้วยไม้ที่ไปหามาจากในป่า ซึ่งในหลวงท่านก็ประทับใจมาก จึงเรียกคุณปู่ผมมาพบ

“ตามจริงคุณปู่น่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรี แต่ท่านก็บอกไม่เอา อยากอยู่อำเภอสองพี่น้อง แล้วท่านก็ได้พระยา พร้อมนามสกุลพระราชทาน สถาปิตานนท์ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกันกับสถาปัตยกรรม นี่คือต้นตระกูล แต่ว่าครอบครัวผมตั้งแต่คุณปู่มาจนถึงคุณพ่อผมก็ไม่มีใครเป็นสถาปนิก จนกระทั่งมาถึงตัวผม จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมมักจะนำกล่องกระดาษมาทำเป็นบ้านเล่น เวลาปิดเทอม ทำได้ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม แสดงว่าเราเป็นสถาปนิกอยู่ในตัว จึงตัดสินใจเข้าสถาปัตยกรรมจุฬาฯ”

สถาปัตยกรรมกับการแสดงดูเหมือนจะแยกไม่ออกจากกัน ปัจจุบันนิสิตสถาปัตยกรรมที่จบออกมา อยู่แวดวงบันเทิง สร้างสรรค์ผลงานจนประสบผลสำเร็จมีหลากหลายรุ่น

“เพราะคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ เขาสนับสนุนกันมาจนเป็นประเพณี แล้วเด็กเองก็อยากทำกิจกรรมด้วย มันเริ่มต้นมาจากยุคผมตอนนั้นเราทำหนัง เราสร้างภาพยนตร์ของคณะสถาปัตยกรรม สร้างหนังเสร็จก็นำมาฉายเพื่อหาเงินสักก้อนหนึ่ง ฉายรอบ 6 โมงเช้าที่โรงหนังคิงส์, ควีน, แกรนด์ ในสมัยนั้น ฉายเพียงรอบเช้า แล้วเราก็ได้เงินมา 1-2 แสนบาทแค่นั้น

“จากการทำหนังในยุคก่อน ก็พัฒนามาสู่ละครเวที ในยุคหลัง เมื่อทำละคร ทำแล้วก็ต้องเล่นหลายรอบ เหตุผลที่เด็กยุคนี้หันมาทำละครพันธุ์ใหม่ เพราะเขาต้องการเงินเพื่อนำเอามาจัดกิจกรรม กิจกรรมออกค่ายบ้าง กิจกรรมกีฬาบ้างเพราะเงินกิจกรรมบางคณะมหาวิทยาลัยไม่มีเงินให้ ก็ต้องอาศัยจากเด็กที่ต้องมาหากันเอง ก็เลยทำละคร ซึ่งหาได้เป็นกอบเป็นกำ เล่นละครกันเป็นสิบๆ รอบ นั่นคือละคร ’ถาปัด บางคนจบออกไปแล้ว ก็วนเวียนมาเล่นให้ฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับแสง ผู้กำกับเสียง ผู้กำกับเวทีฝ่ายฉากต่างๆ มาทำให้ฟรีทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายจึงไม่มาก เดี๋ยวนี้เก็บเงินจากการเล่นละครที่คนเข้ามาชมได้เป็นล้านๆ บาท เพื่อที่จะนำเงินไปทำอะไรต่ออะไร ทั้งการนำไปสร้างโรงเรียน สร้างห้องสมุด ออกค่ายอาสาฯ ตามต่างจังหวัดของคณะสถาปัตยกรรม

“เพราะสถาปัตยกรรม โดยเนื้อแท้จะสอนเรื่องการออกแบบ คิดสร้างสรรค์งาน เมื่อออกแบบ แล้วต้องสร้างขึ้นมาให้เป็นจริงได้การสอนสถาปัตยกรรมจึงแตกต่างจากคณะอื่น คณะสถาปัตยกรรมเมื่อคิดแล้ว คุณต้องเขียนๆ แล้วต้องหาให้เจอ คุณต้องสามารถนำไปสร้างให้ได้ด้วย ฉะนั้นคุณต้องบริหารจัดการเป็น สร้างเป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งตรงนี้เด็กสถาปัตยกรรมจะเก่งทุกอย่างต้องออกแบบบ้านจริง ออกแบบแล้วสร้างได้ กระบวนการตรงนี้มันเป็นกระบวนการที่ยาวมาก”

ฟูมฟักคมความคิด

“เด็กสถาปัตย์ต้องเรียน 5 ปี ทุกปีจะทำโปรเจ็คท์ปีละ 6 โครงการ ทุกโปรเจ็คท์จะต้องบริหารจัดการได้ อย่างการคิดออกแบบแล้วเอาไปขายไอเดีย ขายไอเดียเสร็จปุ๊บ ก็ต้องออกไปเขียนแบบ เขียนแบบอย่างละเอียด จะต้องทำโมเดล ถึงจะนำไปสร้างได้จึงทำให้พวกเขามีความคล่องตัวมาก เมื่อพวกเขาจบออกไป บางทีไปเขียนบทภาพยนตร์ หรือไปกำกับเวที หรือไม่ก็ไปจัดรายการ ก็ต้องใช้ในเรื่องของความคิด คอนเส็ปต์ของรายการต่างๆ ก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะพิธีกร เด็กสถาปัตย์ต้องพูดทุกคนพูดขายความคิด ต้องพรีเซนต์กับอาจารย์ กว่าจะจบ 5 ปี ต้องทำอย่างน้อย 30 โปรเจ็คท์ ฉะนั้นทุกคนต้องพูดเป็น

“แต่บางคนก็ไม่ชอบพูดมาก ชอบดีไซน์อย่างเดียว หากพูดไม่เป็น พวกนี้ก็มักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เขาอาจจะคิดอะไรเก่งเรียนได้เกียรตินิยมมา แต่ขายความคิดไม่เป็น ก็ไม่สามารถแสดงให้คนอื่นเข้าใจได้ คนไม่สนใจเขา เขาก็จะเกิดความท้อแท้เลิกล้มไปก็มีเยอะมาก

“คุณปัญญา นิรันดร์กุล ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งที่จบจากสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ แล้วมาทำรายการโทรทัศน์รายการของเขาจะมีอะไรแปลกๆ โดยมีคุณประภาส ชลศรานนท์ รุ่นน้องคณะสถาปัตย์เข้ามาช่วยคิดในการสร้างสรรค์

“ผมสร้างสรรค์ผลงานไว้เยอะมาก จำแทบไม่ได้ เพราะผมให้ความสำคัญผลงานเท่าๆ กัน ก่อนหน้านั้นผมอยู่บริษัทอื่นมาก่อนผลงานในยุคนั้นมีอาคารที่น่าสนใจอยู่หลายอาคารที่ผมช่วยออกแบบ เช่น ตึกบริษัทบุญรอดฯ ตึกปูนซีเมนต์ไทย ตึก อสมท. ถ้าจะถามว่าภูมิใจตึกอะไรบ้าง อาชีพอย่างผม เมื่อทำเสร็จแล้ว เดี๋ยวก็คิดงานอันใหม่ออกมา แต่ของใหม่ต้องดีกว่าของเก่า ในขณะเดียวกันเราเป็นคนออกแบบ เราจึงรู้ว่าตึกของเรามันมีจุดอ่อนอะไร ไม่มีอาคารไหนที่สมบูรณ์แบบจริงๆ แม้กระทั่งบ้านของตัวเองก็ยังมีจุดบกพร่อง ที่เรารู้ แต่คนอื่นไม่รู้ ทุกคนมาดูบ้านผม บอกว่าสวยจัง แต่เรารู้ว่ามันมีจุดบอดอยู่หลายจุด เพราะเราไม่สามารถไปขัดเกลาทุกมุมในทุกจุดได้”

มรดกไทย มรดกชาติ

การใช้คำว่าร่วมสมัยมาประยุกต์งานศิลปะนั้นเกิดจากการเรียนต่อปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สหรัฐอเมริกา เมื่อจบออกมาแล้วจึงนำคำว่าร่วมสมัยมาใช้ในปัจจุบัน

“มันก็ไม่ใช่โดยตรง ถึงแม้ผมจะไปเรียนต่อเมืองนอก ผมก็ยังอยากทำอะไรที่ร่วมสมัย คนไทยต้องอยู่ได้อย่างสบาสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย เราต้องคำนึงถึงเรื่องภูมิอากาศ แสงแดด เรื่องลม ผมอยากสร้างให้มีบุคลิกที่มีศิลปวัฒนธรรมของคนชาติไทยแฝงอยู่ ไม่เน้นมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่เราใส่เข้าไปได้แค่ไหน

“อย่างตอนนี้ผมกำลังประกวดแบบสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ผมจึงทุ่มเทเวลาและความคิดเข้าไปว่ารัฐสภาแห่งใหม่นี้ เราอยากสร้างงานนี้เพื่อเป็นมรดกของชาติ ฝากให้เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจได้อีกสัก 100 หรือ 500 ปี ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าเขาจะเห็นด้วยกับเราไหม แต่เราก็ทุ่มสุดตัว อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และ อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น ก็ให้เกียรติเข้ามาอยู่ในทีมเดียวกันกับผม ร่วมกันทำ จึงออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่เข้าสวมกันได้

“จิตสำนึกของเราก็คืออยากให้มีความเป็นไทยเข้ามาสอดแทรกในอาคาร ถึงแม้จะเป็นอาคารใหญ่ 2-3 แสนตารางเมตร ก็เกิดความเป็นไทยได้ เมื่อดูแล้วบ่งบอกถึงการถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นไทยของศิลปินลงไปในงาน ผมเองก็ไม่ทราบว่าทีมไหนจะชนะการประกวด สถาปัตยกรรมที่สวยงามต้องสมดุลย์กับธรรมชาติ กับท้องฟ้าและพื้นดิน มองให้เห็น อ่านให้ออก ถ้ามีใครถามว่า ตึกนี้สวยไหม แล้วเราตอบว่าสวย แต่อีก 3 คนอาจจะบอกว่าไม่เห็นสวยเลย ความงามนี้ต้องมีความพอดี และเป็นความพึงพอใจของคนดู คนที่เสพในงานนั้นๆ ด้วย

“ก็เหมือนกับศิลปิน เมื่อมาสุดทางพอดี เราเขียนรูปๆ หนึ่งเอาสีสันสอดใส่เข้าไปจนเกิดความพอดี ก็จะเกิดความ สุนทรีย์ ความงามขึ้นมา เกิดความพอดีจากสภาพแวดล้อม เหมือนกับงานสถาปัตยกรรม เช่น เราอยู่บนเขา เมื่อเราสร้างบ้านขึ้นมาแล้ว บ้านจะเกาะอยู่บนเขา จะเข้ากันได้ไหมกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ไม่ทำลายเขาลูกนั้น ผมว่าอันนั้นแหละ งานจะออกมาดี หรือว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ มันจะผสมกลมกลืนกันกับที่ตรงนั้นได้พอดีกับวิถีชีวิต ก็จะเป็นงานที่ดีในหลายเรื่อง ทั้งสัดส่วน ทั้งสีสัน รายละเอียดต่างๆ ที่ใส่เข้าไปไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ให้มันเชื่อมกัน เราต้องทำโมเดลขึ้นมาดูว่าแค่นี้พอแล้ว อย่ามากกว่านี้ ถ้ามากกว่านี้จบเลย ตรงนี้คือประสบการณ์ที่ช่วยเราได้เยอะ

“ตอนนี้วงการสถาปนิกเริ่มไล่กันทัน เพราะโลกาภิวัฒน์ สถาปนิกบางคนเพิ่งเขียนแบบบนโต๊ะเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แป๊บเดียวแบบอันนี้ก็หลุดเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ทำให้เรารู้ว่าเขาทำอะไร คิดอะไรอยู่ สมัยก่อนบางทีเขียนแบบเกือบจะเสร็จแล้วถึงจะได้เห็นว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ การดีไซน์ออกมา หนังสือ นิตยสารตีพิมพ์แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก ก็เลยทำให้มีการศึกษาติดตามกันได้ใกล้ชิดและรวดเร็ว

“การเรียนการสอนเดี๋ยวนี้คนไทยก็ไปเรียนที่เมืองนอกกันเยอะ ส่วนมากเราจะได้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ที่จะต้องตามกันให้ทัน แต่ของจีนเขาจะซื้อเลย ของเขาจะจ้างสถาปนิกระดับโลกมาดีไซน์ตึกของเขา เช่น ตึกสนามกีฬาโอลิมปิก ที่เป็นรังนกก็เพื่อเป็นการเชื่อมโยง ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ ของเขาเรียนรู้ได้เร็วมาก เมื่อเขายอมลงทุนให้คนอื่นมาออกแบบให้ทำสเตเดียมเพื่อจะถ่ายทอดองค์ความรู้ นั่นคือข้อได้เปรียบของเขา

“หากจะเปรียบเทียบการเรียนที่เมืองไทยและเรียนที่เมืองนอก ผมมองว่าระบบการเรียนการสอนยังสู้เขาไม่ได้ วิธีสอนของเขาไม่ได้สอนแบบคนไทย ที่ส่วนหนึ่งสอนไม่ให้เด็กได้พูด สอนแบบครูสอน เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ ครูก็ออกข้อสอบตามที่ครูสอนทำให้เด็กไทยบางคนพูดไม่เป็น พรีเซนต์ไม่ได้ การพูดโต้เถียงกับอาจารย์ของเราไม่มีเลย แต่เด็กฝรั่งมันคนละสไตล์กัน เขาจะให้เด็กพูด ให้เด็กได้คิด ตรงนี้ของเรายังล้าหลังกว่าของเขามากในปัจจุบัน ระบบการศึกษาของบ้านเรายังไม่เปลี่ยนไปมากนัก ก็จะทำตามอาจารย์สั่ง ยังคิดโปรแกรมเองไม่เป็น อาจารย์ต้องสั่งให้ออกแบบอาคารหลังหนึ่งเป็นมิวเซียมนะ เด็กก็จะทำมิวเซียมกันหมด แต่ที่เมืองนอก อาจารย์เขาจะให้เด็กคิดเองว่าจะออกแบบอะไร เพื่ออะไร”

คาถา...สถาปนิก

“ถ้าจะถามว่าผลงานของผมแตกต่างจากสถาปนิกท่านอื่นอย่างไรนั้น มันก็พูดยาก มันต้องมีคนเข้าไปอยู่ เข้าไปใช้ ต้องดูสัดส่วนต่างๆ เวลาเราทำอะไร เราต้องตั้งใจ เพราะที่บริษัทผมมีสถาปนิกที่ออกแบบ 100 กว่าคน เมื่อเขาทำงานออกมาแล้วเขาจะทำจริงๆ จังๆ ทำโมเดลเป็นกองๆ เพื่อจะให้ได้งานออกมาดีที่สุด คล้ายๆ ของเรา แล้วมีทีมซัพพอร์ต เยอะแยะ ทั้งทีมวัสดุก่อสร้างอะไรต่างๆ เราไม่ได้ทำชุ่ยๆ หรือถ้าเกิดให้เรามาทำอะไรชุ่ยๆ ทำอะไรเพื่อเงิน เราไม่อยากทำ เงินก็ไม่ใช่ปัญหาหรือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา แต่เมื่อทุกคนทำแล้วต้องภูมิใจ เมื่อสร้างมาแล้วมีความสวยงาม

“ตอนนี้ผมมีบริษัทในต่างประเทศ เราต้องออกไปชนกับต่างประเทศที่ได้มาตรฐานสากล เราต้องชนกับเขาได้ เราต้องต่อสู้กับสถาปนิก อเมริกา สถาปนิกออสเตรีย เราต้องสู้ในระดับเดียวกัน แล้วเราก็มีโอกาสชนะ เราต้องพัฒนาตัวเอง สู้เขาให้ได้ เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เราจะออกแบบเป็นไทยไม่ได้

“ตลอดชีวิตที่ทำงาน ผมก็ไม่ได้มีเงินมากมายอะไรกับงานสถาปัตยกรรม แต่เราก็ต่อสู้มาโดยตลอด เวลาผมเล็คเชอร์ ผมจะบอกกับเด็กรุ่นหลังๆ ว่าอาชีพนี้ทำให้ตายก็ไม่มีทางร่ำรวย มันได้ค่าแบบ 1-2% ไหนยังจะมีค่าใช้จ่ายของคน แล้วก็ไม่ใช่ทำ 3 วันเสร็จ เก็บเงินได้ บางตึกทำ 5 ปีกว่าจะเสร็จ ผมจะต้องเอาคนไปประชุมเกือบทุกวัน แก้ปัญหาในไซต์งาน ท้ายที่สุดเมื่อปิดโปรเจ็คท์ ก็ต้องมานั่งคิดค่าใช้จ่ายเท่าไร ค่าคน ค่าของ ค่าเวลาที่เสียไป หักลบกลบหนี้กันแล้ว กำไรเหลือน้อยมาก แต่พออยู่ได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เอาคอมมิชั่นกับผู้รับเหมา สามารถตรวจสอบได้ ผมไม่เคยเรียกร้องอะไรกับเขาเลย ขอคุยอย่างตรงไปตรงมา ถ้าแบบเขาผิด ผมก็สั่งแก้ ผมไม่เคยขอเขาแบบลับลมคมใน ไม่เคยทำ แล้วก็ไม่คิดที่จะทำเพราะมันเป็นเรื่อง

บนเส้นสายสู่ปลายฝันเพื่อฟันฝ่าให้ถึงฝั่งของอาจารย์