ผศ.พ.อ.ชูชาติ พิทักษากร

ผศ.พ.อ.ชูชาติ พิทักษากร

อาจารย์ชูชาติ พิทักษากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปีพุทธศักราช 2553 ดุจบรมครูปูชนียบุคคลทางด้านดนตรีสากลคล้าสสิกของเมืองไทย ศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกศิษย์ลูกหาของท่านมีทั้งนักไวโอลิน วิโอล่า คอนดักเตอร์ นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน ครูดนตรี และอีกมากมาย ท่านปรารภให้ฟังเสมอว่า “วินัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักดนตรี แต่ที่สำคัญกว่าคือความรักในดนตรี เคล็ดลับของความสำเร็จจึงอยู่ที่ความรักในดนตรี”

เรามาเดินตามรอย ร้อยเรื่องราวของบรมครูท่านนี้ เพื่อค้นหาพจนานุกรมดนตรีคล้าสสิกไปพร้อมๆ กัน

แรงบันดาลใจจากไวโอลิน

อาจารย์ชูชาติ พิทักษากร บรรจงหยิบวิโอล่าออกจากกระเป๋าอย่างแผ่วเบา ตั้งท่า พริ้มตา สีวิโอล่าตัวโปรด เสียงใส เสนาะ เพราะจับจิตราวต้องมนต์

“ผมหันมารักและชอบเล่นดนตรีก็เพราะในวัยเด็ก ผมเป็นลูกชายคนเดียว คุณพ่อคุณแม่กลัวจะเหงา ต้องการให้มีเพื่อน จึงนำแมวมาให้เลี้ยง และให้เล่นดนตรี พออายุ 9 ขวบ คุณพ่อซึ่งจบการศึกษาจากอังกฤษ ท่านรับราชการทหารเรือ ทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือ รั้วติดกับกองดุริยางค์ทหารเรือ ท่านจึงเชิญคุณครูจากวงดุริยางค์ทหารเรือมาสอนผมที่บ้าน

“คุณพ่อบอกกับผมว่าเราเป็นคนไทย เวลาเรียนต้องรู้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล ตอนนั้นท่านจะหาคุณครูที่เก่งๆ ทั้งด้านดนตรีไทยและสากลมาสอนผม เรียนอย่างละ 1 ชั่วโมง อาทิตย์ละครั้ง ยังจำได้ว่าเรียนกับคุณครูยรรยง แดงพูล เป็นคนที่เก่งมาก ทั้งดนตรีไทยและสากล ตอนแรกท่านสอนผมเล่นซอด้วง ไม่นานท่านก็บอกว่าหากเล่นซอด้วงกับไวโอลินด้วย เดี๋ยวมันมาตีกัน เพราะช่วงนิ้วไม่เท่ากัน

“ผมก็จะเรียนแนวดนตรีไทย พวกเขมรพวง เขมรไทรโยค ลาวดวงเดือน เรียนแล้วสนุก ชักชอบ ผมก็เรียนควบคู่ไปกับเรียนหนังสือ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนวชิราวุธ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามายึดโรงเรียนเรา จึงต้องย้ายไปเรียนที่ บางปะอิน เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ใกล้ๆ กับพระราชวังบางปะอิน จากนั้นก็มาเข้าที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี ผมอยากจะเรียนดนตรีให้มันลึกซึ้งมากขึ้น อยากจะแต่งเพลง อายุประมาณ 13 ปี สมัยก่อนหาครูยากมาก ครูยรรยงท่านไม่ได้เป็นนักแต่งเพลง ท่านเป็นนักปฏิบัติ คุณพ่อจึงไปเลือกหนังสือภาษาอังกฤษมาให้ แล้วแปล อธิบายให้ฟัง ทั้งทฤษฏีดนตรี วิชาประสานเสียงและการแต่งเพลง การเรียนเปียโน เมื่อหาครูไม่ค่อยได้ ท่านจึงสั่งคอร์ดมาจากต่างประเทศ ผมก็เรียนทางไปรษณีย์ จนกระทั่งจบม.6 ระหว่างเรียนที่อำนวยศิลป์ มีอาจารย์วิทยาศาสตร์ ชื่ออาจารย์มงคล อมาตยกุล ตอนหลังท่านดังมาก ท่านเป็นหัวหน้าวงของวงดนตรีจุฬารัตน์ เป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่ดังมาก ท่านเล่นเปียโนเก่งมาก

“ต่อมาผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ ได้เจอเพื่อนที่เก่งๆ เช่น ดอกเตอร์สายสุรีย์ จุติกุล และอีกหลายๆ คน จึงรวมกันมาตั้งวงดนตรีประจำโรงเรียน เขาให้ผมเป็นหัวหน้าวง ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งแต่งเพลง แยกเพลง บางเพลงผมก็เล่นแมนดาริน เล่นเปียโน เล่นกีตาร์ เล่นหลายอย่าง ไม่เก่งสักอย่าง (หัวเราะ)

“ช่วงนั้นผมใช้เวลาว่างไปศึกษาภาษาขอม อ่านคาถาของขอมได้ เพราะสนิทสนมกับคุณย่า คุณย่าท่านก็ได้มาจากจากคุณปู่ซึ่งเคยเป็นพระธุดงค์มาก่อน จึงได้คัมภีร์มา ไม่มีใครอ่านได้นอกจากผม ผมมักจะชอบของโบราณ เช้าๆ ผมก็จะไปกวดวิชากัน แต่ผมกวดวิชาไวโอลินกับอาจารย์สุทิน เทศารักษ์ ท่านเป็นนักไวโอลินฝีมือเอก อาจารย์สุทินมีทุกอย่าง แต่ขาดอยู่อย่างเดียวคือโอกาส สมัยก่อนถึงแม้จะเก่งอย่างไร เมื่อไม่มีใครสนับสนุนก็ดังไม่ได้ แต่ท่านเป็นนักไวโอลินมหัศจรรย์ เพียงแค่โน้ตตัวเดียว เราฟังแล้วหูผึ่งเลย ทำไมมันเพราะอย่างนี้

“ก่อนท่านเสียชีวิต ผมไปกราบท่านทุกปี ท่านบอกว่าเราจะต้องออกคอนเสิร์ตกันอีกนะ ท่านให้ผมเป็นคอนดัคเตอร์ อาจารย์สุทินเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม ท่านมาเสียตอนอายุ 80 กว่า ทุกครั้งที่เราไปกราบท่าน ผมก็พาลูกศิษย์ของผมซึ่งเป็นหลานศิษย์ของท่าน ท่านก็จะบอกว่า ‘พวกเราต้องซ้อมนะ ดูอย่างครูสิ ครูยังซ้อมอยู่เลย’ พวกเราก็ถามว่า ‘ครูซ้อมวันละกี่ชั่วโมง’ ท่านตอบว่า ‘ครูซ้อมวันละ 3 ชั่วโมง’ ภรรยาท่านอยู่ด้วยท่านก็บอกว่า ‘อย่าไปเชื่อ เผลอๆ ตอนบ่ายซ้อมอีก 3 ชั่วโมง”

จุดหัก...หันมาบรรจบ

“นักดนตรีก็เหมือนกับนักมวย เมื่ออายุเยอะขึ้น การยืนระยะมันก็ไม่ไหว ยกต้นๆ ก็ยังไหว ต้องเลือกเพลงสั้นๆ พวกเราต้องวอร์มเครื่องก่อนเล่น แต่ระดับครูไม่ต้องวอร์ม จับปุ๊บ เล่นได้เลย เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก นักเพลงสมัยก่อนจะได้ยินเพลงของท่าน เพลงม่านไทรย้อย ที่ร้องว่า ‘ลืม ลืมหมดแล้วหรือไร...’ นั่นละเพลงที่ท่านแต่ง เช้าผมจะไปติวดนตรี ตอนเย็นก็กลับบ้าน พอไปสอบเข้าจุฬาฯ ไม่รู้เรื่องสักตัว ไม่ได้ดูหนังสือเลย อาจารย์สุทินเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม เล่นไวโอลินผมตัดสินใจเลยว่านี่คือเครื่องมือของเรา เมื่อสอบเข้าจุฬาฯ ไม่ได้ คุณพ่อจึงส่งไปเรียนเภสัชที่ประเทศอังกฤษ ผมก็ใช้เวลาว่างๆ ไปเรียนกับครูไวโอลิน ท่านก็ไม่ว่าอะไร

“วันแรกที่ผมไปอังกฤษ ผมไปหาที่โรงเรียนดนตรีก่อน สมัยนั้นจะเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษ เขาไม่ใช้วิธีเอนทรานซ์ เขาใช้สอบ GCE สอบเป็นวิชาๆ แล้วเอาไปเทียบ ผมไปเรียนด้วยทุนคุณพ่อก็จริง แต่ก็ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ดูแลนักเรียนไทย ดูความประพฤติ ผมเรียนเภสัชไม่ให้มันตก แต่ชอบไวโอลินมากกว่า ไปเรียนกับอาจารย์ท่านแรกที่อังกฤษ ชื่ออาจารย์เซน แอมเมอร์รี่ สอบเกรด 8 ได้คะแนนสูงสุด อาจารย์จึงบอกว่าเขามีแข่งไวโอลินกัน ระดับเยาวชนรุ่นเล็ก อายุไม่เกิน 18 ปี ผมอายุ 18 พอดี ไม่ได้คิดอะไร เมื่ออาจารย์ให้ไปแข่งก็ไป ปรากฏว่าแข่งได้ที่ 1 อีกปีหนึ่งต่อมา แข่งขันระดับเยาวชนรุ่นใหญ่ อายุไม่เกิน 25 ผมอายุ 19 ก็ได้ที่ 1 อีก คุณพ่อเลยยืนยันให้เรียนดนตรี แต่ต้องเรียนโดยได้รับปริญญา เพราะกลับมาไม่รู้จะทำอะไร รับราชการก็ไม่ได้ บ้านเราไม่ยอมรับเรื่องฝีมือ จะยอมรับเรื่องปริญญาเป็นหลัก

“ตอนนั้นจึงเป็นจุดหันเหของชีวิตผมอย่างมาก ผมโดนรายงานโดยผู้อำนวยการของอูลิส โพลีเทคนิค ที่ผมเรียนเภสัช อยู่ ท่านบอกว่าผมขาดเรียนบ่อย ท่านก็เรียกผมไปพบแล้วบอกว่า ‘ทำไมถึงเกเรอย่างนี้ หนีเรียนไปทำอะไร’ ผมบอกว่าหนีไปเล่นดนตรี ผู้อำนวยการก็บอกว่า ‘ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเป็นคอนดัคเตอร์และมีวงดนตรีสมัครเล่นเยาวชน เล่นตามโบสถ์ ไปทดสอบกับเขาสิ’ ผมจึงไปเล่น ได้นั่งอยู่แถวหลังสุด แสดงว่าฝีมือบ๊วยสุด แต่เข้าวงเขาได้ ผู้อำนวยการจึงบอกว่า ‘ไม่เป็นไรนะ คุณไม่ได้เกเร แต่ให้ทนให้พ้นปีนี้ไปก่อน แล้วค่อยลาออก จะได้ไม่เสียประวัติ’ ก็ถือว่าโชคดีมาก

“ผมได้ออกคอนเสิร์ตที่อังกฤษเยอะมาก ในฐานะเยาวชน ที่นี้ผมจะไปสมัครเรียนที่รอยัลคอลเลจพ็อพมิวสิค เป็นราชวิทยาลัยของอังกฤษ เผอิญมีอาจารย์ลี้ภัยคอมมิวนิสต์มาจากประเทศรัสเซีย มาอยู่ที่เบอร์ลิน อาจารย์คนนี้เป็นรัสเซียและเป็นยิวด้วย ก็เลยต้องลี้ภัยหนีฮิตเลอร์จากเยอรมันไปที่อิตาลี ท่านเป็นมือหนึ่งของโลกตอนนั้น อาจารย์ท่านนี้ชื่ออาจารย์ Maxim Jacobsen ท่านดังระเบิดอยู่ที่อิตาลี ตอนหลังมุโสลินีไปจับมือกับฮิตเลอร์ ท่านจึงหนีจากอิตาลีไปอยู่ที่โปรตุเกส

“ระหว่างที่อยู่ที่อิตาลี ท่านก็ได้รู้ความลับในการเล่นไวโอลินของ Paganini ศิลปินเอกซึ่งเป็นนักดนตรีไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เชื่อกันว่าท่านมีเคล็ดลับพิเศษ แต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน มันเป็นคล้ายๆ ลายแทงสมบัติ ท่านมีวิธีฝึกที่เร้นลับมาก 

ศาสตร์ของ Paganini “จิตบังคับกาย”

“ระหว่างที่อยู่โปรตุเกส ท่านก็มาตีความว่ารูปต่างๆ รูปดัดแปลงทำท่าประหลาดๆ ที่ Paganini ทำ มันคืออะไร เพราะตอนที่ท่านหนีไปโปรตุเกส ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติ นอกจากตำราที่ท่านเขียนขึ้นมาเองและของท่าน Paganini จึงนำไปตีความ Paganini บอกว่าซ้อมเงียบๆ อยู่ในห้อง แต่ออกมาเก่ง ไม่มีเสียงสักนิด นี่คือเคล็ดลับของ Paganini

“ในที่สุดท่านก็มาทำมาสเตอร์คลาส สอนพวกเก่งๆ ที่อังกฤษ คนที่ไปดูส่วนมากจะเป็นนักดนตรีที่เล่นเป็นอาชีพด้วย รวมทั้งพวกที่นั่งดูเฉยๆ ผมก็เข้าไปนั่งดูด้วย วิธีการสอนของท่านสุดยอด เหลือเชื่อจริงๆ ทำอย่างไรจะได้เรียนกับท่าน พอจบ ท่านก็บอกว่าต้องการลูกศิษย์ส่วนตัว 2 คนที่จะไปเรียนกับข้าพเจ้า แต่การเรียนกับข้าพเจ้าไม่มีกระดาษสักใบ มีแต่ฝีมือ และท่านเองก็อยู่ไม่เป็นที่ ท่านจะลุยไปสอนที่โน่นที่นี่ตามยุโรป จะต้องออดิชั่น ผมเห็นว่าไม่เป็นไรไปออดิชั่นก็ไม่ต้องเสียสตางค์ ก็ไปเล่น ส่วนมากจะเป็นเพลงระดับสูง

“อีก 2-3 วันเลขาท่านโทรศัพท์มาบอกว่าให้ผมไปพบ แล้วบอกว่าผมติดออดิชั่นจากในหลายสิบคน อาจารย์บอกว่า ผมเล่นไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นอีโก้ผมมาแล้ว จะลุกขึ้นกล่าวลา แต่อีกใจหนึ่งมาคิดว่าถ้าอย่างที่เราเล่นชนะเป็นแชมป์มาแล้วบอกว่าเราเล่นไม่เป็น แล้วสิ่งที่เล่นเป็นมันจะเป็นอย่างไร อีกใจมันบอกอย่างนี้ ผมอยากจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นช่วงวินาทีเดียวของการตัดสินใจ พอมันฮึดขึ้นมา จะเดินออก แต่เป็นความโชคดีของผม มันเกือบจะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ท่านจึงบอกให้ผมไปซื้อตั๋วเครื่องบิน บอกว่าอาทิตย์หน้าให้ไปแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน ผมเห็นท่านสอน ผมเชื่อแล้วว่าท่านเก่งจริงๆ (หัวเราะ)

“ตอนนั้นผมอยู่กับดนตรีวันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ตื่นจนถึงเวลาเข้านอน เรียกว่า 12 คาบ คาบหนึ่ง 45 นาที ภายใน 45 นาทีก็พักไปเรื่อยๆ สอนไปซ้อมไปทั้งวัน ส่วนที่โปรตุเกส วันหนึ่งอาจารย์ใจดีมาก บอกว่าเดี๋ยวจะให้ดูอะไรอย่างหนึ่ง ท่านควักของจากกระเป๋าเสื้อออกมาเป็นล็อกเก็ตเล็กๆ เปิดให้ดูปรากฏว่าเป็นเส้นผมของ Paganini ที่ได้ให้หลานไว้ แล้วหลานมอบให้กับท่านมา ผมยาวสีดำ ท่านพกติดตัวไว้ ผมได้เห็นกับตา มหัศจรรย์มาก แล้วท่านก็ค่อยๆ ถ่ายทอดวิชาของ Paganini ให้กับผม ผมอยู่กับท่าน 3 ปี ก็จะไปกับท่านตลอด ส่วนมากจะเล่นโซโล่ จะสอนแนวเดี่ยว ในที่สุดหลัง 3 ปีแล้วท่านก็บอกว่าผมผ่านแล้ว ให้ผมไปหาประสบการณ์แนวใหม่

“สิ่งที่ผมได้จากท่านอาจารย์ก็คือเทคนิคการเล่นที่แพรวพราวมาก มีวิธีการซ้อมที่ลึกซึ้งมาก วิธีการซ้อมใช้จิตบังคับกาย ไม่อย่างนั้นเราจะซ้อมอย่างสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราเคยคิดว่าทำไม่ได้ แต่เราทำได้ บางทีนิ้วไม่คล่องไม่ต้องไปซ้อมกับไวโอลิน ให้ไปซ้อมอย่างอื่น ซ้อมกับยิมนาสติก ปีแรกที่ผมได้ชนะเลิศไวโอลินรุ่นเด็ก คนที่ชนะเลิศเขาจะต้องแสดงต่อหน้าประชาชน ที่กรีนนิคทาวน์ วันแสดง มองลงไปจากเวที เห็นอาจารย์เซนต์เอ็มเมอรี่ กำลังคุยถึงผม ผมคิดเองนะ(หัวเราะ) ท่านก็หน้าบาน ข้างๆ ท่านก็เป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น

“ตอนที่ผมเล่นโชว์ ผมขาสั่น มันทำให้ความสามารถเราลดลงประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นก็เล่นพริ้ว เพราะเราซ้อมเยอะ และใช้ตำราฝึกโยคะด้วยตนเอง ฝึกอยู่เรื่อยๆ ถึง 7 ปีใช้กรรมวิธีของโยคะ ควบคุมความนิ่ง ทำให้ผมมีกำลังใจ และได้ไปเรียนจริงๆ กับอาจารย์ที่ โยคะ เซ็นเตอร์ ออฟ ลอนดอน อาจารย์ท่านนั้นอายุมากแล้ว เมื่อผมพบกับท่าน ท่านบอกกับผมว่า ‘ผมคอยคุณอยู่ เริ่มเดี๋ยวนี้เลย’ ผมขนลุกเลย พวกโยคี เขาฝึกอย่างนี้มามาก อาจารย์ท่านนั้นอ่านจิตใจผมออกหมด ผมบอกทางบ้านว่าผมขอหาประสบการณ์ดนตรีอีก 1 ปี แต่ผมก็มาเรียนโยคะตอนกลางวัน กลางคืนก็ไปเล่นตามวงดนตรีต่างๆ หาประสบการณ์ ”

มวยเสริมสมาธิ เพิ่มพลังทางดนตรี

“พอกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ผมมาเริ่มเรียนมวยจีนพลังชี่กงและมวยไทยเลิศฤทธิ์ เป็นมวยที่ใช้สมาธิเป็นใหญ่ และเป็นมวยที่แรงน่ากลัวที่สุด คนที่จะเรียนได้ต้องรู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง ที่ชื่อเลิศฤทธิ์เพราะอาจารย์ใหญ่เจ้าสำนักชื่อว่าอาจารย์วิศิษย์ เลิศฤทธิ์ อยู่ใกล้ๆ วัดเครือวัลย์ ฝั่งธนบุรี เปิดเป็นห้องแถวเล็กๆ 3 ห้อง ผมเรียนอยู่หลายปี ตอนนั้นผมรับราชการอยู่ทหารบก ท่านอาจารย์มีพลังมหัศจรรย์ ตอนนั้นผมเลิกเล่นดนตรีไวโอลินไป 10 ปี เพราะมาอยู่ทหารบก จึงหยุดเล่น

“ผมได้อะไรจากตรงนี้เยอะมาก ในด้านสมาธิ เป็นการสอนปรัชญาขั้นสูง ท่านจะอ่านใจเราว่านิ่งหรือยัง ถ้านิ่ง ท่านก็จะสอนต่อ สู้เพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติของคนที่เรารัก โดยตัวเราหรือประเทศชาติไม่ออกไปทะเลาะวิวาท จะไม่คุยว่าเราเรียนมา สมัยที่ผมฝึก แต่ตอนนี้ผมพูดได้ เพราะผมเลิกฝึกมา 40 ปีแล้ว

“ระหว่างรับราชการที่กองดุริยางค์ทหารบก ผมอยากจะเผยแพร่ดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีคล้าสสิก จึงได้เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรี ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ชื่อรายการ ‘ดนตรีวิจารณ์’ เป็นเวลาถึง 10 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาสังคีตนิยมเท่าไรนัก ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไร จะใช้ตัวอย่างจริงๆ ว่าวิโอล่าเป็นอย่างนี้ แล้วให้เห็นของจริง ผมก็นำเอาวิโอล่ามาเล่น นำเอาไวโอลินมาเล่น แล้วบอกว่าเสียงเป็นอย่างนี้นะ นี่ทรัมเป็ต แล้วเมื่อไวโอลินกับทรัมเป็ตมาผสมกันจะเป็นอย่างไร

“นี่จึงเรียกว่าดนตรีวิจารณ์ เล่นแต่เพลงง่ายๆ แล้วไม่มีประสานเสียง มันเป็นอย่างไร แล้วเสียงประสานมันเป็นอย่างไร ผมมีวงดนตรีทั้งวง ผมเล่นเปียโนพร้อมอธิบายไปว่านี่คือทำนองเพลง แล้วใส่คอร์ดลงไป เป็นเสียงประสาน เมื่อฟังแล้วอาจจะทื่อๆ ไปหน่อย จึงใส่อะไรไปหน่อย เรียกว่าลูกเล่น แต่งดนตรีให้ดูกันสดๆ ตอนนั้น มีผู้ชมเขียนจดหมายมาถามว่าการแต่งเพลงเป็นอย่างไร ผมบอกว่า การแต่งเพลงร้อง มีอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง เราเขียนทำนองเพลงก่อนให้จบ แล้วหาคนมาใส่เนื้อร้องให้ สอง เขามีเนื้อร้องมาก่อน แล้วเราใส่ทำนอง นำมาใส่คอร์ด จากนั้นก็ใส่เสียงประสาน แล้วก็แยกให้วง ผมจึงทำให้ดู ตอนนั้นมีนักประพันธ์เพลงนักประพันธ์เนื้อที่เก่งมาก ชื่อเล่นท่านชื่อ พรพิรุธ เป็นผู้หญิง เป็นพยาบาล เขียนเนื้อให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เขียนโน้ตเสร็จ รู้เสียงทันที แล้วผมก็ทำให้ดูในรายการดนตรีวิจารณ์ ผมเขียนเมโลดี้เดี๋ยวนั้นเลย แล้วไม่ได้นัดกับพรพิรุธ ด้วย

“ขณะที่ผมเขียน พรพิรุธก็เริ่มใส่เนื้อ พอเขียนเนื้อเสร็จ ผมก็ใส่คอร์ด พรพิรุธก็ช่วยร้อง ผู้ชมก็ฮือฮา แต่หลายๆ คนไม่เชื่อ หาว่าผมเตรียมกันมา ตอนนั้นผมทำวง ‘พิทักษาสากร’ นำพวกลูกศิษย์ลูกหา น้องๆ ที่กองทัพบก และเพื่อนๆ จากกรมศิลปากร มาร่วมกันเล่น ผมมาลาออกจากกองทัพบกตอนปี พ.ศ.2519 ผมได้ยศเต็มเป็นพันเอกพิเศษ ผมมาเป็นอาจารย์พิเศษ ที่จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 และเป็นศิลปินอิสระ จนกระทั่งผมได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ในฐานะผู้เรียบเรียงเสียงประสานยอดเยี่ยม”

บรมครูดนตรีคล้าสสิก

“ที่ผมลาออกจากทหารบก เพราะผมอยากทดสอบตัวเองเพราะวิชาไวโอลิน วิชาวิโอล่า วิชาการประสานเสียงต่างๆ ผมรู้ว่าได้เกรด 2 ผมแย่มาก ตอนอยู่อังกฤษ ผมออกข้อสอบเอง ตรวจเอง ตัดสินเอง รู้สึกว่าเราแย่ โดยเฉพาะไวโอลิน เลิกเล่นมา 10 ปี วิชานี้สอบตก แต่ตอนอยู่ทหาร เมื่อออกมาแล้วฝีมือผมก็แย่ ท่านอาจารย์ Maxim ก็เพิ่งสิ้นชีวิตไป ตอนนั้นมีอาจารย์ที่ดังมากมาจากฮังการี เป็นผู้หญิง ชื่อ ค็อตโต้ ฮาวาล์ช ผมจึงกลับไปฝึกฝนกับท่านที่ประเทศอังกฤษ เพราะรู้ว่าเราเคยสอบตก ตอนนั้นผมมาอยู่ที่จุฬาฯ แล้วก็เลยตัดสินใจกลับไปอังกฤษ 2 เดือน เรียนอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง เรียนดนตรีขั้นสูงมาก เรียนเสร็จแล้ว อาจารย์ค็อตโต้ ฮาวาล์ช ท่านกระซิบกับผมว่า ‘คุณกลับไปเมืองไทยแล้ว ให้กลับมาที่นี่อีก’ เป็นนัยว่า ฝีมือขนาดนี้อยู่ยุโรปดีกว่า ไปทำงานกับท่าน แล้วท่านเขียนหนังสือมาให้ผมด้วย บอกว่า ‘หวังว่าจะได้ร่วมทำงานกับคุณ’ ศิลปินของทางยุโรปเฉพาะการออกคอนเสิร์ตได้ค่าตอบแทนสูงมาก เขาทำอย่างเดียวได้เลย สมมุติว่าโซโล่ไวโอลิน เดือนหนึ่ง ประมาณ 20 คอนเสิร์ต เขาจะได้ในเรื่องของรายได้และความถี่ของการออกคอนเสิร์ต แต่ที่ประเทศไทย ผมโซโล่ปีหนึ่งประมาณ 3 ครั้ง

“ทุกวันนี้ผมมีหน้าที่เป็นศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน้าที่จัดการบริหารงานวงซิมโฟนี ออร์เคสตราของจุฬาฯ คำว่าซิมโฟนีของจุฬาฯ มันจะแตกลูกแตกหลานออกไปเยอะ จากซิมโฟนีที่เป็นวงใหญ่ มันจะกลายเป็นวงเล็กๆ เช่นกลุ่ม คลาริเนต กลุ่มของฟลุต กลุ่มของแซ็กโซโฟน เพอร์คัสชั่น วิโอล่า ฯลฯ แตกไปมากกว่านี้อีก อันนี้อยู่ในการดูแลและบริหารงานของผมทั้งสิ้น วงต่างๆ เหล่านี้ เดือนหนึ่งจะมี 2-3 งาน ผมจะทำเป็นมาตรฐาน และด้านวิชาการด้วย โดยสอนวิโอล่า ไม่ได้สอนไวโอลิน ผมสอนวิโอล่าที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เทอมที่แล้วสอนที่มหาวิยาลัยมหิดล ศาลายา และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“คนทั่วๆ ไปจะไม่คุ้นกับวิโอล่า แต่จะคุ้นกับไวโอลิน แต่อยากให้ลองเล่นวิโอล่าดู เสียงมันเพราะมาก เสียงมันเพราะ แบบสุดชีวิตเลย เพราะฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะโพรโหมตวิโอล่าได้ ผมจึงรวบรวมลูกศิษย์ เพื่อนของลูกศิษย์ และอาจารย์อีกหลายท่าน รวมวงได้ 24 คน ผมเล่นอีกคนเป็น 25 คน ต้องมีดับเบิลเบส มีกลอง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะเล่นเพลงอะไร ผมก็บอกว่า อะไรที่ขวางหน้า เล่นหมด จะเพลงคล้าสสิกหรือไม่คล้าสสิก สามารถเล่นได้หมด เพราะว่าชีวิตผม ผมตั้งต้นชีวิตผมไม่ได้จาก หอคอยงาช้าง ผมตั้งต้นชีวิตผมมาจากนักเชียร์รำวง

“ผมอยากจะฝากไว้ว่า ครูกับศิลปินนั้นแตกต่างกัน ถ้าศิลปินเฉยๆ จะเล่นจะร้องอยู่บนเวที แล้วซ้อมจนดี เอาตัวรอดคนเดียว ถ้าจะสอน ก็จะร้องให้ฟัง แล้วทำตาม แต่ถ้าเป็นครู หน้าที่แรกของครู ต้องวิเคราะห์เป็น มีวิธีการสอน โดยวิเคราะห์ว่า ลูกศิษย์คนนี้สรีระเขาเป็นอย่างไร ลูกศิษย์ผมมีคนสูงมาก จนตัวเตี้ยกว่าผม มีคนอ้วนและคนผอม การสอนคนที่สูงกับคนที่เตี้ย คือหนึ่ง จะมีวิธีจับคอร์ดที่เหมือนกันไม่ได้ เขาจะไม่ถนัด สอง จิตใจเขาเป็นอย่างไร คนนี้ชอบเพลงที่โหดๆ เฟี้ยวฟ้าว อีกคนชอบเพลงหวานๆ เราจะมีหลักฝึก ที่จะไปสอนคนทั้ง 2 คน เราต้องรู้หลักสรีระ เข้าใจจิตใจ ความรู้สึกของเขา

“หน้าที่ของครูก็คือวิเคราะห์ การเป็นครูก็เหมือนการตัดเสื้อให้ลูกค้าใส่ ตัดตามที่เขาต้องการ เพื่อให้เขาใส่สบาย ไม่ใช่ตัดคนหนึ่งก็คับไป คนหนึ่งก็หลวมโครก อย่ามีสูทเดียว ต้องมีทุกสูท และมีการปรับการสอนให้เข้ากับลูกศิษย์ พูดง่ายๆ ถ้าเราสอนลูกศิษย์ ต้องเอาลูกศิษย์เป็นศูนย์กลาง แล้วการสร้างสไตล์ก็ไม่ใช่เอาลูกศิษย์มาฟิตกับกรรมวิธีของเรา

“สำหรับครู ถ้าไม่ระวัง ฝีมือเราจะตก สอนลูกเดียว แล้วไม่ได้ซ้อม เราก็ช่วยเขา แต่เราจะแย่ ถ้าเป็นครู อยากฝากไว้ว่าถึงเป็นครูก็ยังต้องพร้อม ต้องพัฒนา แม้แต่ครูเอง ยังต้องซ้อมเลย ผมสอนก็ต้องสอนให้ดีที่สุด ผมคิดว่า ถ้าเราเป็นครูที่ดี ก็ต้องสอนให้ลูกศิษย์เก่งกว่าเรา ถ้าลูกศิษย์เก่งไม่เท่าเรา เราก็ยังไม่สำเร็จ ความสำเร็จคือลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าเรา เท่านี้โลกมันถึงจะเจริญ

“เวลาที่ผมทำงาน ผมไม่ได้คิดอะไร หลังจากที่ผมได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ มีคนถามผมว่าผมต้องมีความพยายามมากไหม กว่าจะทำอะไรได้ ผมขยันไหม ผมบอกว่าผมเป็นคนที่มีความพยายามน้อย ผมค่อนข้างขี้เกียจซ้อม ผมชอบอ่านมากกว่า แต่ใจหนึ่งก็กลัว กลัวว่าเราจะดีไม่พอ ผมจึงซ้อมหนักกว่าเก่า ทำงานหนักกว่าเก่าอีก ผมอายุ 77 ปีแล้ว ก็ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผมทำสำเร็จขึ้นมาได้ ผมมีอยู่ตัวเดียวที่ทำให้สำเร็จก็คือ ผมตั้งต้นด้วยรัก ถ้ารักแล้วมันสำเร็จเลย รักแล้วไม่ต้องมีความพยายาม มันหาหนทางมันจนได้ พอรักแล้วเห็นวิโอล่าวางอยู่ อยากซ้อมจัง คนที่ไม่รัก เมื่อเห็นวิโอล่าวางอยู่ จะอุทานว่าพรุ่งนี้ต้องมาเรียน ต้องซ้อมอีกแล้ว อย่างนี้คุณก็จะไม่สำเร็จ คุณต้องใช้ความพยายาม แต่ผมถ้าไม่ได้เล่น มันกลุ้มใจ อันนั้นล่ะที่เรียกว่ารัก ผมมีเคล็ดลับอยู่ 3 อย่างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จก็คือ “รัก รัก และรัก”

ความยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอกชูชาติ พิทักษากร เกิดวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2477 เริ่มเรียนดนตรีทั้งไทยและสากล ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จบการศึกษาชั้นสามัญจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรีและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ท่านเดินทางไปศึกษาต่อด้านดนตรี ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร รวมทั้งเยอรมันและโปรตุเกสเป็นเวลา 8 ปี ในช่วง พ.ศ.2499-2507 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดไวโอลินที่กรุงลอนดอนถึง 2 ครั้ง ได้รับคัดเลือกเป็นหัวหน้าวงของลอนดอนคอลเลจออฟมิวสิค และแอดดิสันสตริงออร์เคสตรา เป็นผู้อำนวยเพลงของนอร์ธเคนซิงตันซิมโพนีออร์เคสตรา ได้รับปริญญาจาก Royal School of music (London) และ London College of Music ตามลำดับ ต่อมาได้ศึกษาดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลงสำหรับภาพยนตร์ที่ฟิลิปปินส์

เมื่อกลับถึงประเทศไทย ได้เข้ารับราชการที่กองดุริยางค์ทหารบกระยะหนึ่ง ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาดนตรีศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างที่รับราชการได้รับเชิญเป็นผู้อำนวยการเพลง ให้กับวงดนตรีต่างประเทศอีกหลายวง และได้รับการประดับเหรียญซิลเวอร์ครอสออฟเมอร์ริต จากประธานาธิบดี ฟรานซ์ โจนาส แห่งออสเตรีย เกียรติยศอันสูงยิ่งคือการรับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำในฐานะผู้เรียบเรียงเสียงประสานและหัวหน้าวง

หลังเกษียณอายุราชการ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่ง เป็นผู้อำนวยการดนตรีของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ อีกทั้งท่านยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์พิเศษและผู้อำนวยเพลงรับเชิญในสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ ท่านมีบทบาทอยู่ในระดับชั้นนำของวิชาการทางด้านดนตรีและดนตรีศึกษา จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดผู้หนึ่งในการพัฒนาการศึกษาด้านเครื่องสายสากลและวงชิมโฟนีออร์เคสตราในประเทศไทย จนกระทั่งได้รับเกียรติอันสูงสุดในชีวิตได้รับพระราชทานเหรียญเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2553 สาขาศิลปะการแสดงด้านดนตรีสากล 

ความปรารถนาของมนุษย์นั้นเปรียบประดุจรากแก้ว