กันตัง

กันตัง

ท่ามกลางความว่างไร้ในแดดร้อนของทุกวัน บนรางเหล็กว่างเปล่า เต็มไปด้วยการรอคอย ระยะทางของทุกคนนั้นไม่เท่ากัน แม้จะมีปลายทางอยู่ที่เดียวกัน

 

นายสถานีคนเดิมนั่งอยู่ที่โต๊ะไม้แสนคล้าสสิก ภายใต้สถานีไม้สักเก่าแก่สีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ลวดลายฉลุตามส่วนประดับนั้นละเอียดอ่อน แม้คร่ำคร่า ทว่าไม่ตกหล่นความงดงาม ภาพที่เห็นตรงหน้าเหมือนฉากในภาพยนตร์พีเรียดสักเรื่อง ต่างเพียงแต่ว่าหน้าปฏิทินบ่งบอกวันคืนปัจจุบัน

 

วันนี้รถไฟไม่เข้าสถานี พ่อค้าแม่ค้าเก็บของกลับไปสู่หนทางเดิมๆ รวมไปถึงผู้โดยสารที่ต้องมุ่งเข้าตัวเมืองตรังเพื่อจับรถขบวนที่ปลายทางคือชื่ออำเภอริมทะเลอันดามันแห่งนี้...กันตัง

ความรุ่งเรืองไม่อยู่กับใครนาน หากแต่เมื่อได้ก่อเกิด ย่อมทิ้งส่วนเสี้ยวเรื่องราวไว้คงทน

และมันยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า เราต่างก้าวเดินกันมาไกลเท่าไหร่แล้ว

 

...............................................

 

แวดล้อมด้วยภูเขา เรือกสวน และทะเลอันดามันอันกว้างไกล เมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้เติบโตขึ้นมาได้ด้วยสิ่งใดกัน ผมพบคำตอบง่ายๆ ภายในเวลาไม่กี่วันที่มาอยู่กันตัง พบจากการทำความรู้จักพวกเขา ทั้งในตลาด ริมแม่น้ำ และอีกที่หนึ่งซึ่งชัดเจนนั่นคือ “สถานีรถไฟ”

 

รางเหล็กที่ทอดยาวจากตัวกันตังออกไปลิบตานั้น สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อไปเชื่อมต่อที่ชุมทางทุ่งสง นครศรีธรรมราช อันเป็นจุดกึ่งกลางของฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รางและไม้หมอนที่เรียงรายเกิดขึ้นด้วยปัจจัยการรับเครื่องมือเครื่องใช้จากตะวันตก โดยเฉพาะหัวรถจักร โบกี้รถไฟ และเหล่าเครื่องมือในอุตสาหกรรมหนัก ที่ล้วนมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอินเดีย

 

“แต่ก่อนบ้านเรานำเข้าเทคโนโนยีคมนาคมการรถไฟจากตะวันตกครับ ที่นี่เลยเป็นทางหลักอีกทาง เติบโตควบคู่กับอีกแห่งทางตะวันออกคือสงขลา มีโรงงานชั่วคราวประกอบรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อส่งไปที่อื่น” พันธ์ทิพย์ นุ่นแก้ว เพิ่งว่างจากโทรศัพท์สอบถามเที่ยวรถจากผู้โดยสาร เขาดูผ่อนคลายลงบ้าง เรานั่งคุยกันตรงเก้าอี้ไม้หน้าสถานี ลมบ่ายพัดเย็นสบาย

จากรุ่นพ่อของพี่พันธ์ทิพย์ ที่รถไฟเป็นเหมือนสิ่งนำพา “โลกภายนอก” มาสู่คนกันตัง ว่ากันว่าแต่ก่อนเที่ยวรถไฟมีมาก ผู้คนคึกคัก มีรางรถเชื่อมไปจนถึงริมแม่น้ำตรัง ขนย้ายสินค้าขนาดใหญ่มากมายไปปีนัง มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ที่ไกลกว่านั้น “500 เมตรที่เหลือเดี๋ยวนี้เป็นชุมชนแล้วครับ ผมเองก็ไม่ทันเห็น ต้องเป็นรุ่นปู่รุ่นพ่อ” เขาว่ากันตังเติบโตด้วยการค้ายางพารา น้ำยาง ใบยาสูบ กับต่างชาติเป็นหลัก

 

ต่อมาเส้นทางขนส่งสินค้าเปลี่ยนแหล่งผลิต หัวรถจักรจากญี่ปุ่นเข้ามาแทน ซึ่งมักมาขึ้นท่าที่ฝั่งอ่าวไทย รวมถึงถนนหนทางสะดวกขึ้น เส้นทางรถไฟขึ้นล่องกันตังกับที่อื่นๆ จึงลดบทบาทลง เที่ยวรถจากที่เคยมีมากลดเหลือเพียงวันละ 1 เที่ยว นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กันตังลดบทบาทการเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ของหัวเมืองฝั่งอันดามันลง

 

“แต่ก่อนมีเที่ยวรถเยอะมาก กันตัง-สุราษฎร์ฯ กันตัง-พัทลุง ไปยะลาก็มี เดี๋ยวนี้ก็อย่างที่เห็น วันละเที่ยว” พี่พันธ์ทิพย์เล่าเพลิน ทอดตามองสถานีเก่าแก่แสนสวยที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2539 ลายฉลุตกแต่งตามส่วนมุขที่ยื่นออกมาอย่างละเอียดลออ ช่องลมไม้ระแนงที่ตีทแยงยังคงสง่างาม

“ผมว่าความสำคัญของคนเราไม่เหมือนกัน สถานีสวยๆ กับสถานีคึกคัก มีผู้คนหากิน มันต่างกัน” เขาจบบทท้ายๆ ลงอย่างคนที่ผ่านการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงวันที่สถานีไม้เก่าสีเหลืองมัสตาร์ดหลังนี้มากไปด้วยนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม แต่ผู้โดยสารกลับน้อยลงทุกวัน

 

“ดีแล้วที่มันยังอยู่ มีเรื่องราวในนี้เยอะ ผมเองปักหลักไม่ย้ายไปไหนก็เพราะรักที่นี่” ผมพยักหน้าไม่ได้ตอบอะไรต่อ บางอย่างหนักแน่นและเพียงพอแล้วกับสถานีรถไฟโบราณแห่งหนึ่ง

ริมแม่น้ำตรังสงบเงียบ ยิ่งใหญ่ และแสนอาทร เมื่อนั่งมองอยู่ที่สวนสาธารณะริมถนนรัษฎา เบื้องหลังอีกฝั่งทิวเขาหินปูนหยึกหยักและห่มหมอกทุกครั้งหลังผ่านฝน ห้องแถวเก่าเรียงรายทั้งไม้และปูน ถนนเล็กเส้นนี้เก่าแก่มาเป็นร้อยปี พวกเขาเติบโตขึ้นด้วยแม่น้ำตรงหน้าบ้านที่หลากไหลไปสู่ทะเล และไปสู่มหาสมุทรอินเดีย

 

ทุกเช้าที่มาอยู่กันตัง หลังจากนั่งมองแพขนานยนต์ที่พาผู้คนแถบบ้านท่าส้มข้ามฝั่งมาถึงกันตัง หรือทักทายชายชราในเรือประมง ผมมักเดินเล่นไปตามถนนรัษฎา ห้องแถวไม้โบราณนั้นเก็บงำความสัมพันธ์ของผู้คนที่นี่ทั้งคนจีน มุสลิม และคนไทย ไว้ในรอยยิ้มและอิริยาบถผ่อนคลายของพวกเขา บานเฟี้ยมเหยียดยาวได้อย่างเหลือเชื่อ และก็มีเสน่ห์พอๆ กับตึกปูนที่ประดับลายสวยงาม บางหลังสะท้อนการค้าขายกับปีนังไว้ในความโอ่อ่าของกระเบื้องปูพื้นและแนวทางเดินอาเขตติดต่อกันเป็นแถวยาวตามช่วงตึก

 

“คนรุ่นก๋งรุ่นเตี่ยเรานับถือ ‘ท่านเจ้าเมือง’ กันมาก” ป้าวราภร ช่วยแจ้ง พูดถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ดวงตาแบบ
คนจีนของป้าเป็นประกาย

ท่านเจ้าเมืองหรือพระยารัษฎาฯ ของคนกันตังและคนใต้ คือคนที่สร้างความเจริญให้กับกันตังเป็นอย่างมาก ในฐานะอำเภอเมืองเก่าของตรัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2433 เรื่อยมา เมืองเล็กๆ ที่เป็นทางออกสู่ทะเลแห่งนี้กลายเป็นเมืองท่าค้าขายใหญ่โตแห่งหนึ่งของคาบสมุทรอินเดีย ก็ด้วยการพัฒนาทั้งเชิงเกษตรและการค้าอันฝังรากอยู่ในชีวิตคนกันตังมาเป็นร้อยปี

 

“แต่ก่อนกันตังต้องซื้อข้าวจากปีนังนะ ก๋งฉันเล่าว่าท่านยกเลิกการเก็บภาษีอากรและเกณฑ์แรงงานคนไปทำนา พอเราปลูกข้าวได้มากก็ส่งขายปีนัง พอมายุคเตี่ยนี่มีไปขายหมด ไก่ หมู วัว พริกไทย ไม้เคี่ยม ไม้ยาง เด็กๆ ฉันยังงงเลย ทางโน้นเขาซื้ออย่างเดียวเลยหรือไง” ป้าติดตลก ยิ้มร่าตามแบบฉบับคนแก่ใจดี พูดไปก็ทอดปาท่องโก๋ไป เคียงคู่น้องสาวที่ชงกาแฟโบราณอยู่ด้านในร้าน ลูกค้าเริ่มแน่น

ภาพเช่นนี้คนรุ่นปู่ย่าของคนกันตังเห็นมาตลอด บางคนขบวนเทียมวัวลงเรือล่องไปออกทะเลเพื่อขายในมาเลเซียนั้นแสนคึกคัก “มากันเป็นแถวๆ เลย สัตว์ลงก่อน ตามด้วยสินค้าจิปาถะ แต่ก่อนรถไฟมาจ่อถึงท่าเรือเลย” ในร้านกาแฟฮั่วฮองที่สวยด้วยเครื่องใช้ในแสงอึมครึม ไร้จริตตกแต่ง กลุ่มเฒ่าชราขาประจำเริ่มรื้อฟื้นอดีตต่อหน้าถ้วยน้ำชา ผมเองเป็นเพียงผู้ฟังที่นั่งและยิ้มไปกับความรุ่งเรืองที่ไม่อาจมองเห็น

 

“อย่างว่า แต่ก่อนเรือ รถไฟ มันเหมือนเดินมาคู่กัน” ที่ร้านหมี่สั่วไก่ตุ๋นเจ้าดังอย่างร้านก้าวทอง ใครสักคนที่นั่นบอกผมเช่นนั้น ตึกเก่าแถบกันตังที่เติบโตควบคู่ย่านตลาดบนถนนรัษฎามักซ่อนเรื่องราวของผู้คนกันตังไว้ในร้านโบราณ ยิ่งเฉพาะคนจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน ซึ่งมาถึงกันตังพร้อมเรือสำเภาค้าขายสินค้า หลายตระกูลเก่าแก่ของที่นี่ล้วนผูกพันกับเส้นทางการค้าอันเชื่อมโยง ทั้งทะเลและแผ่นดิน

 วันทั้งวันที่ย่านการค้าเก่าแก่ของกันตัง ผมพาตัวเองไปรู้จักกับผู้คนของที่นี่ หลายอย่างผันแปรตกทอดเป็นอาคารไม้หลังสวย หรือตึกปูนโอ่อ่า วันที่เข้าไปในศาลเจ้าฮกเกี้ยนกงก้วน ภายในอาคารไม้สีเหลือสลับแดงที่สร้างมานานกว่า 100 ปี

 

“ความร่มเย็น” อันเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจของที่นี่ยังสัมผัสได้ไม่สร่างซา รูปภาพและประวัติของสายตระกูลที่ทะนุบำรุงศาลเจ้าเรียงรายอยู่ตามผนัง แสงสาดเป็นเงาสวย พร้อมภาพผู้คนที่ผลัดเวียนกันเข้าออก ทั้งคนกันตังและคนนอก

นั่งอยู่ในศาลเจ้า ผมรู้สึกได้ถึงคำว่า “พี่น้อง” และ “พักพิง” อาคารไม้ใหญ่โตหลังนี้คือที่พักแรมของพ่อค้าเรือสำเภาจากแผ่นดินใหญ่มาแต่โบราณ พวกเขาไม่เพียงนำความคึกคักทางการค้ามาสู่กันตัง แต่ความคิดความเชื่อ รวมไปถึงวัฒนธรรมการเคารพศรัทธาที่ติดตัวมาฝังรากยังก่อให้ที่นี่มากไปด้วยภาพอันชัดเจน อาคารไม้ใหญ่โตฉลุลวดลายแสนสวยไว้ด้านหน้าหลังนี้นั้นคือศูนย์รวมของผู้คนที่ไปมาระหว่างกันตังและที่อื่นๆ ในอดีต

 

“แต่ก่อนใครมาค้าขายหรือเดินทางก็มาพักที่นี่ มันปลอดภัย สะดวกสบาย” วิบูลย์ ปฏิเวช ชายชราที่เป็นผู้จัดการศาลเจ้าแสนคลาสสิกเล่า แม้นาทีนี้ภายในจะเหลือเพียงความว่างเปล่า “แต่ก่อนกันตังมีท่าเรือไปภูเก็ต เรียกกันว่าสะพานเหล็ก พวกคหบดี นายเหมือง ก็มาพัก ยางพาราก็อีก ก่อนจะส่งลงเรือไปสิงคโปร์ก็พักของกันในศาลเจ้า” เขาเล่าพลางจุดธูปไหว้องค์ม้าจ้อโป้ว-เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่ของท้องทะเล

ออกจากศาลเจ้า เลาะกลับไปสู่ถนนรัษฎา เมื่อถึงเวลาเย็น ผมเห็นภาพการอยู่ร่วมของหลากหลายผู้คนในกันตัง หนึ่งในนั้นคือที่มัสยิดปากีสถาน พี่น้องมุสลิมในกันตังจอดรถริมแม่น้ำ เดินตามเสียงอาซานเข้าสู่ภายในมัสยิด ก่อนที่เสียงละหมาดจะล่องลอย ทุ้มต่ำแผ่วกังวาน นาทีสงบเงียบริมแม่น้ำตรังดำเนินไปอย่างเป็นตัวของตัวเอง

 

หลังละหมาดเสร็จสิ้น ร้านชากาแฟใกล้ๆ มัสยิดคือแหล่งพบปะอันอบอุ่น มุสลิมในกันตังมีทั้งที่มาจากปากีสถาน หนวดเครายาวๆ นั้นบ่งบอกถิ่นที่มาของพวกเขาไว้ชัดเจน ห้างขายผ้า ตัดเสื้อ ทั้งในกันตังและตัวเมืองตรังมีไม่น้อยที่เป็นคนเชื้อสายปากีฯ “ไม่เฉพาะพวกเราหรอก มุสลิมที่มาจากทางกลันตันก็เยอะ แต่ในนามของพระเจ้า เราไม่มีแบ่งแยก” ในวงน้ำชาหน้ามัสยิด เฒ่าชราคลุมฮิญาบขาวเล่า พ่นควันใบจากเบาสบาย ก่อนยกชาถ้วยจ้อยขึ้นจิบ

 

ห้วงยามนั้น กลางความหลากหลายในเมืองท่าเล็กๆ ความอบอุ่นหน้าตาเป็นเช่นไร ผมสัมผัสได้แม้จะจากบ้านของตัวเองมาไกลแสนไกล

อาจเป็นความรู้สึกเช่นนี้ ที่ทำให้ใครหลายคนที่นี่เลือกแผ่นดินริมแม่น้ำตรังเป็นที่ปักหลัก ต่อยอดลมหายใจอยู่ทุกคืนวัน

ทุกวันที่มาอยู่กันตัง ยามเย็นแถบสวนสาธารณะริมแม่น้ำเป็นจุดที่ผมและเพื่อนมักพาตัวเองมาอยู่ในภาพอันเป็นตัวของตัวเองของพวกเขา ทุกอย่างดูสงบ ผ่อนคลาย และผสมผสาน

 

คนรุ่นเก่าของกันตังที่ยามนี้พัดพาตัวเองผ่านความรุ่งเรืองของชีวิต มักออกมาเดินเล่น มองดูแม่น้ำสายใหญ่ที่เคยเป็นเหมือนสิ่งขับเคลื่อนให้ที่นี่เติบโต เฒ่าชรานั่งมองลูกหลานวิ่งเล่นในสวน ถัดไปที่ริมแม่น้ำ เรือประมงเล็กใหญ่จอดนิ่งสงบ ฉากหลังคือ
คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกสินค้าเตรียมส่งออก ฉายภาพชัดเจนของเมืองท่าเก่าแก่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามคืนวัน

ไม่มีสิ่งใดฟูมฟายกับการเปลี่ยนแปลง หลายอย่างเริ่มต้นและมี “ทิศทาง” ของมันมาเนิ่นนาน มันอาจนานพอๆ กับที่ชีวิตของคนที่นี่ได้ลงหลักปักฐาน ก่อร่าง และเติบโต

 

ริมแม่น้ำชราสายเดิม ผมทบทวนถึงหลายสิ่งในแววตาของคนที่นี่ ที่ทำให้เห็นชัดเจนถึงความหมายของคำว่าระยะทาง บางอย่างตื่นตัวเริงร่าอยู่ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกหลายแววตาก็ฉายชัดการเติบโตและคงทนอยู่ในภาพของความกร้าวแกร่งนิ่งสงบ คล้ายผู้เจนจัดผ่านาการแรมรอนที่มากมายด้วยริ้วรอยของวันเวลา

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนบ่งบอกเพียงว่า การมาถึงที่สลักสำคัญกว่าหนทางที่ย่างก้าว เพราะเราต่างมีเส้นทางและการบากบั่นอันเป็นเฉพาะสำหรับตัวเอง

 

.................................................................................................

 

สายของอีกวันที่สถานีรถไฟกันตัง ในหลังคาคลุมแดดฝนและเก้าอี้ไม้สักตัวสวย วันนี้ราวกับสถานีแสนคลาสสิกอายุร่วมร้อยปีมีงานรื่นเริง ผู้โดยสารนั่งรอและไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ แม่ค้าขายขนม น้ำอัดลม เปิดแผงอยู่หน้าสถานี พี่พันธ์ทิพย์ไม่ว่างพอจะมานั่งพูดคุย อาจด้วยวันนี้รถเข้าตามเวลา หลังจากที่เลื่อนมาสองวัน

 

ภาพคึกคักตรงหน้าหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันเมื่อขบวนรถกรุงเทพฯ-กันตังเข้าเทียบชานชาลา ไม่เกิน 20 นาที หลังสับเปลี่ยนหัวรถจักร ผู้คนต่างจับจองที่ทางของตัวเอง พวกเขาพร้อมจะออกเดินทางไกลอีกครั้ง ก่อนจะทิ้งจุดตั้งต้นริมทะเลอันดามันแห่งนี้ไว้ตามระยะทางที่ทอดยาวห่างออกไป...ไปสู่ปลายทางเฉพาะด้านเฉพาะตนที่ต่างคนต่างเลือก

 

เสียงเคาะระฆังดังเตือน พร้อมธงฟ้าสีเขียวโบกสะบัด ขบวนรถค่อยๆ เคลื่อนออกไปจากสถานีปลายทาง ที่นาทีนี้กลายเป็นต้นทางของใครหลายคน

ทุกอย่างสับเปลี่ยนเวียนผัน ไร้การสิ้นสุด ตราบเท่าที่ใครสักคนยังต้องคว้าไขว่ตามหาความหมายอันชัดเจนของคำว่าหนทาง 

 

How to go?

ถ้ารักการเดินทางด้วยรถไฟ มีขบวนรถเร็วกรุงเทพฯ-กันตังออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน วันละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 เว็บไซต์ www.railway.co.th หรือหากขับรถมาเอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ-ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-ห้วยยอด-ตรัง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 403 (ตรัง-กันตัง) รวมยะทาง 853 กิโลเมตร

ใครสักคนที่นี่ทำให้ผมนึกทบทวนคำว่า “ระยะทาง”