ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ

ในภาวการณ์ที่โลกดำเนินมาถึงทางตันด้วยปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนานัปการที่รุมเร้าโลกใบนี้อยู่ทุกหัวระแหง แนวความคิดเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมดูเหมือนจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะฝ่าทางตันไปได้ นับเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินไปของวัฒนธรรมมนุษย์บนสภาพแวดล้อมแต่ละท้องถิ่น

ภูมิสถาปัตยกรรมจึงมีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของมวลมนุษย์ชาติมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการล่วงละเมิดต่อธรรมชาติ การทำลายระบบนิเวศของมนุษย์และพัฒนาทางกายภาพที่ไม่ไตร่ตรอง ทำให้บ้านเมือง ชุมชนและเคหะสถานขาดความศิวิไลซ์ไม่น่าอยู่ รวมทั้งความทุกขเวทนาจากภัยธรรมชาติ ความแออัดไม่สะดวกในการเดินทาง รวมถึงสภาวะโลกร้อน ที่ภูมิสถาปัตยกรรมช่วยบรรเทาได้มาก โดยการสร้างความร่มรื่นน่าอยู่ด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่อย่างเหมาะสมในเมือง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ขุนพลภูมิสถาปัตยกรรม ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2549 สาขาทัศนศิลป์(ภูมิสถาปัตยกรรม) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ท่านเป็นผู้บุกเบิกวิชาชีพและการก่อตั้งวางรากฐานการศึกษาภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ร่างหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เสมือนบิดาแห่งวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมไทย ปี พ.ศ.2530 ท่านได้ก่อตั้งสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยขึ้น และดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 1 วาระ ด้านการพัฒนาวิชาชีพภูมิสถาปนิก ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาสถาปนิก เพื่อร่างกฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพ หลักสูตรแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพในสาขาภูมิสถาปัตยกรรมและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบันท่านได้รับการคัดสรรเป็นผู้ตรวจสภาสถาปนิก

รากเหง้าผังเมือง

“ในยุคที่ผมเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาฯ ปี พ.ศ.2501 พอขึ้นปี 3 มีวิชาประกอบชื่อวิชาภูมิสถาปัตยกรรม เมื่อผมจบปี พ.ศ.2506 ก็ไปรับราชการอยู่กรมโยธาธิการ อีก 3 ปีก็ไปเรียนต่อ โดยเลือกเรียนทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาโท โดยได้สมัครฝึกงานและทำงานด้านออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา 

“พอกลับเมืองไทยก็มาอยู่ที่กรมโยธาธิการ ตอนนั้นมีการปฏิวัติรัฐประหาร ก่อน 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทหารเขาไม่รู้จะทำอะไร เขาก็เกณฑ์ให้ไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านั้นราวๆ ปี พ.ศ.2476-2477 กรมโยธาธิการมีการวางผังเมืองระดมไปทั่วประเทศ แจกผังเมืองไปตามจังหวัดต่างๆ แล้วก็ปล่อยให้โตไปตามยถากรรม ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ตอนที่พลเอกมังกร พรหมโยธี   เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ ก็ไปอบรมที่สหรัฐอเมริกา เราออก      งบประมาณ 10 ล้าน ที่เหลือสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ออกให้ มีการทำมาสเตอร์แพลนกรุงเทพฯ แห่งแรก เริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ประกาศใช้ปี พ.ศ.2501

“จากนั้นผมก็มารับราชการที่คณะสถาปัตยกรรมจุฬาฯ ได้มายุ่งเรื่องผังเมืองอีก พยายามดูเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มีการวางผังเมืองต่างๆ และผลักดันกฎหมายผังเมือง      ก็ไม่ค่อยสำเร็จ มาสำเร็จราวปี พ.ศ.2518 ที่ออกมาจากกรมโยธา เรามีพรบ.ผังเมือง ปี พ.ศ.2497 มันใช้การอะไรไม่ได้ เราเรียกผังเมืองชนบท มีแต่กฎหมาย แต่ข้อปฏิบัติมันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงๆ ต่อมากรมการผังเมือง ซึ่งแต่ก่อนเป็นสำนักผังเมือง มาประกาศใช้กฎหมายผังเมืองรวม 2 ฉบับ ใช้เวลาทั้งหมด 14 ปี กำหนดให้วางผังเมืองรวมๆ แบบที่เราเห็นเป็นสีๆ ตามเขตเทศบาล ตามเขตเมือง 

“พอถูกบังคับใช้ ก็เริ่มรอนสิทธิ์ จะต้องมีกฎหมายเฉพาะอีกฉบับหนึ่ง เป็นกฎหมายแบ่งเขตเวนคืน ปฏิรูปที่ดินใหม่เป็นอีก พรบ.หนึ่ง การใช้พรบ.ผังเมืองเฉพาะ ต้องออกเป็นกฎหมายทุกครั้ง มันก็เลยยาก ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผมเกี่ยวข้องมากบ้าง น้อยบ้าง โดยที่ไม่ได้เป็นนักผังเมืองโดยตรง

“ผมมาเจอสถานการณ์ที่ผมเรียน ผมมาเรียนจัดสวน เป็นเรื่องของภูมิทัศน์ ที่เรามองเห็นเมืองทั้งเมือง เลยไปถึงกฎของโลก ภูมิศาสตร์ของประเทศตามแนวนอน ผมไปเรียนมา เขาก็สอนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จำนนต่อธรรมชาติ มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาปฏิวัติความคิด เรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีการจำแนกที่ดินเป็นชั้นๆ ตอนนั้นยังไม่มีจีพีเอส ทำด้วยมือ มีน้ำบาดาล ธรณีวิทยา ชนิดของดิน มีป่า สัตว์ป่า รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ นำมาซ้อนๆ กัน เราจะรู้เลยว่าตรงนี้น้ำจะท่วม ตรงนี้ดินไม่ดี เพาะปลูกไม่ได้ ตรงนี้เป็นที่ตั้งเมือง ตรงนี้เป็นที่ๆ มีวิวสวยงาม ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 

“เขาจะทำทีละลุ่มน้ำ เป็นนโยบายการตั้งถิ่นฐาน ผังเมืองจะวางเฉพาะในเมือง ปัญหามันเกิด มันจึงเกิดในเมืองอย่างเดียว พอนอกเขตเทศบาลมาแล้ว กฎหมายไม่ได้ตามมาบังคับ เวลานี้เราเลยไม่ได้ใช้ทางน้ำป่า ทางน้ำหลาก ทางน้ำปกติ ทางแม่น้ำลำธาร ที่ธรรมชาติเขาสร้างไว้เป็นแสนเป็นล้านปี เอามาให้มันทำงานของมันต่อไป

“พระเจ้าทำไว้ดีแล้ว เมื่อฝนตกลงทะเล มันก็มาตามทางนี้ แต่เราไปสร้างบ้าน ตั้งเมืองไปปิดทางเขาหมด เราดูเฉพาะจุด ทางน้ำ พวกเทศบาล พวกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่รู้จัก เราให้อำนาจเทศบาล อบต. พวกการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อำนาจในการวางผังเมือง ให้อนุญาตปลูกสิ่งก่อสร้างได้ วางกำหนดไว้เอง เดี๋ยวนี้ปล่อยเละไปหมด เขาบรรเลงได้เลย อบต.ที่รวยมากหน่อย ปรับฐานะผังเมือง มาเป็นกองผังเมือง มันไม่มีคนที่มีความรู้เข้าไปทำ มีแต่เข้ามาสร้าง อบต.สร้างเทศบาล ส่วนมากต้องเป็นวิศวกร สร้างสถาปนิกมาทำการก่อสร้าง น่าจะไปดูเรื่องการก่อสร้างมากกว่า เพราะตรงนี้เป็นที่น้ำท่วม ที่ดินดี ที่นาดี ผังเมืองกรุงเทพ ของเราจ้างฝรั่งมาวาง ไม่รู้กี่ฉบับ จนถึงปี พ.ศ. 2503-2543 กำหนดประชากรตอนนั้น 4,500,000 คน เฉลี่ยกระจายไป ตอนนี้มันเกินแล้ว มันไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนน้ำท่วมก็ขุดคลองลงมาทางแม่กลอง ลงอ่าวไทย ทำมาตั้ง 50 ปี ถนนเลียบริมแม่น้ำ ก็ค่อยๆ ยกมาป้องกันน้ำ ประเภทเด็ดขาด แต่เราก็ไม่ทำ ผังเมืองจะทำให้มันเป็นจริงได้อย่างไร ติดปัญหาต่างๆ มันไม่มีเจ้าภาพทางกฎหมาย”

ใต้ร่มเงาธรรมชาติ

“คนไทยแต่ดั้งเดิม ระดับภาค ตรงไหนที่น้ำท่วม ก็อย่าไปอยู่ เมื่อไปอยู่แล้ว   ก็มาบ่นว่าน้ำท่วมทุกปี แล้วก็ปล่อยให้เขา เข้าไปสร้างลงไปอยู่ในที่ที่น้ำท่วม มันไม่ใช่หมู่บ้านชาวประมง (หัวเราะ) ชาวนาก็อยู่ในที่เลน แบนๆเหมือนโต๊ะ คนที่สร้างที่ราบก็คือน้ำ แหล่งที่ไหนที่เป็นที่ราบเรียบก็คือน้ำเป็นผู้สร้าง มนุษย์เรารู้หมด เรื่อง     ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ถ้ามีหน่วยงานกำหนดนโยบายการตั้งถิ่นฐาน ในที่ที่ต่าง  สภาพธรรมชาติ เมืองที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมบริการ ควรไปอยู่ในที่ดอนพอสมควร น้ำไม่ท่วม อยู่ให้มันแน่นๆ แต่โปร่ง มีระบบแนวคิดในการก่อเป็นชุมชนสมัยใหม่”

“เมื่อปี พ.ศ.2520 ผมแปลหนังสือเล่มหนึ่ง ผมไม่คิดว่าจะทำได้ในปัจจุบัน จะเป็นชุมชนที่เล็กลง เป็นศูนย์เดี่ยว เดินไปขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ส่งลูกไปโรงเรียนและกลับบ้าน สหรัฐอเมริกามีอยู่ช่วงหนึ่งหลังสงครามโลกที่เขาแห่ออกไปอยู่ชานเมือง ตามนโยบาย บ้านหนึ่งหลัง รถหนึ่งคัน มีตู้เย็น ในเมืองจึงโบ๋ รัฐบาลจัดเก็บภาษีไม่ได้ ในเมืองเน่า กลายเป็นสลัมกลางเมือง ทีนี้เวลาออกไปปุ๊บ ก็จะต้องมีคนเก็บภาษี รัฐบาลก็นำเงินมาทำถนนไป เมื่อบ้านเมืองมันแน่น ก็ต้องทำทางด่วน นักพัฒนาที่ดินก็ไปซื้อที่ออกไป ขยายไปเรื่อยๆ ปัญหาการก่อสร้างในปัจจุบัน น้ำมันท่วมเกือบทุกแห่ง เพราะขยายไปในทุ่งในนา

“ผมเคยเขียนผลงานชิ้นหลัก คือตำราการปฏิบัติ วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม และหนังสือชื่อ ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ งานรุกขกรรมเป็นวิชาใหม่ผ่านมา 10 กว่าปีมาแล้ว อาชีพรุกขกรและการศัลยกรรมต้นไม้ บางคนบอกรุกขแปลว่าหญ้า รุกขเทวดา แปลว่ามีเทวดาอยู่ในต้นหญ้าอย่างนั้นหรือรุกขแปลว่าต้นไม้ รุกขเทวดา ควรอยู่ในต้นไม้ใหญ่ พอเมืองมันเจริญขึ้น ที่ปลูกต้นไม้ มันไม่มี มันจึงร้อน สมัยก่อน ผมก็ลงไปช่วยสมาคมอนุรักษ์ เรื่องสิ่งแวดล้อม คณะปฏิวัติเขาก็จะเกณฑ์พวกนั้นไปช่วยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผมจึงผลักดันในเรื่องนี้ด้วย

“เขาจะมีวิชาการวางผังภาพ อยู่สำนักผังเมือง ดูว่าเมืองมันจะเกิดตรงไหนบ้าง เราได้แต่โลเคชั่นใหญ่ๆ พอถึงรายละเอียดของภูมิประเทศ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน อย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มันควรจะเป็นอุทยานอุตสาหกรรมของโลกได้ ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ผมจะต้องเริ่มที่โครงสร้างก่อน ถ้าโครงสร้างไม่ดี อะไรก็ไม่ดี ผมก็บอกสร้างไปเถอะ พอจะทำ ก็จะห้าม แต่พอให้นักลงทุนไปสร้างจริงๆ เพื่อเก็บภาษี ชาวบ้านก็จะแห่ไปบล็อก สร้างไม่ได้ เช่นโรงงานเหล็ก โรงงานถ่านหิน ฯลฯ ผมได้มีโอกาสไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด เป็นโรงงาน 3 แห่งที่อนุญาตให้สร้างได้ แต่สำเร็จเพียงแห่งเดียว ผ่านการประเมิน ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เขาทำเอง ก่อนจะกระทบกับสังคมโดยการสำรวจตรวจสอบ สอบถามชาวบ้าน

“แต่เขาไม่ได้ทำ ที่ที่จะทำมันเหมาะสมที่จะสร้างในเชิงโลเคชั่น มีท่าเรือน้ำลึก มีเรือเข้ามาส่งถ่านหินได้ เผอิญกฎหมายเดิม มันทำไม่ได้ เมื่อข้างบนอ่อนแอ แต่ข้างล่างแข็งแรง หากจะเปรียบก็เหมือนวงซิมโฟนี มีเครื่องดนตรี 8,600 ชิ้น เป็นส่วนปกครองแบบท้องถิ่น 8,600 แห่ง มี อบต. อบจ.และเทศบาลขนาดต่างๆ แยกย่อย เยอะแยะไปหมด ออกเทศบัญญัติ เป็นของตนเอง หารายได้เข้ามา แต่มันไม่มีโน้ตรวม ไม่มีบีโธเฟ่น ไม่มีโมสาร์ท ไม่มีคอนดักเตอร์ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ผมบอกว่าน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม มันไม่รู้จักเขตการปกครอง น้ำมันไต่ขึ้นที่สูงไม่ได้ มันลงที่ต่ำ       เสร็จแล้วไม่มีใครไปกำหนด จะต้องมีหน่วยงานใหญ่อย่างสภาพัฒน์ ต้องเป็นผู้กำหนดผังรวม ทางนี้ยังหนักกว่าทางด้านเศรษฐกิจ เส้นทางอะไรต่างๆ ที่ต้องลง  รายละเอียด มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เรื่องต่างๆ เขาจะรู้แหล่งใหญ่ น้ำท่วมหาดใหญ่เมื่อไรเขารู้หมด แต่จะบอกใคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ มันคนละเจ้ากัน อบจ. อบต.เขามีอำนาจ ขนาดกรมทางหลวง จะทำสะพานลอยข้ามถนน เขายังมาสั่งไม่ให้สะพาน ลงตรงนี้ เพราะเป็นเขต อบต.ทำให้โครงการต่างๆ ค้างเติ่งอีกเยอะแยะ

“ฉะนั้นจึงต้องมีกฎหมายรวบ 1 ฉบับ เหมือนรัฐธรรมนูญ ให้มีเจ้าภาพ มีรัฐธรรมนูญผังเมือง คุณจะออก พรบ.อะไร ก็แล้วแต่ ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ไปอยู่ในที่น้ำท่วม ต้องไม่ไปสร้างเมืองในที่เกษตร อย่าไปสร้างอะไรในป่าต้นน้ำลำธาร อย่าไปสร้างอะไรที่เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม พวกนี้เราจะมีผังให้หมด ขนาด กูเกิ้ลยังดูออกเลย (หัวเราะ)

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาจะไปสร้างอะไรต่ออะไรในเขตชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์ มีการร้องเรียนกันมาก สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ราวๆ ปี พ.ศ.2512 เริ่มจากสร้างตึกแถวย่านวัดสระเกศก่อน จะมีการก่อสร้างกันใหญ่ เขาจึงตั้งเป็น สมาคมศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ก็เกือบเอาไม่อยู่ เขามีโครงการสร้างตึก สร้างคอนโดมิเนียม เป็นอาคารรอบๆ พระบรมมหาราชวัง เขาก็เลยเสนอเป็นเกาะ เขาเรียกว่าวงแหวนของประเทศ ห้ามสร้าง พวกผมจึงไปรณรงค์กัน เวลาจะไปรณรงค์ก็ต้องไปบอกเขา พวกเราจึงไปทำการศึกษา ไปทำผังเมือง ทำออกมาแล้ว หน้าตาจะเป็นอย่างไร จึงขอเอาเรื่องนี้ เข้าคณะรัฐมนตรี แต่เลขาฯ คณะรัฐมนตรีบอกว่าไม่มีวาระ

“ผมจึงนำโครงการไปวางไว้ เผอิญจอมพลประภาส จารุเสถียร ลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย เวลาประชุม ครม. ผมจึงนำไปวางระหว่างห้องประชุมกับห้องน้ำ     ท่านผ่านมาพอดี พวกเรายืนรอกันเป็นแถว จึงนำโครงการเสนอ สุดท้ายท่านก็เห็นด้วย พร้อมกับพูดว่าท่านจะได้เห็นก่อนตายไหม สุดท้ายก็ผลักดันออกมาเป็นเทศบัญญัติ เป็นกฎกระทรวง ออกเป็นกฎหมาย อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ห้ามปลูกสร้างอาคารสูง หรืออะไรต่างๆ รอบๆ เกาะ เรากันเขตไว้เพียงแค่นี้ ผังเมืองเขาทำเฉพาะพื้นที่รอบๆ เกาะรัตนโกสินทร์ แต่พอเลยเขตไป เขาก็ไปสร้าง ลองสังเกตดูให้ดี บริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว จะเห็นตึกตั้งอยู่เป็นคู่เลย                                              

“เขาคิดเฉพาะภูมิทัศน์ เขาจะดูจุดที่เรามองเห็น จุดที่มองไม่เห็น คุณจะสร้างอะไรก็สร้างไป ในโซนสุนทรียภาพ เป็นประวัติศาสตร์ เป็นโซนท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ทำอะไรก็ทำไปถ้ามองไม่เห็น มันเลยนอกเขตไป กรณีวัดยานนาวาที่เกิดเรื่อง ก็อยู่นอกเขต ถอยมาถูกต้อง ที่เชียงใหม่ก็เหมือนกัน มีพรบ.โบราณสถาน ห้ามสร้างอะไรติดกับโบราณสถาน ต้องเว้นไว้ 4 เมตร สุดท้ายเขาสร้างตึกแถว 2 ข้าง แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาติดกับเจดีย์ เรื่องพวกนี้อยู่ในเว็บไซต์ของผมหมด

“หากมองย้อนไปในอดีต ผมอยากเป็นนักบิน ตามความคิดของเด็กๆ เมื่อโตขึ้น ผมมารู้ตัวเองว่าอยากจะมาเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตอนเรียนอยู่ ม.4 ทางศิลปะจริงๆ ผมไม่ได้มุ่งมาทางศิลปินแบบเพื่อนผม ถวัลย์ ดัชนี กับผมสนิทกันมาก เพราะเราเป็นคนจังหวัดเชียงรายด้วยกัน เขามีความมันมาตั้งแต่เด็ก เขารู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ อย่างเรื่องละครวิทยุ นายมั่นกับนายคง สมัยหลวงวิจิตรวาทการปลุกกระแสเรื่องการรักชาติที่ไปอยู่ดงพญาเย็น ถวัลย์ให้ผมเป็นนายคง ตัวเขาเป็นนายมั่น อะไรอย่างนี้ เรียนชั้นมูล ก็เรียนด้วยกัน วิ่งหนีลงหลุมหลบภัยหลบเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ก็ลงไปด้วยกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สนุกมากๆ ในวัยเด็ก”

ปรัชญาบนวิถีปราชญ์

“ผมมองว่าตัวผมเป็นศิลปินน้อยหน่อย ของผมมาทางแอบสแตรค แต่ของถวัลย์ เขาเพียวอาร์ต วิจิตรศิลป์ จะมีเสรีภาพในการเขียนรูป โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสื่อ หรือเรื่องอะไรต่ออะไร คิดอยากจะทำก็ทำ อธิบายได้เป็นฉากๆ เมื่อผมมาเป็นครู ผมจะสอนสถาปัตยกรรมมาเรื่อย ระหว่างครูกับศิลปินจึงควบคู่กัน ทางด้านศิลปะ ทางด้านสถาปนิก ภูมิสถาปนิก ทางด้านออกแบบภายใน มันจะมีความเป็นศิลปิน ที่มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ จะต้องอยู่ในกรอบข้อบังคับ ไม่เหมือนเพียวอาร์ต เช่น วิศวกรรม จะสร้างอาคารลอยๆ ไว้เฉยๆ ไม่ได้ จะมีฟังก์ชั่นของคน มีเรื่องงบประมาณ มีภัยธรรมชาติ จึงกลายเป็นข้อกำหนด เราจะเอาชนะมันอย่างไร สร้างสรรค์ ทำให้มันดีที่สุด ถูกที่สุด บางอันมันอาจจะออกมาได้สวย สร้างอาคาร อนุสาวรีย์ มันจะสวยอีกแบบหนึ่ง

“งานในฟังก์ชั่นเกี่ยวกับทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม สร้างออกมาแล้ว ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ให้มันเลวหรือว่าดีขึ้น มันจะมีสองอย่าง ภูมิทัศน์ธรรมชาติกับภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้าง การไปสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 
ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ เราจะทำอย่างไรถึงจะไม่เห็นที่จอดรถบัส 70-80 คัน ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องขายตั๋ว ห้องอาหารต่างๆ สร้างขึ้นโดยไม่ไปขัดกับธรรมชาติ สาขาที่ผมสอน จะเน้นทางด้านการมองเห็น คุณภาพของการมองเห็นไม่ไปขัดกับธรรมชาติ ไม่ไปขัดกับสิ่งแวดล้อม ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรมสไตล์นี้ เราต้องทำให้เข้ากันกับธรรมชาติ อย่างการทำภูมิสถาปัตยกรรม อุทยานแห่งชาติ เราต้องปรับแต่งภูมิทัศน์ให้มันกลมกลืนกันกับธรรมชาติ

ยกตัวอย่างสัตว์ เวลามันทำรัง มันสวยแบบธรรมชาติ ไม่ใช่ไปทำรังคอนโดมิเนียม ให้มันอยู่ ไม่ใช่วัสดุของมัน ที่ไม่ขัดกับธรรมชาติ หมายถึงความรู้สึกที่มันแปลกปลอม ความรู้สึกที่มันเกิดทางด้านนามธรรม ดูแล้วไม่น่าเกลียด

“ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาเรียนภูมิสถาปัตยกรรม อันดับแรก ต้องรักธรรมชาติ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่มีเหตุผล นอกนั้นก็เหมือนกับสถาปัตยกรรมหรือศิลปะ ต้องมีตาทางด้านศิลปะ ความมีสุนทรียภาพ มีความงาม ความเป็นโบราณสถาน เหมือนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เราจะไม่สร้างอะไรไปขัดกับความเป็นโบราณสถาน เราเอาตัวโบราณสถานเป็นพระเอก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม่ต้องมี มีสนามหญ้าให้มันเรียบร้อย และมีต้นไม้ใหญ่เป็นพื้นหลัง แล้วจัดทางเดินให้ดี เดินชมกันปีหนึ่ง เจ็ดแปดถึงแสนคน จะจัดการอย่างไร

“วิชาภูมิสถาปัตยกรรมของผมมันเป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เราต้องรู้ระบบนิเวศวิทยา รู้จักทางด้านธรณีวิทยา รู้จักพฤกษ์ศาสตร์ เรียนเรื่องการระบายน้ำ เรียนเรื่องพืชพันธุ์ เรียนเรื่องป่า เรียนเรื่องการเกิดรูปฟอร์มภูมิประเทศ ที่เรียกว่าภูมิสัณฐาน ว่าโลกมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แลนด์ฟอร์ม ที่ดินเชิงเขา ที่ดินที่ราบต่างๆ ที่ไหนดินดี ที่ไหนน้ำท่วม เรียนเรื่องภัยธรรมชาติ”

เสาหลักภูมิสถาปัตยกรรม

“ความสวยงามของภูมิสถาปัตยกรรม ต้องกลมกลืนกันกับพื้นที่ที่เป็นชนบท ถ้าเป็นในเมืองสมัยใหม่แบบสิงคโปร์ เราก็จัดแบบโมเดิร์น คนๆ เดียวสามารถจัดภูมิสถาปัตยกรรมได้หลายแบบ ยกตัวอย่างที่เชิงเขาใหญ่ จัดตามหลักภูมิสถาปนิก เมื่อขึ้นไปต้องมองไม่เห็นบ้านพัก ดูแล้วไม่ขัดกับธรรมชาติ สร้างโรงแรม สามารถสร้างได้ เราต้องไปหาแลนด์ฟอร์มที่มองไม่เห็น ขับรถเลี้ยวเข้าไปแล้วมองไม่เห็น เราต้องวิเคราะห์พื้นที่ ตรงไหนเป็นจุดสำคัญที่ไปยุ่งกับเขาไม่ได้ แต่ถ้าเราจะสร้างจุดจัดกิจกรรม ซึ่งมันขัดกับธรรมชาติ จะวางตรงไหนดีที่สุดที่มองไม่เห็น ดูตัวอย่างโบราณสถานที่ประเทศกรีซ รถทัวร์เป็นร้อยๆ คันทีมันหายไปหมด จอดรถแล้ว เดินกลับมา มองไม่เห็น

“ธรรมชาติแท้ๆ มันเป็นอย่างไร ปีหนึ่งไปเที่ยวเป็นล้านๆ คน บางที่ห้ามรถยนต์เข้าไป เขาจะทำโรงแรม อยู่ข้างล่าง มีลานจอดรถขนาดใหญ่ มีศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว มีร้านอาหาร ร้านขายหนังสือ มองเข้าไปไม่เห็น และจะมีรถไฟฟ้า รถบัสไฮโดรเจน จอดเป็นจุดๆ กันชนด้านหน้า เป็นที่แขวนจักรยาน ส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศ ภูมิสถาปัตยกรรจะเป็นอย่างนี้หมด แต่ที่บ้านเรา การศึกษามันยังเข้าไม่ถึง ของเราเพิ่งเริ่มเรียนรู้ระดับชั้นสองเอง คือหนึ่ง เริ่มต้นรู้ ขั้นที่สอง เข้าใจ ขั้นที่สามจึงค่อยเกิดความซาบซึ้ง ขั้นที่สี่เกิดความหวงแหน ขั้นที่ห้ามีแอ็คชั่น ของบ้านเรา รู้ขั้นที่หนึ่งเสร็จ แล้วกระโดดไปทำขั้นที่ห้าเลย

“บ้านเรา คนเขาจะบอกว่าห้ามระเบิดหิน ถามหน่อยบ้านคุณใช้คอนกรีตหรือเปล่า ก็ใช้ ห้ามทำโรงไฟฟ้า แล้วที่บ้านคุณใช้ไฟฟ้าหรือเปล่า ก็ใช้ (หัวเราะ) ผมก็เสนอแผนการตั้งถิ่นฐานและจัดผังเมืองแห่งชาติ เราจะต้องคิดถึงแหล่งทรัพยากรด้วย อย่างหินเป็นของหนัก ต้องขนส่งไม่เกิน 100 กิโลเมตร แล้วมีทางรถไฟผ่าน เหล็กเราต้องใช้ เราต้องมีโรงหล่อเหล็ก ของจำเป็นพวกนี้มันต้องมี มันจำเป็น ต้องเอาไว้ให้มันถูกที่ถูกทาง เหมือนกับเส้นเลือด เส้นประสาท ต้องเดินไปได้ด้วยกัน

“เราต้องมีสามขาในด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง เรามีคนออกแบบเป็นสถาปนิก แต่มันจะพังหรือเปล่า เราต้องมีวิศวกร คำนวณขนาดของเหล็ก คำนวณแรงลม เวลาแผ่นดินไหว มันเคลื่อนได้อย่างไร ต้องรู้ระบบแอร์ ระบบลิฟท์ระบบไฟฟ้า จะต้องมีวิศวกร เรียกว่ามีสองขา แต่พอก่อสร้าง ไม่มีผู้ที่มีฝีมือทัดเทียมมาทำ เอาใครก็ได้ เป็นผู้รับเหมา ช่างก็ไปเอาช่างที่ไหนมา ของต่างประเทศช่างพวกนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ทัดเทียมกันหมด สอบเข้าก่อสร้าง ต้องออกแบบ คำนวณ ความสามารถพื้นฐานเท่ากันในระดับอุดมศึกษา แต่ของเราช่างกลายเป็นกรรมกร 

“คนที่เรียนการก่อสร้างของประเทศไทยจะเห็นได้ชัดเจนจากตำแหน่งหน้าที่ของคนงานและช่างไปในงานก่อสร้างสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศจะอยู่เพียงในระดับล่าง มักถูกกดขี่ ข่มเหง ไปเหยียบเขาให้ไปอยู่ในระดับอาชีวะ แล้วพอไปเป็นคนคุมงาน กลับบอกว่าต้องสถาปนิกและวิศวกรเท่านั้นที่เป็นคนคุมงาน ออกกฎหมาย พรบ.อาคารออกมา ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรคุมงาน

“เมื่อตัวเองจบออกมาบางคนไม่เห็นจะมีใครไปคุมงานจริงๆ งานร้อยล้าน พันล้าน งาน 20-30 ล้าน ก็ไม่เห็นมี ก็เอาผู้รับเหมาไปคุมทั้งนั้น ผิดกฎหมายอีก ต้องขออนุญาต แล้วเอาหลักสูตรมาดูสิ หลักสูตรออกแบบแค่ไหน จะไปบังคับให้เปลี่ยนหลักสูตรอีก เรียกวิศวกรมา บังคับให้เรียนคำนวณเพิ่มขึ้น ทำแล้วไม่เป็น ไม่เก่งทั้งคู่ ผมก็เลยเป็นกรรมการสภาสถาปนิกชุดแรก ผมบอกว่าการก่อสร้างของเราจึงไม่เจริญ การก่อสร้างใหญ่ๆ ของเราต้องใช้บริษัทญี่ปุ่น บริษัทฝรั่งเข้ามา เมื่อผมสงสัย จึงลงไปดู ของเราต้องปลดแอก ไม่ไปจำกัดเขาไว้แค่ระดับอาชีวะศึกษาเท่านั้น จึงเสนอให้มีอาคารวิชาการก่อสร้างและการดูแลอาคารก่อสร้างขั้นสูง ระดับวิชาชีพ ซึ่งเขามีสอนกันทั่วโลก เราไม่ยอมมี ผมจึงร่างหลักสูตรไว้ให้หมด ก่อตั้งมา อายุไล่เลี่ย
กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ สมัยผมเป็นคณบดี ผมเสนอให้ตั้งคณะใหม่ขึ้นมาอีก คือคณะนวกรรมศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี นวกรรม แปลว่า การก่อสร้าง ผมเรียกว่า “นวกรรมมิก” 

“ในฐานะศิลปินแห่งชาติ ผมเป็นคนแรกๆ ที่มีโอกาสก้าวไปในการสร้างงานและเป็นผู้ริเริมวิชาชีพนี้ขึ้นมาในประเทศไทย มีคนก่อนหน้านั้นเยอะ แต่โอกาสเขาไม่มี เศรษฐกิจยังไม่บูม คนยังไม่รู้จัก ผมมาตอนนั้น ก็บูมพอดี จึงมาเปิดภาควิชา ตั้งหลักสูตร สร้างภาควิชาใหม่ขึ้นมา ผมได้มีโอกาสได้ทำนิคมอุตสาหกรรม ได้ศึกษาการวางแผนแหล่งท่องเที่ยว ที่ภูเก็ต ด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่ภาคใต้ รับวางแผนภูมิทัศน์ ประจำทีมทำงานกับญี่ปุ่น มีงานพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตร ที่กำแพงแสน 

“ภูมิสถาปนิกมันเกิดขึ้นมาได้มีอนาคตที่ดีเพราะโลกมันกำลังเสื่อมโทรม มีมลพิษ น่าเกลียด สุดท้ายมันทนไม่ไหวต้องแก้ เขาต้องหาคนที่สันทัดทางด้านนี้มาแก้ เมื่อโลกเจริญมากขึ้น คุณค่ามันก็มากขึ้น ความน่าเกลียดของเมืองก็มากขึ้น เมื่อเรามีเงินมากขึ้น ก็ลงทุนแก้ไข ก็ต้องใช้ภูมิสถาปัตยกรรม เราจะเห็นว่าตึกใหม่ๆ เจ้าของเขาจะลงทุนในด้านภูมิทัศน์มาก โครงการร้อยล้าน พันล้าน ลงทุนด้านภูมิทัศน์สิบล้าน จึงเกิดความสวยงาม ในอนาคตผมสามารถตอบได้ว่า ยิ่งนาน วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เราเป็นผู้สังเคราะห์ศาสตร์ ทั้งธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ แหล่งน้ำสามารถนำมาสานให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานคนได้” 

ต้นธารภูมิสถาปัตยกรรม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เป็นบุคคลสำคัญของเมืองไทย ท่านเป็นผู้บุกเบิกด้านการศึกษา และวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศ ได้สร้างสรรค์ผลงาน การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่โดดเด่น เป็นที่กล่าวขานและประสบผลสำเร็จมีมากมายหลากหลายสไตล์ ทั้งอาคาร สถานที่ โรงแรม คอนโดมิเนียม ฯลฯ ผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อาทิเช่น สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 4-5แห่ง สวนหลวง ร.9, อุทยานเบญจสิริ, สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, อุทยานวิทยาศาสตร์ พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคิรีขันธ์, งานภูมิสถาปัตยกรรม วัดโสธรวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา สวนเฉลิมภัทราชินี จังหวัดสุพรรณบุรี ภูมิทัศน์พระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งสร้างสรรค์ผังแม่บท ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และวางผังหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฯลฯท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2520 และเป็นเจ้าของชื่อบริษัทสำนักงานภูมิสถาปนิก ดี เอส บี    แอสโซสิเอส (DSB Associates) สำนักงาน    ภูมิสถาปนิกแห่งแรกของประเทศไทย

แนวความคิดเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมดูเหมือนจะเป็นทางออกหนึ่ง