ประนอม ทาแปง

ประนอม ทาแปง

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2553 ทันทีที่เสียงประกาศถึงรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทานศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) ได้สิ้นสุดลง ช่างทอผ้าสตรีพื้นบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งของบ้านอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ก็เดินขึ้นรับรางวัลอันทรงเกียรติจากฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ท่วงท่าที่แสดงออกให้เห็นได้ถึงความตื่นเต้น เพียงไม่กี่วินาทีต่อจากนั้นที่เธอได้กลับลงมายืนอยู่ ณ ที่เดิม เป็นช่วงเวลาที่เธอจำได้ไม่เคยลืมเลือน เธอคือ ‘ประนอม ทาแปง’

หากมองย้อนกลับไปถึงการเดินทางของเส้นชีวิต เราจะพบว่าเสียงแห่งความอบอุ่นที่คุ้นเคยของเธอนั่นเริ่มต้นมาจาก ‘กี่’ เธอมักจะมองเห็นผู้เป็นแม่นั่งถักทอผืนผ้าอันสวยงามอยู่บริเวณบ้าน ทันทีที่เสียงกี่กระทบกัน ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของเธอกับแม่ก็เริ่มขึ้น ความสนใจในลวดลายของผ้าทออันสวยงามเป็นแรงผลักดันให้เธอเปลี่ยนเวลาวิ่งเล่นตามประสา หันมาหมุนเครื่องอีดเพื่อคัดเมล็ดออกจากฝ้ายเตรียมไว้ให้แม่ได้ใช้ทอ เมื่อผู้เป็นลูกมีใจรัก แม่จึงฝึกสอนให้จากการอีดเพื่อแยกเมล็ด ตีให้ฝ้ายฟู หยีให้เป็นหางสำลี ปั่นให้เกาะตัวกัน แล้วก็เปี๋ยะให้เป็นไจ เรื่อยมาจนถึงการย้อม ลงแป้งเพื่อให้เส้นฝ้ายเหนียว เรียบ แล้วกรอเพื่อเข้าหลอด สำหรับเดินด้าย แล้วจึงนำมาทอ

ในตอนนั้นเธอเฝ้าฟังเสียงกี่ที่หยุดลง นั่นหมายความว่า เพียงช่วงเวลาเล็กน้อยที่แม่พัก เธอจะได้ขึ้นไปกำหนดจังหวะของเสียงที่ว่านั้นแทน 

ห้องเรียนข้างบ้าน

ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านในสังคมเกษตรกรรม ที่มักจะมีการแบ่งช่วงการทำงานตามสภาพอากาศที่เป็นตัวกำหนดพืชพรรณ หมดฤดูทำไร่ ทำนา ย่างเข้าหน้าหนาว แต่ละบ้านก็เริ่มเก็บฝักฝ้ายมาเตรียมไว้ สำหรับให้ผู้หญิงในบ้านไว้ถักทอ เสื้อทุกตัว ผ้าซิ่นทุกผืน จึงล้วนแล้วถ่ายทอดให้สัมผัสได้ถึงความรักความผูกพันของคนในครอบครัวที่แน่นแฟ้นดั่งเช่นการเรียงตัวของใยฝ้าย

“เมื่อก่อนทุกบ้านจะปลูกฝ้ายกันไว้เพื่อทอผ้าใส่กันเอง การซื้อเสื้อผ้าใส่นี่ไม่มีเลย เด็กๆ ก็จะช่วยเป็นลูกมือ ย้อมเปลือกไม้ รากไม้ ใบไม้ ชุบม่อฮ่อม หรือย้อมครามให้ได้สีสันกันบ้าง แต่ดิฉันอยากทำมากกว่านั้น อยากทอผ้าให้เก่งๆ อย่างแม่บ้าง เมื่อความรู้ที่ได้จากการเฝ้าดู และแอบขึ้นกี่ทอเองตอนท่านไม่อยู่ ก็ทำให้เริ่มที่จะทอได้ เริ่มจากผ้าสำหรับถุงย่ามใบเล็กๆ หนึ่งใบ จากนั้นก็มาทอผ้าเย็บที่นอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม

“ทั้งหมดเป็นการทอแบบผ้าผืนธรรมดา เมื่อคิดอยากจะเพิ่มความสวยงาม ก็เริ่มทำลายจกแบบเด็กๆ เป็นลายนก ลายม้า อะไรขึ้นมาบ้าง เมื่อทำได้ก็เริ่มสนใจลายจกอย่างจริงจัง จึงไปแอบดูป้าท่านทอผ้าฝ้ายตีนจก ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลายจกมืออาชีพ คือทั้งทอใส่เอง ทั้งทอขาย พอไปหาแล้วก็นั่งเฝ้าคอยดูกรรมวิธีแต่ละขั้นตอนที่เขาทำ เรียกว่าครูพักลักจำค่ะ พอเริ่มเข้าใจบ้าง ก็อาศัยจังหวะที่ท่านไปทานอาหารกลางวัน หรือไปอาบน้ำ ไปแอบขึ้นกี่ทอต่อเองอีก พอป้าลงมาก็ถามท่านว่าที่เราทำเป็นยังไงบ้าง ทำถูกไหม พอใช้ได้บ้างหรือเปล่าอยู่เสมอ

“เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันสมัยนั้นก็ไม่มีใครสนใจจะทำด้านนี้ มีแต่ดิฉันที่จะคอยเฝ้ากี่ของแม่และป้าไม่ห่าง มีช่วงที่พ่อไม่สบายนอนโรงพยาบาล แม่เองก็ต้องตามไปเฝ้า ดิฉันจึงใช้โอกาสนี้ขึ้นกี่เองเลย คืบหน้ายังไงก็มาคอยถามป้าว่าอันนี้ถูกไหม แล้วถ้าอันไหนผิดก็จะคั่นไว้ไม่แก้เดี๋ยวนั้น เพราะจะได้ทำให้ตนเองได้จดจำไว้เป็นครู เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะได้รู้ว่าเราเคยผิดแบบไหนมาบ้าง

“ตอนนั้นกว่าจะได้แต่ละผืน ปมฝ้ายตะปุ่มตะป่ำเยอะไปหมด ผิดมาเยอะกว่าจะทำได้ดี เมื่อความยาวของผ้าเริ่มออกมาให้เห็น ก็ยิ่งมีความพยายามส่วนหนึ่งก็เพราะอยากได้ผ้าสวยๆ มานุ่ง อีกส่วนหนึ่งก็อยากได้ตังค์ด้วย เพราะพ่อแม่ก็แค่คนทำไร่ทำนา อยากเรียนหนังสือต่อก็ไม่สามารถทำได้ เพราะท่านก็ไม่มีตังค์ให้ จึงจบได้แค่ ป.4 เท่านั้น ผ้าผืนแรกที่ทอออกมาแล้วขายได้ ดิฉันภูมิใจมาก ยังจำความรู้สึกนั้นได้เสมอ

“การทอผ้าคือวิถีชีวิตสมัยก่อน เครื่องใช้ไม้สอยก็ถูกทำขึ้นมาเองในครัวเรือน เสื้อผ้าเราก็ทำใส่กันเอง ลวดลายต่างๆ มันก็เหมือนเป็นตัวแทนของความสามารถ ความสวยงาม อย่างผ้าฝ้ายตีนจกจะมีลวดลายที่พิเศษกว่าที่เคยทำมา นอกจากจะมีลวดลายสวยงามแล้ว จกแต่ละผืนจะมีเอกลักษณ์ของมัน แม้ลายซ้ำกัน แต่สีก็จะไม่มีซ้ำแน่นอน ขึ้นอยู่กับการทอการทำของแต่ละคน เพราะจะมีเทคนิคในการทำต่างกัน เมื่อทอเสร็จก็เก็บไว้ใส่ในงานสำคัญๆ อย่างงานบุญก็จะเอาออกมาใส่ ใครทอลายจกได้สวยก็ใส่อวดกัน ก็จะภูมิใจว่าเรานั้นทำจกเป็น เพราะฉะนั้นในสมัยก่อนจึงนิยมการทอผ้ากันมาก ไม่เหมือนสมัยนี้”

สายลมแห่งความเจริญ

เป็นสัจธรรมอีกข้อของการเวลา เมื่อสิ้นแสงของพระอาทิตย์ลับของฟ้า การคืบคลานของวันใหม่ที่กำลังเคลื่อนไหวภายใต้ความมืด และเมื่อวันเวลาเปลี่ยน การวิวัฒนาการจึงเกิดขึ้น นโยบายการพัฒนาต่างๆ จึงวิ่งเข้ามาแทรกในช่องว่างที่กำลังค่อยๆ จะขยายตัวออกในสังคมชาวบ้าน เงินทองจึงยิ่งกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในวิถีชีวิตเกษตรกรรมมากขึ้น และมากขึ้น

“ตอนนั้นก็มีความสุขกับการได้ทอผ้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งได้เห็นเพื่อนๆ ที่เขาได้มีโอกาสลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ กลับมาบ้านแล้วเขามีตังค์ ได้แต่งตัวสวยๆ ซื้อขนมมาแจกเพื่อนๆ ก็มีความคิดที่อยากจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างเขาบ้าง แต่ก็ไม่รู้จักใคร จึงคิดหาทางไปทำงานอื่นดีกว่า อยากหาตังค์ให้มากขึ้น สุดท้ายได้ไปทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ ดิฉันไปช่วยขายกับข้าว จำความได้ว่าตอนนั้นเหนื่อยมากได้เงินเดือนละแปดสิบบาท ตอนนั้นเราไม่เคยเห็นเงินเยอะ เขาให้เท่าไหร่ก็เอา ทำงานอยู่ได้ปีกว่าๆ ก็เลยเปลี่ยนไปทำงานเป็นคนดูแลคนแก่ งานนี้ได้เดือนละร้อยบาท

“อยู่ได้ไม่ถึงปี ก็ลงไปอยู่กรุงเทพฯ มาเป็นคนทำงานบ้านให้กับคนจีน ช่วงนั้นชีวิตลำบากมาก เจ้าของบ้านเป็นคนเจ้าระเบียบและจู้จี้ที่สุด เสร็จงานก็ไม่เคยได้อยู่เฉย นั่งแป๊บหนึ่งก็โดนเรียกใช้อยู่เรื่อยๆ มันก็เลยเหนื่อยมาก แต่ถือว่าดีนะคะ วันนี้มองย้อนกลับไปมันกลายเป็นแรงผลักดัน เป็นการฝึกตัวเองได้ผ่านตรงนั้นมาได้ มันเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตที่ดิฉันได้เรียนรู้และฝึกความอดทนจนเติบโตได้

“พอกลับมาบ้าน ดิฉันก็ซื้อขนมมาฝากเพื่อนๆ เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ไม่ได้มากมายอะไร หลังจากนั้นก็กลับมาทำไร่ทำสวน อยู่บ้านก็ทอผ้าขายไปด้วย งานอะไรที่มี ดิฉันก็ทำเองหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน ปลูกถั่ว เลี้ยงหมู ขายกล้วย ซึ่งต้องเดินทางไปไกลตั้งหลายกิโล ไปรับกล้วยที่สวนเขา เพื่อไปตัดกล้วยเอง แล้วหาบมาขาย รับเขามาสลึงนึงเอามาขายได้ 50 สตางค์ได้เงินก็เอามาเก็บไว้ ภูมิใจมาก ดิฉันชอบทำงาน ชอบเก็บเงิน ชอบค้าขายอะไรที่ทำแล้วได้ตังค์ ทำหมดเลย

“แต่ถึงเหนื่อยขนาดนั้นก็ยังแบ่งเวลามาทอผ้า ทีนี้ฝีมือก็มีพัฒนาการมากขึ้น จากที่เคยทำลายเดิมๆ ก็เริ่มคิดค้นหาลายใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการประยุกต์ ทั้งสร้างขึ้นมาใหม่ โดยแต่ละลายที่คิดขึ้นมานั้น ต้องใช้จินตนาการเสริมแต่งขึ้นมา ลายใหม่ๆ ก็เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองของเราด้วย เช่นในบางครั้งดิฉันก็จะได้ลายที่มาจากแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะมองเห็นอะไรก็สามารถนำมาใช้ได้หมด อย่างออกไปท้องนาเห็นผักบุ้ง ผักแว่นที่เขาใช้จิ้มน้ำพริกกัน ลายเส้นของใบ ของที่ยอดมันสะบัดสวยงาม สิ่งเหล่านี้สามารถจับเอามาเป็นลวดลายผ้าได้ ซึ่งกว่าจะได้ของแบบนั้นมันก็ต้องมีการร่างก่อน และคนสมัยก่อนก็มีการร่างแบบเหมือนกัน แต่สมัยนี้มันสะดวกขึ้น เราสามารถใช้ครอสติช หรือกราฟ นำมาประยุกต์แทนกันได้ เพราะวิธีการปักครอสติชกับทอผ้าฝ้ายตีนจกจะมีวิธีคล้ายๆ กัน” 

หนึ่งน้ำพระทัย 

กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ที่การทอผ้าฝ้ายตีนจกได้รับการฟื้นฟูและเป็นที่นิยมขึ้นมาอีกครั้ง คุณประนอมต้องฟันฝ่าอุปสรรคมามากมาย เสมือนการใช้ร่างอันเล็กและบอบบางสวนกระแสแห่งวิถีของยุคสมัย และหนทางที่เธอเดินจะมืดมัวสักเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ส่องประกายให้ความหวังของเธอมีหนทางเกิดขึ้นจริงได้นั้น ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมองเห็นถึงความสำคัญและให้การส่งเสริมในศิลปวัฒนธรรมอันสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของความเป็นไทย

“ตอนนั้นดิฉันก็ทอผ้าอยู่บ้านตามประสา ท่านเสด็จมาแจกธงลูกเสือที่จังหวัดแพร่ อยู่ๆ ก็เลยเกิดความคิดความรู้สึกว่าอยากจะนำผ้าที่ดิฉันทอไปถวายท่าน ขนาดป้าหรือใครๆ ที่ทอผ้าอยู่ก่อนแล้วก็บอกว่าไม่เคยคิดที่จะทำเลย แต่อยู่ๆ ดิฉันก็นึกอยากถวาย จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนแปลกใจมาก ครูบ้านใกล้กันที่ดิฉันไปปรึกษา เขาก็บอกว่าไม่ได้หรอก ถ้าจะเอาผ้าไปถวายจริงๆ มันมีขั้นตอนมากมาย และต้องมีการจองเผื่อที่จะถวายกันเป็นเดือนๆ

“ดิฉันได้ฟังก็ตกใจนะ แต่ก็ไม่ละความพยายาม ยังมีความเชื่อว่าน่าจะถวายได้ พอดีดิฉันเองก็เป็นลูกเสือชาวบ้าน ประกอบกับแม่เองก็ต้องการที่จะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าท่านสักครั้ง สองคนแม่ลูกก็เลยหาหนทางที่จะไปให้ถึงขบวนเสด็จ เพื่อรอรับเสด็จให้ได้ จึงตัดสินใจไปกับรถคณะลูกเสือชาวบ้านที่เขาจะไปเข้าเฝ้าอยู่แล้ว โดยไม่ลืมที่จะเอาผ้าผืนที่จะถวายติดไปด้วย ดิฉันพับๆ เอาใส่ไว้ในถุงห่อข้าวนั่นเอง

“เมื่อไปถึงมันเป็นเรื่องบังเอิญมากที่แม่ดิฉันได้ไปนั่งตรงจุดที่เขาจะถวายของกันพอดี ส่วนตัวดิฉันเองต้องไปเข้าแถวลูกเสือชาวบ้าน จึงต้องแยกกัน แม่เลยมาถามเจ้าหน้าที่ว่า ‘ลูกสาวมีผ้ามาจะถวายได้ไหม’ เขาก็บอกว่าได้และขอดูผ้า แล้วก็จดชื่อที่อยู่ไป แล้วบอกให้รอตรงนี้ พอพักเที่ยงดิฉันก็เดินมาหาแม่เพื่อมากินข้าว เจ้าหน้าที่ก็เลยบอกว่าไม่ต้องไปเข้าแถวแล้ว ให้มารอถวายของที่นี่ ตื่นเต้นมากเลยในวันนั้น เพราะไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีโอกาสนี้ พอท่านเสด็จมาท่านก็รับสั่งว่า ‘สวยมาก เป็นของเมืองแพร่เองเหรอ ใครเป็นคนสอน ชอบทำไหม จะส่งลายสวยๆ มาให้’ ความรู้สึกตอนนั้นมันปลื้มปิติมาก จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้ยังสามารถจำภาพ ความรู้สึก และทุกคำที่ท่านรับสั่งกับดิฉันได้ไม่เคยลืม

“ตอนที่คิดอยากจะถวายผ้านั้น เป็นช่วงอายุ 20 กว่าแล้ว เริ่มมีความคิดที่จะผลักดันงานผ้าทอนี้ให้ได้ ดิฉันเองก็ไม่ได้มั่นใจในฝีมือตัวเองมากขนาดนั้น แต่มันมีใจอยากจะเอาฝีมือที่เราทำด้วยใจไปถวายท่าน ไม่ได้รู้ว่าฝีมือเราประมาณไหนหรอก แค่มีใจอย่างเดียว แล้วยิ่งพอท่านชม ก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ยิ่งพัฒนางาน พัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

“จากนั้น 15 วัน ทางสำนักราชเลขา ก็ได้นำผ้าผืนนั้นมาตามหาดิฉันที่จังหวัด อำเภอ บ้านกำนัน เรื่อยมาจนถึงที่บ้านผู้ใหญ่ ตามหากันมาเป็นทอดๆ เพราะการติดต่อสื่อสารสมัยนั้นตอนปี พ.ศ.2522 นั้นค่อนข้างลำบาก การเดินทางยังไม่สะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้ ถนนหนทางยังเป็นลูกรังแดงๆ อยู่เลย ตอนนั้นรถยนต์ รถตู้นี่ยังไม่ค่อยได้เห็นกัน พอมีรถตู้มาจอด ชาวบ้านตื่นเต้นกันใหญ่ เด็กๆ ก็วิ่งตามรถตู้กันเป็นแถวๆ

“เราเห็นก็คิดว่าเขาวิ่งตามอะไรกันหนอ ใครมาบ้านผู้ใหญ่กันเยอะแยะเลย ตอนนั้นกำลังนั่งทานข้าวกันอยู่กับครอบครัวเลยไม่ได้เอะใจอะไร เป็นช่วงเที่ยงพอดี คณะท่านผู้หญิง กับข้าราชการต่างๆ ก็มาแกะห่อข้าวทานกันตรงนั้น แล้วก็มีท่านผู้หญิงคนหนึ่งถือผ้าเดินมาบอกว่าท่านโปรดมาก อยากให้ดิฉันช่วยสอนชาวบ้านทอผ้าเยอะๆ แล้วท่านจะรับซื้อให้

“ต่อมา ท่านก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา โดยแรกๆ รวบรวมคนได้ประมาณ 15 คน ให้ดิฉันคนสอนทอผ้า พอทอได้คนละผืน ครบ 15 ผืนทางหน่วยงานราชการเขาก็มารับผ้าไปส่งให้ในวัง จากนั้นท่านก็ประทานเงินมาให้ 

ชาวบ้านดีใจมาก เพราะสมัยนั้นชาวบ้านแทบจะไม่ค่อยได้เคยเห็นเงินแบงค์ร้อยกันเท่าไหร่ เพราะก็หากินกันตามประสาชาวบ้านสมัยก่อน พอได้เงินมาก็ดีใจกันใหญ่ ใครๆ ก็อยากจะมาเรียนทอผ้ากันมากขึ้น จึงมีการขยายไปเรื่อยๆ และเริ่มมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น

“จากนั้นท่านทรงพระเมตตาให้ดิฉันได้ไปเรียนทอผ้าไหมเพิ่มเติมที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ เพราะท่านตรัสว่าทอผ้าฝ้ายเก่งแล้ว ให้มาหัดทอผ้าไหมดู ช่วงนั้นท่านเสด็จมาแปรพระราชฐานที่พระราชตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่เชียงใหม่ ก็โปรดให้รถมารับดิฉันไป ได้ไปเรียนงานไหมซึ่งถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อนกว่างานฝ้ายและยากกว่ามาก ไหมตอนแรกมันจะมาเป็นรัง เราก็นำมาสาวเป็นเส้น พอได้เส้นจะนำมาทอเลยก็ไม่ได้เพราะมันจะแข็งๆ อยู่ ก็นำมาฟอก มาต้ม ใช้ด่างธรรมชาติอย่างน้ำจากขี้เถ้า ให้มันนิ่ม แล้วก็นำมาตีเกลียวเพื่อให้เส้นมันเหนียว จะได้ทอได้อย่างสวยงาม

“ไปทำใหม่ๆ ก็ทำผิดทำพลาดอยู่เยอะเหมือนกัน เส้นไหมมันก็จะยุ่งๆ หน่อย พอพันกันดิฉันก็ม้วนๆ เก็บซ่อนเอาไว้ (หัวเราะ) นานอยู่เหมือนกันกว่าจะได้สักผืนหนึ่ง ผืนแรกนี่ปีกว่าถึงจะเสร็จ เพราะมันละเอียดมาก จากนั้นท่านก็นำเสื้อตัวอย่างของท่านมาให้ดิฉันแกะลาย เพื่อจกลาย

“พอได้ไปเรียนก็ทำให้ดิฉันได้รู้เรื่องการปรับเปลี่ยนงานทอให้เข้ากับความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่จะนำไปขายด้วย เพราะงานดั้งเดิมสีสันจะฉูดฉาดกว่ามาก เมื่อนำไปขายที่โน่น คนจะไม่นิยมใส่กัน เขาจะนิยมเรียบๆ มากกว่า เพื่อความสะดวกต่อโอกาสในการสวมใส่ จึงต้องลดทอนให้สีเบาลง ด้วยคุณประโยชน์ที่ดิฉันได้รับจากตรงนี้ ดิฉันก็เลยตั้งปณิธานว่าจะสอนให้ชาวบ้านสืบไป จากนั้นนอกจากสอนที่ศูนย์ฯ แล้ว ดิฉันก็ออกไปสอนให้ชาวบ้านแทบจะทุกหมู่บ้าน” 

เมื่อเสียงกี่บรรเลง

ในเมื่อเงินทองเป็นสิ่งที่จะทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น การละทิ้งบ้าน ทิ้งพ่อแม่ คนแก่เฒ่าไว้เพียงลำพัง แรงงานหนุ่มสาวมุ่งหน้าลงสู่กรุงเทพฯ เพื่อหวังฝากอนาคตทั้งของตนเองและครอบครัวไว้กับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีการพัฒนาความรู้ในด้านการทอผ้าจากคุณประนอม การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและส่งเสริมอาชีพจึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตที่ดีขึ้น

“จากนั้นมาชาวบ้านหันกลับมาทอผ้ามากขึ้น เสียงกี่ทอผ้าแต่ละบ้านก็กลับมาดังขึ้นอีกครั้ง บ้านไหนมีลูกก็สอนลูก มีหลานก็สอนหลาน เงินที่ได้จากการทอผ้านี้ บางคนเก็บหอมรอมริบจนส่งเสียลูกๆ ให้เติบโตได้ศึกษาเล่าเรียนสูงๆ ก็มี

“สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้งานทอผ้าเห็นผลสำเร็จก็คือต้องเป็นคนที่มีความเพียร ท้อได้ เพราะมันเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ไปพักแล้วต้องกลับมาทำให้เสร็จ มันก็ไม่ยากหากมีความเพียรพยายาม อย่างการออกไปสอนชาวบ้านนั้น ถ้าคนที่มีพื้นฐานอยู่แล้วสอนเพียง 15 วันก็เป็น แต่บางทียาวนานกว่านั้นก็ไม่เป็นไร เราทำด้วยใจ นานเท่าไหร่ก็ยินดี เพราะอยากให้พวกเขาได้นำไปสานต่อจากเรา

“ดิฉันเองก็มีช่วงที่ท้อ เพราะทออย่างไรก็ไม่เสร็จสักที ผืนที่นานๆ นี้ก็ใช้เวลาทออยู่สี่ปี พร้อมจะทอก็นั่งกี่ ใจไม่นิ่งก็ลง การทอผ้านั้นใจเราคิดอะไรอยู่ ผ้าที่ได้จะเป็นตัวบ่งบอก อย่างบางคนทะเลาะกับใคร โกรธใครมา ลายก็จะแสดงออกมา แต่ละคนที่ทอเหมือนจะแสดงถึงจิตวิญญาณของผู้ทอ เคยมีคนทอผ้ามาส่ง ดูลายแล้วก็ผิดหมดเลย พอถามเขาก็บอกว่าทะเลาะกับสามีมา (หัวเราะ) ก็เข้าใจ บางทีใครอารมณ์ไหน เสียงกี่ก็บอกได้แล้ว ศิลปะนี้มันอยู่ที่จิตใจที่คนจะถ่ายทอดออกไป

“ความงดงามคือสิ่งที่สะท้อนจินตนาการ จิตวิญญาณ และความตั้งใจจริงในชิ้นงานที่เราทำขึ้นมา ความงดงามของจก คือลวดลาย สีสัน เทคนิค วิธีการทำและจิตวิญญาณ มันคือองค์ประกอบออกมากว่าจะเป็นผ้าแต่ละผืน ผ้าแต่ผืนที่ทอออกมาจึงเปรียบเสมือนเป็นลูกๆ ของเรา

“ผ้าที่ยาวที่สุดในโลกผืนนี้ ดิฉันใช้เวลาทอกว่า 20 ปี ตอนนั้นลายผ้าแบบผืนนี้ได้ความคิดมาจากการไปตักบาตรที่วัดสะแล่ง ที่อำเภอลอง ได้ไปเห็นผ้าของท่านครูบาสมจิต ที่คนโบราณเค้าทอไว้ สวยมากก็เกิดชอบขึ้นมา เลยขอยืมท่านมาแกะลาย เมื่อทำเสร็จ ก็นำไปส่งประกวดที่ศูนย์วัฒนธรรม ปรากฏว่าได้ที่หนึ่ง ในลายผ้าผืนนั้นมันจะมีลายที่ไม่เต็มดอก เราก็เลยมานั่งคิดว่าถ้ามีลายเต็มดอก และมีลวดลายอื่นๆ เพิ่มเข้ามาประกอบกันว่าจะสวยแค่ไหน พอทำออกมาแล้วก็ชอบ ลายมันละเอียดมาก พิเศษกว่าผืนไหนๆ เลยอยากทอไว้ยาวๆ ให้คนรุ่นหลังได้ดู ได้รู้ว่าลายละเอียดลายยากเป็นแบบไหน มีคนถามเยอะว่าทำไปทำไม เราก็บอกได้ว่าทำให้คนรุ่นหลัง

“เคยมีคนมาขอซื้อเป็นล้านก็ไม่ขายนะ เพราะถ้าขายก็หมดไป ไม่มีเก็บไว้ให้ลูกหลาน ผ้ายาวขนาดนี้สามารถเอาใช้นุ่งห่มได้จริงๆ ในผ้าผืนเดียว ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการนุ่งนั่นเอง จะมีการพันการเหน็บ เอาไว้ใช้ในงานสำคัญ งานแสดงโชว์อะไรแบบนี้ ทุกวันนี้ก็ยังจะทอต่ออยู่เรื่อยๆ ยังเหลืออีกหลายร้อยเมตรอยู่ มีลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเสมือนเป็นบันทึกส่วนตัวของเรานะ ที่สำคัญเอกลักษณ์ในงานทอของดิฉันคือลายหงส์ที่ละเอียดและยาวไปจนสุดผืน ทั้งสีและลายจะไม่เหมือนใคร หรือถ้าใครจะทำขึ้นมาก็ไม่เหมือน เพราะเป็นลายโบราณ”

ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน 

นอกจากกุศโลบายต่างๆ ที่คุณประนอมได้คิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการดึงดูดใจให้เด็กๆ รุ่นใหม่หันมาสนใจที่จะเรียนรู้การทอผ้าในช่วงปิดเทอมกันมากขึ้นแล้ว การใช้เจตนารมณ์ที่ดีร่วมกันอย่างการจัดตั้ง “จุลกฐิน” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยด้วยกัน

“การสืบสานต่องานศิลปะวัฒนะธรรมพื้นบ้านไทย อย่างการทอผ้าฝ้ายตีนจกนี้ เราต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย พยายามทำให้เด็กๆ รุ่นหลังหันมาสนใจงานทอผ้า เรามีการส่งเสริมให้เด็กๆ เข้ามาเรียนในช่วงปิดเทอม ใครอยากนำผ้าของเราไปใส่หรือใช้เพื่อการเผยแพร่ เรายินดีให้การสนับสนุนเต็มที่

“เมื่อก่อนผ้าทอตีนจกไม่ได้เป็นผ้านุ่งที่ชาวบ้านธรรมดาจะได้ใส่กันนะ มีไว้ให้สำหรับเจ้านายเชื้อเจ้าใส่เท่านั้น ทุกวันนี้ใครก็สามารถใส่ได้ จึงอยากให้ทุกๆ คนได้หันมาใส่กันให้มากขึ้น ทางรัฐบาลน่าจะมองเห็นจุดนี้ นี่คือของดีของประเทศไทย ลำพังเพียงแค่กลุ่มชาวบ้านก็คงไว้ได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

“มีคนเคยบอกว่าผ้าไทยมีราคาแพง หันไปใส่สำเร็จรูปดีกว่า ดิฉันอยากจะบอกว่ามันมีทั้งอย่างถูกและอย่างที่แพง เพราะมันมีลวดลาย เทคนิคขั้นตอนที่ค่อนข้างลึกซึ้ง และออกมาสวยงาม จึงใช้เวลานานในการทอแต่ละผืน อยู่ที่คุณจะเลือกสวมใส่แต่ละโอกาสมากกว่า และหากมองว่านี่คือคุณค่าของความเป็นไทยแล้ว ไม่มีสิ่งไหนที่เรียกว่าแพง”

ทุกวันนี้สิ่งที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้ทำนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในตัวงานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในตัวตน วันไหนที่เสียงกี่ทอผ้าหยุดลง นั่นหมายถึงลมหายใจของเธอก็หยุดลงเช่นกัน

‘เพียรทำด้วยใจรัก เพื่อตระหนักวันสูญสิ้น ฝากไว้ในแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินแห่งปัญญา’ เป็นกลอนที่เธอกล่าวให้เราได้ฟังอีกครั้งก่อนจากลา 

ลองหลับตาแล้วจินตนาการว่า ระหว่างท่ามกลางเสียงเครื่องจักรในโรงงานทอผ้า