คำอ้าย  เดชดวงตา

คำอ้าย เดชดวงตา

แต่ในวันนี้ วันที่หมู่เรือนไม้เคยตั้งสง่าได้มลายหายไปแล้วพร้อมกับเพลิงที่โหมกระหน่ำ สิ่วกับไม้ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวแห่งชีวิตเรื่องใหม่ของครูท่านนี้ ครูคำอ้าย เดชดวงตา ศิลปินผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (แกะสลักไม้)

เมื่อครั้งยังเยาว์วัย การได้มาซึ่งการศึกษานั่นเป็นเพราะการได้รับความอนุเคราะห์จากบาทหลวงในศาสนาคริสต์ ครอบครัวของครูคำอ้ายมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือการเป็นช่าง ครูมีบิดาเป็นช่างไม้ ปู่เป็นช่างสลัก ชีวิตในวัยเริ่มต้นจึงได้รับอิทธิพลของงานช่างมาโดยไม่รู้ตัว

เมื่อครอบครัวเข้าร่วมในศาสนาคริสต์ซึ่งแตกต่างจากผู้คนรอบข้าง การย้านถิ่นฐานเข้าไปตั้งรกรากในป่าจึงเป็นทางออกของครอบครัว ช้างจึงเป็นสัตว์ที่ครูได้ใกล้ชิด และได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ในผลงานแกะสลักไม้ของครูในเวลาต่อมา

หากจะบอกว่าครูคำอ้าย คือปรมาจารย์ด้านการแกะสลักไม้ ก็คงไม่ผิด เขาริเริ่มการเรียนการสอนแกะสลักไม้ ด้วยการให้ความสำคัญของกระบวนการการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ด้วยเพราะตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นครู ทุกครั้งที่สอน เขาทำเพื่อให้ทุกคนได้เป็นครูอย่างแท้จริง 

สอนคนให้เป็นครู

แม้จะเป็นคนเชียงใหม่ แต่ครูคำอ้ายกลับมาสร้างบ้านและทำงานอยู่ที่เมืองงาว จังหวัดลำปาง หลายคนคิดถึงนัยยะสำคัญที่เขาอาจแฝงเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็แค่อยากจะมีพื้นที่สำหรับหายใจ และใช้ผลงานที่ได้สร้างมาเพื่อเป็นสมบัติของชุมชน

“ผมมาอยู่ที่นี่นานแล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยไม้ งานของผมเองจำเป็นต้องใช้ จะไปอยู่ที่ไหนไกลได้ ชาวบ้านเขาก็หาไม้มาด้วยอาชีพของเขา มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะเรียกซื้อจากพวกเขา

“ไม้จำนวนมากที่ผมได้นำมาใช้สร้างสรรค์งานนั้น ผมไม่ได้เกี่ยงว่าจะต้องเป็นไม้เนื้อดี รูปทรงดีอะไรแบบนั้น งานของผมใช้ไม้อะไรก็ได้ ผมมองว่ามันคือวัตถุดิบของงานเราได้หมดเลย แต่เมื่อก่อนไม้หน้าใหญ่ๆ จะมีอยู่เยอะมาก เดี๋ยวนี้น้อยลงแล้ว ถ้าผมไม่ได้มาเก็บไว้ในงาน ป่านนี้อาจถูกแปรรูปเป็นอย่างอื่นไป ผมจึงนำไม้ที่ตายแล้วมาสร้างสรรค์ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

“ก่อนหน้านี้ผมรับราชการเป็นอาจารย์อยู่ 14 ปี ก็ต้องรีบออกมา เพราะผมมีแนวคิดที่คนโบราณบอกว่าคนที่อยู่จนเกษียณนั้นเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง มีคำโบราณที่ว่า สล่าแปลงบ้านอยู่เฮือนรุ (ช่างปลูกบ้านอยู่บ้านผุๆ พังๆ) สล่าทำประตูทำหน้าต่างเอากระสอบปิด (ช่างทำประตูหน้าต่าง ก็งัดเอาไปขายหมด) แล้วสล่าแกะสลักวักจี่ มันจะมีอิหยังเหลือ (ช่างแกะสลักควักออกหมดมันจะเหลืออะไร) ผมเลยไม่ขายงาน บนโลกนี้ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ขายได้หมด ก็เลยมีความคิดที่จะทำอะไรที่มันขายไม่ได้ดู

“ทุกวันนี้ก็ยังแกะงานเองอยู่ตลอด ทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก นอกนั้นก็มีสอนลูกศิษย์ลูกหาอยู่เรื่อยๆ เพราะผมเป็นครู พอได้เป็นครูแล้ว มันก็เป็นมาตลอดทั้งชีวิตนั่นแหละ ศูนย์ส่งเสริมชุมชนหัตถกรรมที่ตั้งขึ้นมานี้ก็เพื่อสอนแกะสลักไม้ให้ชาวบ้าน ไม่คิดค่าใช้จ่ายนะ อยากถ่ายทอดให้ของพวกนี้มันสานต่อไปยังคนอื่นๆ เขาจะได้นำไปสอนกันต่อๆ ไป บ้างก็ใช้เป็นอาชีพ บ้างก็นำไปสอนต่อ นั่นก็สุดแล้วแต่เขา แต่สิ่งที่ผมสอนเน้นๆ นอกเหนือไปจากเนื้อหาของงานแกะไม้แล้ว ผมจะสอนให้เขามีจิตใจแห่งความเป็นครูไปด้วย 

“คุณสมบัติของช่างแกะสลักคือมีความเพียร วิริยะ อุตสาหะ เพียงเท่านี้ มันก็ไม่ยากแล้ว ผมอยากให้ทางสถาบันที่สอนศิลปะเน้นกระบวนการให้แน่น คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ ผมแค่อยากถามว่าจะมีได้อย่างไรถ้าคุณยังไม่ได้ลองทำ ทุกคนมีศิลปะในตัวเองทั้งนั้น การเรียนไม่จำเป็นว่าจะจบที่สถาบันไหน แต่ขอให้คุณคิดเป็น ทำเป็นเท่านั้นก็พอ”

ผลงานสะท้อนตัวตน

เสียงสิ่วที่กะเทาะเนื้อไม้ยังคงดังต่อเนื่อง แม้ในยามที่สล่าคนนี้วางมือ เสียงเหล่านั้นก็ยังคงดังจากมือของลูกศิษย์ให้ได้ยินตลอดเวลา บนเนื้อที่อันกว้างใหญ่ของสถานที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้เป็นแหล่งความรู้ สล่าคำอ้ายหรือครูคำอ้าย กลับใช้พื้นที่เพียง ‘แค่นอนได้’ ไว้พักเพียงลำพังกับผลงาน

“เวลาผมมองไปที่ท่อนไม้ ผมก็จะมองเห็นรูปลักษณ์ของสิ่งที่จะแกะสลักลงไป เสน่ห์ของงานไม้คือมันสามารถให้เราทำงานกับมันได้ สามารถปั้นมันได้ในแบบที่เราต้องการ เพราะงานของผมนั้นออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว จากความรัก โลภ โกรธ หลง เอาความเป็นตัวตน ความมีชีวิตและจิตวิญญาณใส่ลงไป เมื่องานเสร็จออกมาแล้ว เราก็จะรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร เรียกว่ามีอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ แล้วใช้ไปในทางสร้างสรรค์ เหมือนบันทึกมันลงไปในงาน เมื่ออารมณ์จบ มันก็ได้งานไว้

“’งานของผมเป็นประติมากรรมรูปลักษณ์ของช้าง การเรียนแกะสลักไม้นั้น ช้างถือเป็นพื้นฐานของช่างแกะ เพราะโครงสร้างของช้างมันใหญ่ ขาไม่หักง่าย แล้วช้างแกะสลักเป็นเครื่องสักการะถวายต่อศาลพระภูมิตามประเพณีไทย เป็นของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวชอบ ผมก็ฝึกแกะช้าง ทำหลายๆ แบบ ก็ขายได้ ผลงานหลายชิ้นเป็นงานอีโรติกหรือศิลปะเชิงสังวาส มันเป็นการถ่ายทอดจินตนาการ มีแรงบันดาลใจมาจากผู้หญิง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เราหนีไกลไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะความที่เราหลงในผู้หญิง มีความรัก ความรู้สึกต่างๆ ก็ใส่มันไปในงาน งานแต่ละชิ้นมันคือเรื่องๆ หนึ่งของชีวิต มันก็คือ Love Story ของผม

“อย่างกระดึงยักษ์ มันคือความหมายของชีวิต ผมต้องการสร้างให้คนถามว่าทำไมต้องใหญ่ จะได้บอกว่า ผมทำให้มันเป็นสัญลักษณ์ของอีโก้ของของท้องถิ่น เขาทำไร่ทำนา ใช้วัวควายช่วยทำงาน แต่เมื่อข้าวกำลังขึ้นไม่มีที่จะเลี้ยงพวกมันเขาก็ตัดสนตะพายแต่ใส่กระดึงไว้นะ แล้วไล่เข้าป่าไป เห็นไหมว่าคนเรามันเห็นแก่ตัวแค่ไหน ปล่อยเขาไปแล้วยังจะแสดงความเป็นเจ้าของเขาอีก ที่ร้ายที่สุดก็คือความเป็นคน กระดึงในร่างคนอย่างผู้หญิงนั่นเอง (หัวเราะ)

“เมื่อตอนหนุ่มๆ คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องเลยนะ แต่พอแก่ลงกลับมีผู้หญิงเข้าหามากมาย ในชีวิตผมมีอะไรที่นึกไม่ถึงเกิดขึ้นมากมาย อย่างแฟนผมคนแรกได้เจอกันตอนไปเที่ยวที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ก็จีบกันตามประสา พอขากลับเพื่อนๆ เขาก็มาส่งผมที่นี่ (ศูนย์ฯ) แฟนผมเขาก็บอกว่าไม่กลับแล้ว จะอยู่กับผมที่นี่ ผมก็งง จะอยู่กับผมได้อย่างไร ผมไม่มีอะไรนะ เขาก็บอกว่านี่ไงมีบ้านเยอะแยะเลย แต่พออยู่ไปนานๆ เข้า เขาก็มาบอกว่า เธอนี่ไม่มีอะไรจริงด้วย (หัวเราะ)

“อัตลักษณ์ของผมก็คือผมต้องการใช้ชีวิตให้เป็น คือการกำหนดลมหายใจ มันคือเรื่องง่ายมากๆ แต่คนเราไม่ค่อยได้คิดเท่านั้น ถ้าเราไปคิดหาความหมายอะไรที่มากมายซับซ้อนมันก็ไม่ต้องทำอะไร

“ที่ผมสนใจงานด้านการแกะสลัก เพราะอยู่ว่างๆ ไม่อยากเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ ก็เห็นว่างานแกะสลักมันเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำ ก่อนหน้านั้นผมก็เคยปั้นมา มันต่างกันนะ ปั้นมันใส่ แต่แกะมันเอาออก

“การที่เราจะรู้ว่าเอาออกได้พอดีแค่ไหนมันก็อยู่ที่ประสบการณ์ของเรา ทักษะการแกะสลัก นั้นเราก็เริ่มทำจากไม้ชิ้นเล็กๆ ก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็ขยายไปตามเงื่อนไขของประสบการณ์ เมื่อมีเราไอเดียเมื่อไหร่ ก็รีบสเก็ตซ์ก่อน แล้วค่อยมาลงในเนื้อไม้”

ความว่างเปล่าแห่งความทรงจำ

แม้ทุกวันนี้ด้วยชื่อสียงและผลงานที่ยังหาใครทัดเทียมได้ยาก แนวทางการได้มาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีจึงมีได้ไม่ยาก หากแต่ทุกวันนี้เขากลับใช้ชีวิตเฉกเช่นคนที่คิดว่าทั้งชีวิตนี้มีแต่งาน และเมื่ออาณาจักรหมู่เรือนใหม่อันยิ่งใหญ่กลับตกอยู่ท่ามกลางแสงสีแห่งเปลวไฟ สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือยืนดูอย่างเงียบๆ

“จากที่เคยมีหมู่เรือนไม้สวยงามตั้งรายล้อมเป็นรูปตัวแอลอยู่รอบๆ บริเวณนี้ ทุกวันนี้เหลือเพียงแค่ภาพวาดของลูกชายที่เป็นครูสอนวาดเขียนได้เขียนขึ้นมาเมื่อครั้งก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าช็อตจนเกิดเพลิงไหม้ สูญเสียไปสิบกว่าล้าน ความรู้สึกเมื่อมองเห็นไฟที่ลุกโชนจากหมู่เรือนไม้ นั่นเปี่ยมไปด้วยความดีใจว่าผลงานของเราที่สร้างขึ้นมานั้นมันก็โหมไฟแรงอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

“ผมยืนมองอยู่เห็นรถดับเพลิงวิ่งมากันหลายคัน แต่กลับไม่มีน้ำ ผมก็ถามว่า ‘เอ้า..แล้วน้ำล่ะ’ เขาก็บอกว่าถ้าใส่น้ำมาแล้วมันจะวิ่งช้า (หัวเราะ)

“พอไฟมอดลงจึงค่อยเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เพื่อนผมเขาชวนไปทำใจที่ฮอลแลนด์อยู่สามเดือน เพราะว่านั่นมันไม่ใช่ชีวิตของเรา เมื่อเราทนกับความรู้สึกเสียใจได้แล้วก็กลับมา

“จากนั้นก็ยังเหลือบ้านอยู่อีกหนึ่งหลัง แต่ก็ขายให้กับฝรั่งไปเพียงเพราะแค่ผมถามว่าเขามีตังค์เหรอ เขาบอกว่ามี เขาจะเอาไปทำเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่เบลเยี่ยม ผมก็พูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าอยากได้คุณก็ขอสิผมจะให้ ผมเองก็คิดว่าเป็นไปได้ยากที่เขาจะซื้อได้ เพราะธรรมดาบ้านเก่าที่ลำปางเขาห้ามขนย้ายนะ แต่ในที่สุดเขาก็มาซื้อจนได้ ที่เอาไปได้เพราะเขาสนิทกับทางราชวงศ์เบลเยี่ยม ผมก็ให้ เขาก็มารื้อเอาไป ความรู้สึกที่เขาได้เอาบ้านไปนั้น มันก็เฉยๆ นะ คิดว่าของแบบนี้มันอยู่ที่ไหนก็ได้ มันก็ยังเป็นงานที่เกิดจากเราอยู่ดี ผมตั้งใจทำงานคืนให้กับโลก

“ตอนนี้ผมมีความตั้งใจจำทำเป็นสตูดิโอเก็บผลงานศิลปะต่างๆ ของศิลปินหลายคนเก็บเอาไว้ เพราะทุกครั้งเมื่อมองเห็นผลงานที่ถูกทิ้งทั้งจากการเสนอผลงานในการรับรางวัลต่างๆ ผมก็เข้าใจนะว่าอาจด้วยระยะเวลาในการจัดเก็บ ประกอบกับศิลปินบางท่านอาจไม่สะดวกที่จะมารับผลงานกลับไป ในฐานะคนที่ทำงานศิลปะ ก็เกิดความรู้สึกเสียดาย เพราะถึงแม้ผลงานเหล่านี้จะไม่ได้รับรางวัลอะไร แต่มันก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง ผมจึงขอมาเก็บไว้ เพื่อให้หลายคนได้ชม

“ผมทำงานศิลปะก็จริง แต่ไม่อยากให้คิดว่าผมคือศิลปินอะไรเลย เพราะผมถือว่าผมคือครู คือคนที่ทำงานศิลปะมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่ศิลปินที่ดูแปลกแยกจากคนอื่น ผมเป็นคนธรรมดา เมื่อเป็นครู ความเป็นผู้ให้มันจะสถิตอยู่ในใจ มันไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่มากกว่านี้อีกแล้ว” 

About Him

เขาคือศิลปินด้านการแกะสลักไม้ เป็นผู้ริเริ่มการสอนแกะสลักไม้ด้วยวิธีการสมัยใหม่ ใช้ชุดสื่อการสอนสำเร็จรูป เป็นผู้มีแนวคิดนำสมัยประสานประโยชน์และใช้บ้านของตนเองเป็นสถานที่ถ่ายทอดการแกะสลักไม้ และก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมชุมชนหัตถกรรม” (บ้านช้าง) ขึ้น รวมทั้งมีแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มกองทุนการแกะสลักไม้ เพื่อให้ช่างแกะสลักไม้มีความมั่นใจและมั่นคงในอาชีพ สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่มิใช่มุ่งเพียงการค้าเท่านั้น

ปัจจุบัน ครูคำอ้ายทำหน้าที่เป็นวิทยากรด้านศิลปหัตถกรรมการแกะสลักแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน, อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าโครงการ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปะชุมชน”

ผลงานของครูคำอ้ายมีมากมาย แต่ที่น่าภาคภูมิใจเป็นพิเศษก็คือผลงานการแกะสลักรูปช้างของครูได้ไปปรากฏในงานการตกแต่งริมระเบียงที่พระราชตำหนักดอยตุง

เสียงดังเป็นจังหวะของสิ่วที่กระทบลงบนเนื้อไม้ บอกเรื่องราวความเป็นมา