มนัส ปิติสานต์

มนัส ปิติสานต์

หลงใหลในตัวโน้ต

จากครอบครัวข้าราชการสู่วงการเพลงได้ด้วยการผลักดันจากพี่ชายเมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ด้วยอาจเห็นพ้องว่าการได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกองดุริยางค์ทหารอากาศจึงน่าจะเป็นหนทางดีต่อการใช้ชีวิตแบบของน้องชาย

“ตอนนั้นผมได้เรียนเรื่องดนตรีกับพระเจนดุริยางค์ เรียนเรื่องภาษากับหม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร มีเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันคือคุณสง่า อารัมภีร, คุณปรีชา เมตไตรย์, คุณชลหมู่ ชลานุเคราะห์ ฯลฯ เมื่อเรียนจบสงครามเลิกพอดี อยากจะไปเรียนต่อสายสามัญจึงรู้ว่าได้รับการบรรจุเป็นทหารสำรองแล้วโดยไม่ต้องถูกเกณฑ์ ก็ปล่อยเลยตามเลย ผมจึงเป็นนักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารอากาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

“เรื่องของความชอบดนตรีมันก็พอดีกับที่ผมชอบอ่านหนังสือประเภทกาพย์กลอนอยู่แล้ว ครูสองคนก็ช่วยกันเพาะบ่ม อย่างท่านพระเจนฯ จะสอนทุกสิ่งทุกอย่างเขียนกับทำนองเพลง อารมณ์เพลงทุกรูปแบบ ส่วนหม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร ท่านสอนเขียนเพลง เขียนคำร้อง เขียนบทกวีต่างๆ ว่าหัวใจของเพลงๆ หนึ่งควรอยู่ตรงไหน ควรใช้อย่างไร มันต้องมีที่เดียวเพื่อความเด่น จะไปใช้สะเปะสะปะไม่ได้

“จากนั้นผมก็เล่นดนตรีให้กับคณะละครเวที มีใครให้ไปเล่นที่ไหนก็ไป สักพักก็รวมวงกันกับคุณสง่า อารัมภีรเพราะเราสนิทกัน ก็เล่นดนตรีด้วยกันมาตลอด อย่างเวลาที่คุณสง่าแต่งเพลงอัดแผ่นเสียงจึงมักได้ร่วมงานกันเสมอๆ รวมทั้งช่วยแก้ไขคำร้องบ้าง ทำนองบ้าง เมื่อเวลาอัดเสียงที่ห้องเสียง จนเขาบอกให้ลองแต่งเองดูบ้าง ก็เลยได้มีผลงานขึ้นมา 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมแต่งเพลงร้องประมาณ 60 เพลง และเพลงละคร 60 เพลง ถือว่าพอดีๆ สำหรับตัวผมเองนะ ส่วนใหญ่เพลงละครก็จะแต่งให้ ดาราวิดีโอ 

โทรทัศน์ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 5 เพลงดังๆ สมัยนั้นก็มี พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา, ขวานฟ้าหน้าดำ, ดาวพระศุกร์, เสน่ห์หา ฯลฯ”

บทเพลงจากจิตวิญญาณ

ว่ากันว่าแรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้ทุกที่ ในแต่ละเนื้อเพลงของครูคนนี้ มักมีที่มาอย่างน่าอัศจรรย์ ในการแต่งเพลงแต่ละครั้งครูมนัสมักใช้พลังกายและใจ ทุ่มเทกลั่นกรองเป็นถ้อยคำที่สะท้อนความคิด ณ ห้วงเวลานั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ความพิถีพิถัน แฝงไว้ด้วยคุณค่าแห่งความหมาย ทำให้ผลงานเพลงทุกชิ้นของครูเพลงคนนี้คืองานคีตศิลป์อย่างแท้จริง

“ในความเป็นนักแต่งเพลงอาชีพ ผมยอมรับว่าเขียนเพลงเพื่อเลี้ยงชีพอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นอาชีพสุจริต ใช้มันสมอง ใช้อารมณ์ฝัน จินตนาการ ผมดำเนินชีวิตด้วยบทเพลงมาตลอด จนมาหยุดเขียนตอนอายุ 80 ปีนี้เอง พอมีพระราชบัญญัติออกมาว่าผู้ว่าจ้างคือผู้รักษาสิทธินั่นเอง ผมเลยไม่เอา เพลงสุดท้ายที่เขียนก็จบที่ขุนเดช จนเสร็จแล้วก็ลงมา

“พอได้พูดคุยกันก็ทราบว่าคนขับแท็กซี่เองก็เป็นนักดนตรีเหมือนกัน ทีนี้คุยถูกคอก็เลยบอกเขาอย่าพึ่งกลับไปกินเหล้าด้วยกันก่อน (หัวเราะ) พอกลับผมจะให้ตังค์เขาเพิ่ม เพราะอยู่ด้วยกันถึงดึกดื่น เขาก็ไม่เอา บอกว่าพอใจเอาเท่าที่ตกลงไว้ เพราะเราเดินบนถนนเส้นเดียวกัน ผมประทับใจมาก

“พอคุณพยุงได้เพลงพิภพมัจจุราชไป เขาก็ไปเขียนเนื้อเรื่องตามเพลงนี้เลย เด็กๆ ติดกันงอมแงม ฉายอยู่ตั้งยี่สิบกว่าปี เนื้อหามันก็เหมือนเป็นการสอนเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ถ้าหนังละครสมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะบางเรื่องเขาจะโน้มเอียงไปทางการค้า ไปทางเรตติ้งมากกว่า ไหนจะกลัวเรื่องการเซ็นเซอร์อีก

“หรืออย่างตอนที่จะเขียนเพลงให้ละครเรื่องแม่นาคพระโขนง ใครจะว่าอย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าท่านมีอยู่จริง และผมเขียนเพลงนี้ได้เพราะผมนึกไปถึงบรรยากาศตอนที่เคยถูกผีหลอกที่บางละมุง เริ่มเขียนประมาณสี่ทุ่ม พอเขียนจะเสร็จแล้ว ความรู้สึกมันก็บอกว่าไม่ใช่ ก็ลองเขียนใหม่อยู่อย่างนี้สามเพลง จนประมาณตีสามมานึกได้ว่าเคยไปที่ศาลแม่นาค เห็นหุ่นอุ้มเด็ก ก็เลยนำความรักระหว่างแม่และลูกมาเขียน แล้วก็ต่อว่าผัวนิดๆ พอเขียนเสร็จความรู้สึกมันบอกว่าใช่เลย ซึ่งแปลกอีกเหมือนกันที่เนื้อหาของเพลงดันไปตรงเป๊ะกับเนื้อเรื่องทั้งที่เขาก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง 

“อย่างเพลงเสน่หานั้นก็แต่งมาจากความเมาล้วนๆ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมไปสอนที่ จ.ขอนแก่น ทุกเย็นผมจะไปกินเหล้าตลอด 15 วันที่สอนที่นั่น มันก็จะเป็นร้านค้า 

เวลาผมเมาก็จะมีเด็กผู้หญิงอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นลูกเจ้าของร้าน อีกคนเป็นเด็กที่ว่าการอำเภอ คอยดูแลหากับแกล้มให้ คอยชงเหล้าให้

“พอวันจะกลับ ผมก็นั่งกินเหล้าอยู่จนถึงสี่ทุ่ม กำลังจะกลับบ้านพักที่บึงแก่นนคร มองไปเห็นแสงจันทร์มันสวยงามสะท้อนกับผิวน้ำเป็นประกายแวววาว พอมาถึงห้องก็รู้สึกว่าหลับไม่ลง จึงลุกขึ้นมาเขียนเพลง เลยนึกถึงสองคนนี้ จึงเป็นที่มาของเนื้อร้องว่า “ความรักเอย เจ้าลอยลม มาหรือไร มาดลจิต มาดลใจเสน่ห์หา..”

“ อย่างเรื่องดาวพระศุกร์ เขาก็มีแต่เนื้อเรื่องย่อมาให้อีก ผมมานึกเนื้อเพลงได้ตอนเช้ามืดมองเห็นดาวพระศุกร์สว่างไสวสวยอยู่ ด้วยไม่รู้ว่าใครเป็นคนเลี้ยงดาวพระศุกร์ ผมก็เลยเอาฟ้านี่แหล่ะเป็นตัวแทน จึงได้เนื้อร้องว่า ‘ขอฟ้า ช่วยปกป้องภัย เลี้ยงลูกไว้แทนแม่..’ 

“แล้วความที่เพลงมันดัง สมัยนั้นมีขนมถุงออกมาเจ้าของขนม ก็โทรมาขอลิขสิทธิ์เอาเนื้อเพลงลงแปะไว้ที่ซองขนมได้ไหม ผมก็ให้ เพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย หรืออย่างขวานฟ้าหน้าดำ เขาก็มีไปทำขวานขายกัน เด็กๆ มีเล่นกันเต็มบ้านเต็มเมือง เจ้าของของเด็กเล่นก็มาถามว่าผมจะเอาค่าลิขสิทธิ์ไหม ผมก็บอกว่าไม่เอาหรอก คุณอยากทำอะไรก็ทำไปเลย ของมันแค่นี้ ผมไม่คิดเรื่องเงินเป็นสำคัญ มันก็เลยทำให้ผมอยู่ได้ถึงทุกวันนี้

“หรือเพลงระฆังใจ ก็เขียนขึ้นมาจากจิตใจจริงๆ เมื่อครั้งไปขึ้นภูพิงค์ เห็นชาวบ้านตีระฆังกันเพื่อให้ได้ยินไปถึงสวรรค์ มานึกว่าเรามีคนรักอยู่ที่กรุงเทพ ก็อยากตีระฆังให้ไปได้ยินถึงใจของคนรักบ้าง เรื่องที่มาของเพลงนี้เป็นเรื่องสนุกมาก ใครได้ฟังก็อยากติดตาม

“ชีวิตในการแต่งเพลงช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่สนุกนะ ผมจะดื่มสังสรรค์เป็นประจำ เล่นดนตรีในห้องอาหาร เลิกแล้วก็มานั่งกินข้าวต้มแล้วก็ดื่มกันต่อทุกวัน มันเป็นประเพณีของนักดนตรีสมัยนั้น ทีแรกผมก็ดื่มไม่เป็น แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มมันก็ต้องลองบ้าง หลังจากนั้นก็เลยตามเลย เข้าสังคมได้ ซึ่งตอนนี้ก็เลิกดื่มมาได้สักพักแล้ว”

เพลงที่ดีมักขัดเกลาจิตใจ

หลายคนบอกว่าเขียนเพลงต่างสมัย เทคนิคที่ใช้ย่อมต่างกัน แต่สิ่งที่ครูเพลงคำนึงถึงไม่ขาดนั้นคือใจความสำคัญที่กินใจ เขามักพูดเสมอว่าการเขียนเพลงนั้นง่าย เหมือนการร่อนทอง เพียงนำแร่ทองมาสักกระบะหนึ่ง แล้วบรรจงร่อนให้เหลือทองไว้เท่านั้น “อย่าพูดเยิ่นเย้อเพ้อเจ้อ แล้วเพลงจะเพราะ” คือเคล็ดสำคัญที่ทำให้เพลงอมตะจนถึงทุกวันนี้

“การเป็นนักเขียนเพลง เราต้องมีความคิดอันละเอียดอ่อน เราเขียนเพลงต้องเขียนให้ดี เขียนให้คนเขาถูกใจ เขียนให้คนเขาอยากร้องเพลงของเราให้ได้ อย่าไปคิดแค่เงินพันเงินหมื่น คิดว่านั่นคือผลงานของเรา แล้วชื่อของเราจะอยู่กับสังคมไปอีกนานเท่านาน 

“เพลงของผมทุกวันนี้มันอาจจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่หลายๆ คนยังนึกถึงเพลงของผม ยังนึกถึงผมอยู่ เพลงของผมจึงยังสามารถเผยแพร่ออกไปในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็แล้วแต่เขาจะนำไปปรับใช้กับงานของเขากัน แล้วเวลาที่พวกเขามาขอเพลงผมไปเล่น นำไปใช้ ผมไม่เคยเรียกเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ แล้วแต่กำลังของพวกเขาก็พอแล้ว

“คนเราเกิดมาไม่มีใครเคยเห็นแผ่นหลังของตนเอง ต้นคอของตนเอง  เรารู้แต่ข้างหน้าหมด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ออกก้าวเดิน เมื่อสิ้นเสียงเท้าหน้าแล้วเท้าหลังก็จะก้าวตามมาเสมอ 

“ผมเขียนเพลงแนวนี้ไว้เพลงหนึ่งไว้ให้กับหนังของท่านส.อาสนจินดา แต่ท่านเสียไปก่อน แม้แต่ในเพลงของผม ก็มักจะมีสอดแทรกแนวคิดลงไปเสมอๆ กระทั่งเพลง

ความรักของผมเอง เช่นเพลงเพื่อเธอที่รัก “ศีลธรรมเหนือสิ่งอื่นใด แย่งของรักใคร บาปใจนัก..” หลายคนบอกว่าทำไมไม่ ‘บาด’ ใจ ผมบอกบาดมันไม่สำคัญเท่า‘บาป’ เพราะมันเป็นการไปแย่งของๆ เขา สิ่งเหล่านี้ผมจะพยายามสอดแทรกความมีคุณธรรมไว้ในเพลงเสมอให้คนฟังเราระลึกถึงมันเสมอเช่นกัน”

นาฬิกาของผู้เป็นครู

เมื่อเวลาสุดท้ายที่เรือจ้างได้เข้าเทียบท่า กาลเวลาของผู้ที่เคยโดยสารกำลังจะเริ่มนับหนึ่งขึ้น เป็นการโลดแล่นใช้ชีวิตจริงบนผืนแผ่นดิน ที่เมื่อครั้งเคยได้ยินได้ฟังจากบนเรือ แต่เมื่อเรือจ้างได้ทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์ลง กลับยังคงจอดรอ ณ ที่เดิมเพียงเพื่อหวังว่าผู้โดยสารคนเดิมจะได้กลับมาดู แล้วกล่าวทักทายถามไถ่กันบ้างในบางเรื่องราว

“ผมสอนดนตรีให้ลูกศิษย์มามากมาย ทั้งโรงเรียนดรุณี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนศรีอักษร ไม่มีใครลืมผมเลยสักคน พวกเขายังคงหาเวลามาเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอ เมื่ออายุได้ 60 ปี ก็เกษียณราชการ แต่ก็ยังสอนให้กับลูกศิษย์อยู่ โดยให้เขามาเรียนกันที่บ้าน มาแต่ตัวอย่างเดียว ไม่เสียค่าเรียนค่าอะไร พอวันที่เราเลิกสอนก็ใจหายเหมือนกันนะ พวกเขาก็เศร้ากัน ได้แต่บอกลูกศิษย์ว่าเมื่อใดก็ตามที่คิดถึงครูก็ให้มาหาและมาถาม 

“จากนั้นมาผมอยู่บ้านไม่มีได้เหงา เดี๋ยวเขาก็พาไปสังสรรค์ไม่ขาด  แต่มันก็อาจจะมีเหงาไม้เหงามือบ้างเพราะทุกวันนี้ผมไม่มีไวโอลินแล้ว ผมให้ลูกศิษย์ที่เขาสนใจมาเรียนกับผมไปเสียหมด เมื่อเขามาเรียนกับเรา พอเราเลิกสอนแล้ว เขาไม่มีไวโอลินเล่น ถ้าจะขายมันก็คงไม่เหมาะ เพราะก็สอนเขาฟรีอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราเก็บไว้มันก็เท่านั้น ก็เลยให้เขาเอาไว้เล่น ไว้พัฒนาฝีมือ 

“ผมคิดอย่างนี้นะว่าเขามาเรียนกับเรา เขาอาจจะได้ความรู้ไปแต่เพียงเท่านั้น หากขาดอุปกรณ์ไว้ฝึกฝนมันก็ไม่มีประโยชน์ คิดว่าสิ่งที่ไม่เล่นแล้ว เราจะเก็บไว้กับตัวทำไม ให้ไว้กับคนที่เขาสามารถสร้างประโยชน์จากมันได้ไม่ดีกว่าหรือ ครั้นจะให้เขาไปซื้อเขาก็คงจะลำบาก เพราะไวโอลินดีๆ ตัวหนึ่งก็หลายหมื่นบาทอยู่ หากจะไปเล่นไวโอลินถูกๆ ฟังเสียงแล้วมันก็จะเสียอารมณ์ เสียงมันเหมือนคนบีบจมูกร้องเพลง มันใช้ไม่ได้ เมื่อเขาได้เรียนจากเราแล้ว ก็ให้เขาได้เล่นกับไวโอลินดีๆ จะดีกว่า เชื่อไหมว่าเมื่อให้เขาไปแล้วก็รู้สึกสบายใจเหลือเกินว่าเขาต้องรักไวโอลินตัวนี้

“คำว่า ‘ครู’ ผมเชื่อว่าเรามีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ ครูจะภูมิใจว่าได้มีส่วนช่วยบรรดาลูกศิษย์ หรือคนรุ่นหลังๆ ได้ อย่างโมเดิร์น ด็อก เขาก็เอาเพลงเสน่หาของผมไปเล่นที่อเมริกา คนดูเขามากมาย เขาโทรมาจากอเมริกาเลยนะว่าหากพวกเขากลับมาเมืองไทยแล้วจะมากราบครู เพราะเขาได้เอาเพลงของครูไปใช้ เขาก็มากันสี่ห้าคนเพื่อมาขอบคุณ จากนั้นก็ขอไปอัดเพลงอีก อย่างเวลาวันเกิด หรือวันสำคัญต่างๆ พวกเขาก็มาหา มากราบ 

“นี่มันคือสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าน้ำใจมีค่ามากกว่าเงิน ผมจึงคิดว่าตัวเองเป็นครูมากกว่าที่จะเป็นนักแต่งเพลงเสียอีก และที่ผมเป็นมนัส ปิติสานต์ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะผมมีครูที่ดีมาก่อนนั่นเอง”

 

 

ความเป็นตำนานที่มีชีวิตคือสิ่งสะท้อนผลงานตลอดช่วงชีวิตกว่า 85 ปี