จุลทัศน์ กิติบุตร

จุลทัศน์ กิติบุตร

อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขา สถาปัตยกรรม (ร่วมสมัย) ปี พ.ศ.2547 หลังจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีพ.ศ.2511 จึงกลับมาภูมิลำเนา ท่านเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นสถาปนิกในเมืองเชียงใหม่ ขึ้น-ลงกรุงเทพฯ ล่องใต้ ไปตะวันออก ตะลอนไปถึงต่างประเทศเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน โดยก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกนามว่า Chiang Mai Architect Collaborative (CAC) บันทึกสถาปัตยกรรม ฝากไว้ให้กับแผ่นดิน ผลงานแนวโมเดิร์นตามความนิยมในสมัยนั้นๆ ดั่งสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นล้านนา ตั้งแต่ห้างนา เรือนพื้นถิ่นในชนบท ไปจนถึงเรือนคหบดี และคุ้มวังต่างๆ ที่ต้องตกแต่งอย่างแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ของกลิ่นอายล้านนาให้ปรากฏผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมอันตอบสนองต่อการใช้งานความสะดวกสบายตามแบบวิถีชีวิตสมัยใหม่ ท่านได้ทดลองนำเอาวัสดุ และเทคนิคการก่อสร้างแบบช่างพื้นถิ่นเหล่านั้น มาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบ นำเอากระเบื้องหลังคาดินเผามาสร้างกระเบื้องเคลือบพื้นเมืองของเชียงใหม่ในอดีตให้ออกมากลมกลืน มีความเป็นตัวตนของศิลปะล้านนาได้อย่างโดดเด่นยาวนานมากว่า 30 ปี

การมุ่งมั่นตั้งใจ ผ่านความลำบาก ฝึกฝน ลองผิด ลองถูก ยืนอยู่บนทำเนียบแห่งความสำเร็จย่อมไม่ได้มาจากโชคช่วยเสมอไปผลงานการออกแบบสร้างเสร็จสำเร็จเป็นรูปธรรม ล้วนทรงคุณค่าและมาจากฝีมือ มีงานหลายชิ้นเป็นจำนวนมากที่เป็นที่รู้จักโด่งดังไปยังนานาชาติ โดยเฉพาะโรงแรมรีเจนท์ (โฟร์ซีซั่น) จังหวัดเชียงใหม่ จะแลเห็นความอลังการของศิลปินที่ศรัทธาในการทำงานเชิงอนุรักษ์ เมื่อเข้าไปสัมผัส จะรู้สึกอบอุ่นอิ่มเอมใจในการนำเอาสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์แบบชนบท มีทั้งนาข้าว ลำเหมืองมาผสมผสานกับการรออกแบบตัวอาคารที่พักแบบเรือนกาแล

ท่านยังออกแบบตลาดประตูเชียงใหม่ ออกแบบอาคารทางศาสนา วัดวาอารามอยู่เนืองๆ อีกมากกว่า 50 แห่ง อีกทั้งยังได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่ง ถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้แก่เยาวชนรุ่นหลังด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษ ด้วยการสอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตในวัยเด็ก ที่ผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่นำมาใช้ ด้วยบุคลิกไม่หยุดนิ่ง มองการณ์ไกล ชอบอ่านหนังสือ ศึกษาวิเคราะห์ ค้นคว้า เดินทางอยู่ตลอดเวลา อารมณ์จึงสุนทรีเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานไม่รู้จบ วันนี้ท่านเปิดบ้านสวน ริมแม่น้ำปิง เผยให้เราเห็นถึงแก่นแท้ ความคิด ท่ามกลางกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นจากดอยสูง

อิ่มอุ่นอารมณ์ศิลป์

“ผมเคยทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ ล้านนาสไตล์ บาย จุลทรรศน์ แม้หนังสือมันจะดี แต่กว่าจะออก ก็ต้องคลอดยากหน่อยแต่คนไทยส่วนมากไม่ชอบอ่านหนังสือ จะมีก็แต่ฝรั่งชาวต่างประเทศเท่านั้นที่เห็นคุณค่า หันมาซื้อเพื่อนำมาอ่าน มันเป็นหนังสือเฉพาะสาขาอาชีพสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ดังนั้นเราต้องอ่านหนังสือให้มากๆ เพราะทุกวันนี้ เราดูทีวีมากเกินไป เราดูทีวีหนึ่งชั่วโมงสู้อ่านหนังสือแค่ครึ่งชั่วโมงไม่ได้ เมื่อเราอ่านแล้ว เราจะคิดแตกออกไป เด็กสมัยนี้จึงไม่ค่อยเก่ง เพราะพวกเขาดูแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วก็ลืม แต่สำหรับหนังสือ เมื่อเราลืม เราสามารถนำกลับมาอ่านใหม่ได้ เราหยิบจับพกพาได้ตลอด เราต้องทันลูกค้าของเรา ไม่ใช่ลูกค้าอยู่เหนือเรา จริงอยู่ ลูกค้าคือพระเจ้า เราไม่ว่า แต่เราต้องรู้ทันพระเจ้าด้วย (หัวเราะ)

“เฉกเช่นเดียวกับการเปิดร้านกาแฟในเมืองเชียงใหม่ มีกาแฟดีๆ ก็จริง แต่มันเปิดกันทุกหัวระแหง เปิดหัวถนน กลางถนน ปลายถนน มีร้านกาแฟเต็มไปหมด ของผมก็เปิดที่นี่ แต่จะไม่เหมือนของพวกเขา ที่เล่าให้ฟังเพราะว่าที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่ง จะมีผู้คนเข้าไปอย่างเนืองแน่น ร้านนี้เขาดีอย่างไร ทำไมคนถึงเข้าไป เพราะร้านนี้มีหนังสือพิมพ์ให้อ่านถึง32 ฉบับ มาจากทั่วโลก เราไปเราก็อยากอ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าที่บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง หรือหนังสือพิมพ์ประเทศอื่นๆ ว่าพวกเขาคิดอะไร ความหลากหลายของคนหรือของคอลัมนิสต์ของเขาเป็นอย่างไร

“ที่ผมติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา เพราะผมกลัวแก่ ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดความอ่านของคนแก่ เราต้องรู้ทันรุ่นลูกรุ่นหลาน วิชาชีพของผมจึงมีอยู่ 3 เรื่องเวลาสร้างงานคือ มีฟอร์ม มีสเปซ และมีเทรนด์ 

ผมเกิดมาท่ามกลางทั้งธรรมยุตและมหานิกาย คุณปู่ผมเป็นโยมอุปถาก มหานิกาย ท่านบวชเรียนมากับวัดดวงดี ที่สวยงามมากส่วนรุ่นคุณแม่ ท่านก็จะดูแลวัดเจดีย์หลวงของหลวงปู่มั่น ผมจึงเป็นคน 2 นิกาย ผมชอบทำบุญ ไม่ว่าพระจากนิกายอะไร ผมดูแลหมด

“เมื่อผมจะสร้างอารามหรือวัด ผมก็ต้องไปหาช่างมาจากฝ่ายธรรมยุต การออกแบบสร้างวัด อนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยาเป็นผลงานชิ้นเอก ที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมเปลี่ยนรูปลักษณ์และวิธีการนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าปรัชญาเชิงประยุกต์ทางสถาปัตยกรรมล้านนาถูกนำมาใช้อย่างได้ผล ทั้งนี้เราต้องไปปรึกษาพระที่จังหวัดพะเยา เพราะท่านเป็นศิลปินพระ ที่มีช่างอยู่ในมือมาก โดยเฉพาะวัดทางเหนือ เราก็ต้องไปปรึกษาท่านก่อน เพราะท่านเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ว่าเราจะสร้างสรรค์งานให้กับเจ้าคณะใหญ่หนเหนือกับเจ้าคุณอุบาลีของวัดพระเจ้าสวนหลวง ซึ่งเป็นมหานิกาย ผมสามารถทำได้หมด ผมค่อนข้างรู้จักกับฝ่ายธรรมยุตมากหน่อย ผมสร้างบ้านไว้ 4-5 หลัง เวลาเจ้าคุณต่างๆ มาปฏิบัติงานที่เชียงใหม่ ก็จะมาพักที่นี่ ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ผมให้การต้อนรับหมด เพราะผมยึดถือความดีและความงาม” 

จุมฮอมจอมแก้วสะหลีเมือง

“ศิลปินแห่งชาติในสาขาสถาปัตยกรรมหลายท่าน ผมมักจะพบเจอกันตลอด ทั้งจากภาคใต้ก็มี พี่ภิญโญ สุวรรณคีรี ส่วนท่านที่ 2อาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ คนที่ 3 ก็คือตัวผม ท่านที่ 4 อาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านที่ 5อาจารย์องอาจ ศาตราพันธ์ เจ้าของโรงเรียนปานะพันธุ์ในอดีต ส่วนอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น จะเป็นสาขาสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีนิยม และยังมีอีกหลายท่านที่ติดต่อพบเจอกันบ้าง เมื่อก่อนสมัยได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติใหม่ๆ เคยมีคนจะจัดยกย่องผมในฐานะศิลปินแห่งชาติที่เชียงใหม่ ผมก็บอกกับเขาว่า คุณอย่ามายกย่องผมเลย เพราะในเมืองเชียงใหม่ มีศิลปินแห่งชาติถึง 11 ท่าน ตอนนั้นพี่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังมีชีวิตอยู่ แล้วทำไมไม่จัดให้ครบทุกท่าน

“จะจัดงานแต่ละครั้งต้องมีผลงานของจริง จัดแสดงอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่ของแห้งๆ อย่างรูปถ่าย ผมเคยจัดงานเชิดชูศิลปินแห่งชาติของเมืองเชียงใหม่มาแล้ว วันที่ประกาศว่าผมได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ผมภาคภูมิใจที่สุดมีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเมืองเชียงใหม่ พาประธานาธิบดีประเทศสิงคโปร์มาดินเนอร์ที่นี่ จากนั้นพระองค์พระราชทานดอกกุหลาบให้กับผม 1 ดอก ผมภาคภูมิใจที่สุด แค่นี้ผมก็สุขใจแล้ว

“ผมเคยถวายงานให้สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ อีกด้วย หลังจากนั้นสมเด็จพระพี่นางเธอฯ พระองค์เสด็จมาพักที่พระตำหนักจังหวัดเชียงใหม่ และจัดงานเลี้ยงให้กับผมที่ร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ความภาคภูมิใจเหล่านี้อยู่ในใจผมตลอดเวลา เป็นเกียรติสำหรับผมมาก ตอนนั้นผมกำลังจะจัดนิทรรศการ จุมฮอมจอมแก้วสะหลีเมือง จุม แปลว่า ชุมนุมฮอม แปลว่า ที่รวบรวมของศิลปินแห่งชาติ ส่วนจอมแก้วสะหลีเมือง แปลว่า ต้นไม้ที่ดีที่สุดของเมืองเชียงใหม่ มีต้นโพธิ์ที่เรียกว่าสะหลี ที่ตั้งชื่อนี้เพื่อหนีคำว่าศิลปินแห่งชาติ เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราอยากดัง (หัวเราะ) ฉะนั้นพื้นฐานในการออกแบบสถาปัตยกรรมในแบบของผม จึงมีรากฐานของศิลปวัฒนธรรมล้านนา ในคำนิยามความหมายที่ว่า ล้านนาคือความพอดี ความสมถะและอิงธรรมชาติ

“ชีวิตของผมถ้าหากปราศจากการทำงานและการเดินทางคงเป็นไปไม่ได้ จะต้องเห็นผมทำงาน เมื่อมีสตางค์ก็ต้องท่องเที่ยวเป็นการสร้างบารมีให้สมอง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาสร้างสรรค์งาน ดีกว่าให้มรดกลูกอีก ฉะนั้นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยประเพณีนิยม ถ้าเป็นของล้านนานั้น มีมานานกว่า 700 ปีมาแล้ว มันมีเวลาเข้าไปเกี่ยวข้องใน 700 กว่าปี เรามองเห็นเรือนตั้งแต่แรกเดิมของเมืองนี้ จนถึงปัจจุบัน มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามา เมื่อก่อนเราอยู่เรือนไทย ไม่ต้องติดแอร์ แต่ปัจจุบันนี้นำเรือนไทยมาใส่แอร์ เพื่อให้มันเย็นสบาย เมื่อก่อนเรานั่งเกวียน แต่เดี๋ยวนี้มียานพาหนะ บางบ้านมีรถ 4-5 คัน มันก็ร่วมสมัยขึ้นในเทคโนโลยี อีกหน่อยก็จะมีรถไฮบริด การออกแบบสร้างสรรค์ของผม จึงนำเอาอดีตมาสู่ความจริง อดีตไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม สามารถนำมาอยู่ในยุคของเราได้ ”

อารยธรรมล้านนา

“บังเอิญผมเกิดมาท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2487 ตอนนั้นสงครามกำลังจะใกล้จบ ครอบครัวพวกเราก็หนีตายกันอุตลุด เพราะว่าในเมืองเชียงใหม่ มีกองทัพญี่ปุ่นตั้งอยู่เต็มเมืองไปหมด วัดเจดีย์หลวงที่พวกเราเคารพกันอยู่ พวกทหารญี่ปุ่นเอามาทำเป็นแคมป์ทหารอยู่ภายในวัดมากมาย ตอนนั้นผมยังเล็กๆ อยู่ แม่ก็ต้องอุ้มดูแลพวกเรา ส่วนพี่สาวกับพี่ชาย ก็เดินทางมาทางเกวียน พวกเราอพยพเหมือนกับพวกเรฟูจี หนีจากภัยสงคราม มาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ตอนนั้นที่นี่เป็นท้องนา เราคิดว่าแม้สงครามจะอยู่อีก 10 ปี พวกเราก็ยังมีข้าวกิน มันเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ ปลาเราก็จับที่แม่น้ำปิงได้ แล้วผมก็โชคดีที่ผมได้กินนมจากอกคุณแม่ กินกับกล้วยน้ำหว้า

“ชีวิตผมในสมัยนั้นจึงอยู่ท่ามกลางวัดกลางเวียงหรือวัดกลางเมือง จุดศูนย์กลางของเมืองคือบ้านผม ผมจึงเห็นวัดและสภาพแวดล้อมโบราณสถานต่างๆ ของวัฒนธรรมล้านนาในอดีต มันจึงซึมซับสะสมมาจนกระทั่งเติบโตขึ้นมา หน้าบ้านผมจะมีล่องน้ำไหลลงมาจากดอยสุเทพ น้ำจะเย็นแลเห็นตัวปลา แหวกว่าย มันเป็นภาพที่สวยงามมาก

“คนคิดที่อยู่ในประเทศมาก่อนเรา เขาเก่งกว่าเราก็จริง ฉะนั้นปัจจุบันเขาจะเก่งกว่าเราไม่ได้ ถ้าเรารีฟอร์มเป็น ตัวอย่างเช่นสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก เมีย หรือข้าราชการเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไปก็ควรจะเกษียณได้แล้ว ไม่ใช่เอาคนมีอายุมาบริหาร ควรจะหาคนหนุ่มๆ เข้ามาบริหาร นโยบายบางอย่างมันต้องรีฟอร์ม ร่วมสมัย ไม่ตกยุค เราต้องรีฟอร์มมาจากข้างบนโดยเฉพาะข้าราชการ บ้านเมืองเราถึงจะก้าวหน้าเป็นจังหวะ เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้มันดีขึ้นสอดคล้อง โดยมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง สมัยที่ผมอยู่ตรงกลางใจของเมืองในสภาวะสงคราม พวกทหารญี่ปุ่น เขาก็ไม่ได้ทำลายวัดวาอารามของเรา เหมือนสงครามในอดีต

“หลังสงครามสงบผมก็มาเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เพราะเราอยากได้ภาษาอังกฤษ จากนั้นมาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มันจะมีอยู่ห้องหนึ่ง ที่จะเรียนเพื่อจะเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นผมก็สอบเข้าไปเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จนกระทั่งจบ ที่ผมเลือกเรียนคณะนี้เพราะผมเห็นดรอว์อิ้งแล้วอยากเขียน ผมเป็นคนชอบสเกตซ์ภาพ

“ถ้าผมเปลี่ยนแผน เพื่อเดินตามรอยบรรพบุรุษ ผมก็จะเป็นนักธุรกิจหนุ่ม พ่อผมก็เก่งอยู่แล้ว คุณอยากเก่งกว่าพ่อ ก็เป็นไปไม่ได้ผมมีแนวคิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เดี๋ยวจะมีคำพูดตามมาว่า เป็นลูกคนเก่งไม่เห็นจะเก่งเหมือนพ่อเลย เพราะพ่อผมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นชนชั้นกลาง พอมีพอกิน แม่เคยบอกกับผมว่า เราต้องรู้จักคำว่าทุกข์นั้นคืออะไร แม่จะสอนให้อดออม สอนให้ปลูกดอกไม้ เพื่อเอาไปขายในตลาดตอนเช้ามืด ท่านสอนให้เรารู้จักหากิน สอนให้เราถูเรือน ผมทำงานบ้านจนหัวเข่าด้านไปหมด (หัวเราะ) ก็เป็นชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นพอสมควร

“ผมสร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมมากว่า 30 ปี สรุปได้ว่าความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้มันไม่มี ยกตัวอย่างผมทำกุฏิวัดแห่งหนึ่ง พระท่านบอกว่าวัดที่นี่ต้องทำเสร็จให้ทันการวางศิลาฤกษ์ พระทั้ง 2 รูปอายุ 90 กว่าพรรษา ท่านจะเร่งให้ผมทำงาน เพื่อให้ท่านอยู่รอดูผลงานได้ แล้วเราจะไปหาความสมบูรณ์ได้ที่ไหน เพราะมันมีเงื่อนไขทั้งหมด มันไม่เหมือนกับงานประติมากรรม ปั้นรูปคนเสร็จ นั่นคือความสมบูรณ์ เอาท์ไลน์ของดรอว์อิ้งมันเป็นเพียงแค่ขอบเขต ถ้าจะถามผมว่า งานที่ผมสร้างสรรค์ไว้ ผมภูมิใจที่สุดชิ้นไหน ผมขอบอกว่าถ้างานไหนที่ผมภูมิใจ ผมเป็นพระอรหันต์ไปนานแล้ว ผมต้องสร้างสรรค์งานไปเรื่อยๆ ปีหน้าคงจะดีกว่าปีนี้ ถ้ายังอยู่อีกหลายปี งานต่อไปต้องดีกว่าปีที่แล้ว ตอนนี้ผมอายุ 66 ปีแล้ว ผมอยากจะเกษียณตัวเองแต่ผมกลัวว่าเวลาไม่ได้เจอคน สมองเราจะเริ่มฝ่อ ทุกวันนี้ผมก็ยังมีความสุขกับการสอนหนังสือเด็กๆ”

ร่วมสมัย & รับใช้ชุมชน

“ก่อนหน้านี้ผมไปทำโรงแรมอนันตรา เดิมชื่อหัวหินวิลเลจ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผมได้นำรูปแบบพื้นถิ่นไทยภาคกลางมาประยุกต์ในการออกแบบ ซึ่งประกอบด้วยทะเล และประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรี เรามาคิดว่าคำว่าเรือนกลุ่มของเรือนไทย อะไรที่ใกล้หัวหินที่สุด นั่นก็คือจังหวัดเพชรบุรี ช่างจังหวัดเพชรบุรี ก็ใช่ย่อยเมื่อไร ถือว่าน้องๆ ช่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรืออาจจะเท่าๆ กัน ผมจึงไปเดินดูวัดทุกวัดที่เป็นเรือนกลุ่ม มันจึงเกิดไอเดียนำมาสร้างเป็นเรือนกลุ่มที่หัวหินจนประสบผลสำเร็จ งดงามลงตัว สร้างชื่อเสียงไม่น้อย

“หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็มาออกแบบสร้างโรงแรมรีเจนท์ (โฟร์ซีซั่น) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้อายุครบ 15 ปีแล้ว ผมจะใช้เรือนกลุ่มมันก็ไม่เชิง แต่มันต้องมีทฤษฏีเดียวกัน ก็คือชุมชนหรือหมู่บ้านเชียงใหม่ ทำให้คิดคอนเส็ปต์ของเมืองเชียงใหม่ เวลาจะทำบ้านภาษาพื้นเมืองจะพูดว่า ‘พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้’ มันจะมีรั้วกั้นอยู่ บ้านคุณไม่มีพริก คุณก็ไปยืมที่บ้านเหนือ บ้านนี้ไม่มีเกลือ ก็จะไปยืมที่บ้านใต้ ชุมชุนเชียงใหม่ จะมีวัดเป็นเซ็นเตอร์ มีอะไรที่มันสวยเท่าๆ กับวิหารไหม เราก็นำไปทำเป็น ล็อบบี้เราก็ทอนเอามาเรื่อยๆ

“เวลาจะสร้างสรรค์การทำงาน เราต้องมีวิธีคิด และแนวคิดต่างๆ เราต้องมีหมู่บ้าน ท้องนา บางคนบอกว่าสถาปัตยกรรมบาหลีสวยกว่า ต้องทำตามแบบบาหลี แบบนาขั้นบันไดตามไหล่เขา ของบ้านเราก็มี ทั้งหมดทั้งมวล เรานำเอาวิถีชุมชนนำมาใช้ตรงนี้ จึงทำให้เกิดความแตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ

“กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมต้องลองผิด ลองถูก ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาเยอะ ระยะแรกๆ มันก็โมเดิร์นจ๋า หลุดออกมาจากแมกกาซีนก็ใช่เราแล้ว ระหว่างที่ผมทำสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ผมก็ทำควบคู่กับสถาปัตยกรรมแบบประเพณีนิยม รวมทั้งโมเดิร์นไปทั้ง 2ฝ่าย จนกระทั่งลูกค้ามาเห็นแล้วชอบ เขาก็จะเลือกแบบนี้มากกว่าอีกอันหนึ่ง ทำให้เรารู้แล้วว่าเราจะเดินไปทางไหน จึงมาทำแบบประยุกต์ ซึ่งช่วงแรกๆ ยังทำประเพณีนิยมอยู่ ตอนหลังจึงเริ่มประยุกต์เข้ามา รูปแบบของผมจะเป็นแบบก้าวหน้าตลอด เพราะจะมีลูกศิษย์ ลูกหาจะเดินตามเราไป เราต้องคิดวิ่งหนีเขาไปเรื่อยๆ เมื่อเราหนีไม่ได้ เขาก็เรียกว่าหลงฟอร์มเดิมๆ อยู่ ฉะนั้นเราต้องมีอนาคตเข้ามาเกี่ยวข้องกับเวลา ภาษาสมัยนี้เขาเรียกว่า อินเทรนด์ (หัวเราะ)

“เหมือนกับสถาปัตยกรรมของช่างล้านนากับล้านช้าง เสมือนเป็นพี่น้องกัน พระเจ้าองค์หนึ่งที่ทำล้านช้าง หลวงพระบาง ประเทศลาว ถูกส่งมาจากนครเชียงใหม่ เพื่อไปอยู่ล้านช้าง เขาก็เอาสถาปัตยกรรมจากตรงนี้ไปทำ แต่เมืองล้านช้าง เทคโนโลยีน้อยกว่าของเรา แต่ของเขามันมีความสวยงามในแบบสถาปัตยกรรมล้านนาและล้านช้าง ต่อมาเราปรับไปเป็นรัตนโกสินทร์ จึงแตกต่างกันไป ฉะนั้นศิลปะล้านนากับล้านช้างจึงเป็นบ้านพี่เมืองน้อง เป็นช่างเดียวกัน แล้วนำไปปรับ เป็นเชียงตุง เชียงรุ้ง ก็อันเดียวกันไม่ใช่มาอยู่แค่ตรงล้านช้างอย่างเดียว

“ที่วัดเจดีย์หลวงก็เช่นกัน ที่นั่นมีปราชญ์ทางพระอยู่ ผมก็ไปกราบท่าน ผมจึงได้สัมผัสมาโดยตลอด ปราชญ์ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆต้องมีคนไปหาเราถึงรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม อย่างท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็เป็นปราชญ์ที่เก่งหลายด้านท่านเคยสอนผมที่จุฬาฯ ท่านล้ำหน้าไปมาก อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร เป็นผู้เชิญอาจารย์หม่อมมาสอนนิสิตจุฬาฯ ในสมัยนั้นเคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนไปถามอาจารย์หม่อมว่า ‘แมลงวันในฤดูร้อน ย่อมไม่รู้จักหิมะ’ นี่คือคอนเส็ปต์ มันเป็นปัญหาประจำวันที่เราเขียนไปหาท่านสมัยที่ท่านยังเขียนหนังสืออยู่ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นคำถามเชิงปรัชญา ท่านเองก็อยากรู้ว่าเด็กๆ นิสิตนักศึกษาปี 2 ปี 3 มันคิดอะไรอยู่ ท่านก็ตอบกลับมาน่ารักมาก อาจารย์หม่อมที่มีบ้านที่ขุนตาล ท่านเป็นคนปลุกผีแม่น้ำปิง เพื่อทำให้ผู้คนได้รู้จักแม่น้ำปิงว่ามันสวยงาม น่ารักมาก ท่านทำกับข้าวก็เป็น พูดคุยแตกฉาน วิชาการก็เลอเลิศ เขียนหนังสือก็เก่งโขน ละคร ท่านรู้หมด ท่านเป็นศิลปินทุกแขนงก็ว่าได้”

แก่นแท้แก่นธรรม

“ผมได้มีโอกาสไปสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในต่างแดน ทั้งที่มัลดีฟส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เคยขอมา แต่บางครั้งเราไม่สามารถทำงานได้ดี เพราะเราไม่มีภาษาอังกฤษที่แข็งแรง งานที่เมืองนอก จะมีงานประชุมกันทั้งนั้น จะมีคนไทยสักกี่คนที่ทำได้ดี นักเรียนนอกบางคนทำงานไม่เก่ง อาชีพนี้มันต้องมีสื่ออีกประเภทหนึ่งมาช่วยพีอาร์ เขียนสคริปต์ให้เราซึ่งมีความจำเป็น

“ฉะนั้นงานสถาปัตยกรรมของไทยเราไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศ แต่ของเราด้อยในเรื่องของภาษา ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ติดต่อมาที่ผม เขาอยากได้สถาปนิก 1 คนที่พูดภาษาอังกฤษดีมากๆ ที่มาจากประเทศไทย บังเอิญผมมีลูกศิษย์อยู่รุ่นหนึ่ง มันเป็นคนเดียวทั้งชั้นใน 60 คน ที่พรีเซ็นเตชั่นออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเข้าใจได้ ในมหาวิทยาลัยเอง ก็ต้องรีฟอร์ม ไม่ใช่พูดแบบงูๆ ปลาๆ คิดคำไทยแล้วไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ครูคณะมนุษย์ศาสตร์ที่สอนภาษาอังกฤษ จะต้องเก่งด้วย

“ชีวิตของผมผ่านการทำงานมาเยอะมาก งานของผมหลายอย่าง สร้างสรรค์ออกมาเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท โรงพยาบาลผมทำมาหมดแล้ว แต่ที่อยากจะทำอีกอย่างคืออาคารมิวเซียม พวกพิพิธภัณฑ์ คิดว่าถ้าใครจ้างเรา เราก็จะทำในสิ่งที่ในชีวิตเราใฝ่ฝัน แต่สิ่งที่เราใฝ่ฝันมา มันอาจจะไม่ได้ทำก็ได้ในโลกนี้ เราต้องคิดแบบพระพุทธเจ้า ถ้าคิดอยากอยู่อย่างเดียว มันก็เป็นตัณหา โดยเฉพาะครอบครัวของผมมีคุณพ่อ เป็นนักบริหารจัดการที่ดี ท่านจะสอนให้ลูกๆ มีความเป็นระเบียบ

“ผมทำงานกับฝรั่งมาเยอะ ทำให้ผมได้เรียนรู้ ขนบธรรมเนียมนิยม พิธีการต่างๆ ฉะนั้นคำว่าศิลปินในความหมายของผม ผมต้องให้คนอื่นเขามองมา เราอย่ามองตัวเองว่าเราเป็นศิลปิน ถ้ามองตัวเรา เขาก็จะบอก ว่านักร้อง หรือนักแสดงก็เป็นศิลปิน ทุกวันนี้ใครก็เรียกตัวเองว่าศิลปินว่าเป็นพวกเต้นกินรำกิน แต่ถ้าเขาเป็นศิลปิน ก็สามารถทำได้อย่างพวกแสดงโขน ที่มีความสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะ ตรงนี้จะสำคัญมาก คนที่เป็นศิลปินได้ คุณต้องมีการสร้างสรรค์ มีจิตใจที่งดงาม ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีจริยธรรม

“ผมเป็นคนที่ชอบธรรมะและเข้าใจแก่นธรรม มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยสอนผมว่า ‘ธรรมะ อย่าทำเมา’ เวลาเมาเราเมาหมด เมาแอลกอฮอล์ เมาผู้หญิง มันไม่จบ ชีวิตของหลวงปู่แหวน ท่านจะพูดอะไรสั้นๆ โชคดีที่บรรพบุรุษของผมรู้จักท่านมาตั้งแต่ที่วัดเจดีย์หลวง จากนั้นผมก็ติดตามท่านมาตลอด พระหรือเณรก็ไม่สามารถอยู่กับท่านได้ เวลาท่านฉัน ท่านยอมผมคนเดียว ท่านบอกว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน อยู่เต็มสำรับเลย ท่านเผื่อแผ่ให้กับทุกคนที่นำอาหารมาถวายท่าน ท่านจะเผื่อแผ่ตลอด ท่านมีเมตตา เขาจะยากดีมีจน เขาจะอร่อยหรือไม่อร่อย เราต้องเมตตาเขา เราไม่มีสิทธิ์เลือกเกิดได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้วเราเลือกเดินทางของชีวิตได้”

น้ำหลายร้อยล้านหยดลู่ลงมาจากภูผา