สัมผัสเสียงสำเนียงอมตะ "เสรี รุ่งสว่าง"

สัมผัสเสียงสำเนียงอมตะ "เสรี รุ่งสว่าง"

นักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังและสามารถยืนระยะอย่างยาวนานหลายสิบปี มีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนต้องรู้จักเสรี รุ่งสว่าง นักร้องลูกทุ่งที่มีเสียงเอกลักษณ์ไพเราะกินใจ มีเพลงดังมากมาย อาทิ "ไอ้หนุ่มรถซุง" "เทพธิดาผ้าซิ่น" "จดหมายจากแม่" "เรียกพี่ได้ไหม" เพลงเหล่านี้ติดตรึงใจโดยเฉพาะคนที่มีเพลงลูกทุ่งอยู่ในหัวใจ

                เสรี รุ่งสว่าง เกิดในครอบครัวชาวนา อำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีพี่น้อง ถึง 17 คน โดยเขาเป็นลูกชายคนที่ 4 ซึ่งต้องทำงานเลี้ยงน้องเนื่องจาก พี่ ๆ ออกไปทำงานข้างนอกกันหมดแล้ว ซึ่งช่วงเวลาที่อยู่กับน้อง ๆ นี่เองที่ทำให้มีเวลาฝึกฝนการร้องเพลงเพื่อกล่อมเด็ก โดยศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ด้วยตัวเองจากนักร้องชื่อดังสมัยนั้น

                เมื่อฐานะทางบ้านไม่สู่ดีนัก ทำให้เสรีเรียนจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อไม่ได้เรียนต่อ จึงออกมาทำงานรับจ้างและทำนาเป็นหลัก จนอายุ 14 ปี ก็เข้ามาทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพ หนึ่งในสถานที่ที่เขาเคยก่อสร้างคือโรงแรมดุสิตธานี เสรีทำงานก่อสร้างจนถึงอายุ 25 ปี ก็เริ่มมีโอกาสได้เป็นนักร้องทั้งที่ตัวเองไม่อยากเป็นนักร้องมากนักแม้จะเคยผ่านการประกวดมาบ้างก็ตาม

                ขณะที่เสรีทำงานก่อสร้างโบสถ์ที่วัดตุ้มหู จังหวัดสิงห์บุรี คุณพ่อไปตามให้ไปร้องเพลง โดยที่ผ่านมาคุณพ่ออยากให้เป็นลิเกหรือนักร้องก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก แต่เพราะครั้งนี้ก่อนที่คุณพ่อมาตามเสรีฝันว่าเป็นนักร้อง 4 คืนติด จึงทำตามที่คุณพ่อต้องการจึงเดินทางที่มาหวัดสระบุรี เพื่อมาพบครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ ซึ่งท่านให้ร้องเพลงให้ฟัง พอร้องเสร็จท่านขอใช้มือจับหน้าตาของคุณเสรีเนื่องจากตาท่านบอด พอคุยกันจบพรุ่งนี้ก็ให้ไปอัดแผ่นเสียงทันทีที่ บริษัท โรต้าแผ่นเสียง-เทป ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร

                เมื่อได้ไปอยู่กับครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ มีการบันทึกเสียง 2 เพลงแรกคือ “ยิ้มเถอะน้องพี่จะร้องไห้” กับ “เสื้อลายสก๊อต” แต่ 8 เดือน ยังไม่ได้ออกเทป ต่อมาได้ไปอยู่กับ หมอเอื้อ อารี มีการจับคู่ เสรี รุ่งสว่าง กับ สุชิน สินส่งเสริม และได้ครูชลธี ธารทอง มาเขียนเพลงให้ โดยครูฉลอง ภู่สว่าง เขียนเพลงให้สุชิน มีการปั้นนักร้องสองคนประกอบคู่กัน

                ผลปรากฏว่าหลังจากอัดแผ่นเสียงแล้ว 8 เดือนก็ยังไม่ได้ออกเทป ได้แต่นำแผ่นเสียงของตัวเองขับส่งรายการวิทยุเพื่อให้เปิดเพลงบ้าง บริษัทค่ายเพลงมีการส่งเสริมศิลปินในค่ายคนอื่นไปหมดแล้ว จนในที่สุดเสรีก็ได้ออกแผ่นเสียงสู่สาธารณะชนเป็นคนสุดท้าย ใน “ไอ้หนุ่มรถซุง” ออกซึ่งมีปัญหาพาเรื่องไม่ผ่าน กบว. เพราะมีเนื้อหาล่อแหลมในสมัยนั้น แต่ยิ่งปิดคนยิ่งอยากฟังจึงสามารถแจ้งเกิดได้พอเพลง “จดหมายจากแม่” ออกต่อกันมาก็ทำให้มีชื่อเสียงขนาดสามารถตั้งวงดนตรีขึ้นมาด้วยเงินของนายทุนหลายคนมาลงขันกัน

                พอตั้งวงดนตรีได้ประมาณ 5 ปี นายทุนมีปัญหากันเองจนทำให้นักร้องอย่างเสรีลำบากใจที่จะต้องไปอยู่กับคนใดคนหนึ่งจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่สุพรรณบุรี 2 ปี โดยมีอาชีพทำนา แต่ด้วยความมีชื่อเสียงทำให้ชาวบ้านและแฟนเพลงมาหาเป็นจำนวนมาก ขนาดที่ว่าลงตาข่ายหาปลาในหนองมีคนมาดูเป็นจำนวนมาก

                หลังจากนั้นเสรีคิดอยู่ในใจว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นนักร้อง มันคืออาชีพจึงกลับมาเคลียร์ตัวเองจนจบเรื่องราวที่เคยมีปัญหา ก็กลับมาร้องเพลงอีกครั้งมามีชื่อในเพลง “เทพธิดาผ้าซิ่น” จากการแต่งของครูชลธี ธารทอง มีการตั้งวงดนตรีอีกครั้ง แต่เป็นยุคท้ายของวงดนตรีแล้ว เพราะมีสินค้าเป็นผู้สนับสนุนเดินสายจ้างนักร้องดังไปเล่นให้คนดูฟรี

 

            ชีวิตลูกทุ่งเดินสาย

“ผมมีประสบการณ์กับวงดนตรีเดินสายเรียกง่าย ๆ ว่าแทบทุกอำเภอ ทุกตำบลไปมาหมด ทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาประสบพบเจอหรือมีปัญหาอย่างไรเรารู้หมด ชาวบ้านเขาอยากได้อะไรเรารู้หมด เพราะเราได้ไปสัมผัสสถานที่ต่าง ๆ บางสถานที่ยังมีอีกมากที่คนไทยไม่รู้ ทั้งเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวหรือทรัพยากร

“คือมันไม่มีย้อนกลับอีกแล้ว สมัยนี้นะ การเดินสายที่มันสนุกกับบรรยากาศที่มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน สมัยนั้นพี่สมนึก ปราโมทย์ จัดเวทีคอนเสิร์ตที่นครศรีธรรมราช มี 3 วงเก็บค่าบัตร 100 บาท ซึ่งเก็บ 100 บาทได้ 11 ล้านบาท สมัยนั้นไม่ใช่เราได้เงินนะคนจัดเขาได้ คือตอนนั้นเขาจ้างวงดนตรีไป แค่วงละ 70,000 บาท สมัยนั้นปิดวิกเก็บ 15 บาท ก็เก็บได้เงิน 5-6 แสนนะ แล้วถามคุณว่ามีคนจำนวนท่าไร เก็บเงิน 15 บาทนี่ อย่างน้อยต้องมี  60,000 – 70,000 คน แล้วคุณลองคิดดูสิ คนเบียดกันแน่นอย่างนี้เลย มันไม่ใช่ธรรมดา ในสมัยก่อนมันยิ่งใหญ่มาก มันมีความประทับใจ

“ชีวิตผมผ่านความเป็นลูกทุ่งในความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในช่วงที่เราฮอตจริง ๆ ก็มีในยุคต้น ๆ ผมผ่านมา 2-3 ยุคแล้วในวงการลูกทุ่ง เพราะยุคที่ลูกทุ่งเฟื่องฟู ยุคลูกทุ่งพอได้ มายุคลูกทุ่งแย่ เราก็ผ่านมา แต่ในยุคนี้ถามว่าลูกทุ่งแย่ไหมก็ตอบเลยว่าแย่ เพราะว่า CD ก็ขายไม่ได้ หาเงินได้แต่แค่งานโชว์ แล้วเศรษฐกิจบ้านเราเป็นแบบนี้ งานก็ไม่มี มันก็แย่สิ

“ปัจจุบัน มีอยู่ 2 เพลง คือเพลง “เสรีขอพร” กับ “อิจฉาตายาย” คือ 2 เพลงที่เป็นหัวหอกอยู่นะ แต่ว่ามันต้องหาธุรกิจเสริม เป็นนักร้องจะไปคิดว่าเอ้ย! อีโก้สูงไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แล้ว”

วงการเพลงลูกทุ่ง

                “ผมคิดว่าเพลงลูกทุ่งทุกวันนี้ มันเป็นอมตะไม่ได้ มันได้แค่ชั่วคราว ไม่ได้มีความประทับใจอะไร ไม่ได้มีความจดจำ ผมถามหน่อยครับว่าสมัยนี้เด็กรุ่นหลังยังรู้จักพุ่มพวงเลย เพราะอะไร เพราะว่ามันมีความจดจำ มันมีความประทับใจ เป็นอมตะ แต่เพลงยุคนี้ผมถามหน่อยว่าใครนึกออกบ้าง ใครร้องกับคนไหนบ้าง ลองไล่เรียงกันแทบไม่ได้แล้ว เพียงแต่มันไม่ย่ำอยู่กับที่ เพราะเพลงลูกทุ่งที่ผมบอกให้ฟัง มันฟังง่าย แต่การที่มันฟังง่ายมันร้องยาก

“ผมถามว่าคนในประเทศไทย 70 -80 ล้านคน ร้องเพลงเพราะ ๆ ได้สักกี่คน มีไม่กี่คนหรอก แต่ละยุคแต่ละสมัย นักร้องจะเกิดใหม่ไม่ใช่แค่ 100 คน แต่จะมีจำนวนเป็น 1,000 คน แต่มันไม่ผ่านเกณฑ์สักคนไง นึกออกไหม คือ 10- 20 ปีจะโผล่มาสักคนหนึ่ง เจอเพชรสักเม็ดนึง มันก็มีแต่พอได้ที่จะผ่านเกณฑ์ได้ ประชาชน 70-80 ล้านคน คุณนับ 10 วันก็นับไม่หมด แต่ถ้าคุณนับนักร้องนับแค่ 20 นาทีก็นับหมดแล้ว เห็นไหม เพราะมันมีไม่กี่คนที่คุณจะเอ่ยว่ามันดังจริง มันมีไม่กี่คนหรอก

“ผมสมมติให้ฟัง พื้นที่ประเทศไทยมีอยู่ 100% เป็นที่เจริญสัก 20% แต่เป็นทุ่งนา 80% ตราบใดที่ลูกทุ่งมีตัวดี ๆ ขึ้นมามันอยู่ได้ เพราะคนลูกทุ่งมันอยู่อีก 80% ถ้าเปรียบเทียบนะ อาจจะไปฟังลูกกรุง สตริง เพลงอินดี้อะไรประมาณนี้ คนแต่ละภาคเขาก็จะเสนอมา เช่นอย่างภาคอีสานเขาก็มีอินดี้อีสาน คนทางใต้ก็จะมีแบบของเขา แต่ว่าถ้านักร้องลูกทุ่งเกิดสักคนนะมันจะคลุมไปทั้งหมด เพราะว่าพื้นที่ 80% เป็นทุ่งนา ลูกทุ่งมันยังอยู่ได้ บางคนบอกว่าลูกทุ่งตายแล้ว ผมเชื่อว่ามันยังไม่ตาย เพราะอะไรรู้หรือเปล่าเพราะว่าคือเพลงลูกทุ่งมันก็ยังเป็นทุ่งนาอยู่ คนทุ่งนายังชอบ

“ถามว่าวัยรุ่นที่เกิดมาในยุคปัจจุบันนี้ เขาร้องลูกทุ่งไม่ได้ ที่เขาร้องลูกทุ่งไม่ได้เพราะอะไร ที่เขาไม่ฟังลูกทุ่งเพราะอะไร ก็เพราะร้องไม่ได้ พอร้องไม่ได้ก็ไม่ฟัง ไปฟังเพลงง่าย ๆ ดีกว่าเพราะว่าฉันร้องได้ จะให้ไปร้องเพลง “เรียกพี่ได้ไหม” โอ๊ยร้องไม่ได้ฟังอะไรอย่างนี้ แต่คุณไปฟังตามสถานบันเทิงสิ พอเขาเปิดเพลงหมอลำหรือลูกทุ่งขึ้นมาก็กรี๊ดแหลกลาญ คอแทบแตก เพียงแต่คนไทยเขาไม่ยอมรับตัวเองเท่านั้น”

ส่องเส้นทางลูกทุ่งปัจจุบัน

“ปัจจุบันลูกทุ่งเข้าสู่ยุคออนไลน์ลูกทุ่งอีสานเขาตลาดใหญ่ เดี๋ยวนี้เขาดูกันทั่วโลก แล้วคนไทยไปทั่วโลกนะ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้แปลกใจนะทำไมมนต์แคน แก่นคูน ถึงมียอดวิวเยอะก็เขาตัวจริงไง เราก็ดีใจกับเขาด้วย คือผมสายศิลปิน เราสายลูกทุ่งคือสายเดียวกับเขา คือเด็กรุ่นหลัง ๆ เขามีความสามารถ แล้วก็ร้องดี อย่างเราได้แต่นั่งดูว่าเออ ลูกทุ่งมันก็จะกลับมา

“ในอีกมุมหนึ่ง รายการประกวดนักร้องมากมาย บางรายการบางครั้งก็ปล่อยเพชรทิ้งไป ผมพูดมาตลอดเลยนะว่าความสามารถของคนเรามันได้ แต่ได้แค่ไหน คุณฟังได้แค่ไหน นักร้องมันจะรู้กันนะว่าคนนี้ร้องไม่ธรรมดา แต่ผมก็เห็นใจรายการร้องเพลงนะ มันเป็นเรื่องธุรกิจบันเทิงมันก็ต้องมีความสนุกสนานเฮฮา แต่ถามว่าถ้าจะเอางานจริง ๆ เนี่ยต้องทำให้มีคุณภาพจริง แต่ผมคิดว่ายังก็มีความหวังอย่างไรรู้ไหม สักวันหนึ่งอาจไม่ใช่เด็กในรายการที่จะมาดัง แต่เป็นชาวบ้านที่ดังเอง เพชรจะเกิดขึ้นมันจะมาเอง

                “แต่ยังไงต้องมีเพชรเม็ดงามเกิดขึ้นมาในวงการลูกทุ่งอีกครั้ง มันแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คนที่มันร้องเพลงดี ๆ ไม่ค่อยประกวดร้องเพลงนะ ผมเอาตัวผมเองนี่แหล่ะเป็นที่ตั้ง ผมร้องเพลงก็ไม่ค่อยอยากประกวด ไม่ชอบ ผมถึงบอกให้ฟังว่า บางทีคนที่ร้องดี ๆ มันไม่มานะ แต่คนที่ร้องเพลงไม่ค่อยได้เรื่องก็อยากจะร้อง อยากถือไมค์ คุณคอยสังเกต เพื่อน ๆ เราหลาย ๆ คน คนที่ร้องเพลงไม่ดี จะถือไมค์ไม่วาง ส่วนไอ้คนร้องดีก็ไม่ร้องแต่เสียงดี

“ศิลปินที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ๆ เวลาที่คุณไปโชว์ ถ้าคุณไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ทน คุณก็อยู่ไม่ได้นาน ความดังมันมายาก แต่มันจะไปไว มันไปแล้วมันไม่ค่อยกลับ เพราะอะไร ถ้านิสัยคุณใช้ไม่ได้ มันจะไม่กลับมาเลย แต่ถ้านิสัยคุณดี ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ดังสุด ๆ มันก็กลับมาได้ มันก็อยู่ได้ในวงการนี้  เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่อุปนิสัย การที่เป็นศิลปินต้องลบรุ่น และผมถามนิดนึงนะว่า ผมเป็นเสรี รุ่งสว่าง เวลาที่ร้องไปปั๊บ ถ้าคุณชอบ คุณไปซื้อซีดี แฟนเพลงมาซื้อบัตรคอนเสิร์ตเห็นไหมผมอยู่ได้ แบบนี้เค้าเรียกว่าดัง

“แต่ถ้าเกิดว่าผมร้องให้ตายเขาไม่ฟังผม มันก็ดังไม่ได้ ความดังไม่ได้อยู่ที่ตัวเรานี่นา ไม่ได้อยู่ที่ตัวเสรี แต่มันอยู่ที่แฟนเพลง มันอยู่ที่คนฟังต่างหากว่าเขาจะให้เราหรือไม่ ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวผมร้องดีหรือเปล่าเลย ผมยังไม่รู้เลยนะ ทุกวันนี้ผมไม่รู้ว่าผมดังแค่ไหน ผมก็ไม่รู้นะ แต่ผมขอเถอะว่าให้มีงานไปวัน ๆ คนนั้นจ้าง คนนี้จ้าง แสดงว่าเรามาถูกทางบ้างแล้ว คือผมคิดอย่างนี้จริงๆ 

“ทุกวันนี้ผมร้องเพลงไป ก็คิดว่าเป็นศิลปินต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เหมือนคุณยืนอยู่เขาจะเรียกคุณเมื่อไหร่ ศิลปินท่านอื่นเหมือนกันครับ เขาจะเลือกคุณหรือไม่อยู่ที่แฟนเพลง แล้วคนที่จะเป็นองค์ประกอบและจะช่วยเราก็คือพวกสื่อต่าง ๆ  คุณอย่าลืมเขา เวลาคุณไม่ดัง คุณเห็นกล้องคุณต้องวิ่งไป งานเล็ก งานน้อย งานใครก็ไม่รู้ก็ต้องเสนอหน้า อยากจะโชว์อยากจะอะไร ลองสังเกตไหมเวลาศิลปินดังแล้วปุ๊บ พอใครจะมาถ่ายรูป อุ้ย! ถ่ายไม่ได้ ไม่เอา ไม่ถ่าย มันเป็นเพราะเหตุอะไรไม่เข้าใจนะ อย่ามาสัมภาษณ์ฉัน ฉันไม่อยากสัมภาษณ์ มันเป็นเพราะเหตุอะไร

“ต้องไปถามน้อง ๆ ที่จะมาเป็นนักร้อง ให้คุณไปคิดเอาว่าคุณอยากจะได้แบบไหน ผมยังไม่รู้เลยว่าผมเป็นเสรี รุ่งสว่าง เพราะอะไร ผมเป็นเสรี รุ่งสว่าง เพราะว่าแฟนเพลงเขาฟัง เค้าเรียกผม ผมไม่ได้บอกว่า กูดีกว่า ฉันเด่น ฉันดัง ฉันร้องดี ฉันร้องดีขนาดไหนถ้าคนไม่ฟังอยู่ได้ไหมล่ะ อยู่ไม่ได้หรอก คุณเชื่อผมเถอะ อะไรก็แล้วแต่มันอยู่ที่อุปนิสัยคน สำคัญมาก อย่าไปลืมเขา สื่อต่าง ๆ อย่าลืมเขา แฟนเพลงนี่อย่าลืมเด็ดขาด ผมไปไหนก็สุดแต่แท้แต่ที่ผมพูดออกรายการเนี่ยนะ คนที่ดูรายการตั้งแต่นี้ไป คุณไปดูผมได้หน้าเวที แล้วผมเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าผมจะนั่งกินข้าว คุณขอถ่ายรูป ผมต้องลุกทันทีไม่มีเดี๋ยว ผมรับประกัน”

ตัวตนของคนชื่อเสรี

                “อย่างที่บอกผมเองดังไม่ได้ถ้าไม่มีแฟนเพลง หรือเขาไม่ฟัง เขาไม่ช่วยเหลือ ไม่ว่าคนรวยหรือจนเขาช่วยเหลือเรา คุณเชื่อไหมล่ะทำความดีไปเถอะ นักร้องให้ทำความดี ให้รู้เขารู้เรา มาจากไหนอย่าขี้เกียจ อย่าไปถือว่าโอ้ยกูดัง อีโก้กูสูง อย่า!! แล้วคุณจะอยู่ไม่ได้นาน “ครับผม” “ครับ” “ได้ครับ” เอาเถอะคุณอยู่ได้ ถึงแม้ว่านักร้องจะตกไปแล้วนะ เวลาที่เขาพูดถึงชื่อคนนี้ปั๊บ ชื่อเสรี อ้าวช่วยมันหน่อย มันนิสัยดี แต่ถ้าเสรีนิสัยไม่ดี พอพูดถึงเสรี เฮ้ย อย่าไปพูดถึงแม่งมัน ไอ้เนี่ยมันไม่ใช่ นิสัยมันไม่ดี ให้เขาเลือกเอา มันมีแค่สองอย่าง

                “แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกคือครูเพลงเราเคารพนับถืออยู่แล้ว คือครูบาอาจารย์ เราจะไปเป็นศิษย์คิดล้างครูมันคงไม่ใช่ คือผมเองผมอยู่เฉย ๆ นะครับ ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คือเราทำดีเสียอย่างเดียว มันจะชนะ เราไม่ระราน เราไม่พูดเราไม่ด่าเราไม่ไปว่าเขา เขาจะว่าเราก็แล้วแต่เขา ถ้าจะว่าก็มาว่าตรงหน้าเรานี่ เราจะได้ถามว่า เออ ผมผิดอะไร ตรงไหน เออถ้าคนจะด่าผมเนี่ย ถ้าไปด่านอกรั้ว ผมไม่ได้ยิน แต่พอมีคนมาบอกว่า เสรีไอ้คนนั้นมันด่าตรงนอกรั้ว เออช่างมันเถอะ เพราะกูไม่ได้ยิน เขามันมาทีหลังหูนะ ควายเวลามันเกิดมามันก็มีหูเลย แต่เขามันมางอกทีหลัง มันจึงเชื่อถือเขาไม่ได้”

ลิขสิทธิ์ควรเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“นักร้องที่เอาเพลงตัวเองไปร้องแต่ถูกจับเรื่องลิขสิทธิ์ แต่เป็นผมซะไม่ได้นะ ถ้าเป็นผมหน่อยสิ รู้อะไรไหมว่าบางเพลงที่ผมเอาเพลงของคนอื่นมาร้อง อันนั้นผมขอ ขอโทษนะครับ อย่าจับกัน บางทีเราร้อง เราไม่ได้มาทำในเชิงธุรกิจ แต่ผมอยากจะพูดให้คุณฟังรู้เรื่องว่า เรื่องของเพลงมันมีอยู่ 4 คน ที่จะทำให้เพลงมันดังได้ คือครูเพลงแต่งเพลงมาให้กับบริษัท แล้วบริษัทจ่ายเงินครูเพลงไป นักดนตรีรับเงินไป คราวนี้ก็เหลือนักร้องกับบริษัท

“ผมถามว่านักร้องสำคัญไหม สำคัญมาก ๆ บริษัทสมมติไปจิ้มนักร้องที่ขายไม่ได้ บริษัทหมดตัวนะครับ แต่เผอิญเหมือนกับการแทงหวย บริษัทจิ้มคนนี้แล้วดันดัง ลงทุน 1 แสนบาท ได้ 10 ล้านบาท ได้ 100 ล้านบาท ถามว่า 2 คนนี้ ก่อนหน้าทำเงินให้เท่าไร นักร้องทำให้บริษัทเท่าไร แล้วถามว่าทำไมนักร้องเอาเพลงไปร้องไม่ได้ แบบนี้ก็ลบเทปมาสเตอร์สิ มาสเตอร์ที่ฉันร้องนั้นลบไป เอาคนอื่นร้อง นี่เสียงฉัน ฉันก็มีสิทธิ์อยู่ในเสียงของฉัน มาสเตอร์นั้น

“แต่คุณจะบอกว่า เฮ้ย! มันเป็นของฉันคนเดียว ก็เอาคนอื่นไปร้องสิ เอาไปร้อง เอาเสียงฉันออกไป ฉันก็จะไม่ร้องเพลงนี้ แล้วห้ามขายในตลาด แต่ถ้าซื้อเอามาทำเอง คุณไม่มีสิทธิ์นะ นักร้องซื้อเอามาทำเอง คุณบอกว่าไม่ได้ เพราะผมไปซื้อมาจากต้นฉบับครูเพลง เอามาทำ แต่บริษัทว่าไม่ได้ ผมถามว่าทำไมจะต้องทะเลาะกัน เมื่อสมัยก่อนที่ผมดังใหม่ ๆ บริษัททำการโปรโมท 6 เดือนหมดเงินไปเกือบ 20 ล้านบาท เพลงยังไม่ดังเลยคุณเชื่อผมไหมล่ะ

“คนร้องฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าคุณห้ามขายเสียงผม ถ้านักร้องมันบอกมาอย่างนี้ ผมถามว่ากฎหมายมันมีรองรับไหม ก็เอาภาครัฐมาเขียนเป็นแนวทางไปเลยว่า นักร้องต่อจากนี้ไปต้องมีอย่างนี้นะ 1 2 3 มันจะได้ไม่เถียงกันไง ผมถามว่ากฎหมายไหนมันรองรับ เพราะกฎหมายเขียนจากคน ถ้าทำให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายจะดีมาก

“แล้วผมถามว่า เวลาที่เพลงดังแล้วเนี่ย นักร้องดันต่ำต้อย ชื่อเสียงดันไปอยู่กับฝ่ายอื่นอีก นักร้องเอาไปร้องของตัวเองไม่ได้ อะไร! ตลก! ตลกอ่ะทั้ง ๆ ที่ตัวเองร้องเพลงขายได้ ดังด้วยนะ และเป็นคนที่เจียระไนให้เพลงมีคุณค่าแท้ ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าโดนฟ้องอีกแล้ว เพลงของผมส่วนใหญ่เป็นของบริษัทหมดนั่นแหล่ะ ในอดีตเผอิญผมซื้อเพลงที่ผมจะร้องผมก็ทำเอง เพราะว่าวันนี้มันมีเรื่องของลิขสิทธิ์ไง

“ปัจจุบันนี้ผมก็อยากจะบอกนักร้องใหม่ ๆ ว่าอย่าไปซื้อเพลงเก่าเอามาทำนะ คุณซื้อแล้วมันออกไม่ได้ โดนฟ้องแล้วจะติดคุกอีก เพราะมันมั่ว อย่าไปซื้อ ร้องเพลงเก่าให้ตายมันก็ไม่ดังหรอก มันจะไปสู้คนเก่าเขาไม่ได้ คุณเอาเพลงใหม่ไปเลย วัดดวงไป ถ้าดังมาปั๊บคุณเป็นเจ้าของเลย เป็นต้นฉบับของคุณ แล้วถามว่าคุณไปร้องเพลง “เทพธิดาผ้าซิ่น” ไปร้องเพลง “เรียกพี่ได้ไหม” ก็เสรีร้องมาแล้วใช่ไหม มันจะไปร้องเกินเสรีมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเค้าดังมาแล้ว อันนี้ผมเปรียบเทียบให้ฟังนะ คุณเอาเพลงใหม่เลย ไปซื้อเพลงครูเอาเพลงใหม่ อย่าเอาเพลงเก่าเพลงเก่าเนี่ยกฎหมายไม่ได้รองรับ ซับซ้อน มั่วกันหมด มันไม่ได้ชื่อหรอกเชื่อผม”

ขอบคุณแฟนเพลง

“ต้องขอบคุณมาก ๆ เลย แฟนเพลงทั่วประเทศไทย ที่ให้การต้อนรับ ที่ผมมีกินมีใช้มีอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะท่านนั่นแหล่ะ ไม่ใช่เพราะผมหรอกนะ คือท่านให้ผมมาไง แฟนเพลงทุกคนเลยนะ ทุก ๆ ท่าน แล้วผมอยากจะกราบเท้าทุกคนเลย เพราะว่าที่ผมพูดให้ฟังตั้งแต่ต้นรายการว่า ผมเนี่ยต่อให้ร้องให้ตายแล้วท่านไม่ฟัง ผมดังไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้ผมต้องขอขอบคุณเป็นอันดับ 1 ขอบคุณแฟนเพลงทุก ๆ ท่านที่ให้การต้อนรับ

“ผมมาอยู่ตรงนี้ 40 กว่าปี ด้วยดีเสมอมา ขอบคุณสื่อต่าง ๆ ทุกแขนง ที่ได้ช่วยผมเสรี รุ่งสว่าง และขอบพระคุณหนัก ๆ เลยก็คือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือครูเพลง อะไรก็สุดแต่แท้แต่ ตราบที่ให้ผมได้มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จัก ต้องขอบพระคุณทุก ๆ อย่าง ยังไงก็สุดแท้แต่ แต่ผมก็ไม่เคยลืม ผมเป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา แต่ไม่ได้มีอคติอะไรกับใคร เพราะว่าเราเป็นคนบ้านนอก อยากจะถ่ายทอดอะไรก็สุดแท้แต่ ที่มันเป็นเรื่องจริง ให้ลองกลับไปคิดกันดูนะ ก็ฝากไว้ครับ”

 

 

 

Luk Thung Artists of All Time สัมผัสเสียงสำเนียงอมตะ เสรี รุ่งสว่าง