ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา : ปราชญ์แห่งผู้นำยานยนต์ | Issue 161

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา : ปราชญ์แห่งผู้นำยานยนต์ | Issue 161

บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดย ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ทำธุรกิจหลายประเภท ตั้งแต่ธุรกิจการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่ รวมถึงธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า โดยเป็นผู้จัดงาน Bangkok International Motor Show หลายสิบปี
ที่ผ่านมาแม้จะพบกับอุปสรรคแค่ไหน แต่บริษัทกรังด์ปรีซ์ ก็ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์มาโดยตลอด มาวันนี้แม้กำลังเจอโจทย์สำคัญอย่างโรคระบาดโควิด-19 แต่เราเชื่อว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

บทสัมภาษณ์ ดร.ปราจิน ครั้งนี้แม้ท่านจะเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ MiX Magazine เมื่อหลายปีก่อน แต่ถ้อยคำและเนื้อหายังเป็นอมตะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้เสมอ จากเบื้องหลังการก้าวเดินการเป็นผู้จัดงาน Bangkok International Motor Show กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านมันสมอง สองมือและเรื่องราวอีกมากมาย

ดร.ปราจิน เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่มาโตที่จังหวัดอยุธยา อยู่ในครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ส่วนท่านเป็นคนที่ 6 โดยมีคุณพ่อเป็นข้าราชการสรรพสามิต คุณแม่มีอาชีพค้าขาย ในวัยประถมท่านเรียนดีเนื่องจากมีพี่สาวสอนหนังสือทำให้จึงไม่ต้องเข้าชั้นอนุบาลแต่เรียนป.1 ได้เลย และสามารถเรียนจบ ม .6 ได้ในวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น โดยเริ่มสนใจศิลปะในช่วง ม.5-ม.6เนื่องมีอาจารย์จากเพาะช่างมาสอนที่โรงเรียน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายจึงสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งต้องเรียนและทำงานไปด้วย

สืบสานตำนานศิลป์

ดร.ปราจิน : ผมจบเพาะช่างปีพ.ศ. 2506 รุ่นผมที่สอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมีหลายคน ส่วนที่เพาะช่างได้เป็นศิลปินแห่งชาติ มีอยู่ 20 กว่าคน มีแต่รุ่นพี่ และรุ่นหลังอย่างอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ฯลฯ ท่านจะมาทำเวิร์กชอปที่เพาะช่างทุกปี จากนั้นก็จะเดินทางไปที่บ้านอาจารย์ถวัลย์ที่เชียงราย ในฐานะศิษย์เก่าผมไปด้วยทุกปี ภาพศิลปะที่ติดประดับไว้ที่สำนักงานกรังด์ปรีซ์ฯ เพื่อจรรโลงใจให้เกิดความสุนทรีย์ก็มีภาพเขียนของศิลปินหลายท่าน ทั้งภาพพิมพ์ของอาจารย์ประหยัด ภาพเขียนของอาจารย์ถวัลย์ ภาพเขียนของเปี๊ยก โปสเตอร์ 10 กว่ารูป และของสะสมภายในห้องพิพิธภัณฑ์ของเก่า ใครไม่รู้คิดว่าผมจบจากวิศวกรรมจุฬาฯ เพราะผมเป็นที่ปรึกษาของวิศวะจุฬาฯ เป็นกรรมการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย

ส่วนงานรูปเขียนของผมสมัยเรียนที่เพาะช่าง ผมให้เขาหมดเหลืออยู่ 2 รูป ก็นำไปจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเขียนภาพครั้งสุดท้ายของผมคือเมื่อปี พ.ศ. 2507 จบจากเพาะช่าง ก็มาทำงานเป็นช่างศิลป์ ทำอาร์ตเวิร์กหนังสืออยู่ที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช ทำเลย์เอาท์ ทำดัมมี่หนังสือ เป็นบรรณาธิการอยู่ก็จริง แต่เราเปลี่ยนตัวเองลงไปสัมภาษณ์เป็นคนเขียนเรื่อง เสร็จกลับมาก็ทำดัมมี่ ตรงนี้คือการเรียนรู้ทิ้งไม่ได้ต้องทำเอง จัดหน้าเสร็จ ตามเข้าไปดูถึงโรงพิมพ์ไปนั่งเฝ้า ไม่ต้องจ้างคนเยอะ ผมทำงานตรงนี้ปุ๊บ พอมีสตางค์จึงไปดาวน์มอเตอร์ไซค์ยามาฮ่า 80 ซี.ซี. ขี่มาทำงาน พอเขามีการแข่งรถที่สนามบินพิษณุโลก เราก็มีโอกาสไปแข่งบ้างไปดูบ้าง เขาเห็นว่าผมมีความถนัดด้านนี้ จึงให้ทำสูจิบัตรงานมอเตอร์ไซค์บอลล์ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายว่าเรื่องรถนั้นมีคนสนใจไม่น้อย ผมเขียนปกเองเขียนข่าวนำไปแจกในงานประมาณ 500 เล่ม ที่ตึกอื้อจื่อเหลียง เพชรบุรีตัดใหม่ คนฮือฮามากเพราะพิมพ์ด้วยบล็อก

ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลิตวารสารชัยพฤกษ์ หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือวิทยสารของไทยวัฒนาพาณิช ผมไปเจอคุณชูเกียรติที่ตอนนี้เป็นเจ้าของอัมรินทร์ พริ้นติ้ง เขาจบจากจุฬาฯ มาอยู่กับอนุช อาภาภิรม น้องชาย ดร.อาณัติ อาภาภิรม เข้ามาทำงานที่เดียวกัน เขาเป็นนักวิชาการแต่ผมเป็นฝ่ายศิลป์ เขามีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าหาเรื่อง แปลเรื่อง ผมทำดัมมี่ ทำปกจัดหน้าให้เขาเป็นพวกแบบเรียน เราเป็นคนทำหมด

ผมได้เห็นผลงานภาพประกอบของอาจารย์เหม เวชกร ภาพประกอบของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ เรื่องกากี รามเกียร์ติ ฯลฯ จึงอ่านเนื้อเรื่อง แล้วต่อมาก็กลายเป็นนักอ่านไปเลย ส่วนมากคนทำดัมมี่ ไม่ค่อยชอบอ่านเนื้อเรื่อง เราต้องอ่านเรื่องเพื่อทำการประกอบรูปจะได้ตรงกันตามเรื่องที่กำหนดไว้ ไม่ใช่เนื้อเรื่องจบไปแล้ว รูปภาพดันไปอยู่หน้าอื่น การเป็นนักอ่านเป็นบันไดไปสู่การเป็นนักเขียน สิ่งที่ใกล้ตัวเราคือการถ่ายภาพ ผมเป็นคนลักจำเก่ง ไม่ค่อยนิ่งดูดาย ตอนนั้นโรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา ยังไม่มีบทบาทมากนัก ไทยวัฒนาพานิชทำหนังสือแบบเรียนมากที่สุด ยุคหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่นี่มีนักวิชาการเยอะจึงทำหนังสือไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขออนุญาตทำหนังสือแบบเรียนจัดจำหน่ายนักเรียน เมื่อสภาพัฒน์ฯอนุมัติมาเราจึงทำ อีกอย่างองค์การค้าคุรุสภา ทำให้ไม่ทัน ในเชิงพาณิชย์มันช้ากว่าด้านเอกชนที่พัฒนาเร็วกว่า

บุกเบิก Sport Speed World

ดร.ปราจิน : ห้าโมงเย็นเลิกงาน ผมไปทำงานโอทีต่อที่ห้างฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นงานศิลป์ทำเสร็จสองทุ่มครึ่ง เราไปรับจ็อบอีกงานหนึ่งประมาณสามทุ่ม เป็นงานเขียนภาพสไลด์ มีรุ่นพี่เพาะช่างไปรับงานของฝรั่งที่มีโครงการช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ โดยทำภาพสไลด์นิทาน นวนิยาย เขียนภาพโปสเตอร์ประกอบ เพื่อจะถ่ายเป็นสไลด์เป็นชิ้น ๆ ฉายให้นักเรียนดู ก็เลยทำงานเยอะมากไม่มีเวลาเที่ยว เป็นนักผ่อนส่ง ผ่อนทีวี เครื่องเล่นแผ่นเสียง ผ่อนที่ดิน ฯลฯ ทำอยู่ 2 ปีคุณพ่ออยากจะให้รับราชการแบบท่าน เพื่อเป็นหลักเป็นฐานมั่นคงกว่าทำงานเอกชน จึงไปสอบบรรจุรับราชการที่กรมสรรพสามิต ปรากฏว่าได้ ก็ตัดสินใจลาออกจากไทยวัฒนาพานิช ไปทำงานที่กรมสรรพสามิต แต่ผมทำงานได้ 2 เดือนก็ต้องลาออกอีก กลับมาที่ไทยวัฒนาพานิชในตำแหน่งเดิมซึ่งเขาก็ยินดีต้อนรับ ทำอยู่ประมาณ 3 ปีได้เงินเดือน 900 กว่าบาทและมารับจ็อบเหมือนเดิมได้ชั่วโมงละ 7-8 บาท สมัยนั้นถ้ากินกาแฟที่ผับแก้วละสามบาทห้าสิบสตางค์ กินข้างนอก 75 สตางค์ เบียร์สิงห์ขวดใหญ่ 12 บาทสั่งในผับแก้วละ 25 บาท

ต่อมาผมมาบุกเบิกหนังสือ Sport Speed World เพื่อนเป็นเจ้าของหนังสือ จึงมาชวนเข้ามาทำงานในตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นการบุกเบิกหนังสือแนวมอเตอร์สปอร์ต ครั้งแรกในประเทศไทยเป็นที่ฮือฮาของผู้คนอีกเช่นกัน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเรื่องความเร็ว จึงเห็นช่องว่างทางการตลาด ในเมืองไทยแทบไม่ปรากฏหนังสือในทำนองนี้ เมื่อเกิดแนวความคิด จึงออกมาทำหนังสือเองในปี พ.ศ. 2513 คือหนังสือกรังด์ปรีซ์ ฉบับแรกเป็นตัวของตัวเอง ผมเป็นคนไม่อยู่นิ่งตัดสินใจเร็ว ไม่ว่าจะทำโรงพิมพ์ก็ดี จะทำหนังสือในระบบออฟเซตก็ดี เราเป็นคนบุกเบิกรุ่นแรก ๆ เป็นคนค่อนข้างกล้าเชื่อมั่นตนเองในการตัดสินใจ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปี พ.ศ. 2513 ที่ออกมาทำหนังสือเองในปีนั้นผมก็แต่งงานเมื่อตอนอายุ 27 มันเป็นภาระที่หนักมาก แต่เราต้องมีความเชื่อมั่นเพราะเราทำงานมาหลายปี ผมมีเวลานอนแค่วันละ 4-5 ชั่วโมง ผมไม่เคยนอนเยอะตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบงาน

งานทุกอย่างเมื่อเริ่มต้น จะให้ประสบผลสำเร็จเลยมันไม่ใช่ อย่างนั้นคนก็รวยกันล้นประเทศไทยไปหมดแล้ว (หัวเราะ) จุดแรก ๆ มันต้องอดทน ผมอดทนมาเกือบ 20 ปี จึงจะประสบผลสำเร็จอายุปาเข้าไป 50 ต้องล้มลุกคลุกคลาน เพราะผมเป็นคนแส่หาเรื่อง ขยายงานไปเรื่อย ผมย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ซอยลาดปลาเค้า 66 เป็นแห่งที่ 10 ถือว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่มั่นคง ตอนนี้ลูก ๆ บริหารงานต่อ การทำงานบางอย่างประสบปัญหาการขาดทุน แต่มันสำคัญว่างานที่เราทำ เรารู้จริงหรือเปล่า การเรียนรู้ของผมคือรู้งานด้วย รู้คนด้วย รู้จากคนรอบข้างที่เราสัมผัส แต่ก่อนเราเองไม่มีทุนก็จริง แต่ผลงานที่เราทำออกไปเขาเชื่อถือ คนที่เราคบช่วยเราได้นอกเหนือจากภรรยาแล้ว คนที่เราสัมผัสที่รู้อยู่ว่าเขามีฐานะดีกว่าเรา เราทำให้เขาไว้วางใจได้หรือเปล่า หากเดือดร้อนอะไรมา เราสามารถไปขอความช่วยเหลือจากเขา การหาทุน เราต้องมีแหล่ง เพราะเราจะไปใช้ธนาคาร ธนาคารเขาก็ถามว่าเรามีโฉนดไหม เมื่อไม่มีเขาก็ไม่ให้กู้ แล้วเราจะไปเอาโฉนดมาจากที่ไหน ทำหนังสือกว่าจะมีสตางค์กว่าจะเก็บเงินได้ใช้เวลา 3-4 เดือน

เดินตามฝัน...งานมอเตอร์โชว์

ดร.ปราจิน : ถ้าไปธนาคารเวลาเราขาดเงิน เขาไม่ให้เรากู้หรอก แต่เวลาเรามีเงิน เขาอยากยัดเหยียดเอาเงินมาให้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องมีตัวช่วย คือคนที่เรารู้จักกันมานาน แล้วเขาอ่านเราออกไว้วางใจเรา เมื่อเดือดร้อนพวกนี้เขาจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง แล้วเราก็นำไปคืนเขา กฎกติกามารยาท มันมีบางคนหลอกตัวเอง ทุกวันนี้ผมยังช่วยเหลือคน แต่ผมก็โดนเขาหลอกแต่สุดท้ายเขาก็ทำลายตัวเอง กฎแห่งกรรมมีจริง เราเองไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ ผมไม่ใช่เป็นนายธนาคารใหญ่ที่มีเงินเหลือเฟืออยู่ตรงนี้ ผมช่วยเพราะเห็นว่าเป็นคนดี แต่ถ้าคุณหลอกตัวเองเมื่อไร ธุรกิจที่คุณทำก็จะไม่มีกำไร

สมัยก่อนหนังสือยานยนต์เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งหมดมี 70 หัว ตอนนี้เหลือไม่กี่หัว แล้วคุณมาหลอกตัวเองว่าธุรกิจคุณพังหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำอย่างน้อยใช้เวลา 1-2 ปี ผมหมดเงินไปเกือบ 10 ล้านไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ผมเคยปิดไปหลายเล่ม อะไรที่ไม่ดีก็ไล่ปิดไป เพราะขาดทุนอย่าดันทุรังนานไม่ได้ ทำหนังสือมา 2 ปี บางเล่มหมดไปเกือบ 20 ล้านก็มี ทำเล่มหนึ่งจะเอาคืนเมื่อไร เราต้องมานั่งถามตัวเองว่า หนังสือที่คุณทำมีอนาคตหรือไม่ เราต้องมีแผนงาน หากมีไอเดียแปลก ๆ เข้ามาก็น่าจะทำ ในงานมอเตอร์โชว์ตั้งแต่ที่ผมเปิดมาไม่ขาดทุน แต่มันไม่มีกำไร ที่ผมขาดทุนจริงๆ มีอยู่ครั้งเดียวก็คือตอนย้ายจากการจัดแสดงที่สวนอัมพร ครั้งที่18 มาจัดที่ BITEC บางนา เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 พอมาปีที่ 2 พอได้ทุนคืนปีที่ 3-4 จึงพอได้กำไร

สมัยก่อนเริ่มจัดครั้งแรก เราจัดที่สวนลุมพินี ราวปี พ.ศ. 2522 เราอยู่ได้ แต่ไม่มีกำไรเพราะค่าบัตรผ่านประตู เรานำเงินไปให้มูลนิธิดวงประทีปหมด ได้มาเกือบสองแสน ตอนนั้นบัตรผ่านประตูแค่ 3 บาท เราให้ลูกเสือเขาเก็บให้หมด ปรากฏว่ากลายเป็นเขาได้กำไรกว่าเราตรงนั้น (หัวเราะ) กำไรคาดว่าอยู่ประมาณ 6 -7 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าบัตรผ่านประตู ต่อมาจึงไปจัดที่สวนอัมพร

ทางญี่ปุ่นเขาเตือนผมเสมอว่าการจัดงานมอเตอร์โชว์โดยบริษัทกรังด์ปรีซ์ฯ นั้นไม่มีที่ไหนในโลกทำ เพราะทุกประเทศทั่วโลกมักจะจัดโดยสภาอุตสาหกรรมสนับสนุน อุตสาหกรรมยานยนต์รวมตัวกันจัด จะมีก็แต่ที่ประเทศไทยที่เดียวที่เจ้าของหนังสือเป็นคนจัดเอง เขาบอกว่าแสดงว่ายูเป็นมาเฟียเมืองไทยนี่หว่า (หัวเราะ) คือต้องเป็นองค์กรเป็นสมาคม ฯลฯ เป็นผู้จัดในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม จะทำอะไรแต่ละครั้งต้องหาเงินทุนก่อน

เมื่อผมเติบโตจากหนังสือ ผมก็แตกไลน์ไปจัดแข่งรถมอเตอร์ไซค์ แข่งรถยนต์ แล้วลงทุนหุ้นกับเพื่อน ๆ ช่วงแรกลงไป 40 กว่าล้าน มาสร้างสนามแข่งรถพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต พัทยา จากนั้นจึงมาทำโรงพิมพ์เอง เราดูวงจรของเราเราไม่ใช่มองอยู่แค่หน้าตัก จ้างเขาพิมพ์ค่าพิมพ์กินหมด ค่าพิมพ์นี่สามารถซื้อโรงพิมพ์ได้เลย

รับปากแล้วต้องทำได้

ดร.ปราจิน : พอตั้งโรงพิมพ์เสร็จ เราต้องมองการณ์ไกล ดูด้านการรับโฆษณา เหมือนกับคำถามที่เราตั้งว่า ทำไมในต่างประเทศเขาจัดงานมอเตอร์โชว์แล้วเขาได้กำไรเยอะแยะ ตรงนี้เราทำได้รถยนต์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ทุกประเทศ ต้องมาลงโฆษณาในหนังสือของเราการแข่งรถทุกครั้งต้องผ่านเราหมด ทำไมเราไม่เป็นเจ้ามือเอง ที่ผมรู้เรื่องการตลาดเพราะก่อนหน้านั้น ผมสนิทกับผู้ใหญ่หลายค่าย โดยเฉพาะทางโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) เพราะช่วงปี พ.ศ. 2514 ผมไปทำหนังสือโตโยต้านิวส์เป็นหนังสือของบริษัทคาร์โตโยต้า เขาเรียกเราไปทำ ผมเป็นคนวางดัมมี่ วางเลย์เอาต์ เป็นคนทำข่าวเองทั้งเล่ม

สมัยนั้นรับจ้างทำฉบับละ 1 หมื่นบาท เขาเห็นผลงาน ก็จ้างทำมาตลอดเป็นสิบ ๆ ปี เราต้องรู้ว่าประธานบริษัทจากญี่ปุ่นมาเมืองไทยกี่คนใครบ้าง โฆษณาเข้ามาอย่างไร กลไกการตลาดเป็นอย่างไร เขาเริ่มจัดการฝึกอบรมสัมมนาพนักงานโตโยต้าทั่วประเทศ ที่โรงแรมบางแสนชลบุรี ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักพัทยา เราก็ตามไปทำข่าวกับเขาด้วย เขาจัดสัมมนากลไกการตลาด เราไม่รู้จะไปไหน ทำข่าวเสร็จแล้วจึงนั่งฟังอยู่หลังห้องได้รับความรู้เรื่องการขาย การตลาดของโตโยต้าหมดเปลือก ผมไม่เคยเรียนด้านนี้มาก่อน จึงลักจำด้านมาร์เก็ตติ้งว่ารถต้องขายอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะปิดการขายลูกค้าได้ รถคันนี้ดีมีจุดแข็งอย่างไร หลายคนจึงสงสัยว่าทำไมผมถึงทำการตลาดได้ ในงานมอเตอร์โชว์ ผมทำการตลาดของผมเองมาตลอด งบอยู่ในมือผม ช่างภาพเราก็เรียนมาแล้ว การจัดจำหน่ายก็ทำมาแล้ว ผมส่งหนังสือเอง เราทำมาหมดทุกอย่าง ทำเพื่อเรียนรู้การตลาด หลังจากที่ได้รับฟังจากคณาจารย์ที่เป็นวิทยากรทั้งหลาย เราจึงรู้ว่ามันฝังอยู่เต็มตัว

ในการทำลูกค้าสัมพันธ์ การเข้ากับคนที่เขาบอกว่า ลูกค้าคือพระเจ้าก็เหมือนกันกับที่เราทำมอเตอร์โชว์เราต้องรู้จิตใจของลูกค้ามนุษย์ยังอยู่อีกนาน อยู่ในน้ำยังต้องรู้ใจปลา อยู่ป่าต้องรู้ใจนก ผมเลี้ยงปลา ผมดีดนิ้วเคาะน้ำ ปลายังว่ายมาหา ผมเลี้ยงนกแก้วมาร์คอร์จับมาลูบหัวเล่นได้ ขนาดมันพูดภาษาคนไม่ได้ แล้วมนุษย์ที่พูดคุยกันรู้เรื่อง ทำไมจึงครองใจเขาไม่ได้ เพื่อให้เขาเชื่อใจในตัวเรา ประธานบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งหลายที่ผมคบ เขาเชื่อถือในตัวผมว่าผมคุมบังเหียนเรื่องงานมอเตอร์โชว์ให้เขาประสบผลสำเร็จได้ ผมรับปากอะไรแล้วต้องได้ แล้วได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ ผมไม่เอาสตางค์ ผมรับประกันตรงนี้ได้ ฉะนั้นผมสร้างความมั่นใจให้เขาได้

วิถีของคนกล้า

ดร.ปราจิน : มอเตอร์โชว์ทุกปีผมทำของแจกผู้สื่อข่าวไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ ผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติที่มางานมอเตอร์โชว์ ผมแจกตั๋วเครื่องบินฟรี ที่พักโรงแรมฟรี อาหารทุกอย่างฟรีหมด รถไปรับถึงสนามบินส่งที่โรงแรม พัก 3 คืน จะไปเล่นกอล์ฟหรือคาราโอเกะจะไปไหนขอให้บอก ขากลับมีของฝากอีกเพียบ เพราะพอเมื่อเขากลับไปก็เขียนข่าวประเทศไทย เรื่องวัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การท่องเที่ยว เขียนข่าวงานมอเตอร์โชว์ของผม ผมทำงานแทนรัฐบาลควักเงินเอง เพื่อองค์กรและประเทศ

ลองคิดดูสิ หนังสือในเยอรมนี หรือหนังสือในญี่ปุ่นคนอ่านกันเยอะจำหน่ายไปทั่วโลก ประชากรเขาเท่าไรเขาผลิตรถยนต์จำหน่ายทั่วโลกเท่าไร ผมเคยจะไปลงโฆษณางานมอเตอร์โชว์ของผม ในหนังสือยานยนต์ของเยอรมนี ยอดพิมพ์ของเขา 8 หมื่นฉบับ โฆษณาหน้าละ 5 แสนบาท 2 หน้าหนึ่งล้านบาทผมสะดุ้งเลย ก็มานั่งคิดว่าเวลาเราเดินทางไปมอเตอร์โชว์ในต่างประเทศ สมัยก่อนเขาก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาเชิญเรา มาจากบริษัท BMW เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำบ้าง ผมจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาก็ต้องเลือกให้ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 8 ฉบับ 12 คน ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ 4 คน มาเลเซีย 2 คน สิงคโปร์ 1 คน ออสเตรเลีย 2 คน ฮังการี จีน ไต้หวันเกาหลี อีกจำนวนหนึ่ง รวม ๆ ประมาณ 40 ฉบับ เมื่อเขากลับไปเขียนให้ผม 2-3 หน้า คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลย หนังสือพิมพ์ไทยลงหน้า 1 ทุกฉบับ รถยนต์ราคา 50-60 ล้าน เราสร้างกระแสซื้อรถช่วยชาติ ขายได้หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้ภาษี 6-7 พันล้านบาท เราทำได้สร้างสรรค์ได้เพราะเราอยู่กับสื่อ

งานมอเตอร์โชว์ของเรา OICA ยอมรับว่าเป็นมอเตอร์โชว์โลก ความยิ่งใหญ่ของบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยเท่านั้น หากแต่ยังได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำและสื่อมวลชน จากหลายประเทศทั่วโลก บรรจุเข้าสู่ปฏิทินมอเตอร์โชว์โลก งานมอเตอร์โชว์จัดที่ญี่ปุ่นก่อนหน้าประเทศไทย 2-3 เดือน แต่พริตตี้โชว์ สวยสู้บ้านเราไม่ได้ ที่นั่นเขาจะถ่ายมิสโตโยต้ามิสมอเตอร์โชว์อะไรต่ออะไรของบ้านเราไปลงหนังสือเขา ผมเก็บข้อมูลไว้หมด

การประเมินผลงานทุกครั้งต้องประเมินจากใจเรา เพราะเราเห็นโลกกว้างเมื่อเห็นมามาก จึงประเมินดูว่างานมอเตอร์โชว์ทั่วโลกเขาเติบโตอย่างไร งานมอเตอร์โชว์ญี่ปุ่นเป็นหลักเยอรมันเป็นรอง อเมริกายังไม่เท่าไร อย่างสนามแข่งรถ ผมนำแบบมาจากหลายประเทศ เพราะเขาเกิดก่อนเราประมาณ 30-50 ปี เขาเริ่มแข่งตามสนามบินมาก่อน ผมจึงเริ่มเปิดเกมแข่งที่สนามบินดอนเมืองบ้าง แข่งที่สนามบินลพบุรีบ้าง เพราะคัมภีร์มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ใครจะทำก่อน มันเป็นวิถีของคนกล้า แล้วคนกล้าต้องมีเพื่อนดี มีคนคอยสนับสนุน ผมมีที่ปรึกษาเยอะ ผู้หลักผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ผมชอบทำงานใหญ่ เล็ก ๆ ไม่ใหญ่ ๆ ทำ

ภูมิใจในแผ่นดินเกิด

ดร.ปราจิน : สิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุดคือ ผมได้เกิดบนผืนแผ่นดินนี้ที่เราเกิดมาเป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทย สามารถนำประโยชน์ในสิ่งเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้เห็น ทำให้ประเทศชาติมีชื่อเสียงได้ มันไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว ถือว่าแผ่นดินนี้ยิ่งใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีการสูญสลายได้หมด แต่ชาติกับผืนแผ่นดินนี้มันสูญสลายไปไม่ได้ มันยังอยู่ทุกอย่างแม้แต่ประเทศของเรา ทำไมไม่เปิดเพลงรักชาติตอนนี้ล่ะ ให้คนหันมารักประเทศไทย เดี๋ยวนี้คนไม่รักประเทศไทยแล้ว เขารักตัวเองกับพวกพ้อง ทำไมเราไม่สร้างตอนนี้เพื่อให้ทุกคนตระหนักดีว่านี่คือประเทศชาติ เราอยู่กันมา ประเทศไทยไม่ได้สูญสลายไปไหน แต่ทุกอย่างแตกดับได้ ตั้งแต่ 200 ปีลงมาในโลกมีประเทศไหนแตกดับบ้างไม่มี มีแต่การสู้รบกันในแอฟริกา ในอเมริกา สู้รบฆ่าฟันกันเอง ประเทศเขายังอยู่

ผมอยากฝากไว้ให้คิด ทุกวันนี้ผมอยู่กับงานที่ผมชอบ ยังไม่เกษียณเราหลงรักมัน เพียงแต่รับผิดชอบน้อยลงหน่อยแต่ต้องอยู่ตรงนี้ทำงาน 3-4 วัน แล้วมาประชุม เพราะเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ งานต่าง ๆ ก็ผ่องถ่ายให้ลูกหลานดูแล ผมมีลูกชาย 2 คน คนโต อโณทัย คนรอง พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ส่วนหลานที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาชื่อ จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ผมบอกกับพวกเขาเสมอในเรื่องหลักการทำงาน การแบ่งงานให้กับเพื่อนร่วมงาน ที่ปรึกษา และพนักงาน สิ่งที่ผมอยากจะทำคือการออกหนังสือให้ได้เยอะ ๆ เพราะหนังสือเป็นสิ่งได้ดูได้เห็นพกพาสะดวก ราคาไม่แพง พวกเทป พวกอินเตอร์เน็ต ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ หนังสือมันเปิดอ่านรองรับได้เร็ว หากอยากส่งเสริมให้ลูกหลานรักการอ่านหนังสือ เงินเดือนที่ออกมาให้ซื้อหนังสือให้เขาเดือนละ 2 เล่มปีหนึ่ง จะได้หนังสือ 24 เล่ม สอนให้เขาเข้าห้องสมุด คุณอยากรู้อะไรในหนังสือมีหมด ทำไมฝรั่ง ญี่ปุ่น เก่งกว่าเรา เพราะอะไร เพราะเขามีคนแปลหนังสือให้อ่าน แล้วไปสอนพลเมืองของเขา ดูอย่างการซ่อมรถไม่ต้องเข้าอู่หรอก มีคู่มือขายเลย ถอดชิ้นไหนหรือการต่อเติมบ้าน มันมีคู่มือให้หมด เรียนรู้จากหนังสือ แต่สำหรับคนไทยไม่ชอบอ่าน ชอบฟังมันง่ายกว่า แต่การฟังมักโดนหลอก การอ่านไม่ค่อยโดนหลอกเพราะมีสิ่งเปรียบเทียบ แต่การฟัง เราฟังด้านเดียว

การที่ผมอยู่ได้บนถนนหนังสือยานยนต์เพราะคนอ่านเชื่อมั่นเรา เพราะหนังสือมันหลอกเราไม่ได้ การอ่านหนังสือจึงสร้างผมขึ้นมาได้ด้วยการทำหนังสือให้ได้อ่าน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เหมือนเราอยู่ใกล้ ๆ เขา เราไม่โกหกหรือหลอกเขา เวลาผมไปไหนมาไหน แม้แต่คนจะไม่รู้จักผมแต่พอเอ่ยชื่อ ปราจิน เอี่ยมลำเนา เขาบอกเคยอ่านหนังสือผมตั้งแต่เด็ก ๆ ส่วนฉายาที่สื่อมวลชนมอบให้ว่าเป็น เจ้าพ่อมอเตอร์โชว์นั้น ผมมองว่าผู้สื่อข่าวอารมณ์ดีขี้เล่น เขาให้การยกย่องมากกว่าที่จะมองเป็นเจ้าพ่อมาเฟีย นักเลงหัวไม้ เราจะไปห้ามเขาตั้งฉายาก็ไม่ได้ พรรคพวกกันทั้งนั้น คือเขาศรัทธายกย่องเรา ที่เขาตั้งฉายานี้ขึ้นมาเพราะผมทำให้พวกเขาเห็นว่าเราทำตรงนี้ได้

สู้ไปด้วยกัน

ปัจจุบันแม้ว่าโรค COVID-19 จะทำร้ายมนุษย์ในหลายด้านตั้งแต่ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม หรือการดำเนินชีวิตที่กำลังเปลี่ยนไป โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2020 ที่จัดโดยบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) ต้องถูกเลื่อนออกไป แต่มุมมองของ ดร.ปราจิน ยังมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนรอบข้างลุกขึ้นยืนพร้อมสู้ในทุกสถานการณ์อีกครั้ง

ดร.ปราจิน : วิกฤต ครั้งนี้หากมองในด้านดี จะพบว่ามีกำลังใจมิตรภาพ และรอยยิ้มอยู่รอบตัวเราแม้งานบางกอก มอเตอร์โชว์ต้องเลื่อนการจัดงาน นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ การร่วมแรงร่วมใจเพื่อประเทศชาติประชาชนคนไทยและเพื่อนร่วมโลก ให้กำลังใจกันและกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้

โอกาสนี้ ผมขอส่งกำลังใจมายังทีมจัดงานทุก ๆ ท่านที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจชิ้นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขอให้ทุกท่านมีสติ มีความอดทน เพื่อร่วมกันก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้สำเร็จ

ในนาม บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) ผมขอขอบคุณทุกกำลังใจและความห่วงใย เราพร้อมรวมใจเป็นหนึ่ง ที่จะอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และเพิ่มมาตรฐานการจัดงาน ภายใต้มาตรการ COVID-19 จากรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ผมเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

Photo : Varrawut Chaikittikorn

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา : The Leadership ‬Journey ปราชญ์แห่งผู้นำยานยนต์ | Issue 161