ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้สไตล์ WISHULADA

ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้สไตล์ WISHULADA

ผมกล้าพูดได้เลยว่า “ขยะ” ไม่มีทางหายไปจากโลกได้อย่างแน่นอนโดยเฉพาะขยะจากพลาสติกที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการย่อยสลายมีหลายคนพยายามลดพลาสติกทั้งวิธีการนำกลับมาใช้ซ้ำบ้างก็ลดการใช้พลาสติกด้วยการใช้ถุงผ้า หรืออาจนำไปย่อยสลายตามกระบวนการเคมี แต่สำหรับผมแล้วแค่การได้เห็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์มาจากขยะมันก็เจ๋งมาก อย่างที่ Witchulada เธอกำลังทำอยู่เพื่อบอกเรื่องราวบางอย่างให้กับสังคม

“เราเรียนที่ศิลปกรรมจุฬาฯ เลือกเรียนภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม แต่เราสนใจเรื่องวัสดุจึงเลือกทำเทคนิคสื่อผสมในการสร้างสรรค์ชิ้นงานระหว่างเรียน”เราเลือกสร้างสรรค์งานจากวัสดุเหลือใช้โดยเริ่มจากแก้วน้ำพลาสติก กล่องอาหารและของเหลือใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านเรื่อยมาจนถึงปี 4 ระหว่างที่เราต้องทำวิทยานิพนธ์ เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเรื่อย ๆ จนค้นพบประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมว่าประเด็นนี้มีมายาวนานมากแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยพูดไว้ในพระราชดำรัสฯ เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแต่ตอนนั้นเรามองว่าเราตัวเล็กมาก และไม่เชื่อมั่นพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมเราจึงเลือกสร้างชิ้นงานเพื่อสนองความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียว”

หลังจากเรียนจบเธอได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จึงมีโอกาสได้นำงานไปจัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ผลงานชิ้นนี้ดันไปเข้าตาคุณลิ้ม สมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของแบรนด์ Fly Now ในตอนนั้นเธอเลือกขายผลงานชิ้นนี้โดยตั้งราคาไว้ที่ 7,000 บาท 

“เพราะตอนนั้นไม่รู้เลยว่าควรตั้งราคาขายอย่างไร ก็เลยตั้งตามใจตัวเองทั้งหมด และหวังเพียงว่าจะเป็นโปรเจคสุดท้ายสำหรับวิถีชีวิตศิลปินรุ่นเยาว์ในตอนนั้น เพราะด้วยที่บ้านอยากให้เรามุ่งไปทางพนักงานประจำที่มีความมั่นคงมากกว่า

“แต่ไม่นานนักก็ได้รับการทาบทามจากคุณสมชัย ส่งวัฒนา อีกครั้ง ให้ไปทำงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ร่วมกับแบรนด์ Fly Now ตอนนั้นเราเกิดนึกสงสัยด้วยความเป็นเด็กจบใหม่และไร้ประสบการณ์จึงถามคำถามกลับไปหาคุณลิ้มว่า ทำไมคุณลิ้มจึงมั่นใจว่าจะให้เด็กจบใหม่ที่ไร้ประสบการณ์อย่างเรา ให้ทำโปรเจคใหญ่ขนาดนี้โดยไม่มีอะไรที่รับประกันได้ว่าผลงานจะออกมาสวยงาม

“เรายังจำบรรยากาศวันนั้นได้อย่างดีคุณลิ้มหัวเราะและตอบกลับมาว่า คุณลิ้มรู้ว่าเอ๋จะไม่ทิ้งงานประโยคนี้เหมือนเป็นน้ำมันที่จุดให้ไฟของเราให้ลุกตลอดกาลและเริ่มต้นกับความเป็นศิลปินอีกครั้งโดยควบคู่ไปกับพนักงานประจำ ตั้งแต่นักประชาสัมพันธ์นักตกแต่งร้าน (Visual Merchandise and Display) โดยมีอาชีพเสริมเป็นครูสอนพิเศษการบ้านเด็กและอาจารย์พิเศษในระดับมหาวิทยาลัย วิถีชีวิตช่วงนั้นของเราสนุกกับทั้งการทำงานประจำงานเสริมและควบคู่ไปกับการสร้างงานศิลปะที่ตนเองชอบ

"เราทำงานประจำไประยะหนึ่ง จนกระทั่งวันนึงเราก็มีความคิดที่ว่าเราอยากจะโฟกัสงานศิลปะของเราอย่างเต็มที่เราอยากให้งานของเราทำให้สังคมได้ฉุกคิดประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจึงเลือกที่จะออกจากเส้นทางของงานประจำและเข้าสู่อาชีพ ศิลปิน อย่างเต็มรูปแบบ

“การวางแผนวิถีชีวิตก่อนลาออกจากงานประจำที่ได้รับเงินทุกเดือน เป็นอะไรที่ต้องวางแผนไว้ด้วยความรอบคอบ เราจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 4 โดยเราให้เหตุผลกับทางโครงการไปว่าเราเป็นศิลปินที่ต้องการสร้างสมดุลของความคิดสร้างสรรค์กับระบบการคิดวิเคราะห์ เราจึงมองอาชีพศิลปินคือธุรกิจส่วนตัวของเราเอง และมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจส่วนตัวของเราในรูปแบบฉบับของศิลปินที่มีการคิดวิเคราะห์วางแผนอย่างเป็นระบบแต่ไม่หลงลืมความเป็นเอกลักษณ์ตัวตนและสไตล์ของตนเอง”

หลังจบโครงการ พอแล้วดี เธอได้บทเรียนสรุปกับตนเองมากมาย ทั้งในแง่ของการจัดการทางธุรกิจและชีวิตอย่างยั่งยืน โดยใช้คำสอนของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 

“เรามองว่าความพอเพียงสำหรับเราคือการหาสมดุลของความเป็นศิลปินกับสังคมนั่นคือ Passion ของเราจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมงานศิลปะของเราต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

“โดยผลงานศิลปะของเราทุกชิ้นเราต้องการให้เป็นสื่อกลางเพื่อปลุกระดมให้ทั่วโลกหันมาสนใจประเด็นทางสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น (Social Activist Artist) โดยยึดหลักเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) ในข้อที่ 12 คือการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) 

“ศิลปินไม่เชื่อว่าขยะจะหมดโลกตราบใดที่ยังมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกแต่จะทำอย่างไรให้ขยะเหล่านี้ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผลงานชิ้นนี้จึงต้องการสร้างการรับรู้ให้กับทุกคนให้รู้จักคุณค่าของทุกทรัพยากรที่ใช้ และเมื่อใช้ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) แม้การสร้างสรรค์งานชิ้นนี้จะเป็นปลายทางแห่งการแก้ไขปัญหาแต่เชื่อมั่นว่าผลงานทุกชิ้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้ฉุกคิดและหันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

“และในอนาคตเราต้องการพัฒนาให้งานของเรามีความหลากหลายมากขึ้นเราอยากใส่ลูกเล่นกับชิ้นงานให้เคลื่อนไหวได้มีแสงสีเสียงเข้ามาประกอบกันเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงประเด็นที่เราต้องการจะสื่อให้ชัดเจนขึ้น

“งานศิลปะชิ้นต่อไปคือโปรเจคที่ต้องลงพื้นที่ไปจังหวัดชุมพรเพื่อร่วมเก็บขยะกับศิลปินชาวนอเวย์และศิลปินชาวไทยอีกหลายท่านเพราะเราเชื่อว่าขยะทุกชิ้นที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนในย่านนั้นด้วยเราจึงต้องการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ออกมาและจัดแสดงในงาน SB Chumphon 2019 เพื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้หันมารักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับผู้คน”

สุดท้ายนี้เธอมองว่าประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขในระดับโลกปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่รัฐบาลหรือคนใดคนหนึ่งแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมกันช่วยแก้ไขเราต้องช่วยกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้ต่อไปเพราะความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมีผลโดยตรงต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก

 

Know her

นอกจากนี้แล้วเธอยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายล่าสุดเธอเองยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากขยะ ซึ่งขยะส่วนใหญ่มาจากภายในห้างไอคอนสยามเอง โดยผลงานของเธอทั้งหมด 5 ชิ้นยังคงจัดแสดงอยู่ที่บริเวณชั้น 6 ของห้างฯ

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของเธอได้ทาง https://www.facebook.com/WitchuladaPanthanuvong

ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้สไตล์ WISHULADA