ทำไมเวียดนาม ถึงแซงไทยได้?

ทำไมเวียดนาม ถึงแซงไทยได้?

เวียดนามประเทศที่ผมบอกมาตลอดว่าจะแซงประเทศไทยแต่คนก็ยังไม่ค่อยเชื่อกัน จนกระทั่งเมื่อต้นปี ไพรซ์วอเตอร์ เฮ้าส์คูเปอร์ ออกเอกสารมายืนยันตรงกับผมว่าเวียดนามจะแซงไทยเท่านั้นแหละ คนไทยถึงจะตื่นเต้นถามไถ่กันยกใหญ่ ว่าเวียดนามจะแซงเมืองไทยจริง ๆ หรือ?

ความจริงไม่ได้มีแต่เวียดนามที่จะแซงไทยเท่านั้นนะครับ เพราะในปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจเมื่อวัดผ่านอำนาจการซื้อ (PPP : Purchasing Power Parity) ของไทยเราอยู่ที่ 20 ของโลกดีกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่อันดับที่ 27 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 28 และเวียดนาม อันดับที่ 32 แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 ไทยเราจะตกลงไปอยู่อันดับที่ 25 ส่วนฟิลิปปินส์จะแซงไทยขึ้นไปอยู่ลำดับที่ 19 ตามมาด้วยเวียดนามซึ่งจะแซงไทยไปอยู่ที่ 20 อันดับเดิมของไทยในปัจจุบัน และมาเลเซียซึ่งปัจจุบันจ่อติดท้ายไทยเรามาโดยตลอด ก็จะแซงไทยไปอยู่เหนือไทยหนึ่งอันดับคือ อยู่ที่ 24 ถ้าจะเอากันให้ชัดฟิลิปปินส์ซึ่งตอนนี้อยู่ข้างหลังเรา 8 อันดับนั้นจะเริ่มแซงไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้า คือในปี พ.ศ. 2565

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน AEC คืออยู่ที่อันดับที่ 8 ของโลกนั้น จากนี้ไปจะโตวันโตคืน ก้าวข้ามญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และบราซิล ซึ่งปัจจุบันมีอำนาจซื้อใหญ่กว่าไปอยู่อันดับที่ 4 ของโลก จะเป็นรองก็แต่ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ เท่านั้น 

อีกสองประเทศในเอเชียที่ต้องบันทึกเอาไว้ตรงนี้เลยก็คือจีน ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งประเทศที่มีอำนาจซื้อมากที่สุดในโลก เหนือกว่าสหรัฐจะยังคงครองอันดับหนึ่งต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 และดูเหมือนว่าจะไม่มีประเทศไหนก้าวขึ้นมาทาบหรือแซงจีนได้ ส่วนอินเดียที่ปัจจุบันอำนาจซื้อเล็กกว่าสหรัฐฯ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถแซงสหรัฐขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ได้ในปี พ.ศ. 2593

เวียดนามนั้นจะว่าไปแล้วเพิ่มจะมีโอกาสเริ่มพัฒนาประเทศในปี พ.ศ. 2529 เมื่อเริ่มปฏิรูปครั้งแรกที่เรียกว่า “โด่ยเหมย” ซึ่งแปลว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะก่อนหน้านั้นเวียดนามต้องสู้รบปรบมือกับสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ถูกสหรัฐฯ ปั่นหัว ให้รบกันเองระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ จนผู้คนล้มหายไปหลายล้านคนคนเก่ง ๆ ที่ยังไม่ตาย ต่างก็หนีตายลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น ๆ เมื่อสงครามยุติรวมเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เข้าด้วยกันได้ในปี พ.ศ. 2518 นั้น เวียดนามเริ่มบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ จนพบว่าการบริหารเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์นั้นไม่สามารถจะพาประเทศให้รอดได้ เวียดนามจึงเริ่ม “โด่ยเหมย”

หลายเรื่องที่เวียดนามประกาศไว้ตอนเริ่ม “โด่ยเหมย” เช่น เวียดนามจะปฏิรูปการศึกษา เลือกส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และจะส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นั้นทุกเรื่องประสบความสำเร็จอย่างน่าอะเมซิ่ง ในเรื่องการเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคนั้น ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นฮับอุตสาหกรรมไฮเทคที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศที่หลั่งไหลมาลงทุนจนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ 

และในปัจจุบันต้องบอกว่าเวียดนามกำลังมีความได้เปรียบประเทศไทยเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค เพราะเมื่อได้เริ่มต้นก่อนพวกอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหลายก็ไปเริ่มต้นในเวียดนามด้วย ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่ อุตสาหกรรมไฮเทคอื่น ๆ จะตามไปลงทุนในเวียดนามเพราะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องคอยรองรับอยู่แล้ว แต่ถ้าจะมาลงทุนเมืองไทย อาจจะหาอุตสาหกรรมต่อเนื่องรองรับยากหน่อย

ส่วนเรื่องการส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น ปรากฎว่าเวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวใน AEC ที่เศรษฐกิจเติบโตทุกปีไปพร้อม ๆ กับพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ในขณะที่อีก 9 ประเทศรวมถึงประเทศไทยกลับมี พื้นที่ป่าไม้ลดลงทุกปีแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยกว่าเวียดนาม ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักธุรกิจ ของเวียดนาม รวมถึงคนไทยที่ไปลงทุนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทยที่ไปทำงานในเวียดนาม ทุกคนมีความประทับใจ ในการเอาจริงเอาจังเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมของเวียดนามเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเลือกประเภทอุตสาหกรรมที่ต้อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลและการลงโทษเมื่อมีอุตสาหกรรมทำผิดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ลองเปรียบเทียบกับการเอาจริงเอาจังในเรื่องสิ่งแวดล้อมของไทยดูนะครับ ลองนึกดูว่ามีกรณีสิ่งแวดล้อมไหนบ้างที่ทางการไทยลงโทษผู้กระทำผิดทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เท่าที่ผมนึกออกก็จะมีอยู่บ้าง แต่จะเป็นกรณีที่ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้กันเองอย่างโดดเดี่ยว และกว่าจะเอาชนะคดีสิ่งแวดล้อมแต่ละคดีได้ก็ใช้เวลานานนับสิบปี แถมค่าชดเชยก็มักจะได้ไม่มาก ไม่รู้จะคุ้มค่าเสียเวลาหรือเปล่าแต่ที่เวียดนามล่าสุดมีบริษัทเคมียักษ์ใหญ่จากไต้หวันทำผิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในเวียดนาม ก่อนอ่านต่อลองทายในใจดูสิครับ ว่าทางการเวียดนามสั่งปรับเท่าไหร่? 

ทางการเวียดนามสั่งปรับ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยที่อัตรา 33 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ จะสูงถึง 16,500 ล้านบาท แน่นอนค่าปรับสูงขนาดนี้บริษัทต้องคัดค้านและวิ่งเต้นเพื่อให้พ้นผิดหรือลดค่าปรับลง แต่ทางการเวียดนาม ไม่ยอมเมื่อบริษัททำท่าจะสู้มากยิ่งขึ้นทางการเวียดนามบอกทำผิดก็ยอมรับผิดเราจะได้ค้าขายกันต่อไป ถ้ามาทำหัวหมอทางการเวียดนามจะรณรงค์ให้คนเวียดนามต่อต้านบริษัทด้วย ไม่คุ้มกันหรอก เจอไม้แข็งเข้าแบบนี้บริษัทก็เลยต้องยอม จ่ายค่าปรับ 16,500 ล้านบาทแต่โดยดี 

เขียนมาถึงตรงนี้ต้องย้ำกันอีกทีว่าการที่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ของเวียดนามแม้ว่าจะต่ำกว่าของไทยก็เพราะว่าในการทำธุรกิจในเวียดนามนั้น “การหยอดน้ำมัน” เพื่อให้งานทุกอย่างเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วยังคงมีอยู่ในทุกวงการ แต่การ “ยัดเงิน” เพื่อแก้ไขผิดให้เป็นถูก หรือเปลี่ยนจากทำไม่ได้ให้เป็นทำได้นั้นใน เวียดนามเขาไม่กล้าทำกัน ต่างจากประเทศไทย ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่มีใครกล้าช่วยบริษัทเลย และนี่คือคำอธิบายที่สำคัญอีก ข้อหนึ่งว่าทำไมธุรกิจระดับโลกจึงไปลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทย ทั้งที่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นแย่กว่าเมืองไทย ช่วงหลังดัชนีของเวียดนามก็จ่อติดไทยแล้วนะครับ ถ้าไม่ปรับตัวเวียดนามอาจกลายเป็นประเทศโปร่งใสกว่าไทยในไม่ช้า

ส่วนเรื่องปฏิรูปการศึกษาเวียดนามใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี ปฏิรูปจนนักเรียนเวียดนามมีความสามารถติดอันดับที่ 8 ของโลกโดยการวัดของ PISA ทิ้งห่างนักเรียนไทยที่ได้อันดับ 50 กว่า ทั้ง ๆ ที่เวียดนามมีจำนวนโรงเรียน ครูและคอมพิวเตอร์น้อยกว่าเมืองไทยอย่างเทียบไม่ติด ยังมีโรงเรียนอีกมากในเวียดนามที่ให้นักเรียนผลัดกันมาเรียนเช้ากับบ่าย เพราะห้องเรียนไม่พอ แต่ผลการสอนกลับทำให้นักเรียนเขาเก่งกว่าเรา เมื่อธนาคารโลกเข้าไปประเมินระบบการศึกษาของเวียดนาม ถึงกับบอกว่าได้มาตรฐานของธนาคารโลก

ความสำเร็จของ “โด่ยเหมย” นั้นธนาคารโลกสรุปว่าเกิดจากสามปัจจัยคือหนึ่งผู้นำมีวิสัยทัศน์ สองสังคมมีเป้าหมายร่วมกัน และสามการมีความมุ่งมั่นต่ออนาคต

ล่าสุดเวียดนามวางยุทธศาสตร์ประเทศไปจนถึงปี พ.ศ. 2578 โดยตั้งเป้าว่าเวียดนามจะต้องเป็นประเทศรายได้ปานกลาง บนพื้นฐานการเป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ระบบเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ สังคมมีส่วนร่วมในการกำหนด ทิศทางประเทศมากยิ่งขึ้นและเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์ และเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าว เวียดนามจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้ ต้องสร้างสังคมให้มีความทัดเทียมกันมากยิ่งขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน คนชั้นกลางจะต้องเพิ่มจาก 10 เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ 

ประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตทาง เศรษฐกิจจะต้องกระจายไปยังประชาชนทุกหมู่เหล่า และต้องเสริมสร้างความสามารถของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงต้องสร้างระบบตรวจสอบความรับผิดชอบของภาครัฐ

เวียดนามเน้นเรื่องการเสริมสร้างความสามารถของภาครัฐ โฟกัสสามด้านคือ 1.ระบบราชการ จะต้องทำงานกันอย่างมีระเบียบวินัย การเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการจะต้องยึดความสามารถเป็นหลัก 2.การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องสอดคล้องกับกลไกการตลาด และ 3.ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสร้างกลไก เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

เมื่อวิเคราะห์ถึงการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จและการเขียนยุทธศาสตร์ประเทศในอนาคตของเวียดนามแล้วคงหายสงสัยว่าทำไมโลกถึงบอกว่าเวียดนามกำลังจะแซงไทย 

เหตุผลที่ทำให้เวียดนามพัฒนาล้ำหน้าไทย