กฤตธี มโนลีหกุล

กฤตธี มโนลีหกุล

พฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน พฤติกรรมของคนฟังเพลงก็เช่นกัน ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องขอเพลงทางวิทยุ หรือว่าซื้อซีดีมาฟังอีกแล้ว แค่เพียงมีสมาร์ทโฟนกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต คุณก็สามารถฟังเพลงทุกแนวได้ทุกที่ทุกเวลา

วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ ประเทศไทย ควบตำแหน่งผู้บริหารของ Joox Music Application ที่ตอนนี้ถือเป็น Application ฟังเพลง StReaming อันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งที่ยังเปิดตัวมาได้ไม่ครบ 2 ปีดีนัก

Joox คืออะไร?
“Joox คือ Music Streaming Application ที่สามารถเข้าไปเลือกฟังเพลงที่มีอยู่มากมายใน App ได้ นอกจากนี้แล้วผู้ใช้บริการ Joox ยังสามารถดาวน์โหลดเพลงมาเพื่อเก็บไว้ฟัง Offline ตอนไม่มีเน็ตได้อีกด้วย ส่วนประกอบที่สำคัญของ Joox นอกจากเพลง ก็คือ Lyric หรือว่าเนื้อเพลง ที่สามารถฟังเพลงไปพร้อมกับอ่านเนื้อร้องหรือว่าร้องตามได้ทันทีเลยเช่นกัน คอนเซ็ปต์หลักของ Joox ยังคงเป็นการฟังเพลงฟรีก็จริงนะครับ แต่ว่าเราจะมีทางด้านของสปอนเซอร์และโฆษณาที่เข้ามาสนับสนุนให้กับการฟังเพลงฟรีของ Joox ซึ่งเราก็เอารายได้ในส่วนนี้มาแชร์ต่อให้กับทางค่ายเพลง ศิลปิน และการทำงานในส่วนอื่น ๆ ต่อไปครับ 

“หลัก ๆ แล้ว Joox เป็น App ฟังเพลง แต่ว่าเราก็จะมีส่วนของวิดีโอคอนเท้นต์ที่เข้ามาเสริม นอกจากนี้ก็ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆอย่างเช่น Lyric เนื้อเพลง และล่าสุดเราก็มีฟีเจอร์ใหม่อย่าง Karaoke ที่ในตลาดยังไม่มี App ไหนที่สามารถฟังเพลงไปด้วย ดูมิวสิควิดีโอไปด้วย และร้องเพลงคาราโอเกะได้ด้วย ซึ่งฟีเจอร์ใหม่นี้ตอบโจทย์ผู้บริโภคไทยได้ค่อนข้างดี เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่พบปะสังสรรค์กันก็มักจะต้องมีการร้องคาราโอเกะด้วย เราก็เอาความสะดวกตรงนี้ไปเสิร์ฟ เพื่อที่จะตอบสนองผู้บริโภคว่าแค่มาปาร์ตี้กันขำ ๆ ที่บ้าน เราก็มีคาราโอเกะร้องได้แล้วนะ ผมมองว่านี่เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงและศิลปินอีกทางหนึ่ง ต่อยอดจากการฟังเพลงแบบปกติ ที่คราวนี้จะร้องเพลงด้วยก็ได้ เพราะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”

กฤตธี มโนลีหกุล

จุดเริ่มต้นของ Joox มีความเป็นมาอย่างไร?
“ก่อนที่จะกำเนิดเกิดเป็น Joox ผมดูแลในส่วนของ Sanook.com มาก่อน ต้องกล่าวก่อนเลยว่าการทำงานทั้งหมดของเราโฟกัสอยู่ที่ Platform ที่เกี่ยวข้องกับ Entertainment กับทาง Sanook.com ก็ถือว่าเป็น Entertainment Content รูปแบบหนึ่ง บนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเรามีคอนเท้นต์ที่เป็นบทความ รวมถึงคอนเท้นต์ที่เป็นวิดีโอ แต่สิ่งที่เราขาดไปก็คือในเรื่อง
ของเพลง จากประสบการณ์การบริหาร Sanook.com ก็พบว่าคนไทยต้องการที่จะเสพเพลง เสพคอนเท้นต์ที่เกี่ยวข้องกับ Entertainment มากขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลแค่ไหน ผู้ใช้บริการบนพื้นที่ออนไลน์ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ทีนี้ในช่วงเวลาขณะนั้น (ประมาณ 1 ปีที่แล้ว) ในประเทศไทยยังไม่มี Streaming Application ในขณะที่ต่างประเทศมีผู้ให้บริการอย่าง Apple Music หรือ Spotify ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว เราก็เล็งเห็นโอกาสจากตรงจุดนี้ ในบ้านเรายังไม่มีผู้ให้บริการเจ้าไหนที่ให้บริการ Application สำหรับการฟังเพลงออนไลน์บนสมาร์ทโฟน ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงได้อย่างสะดวก แล้วก็ถูกลิขสิทธิ์ แน่นอนครับว่าคนไทยเกินครึ่งนิยมฟังเพลงอยู่แล้ว แต่การฟังเพลงดังกล่าวมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ Joox จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุนี้เอง”

ผู้บริโภคดนตรีในประเทศไทยกับต่างชาติ มีความแตกต่างกันอย่างไร?
“ผมมองว่าผู้บริโภคดนตรีในเมืองไทยก็เป็นเช่นเดียวกับผู้บริโภคดนตรีทั่วโลกแหละครับ คือทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่ต้องการคอนเท้นต์ สิ่งที่ผู้บริโภคไทยแตกต่างจากต่างชาติก็คือ บ้านเราค่อนข้างที่จะโฟกัสในส่วนของคอนเท้นต์เฉพาะกลุ่มศิลปินไทยก็จะถูกพูดถึงมากกว่าศิลปินต่างชาติ แต่โดยรวมทั้งหมดแล้วผู้บริโภคก็ยังต้องการคอนเท้นต์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมี Joox ผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็ต้องหาวิธีในการทำเรื่อง พูดคุย หรือสรรหาเพลงมาให้กับผู้บริโภค และหลาย ๆ ครั้งเลยแหละที่มันเป็นวิธีที่ไม่ถูกกฎหมาย นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมมองว่า Joox สามารถเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ตรงนี้ได้ แล้วนอกจากว่าเราจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนของผู้บริโภคแล้วก็ยังสามารถต่อยอดเพื่อให้ธุรกิจเพลงได้มีกำลังในการทำงานต่อไปได้อีกด้วย เพราะว่าเรื่องของเพลงถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน

“ผมมองว่าโปรดักส์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพลงในตอนนี้นี่คือคอนเท้นต์ สมัยก่อนเราอยากฟังเพลงก็ต้องซื้อโปรดักส์อย่าง เทป ซีดี แต่สำหรับในปัจจุบัน โปรดักส์มันเปลี่ยนไปเป็นดิจิตอลแล้ว แต่ว่าธุรกิจเพลง Business Model มันไม่ได้เปลี่ยนตาม เราจึงต้องเข้ามาช่วยค่ายเพลง ช่วยศิลปิน ในการปรับเปลี่ยนการหารายได้ จากการขายโปรดักส์เปลี่ยนมาเป็นขายคอนเท้นต์แทน ซึ่งเราก็จะเป็นผู้ที่ทำการซื้อคอนเท้นต์ต่าง ๆ เหล่านั้น นำเสนอให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็จะมีส่วนของสปอนเซอร์และแอดเวอร์ไทเซอร์เข้ามาช่วยแชร์รายได้กลับไปสู่ค่ายเพลงและศิลปิน ผมมองว่า Joox หรือว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เราดูแลอยู่ หน้าที่ของเราคือการช่วยหาทางออกให้กับธุรกิจต่าง ๆ ว่าจะสามารถช่วยเหลือในทางใดได้บ้าง ที่จะเวิร์คกับทุกฝ่าย” 

กฤตธี มโนลีหกุล

รายได้จาก Music Steaming มาจากไหน?
“รายได้ของ Joox หลัก ๆ มาจากโฆษณาครับ จาก Freemium ที่เราสามารถฟังเพลงฟรีได้ แต่จะมีแทรกโฆษณาคั่นบ้าง อีกส่วนก็จะมาจาก Premium คือการเสียเงินเพื่อใช้บริการแบบ VIP ที่จะไม่มีโฆษณาคั่น รวมถึงฟังเพลงที่คุณภาพเสียงดีขึ้น และแน่นอนถูกลิขสิทธิ์ สำหรับปัจจุบันรายได้หลักก็ยังคงเป็นโฆษณาอยู่ครับ สำหรับส่วนที่แชร์ให้กับทางค่ายเพลงหรือศิลปิน ถ้าเป็นอย่าง Youtube ก็จะเป็นส่วนของยอดวิวถูกต้องมั้ยครับ ของ Joox เองก็เป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน และถึงแม้ว่ารายได้หลักของ Joox จะมาจากการโฆษณา แต่ส่วนอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมเข้าก็จะมาจากการสมัคร VIP ด้วย มันสะท้อนให้เราเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคของไทยเนี่ย ไม่ใช่สนใจแค่เพียงเพราะว่ามันฟรี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริโภคเห็นถึงคุณค่าของ Application อย่าง Joox ว่ามันมีประโยชน์อื่น ๆ ผู้บริโภคก็จะเข้ามาสมัครเมมเบอร์เอง ผมมองว่ามันไม่ได้ต่างอะไรกับเทรนด์อื่น ๆ นะ 

“อย่างเช่นในประเทศจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีก่อนแผ่นซีดี ดีวีดี ขายกันเต็มถนนเลย แต่ตัดภาพมาปัจจุบัน ตอนนี้ไม่มีแล้ว ทุกคนซื้อบนสโตร์กันหมดแล้ว เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นเห็นว่ามีความสะดวกสบายเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถซื้อหรือเช่าหนังมาดูออนไลน์ได้ เป็นการเซฟเวลาในชีวิตพวกเขาได้ นอกจากประหยัดเวลาแล้ว ในส่วนของการจ่ายเงินก็ไม่ต้องพกพาเงินสดไปที่ช็อปหรือร้านค้าอีกต่อไป เดี๋ยวนี้เราสามารถจัดการทุกอย่างได้ที่บ้านเพียงแค่ต้องมีอินเตอร์เน็ตและบัตรเครดิต สุดท้ายมันก็ไม่ได้มีความแตกต่างแต่อย่างใด กับ Joox เองก็เช่นเดียวกันครับ”

การทำงานของ Joox และการบริหารงานของคุณกฤตธี มโนลีหกุล เป็นแบบไหน?
“การทำงานของผมจะมองเรื่องของคอนเท้นต์เป็นหลักนะครับ เนื่องจากว่าบริษัทเราโตมาจากการสร้างคอนเท้นต์ จากการทำ Sanook.com เพราะฉะนั้นเราจึงค่อนข้างที่จะมี DNA ของคนทำคอนเท้นต์เพื่อตอบโจทย์คนไทย เรามีความเข้าใจว่าคนไทยต้องการอะไร ตั้งแต่ที่เราทำข่าว ทำคอนเท้นต์ ให้กับ Sanook.com ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองว่าการที่เรารู้เรื่องของเทรนด์ เป็นสิ่งหนึ่งที่เรานำมันมาสร้างแพลตฟอร์มหรือโปรดักส์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ตัวอย่างเช่น Joox เป็นต้น 

“ถ้าสังเกตดี ๆ Playlist  ของ Joox จะมีเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามในประเทศไทย Joox จะมี Playlist ดี ๆ ตอบสนองต่อสิ่งที่คนไทยกำลังรู้สึกอยู่ได้ ผมมองว่านี่คือ DNA ของเราที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็น DNAที่ช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์คอนเท้นต์ใหม่ ๆ ที่ตรงใจคนไทยขึ้นมาได้

“ผมจบวิศวกรรมโยธา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย (หัวเราะ) แต่ผมบอกเลยว่าการทำงานประเภท Industry เนี่ย เราไม่รู้หรอกว่าจะต้องไปจับอะไรตรงไหน เพราะว่าเทคโนโลยีมันเป็นแค่แพลตฟอร์ม ทีนี้แพลตฟอร์มเนี่ยมันก็จะไปอยู่กับทุก ๆ Industry ยกตัวอย่าง Uber เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยี แต่เราต้องลงไปพูดคุยกับคนขับแท็กซี่ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การเรียกแท็กซี่ในเมืองไทย บางครั้งจะเจอส่งรถบ้าง เติมก๊าซบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็น Uber ที่ตอบสนองต่อทั้งคนขับและผู้โดยสาร 

“ในด้านของ Joox เราก็มองที่ค่ายเพลง ที่ศิลปิน เราต้องเข้าใจ Industry ว่าเค้าทำงานกันยังไง และในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจผู้บริโภคด้วยว่า พวกเขาเหล่านั้นเลือกฟังเพลงอย่างไร ที่เราต้องทำก็คือทำความเข้าใจและจากนั้นก็จะสามารถสนองตอบความต้องการได้ทั้งทางฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคได้นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวครับว่าจบอะไรมาแล้วจะทำนั่นนี่ไม่ได้ สิ่งที่เราต้องมีคือการที่ต้องพยายามขวนขวายที่จะเข้าใจในบางสิ่งอย่างจริงจังต่างหาก นั่นคือสิ่งสำคัญ

“ในส่วนของเรื่องไลฟ์สไตล์ ถ้าพูดถึงในเรื่องของการทำงาน ผมเป็นคนที่ค่อนข้างทำงานเร็วนะ ทำงานแบบเป๊ะ แต่อันที่จริงแล้วผมเป็นคนเรื่อย ๆ นะ หมดเวลาทำงานอยู่นอกออฟฟิศจะเป็นคนยังไงก็ได้ สบาย ๆ  เวลาว่างผมส่วนใหญ่หมดไปกับการออกกำลังกาย เล่นโยคะ ว่ายน้ำ ฟิตเนส อันนี้คืองานอดิเรกเนอะ นอกเหนือจากนั้นผมจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ช่วยลูกทำการบ้าน พาลูกไปเรียนพิเศษ เรียกว่าใช้ชีวิตแบบพ่อบ้านทั่วไปก็ว่าได้ ส่วนเรื่องสังสรรค์ผมก็มีบ้างครับ แต่ส่วนมากจะเป็นช่วงของวันธรรมดาที่เราออกไปเจอลูกค้า เจอกับพาร์ทเนอร์ ก็จะได้ออกไปพบปะผู้คน แต่ถ้าเป็นวันหยุดผมจะโฟกัสเวลาให้อยู่กับครอบครัวมากที่สุดครับ”

“แต่ก็ต้องขอยกความดีความชอบให้กับการศึกษาวิศวกรรมด้วยเหมือนกัน เพราะสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเรียนวิศวะก็คือการที่ได้รู้จักการคิดวิเคราะห์ Analyze ทำให้ได้พบวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าผมไม่ได้เรียนทางด้านนี้มาก็อาจจะไม่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ก็ได้ นอกจากนี้สิ่งที่ผมเรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่มาก็คือการสร้างอะไรใหม่ ๆ เมื่อก่อนคุณพ่อเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งในไทยแล้วกัน แต่ท่านออกมาสร้างศูนย์วิจัยของธนาคารด้วยตัวเอง รวมถึงคุณแม่ที่ทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็ไปเปิดออฟฟิศของแบงก์ชาติที่นิวยอร์ก หรือที่เชียงใหม่ นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากครอบครัวครับ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเพิ่มเติม เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก มีท่านทั้งสองเป็นแรงบันดาลใจครับ”

กฤตธี มโนลีหกุล

ทิศทางในอนาคตของ Joox?
“ผมคิดว่ามันยังไม่ได้สำเร็จพร้อมนะครับ Joox เปิดตัวมาได้เกือบ 2 ปี เรายังคงต้องสร้างสรรค์มันต่อไป ปัจจุบันผมใช้คำว่าทุกคนในเมืองรู้จัก Joox อยู่แล้ว แต่ถ้าเราออกไปจังหวัดอื่น ๆ ก็ยังมีอีกมากเลยที่ยังไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่า Joox คืออะไร เราก็ต้องลงไปสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างแท้จริงกันต่อ ในเรื่องของคอนเท้นต์เอง เราก็มีพาร์ทอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามานอกจากเพลง ล่าสุดเราก็มี DJ มาจัดใน App หรือไม่ก็เป็นทอล์คโชว์ ทิศทางต่อไปของคอนเท้นต์จะปรับให้เป็นวาไรตี้มากยิ่งขึ้น จาก Format เพลงก็อาจเปลี่ยนไปเป็น Format ของวิทยุ และอาจจะก้าวไปไกลเกินกว่าจะทำแค่เพลงอย่างเดียว 

“สิ่งที่เราสามารถจะนำมาเสริมมีอยู่กว้างและเยอะมาก รวมถึงการขยายฐานแฟนเพลงให้กว้างไกลออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่ง Joox ของประเทศเพื่อนบ้านก็มีอยู่แล้ว เราก็จะทำในส่วนของการเอาเพลงไทยไปเปิดให้พวกเขาเหล่านั้นรู้จักเรามากขึ้น ในส่วนของเราเองก็จะมีการเปิดพื้นที่ให้กับศิลปิน นักทำเพลงอิสระ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน อย่างที่บอกไปครับ สถานการณ์ตอนนี้เรามองเรื่องการช่วยเหลือกันเป็นหลัก เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องรอง

“ในส่วนของผู้ให้บริการ Music Streaming เจ้าอื่น ๆ ผมมองว่าธุรกิจนี้เป็น Blue Ocean หมายถึงว่าเป็นธุรกิจที่ยังขยายและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการที่ในตลาดมีผู้เล่นเจ้าอื่นเข้ามาเนี่ย จะเป็นการช่วยกันกระตุ้นตลาดให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ Music Streaming มากยิ่งขึ้น ผมไม่อยากใช้คำว่าคู่แข่งนะ เพราะเรามองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมากกว่า อย่างเช่นทุกวันนี้ เราได้มีพื้นที่สื่อที่เลือกนำเสนอมุมมองของธุรกิจประเภทนี้ ผู้บริโภคก็จะได้มีโอกาสรู้จักและเปรียบเทียบการใช้งานมากขึ้น เหมือนเป็นการช่วยกันประชาสัมพันธ์มากกว่า ตลาดเรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องมาแย่งผู้ใช้บริการกัน ผมจึงมองว่าการที่พวกเขาเข้ามามันทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจมากยิ่งขึ้น เกิดการแข่งขัน และส่งผลให้มีการพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นั่นถือเป็นข้อที่ดีมากกว่าที่จะมองว่าเป็นคู่แข่งกันนะครับ 

กฤตธี มโนลีหกุล

ก้าวกระโดดของวงการเพลงไทย