อีก 1 ศิลปิน ภาพปฏิทินสาวงาม

อีก 1 ศิลปิน ภาพปฏิทินสาวงาม

สามทหารเสือแห่งแวดวงปฏิทินสาวงามเซี่ยงไฮ้ คือ เจิ้งม่านถวอ 鄭曼陀 (1881-1961) หังจื้ออิง 杭穉英 (1900-1947) และ เซี่ยจือกวัง 謝之光 (1900-1976) พวกเขาสร้างความคึกคักให้กับงานพาณิชย์ศิลป์ช่วงทศวรรษที่ 1920 ของเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างมาก โดยผสมผสานศิลปะตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันแล้วสร้างบุคลิกพิเศษของตนขึ้นมา เนื่องจากแต่ละคนมีพื้นฐานศิลปะจีนที่แน่นหนา และได้รับการศึกษาศิลปะตะวันตกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เซี่ยจือกวัง 謝之光 (1900-1976) เป็นศิษย์เรียนการเขียนภาพคนจากโจวมู่เฉียว 周慕桥 ซึ่งสืบทอดวิชาจาก อู๋โหย่วหรู 吴友如 ศิลปินเลื่องชื่อยุคปลายราชวงศ์ชิง ต่อมาจึงได้ศึกษาศิลปะตะวันตกกับ จางอวี้กวัง 张聿光 และหลิวไห่ซู่ 刘海粟 จนเรียนจบด้านศิลปะจากวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้

上海美专 เขาได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญในการวาดภาพคน, นก, สัตว์,ดอกไม้ และสาวงามตามขนบศิลปะจีน โดยประยุกต์ลีลาการวาดผสมผสานทั้งแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์ 

ช่วงเวลานั้นที่เซี่ยงไฮ้ ชื่อเสียงของศิลปินอย่าง เริ่นป๋อเหนียน 任伯年, อู๋ชางซว่อ 吴昌硕 กำลังขจรขจาย และบรรยากาศใหม่ ๆ ของการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบเก่ากับแบบใหม่, ระหว่างตะวันออกและตะวันตก ก็กำลังเริ่มเผยแพร่ออกมาจากรูปแบบการเรียนการสอนศิลปะในสถาบันการศึกษาจากพวกหัวใหม่ที่ไป “เรียนเมืองนอก” นำกลับมาสู่สังคมจีน เซี่ยจือกวังศึกษาศิลปะในสถาบันในบรรยากาศแบบนั้น นี่น่าจะมีผลต่อ “ความคิดขบถ” ที่เขาแสดงออกมาในผลงานจำนวนหนึ่งในภายหลัง

หลังเรียนจบ เซี่ยจือกวังก้าวเข้าสู่แวดวงการวาดภาพโฆษณาพร้อมทั้งทำงานเขียนฉากเวทีการแสดงต่าง ๆ ไปด้วย ต่อมาจึงได้มีโอกาสก้าวเข้าไปสร้างสรรค์งานภาพปฏิทินสาวงามจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ปี 1935 เขาวาดภาพจูหยวนจาง 朱元璋 เล่นไพ่นกกระจอกกับเสิ่นว่านซาน 沈万三 โดยตั้งชื่อภาพเขียนภาพนั้นว่า “หงอู่นักพนันมือเติบ” 洪武豪赌图 ในภาพนั้น เขาวาดกษัตริย์จูหยวนจางให้อัปลักษณ์ชนิดที่ถ้าจูหยวนจางยังอยู่เขาน่าจะได้รางวัลเป็นโทษประหาร 

อีกภาพหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงเสมอ ๆ คือภาพ “ห้องเรียนเด็กบ้านนอก”村童闹学 ซึ่งเป็นห้องเรียนแบบโบราณที่ครูผู้เฒ่ากำลังเอนหลับกับโต๊ะ โดยมีเด็กนักเรียนซุกซนกำลังใช้พู่กันวาดที่หัวครู และเด็กนักเรียนคนอื่น ๆก็กำลังเล่นซุกซนกันอยู่ ภาพลักษณะล้อเลียนอย่างมีชีวิตชีวาแบบนี้ ขัดกับแนวคิดโบราณแบบขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง ปี 1922 เซี่ยจือกวังอายุ 23 ปีภาพปฏิทินสาวงามภาพแรกของเขาถูกตีพิมพ์เผยแพร่และสร้างชื่อเสียงของเขาให้ขจรขจายไปในวงกว้าง 

ชีวิตของเซี่ยจือกวังเป็นดั่งตำนาน เขาเป็นศิลปินขบถที่กล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิด นอกจากในด้านสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว ชีวิตส่วนตัวของเขาก็เป็นเรื่องที่เล่าขานกันด้วยความอัศจรรย์ใจ เซี่ยจือกวังแต่งงานครั้งแรกกับพานจิ่นอวิ๋น 潘锦云 เธอเป็นคนหัวใหม่ ลูกสาวเจ้าของร้านแลกเงินที่ร่ำรวยมีบุตรชาย 1 และบุตรสาว 1 คน แต่ชีวิตแต่งงานครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากภรรยาชอบเต้นรำและเล่นการพนัน อีกทั้งตัวเซี่ยจือกวังเองก็ไปติดพันสาวงามที่ซ่องคณิกาด้วย การวาดปฏิทินสาวงามทำให้ต้องเจรจาธุรกิจกับพวกพ่อค้านักธุรกิจ สถานที่มักจะเป็นภัตตาคารแบบเก่าซึ่งมักเป็นโรงคณิกาด้วย (แบบที่เราเห็นในหนังจีน มีอาหาร สุรา และสาวงาม) โรงคณิกาเลื่องชื่อแห่งหนึ่งในเวลานั้นคือ “อวี้ถังชัน” 玉堂春 เซี่ยจือกวังไปติดใจสาวงามคนหนึ่งในนี้จนเหมาผูกปีคณิกาชื่อ ฟางฮุ่ยเจิน 芳慧珍 และใช้เธอเป็นนางแบบในการวาดภาพปฏิทินสาวงามของเขา จนกระทั่งพานจิ่นอวิ๋นภรรยาของเขารู้เรื่องนี้เข้าแต่ก็มิได้เอะอะโวยวาย เพียงแต่เสนอขอหย่าด้วยอาการสงบ เซี่ยจือกวังอ้อนวอนขอให้เห็นแก่บุตรชายบุตรสาวที่ทั้ง 2 มีด้วยกันแต่พานจิ่นอวิ๋นไม่ยอม ในที่สุดก็หย่าขาดจากกัน ในปี 1930 

แม้จะหย่าขาดจากเซี่ยจือกวัง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพานจิ่นอวิ๋นกับน้องสาวของเซี่ยจือกวังนั้นยังคงดีมาก ทุกครั้งที่กลับมาจากมาเก๊า พานจิ่นอวิ๋นจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านน้องสาวของเซี่ยจือกวัง หลังหย่าพานจิ่นอวิ๋นอพยพไปอยู่มาเก๊า ต่อมาแต่งงานใหม่กับคหบดีเจ้าของโรงงานน้ำตาล เซี่ยจือกวังจัดงานแต่งงานอย่างเป็นทางการกับฟางฮุ่ยเจิน ในปี 1930 โดยกำหนดวันแต่งงานถัดไปจากงานแต่งงานของเจียงไคเชค 1 วัน เขาเจตนาให้สังคมวงกว้างรู้เห็นการแต่งงานกับหญิงคณิกาของเขาโดยเปิดเผย 

หลังแต่งงานกับเซี่ยจือกวัง ฟางฮุ่ยเจินซึ่งปรากฏตัวในสังคมข้างนอกน้อยมากอยู่แล้ว ก็ไม่เคยปรากฏตัวนอกบ้านอีกเลย เธอรักและดูแลลูกของเซี่ยจือกวังที่เกิดกับพานจิ่นอวิ๋นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับเซี่ยปี้เยว่ 谢碧月 เธอรักและเคารพแม่เลี้ยงที่ดีกับเธอมาก จนเมื่อแม่เลี้ยงตายไปเธอก็ตั้งหิ้งบูชาและจุดธูปกราบไหว้แม่เลี้ยงทุกวันราวกับเป็นมารดาผู้ให้กำเนิด บุตรชายของเซี่ยจือกวังตายด้วยวัย 23 ปี หลังสำเร็จการศึกษาไม่นานจากอาการเจ็บป่วย เซี่ยจือกวังรักษาอารมณ์ได้มั่นคงยิ่ง เขาไม่หลั่งน้ำตา เขาพูดกับลูกว่า “อย่ากลัว คนเราทุกคนต้องตาย ในที่สุดพ่อก็จะไปเป็นเพื่อนแกเหมือนกัน” 

ความตายของบุตรชายมีผลต่อจิตใจของพานจิ่นอวิ๋นซึ่งให้ความสำคัญเรื่องผู้หญิงต้องมีลูกชายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อรู้ข่าวเธอเศร้ามาก หลังจากลูกชายจากไป เธอก็แทบจะไม่กลับมาเซี่ยงไฮ้อีกเลย เซี่ยปี้อวิ๋นลูกสาวของเธอเล่าว่า เธอได้พบแม่บังเกิดเกล้าครั้งเดียวตอนวันเกิดเมื่อเธออายุ 30 ปี 

เช้าวันที่ 12 กันยายน 1976 เซี่ยจือกวังถึงแก่กรรมหลังจากการตายของประธานเหมาเจ๋อตง 3 วัน ศพของเขาถูกเผาในสัปดาห์ต่อมา 

วันที่ 4 ตุลาคม 1976 ฟางฮุ่ยเจิน ภรรยานางคณิกาของเขาถึงแก่กรรม ครึ่งชีวิตหลังของเซี่ยจื่อกวังทุ่มเทให้กับการวาดภาพแบบจีน ขณะที่ครึ่งแรกของชีวิตเขาผาดโผนเด่นดังอยู่ในแวดวงปฏิทินสาวงามเซี่ยงไฮ้ ผลงานทั้ง 2 แบบล้วนแต่จารึกชื่อของเขาเอาไว้ในประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคใหม่ของจีน 

เซี่ยจือกวัง 謝之光 (1900-1976)