ฐิติรัตน์ คัชมาตย์

ฐิติรัตน์ คัชมาตย์

หากพูดถึงวงการการออกแบบอย่างกว้างๆ มีมากมายหลายประเภทเสียเหลือเกิน แต่สำหรับ คุณฟิ้ว “ฐิติรัตน์ คัชมาตย์” กับแบรนด์ Tithi ที่ผลงานการออกแบบแต่ละชิ้นจะชัดเจนในเรื่อง Conceptual โดยเน้นเข้าไปถึงความคิดมนุษย์ 

ทุกๆ การสร้างสรรค์ผลงาน เธอเลือกที่จะไม่สื่อสารกับผู้ชมตรงๆ หากแต่เป็นการตั้งคำถามผ่านมุมมองสะท้อนระบบทุนนิยมกึ่งเสียดสีสังคมเล็กน้อย ซึ่งได้รับรางวัลการันตีฝีมือมาแล้วกับ Designer of the Year 2013 สาขา Product Design และ Jewelry Design 

“ผลงานที่ถ่ายทอดออกมา จะมองไปในเรื่องความรู้สึก อารมณ์ สิ่งที่เราอยากถ่ายทอดไปให้สิ่งของนั้นๆ มากกว่าที่จะไปเน้นเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าการขายหรืออะไรก็ตาม ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นเหมือนเป็นการตั้งคำถามให้คนดูกลับไปคิดต่อยอดเองได้ ให้คนดูเป็นคนตัดสินใจเอาเองว่ารู้สึกแบบไหน

“อย่างผลงานที่ชื่อว่า ‘Pearly White’ เป็นสร้อยมุก เพราะถ้าพูดถึงสร้อยมุก ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงความบอบบาง คุณหนู หรือความหรูหรา เราเลยเกิดความที่ว่าหากนำมุกแท้ มาปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเอามุกมาเรียงให้เป็นโครงฟันมนุษย์ ภาพลักษณ์ที่คนมองว่ามุกเป็นสิ่งสวยหรูจะเปลี่ยนไปไหม เรายังยึดติดกับค่านิยมความสวยงามอยู่หรือเปล่า ทั้งๆ ที่มูลค่ามีเหมือนกัน แต่พอเปลี่ยนรูปทรงและรูปร่างทำไมถึงได้รู้สึกไม่เหมือนเดิม”

ก่อนที่ความคิดจะตกผลึก มีผลงานสร้างสรรค์มากมาย เธอจบปริญญาตรีจากคณะศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากจบจึงได้ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ประมาณ 2 ปี เมื่อถึงจุดหนึ่ง เธอเกิดคำถามกับตัวเองว่า จะออกแบบเดิมๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยนอย่างนี้ไปถึงเมื่อไหร่ นั่นไม่ใช่การออกแบบอย่างแท้จริง เธอจึงตัดสินใจไปศึกษาเพิ่มเติมด้านการออกแบบที่ประเทศอังกฤษ 

“พอเรียนจบ ความคิดเรื่องการออกแบบเราเปลี่ยนไปมาก เพราะได้เจอคนที่สนใจด้านการออกแบบจากทั่วโลกมารวมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน และที่สำคัญเขาไม่ได้สอนวิธีการคิด เพียงแต่เขาไม่ห้าม เป็นการเปิดอิสระทางความคิดได้กว้างมาก ถ้าอยู่เมืองไทยคงทำแบบนี้ไม่ได้แน่ ข้อจำกัดหรือกรอบมันมีเยอะ ผลงานชิ้นหลังๆ เลยออกมาเป็นแบบทุนนิยม เพราะเราสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ”

โดยผลงานล่าสุดอย่าง ‘Sea Life’ เป็นผลงานที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ‘Travels with My Spoon New’ คอลเล็กชั่นชุดช้อนดอกไม้ ที่ให้ความร้อนกับช้อนพลาสติกแล้วนำมาดัดแปลงเป็นดอกไม้รูปทรงต่างๆ ซึ่งผลงาน ‘Sea Life’ ได้นำส้อมพลาสติกมาดัดแปลงเป็นรูปทรงต่างๆ เกี่ยวกับโลกใต้ท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึก หรือม้าน้ำ โดยความพิเศษอยู่ที่การใช้เทคนิค Lost Wax Casting คือเป็นการนำคุณสมบัติของการแปรเปลี่ยนรูปร่างของขี้ผึ้งมาประยุกต์ นำขยะเหลือใช้มาหลอมให้กลายเป็นเงินและทอง จนเกิดเป็นเครื่องประดับหนึ่งชิ้น ด้วยคอนเซ็ปต์การเวียนว่ายตายเกิด นำสิ่งของที่คนใช้แล้วทิ้ง ให้กลายมาเป็นของมีค่า ในปริมาตรที่เท่ากัน เพียงแค่บิดแปลงรูปทรง ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นส้อม กล่องไข่ หรือกล่องโฟม 

“ส่วนมากระยะเวลาการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์จะไม่มีเวลาตายตัว เพราะงานแต่ละชิ้นสามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้เรื่อยๆ เหมือนว่ายังไม่จบ ณ ตรงนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมันต่อ ก็จะปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นก่อน รอจังหวะที่เหมาะสมก็หยิบออกมาใช้ มันเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้วเกี่ยวกับมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องระบบทุนนิยม มันเลยทำให้เวลาเราเจอเรื่องรอบตัวก็สามารถหยิบตรงนั้นมาใส่ในงานออกแบบได้ แรงบันดาลใจจึงมาจากสิ่งรอบตัวมากกว่า”

หากให้มองวงการออกแบบไทยในปัจจุบัน เธอมองว่าเมืองไทยเรายังไม่ชัดเจนในเรื่องของตัวตน ทำให้การออกแบบของเมืองไทยยังไม่มีเอกลักษณ์มาก ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถเห็นได้ชัดเลยว่าผลงานชิ้นไหนมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นบ้าง แต่ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากมีความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่โดยแฝงกลิ่นอายความเป็นไทย ทำให้ต้องคอยดูกันว่าวงการออกแบบไทยจะมีผลงานที่โดดเด่นสู่สายตาชาวโลกมากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้ทำแบรนด์ Tithi เป็นงานที่ราคาค่อนข้างสูงหน่อย ใช้วัสดุมีคุณภาพ ขายในแกลเลอรี่เป็นหลัก (www.tithi.info) รวมทั้งมีแบรนด์ TT:NT ร่วมกับ คุณนุตร์ อารยวานิชย์ เป็นงานที่ราคาจับต้องได้ เกี่ยวกับเครื่องประดับเช่นกัน และกำลังก่อสร้างสตูดิโอ Faqtopia ด้วย อยากให้ออกมาเป็น Design Community ได้มารวมกันสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนตัวคิดว่าเครื่องประดับไม่ใช่ในเรื่องของการใช้งานเหมือนพวกเฟอร์นิเจอร์ แต่มันขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบส่วนตัว คนสามารถซื้อแหวนราคาแพงได้ โดยไม่ต้องเอาราคาไปเทียบกับของชิ้นอื่น เครื่องประดับมีลักษณะจำเพาะที่ไม่ว่าใครๆ ก็หลงรักได้ง่าย” 

 

Design is all around