อนุพงษ์ จันทร

อนุพงษ์ จันทร

“คำว่าภิกษุสันดานกา ผมไม่ได้ทึกทักแล้วเขียนขึ้นมาเอง แต่ว่าเป็นคำที่ปรากฏในคำสอนอยู่แล้ว ที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบพระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัยในด้านต่างๆ เอาไว้แล้วที่เกี่ยวข้องกับกา คนที่มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็จะเข้าใจว่าเจตนาที่เราสื่อคืออะไร แต่เส้นบางๆ ที่มันหมิ่นเหม่ ที่ไม่เข้าใจ หรืออินกับกระแสตรงนั้นก็จะเกิดการต่อต้าน ซึ่งหากย้อนดู ผมว่ามันมีงานชิ้นอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลแต่ไม่มีการพูดถึง”

 

อาจารย์อนุพงษ์ จันทร เรียนจบศึกษาปริญญาตรีและโทจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเวลาต่อมาได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนหน้านี้งานที่เขาชอบกลับไม่ใช่เรื่องราวของจิตรกรรมวาดภาพ แต่เป็นงานประติมากรรม ในสมัยที่เขายังเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์ที่ลาดกระบัง โดยประทับใจจากการสอนของอาจารย์ที่ไม่ได้มองประติมากรรมเป็นดินเท่านั้น แต่เอาสื่อวัสดุหลายอย่างเข้ามาทำให้มันมากกว่าประติมากรรมที่เราเห็นอยู่

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเปลี่ยนมาเป็นงานด้านจิตรกรรมก็คือช่วงที่เข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวิชาศิลปะพื้นบ้าน วิธีการมองงานศิลปะไทยร่วมสมัยมีขอบเขตกว้างกว่าภาพที่เรียนสมัยช่างศิลป์ พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ เขารู้สึกสนุก ก็เลยตัดสินใจเลือกในสิ่งที่อยากรู้

 

“เพราะมันไม่ได้พูดถึงเรื่องของความเป็นรูปแบบ แต่พูดถึงความเป็นมิติของงาน มันสามารถเป็นได้หลายมิติ แต่แนวคิดของงานเป็นคอนเส็ปต์ที่เราจะทำอะไรแล้วสื่อไหนจะมารองรับความคิดของเราที่จะมาทำงานได้ดีที่สุด”

 

ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากที่ได้มีการสัมผัสเรื่องของศิลปะพื้นบ้านไทยอย่างลึกซึ้งในหลายๆ ด้าน อย่างเช่น ไปตามวัดแล้วได้เจอภาพเขียนในเรื่องของนรกเปรตหรืออสุรกาย อาจารย์อนุพงษ์จึงนำมาพัฒนาในแบบศิลปะในแบบของตัวเองที่เกี่ยวกับพระทำผิดพระวินัยทางศาสนา แล้วปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบเฉพาะของสังคม ทำให้สร้างสรรค์ผลงานออกมา อาทิ การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 18 ในภาพ “ภูมิลวง” การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 51 กับ “พุทธบริษัทหมายเลข 4” การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 52 ในภาพชื่อ “เศษบุญ-เศษกรรม” การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 จากผลงาน “ภิกษุสันดานกา” งานหลายชิ้นของเขาล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น

 

งานที่เลือกให้เป็นมาสเตอร์พีซนั้น เขาเลือกงานชิ้นแรกที่ได้รับรางใหญ่เป็นกิจกรรมบัวหลวงแนวประเพณีซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ตอนศึกษาปริญญาตรีที่มีชื่อว่า “ก้อนทุกข์” ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ภาพแต่ละภาพของเขาอยู่ในแนวความคิดเดียวกันแทบสิ้น จะต่างออกไปก็แค่เนื้อหาเท่านั้น

 

“ผมกำลังพูดถึงภาพลักษณ์ของบุคคลในปัจจุบันที่มีลักษณะคล้ายกับเปรตที่มีความละโมบโลภมาก มีเรื่องของกิเลสตัณหาที่ไม่รู้จักพอ แล้วเรื่องของเปรตก็เป็นกุศโลบายคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เขาเอาไว้สอนให้คนเกรงกลัวและละอายต่อบาป ผมเอาสิ่งที่เขาว่ามันเป็นเศษเล็กมากๆ เป็นเศษกรรมตามความเชื่อเอามาขยายต่อสิ่งที่คนกำลังจำทำผิดให้เกิดบาปต่อไป ก็เลยเอาเรื่องนี้มาทำเป็นเนื้อหาหลัก”

 

การทำงานต่อชิ้นนั้นใช้เวลาหลายเดือน โดยวิธีการทำงานเกิดจากการสเก็ตจากลายเส้นชิ้นเล็กๆ ก่อนว่าจะเขียนอะไรออกมาบ้าง ขนาดของภาพจึงใหญ่ประมาณสัก 2 เมตร 50 เซนติเมตร โดยนำลายเส้นที่สเก็ตไปขยายด้วยการถ่ายเอกสาร เพื่อให้ได้เค้าโครงจากลายเส้นเดิม ซึ่งสามารถกำหนดสเกลของภาพได้

 

“ลักษณะของก้อนทุกข์ยังหมายถึงพระที่ทำผิดวินัย เช่นเสพกามในขณะที่ครองสมนะเพศอยู่ โครงสร้างของก้อนทุกข์มันอาจเป็นลักษณะของภาพที่มันมีอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังอยู่แล้ว คือเปรตที่แบกอัณฑะของตัวเองนั่นแหละ อย่างที่วัดดุสิตจะมีเปรตตนนี้ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องนรกภูมิโดยภาพที่สวยงามมาก

 

“ส่วนหนึ่งผมจึงเกิดแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังเดิม ที่เป็นช่วงเวลาในสมัยนั้นมองแล้วสื่อออกมา ส่วนในสมัยของเรา สิ่งที่เราที่เป็นมนุษย์ความเหมือนจริงนี่แหละ ก็ปรับเปลี่ยนจากลายเส้นที่แบนกลายเป็นกล้ามเนื้อมากขึ้น ลักษณะที่ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นมนุษย์ เราก็จะสามารถสัมผัสกับภาพนั้นได้จริง”

การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวภาพ “ภิกษุสันดานกา”