A Social Enterprise Advertising Company

A Social Enterprise Advertising Company

ระบบขนส่งสาธารณะกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนผู้คนจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะรถเมล์และรถตู้ที่มีคนจำนวนมากใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยระบบการจัดการที่ไม่พร้อมและจำนวนรถโดยสารที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเกิดความสับสน ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ หรือจุดจอดรถตู้ ทำให้ “ตี้ – อธิบดี เขมะประสิทธิ์” ผู้ก่อตั้ง Smart VC กิจการเพื่อสังคม ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

กิจการเพื่อสังคมอย่าง Smart VC มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมือง ผ่านการพัฒนาข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ทั้งหมด และจัดทำแผนที่เส้นทางเดินรถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเริ่มจากการจัดตั้งโครงการ “BKKconnect สื่อสาธารณะเพื่อคนกรุงเทพฯ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้เว็บระดมทุนเทใจดอทคอม จนทำให้ Smart VC กลายเป็นตัวแทนทำแผนที่เส้นทางการเดินรถเมล์และจุดจอดรถตู้ในรูปแบบของ Infographic 

“ผมเอาสถิติมาดู เมื่อก่อนกรุงเทพฯ เคยมีคนใช้รถเมล์ประมาณ 6 ล้านคนต่อเดือน ตอนนี้เหลือ 2 ล้านกว่าเลยสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้คนใช้รถเมล์ลดลง ไม่ใช่ว่าคนไม่ได้เดินทางนะครับ แต่เพราะคนซื้อรถมากขึ้น รถก็ติดมากขึ้น ส่วนรถสาธารณะกลับไม่มีใครสนใจแก้ไข ผมเลยมองว่าตอนนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง อีกอย่างรถสาธารณะมันควรจะเป็นสำหรับทุกคน คนจนใช้ได้ คนรวยใช้ได้ แต่คนไทยชอบมองว่ารถเมล์เป็นสังคมของคนจน รถไฟฟ้าเป็นคนชั้นกลาง คนรวยก็มีรถยนต์ส่วนตัว มันก็ไม่ใช่  ถ้ามองมุมแปลกๆ ในโลกนี้ยังไม่เคยมีประเทศไหนที่เอกชนลงมือทำเอง หางบประมาณเองเลย เพราะไม่มีใครมาช่วย ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นวิถีของบ้านเราก็ได้ เราเลยต้องลงมือทำอะไรบางอย่างให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

บริการของ Smart VC มีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือแผนที่รถเมล์ เป็นป้ายแสดงเส้นทางรถเมล์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เช่าพื้นที่ติดตั้งป้ายภายในรถโดยสารประจำทางขสมก. จำนวนกว่า 3,000 คัน, แผ่นพับแจกฟรีในจุดต่างๆ โดยเริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแอพพลิเคชั่นกับเว็บไซต์ ที่อยู่ในขั้นตอนกำลังพัฒนาระบบ 

“ปีแรกเราหมดเวลาไปกับการรวบรวมฐานข้อมูลของรถเมล์ เหมือนค่อยๆ ทำทีละนิด หาแผนที่กรุงเทพฯ มาแล้วก็มาร์คไว้ว่ารถเมล์จะผ่านตรงเขตไหนบ้าง แล้วเราก็ลงไปเก็บข้อมูลว่าอยู่ตรงไหน ค่อยๆ เดินไปทีละเขตครับ ปีต่อมาเราจึงเริ่มทำแผนที่บนรถเมล์ ซึ่งตอนนี้กำลังปรับดีไซน์ใหม่อยู่ เราไม่ได้เป็นคนรวย เราเป็นแค่ SME เล็กๆ เริ่มต้นจากที่ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องทำเองทุกกระบวนการ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ด้วยรายละเอียดของตัวโปรเจกต์ด้วย ที่ยังมีปัญหาเรื่องรถเมล์ย้ายสายบ้าง และคนก็ยังไม่ค่อยรู้จัก Smart VC เท่าไหร่ เพราะตัวแบรนด์ยังไม่ค่อยแข็งแรงด้วย แต่ก็พยายามให้เป็นที่รู้จักอยู่ตลอด

“เราเป็นบริษัทโฆษณาที่แคร์เรื่องคนใช้บริการมากๆ ตอนแรกทำแผนที่แล้วมันมีหลายสถานที่มากที่ต้องทำ ก็เลยเริ่มจากอนุสาวรีย์ฯ ก่อน เพราะเป็นจุดต่อรถเมล์ที่เข้มข้นที่สุด บวกกับอยู่ในช่วงสงกรานต์โครงการนี้ก็เลยเกิดขึ้น ฐานข้อมูลเก็บไม่ยากครับ ไปถามพี่วินรถตู้ ให้บ้างไม่ให้บ้าง พอได้มาชุดหนึ่งก็เริ่มทำเอกสารมาให้เขาดู Feedback ก็ดีขึ้น มีคนมาถามหา โอเค แปลว่าเรามาถูกทางแล้ว มันเป็นอะไรที่คนต้องการ ตอนเราออกแบบก็ดูว่าถ้าสมมติอยู่บนรถเมล์ คนเยอะ 
ก็ต้องโหนมือหนึ่ง แล้วก็อ่านมือเดียว ผมเลยไม่ให้มันเกะกะ และถ้าเดินทางไกลกลับบ้านด้วยรถตู้ ก็จะมีเบอร์โทรติดอยู่ทำเป็นสารบัญออกมา

“ผมรู้สึกว่าเราแทบไม่ได้โปรโมทเลยครับ มันเป็นของประจำเมือง มันเป็นของที่เมืองต้องมี ผมทำให้มันครอบคลุมมากที่สุด ถ้าเราทำสำเร็จ คนขึ้นรถเมล์ทุกคนจะรู้ว่ามีแผนที่ใช้นะ ฟรีนะ คือให้กลายเป็นชีวิตประจำวัน ทำให้อุ่นใจได้ว่าไปอนุสาวรีย์แล้วจะมีแผนที่แน่นอน”

ตอนนี้เขากำลังพัฒนาให้เป็นระบบดิจิตอลมากขึ้น เพราะหากมีฐานข้อมูลบันทึกไว้ในคอมฯ ทุกอย่างจะสะดวกและง่ายมากขึ้น แม้ว่าทุกอย่างจะดูราบรื่น แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้นั้นไม่ง่ายเลย

“ในปีแรกโปรเจ็กต์นี้เกือบโดนยุบหลายรอบมาก คุยกับใครก็ไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจ เราก็ไม่มีงบประมาณ อย่างแรกคือเขาไม่อิน เขาเชื่อว่าทำได้แต่ไม่เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ เหมือนมีเด็กคนหนึ่งกำลังพยายามทำอะไรสักอย่าง ขายไอเดียไปก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง มีท้อเหมือนกันแต่เราก็ยังพิสูจน์กันต่อไปเรื่อยๆ เราอยู่ในจุดที่ล้มได้แล้วยังไม่เจ็บมาก คือตัวโปรเจ็กต์มันเกิดขึ้นมาแล้ว คนก็รออยู่จะให้คนใช้บริการผิดหวังไม่ได้ เรียกได้ว่าลงหลังเสือไม่ได้ มันก็ดีอย่างตรงที่เป็นเรื่องของความกดดันเล็กๆ ที่จะช่วยทำให้งานเดิน

“ตอนนี้ผมวางเป้าไว้ประมาณ 2 ปีครับ อาจจะไวกว่าขึ้นอยู่กับเงินทุนด้วย ผมคิดว่าโปรเจ็กต์นี้ยังไงมันต้องเสร็จสามารถเป็นระบบได้แน่นอน แต่ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งการดูแลจัดการเรื่องงบการลงทุนนี่เป็นปัญหาหลักที่เราเผชิญอยู่ สำหรับสิ่งที่เราทำอยู่จะมีคนใช้หรือเปล่า ผมไม่โทษคนใช้หรอกนะ ธุรกิจพื้นฐานการที่คนไม่ซื้อของคุณ คุณโทษลูกค้าไม่ได้ คุณต้องโทษตัวเอง ผู้ประกอบการต้องดูแลให้รถเมล์มีคุณภาพมากขึ้น”

หากฐานข้อมูลการเดินทางดีขึ้นกว่านี้เมื่อไหร่ การใช้รถเมล์จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนในเมืองและคนต่างถิ่นมากขึ้น อนาคตอีกไม่กี่ปี เราอาจเห็นภาพระบบขนส่งสาธารณะกรุงเทพฯ เป็นระบบ ผู้ใช้บริการเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพียงแค่กล้าคิดและลงมือ ทุกอย่างย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน 

Know Him 

•    แผนที่แสดงสายรถเมล์และจุดแสดงที่จอดรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ไม่ได้มีเพียงภาษาไทยเท่านั้น ยังมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย สามารถดาวน์โหลดทั้ง 2 เวอร์ชั่นได้บนเว็บไซต์
•    แผ่นพับที่แจกตามจุดต่างๆ บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ข้อมูลจะอัพเดททุกๆ สามเดือน เพราะข้อมูลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ หรือคิวรถตู้
•    ทีมงานหลักๆ ตอนนี้มีเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ช่วยกันทำทุกกระบวนการ โดยมีคุณแม่ของเขาที่ช่วยเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพราะครอบครัวของเขาทำธุรกิจรถเมล์มา 20 กว่าปี 
•    ติดตามต่อได้ที่ www.smartvc.net หรือ www.facebook.com/smartvc

สื่อสาธารณะเพื่อคนกรุงเทพฯ Smart VC