Guardians of Health เปิดมุมมองด้านสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน

Guardians of Health เปิดมุมมองด้านสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน

นิตยสาร MiX Magazine ฉบับนี้ ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูง จากผู้มีความรู้ระดับคุณหมอมาสัมภาษณ์ถึง 3 ท่าน คือ หมอแซน พญ.อัญชลี เสนะวงษ์ กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันจากโรงพยาบาลบีเอ็นเอช หมอก๊กเลี้ยง นพ.ปริญญา อังสนันท์ แพทยศาสตร์บัณฑิตเวชศาสตร์ชะลอวัยและการดูแลสุขภาพ พญ.ปณิดา ปิยะจตุรวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับจากโรงพยาบาลเมดพาร์ค

แม้แต่ละท่านจะมีเรื่องราวและประสบการณ์จากสาขาวิชาเฉพาะด้านของแต่ละคน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความปรารถนาดีที่อยากดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยใจจริง นอกจากนี้คุณหมอทั้ง 3 ท่าน ยังบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในวงการแพทย์และเสนอแนวทางในการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย

อยากให้ทุกท่านช่วยเล่าเรื่องราว จุดเริ่มต้นของการเป็นแพทย์ให้เราฟังหน่อย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

หมอแซน : เริ่มแรกคือครอบครัวอยากให้เรียนหมอ ก็ยังลังเลอยู่ว่าจะเรียนดีหรือเปล่านะ พอดีสอบเอนทรานซ์ติด จึงได้เข้าเรียนซึ่งช่วงแรกเรียนหนักมาก แต่พอเรียนจบจนกระทั่งได้ทำงานถึงตอนนี้ 15 ปีแล้ว ก็ยังแฮปปี้อยู่นะคะกับการทำงาน ได้ช่วยเหลือคนไข้ ได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ ทุกวันค่ะ ส่วนที่เลือกเป็นหมอด้านภูมิแพ้และกุมารเวชเพราะว่ารักเด็กค่ะ การได้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน  แซนว่ามันชาเลนจ์ดี ในหลายเคสเราต้องใช้จินตนาการ เพราะโรคเหล่านี้มันมองไม่เห็นแต่อยู่ในร่างกาย เรา เล่นกับมันได้เปลี่ยนแปลงมันได้

หมอก๊ก : ช่วงเวลาที่ตัดสินใจเรียนหมอในรุ่นผมไม่มีระบบเอนทรานซ์แล้ว แต่ผมใช้วิธีสอบเข้าแบบรับตรง เอาคะแนนสอบข้อเขียน 40% คะแนนสอบสัมภาษณ์ 60% อาจารย์ที่สัมภาษณ์ถามว่า ทำไมอยากเป็นหมอ ผมก็ตอบว่าอยากช่วยคนครับ คือถ้าอาจารย์ไม่ให้ผมรักษาคนไข้ ผมก็จะหาวิธีการช่วยคนในแบบอื่น ไปเป็นอะไรก็ได้ที่ช่วยเหลือคน ซึ่งผมก็ได้เข้าเรียนแพทย์จนจบ

หมออุ๋ย : ในสมัยก่อนการเรียนแพทย์ถือว่าเป็นอาชีพระดับท็อป ตอนที่เป็นนักเรียนก็เรียนสายวิทย์ซึ่งชอบอยู่แล้ว พอเอนทรานซ์ได้เข้าเรียนแพทย์ก็รู้สึกแฮปปี้ ไม่ได้รู้สึกว่าลำบาก และการที่เลือกมาเป็นหมอทางเดินอาหาร เริ่มจากตอนเป็นนักศึกษาปี 4 ช่วงนั้นได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยโรคตับ คือเราเห็นตั้งแต่คนไข้นอนหมดสติ ตัวเหลือง ตาเหลือง จนกระทั่งรักษาเขาให้ดีขึ้นกลับบ้านได้ มันเป็นความประทับใจว่า ถ้าเราเรียนทางนี้เราจะสามารถช่วยเหลือคนได้จริง ๆ

ปัจจุบันวิกฤตมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ทำให้คนเป็นโรคภูมิแพ้ และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ขอถามหมอแซนก่อนเลยว่ามันอันตรายมากน้อยแค่ไหน

หมอแซน : ฝุ่นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝุ่นธรรมดา มันมีโลหะหนักและอย่างอื่นเข้ามาผสมด้วย ในระยะสั้นทำให้เราแสบจมูก หรือคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วกำเริบได้ และทำให้หลอดเลือดข้างในอักเสบ พอหลอดเลือดอักเสบแล้วร่างกายเรามีหลอดเลือด ทำให้เกิดสโตกได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอักเสบ มีการศึกษาวิจัยว่าทำให้อายุขัยลดลงได้เกือบ 3.1 ปี อาจทำให้เด็กเล็กพัฒนาการไม่ปกติ มีไอคิวต่ำ และเป็น โรคสมาธิสั้น แล้วก็คนท้องก็เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง แม้แต่ผู้สูงอายุ ถ้าหายใจเข้าไปนาน ๆ อาจส่งผลต่อร่างกายในผลระยะยาวได้

เรื่องฝุ่น PM2.5 เราไม่สามารถแก้ไขเองได้ ต้องร่วมมือแก้ไขกันทุกคน หนทางหนึ่งคือการออกกฎหมายหรือ พ...อากาศสะอาด คุณหมอคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้

หมอก๊ก : ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมนุษย์ทุกคนต้องหายใจ ถ้าขาดอากาศทุกคนก็ตายครับ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับอากาศสะอาดเท่าเทียมกันทุกคน ทั้งโลกด้วยไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ฉะนั้นแล้วประเทศอื่นที่เขามีอากาศดี ๆ ใช้กัน ประเทศไทยก็ควรที่จะมีอากาศดี ๆ ใช้กันด้วยครับ

หมอแซน : เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จริง ๆ ในสมาคมภูมิแพ้ของกุมารเวช เราก็ผลักดันเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ในปัญหาเรื่องของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ความจริงเรามีหลายงานวิจัยที่ทำให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง   ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่เราผลักดันอยู่เหมือนกัน

หมออุ๋ย : ในเรื่องเกี่ยวกับทางเดินอาหารเอง ข้อมูลอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่หลัก ๆ เลยเชื้อโรคหรือสารพิษก็จะเข้าทางเดินหายใจอยู่แล้วประมาณ 5% และเข้าสู่ทางเดินอาหาร แล้วทำให้มากระทบต่อร่างกาย อย่างที่หมอแซนพูดคือสามารถไปกระทบเส้นเลือดและการอักเสบในร่างกาย คิดว่าทุกคนต้องประสบกับฝุ่นในประเทศไทยทุกปีอยู่แล้วค่ะ ก็อยากให้ช่วยกันดูแลอากาศ เพื่อที่ทุกคนจะได้รับอากาศที่สะอาด

ในฐานะที่หมอแซน เป็นหมอเฉพาะทางด้านภูมิแพ้ แล้วเครื่องฟอกอากาศมันช่วยทำให้อากาศดีขึ้นจริงไหม

หมอแซน : เครื่องฟอกอากาศ ช่วยได้นะคะ แต่จริง ๆ แล้วเครื่องฟอกอากาศจะแยกเป็นหลายชนิดค่ะ เป็นทั้งแบบใยกรองสังเคราะห์ Hepa Filter แบบโอโซน แบบยูวี ฯลฯ ซึ่งที่เราแนะนำแบบ Hepa Filter (แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส) อันนี้จะช่วยได้แต่ว่าต้องอยู่ในห้องปิดและต้องมีขนาดเครื่องที่พอเหมาะกับพื้นที่ อย่างน้อยเราก็ทำได้ดีที่สุดในสิ่งที่เราทำได้ค่ะ 

เรื่องของระบบภายในช่องท้อง อยากถามหมออุ๋ยว่าการที่ต้องส่องกล้องลำไส้ผู้ป่วยเป็นประจำ มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

หมออุ๋ย : หลายคนอาจเข้าใจว่าลำไส้มีสิ่งตกค้าง แต่การส่องกล้องลำไส้นี่คือสะอาดมากเลยนะคะ ไม่มีกลิ่น ไม่มีความสกปรกอะไรเลย ในความจริงการส่องกล้องเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ได้ดี ในต่างประเทศจะกำหนดให้คนมาคัดตามเกณฑ์อายุเช่น 45 ปี หรือ 50 ปี ด้วยเทคโนโลยีกล้องคุณภาพสูง เราสามารถคาดเดาได้เลยว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคหรือไม่

ในอีกด้านหนึ่งมีกลุ่มคนที่ทำความสะอาดของลำไส้ด้วยตัวเอง คุณหมอคิดว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

หมออุ๋ย : ในทางการแพทย์ไม่มีปัญหาในการล้างลำไส้เราใช้เพื่อจะส่องกล้อง แพทย์จะให้กินยาระบาย ช่วงหลัง ๆ ยาระบายก็จะมีรสชาติดีขึ้น กินเพื่อขับถ่ายให้ลำไส้สะอาด แต่ในส่วนที่ล้างลำไส้ดีท็อกซ์ทั้งหลาย ต้องบอกว่าเป็นการเอาสารน้ำเข้าทางด้านล่างสวนขึ้นไป จะผสมสมุนไพรผสมกาแฟหรืออะไรก็ตาม จะบอกว่าลำไส้คนเราจริง ๆ เป็นรูปตัวยูคว่ำ เวลาเราสวนน้ำเข้าไป ไม่มีทางไปถึงปลายสุดของอีกฝั่ง บางคนก็จะใส่น้ำเข้าไปหลายลิตร บางทีก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะต้องมีการใส่สายและน้ำเข้าไป

ส่วนอันที่ 2 คือต้องบอกอย่างนี้ ลำไส้ใหญ่คนเราสมมุติว่าคนไข้มีของเสียตกค้าง เวลาสวนลำไส้ก็สามารถเคลียร์ของได้ แต่ว่าในแง่ของการล้างสารพิษ ก็ต้องบอกว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ชัดเจน เพราะว่าร่างกายดูดซึมอาหารทั้งหมดแล้วที่ลำไส้เล็ก พอสิ่งที่เหลือในลำไส้ใหญ่เป็นเศษอาหารกากใยที่ร่างกายไม่ต้องการแล้ว หน้าที่ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่แค่ดูดน้ำกลับเพื่อถ่ายระบายออก เพราะฉะนั้นการล้างลำไส้ใหญ่ไม่ได้เป็นการรักษาโรค หรือล้างตับหรืออะไร ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด

ในส่วนของ Anti - Aging คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ และความสวยความงามแต่ความจริงแล้วมันคืออะไร

หมอก๊ก : ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดว่า Anti - Aging ต้องมาฉีดโบท็อก ตรงนี้คือเรื่องของความสวยความงาม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในสิ่งที่เรียนมา Anti - Aging คือการดูแลสุขภาพ เพราะชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ Anti – Aging and Regenerative Medicine เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ ที่ไม่ใช่แค่แก่แล้วไปชะลอวัย แต่มันเป็นการดูแลตั้งแต่เกิดจนถึงแก่เป็นวิธีการดูแลตั้งแต่เรื่องของอาหาร การหลับ การออกกำลังกาย ฯลฯ ที่คนไข้สามารถทำเองได้ และ Anti - Aging จะเน้นในเรื่อง การให้ความรู้กับผู้ป่วย เพื่อให้เขาได้เป็นหมอของตัวเอง และไปรักษาตัวเอง เพราะหมอไม่ได้ไปป่วยด้วย ร่างกายของตัวเองควรรู้ว่าต้องกินอะไร ในวันไหน ๆ ครับ

สมมุติมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอะไรเด่นชัดเข้ามารักษา คุณหมอจะมีวิธีคัดกรองว่าเขาป่วยเป็นโรคอะไรได้อย่างไร

หมออุ๋ย : ความจริงคนไข้ต้องมีอาการเฉพาะของตัวเองจากสิ่งที่ปรากฏมาก่อน แล้วมีการคัดกรอง เช่น อาการที่แบบว่าธงแดง คือถ่ายเป็นเลือดมาเลย ก็ต้องเชิญส่องกล้อง หรือเหนื่อยหอบมาอาจต้องพ่นยาก่อนให้อาการนิ่งก่อน แล้วเราค่อยมาตรวจสอบอีกทีว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร และต้องใช้ระบบไหนบ้างที่ต้องรักษา

หมอแซน : ขอขยายให้ชัดขึ้น เช่นคนไข้มาแบบท้องอืดเรื้อรังเลย กินอะไรก็อืดอาหารไม่ย่อย ก็อาจจะมาเจอหมอทางเดินอาหารก่อน หลัก ๆ หมอก็ต้องหาสาเหตุที่จะต้องรักษาให้ได้ก่อน มีการติดเชื้อในทางเดินอาหารหรือเปล่า มีการอักเสบ มีโรคทางกายที่เป็นโรคทางกายจริง ๆ ที่มีความผิดปกติหรือเปล่า จะมีการปรับยาให้คนไข้ดีขึ้นบ้าง แต่ถ้าปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ หรือคนไข้มีปัจจัยของตัวเองหรือเปล่า มีอาการแพ้หรือเปล่า ก็ต้องไปตรวจเรื่องภูมิแพ้ เรื่องอาหาร ก็อาจจะต้องมีการตรวจติดตามไปเรื่อย ๆ เราอาจจะไม่ได้ฟันธงว่ามาทางนี้ แต่บางอย่างควรตรวจละเอียด เช่น ท้องอืด ท้องบวมขึ้น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด กลืนลำบาก แบบนี้คืออาการไม่น่าจะเป็นโรคธรรมดา ควรตรวจให้ละเอียดค่ะ ไม่ว่าจะด้วยการเอกซเรย์ การอัลตร้าซาวน์ ซีทีสแกน การส่องกล้อง หรือว่าการเจาะเลือด เบื้องต้นสามารถช่วยบอกโรคได้ค่ะ

หมอก๊ก : หรือถ้าสมมุติว่ายังไม่ป่วยอะไรเลย แค่รู้สึกว่าป่วย ไปตรวจมาแล้วแต่ยังไม่เจออะไรสักที ก็มาหา Anti - Aging ได้ครับผม ถือว่าอยู่ในกลุ่มร่างกายปกติยังไม่วิกฤต เพราะ Anti - Aging งานหลัก ๆ คือ ดูแลคน 80% ที่ไม่ได้นอนอยู่ในโรงพยาบาล และไม่ได้ป่วยหนัก 

ในธีมเล่ม “Essence of Harmony กาย ใจ จิต สู่ชีวิตสมดุลสำหรับคุณหมอมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

หมอแซน : เนื่องจากแซนเป็นหมอเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จึงเชื่อในเรื่องของความสมดุลภายใน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภูมิคุ้มกัน ถ้าภูมิคุ้มกันเราต่อต้านตัวเองต่ำไปมันก็ทำงานบกพร่อง ถ้าสูงไปก็คือภูมิไว ถ้าทำงานปกติก็คือสมดุล เพราะฉะนั้น ให้เริ่มจากการดูแลตัวเอง สำหรับภูมิแพ้ทุกโรคควรเริ่มจากดูแลตัวเองเรื่อง 4E ด้วยกันค่ะ คือ Exercise Eating Emotion Environment หรือ ออกกำลังกาย อาหารการกิน อารมณ์ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องไม่มีฝุ่นเยอะหรือสารก่อภูมิแพ้ที่เราแพ้ด้วยค่ะ

หมอก๊ก : หลายคนคงเข้าใจแล้วครับว่าการชะลอวัยคือความงาม จริง ๆ ความงามก็เป็นผลพลอยได้จากการชะลอวัย ก็คือความงามจากข้างนอก ผมจะพูดเสมอว่ามันคือ Output ฉะนั้นสิ่งที่ Input เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นฐานพีระมิด ในเรื่องของ Food Sleep Stress Supplement Exercise หรือ อาหาร การนอน ความเครียด และการออกกำลังกายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถ้าคุณดูแลตัวเอง เป็นหมอของตัวเอง คุณก็จะมีความงามที่มาจากข้างในออกมาข้างนอกครับ

หมออุ๋ย : ในเรื่องธีม Essence of Harmony เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ หลัก ๆ เลย จะมองว่าเป็น Body หรือร่างกายของเราเอง จริง ๆ แล้วเราก็จะโฟกัสตรงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าเราจะกินอะไร ออกกำลังกาย ออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มันตอบสนองความต้องการของเราเอง สุดท้ายนอกจากร่างกายแล้ว เราก็ต้องมองเรื่องของ Mind หรือจิตใจของเราด้วย ให้จิตใจของเรามีความสุข และสุดท้ายเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ คือหันมามองตัวเองว่าต้องการอะไร หลัก ๆ เลย 3 อย่างนี้ถ้าเราสมดุล มันก็จะแสดงออกมาเป็นบุคลิกของเรา ก็จะมีความคิดที่ดี มีความมั่นใจ และสุขภาพแข็งแรง เมื่อเราดีแล้วเราก็จะมองผู้อื่น มองโลกในแง่ดี เป็นคนเปิดกว้าง จะออกไปช่วยเหลือสังคม มันเป็นความงามจากภายในสู่ภายนอก และเปิดเผยเผื่อแผ่ต่อคนอื่นด้วย

เรื่องของการทำงานบ้าง อยากให้คุณหมอทั้ง 3 ท่าน เล่าประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ เป็นเคสที่รู้สึกประทับใจ

หมอแซน :ถ้าเป็นเคสที่แซนประทับใจคือ มีคนไข้เป็นเด็กแพ้อาหารค่อนข้างรุนแรง บางคนกินแป้งได้ไม่ได้เลย แต่วิธีของแซนคือ ค่อย ๆ ให้สารที่เขาแพ้ทีละเล็กทีละน้อย ระหว่างทางนั้นเขาสามารถกินได้นิดหน่อย กระทั่งเขาสามารถไปร่วมงานวันเกิดกับเพื่อนและไปกินเค้กได้ อย่างน้อยเขากินเค้กเพียง 1 คำ นั่นคือความสุขของหมอเด็กภูมิแพ้ค่ะ  ความจริงเราจะมีการตรวจ เจาะเลือดว่าเขาแพ้อยู่ในระดับที่เท่าไหร่ เราก็ให้เขากินที่ระดับเท่านี้ค่ะ เราเพิ่มไปทีละ 20% ทุกเดือน เราต้องมอนิเตอร์เขาดี ๆ ให้ยาและเตรียมความพร้อม แล้วสุดท้ายภูมิที่เขาแพ้มันจะลดลง เขามีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ความจริงร่างกายฉลาดนะคะ มันจะเรียนรู้ตามกระบวนการจนหายแพ้ไปเอง

หมอก๊ก : เคสที่ประทับใจเป็นข่าวไปคือเมื่อกลางปีที่แล้ว ผมต้องไปคุยธุรกิจกับทางญี่ปุ่น บินไปกับเจแปนแอร์ไลน์ ขณะเครื่องขึ้น มีเสียงกรี๊ดดังออกมา ผมก็ไปดูเคสผู้ป่วย ก็ไปเจอเป็นลูกสาวกับคุณพ่อ อายุ 74 ปี เราก็พาลงมา พยายามจะปั๊มหัวใจ แต่ขอเช็คอย่างอื่นก่อนว่าหายใจเองได้ไหม ก็มีการทดสอบหลายแบบว่าเขาตื่นไหม แล้วไม่นานเขาก็ตื่นมาคุยได้เลย จากตอนแรกที่แบบตาค้าง ไม่ขยับใดๆ เลย พอตื่นปุ๊บก็ตรวจร่างกาย ผมก็เฝ้าเขาจนบินไปถึงประเทศญี่ปุ่น

ส่วนอีกเคสหนึ่งมีพนักงานไลน์มาบอกว่ามีคนล้มอยู่หน้าคลินิก เป็นชาวมาเลย์หัวใจหยุดเต้นก็ต้องไปปั๊มหัวใจ ณ ตรงนั้นเลย หน้าคลินิกตัวเอง ที่อยู่ๆ เคสก็มาเสิร์ฟถึงที่ หรืออีกเคสตอนเที่ยงคืนผมเดินกลับบ้านมอเตอร์ไซต์ประสบอุบัติเหตุต่อหน้า คนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้สวมหมวกกันน็อค หันซ้ายหันขวาไม่มีใครเลย ที่ทำได้ก็คือไปหาแผงกั้นมากั้นรถ ให้เขาอยู่นิ่ง ๆ แล้วโทรเรียกรถโรงพยาบาลมาช่วย

หมออุ๋ย : จริง ๆ มีหลายเคส แต่ว่าเอาที่เจอบ่อยแล้วกันนะคือกรดไหลย้อน เป็นปัญหาที่มาหาเราเยอะเลย มีคนไข้เป็นผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งมีอาการแน่นหน้าอกทุกวันและจุกคอหายใจไม่ออก ต้องไปห้องฉุกเฉินทุกคืน ได้ทำการตรวจหัวใจก็ปกติ โดยรวมแล้วก็วินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อน แต่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น

ตอนวินิจฉัยสุดท้ายที่กราฟออกมา 24 ชั่วโมง คนไข้ไม่มีกรดเลย หมายถึงคนไข้เขารู้สึกขึ้นมาเองว่าเขาแน่นแล้ว พอเขาแน่นแล้วคล้าย ๆ ว่าเขาจะกลืนลมลงไป แล้วก็ดันกรดขึ้นมาเหมือนเป็นการย้อนกลับ เพราะฉะนั้นเราแก้คือให้ยาเพื่อลดความรู้สึก ก็เลยถูกวิจัยว่าเป็นหลอดอาหารบีบตัวไว พอให้ยาไปถูกปุ๊บโดยที่ไม่ใช่ยาลดกรด คนไข้ก็อาการดีขึ้น ไม่ต้องใช้ยาลดกรด ไม่ต้องไปห้องฉุกเฉินทุกคืน 

ในทางกลับกันมีคนไข้ที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจบ้างไหม

หมออุ๋ย : ในช่วงที่เป็นนักศึกษาปี 6 ตอนนั้นทำงานอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่แผนกศัลยกรรม ก็พบกับคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน ขามีแผลติดเชื้อแล้วเราก็มีความผูกพันกับคุณป้า เพราะต้องทำแผลที่ขาทุกวัน มีอยู่คืนหนึ่งการติดเชื้อแย่ลง ทำให้ความดันตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อน ๆ ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็พยายามช่วยกัน สุดท้ายแล้วก็ยื้อไม่ไหว คุณป้าก็เสียชีวิต เป็นเคสแรกที่เราต้องมานั่งคิดว่ามีจุดตรงไหนหรือเปล่าที่จะสามารถทำให้คุณป้าดีขึ้นกว่านี้ มันไม่ใช่เรื่องความผิดพลาด เพราะเราทำตามหลักวิชาการ แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะทำให้ดีขึ้นไปอีก

หมอก๊ก : ความสะเทือนใจของผม คิดว่าเป็นเรื่องระบบสาธารณสุขไทย เราต้องการให้ช่วยซัพพอร์ตนิดนึง คนที่เป็นหมอเรียนปี 6 แทบจะต้องแบกทุกอย่างของโรงพยาบาล อย่างเวลามีคนป่วยฉุกเฉินเข้ามาหมอต้องคุยกับญาติว่าจะทำแบบไหน จะปั๊มหัวใจไหม ให้ยาตามที่เรียนมาตามสเต็ปต่าง ๆ จนกระทั่งผู้ป่วยไม่ไหวเราก็ต้องแจ้งข่าวร้าย ต้องเจอญาติผู้ป่วยที่ร้องไห้เสียใจ เราก็ค่อนข้างสะเทือนใจไปด้วย

หมอแซน : มีความคล้ายคลึงกันค่ะ คือสมัยที่เรียนจบจะต้องมีการจับฉลากไปต่างจังหวัด สมัยนั้นคือต้องอยู่คนเดียวและต้องทำทุกอย่าง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ เวลามีคนป่วยฉุกเฉินที่อาการหนัก ญาติของเขาจะเสียใจมาก ก็จะถามเราว่าไม่มีทางช่วยแล้วเหรอ คือเราก็มีคำตอบในใจแหละ จะให้พูดว่าอย่างไรดี ช่วงเวลานั้นจะสะเทือนใจมาก

การได้ทำอาชีพแพทย์คิดว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

หมอก๊ก : ผมคิดว่าข้อเสียของผมให้ปรับเป็นข้อดีไปก็แล้วกัน คือผมคิดว่าหมอทุกคนรู้ดีว่า คนไข้ที่ยากที่สุดในชีวิตหมอคือใคร คำตอบคือพ่อกับแม่ เพราะเขาจะไม่ค่อยฟังเราเท่าไร แต่พ่อแม่เป็นเคสแรกของผมตั้งแต่ผมเรียนจบ Anti - Aging ทั้งคุณพ่อคุณแม่ เป็นโรค เบาหวาน ไขมัน ความดัน เราก็ดีไซน์ว่าตื่นเวลานี้นะ กินอาหารอะไรบ้าง ทำอย่างไรเพื่อจะปรับให้เข้าได้กับชีวิตเขา พ่อต้องทำอย่างไรบ้าง ไปโรงพยาบาลแบบไหน ไปโรงพยาบาลกี่โมง กินยา กินข้าวตอนไหน ปรับทั้งหมดที่เป็นไลฟ์สไตล์ ท้ายที่สุดก็หาย ผมภูมิใจมากที่สามารถรักษาพ่อแม่ตัวเองได้ เพราะปกติแนะนำอะไรเขาจะไม่ค่อยฟังเราเลย พอพูดไปก็อยากกินอันนี้ อยากทำอันนั้น

หมอแซน : ข้อดีคือการตื่นมาแล้วได้ช่วยเหลือคนทุกวัน ได้ช่วยเด็กทุกวัน อันนี้เป็นข้อดีแน่นอน ข้อเสียก็คือแน่นอนมันไม่ค่อยมีเวลาใช่ไหมคะ แต่การไม่มีเวลาแซนว่าแล้วแต่คนที่จะบาลานซ์ บางคนทำงาน 70% พักผ่อน 30% โอเคแล้ว แต่บางคนบอกว่าทำงาน 90% พักผ่อน 10% หรือบางคน 50-50% เลย เราก็ไม่ตัดสินใครนะ เราเอาตัวที่เราแบบโอเค ตื่นมาแล้วแฮปปี้กับการทำงานแบบนี้ พักผ่อนเท่านี้ มีเวลาดูแลคุณพ่อคุณแม่โอเคแล้วค่ะ

หมออุ๋ย : จริง ๆ มองว่า สามารถปรับข้อเสีย ให้มันเป็นข้อดีทั้งหมดเลย เพราะรู้สึกว่าการเรียนแพทย์เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดแล้วก็ยังแฮปปี้ หมายถึงการที่เราตื่นเช้ามาเรายังมีความสุขที่จะออกไปทำงานทุกวัน ได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ได้เจอประสบการณ์ทุกวัน และก็ได้ช่วยคนไข้ ยอมรับว่าตอนเรียนแรก ๆ ก็มีปัญหาคือใช้เวลาเยอะ เรียนหนัก ต้องออกไปใช้ทุน ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่คนเราพอเริ่มโตขึ้น มันก็จะเหมือน Work Life Balance มันเหมือนค่อย ๆ ปรับเวลาให้บาลานซ์ เวลาที่เราทำงานเราก็ทำงานจริงจัง จะถือคติว่า  Work Hard  แต่ Play Hard ก็ยังเหมือนกับว่าต่อให้ดึกแค่ไหน ก็ยังไปเอนจอยกับเพื่อน สังสรรค์ กินข้าว หรือแม้กระทั่งอย่างนี้ทุกปีก็จะมีเวลาไปเล่นสโนว์บอร์ดเป็นทริปทุกปีกับเพื่อน ๆ ก็บาลานซ์ชีวิตทั้ง 2 ส่วน และกลับบ้านไปให้เวลากับคุณพ่อคุณแม่แล้วหลานด้วยค่ะ

ปกติชีวิตของแพทย์ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงชีวิตพวกคุณมีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำมากน้อยแค่ไหน

หมอแซน : ถ้าในเรื่องของการทำงาน จะมีในเรื่องของการตรวจคนไข้ มีไปสอนนักศึกษา ทำงานวิจัย แซนว่าแบบนี้มันก็บาลานซ์ของมันอยู่แล้วแหละ สอนพยาบาล สอนเภสัช มันก็โอเคแล้ว อย่าลืมว่าต้องให้เวลากับตัวเองด้วย ดูแลตัวเอง หลายคนก็จะบอกว่าดูอ่อนวัย จริง ๆ แล้วเคล็ดลับก็คือการดูแลตัวเอง แซนกินอาหารดี ออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ มันอาจจะดูเยอะ แต่แซนออกสั้น ๆ ให้มันแบบบ่อยครั้ง เท่านี้แหละเราไม่ต้องทำอะไรมาก

เรามีความสุขออกจากภายใน และแซนก็เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เรียนภาษาจีนจนแซนพูดได้แล้ว แซนเรียนฝรั่งเศส แซนพูดได้ 4 ภาษา แซนมีกิจกรรมดำน้ำสกูบา ถ้าว่าง ๆ ก็จะไปเล่นเซิร์ฟ เลี้ยงหมา ซึ่งมีกิจกรรมอย่างอื่น เรามีมากกว่าที่จะกล่าว แล้วเราก็ Enjoy ไปกับมัน แซนกินอาหารได้หมด จะกินมังสวิรัติก็ได้ กินขนมก็ได้ มันขึ้นอยู่กับว่ากินให้เหมาะสมค่ะ

หมอก๊ก : ชีวิตวาไรตี้มากเลยครับผม เพราะถ้าเป็นช่วงที่ถ่ายละคร หรือถ่ายซีรี่ย์ ชีวิตก็เป็นอีกแบบนึงเลยคือตื่นเช้ามาก็ไปกองถ่าย กลับบ้าน ถ้าเลิกกองเร็วก็ไปยิม ถ้าเลิกกองดึกก็ไปยิมอยู่ดี เพราะยิมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง คือพยายามเอาตัวเองไปเข้ายิมบ่อย ๆ มีคาดิโอแล้วก็เวทเทรนนิ่ง จะช่วยเสริมกล้ามเนื้อให้ร่างกายมีมวลแข็งแรง

หมออุ๋ย : ก็คล้าย ๆ กัน ค่ะ ตื่นมาก็จะมี 2 ส่วน ที่ต้องทำคือเข้าโรงพยาบาลและอีกหน้าที่ก็คือเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ เพราะหลัก ๆ ก็คือจะไปตรวจคนไข้ที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาล และมีตรวจคนไข้นอกด้วย ส่วนใหญ่หมอด้านทางเดินอาหารก็จะมีการส่องกล้องคนไข้ แล้วก็ทำงานวิจัยมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดการพัฒนาด้วย

ถ้าวันนี้พวกคุณไม่ได้เป็นหมอคิดว่าตัวเองน่าจะทำอะไรอยู่

หมอก๊ก : ผมน่าจะเป็นอาจารย์สอนพวกเด็ก ๆ รวมถึงทำงานวิจัยต่าง ๆ เพราะผมเชื่อว่าความรู้ มันก็คือการให้ชีวิตคนด้วยเหมือนกัน

หมอแซน : สำหรับแซนนะคะ อยากเป็นนักโบราณคดีค่ะ ตอนนั้นหนังที่ออกเรื่อง Jurassic Park มันดังมากเลยค่ะ เลยอยากเป็นนักขุดตามหาซากดึกดำบรรพ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์อะไรอย่างนี้ค่ะ อยากอยู่ในห้องแล็บ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักขุดหาซากฟอสซิล แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้ว่าควรเป็นหมอดีกว่า

หมออุ๋ย : ถ้าตอนเด็ก ๆ ที่ชอบก็คืออยากเป็นนักบัญชีค่ะ ตอนนั้นชอบเลขชอบสายวิทย์ ก็อาจจะอยากเป็นนักบัญชี แต่จับพลัดจับผลูมาเรียนหมอ มาทางหมอก็ชัดเจนดีค่ะ

นิตยสาร MiX Magazine ฉบับนี้ ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูง จากผู้มีความรู้ระดับคุณหมอมาสัมภาษณ์ถึง 3 ท่าน