แรงงานไทยสู่สมรรถนะแรงงานโลกยุคดิจิทัล

แรงงานไทยสู่สมรรถนะแรงงานโลกยุคดิจิทัล

ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีสมรรถนะเหมาะสมในโลกยุคดิจิทัล จากการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่า ไทยขาดแคลนแรงงานที่มีตามที่ต้องการมากที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ยังพบว่า ไทยมีสัดส่วนการใช้แรงงานไร้ฝีมือในอุตสาหกรรมสูงสุดในอาเซียน รองลงมาเป็นมาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม

การที่ไทยมีสัดส่วนการใช้แรงงานไร้ฝีมือในอุตสาหกรรมสูงสุดในอาเซียน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงงานฝีมือ ไทยกลับมีสัดส่วนการใช้แรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าไทยที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีสมรรถนะยุคดิจิทัล ด้วยเหตุนี้หากประเทศต้องการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ไทยต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผมขอเสนอแนวทางในการยกระดับแรงงานไทยให้มีสมรรถนะทัดเทียมแรงงานโลกยุคดิจิทัล ดังนี้

1. ปฏิรูปวิสัยทัศน์การศึกษาบนฐาน Harvard Model และ Finland Model

ประเทศไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์โมเดลคู่ขนาน เพื่อดึงประเทศไทยขึ้นในระดับมหภาค โดยการพัฒนาให้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกแบบฮาร์วาร์ดเกิดขึ้นในประเทศไทย “เก่งรายสถานศึกษา” หรือ “ฮาร์วาร์ดโมเดล” เพื่อดึงคนเก่งสุดมาอยู่ในประเทศเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ และการพัฒนาการศึกษาโดยเฉลี่ยมีคุณภาพให้เป็นแบบฟินแลนด์โดยเร็ว ผมมีความฝันอยากให้การศึกษาของประเทศโดยเฉลี่ยมีคุณภาพดี  “เก่งโดยเฉลี่ย” ที่เรียกว่า “ฟินแลนด์โมเดล” ทำให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งมีคุณภาพดีโดยเฉลี่ย เด็กนักเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน แต่มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเป็นระดับโลก (world class) อาทิ สร้าง “มหาวิทยาลัยการสร้างชาติ (Nation-Building University)” โดยตั้งเป้าให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือเป็นฮาร์วาร์ดแห่งเอเชีย (Harvard of Asia) เน้นศาสตร์และศิลป์การสร้างชาติอย่างบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและโลกในระยะยาว

 

2. สร้างแรงงานบนฐานการสร้างความร่วมมือตรีกิจ

การร่วมมือตรีกิจ ประกอบด้วย รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ ร่วมกันมุ่งวิจัยพัฒนาสมรรถนะอาชีพตอบโจทย์ความต้องการประเทศ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อวางแผนผลิตและเกลี่ยกำลังคนอย่างเหมาะสม ร่วมสอนงานเพื่อสร้างคนหมุนเวียนในสามภาคกิจ เช่น อาชีวะในประเทศเยอรมันซึ่งครอบคลุมถึง 300 อาชีพ โดยมีรัฐจัดระบบการศึกษาเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด ทุกระบบการศึกษาเรียนแบบทวิภาคี เรียนทฤษฎีควบคู่ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง โดยเน้นเรื่องการประสานงานทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และหอการค้า  รวมถึงธุรกิจและประชากิจที่มีสถานประกอบการกว่า 400,000 แห่งที่เป็นภาคีกับสถานศึกษา ดังนั้นเวลาเรียนส่วนใหญ่จึงอยู่ในสถานประกอบการ เวลาที่เหลือเรียนทฤษฎีในโรงเรียน และสถานประกอบการให้ค่าตอบแทนนักศึกษา (800 ยูโร/เดือน) แม้ไม่มากแต่เด็กมีกำลังใจเรียน  ได้ความรู้ ได้ทักษะ ได้เงิน สร้างแรงงานมีคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน  

3. วางเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยตามฐานจุดแกร่งประเทศ

บทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างสมรรถนะแรงงาน คือ การแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน หรือ มักใช้คำว่าหลักสูตรการศึกษาเชิงพื้นที่การจัดการศึกษาจึงควรมีจุดเน้นทางการจัดการศึกษาชัดเจน ตามที่มหาวิทยาลัยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ โดยจัดแบ่งประเภทระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและการสนับสนุนด้วยกันทุกฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัยและประเทศชาติสังคมส่วนรวม อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกคณะบูรณาการเชื่อมโยงกับความรู้ทางศิลปะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บูรณาการทางสาขาในทางเกษตร ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ทั้งศิลป์และศาสตร์ เป็นต้น

4. วางยุทธศาสตร์การเป็นฮับทางอาชีวศึกษา

โอกาสของการสร้างฮับอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรการอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในด้านที่เป็นจุดแกร่งของไทยให้เป็นหลักสูตรนานาชาติและมีมาตรฐานสากล เพื่อเป็นแหล่งดึงดูดหรือเป้าหมายที่ผู้คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมเป็นอันดับแรก ๆ ของโลก เช่น ด้านการเจียระไนอัญมณี การพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย การปรุงอาหารไทย การนวดแผนไทย การทอผ้าและตัดเย็บจากผ้าไหม การบริการท่องเที่ยวเขตร้อน การพลศึกษาที่เน้นทักษะกีฬาของไทย (มวยไทย ตะกร้อ) ฯลฯ สร้างเป็นหลักสูตรระยะสั้นจำนวนมากและมีความหลากหลาย ทุกหลักสูตรต้องผ่านการรับรองมาตรฐานที่จะเปิดเป็นหลักสูตรนานาชาติได้โดยมีการวิจัยและพัฒนามารองรับ ออกนโยบาย และทำการตลาดสนับสนุนและจูงใจให้ชาวต่างประเทศจากทั่วโลกที่สนใจเข้าเรียนในสาขาเหล่านี้ ให้แต่ละสถาบันการอาชีวศึกษาไทยจัดหลักสูตรการอาชีวศึกษานานาชาติ เช่น การแลกเปลี่ยนนักเรียน, แรงงาน เป็นต้น

5. วางตัวชี้วัดกำกับการพัฒนาสมรรถนะแรงงานไทยตามมาตรฐานแรงงานโลก

ผมคิดว่า ดัชนีชี้วัดมหาวิทยาลัยของเราในภาพรวมควรมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นสากล และการเป็นนานาชาติมิใช่เป้าหมายต่ำที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรก็สามารถไปถึง และก็มิใช่เป้าหมายที่สูงเกินจนท้อใจเพราะทำยังไงก็ไม่มีทางไปถึง ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วย และเอียงข้างสนับสนุนให้มีการทำดัชนีชี้วัด แต่แม้ว่าการมีดัชนีชี้วัดจะมีความสำคัญ แต่ดัชนีชี้วัดที่สามารถวัดได้จริง มีความสำคัญยิ่งกว่า หากสังเคราะห์ตัวชี้วัดเหล่านี้ออกมาก็พบว่ามีตัวหลักสำคัญอยู่จำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย การสอน (Teaching) การวิจัย (Research) ข้อมูลอ้างอิง (Citations) คุณภาพของคณะ (Quality of Faculty) และสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ (International Environment) ที่เหลือก็แล้วแต่สำนักว่าจะให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดใด หากเราต้องการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นสากลและความเป็นนานาชาติควรต้องพิจารณาตัวชี้วัดดังกล่าวเหล่านี้อย่างจริงจัง แล้วแสวงหายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัย

6.ปฏิรูปหลักสูตร

ผมเสนอให้มีการปฏิรูปหลักสูตรโดยการลดเวลาเรียนจากอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย 19 ปี เหลือ 16 ปี เพิ่มเวลาฝึกงาน 2 ปี โดยให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กระชับ ยืดหยุ่นจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน (project-based) สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน เช่น ทุกคณะเรียนและฝึกงานในโลกจริง 2 ปี ก่อนได้รับปริญญาตามที่ผมเคยนำเสนอผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือมี “หลักสูตรแบบโมดูล  ตัดเสื้อพอดีตัว” เพื่อรองรับงานในอนาคต เช่น การเรียนข้ามคณะหรือสาขา รวมทั้งออกแบบหลักสูตรที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้เหมาะสมกับศักยภาพ ความชอบ ความถนัด และพัฒนาหลักสูตรรองรับกลุ่มแรงงานที่เป็นเป้าหมายใหม่ในอนาคต เพื่อสอดรับกับลักษณะงานในอนาคตตามที่ผมเคยนำเสนองาน 2 แบบคือ เราสั่งหุ่นยนต์ทำงาน กับ หุ่นยนต์สั่งเราทำงานมีนัยยะว่า แรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ มนุษย์ต้องเปลี่ยนผ่านสมรรถนะไปทำในสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้  เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

8. Universal Basic Competency เพิ่มเติมสมรรถนะแรงงานตลอดชีวิต

การศึกษาเปรียบเทียบปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ในต่างประเทศ ชี้ว่าการจะกำหนดแนวทางการพัฒนาคนเพื่อลดช่องว่างทักษะ ต้องแบ่งแรงงานเป็น 2 กลุ่ม และใช้วิธีต่างกันคือ  แรงงานที่จบใหม่ต้องมีการพัฒนาด้วยระบบการศึกษา ส่วนแรงงานที่ทำงานอยู่แล้วต้องพัฒนาด้วยระบบที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตรูปแบบต่าง ๆ เพราะแรงงานทั่วไปก็ต้องเผชิญกับลักษณะงานเปลี่ยนแปลงไป และมักจะไม่มีโอกาสได้ยกระดับทักษะของตนเอง ผมจึงเสนอความคิดมานานแล้วให้มี “สมรรถนะขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน” (Universal basic competency) โดยการพัฒนาสมรรถนะขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน ผมมองว่า “คนที่มีสมรรถนะมากที่สุดจะไม่ต้องสมัครงานเลยตลอดชีวิต” อาทิ ให้มีการบันทึกลงในทะเบียนราษฎรของประชาชนทุกคน แต่ละคนสามารถเพิ่มเติมสมรรถนะได้ตลอดทาง เป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานศึกษาและสถานที่ทำงานในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพและสมรรถนะตรงความต้องการ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการฝึกสอนงานพนักงานใหม่ ยุทธศาสตร์สำคัญของสมรรถนะขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน (Universal Basic Competency)  คือ การสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ ที่ลูกศิษย์ของผมเรียกว่า Dan Academy เพื่อสร้างความรู้ ทักษะ คุณลักษณะชีวิต มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน วัดผลได้ สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจเช่น ภาษา ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ เป็นต้น

สถานการณ์แรงงานในอนาคตเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน  ที่จะต้องเร่งรีบเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น หากแรงงานไทยจะมีสมรรถนะก้าวสู่แรงงานระดับโลกต้องเริ่มต้นเตรียมการทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อให้การพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติให้รุดก้าวไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งใครไว้ให้ยากลำบากอยู่เบื้องหลังเพราะไม่สามารถก้าวไปพร้อมเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปได้

แรงงานไทยสู่สมรรถนะแรงงานโลกยุคดิจิทัล