โดดเดี่ยว...แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๘ (๑) สุดฤทธิ์สุดเดช

โดดเดี่ยว...แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๘ (๑) สุดฤทธิ์สุดเดช

ตลอดทั้งคืนฉันนอนไม่หลับ เพราะตื่นเต้นที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก

การเดินทางครั้งนี้ มันแตกต่างไปจากทุกครั้งที่เคยเดินทางไปทำข่าวมาไม่ใช่เดินทางเข้าป่าตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ แต่เป็นการเดินทางไปทำข่าวสงครามต่างประเทศที่ยังไม่เคยมีนักข่าวไทยคนไหนเคยเดินทางไปก่อนฉันผุดลุกขึ้นกลางดึกหลายครั้ง ความรู้สึกตื่นเต้นและหวาดกลัวว่า ฉันจะไปเผชิญอันตรายของสงครามอย่างไร ฉันจะเสียชีวิตในสมรภูมิหรือเปล่า เพราะว่าฉันเคยเห็นภาพสยดสยองจากสงครามที่นั่น ภาพคนตายเกลื่อนถนนเต็มท้องทุ่ง แต่ศพอุจาดแขนขากระทั้งคอก็ขาดจากแรงระเบิด เนื้อตัวเต็มไปด้วยรอยกระสุนปืนพรุนไปทั่วร่าง

คนตายเหล่านั้น มีทั้งที่เป็นทหารทั้งที่เป็นพลเรือน เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชายตายได้เหมือนกัน

ภาพน่ากลัวที่ฉันเห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือจากข่าวโทรทัศน์ ทำให้ฉันนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายจนต้องตื่นขึ้นตั้งแต่ตีสี่…ตีห้า

“คุณครับ ผมมาลาจะไปทำข่าวสงคราม”  ฉันเคาะประตูเรียกแม่ ซึ่งแม่ยอมให้ฉันเรียกว่า “คุณ” แทน

“เฮ้ย...กูจะหลับจะนอน มึงมาเคาะประตูทำไม” เสียงแม่ตะโกนออกมาจากในห้องที่นอนกับพ่อเลี้ยง สำเนียงเสียงฉุนเฉียว

“เครื่องบินจะออกตอนเช้า ผมมาขอพรก่อนเดินทางครับ”

“ขอพร...ไอ้เวรกูจะหลับจะนอน มึงจะมาขอพรอะไรกันว่ะ”

“ผมมาขอพรให้ผมรอดปลอดภัยในการเดินทางไปทำข่าวครับ”

“ไอ้เวร!!กูบอกแล้วว่ากูจะนอน ไม่มีพรอะไรให้มึงทั้งนั้น แล้วมึงจะไปตายโหงตายห่าที่ไหนก็ไป กูจะนอน”

เครื่องบินขนส่ง C-130 ของกองทัพอากาศจอดรอผม และผู้ร่วมเดินทางที่สนามบินทหาร บชน.๙ ดอนเมือง นายทหารท่านหนึ่งเดินมาหาและยื่นเอกสารให้ฉัน อธิบายว่า

“คุณต้องเซ็นชื่อยอมรับว่า การบินไปครั้งนี้เป็นความสมัครใจของคุณ ทางการจะไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้นหากถ้ามีสิ่งใดที่เป็นอันตรายกับคุณ” ฟังทหารพูดฉันรู้สึกเสียวสันหลังวูบ

ต่อมานายทหารก็อธิบายว่า เป็นระเบียบของทางการทุกครั้งที่จะมีพลเรือนขึ้นเครื่อง เพราะเครื่องบินขนส่งดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างทางการไทยกับทางการเวียดนามที่จะรับส่งเฉพาะทหารเท่านั้นเครื่องบินขนส่ง C-130 บินออกจาก บชน.ดอนเมืองตั้งแต่โมงเช้า หมายกำหนดการเครื่องจะบินถึง “สนามบินตันเซินนู้ด” ไซง่อนประมาณ 11 นาฬิกาหรืออย่างช้าก็เที่ยงวัน นักบินบอกเช่นนั้น โดยสภาพของเครื่องบินแล้วดูไม่น่าจะปลอดภัย เพราะมันเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่ใช้ขนของหรือใช้ฝึกทหารฝึกโดดร่ม ทางท้ายเครื่องสามารถเปิดออกมาได้ และตรงนั้นล่ะที่ทหารชี้ให้ฉันไปนั่ง พร้อมพูดทีเล่นทีจริงกับฉันว่า

“อย่าไปกดปุ่มอะไรเล่นล่ะ ประเดี๋ยวประตูข้างหลังมันเปิด คุณจะถูกลมดูดหลุดออกไปจากเครื่อง”

ฉันฟังเขาบอกแล้วก็เลยต้องนั่งตัวเกร็งอยู่กับสายรัดตัวไปจนถึงไซง่อนเพราะว่าเครื่องบินขนาดเล็กเพดานบินไม่สูงนัก ฉันเห็นประเทศไทยบนความสูงเป็นครั้งแรก บ้านเมืองของฉันช่างสวยงาม ท้องนาสีเขียว แม่น้ำคดเคี้ยวเหมือนงูเลื้อย เครื่องบินผ่านภูเขาลูกไม่ใหญ่นักป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ เห็นหมู่บ้านขึ้นเป็นหย่อม

ความงามของเมืองไทยทำให้ฉันรู้สึกรักประเทศชาติยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ชั่วขณะภาพสวยก็เปลี่ยนไป ภาพท้องนาเขียว ต้นข้าวเหลือง หลังคาวัดวาอาราม ที่ต้องกับแสงพระอาทิตย์ออกระยิบระยับ หลังคาบ้านของชาวไร่ชาวนาที่มุงสังกะสี กลายเป็นหลุมดินขนาดเล็กใหญ่เกลื่อนไปทั่วพื้นดิน

“มันเป็นหลุมที่เกิดจากเครื่องบินที่ทิ้งระเบิดใส่” นายทหารบอกและชี้ชวนให้ฉันดู

“เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ท้องไร่ท้องนาทำไม ที่นั่นเป็นบ้านเรือนของประชาชนไม่ใช่หรือ” เมื่อฉันถามทหารก็บอกกับฉันว่า

“สงครามไม่เว้นหรอกว่าจะเป็นบ้านของคนจน หรือเป็นตึกของเศรษฐีทุกคนมีอันตรายเท่ากัน ตายเหมือนกัน” ทหารว่า

“แล้วคนเฒ่าคนแก่ล่ะ”

ทหารตอบฉันด้วยเสียงดุดันว่า

“คนแก่คนหนุ่มคนสาวเด็กเล็กผู้ใหญ่ผู้หญิงผู้ชายตายเท่ากันล่ะน้องชาย”

ยังไม่ถึงห้าโมงเช้าตามกำหนดเวลาการเดินทางเครื่องบินก็แลนด์นิ่งลงบน “สนามบินตันเซินนู้ด” สนามบินที่แตกต่างไปจาก “สนามบินดอนเมือง” เพราะมีเครื่องบินรบของทหารจอดกันมากมายฉันสอบถามกับนายทหารว่า ทำไมเครื่องจึงมาก่อนกำหนด

“ความจริงถ้าเราบินแบบปรกติธรรมดาที่เคยบินก็ต้องห้าโมงหรือเที่ยงนั้นล่ะ”

“แล้วทำไมบินคราวนี้ถึงได้เรียกว่าปรกติล่ะ”

“ก็ปรกติเวลาบินจากดอนเมือง ก็จะต้องบินออกอ่าวไทย แล้วบินอ้อมเข้าแหลมญวน แต่คราวนี้เราบินพิเศษกว่าปรกติ” ทหารว่า

“เราก็เลยบินตัดตรงเข้าเขมร มันเร็วดีเพียงแต่ว่าเสี่ยงอันตรายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

“อันตรายอะไร”

“อ๊าว !! อันตรายจากจรวดแซมที่เขมรมันมีนะซิ ถ้ามันยิงขึ้นมาก็สอยเครื่องบินของเราร่วงหล่นเท่านั้นเอง” ทหารพูดอย่างไม่ตื่นเต้นอะไรแต่ฉันเสียอีก ฟังแล้วใจหายวูบ เพราะว่าในช่วงเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชายังค่อนข้างจะมีปัญหาขัดแย้งกันจากกรณีเขาพระวิหาร

คืนนั้น...เราได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเวียดนามที่จัดเลี้ยงบนเรือสำราญที่จอดอยู่กลางแม่น้ำไซง่อน

แม้ว่าจะอยู่ในยามศึกยามสงครามแต่ยามราตรี คนเมืองนี้ยังออกมาหาสุขสำราญด้วยการกินอาหารฟังเพลงสรวลเสเฮฮาราวกับว่าอยู่ในบ้านเมืองที่ปรกติสุข

หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ชีวิตของพวกเขาไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ วันนี้มีชีวิตอยู่ก็ขอหาความสุขให้เต็มที่ ด้วยการกินอาหารดี กินเหล้าฝรั่งต่างประเทศราคาแพง

และแน่ล่ะก็ต้องมีผู้หญิงผู้ชายคลอเคล้าฟังเพลงที่สนุกสนานแบบอเมริกัน

เราสนุกสนานกันทั่วหน้า จนกระทั่งเกือบจะเที่ยงคืน “เอสคอร์ต” เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลก็บอกว่า ต้องกลับโรงแรมที่อยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำเท่าไหร่นัก ในระหว่างที่เราเดินลงเรือเล็กที่มาจอดครับ ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นจนกระทั่งตัวเรือใหญ่วูบวาบ มีเปลวไฟลุกโชนที่ท้ายเรือ

แก๊สบ้าอะไรกันว่ะ ไอ้พวกเวียดกงมันวางระเบิดเรือโว้ย”

เจ้าหน้าที่ตะโกนลั่น

“เอาเรือเร็วเข้า มันไม่ปลอดภัยแล้ว” เสียงตะโกนเป็นภาษาญวนภาษาอังกฤษฟังสับสนอลหม่าน

ในที่สุดเรือเล็กก็นำเรามาจากเรือใหญ่ก็เทียบท่าอย่างปลอดภัยแต่ฉันได้เห็นเจ้าหน้าที่ลำเลียงผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากออกจากเรือ มันเป็นงานเลี้ยงต้อนรับที่ประทับตราสะเทือนใจฉันทุกครั้งที่นึกถึงการเดินทางมาเวียดนาม เป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ที่ล้วน ๆ แล้วแต่แตกต่างไปจากการทำข่าวต่างจังหวัดที่ฉันเคยทำ

เป็นครั้งแรกที่ฉันได้พักอยู่โรงแรมหรูหราแบบฝรั่งเศสชื่อ “มาเจสติค” บน “ถนนตูยอ” ที่เป็นถนนเวนนูว์ที่มีต้นไม้ใหญ่สองฟากถนนร่มรื่น ตรงหน้าโรงแรมมีอนุสาวรีย์ของ “พี่น้องตระกูลตรัง” ที่เคยรบชนะจีน ไม่ห่างกันนักก็มีอนุสาวรีย์ของทหารปัจจุบันที่เสียชีวิต ตั้งอยู่หน้ารัฐสภาที่สร้างแบบเรอนาซองค์ ใกล้จากสถานที่ราชการนี้ ก็เป็นโบสถ์คาธอริคใหญ่ในกลางเมือง ถัดไปก็เป็นถนนกว้างขนาดใหญ่โต ที่นำเราไปสู่ทำเนียบสันติภาพของท่าน “ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว”

ถัดออกไปจะเป็นอาเขตขายสินค้าต่างประเทศที่หรูหรา อย่างที่ในสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มี ติดกันก็เป็นตลาดดอกไม้บรรยากาศถอดเอามาจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส รวมทั้งตลาดกลางที่มีอาหารหวานคาวทั้งอาหารสดอาหารแห้งขายอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หากเลยไปอีกสักหน่อยก็จึงสวนสัตว์ที่มีพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุโบราณมีทั้งของเวียดนามเขมรและจำปา แต่ที่งามสง่าก็ตรงที่หน้าพิพิธภัณฑ์จะมีอนุสาวรีย์ข้างไทยตั้งตระหง่านเป็นของขวัญที่สำนักพระราชวังไทยส่งไปให้เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเมื่อร้อยปีก่อน ทุกเช้าเย็นบรรดาคนเวียดนามจะมาชุมนุมเดินเล่น ออกกำลังกายด้วยบรรยากาศที่ดูราวกับว่าไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม

ไซง่อนงดงามนักทุกอย่างทำให้เด็กหนุ่มอายุเพียง ๑๗ ปี ที่เพิ่งเคยเดินทางมาต่างประเทศเป็นครั้งแรกตื่นตาตื่นใจและจดจำได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ก็ตาม

ฉันได้รับเชิญให้เข้าพบและร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ “ประธานาธิบดี เหงียน วัน เทียว” ที่ทำเนียบที่มีชื่อว่า “สันติภาพ” ท่านพูดภาษาอังกฤษได้เพียงเล็กน้อย การสนทนาของเราจึงต้องผ่านล่าม

เรื่องใหญ่ที่เราพูดคุยกันก็คือเรื่องสงครามในเวียดนาม ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศไทยด้วย เพราะเราเป็นประเทศที่ต่อต้านลัทธิคอมิวนิสต์เช่นกัน

และแน่ล่ะท่านก็ขอขอบคุณประชาชนและรัฐบาลไทยที่ส่งทหารมาช่วยรบ ร่วมกับประเทศพันธมิตรที่รบอยู่แล้ว ได้แก่ อเมริกา ออสเตรเลียและ เกาหลีใต้

มันเป็นเรื่องแปลกแต่ก็เป็นความจริง เพราะการเดินทางไปเวียดนามครั้งนี้ ฉันได้พบกับคนเวียดนามที่เคยอยู่บ้านญวน สามเสน

“อันจาย” เป็นคำญวนที่หมายถึงพี่ชาย เป็นลูกหลานญวนที่ฉันรู้จักในตอนที่ตกระกำลำบากอยู่บางกระบือ เขาอพยพหนีสงครามโลกครั้งที่สองมากับพ่อแม่และสมัครใจเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ในช่วงที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งคนญวนกลับไปมาตุภูมิ

“สันติ ใช่ไหม” อันจายทักทายฉันในตอนที่เดินกลับโรงแรมที่พักหลังจากความหลังครั้งก่อนเก่าของเราก็พรั่งพรู…..

 

“สันติ   เศวตวิมล”

ผลงานประพันธ์ของอาจารย์ สันติ เศวตวิมล ในคอลัมน์ Life Poet สุดฤทธิ์สุดเดช