อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

ชัชวาล รอดคลองตัน คือศิลปินวาดภาพที่มีฝีมืออยู่ในลำดับดับต้น ๆ คนหนึ่งของประเทศไทย การันตีได้จากการแสดงงานและผลงานที่ส่งเข้าประกวดในรายการต่าง ๆ มักจบด้วยอันดับสูงมาโดยตลอด ผลงานของเขาพัฒนาขึ้นมาตามแต่ละช่วงชีวิตอย่างสม่ำเสมอ สร้างสรรค์ผลงานด้วยคุณภาพที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของจิตรกรรมและประติมากรรม จนเป็นที่ยอมรับวงการว่าเขาคือคนทำงานศิลปะฝีมือดีคนหนึ่งของประเทศไทย

เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางย่านฝั่งธน ในวัยเด็กเป็นคนที่ชื่นชอบศิลปะโดยเฉพาะการวาดภาพเป็นพิเศษ เมื่ออยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ก็เริ่มมีความมั่นใจจากความรู้สึกลึก ๆ ว่าหากเติบโตขึ้นไปต้องเดินทางสายศิลปินเท่านั้น เนื่องจากเป็นคนที่วาดรูปเก่งจนเป็นที่พึ่งพาของเพื่อน ๆ ในวิชาเรียนศิลปะเสมอ 

จนกระทั่งคุณชัชวาลเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เนื่องจากไม่ชอบการเรียนวิชาพื้นฐานในสายสามัญ จึงเลือกเรียนในสายวิชาชีพ ตรงจุดนี้เองทำให้เขาได้เรียนรู้การภาพวาดด้วยทฤษฎีอย่างถูกต้อง เมื่อเทียบกับสมัยเด็กเรียนรู้การวาดภาพด้วยตัวเองมาโดยตลอด

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

“เป้าหมายในชีวิตของผมจริง ๆ คือต้องการแค่วาดรูป จึงไม่ได้จำกัดว่าต้องไปเรียนในสถาบันไหน พอเข้าไปเรียน ปวช. เทอมแรกก็สามารถวาดรูปได้เลย จนเพื่อนหลายคนบอกว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ ตอนแรกผมก็ดีใจแต่สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเหลิงคือทำให้มั่นใจในตัวเองว่าเราเก่ง พอคิดแบบนี้ฝีมือจึงเท่าเดิม คือสมัยนั้นผมเขียนรูปแบบไหนออกไปก็ได้รับคัดเลือกให้ติดบอร์ดของสถาบันมาตลอด 

“แต่แล้วไม่นานก็มีเพื่อนคนหนึ่ง เขาพัฒนาฝีมือจนได้รับเลือกผลงานให้ขึ้นบอร์ดพร้อมผมทุกอาทิตย์ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่กับที่ คือทำงานเหมือนเดิมแต่เรารู้สึกว่าไม่ไปไหน ผมจึงวิเคราะห์ตัวเอง สิ่งที่เราพัฒนาได้จริง ๆ คือความขยันมั่นเพียรแต่สิ่งที่เราลืมไป คือลืมที่จะแอคทีฟค้นหาสิ่งใหม่ ๆ พอคิดได้แบบนี้ทำให้ตัวเองรู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวเราจะเก่งไปตลอดหรือได้ที่ 1 ตลอดคนที่ขยันเท่านั้นที่จะต่อยอดความคิดหรือพัฒนาต่อไปได้”

หลังจากเรียนจบระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) คุณชัชวาลสอบเข้าได้ที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งที่นี่เองเป็นโลกของการศึกษาด้านศิลปะแห่งแท้จริง เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม 

“ตอนแรกผมคิดว่าขอแค่วาดภาพเหมือนได้ก็พอ แล้วผมจะออกไปวาดรูปเหมือนตามห้างสรรพสินค้าเพื่อเลี้ยงชีพ แต่พอเข้าไปเรียนที่เพาะช่างจริง ๆ ผมเห็นความแตกต่างคือเพื่อนทุกคนในห้องสามารถเขียนรูปเหมือนได้หมด เพราะทุกคนมาจากสถานที่ที่เก่งถึงสอบเข้ามาได้ พอทุกคนเก่งหมดผมจึงต้องแอคทีฟตัวเองว่าจะทำยังไงให้พัฒนาได้เกรด A ให้อาจารย์สนใจก็ต้องขยันมากขึ้น 

“พอขึ้นปี 2 นอกจากการวาดรูปเหมือน สิ่งสำคัญคือการสร้างสรรค์ ตรงนี้ทำให้เปลี่ยนความคิดว่าศิลปะมันไม่ได้แค่ทำภาพเหมือน มันเป็นอะไรที่ไม่ใช่แค่อาชีพรับจ้างวาดภาพ แต่สามารถต่อยอดไปอีกมากสมัยนั้นเพาะช่างมีหลักสูตรแค่ ปวส. เมื่อเรียนจบผมต้องเรียนต่อปริญญาตรีอีก 2 ปี พอดีมีเปิดหลักสูตรใหม่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คลอง 6 ผมจึงไปเรียนต่อที่นั่นจนจบปริญญาตรี

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

“ตอนเรียนจบคิดว่าจะไปทำงานประจำในบริษัทเพื่อเลี้ยงชีพ ผมไปคุยกับบริษัทที่ไปสมัครงานว่าอยากเอางานมาทำที่บ้านจะได้ไหม เพราะว่าเราต้องการทำงานศิลปะส่วนตัวด้วย ซึ่งไม่มีบริษัทไหนยอมก็เลยไม่ได้ทำงานบริษัท แต่ระหว่างนั้นก็มีงานไปสอนศิลปะตามบ้านเพื่อเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่ง

“ผมปฏิญาณตัวว่าเรียนจบมาแล้วอยากพึ่งพาตัวเองไม่อยากรบกวนพ่อแม่ เพราะท่านส่งเราเรียนจบปริญญาตรีแล้ว จึงต้องทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองให้ได้ พอดีได้คุยกับเพื่อนที่สนิทว่าอยากแสดงงานร่วมกัน พวกเราจึงทำโปรเจ็กต์จนได้แสดงงานเป็นครั้งแรก ก็ถือว่าประความสำเร็จในฐานะศิลปินหน้าใหม่ สามารถจำหน่ายผลงานพอเลี้ยงชีพได้ในยุคนั้นผมทำอยู่ 2 อย่างคือสอนพิเศษ กับส่งงานเข้าประกวด เป็นยุคที่เริ่มสร้างชื่อได้รางวัลบ้างตกรอบบ้างสลับกันไป

“งานของผมมีอยู่ชิ้นหนึ่งใหญ่ประมาณ 2 เมตร ขายได้ 5 หมื่นบาทก็แบ่งเงินให้พ่อแม่ 2 หมื่น อีก 3 หมื่นผมเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัวในหนึ่งปีผมไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากก็พออยู่ได้ แต่งานศิลปะชิ้นหนึ่งกว่าจะเสร็จใช้เวลาหนึ่งถึงสองเดือน จึงต้องเก็บเงินเพื่อจัดนิทรรศการกับเพื่อน เพราะการที่เราจะอยู่ได้จริง ๆ ต้องออกไปโชว์ไปเผยแพร่ผลงาน การประกวดก็เป็นทางหนึ่งแต่ว่าอยู่ในกลุ่มที่แคบไปหน่อยเพราะอยู่ในมุมที่มีแต่นักศึกษากับผู้จัดที่เห็น ความจริงมันน้อยมากที่จะมีคนสะสมงานศิลปะ ยุคนั้นผมขายได้แต่ฝรั่งที่ชอบงานซื้อกลับไปบ้านเขาเท่านั้น

“งานศิลปะของผมในยุคแรกของผมเป็นเรื่องในแนวประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันมันก็ยังเห็นอยู่ในฟอร์มนั้นบ้าง คือผมหนีมันไม่พ้นนี่คือความจริง เพราะสมัยเรียนอาจารย์จะให้หาสิ่งที่เราชอบให้หาคาแรคเตอร์ของเราว่าคืออะไร เราชอบอะไรเป็นพิเศษ ในชีวิตผมมีไม่กี่อย่างเข้าวัดทำบุญกับพ่อแม่ ชอบดูศิลปะแล้วก็วาดรูป เชื่อไหมชีวิตผมมีอยู่แค่นี้จริง ๆ ผมไม่มีใจไปคิดเรื่องอื่นเลย

“ปัจจุบันงานผมเปลี่ยนไปมาก อาจเพราะประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะผมได้ออกท่องเที่ยว ไปเห็นวัฒนธรรมของภาคอื่น ก็เอามาสื่อในมุมมองศิลปะของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนามากแต่ยังอิงอยู่เพราะว่าประเพณีของชาวพุทธบ้าง ผมเล่าเรื่องของประทีปแสงไฟจากการเห็นการลอยโคม งานของผมเปลี่ยนจากพวกบรรยากาศและหุ่นนิ่งกลายเป็นเรื่องของแสง ผมนำงานชุดนั้นไปประกวดในระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า ASIA BIENNALE ผลปรากฏว่าผมชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ถือว่าเป็นโปรไฟล์ที่สำคัญมาก หลังจากนั้นผมไม่ได้ส่งประกวดที่ไหนอีกเลยเป็นงานสุดท้าย ซึ่งเพื่อนที่ได้อันดับสองซึ่งเป็นคนอินโด ก็ชวนผมไปแสดงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย งานของผมก็เปลี่ยนไปอีก ในยุคนั้นผมเริ่มทำเรื่องของแสงเงา ผมก็เอาปรัชญาที่สื่อในทางพุทธมาสื่อกับงานเรื่องสถาปัตย์กับเรื่องแสงเทียน 

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

“แสงและเงาเกิดขึ้นเพราะไปเวียนเทียนในโบสถ์ เราเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมอยู่ในพระอุโบสถ การได้ฟังธรรมะทำให้เกิดไอเดีย เพื่อระลึกถึงความเป็นไตรลักษณ์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เลยมีความคิดว่าทำอย่างไรให้คนได้เห็นบรรยากาศที่เราได้เห็น ทำอย่างไรที่จะไม่มีผู้คนมาบดบังสิ่งที่เรากำลังสื่อความหมาย บางรูปสะท้อนอยู่ที่บานประตู บางรูปอยู่ที่จิตกรรมฝาผนัง ที่ผมเล่าเรื่องจากตัวผมเองไม่ได้ก๊อปปี้ใคร มันมาจากอดีตและเป็นสิ่งที่กล้าทำเพราะเราไม่ได้เรียนศิลปะไทยโบราณมาจึงกล้าคิด ถ้าผมเรียนศิลปะไทยโบราณมาก็อาจไม่ได้คิดแบบนี้ ผมเรียนศิลปะสมัยใหม่มา ทำให้วาดในรูปแบบใหม่ สร้างขึ้นมาใหม่ คือภาพที่เป็นประตูหรือลวดลายมันมาจากจิตนการหมดเลยไม่มีอยู่จริง แต่ทำให้รู้สึกว่ามีอยู่จริง คือเราต้องไปดูของจริงแล้วประยุกต์สิ่งเหล่านี้เอามาทำใหม่

“ผมไปเห็นจิตกรรมฝาผนัง ตอนหนึ่งชื่อว่าผจญมาร และมีผู้หญิงอยู่ 3 คนเป็นพญามาร ได้ฟังก็เข้าใจว่าสิ่งที่ครอบงำเราอยู่คือ 3 สิ่งนี้เองคือโลภ โกรธ และหลง ก็เลยเอาจุดนี้มาสร้างงาน ทำให้ภายหลังงานของผมเปลี่ยนไปอีกผมชอบการเขียนคนขึ้นมา ซึ่งมันหายไป 5-6 ปี ก็เลยกลับมาเป็นงานที่ผสมผสานงานสองประเภทนี้โดยไม่รู้ตัว คือ ผมมีชื่อเสียงด้วยงานศิลปะประเพณี มาต่อยอดเรื่องของการเขียนคนแบบสมัยใหม่ในแบบเรา ก็เลยเกิดชุดธิดามารขึ้นมาอีกซึ่งงานชุดนี้คนก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน

“ส่วนงานล่าสุดชุดผู้หญิงของผมถูกต่อยอดมาจากชุดธิดามาร พอเริ่มมีภาพคนเข้ามาก็สนุกกับการเขียนภาพคนที่ผสมผสานกับการเขียนภาพ 2 มิติ กับ 3 มิติ 2 มิติในที่นี่คือความเป็นลวดลายโบราณยังคงไว้ความเป็นอัตลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นคนไทย ผมสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบที่เป็นสากลก็จริงแต่ยังคงเป็นความไทย ผมเอาสองสิ่งนี้มาบวกกัน พอประสบการณ์เรามากขึ้นมันก็ค่อนข้างลงตัว 

“ความยากของการทำงานคือเราต้องทำภาพสองมิติกับสามมิติให้กลมกลืนกัน อย่างในภาพนี้เราไม่ได้คิดเอาแค่ผู้หญิงมาเป็นแบบ แต่เราเอาเส้นผมมาเปลี่ยนเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต โดยมีปลาปูกุ้งหอยอยู่ในสายน้ำ เป็นสิ่งที่เราต้องหาข้อมูลเยอะมาก แม้กระทั่งเครื่องประดับ มันไม่มีอยู่จริงต้องดีไซด์ขึ้นมาใหม่เป็นพญานาค คือจะทำอย่างไรก็ได้ให้กลมกลืนกันมากที่สุด มันจึงเป็นเรื่องประสบการณ์ของเราจะทำยังไงให้มันอยู่ร่วมกันได้เป็นเอกภาพ

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

“งานของผมถ้าเป็นรูปแบบอาจเรียกได้ว่าเป็นแนวไทยร่วมสมัยถ้าเป็นสไตล์เป็นงานมันคือ Idealistic เป็นเรื่องของอุดมคติ แต่ว่าในความฝันของมันสะท้อนความจริง ความฝันกับความจริงมันคนละเรื่องกันนะ แต่มันแสดงให้เห็นว่าความจริงที่เป็นนามธรรมตรงนั้นเราได้นำเสนอความเป็นรูปธรรมขึ้นมา

“การทำงานศิลปะสิ่งสำคัญต้องมีแนวความคิดกับฝีมือ จริง ๆ ถ้าจะให้สำเร็จต้องมี 2 อย่างควบคู่กันไปแต่ว่ายุคนี้เป็นยุคสมัยใหม่ อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนไปหมดแล้วเรามีวัสดุเครื่องมือมากมาย บางคนใช้ไอเดียแนวความคิดอย่างเดียว ก็จับเอาวัสดุต่าง ๆ รวมกับเทคโนโลยีมาสื่อในงานศิลปะได้ แต่มันมีข้อดีข้อเสีย อย่างสมัยก่อนอาจจะได้งานช้าแต่ว่าสิ่งที่ได้ตามมาคืนคุณค่า สมัยนี้มีความรวดเร็วทั้งเรื่องของเทคโนโลยี อาร์ตเวิร์ค วิดีโอ ฯลฯ แต่ในทางกลับกันคนก็โหยหาในเรื่องของฝีมือ

“สำหรับคนยุคนี้กลายเป็นว่างานฝีมือมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งศิลปินทุกคนใช้ความคิดทั้งหมด ผมจึงบอกว่าสองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน พอสุดโต่งด้านหนึ่งจะสูญเสียอีกด้านหนึ่งไป เมื่อก่อนเราใช้ฝีมือมากไม่ได้ใช้ความคิดงานก็ไม่พัฒนา มายุคนี้เราใช้ความคิดกันหมดก็ไม่เหลือคนใช้ฝีมือเพราะตกเป็นทาสของวัตถุ คนที่จะทำงานศิลปะต่อเนื่องยาวนานได้ต้องมี 2 อย่างคู่กันไป คือไอเดียและฝีมือ ถ้าคนเรามีสองอย่างนี้จะทำให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

“ผมคิดว่าในเรืองของศิลปะมันไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง คือศิลปะนั้นทุกคนสามารถทำได้ ถ้าย้อนกลับไปในวัยเด็กผมไม่เคยบอกว่าตัวเองทำงานศิลปะก็แค่เด็กคนหนึ่งที่วาดรูปได้ เหมือนกับที่คนเราแต่งตัวมีรสนิยมของตัวเอง ศิลปะจริง ๆ มันคือรสนิยมของเรา ศิลปะที่มนุษย์นิยามคือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นให้เกิดความงาม เพราะฉะนั้นอะไรที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วเกิดความงาม การแต่งตัว แต่หน้า เขียนคิ้ว หรือแม้การจัดร้านขายของให้สวยก็คือศิลปะ แต่บางคนไม่รู้ไม่มีใครบอกเขาว่านี่คืองานศิลปะ 

“เพราะฉะนั้นศิลปะมันจะเข้าไปสู่ชีวิตคนได้ง่ายขึ้นถ้าเขารู้ตัวว่าทำงานศิลปะอยู่ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่คนที่วาดรูปเก่งคือคนทำงานศิลปะทุกคนจึงสามารถงานศิลปะได้ แต่ความต่างก็แค่เป็น Professional กับทำไปเรื่อย ๆ ซึ่งคนทำงานศิลปะเป็นอาชีพก็ควรได้รับการเชิดชูยกย่องเช่นกัน

“เราควรพยายามปลูกฝังเรื่องของศิลปะ เหมือนอย่างที่ศิลปินบางท่านพยายามเอาศิลปะไปสู่ชุมชน ผมก็อยากให้ทุกคนเข้าหาศิลปะมากขึ้นเพื่อไม่ให้ศิลปะไทยสาบสูญ เพราะศิลปะช่วยกล่อมเกลาจิตใจคน ให้มีสติ มีความสุข สุนทรีย์ศิลปะสามารถสร้างสมาธิให้คนได้ คือศิลปะมีประโยชน์เยอะมาก

“สิ่งที่ผมอยากทำในอนาคตคือการพัฒนางานศิลปะของตัวเอง แต่ว่ามันยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นอย่างไร ผมอยากจะรวบรวมงานทำเป็นพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ส่วนตัว และทำศูนย์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้งานศิลปะอีกที่หนึ่ง ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง” 

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

อาจารย์ ชัชวาล รอดคลองตัน 
ศึกษา ระดับ ปวส. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง (จิตรกรรม) 2535, ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศิลปกรรมบัณฑิต (จิตรกรรม) 2537

การแสดงงานที่สำคัญ 
•    นิทรรศการชุด “คติพุทธ – คติธรรม – คติสุข” ณ นัมเบอร์วัน แกลลอรี่ สีลม(2551)
•    นิทรรศการชุด “Path of Illumination” ที่ LWH Gallery เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน(2558)

ตัวอย่างรางวัลและเกียรติยศ
•    รางวัลยอดเยี่ยม (Grand Prix) THE BEPPU ASIA BIENNALE OF CONTEMPORARI ART 2007 ณ Oita Beppu Art Musium ประเทศ ญี่ปุ่น (2550)
•    รับเชิญเข้าร่วมแสดงงาน ที.วี-ไอ.เอ็ม วิชวน อาร์ท แห่ง ศิลปิน เซ๊าท์อีท เอเชีย ณ. ยอกยาแกเลอรี่ ประเทศอินโดนีเซีย (2551)
•    โครงการเวิร์คช็อป นานาชาติ นิทรรศการ พุทธศิลป์โลกครั้งที่ ๑ ณ.พุทธคยา ประเทศ อินเดีย (2554)

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

อุดมคติแห่งความจริง ชัชวาล รอดคลองตัน

ศิลปินวาดภาพที่ผลงานของเขาพัฒนาขึ้นมาตามแต่ ละช่วงชีวิตอย่างสม่ำเสมอ