ยุคทมิฬ The Treacherous

ยุคทมิฬ The Treacherous

ผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดูแบบวัดดวงเสี่ยงโชค โดยแทบไม่รู้อะไรเลย เนื่องจากข้อมูลต่าง ๆ มีไม่มากนัก ขณะที่ความเห็นของผู้ชมในเว็บไซต์ imdb ก็ออกมาขัดแย้งตรงข้าม มีทั้งฝั่งที่ดูแล้วสาปส่ง กับกลุ่มที่ชื่นชม ด้วยจำนวนไล่เลี่ยใกล้เคียงกัน 

ความน่าหวาดหวั่นอีกอย่างก่อนดูก็คือ โปสเตอร์หนังเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมีการออกแบบในสไตล์ที่ใกล้เคียงและชวนให้นึกไปถึงหนังอีโรติกจากฮ่องกงเรื่อง Sex and Zen: Extreme Ecstasy ซึ่งขึ้นชื่อลือลั่นในทางติดลบว่า เลอะเทอะ ย่ำแย่ เต็มไปด้วยความวิปริตป่วยเพี้ยนอย่างขาดไร้เหตุผล

เมื่อดู Treacherous จบลง ผมก็มีอาการโล่งอก ทุกอย่างออกมาในเกณฑ์ดีเกินคาด และเป็นงานที่น่าพึงพอใจ

หนังอีโรติกจากเกาหลี (ซึ่งขยันสร้างหนังประเภทนี้จังเลย) พอจะแบ่งหมวดหมู่ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ แบบอย่างแรกเป็นงานที่ใช้ฉากหลังเป็นปัจจุบันร่วมสมัย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง นิยมทำหนังพีเรียดย้อนยุคและมีเค้าโครงเรื่องอิงประวัติศาสตร์

The Treacherous จัดอยู่ในจำพวกหลัง หนังเล่าถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยเจ้าชายยอนซันแห่งอาณาจักรโชซอน (เรื่องราวช่วงหนึ่งของซีรีส์ยอดนิยมเรื่องแดจังกึมก็เกิดขึ้นในยุคนี้) 

ประวัติศาสตร์เล่าถึงช่วงนี้ว่าเป็นกลียุค เจ้าชายยอนซันได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ก่อเรื่องอื้อฉาวเลวร้ายมากสุดของราชวงศ์โชซอน 

ความวุ่นวายเริ่มต้นจาก พระมเหสียุนซึ่งเป็นมารดาของเจ้าชายยอนซันถูกเนรเทศและประหารในรัชกาลก่อนหน้า (ด้วยความที่พระนางมีความหึงหวงแรงกล้า) มีพระราชโองการให้ปกปิดเรื่องราวเหล่านี้เป็นความลับ

เจ้าชายยอนซันขึ้นครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ.1494-1506 ในปีท้าย ๆ ของรัชสมัย (ปี 1504) มีขุนนางนำความลับเกี่ยวกับการประหารมเหสียุนมากราบทูลเจ้าชายยอนซัน ด้วยความโกรธแค้น จึงนำไปสู่การกำจัดกวาดล้างเข่นฆ่าผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังถูกขุดโครงกระดูกขึ้นมาทำลาย

การกวาดล้างดังกล่าว เรียกขานกันว่า เหตุการณ์สังหารหมู่นักปราชญ์ปีมูโอ

หนังเริ่มต้นที่เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าว โดยมี 2 ขุนนางพ่อลูกอิมซาฮองกับอิมซงแจเป็นผู้นำความลับมากราบทูล

2 พ่อลูกเป็นขุนนางตกอับ โดนคำสั่งเนรเทศเป็นเวลาหลายปี และยึดกุมความลับดังกล่าว เป็นลู่ทางหวนคืนกลับสู่การมีอำนาจ หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักปราชญ์ ปีมูโอ ทั้งคู่ก็ได้รับการอวยยศตำแหน่ง และเริ่มกระทำตัวเป็นคนโปรดคอยชักใยเกลี้ยกล่อมให้เจ้าชายยอนซัน ละทิ้งกิจการบ้านเมืองหมกมุ่นมัวเมาในกามตัณหา จนนำไปสู่การเกณฑ์สาวงามจำนวนนับพันจากทั่วทุกแห่งหน เข้าทำการคัดเลือกเป็นนางสนม

อิมซงแจรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเกณฑ์หญิงสาวทั่วทั้งแผ่นดิน และใช้ภารกิจนี้ ทั้งด้วยเป้าหมายแก้แค้นศัตรูทางการเมือง สะสมความมั่งคั่งให้ตนเองจากการรับสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเกณฑ์ และหวังที่จะแผ่อิทธิพลกุมอำนาจในราชสำนัก จากการเฟ้นหาสาวงามที่เขาสามารถควบคุมได้และฝึกเตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อกรุยทางไปสู่ตำแหน่งนางสนมคนโปรด

ขณะเดียวกัน อีกขั้วอำนาจก็ตระเตรียมสาวงามด้วยจุดหมายเดียวกัน เส้นเรื่องหลักของหนัง เล่าถึงเกมชิงอำนาจทางการเมือง ผ่านการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งนางสนมคนโปรดระหว่างหญิงสาวทั้ง 2 คน ซึ่งเต็มไปด้วยแผนซ้อนแผน การหักเหลี่ยมเฉือนคม การอบรมสั่งสอนบรรดาสาวงามให้มีความรู้ทักษะในเรื่องเพศ ขั้นตอนการคัดเลือกที่ละเอียดถี่ถ้วน (เทียบเคียงง่าย ๆ ก็เหมือนสอบหลายวิชา ทั้งข้อเขียน ปฏิบัติ และสอบสัมภาษณ์) รวมทั้งการจับตามองอย่างใกล้ชิดของฝ่ายที่ไม่พึงพอใจเจ้าชายยอนซัน และตระเตรียมวางแผนยึดอำนาจ โดยเฝ้ารอโอกาสจังหวะเหมาะจากสถานการณ์ดังกล่าว

เรื่องราวอีกส่วนหนึ่งคือ ความรักระหว่างอิมซงแจกับหญิงสาวที่เขาสนับสนุนให้ก้าวสู่ตำแหน่งนางสนม ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปในอีกทิศทาง

บทสรุปลงเอยของหนัง เป็นไปตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เจ้าชายยอนซันถูกโค่นล้มยึดอำนาจ โดนถอดถอนศักดิ์ฐานะเป็นเพียงแค่เจ้าชาย (นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พระองค์ไม่ได้รับการเรียกขานในฐานะกษัตริย์) ถูกเนรเทศ และสิ้นพระชนม์ในเวลาถัดมาไม่นานนัก 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ชมชาวเกาหลีน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ชมชาติอื่น ๆ ก็สามารถคาดเดาจากแนวโน้มต่าง ๆ ที่หนังเกริ่นเล่าเอาไว้ตลอดทางได้ไม่ยาก แต่ทีเด็ดของหนังอยู่ที่การใส่จินตนาการแต่งเติมเรื่องราวโลดโผนและการล่อหลอกหักมุมหลาย ๆ ครั้งเข้าไป จนทำให้บทสรุปในหนัง มีสีสันเร้าใจชวนติดตาม

จุดเด่นเบื้องต้นของ The Treacherous ก็คือ เป็นหนังที่สนุกและบันเทิงมาก เข้มข้นชวนติดตามตลอด ตั้งแต่เริ่มเรื่องไปจนกระทั่งจบ 

ความสนุกของหนังเกิดนอกจากจะเป็นด้วยเค้าโครงเรื่องอันมีรสจัดจ้านแล้ว บทหนังและฝีมือของผู้กำกับก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ หนังมีจังหวะการดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไว มีการใช้เสียงบรรยาย (ในลักษณะเหมือนการเล่านิทาน) ทำหน้าที่สรุปอธิบายเรื่องอยู่เป็นระยะ ๆ ส่งผลให้เรื่องราวเหตุการณ์ไกลตัวผู้ชม ซ้ำยังเต็มไปด้วยรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยที่สลับซับซ้อน กลายเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ 

อย่างไรก็ตาม ความบันเทิงของหนังนั้นไปโดดเด่นเฉพาะอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ ขณะที่ความซาบซึ้งและแง่มุมโรแมนติกไม่สู้จะได้ผลเท่าที่ควร 

หนังเน้นและให้น้ำหนักกับการบอกเล่าเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ทั้งหมด จนเหลือพื้นที่และเวลาสำหรับการสะท้อนรายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในใจของตัวละครหลัก ๆ ไม่มากนัก เมื่อขาดการปูพื้นที่ดีเพียงพอฉากที่หวังผลดราม่า ความซาบซึ้งประทับใจ จึงออกมาดาด ๆ ธรรมดา โดนซีกด้านโลดโผนบดบังสนิท

พูดอีกแบบคือ เป็นหนังที่ดูสนุกมาก แต่ไม่ได้ลงลึก ข้อดีต่อมา โทนหรือน้ำเสียงท่วงทีของหนัง แม้จะอิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ก็ใส่เครื่องปรุงสารพัดสารพันให้มีรสจัด มีลักษณะเป็นเรื่องแต่งอย่างจะแจ้งชัดเจน มีการเน้นย้ำขยายความหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น บรรยากาศ พฤติกรรมของบางตัวละคร ให้แลดูเกินเลยมาตรฐานปกติ 

โทนเรื่องเช่นนี้ ส่งผลให้ The Treacherous ไม่ใช่งานที่หนักแน่นสมจริงน่าเชื่อถือ แต่ไปมีประสิทธิภาพในการสะท้อนภาพยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการกดขี่ทารุณ ความวุ่นวายสับสน ความโหดร้าย และสภาพจิตใจอันป่วยไข้วิปริตของเจ้าชายยอนซัน (ซึ่งหนังตีความให้เป็นคนวิกลจริต) และความทะเยอทะยานโลภโมโทสันกระหายอำนาจ

เนื้อหาสาระว่าด้วยการสะท้อนภาพยุคสมัยที่กดขี่ทารุณความเหลวแหลกฟุ้งเฟ้อของผู้ปกครองแผ่นดิน และความโกลาหลวุ่นวายทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นที่แปลกใหม่ ตัวหนังก็ไม่ได้เสนอภาพต่าง ๆ เหล่านี้ในแง่มุมพิเศษแตกต่างไปจากหนังอื่น ๆ แต่สิ่งที่ The Treacherous ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือ การแจกแจงออกมาเป็นภาพและเหตุการณ์อย่างเป็นรูปธรรม และบวกเติมจินตนาการด้านลบ จนกลายเป็นภาพฝันร้ายที่น่าสะพรึงกลัว

หนังมีงานสร้างทุกแขนงอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตั้งแต่การถ่ายภาพ การตัดต่อลำดับภาพ กำกับศิลป์ ดนตรีประกอบ ออกแบบเครื่องแต่งกาย และผสมผสานระหว่างความสวยงามน่าตื่นตากับความสยดสยองได้อย่างเหมาะเจาะกลมกลืน

The Treacherous เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ที่พูดถึงตัวละครที่หมกมุ่นฝักใฝ่ในกามารมณ์เกินขีดขั้นปกติ จึงอุดมไปด้วยเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องเซ็กซ์อยู่ตลอดเวลา มีบทพูดที่กล่าวถึงเรื่องเพศอย่างไม่บันยะบันยัง มีภาพเปลือยและเลิฟซีนอยู่เป็นระยะ ๆ 

แต่ความรู้สึกโดยรวมของผมตลอดเวลาที่ดู คือ ทั้งหมดนี้ไม่ก่อให้เกิดความเซ็กซี่เย้ายวนเลยสักนิด แต่ได้ผลดีมากในการสะท้อนถึงความวิปริตในจิตใจของตัวละคร และหนุนเสริมการสะท้อนแก่นเรื่อง

ภาพและรายละเอียดจำนวนมากเกี่ยวกับฉากเซ็กส์ใน The Treacherous ออกแบบให้มีความป่วยเพี้ยนวิปริตในลักษณะคล้าย ๆ กับ Sex and Zen: Extreme Ecstasy แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเป็นทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุผล 2 ประการ

เหตุผลแรกคือ The Treacherous นำเสนอถ่ายทอดเซ็กส์ที่บ้าคลั่งเกินปกติ ออกมาได้อย่างมีรสนิยมพอเหมาะ มีชั้นเชิงการกลบเกลื่อนอำพราง ด้วยภาพระยะไกลและใช้แสงเงาปกปิด หรืออธิบายผ่านบทสนทนา บทเพลงที่ตัวละครขับร้อง กระทั่งว่าหลีกเลี่ยงด้วยอารมณ์ขัน หรือการอุปมาอุปไมยเทียบเคียง

เหตุผลต่อมา แง่มุมเกี่ยวกับเซ็กส์พิสดาร ปรากฏในหนังอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุผลรองรับ และสอดคล้องกับเนื้อเรื่องเหตุการณ์ 

ใครที่หวังจะดูด้วยความคาดหวังว่าจะได้สัมผัสกับหนังโป๊เปลือย ร้อนแรง น่าจะผิดหวังนะครับ นี่เป็นหนังที่พูดถึงการเมืองอันโสมมผ่านเซ็กส์เสียมากกว่า

The Treacherous หนังเกาหลี ออกฉายเมื่อปี 2015 เขียนบทและกำกับโดย มินคยูดอง