ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ

ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ

สิ่งที่บ่งบอกถึงรากเหง้าของความเป็นไทยอย่างหนึ่งคือศิลปะการแสดง โดยเฉพาะเรื่องของดนตรีไทยที่มีมาอย่างยาวนาน แม้วันนี้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปตามโลกที่พัฒนา แต่ดนตรีไทยยังดำรงอยู่ได้ด้วยการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเหล่าครูเพลงผู้รักและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีไทย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เป็นคนดนตรีไทยตัวจริง ตลอดชีวิตท่านสร้างคุณูปการให้กับประเทศมากมาย จนวันนี้ท่านได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557  สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ที่คนรุ่นหลังควรเอาเป็นต้นแบบอย่างแท้จริง

ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ เกิดและเติบโตในย่านบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรีคุณแม่ทำงานในโรงงานสุราบางยี่ขัน โดยคุณพ่อรับราชกาลในกรมสรรพสารมิตร ด้วยความที่คุณพ่อชอบดนตรีไทยเมื่อลูกชายเรียนจบชั้น ป.4 จึงให้ดร.สิริชัยชาญ มาสมัครเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป ฝั่งพระนคร

“ก่อนเข้าโรงเรียนนาฏศิลป อยู่ที่บ้านผมเรียนตีขิมกับคุณพ่อมาก่อน พอได้เข้าเรียนผมก็บอกครูว่าตีขิมได้ แต่ปรากฏว่าที่นี่ไม่มีสอนขิมซึ่งความจริงการเรียนดนตรีไทยพื้นฐานชิ้นแรกเลยคือการตีฆ้องวง มันเหมือนเป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกคนต้องผ่าน เพราะเป็นทำนองหลักในวงปี่พาทย์ทำให้นักเรียนทุกคนต้องมาเรียนตรงนี้ก่อนเสมอ

“ตอนเด็กเพื่อนจะเรียกผมว่าเปี๊ยก เพราะตัวเล็กที่สุดในวงเวลาไปตีฆ้องก็ดูโป้งโล้งไม่สมส่วน แต่มันเป็นวิชาภาคบังคับทำให้ต้องตี ซึ่งความจริงแล้วผมเป็นคนฆ้อง สิ่งที่ถนัดคือการตีฆ้องวงใหญ่ ส่วนระนาดเป็นความถนัดที่รองลงมา แต่ภาพที่เห็นผมตีระนาดจนชินตาเป็นเพราะในสมัยหนึ่งไม่มีคนเล่นระนาดครูก็เลยให้ผมมาเล่นทำให้เป็นคนระนาดมาด้วย

“การเป็นนักเรียนในยุคนั้นไม่จำเป็นต้องเล่นเครื่องดนตรีได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าเราชอบชิ้นไหนก็ไปหยิบจับแล้วขอความรู้กับครูบาอาจาย์ แต่โดยหลักจริง ๆ ศิลปินจะเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ คือถ้าตีฆ้องก็ตีไปตลอด วิธีเรียนสมัยก็ก่อนไม่เหมือนปัจจุบัน สมัยนี้เรียนง่ายและสบายกว่า สมัยก่อนครูจะให้ความรู้ในส่วนที่เราจะรับได้ ซึ่งอาจมีการมองว่าครูหวงวิชาแต่ความจริงเขาไม่ได้หวง คือมันใช้ความจำล้วน ๆ บางครั้งคนที่ลืมง่ายทำให้ครูรู้สึกว่าอาจทำให้เด็กเสียเวลา ก็ให้วิชาเรียนน้อย ๆ ไปจำให้ได้โดยการทบทวนหลายเที่ยวแม้จะใช้เวลานาน ตรงนี้เองทำให้เราได้พื้นฐานที่แน่นมาก

“หลักสูตรสมัยที่ผมเรียนตอนนั้น คือครูทำอย่างไรให้ลูกศิษย์เล่นเป็น ตั้งเป้าไว้ว่าเทอมหนึ่งมีกี่เพลง และต้องมาเรียนฝึกพื้นฐานก่อน วิธีเรียนของเราคือต้องหาเวลาว่างที่นอกเหนือจากชั่วโมงเรียน เช่นตอนกลางวันก็กินข้าวให้เร็วเพื่อแบ่งเวลามาซ้อม ตอนเย็นเลิกเรียนก็ขอครูมาทบทวน วันหยุดก็ขอครูมาเรียนที่บ้านครึ่งวัน การเรียนแบบสมัยก่อนต้องหาความรู้คนเรียนจะต้องไขว่คว้าเอง”

กรมศิลปากรตั้งโรงเรียนนาฏศิลปขึ้นมาเพื่อผลิตให้เป็นศิลปินของศิลปากร ในยุคนั้นกรมศิลปากรได้เปิดสอนดนตรีสากลเป็นวิชาเรียนแล้ว ตรงนี้เองโน้ตสากลจึงถูกนำมาใช้ในการสอน นักเรียนดนตรีไทยจึงได้เรียนโน้ตสากลไปด้วย เพียงแต่อาจยังใหม่เกินไปสำหรับนักเรียนไทยในยุคนั้น

“พวกเราที่เรียนดนตรีไทยก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่หรอก แต่มันต้องเรียนให้คล่องตัวฉะนั้นโน้ตดนตรีไทยจึงไม่ค่อยแพร่หลาย เวลาเรียนหนังสือคนไทยไม่ชอบจดแต่จะใช้จำไปทำงานมากกว่านี่คือข้อเสียของเรา แต่สากลเขาทำอะไรจะใช้กระดาษจดเอาไว้ หากเป็นเพลงก็เอามาลงในกระดาษของเขาจึงเป็นรูปแบบที่ชัดเจน

“แม้ผมจะเรียนดนตรีไทยแต่ส่วนลึกแล้วผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะมาทางดนตรีไทยเลยเพราะตอนเด็กผมเองไม่ค่อยชอบเท่าไหร่แต่ว่าคุณพ่อชอบผมก็เลยต้องทำตาม พอมาเรียนนาฏศิลป์ ตั้งแต่ ม.1–ม.5 ผมเรียนช้ากว่าเพื่อนเนื่องจากไม่ค่อยชอบ พอผมจะจบ ม.6 ครูก็เรียกไปถามว่าจะเรียนต่อที่นี่หรือไปเรียนข้างนอก ผมก็กลับไปถามคุณแม่ท่านก็บอกว่าให้ไปเรียนข้างนอกเพราะว่าจะได้ไปทำงานสายอื่น เพราะเรียนดนตรีแบบนี้ก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร แต่คุณพ่อบอกเรียนดนตรีไทยดีแล้วเพราะตำบลนี้มีคนเรียนเพียงคนเดียว ยังไงเธอก็ต้องมีโอกาสในอนาคตแน่ ๆ คุณพ่อเหมือนเป็นหมอดูนะ คือให้ผมเรียนต่อไป 

“หลังจากตัดสินใจได้ว่าจะเรียนต่อก็ไปบอกครู ท่านก็แนะนำให้ผมลดการเรียนวิชาปกติลงแล้วไปฝึกดนตรีให้มากขึ้นเพื่อจะได้มีฝีมือที่ทัดเทียมคนอื่น โดยเฉพาะคุณครูประสิทธิ์ ถาวร ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นฉันจะสอนเธอ ผมก็เลยตั้งใจเรียนดนตรีไทยตั้งแต่ตอนนั้นเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน สมัยก่อนหุงข้าวแบบเช็ดน้ำข้าวพอตั้งหม้อช่วงที่ข้าวยังไม่เดือดก็เอาระนาดมา 1 รางผูกกับขาเก้าอี้เพื่อซ้อมตีเป็นเพลง พอข้าวเดือดเรียบร้อยก็เตรียมตัวไปโรงเรียน เวลาพักเที่ยงผมรีบกินข้าวแล้วไปซ้อม พอตอนเย็นเลิกเรียนก็ซ้อมต่อ วันหยุดไปเรียนที่บ้านครูคือใช้แบบนี้ตลอดหลายปี

“ที่ต้องทำแบบนี้เพราะผมไม่ได้มีพรสวรรค์มีแต่พรแสวง ครูบอกว่ารูปร่างเธอเป็นฆ้องก็ไม่ใช่เป็นระนาดก็ไม่เชิง ฉะนั้นผมเป็นคนตัวเล็กข้อมือสั้น ต้องอาศัยพรแสวงโดยการฝึกอย่างเดียว แล้วพอเริ่มเล่นดนตรีได้ครูก็ส่งผมไปออกงานตามรายการวิทยุ และงานบุญต่าง ๆ ถือว่าเป็นเวทีในการฝึกงานของเรา ผมไต่เต้าขึ้นมาตั้งแต่คนโหม่ง ฉาบ ทุ้มเหล็ก ฆ้อง จนสุดท้ายได้ไปตีระนาด”

ระบบการศึกษาไทยในสมัยนั้นเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมใช้เวลา 12 ปี คือเรียนในชั้นประถมศึกษา 4 ปี ต่อด้วยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-ม.6 รวมเป็น 10 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ม.7-ม.8 แล้วจึงเข้ามหาวิทยาลัย แต่ด้วยดร.สิริชัยชาญ เรียนในสายอาชีวะทำให้ต้องเรียนเพิ่มไปอีก 1 ปี คือ ม.9 การเรียนจบในระดับนี้แม้จะเป็นอนุปริญญา แต่ก็สามารถเป็นครูสอนหนังสือได้ ทำให้เมื่อเรียนจบท่านจึงตัดสินใจรับราชการครูแผนกโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรทันที

“ชีวิตการเป็นครูของผมเริ่มแรกจะมีการช่วยเหลือดูแลจากครูของผมอีกที คือทางสถาบันเขาไม่ปล่อยให้นักเรียนไปพบกับครูจบใหม่โดยตรง แต่จะให้ครูที่มีประสบการณ์คอยเป็นพี่เลี้ยงครูใหม่อย่างผมจนเห็นว่าสามารถไต่ระดับการสอนผ่านเขาจึงให้ผมสอนได้อย่างปกติ มันต่างจากครูในปัจจุบันที่พอรับปริญญาแล้วไปสอนเลย ซึ่งความชำนาญหรือการแก้ปัญหาให้กับเด็กอาจทำได้ไม่เต็มที่เพราะเรียนแต่ด้านวิชาการอย่างเดียว 

“ส่วนเทคนิคการสอนผมคิดว่าไม่ได้เปลี่ยนไปตามเวลา แต่มันเปลี่ยนตามลูกศิษย์เพราะการใช้ตำราเดียวแต่ลูกศิษย์อาจทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเด็กไม่มีใครเหมือนกันสักคน ถ้าเราสอนตามปกติจะมีเด็กจำนวนหนึ่งตามไม่ทัน เพราะบางคนมีความจำไม่ดี บางคนมีความจำดีหรือบางทีเขาอาจมีปัญหาชีวิต ครูจึงต้องรู้จักเด็กทุกคนจนถึงขั้นไปเยี่ยมบ้านตลอด

“การเรียนการสอนสมัยนั้นเรียกแบบไทยโบราณว่าทำยังไงให้เด็กเป็น คือเข้ามาเรียนแล้วสามารถออกงานได้ แต่ปัจจุบันการเรียนการสอนไปเน้นที่หลักสูตรเพื่อสอบ อย่างการเรียน 10 เพลงในเวลา 18 สัปดาห์ เป็นผลทำให้เรียนเพียงสัปดาห์กว่า ๆ ก็สอบเลย พอสุดท้ายหมดภาคเรียน จาก 10 เพลง เด็กจำแล้วนำไปใช้ได้ 3 เพลงก็เก่งแล้วเพราะว่าเรียนแล้วทิ้งเลย แต่ก่อนเขาเรียนแล้วทบทวนไปเรื่อยมันช้าวัดด้วยปริมาณไม่ได้มันต้องวัดด้วยคุณภาพ” 

ดร.สิริชัยชาญ ทำงานเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนนาฏศิลปราว 20 ปี ระหว่างนั้นก็มีงานใหม่ ๆ เข้ามาจากโครงการขยายโรงเรียนนาฏศิลปออกไปยังภูมิภาค ทำให้มีโอกาสบุกเบิกไปอยู่โรงเรียนนาฏศิลปเชียงใหม่ถึง 4 ปี จากนั้นท่านได้สอบชิงทุนไปอบรมด้าน มานุษยวิทยาดนตรี ณ East-West Center มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกาถึง 6 เดือน เมื่อเห็นว่าต้องทำงานด้านบริหารการศึกษามากขึ้นจึงเรียนต่อปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย)มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตเป็นครูอยู่นี้เองสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อ ครูมนตรี ตราโมท (ศิลปินแห่งชาติ) มอบหมายให้ ดร.สิริชัยชาญ ไปสอนดนตรีไทยที่วังคลองเตย (พิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน) ทำให้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในเวลาต่อมา

“ผมจำได้ว่าระหว่างที่ผมการสอนอยู่วังคลองเตย สมเด็จพระเทพรัตนฯ ท่านทรงเสด็จมาพระราชทานน้ำสงกรานต์ เมื่อได้ยินเสียงดนตรีท่านทอดพระเนตรเห็นวงปี่พาทย์ ท่านตรัสสั้น ๆ ว่าวันหลังจะมาซ้อมด้วย แล้วท่านก็เสด็จกลับไป ผมก็ไม่คิดว่าท่านจะกลับมา หลังจากนั้นอีกไม่นาน วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2528 ท่านก็เสด็จมาโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า เป็นวันเดียวกับที่รถยนต์ผมเสีย แล้วทางวังก็โทรมาบอกว่าต้องถวายงานเจ้านาย ผมตกใจมากก็ทิ้งรถยนต์แล้วขึ้นรถเมล์มาในใจก็คิดว่าจะถวายงานอะไรท่านเพราะไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย

“เมื่อมาถึงท่านเป็นนักเรียนที่พร้อมมาก พระหัตถ์หนึ่งถือสมุด พระหัตถ์หนึ่งมีเทปกับไม้ตีระนาด แล้วท่านก็ตรัสว่าครูสอนเลย ผมก็หมอบกราบเข้าไปแล้วขอถวายการสอนเหมือนนักเรียนนาฎศิลป์ ท่านก็ตรัสว่าสอนให้เป็นก็แล้วกันถ้าเป็นจะมีรางวัล ปรากฏว่าท่านใช้คำเดิมของผู้ใหญ่คือต้องสอนให้เป็น 

“การถวายงานสอนดนตรีจะผมสอนตามหลักการที่ครูถ่ายทอดมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ ท่านจะอัดเทปขั้นตอนและวิธีการทั้งหมดเอาไว้ ผมไม่เคยคิดเลยว่ามีแบบนี้เพราะแต่ก่อนสอนกันปากเปล่า แล้วพระองค์ท่านเองก็ทรงจดสุดท้ายท่านยังนำสิ่งที่จดมาให้ผมเพื่อไปทำผลงานต่อว่าสอนอะไรไปแล้วบ้าง 

“ในเวลาต่อมาผมได้มีโอกาสทำงานในระดับบริหารที่สูงขึ้นคือได้ไปเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี แต่ก็มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นเพราะพื้นที่ดั้งเดิมเป็นของทหารซึ่งเขายกให้เราสร้างโรงเรียน แต่ยังมีประชาชนอาศัยอยู่ไม่ยอมย้ายและมีบ้านในชุมชนนั้นทำธุรกิจผิดกฎหมายผมถูกขู่ฆ่าโดยมีค่าหัวเพียง 2 หมื่นบาท ยุคนั้นผมลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถึงสองครั้ง เมื่อข่าวเริ่มดังสมเด็จพระเทพฯ ท่านจึงทรงมาตรวจเยี่ยม พอท่านลงพื้นที่จริงก็รับสั่งให้ผมกลับเพราะเกรงว่าชีวิตไม่ปลอดภัย แต่ผมยังทำภารกิจอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง 

“ผ่านไปสักระยะหนึ่งท่านก็ทรงมีรับสั่งมาอีกว่าการเป็นผู้อำนวยการจบปริญญาตรีแบบนี้ไม่พอให้ไปเรียนต่อปริญญาโท ผมจึงไปเรียนครุศาสตร์มหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วต่อด้วยครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (พัฒนศึกษา) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบการศึกษาจึงเป็นที่มาของด็อกเตอร์ในปัจจุบัน”การเรียนจบในระดับปริญญาเอกนี้เองที่ทำให้ชีวิตของดร.สิริชัยชาญ ก้าวหน้าในด้านบริหารเป็นอย่างมาก เพราะได้รับการแต่งตั้งในระบบราชการตามลำดับขั้นไป จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากรก่อนเกษียณอายุราชการออกมาในปี พ.ศ.2546 โดยปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งผลิตบัณฑิตทางศิลปะ ด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ทั้งไทยและสากล ที่มีคุณภาพของประเทศไทย 

“การรับบทจากนักดนตรีไทยมาเป็นผู้บริหารองค์กรเราต้องหยิบเอาภาวะผู้นำมาเป็นที่ตั้ง เป็นผู้บริหารต้องใจแข็งไม่ก้าวร้าวหยาบคายต่อคนอื่น แต่ผมมีข้อเสียคือหน้าผมดุไม่ค่อยยิ้ม เวลาพูดเสียงจะห้าว เวลาพูดเป็นการเป็นงานเสียงดังคนจะนึกว่าผมโกรธ ส่วนเรื่องการทำงานผมจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ได้คิดคนเดียว เรามีบอร์ดบริหารทำงานเป็นทีมกันมากกว่า

“หน้าที่ของผมตรงนี้ต้องส่งเสริมในจุดเด่นของเรา คืออนุรักษ์สืบสานพัฒนาส่งเสริมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของศิลปวัฒนธรรมไทย แล้วตอนนี้เราทำ MOU กับประเทศญี่ปุ่น ประเทศเวียดนาม และกำลังจะไปทำที่ประเทศจีน กับประเทศอินโดนีเซีย ตรงนี้เป็นจุดที่เรามาเสริมให้มีการสร้างสรรค์ต่อยอดด้านศิลปวัฒนธรรรมให้กว้างขึ้น

“ตอนนี้ผมได้นำเสนอเรื่องการแก้พระราชบัญญัติสามัญ ผ่านการประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยในเรื่องการศึกษาซึ่งเราสามารถจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัวเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เช่นเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่นสามารถย้ายมาต่อที่เราได้ทันที หรือเรียนมหาวิทยาลัยเราแต่ไปต่อที่อื่นก็ได้เหมือนกัน

“เรื่องการบริหารภายในองค์กรแม้เราเป็นสถาบันเล็ก ๆ แต่เราก็วางแนวทางไว้อย่างชัดเจน แม้ในสังคมไทยยังตั้งแง่โดยเฉพาะเรื่องของดนตรีไทยคือ มักมีคำว่าเต้นกินรำกิน ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับนักหรือทัศนคติของคนไทยจะคิดว่าเรียนอะไรไม่ได้ก็เลยมาเรียนตรงนี้แต่เขาไม่คิดถึงว่าต้องสืบสานวัฒนธรรมของชาติ เขาคิดกันแค่ว่าเรียนจบแล้วจะทำอาชีพอะไร ข้อเสียจึงอยู่ตรงที่ว่าเราไม่สามารถผลิตบุคคลากรได้เต็มร้อยเหมือนสถาบันเกรดเอ ซึ่งเมื่อเด็กเราเรียนจบแล้วไม่มีการตกงาน แต่อาจไม่ได้ทำงานตรงสายที่เรียนมาเท่านั้น”

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าเมื่อเราเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่และเสรี คนรุ่นใหม่จึงไม่สนใจมรดกอย่างวัฒนธรรมไทยเท่าที่ควร ยิ่งนานวันกลายเป็นเรื่องไกลตัวไม่ทันสมัย ตรงส่วนนี้เองเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรหันมาใส่ใจกับสิ่งที่มีอยู่ของให้มากขึ้น

“เรื่องของดนตรีไทยผมยังมีข้อสงสัยว่าสังคมคิดอย่างไรกับดนตรีประจำชาติ สมมติว่ารัฐบาลจัดงานเลี้ยงรับรองอาคันตุกะ เวลารับประทานอาหารก็จะใช้ดนตรีสากล ในระดับประชาชนเมื่อมีงานเลี้ยงก็ใช้ดนตรีสากลเปิดแสดงกัน อาจเพราะอาจคิดว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลใช้ดนตรีไทยพื้นบ้านเป็นหลักในการรับรองแขกบ้านแขกเมือง แล้วชาวบ้านใช้ดนตรีไทยในงานมงคลมากขึ้น ดนตรีไทยน่าจะสำคัญกว่าที่เป็นอยู่ 

“ถ้าเรื่องนี้ออกเป็นนโยบายรัฐให้คนปฏิบัติตามจะดีมาก สมัยที่ผมเป็นนักดนตรีไทยผมมีโอกาสไปออกรายการวิทยุ ปัจจุบันวิทยุไม่มีดนตรีไทย ทีวีไม่ต้องพูดถึงเลยจะเป็นเรื่องของธุรกิจหมด เพลงสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุงเปิดทั้งวัน แต่เราไปทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นสิทธิของเขา ถ้าเราพยายามให้เขาเพิ่มรายการดนตรีไทย 1 รายการต่อวันอทำไมคนจะไม่สนใจดนตรีไทย คือถ้าเราช่วยกันดนตรีไทยยังไงก็อยู่ได้

“ผมอยากฝากไว้ว่าให้นึกถึงพระวิริยะอุตสาหะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงดนตรีสากลได้ ท่านทรงระนาดฝรั่งได้ทำไมท่านไม่ทรงดนตรีเหล่านี้บ่อย แต่ท่านทรงดนตรีไทยมาตลอดไม่ว่าจะเป็นซอหรือระนาดเรื่องของดนตรีเป็นภารกิจหลักของท่านเลย เราจึงควรคิดว่าท่านอยู่ในระดับนี้ท่านยังอนุรักษ์สืบสานพัฒนาเลย ผมจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้นครับ” 

Being a Professional Teacher มากกว่าดนตรีไทย