เริ่มเร็วเครียดน้อย

เริ่มเร็วเครียดน้อย

“คุยกับพี่แล้วเครียดอ่ะ” ผมมักจะได้ยินประโยคเชิงตัดพ้อแบบนี้บ่อยๆ เวลาที่ผมชวนคุยชวนคนให้คิดถึงจำนวนเงินที่เขาต้องมีเมื่อถึงวันเกษียณ ที่เครียดไม่ใช่ผมพูดไปหน้าบึ้งไปหรือพูดไปด่าเขาไปนะครับ

แต่ที่เครียดก็เพราะรู้ถึงจำนวนเงินที่ต้องมีเมื่อวันเกษียณ พอรู้นี่ ถึงกับหน้าเป็นคิ้วผูกโบว์เลย

เวลาได้ยินคำที่บอกว่า “เครียด” นะ ผมมักจะบอกกลับไปว่า “เครียดซะตอนนี้ ดีกว่าไปเครียดตอนรู้ว่ามีเงินไม่พอตอนใกล้เกษียณ จริงป่ะ”

อย่างนั้นมาเครียดซะตอนนี้พร้อมๆ กันนะครับ

สมมติว่าวันนี้เป็นวันที่คุณเกษียณ คุณคิดว่าคุณต้องมีเงินก้อนเท่าไร ที่คุณจะสามารถทยอยเบิกมาใช้ได้ จนถึงวันสุดท้ายในชีวิตของคุณ  ผมมีวิธีคิดง่ายๆ แบบนี้มาบอกคุณครับ

ก่อนอื่นเลยคุณต้องตอบตัวเองคำถามแรกนะครับ ว่าหากวันนี้เป็นวันที่คุณเกษียณ คุณต้องมีเงินไว้ใช้ส่วนตัวขั้นต่ำเดือนละเท่าไร ที่คุณจะสามารถใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ที่คุณต้องการ

สมมติคุณบอกว่าขั้นต่ำนะต้องมีเดือนละ 30,000 บาท ปีหนึ่งก็ 30,000 x 12 = 360,000 บาทหลังเกษียณคาดว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 25 ปีอันนี้อย่าเผื่อสั้นไป ยิ่งบางบ้านปู่ย่าตาทวดยังอยู่กันครบ คราวนี้ถึงตาคุณ คุณก็มีโอกาสที่จะอายุยืนกว่าอีก ท่องไว้ครับ 

"น่าเสียดายตายไปใช้เงินไม่หมด น่าสลดใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย" เรื่องตายไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเงินหมดแล้วแต่ดันไม่ตายนี่สิเรื่องใหญ่

สมมติหลังเกษียณคุณหาผลตอบแทนของเงินได้เท่ากับเงินเฟ้อ จำนวนเงินที่คุณต้องมีแล้วอยู่ได้พอหลังเกษียณคือ 360,000 x 25 = 9,000,000 บาท

อันนี้เป็นเงินที่สมมติว่าวันนี้เป็นวันเกษียณนะครับ แต่ถ้าเป็นอีกหลายปีถึงจะเกษียณก็ต้องมีมากกว่านี้อีกครับ เพราะในอนาคตข้าวของก็ย่อมแพงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ

ถ้าเงินเฟ้อเป็น 3.5% 
• หากคุณจะเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้าก็เอา 1.41 คูณเข้าไป
• หากคุณจะเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้าก็เอา 1.99 คูณเข้าไป
• หากคุณจะเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้าก็เอา 2.81 คูณเข้าไป

เช่น ถ้าตอนนี้คุณอายุ 30 จะเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยอยากมีเงินใช้เหมือนปัจจุบันเดือนละ30,000 บาท จำนวนเงินเกษียณที่คุณต้องมีคือ 9,000,000 x 2.81 = 25,290,000 บาท

เริ่มเครียดกันหรือยังครับ ถ้ายัง เพิ่มอีกนิดนะครับ จำนวนเงินก้อนนี้ยังไม่ได้เผื่อ หากเกิดอายุยืนกว่านี้ หรือหากมีค่าใช้จ่ายอื่นหลังเกษียณ เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือหากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่านี้อีก

แต่จริงๆ แล้ว คุณยังไม่ต้องเครียดเยอะหรอกครับ เพราะจำนวนเงินก้อนนี้ต้องหักมูลค่าในอนาคตของทรัพย์สมบัติเก่าที่คุณเริ่มสะสมมาก่อนแล้ว เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, RMF, กองทุนหรือหุ้นที่คุณมี ฯลฯ

คุณก็เตรียมเฉพาะส่วนที่ขาดอีกเท่านั้น แล้วถ้าคุณมี "เวลา" ที่คุณจะใช้ในการเก็บเงินหรือลงทุนมากพอ โอกาสที่คุณจะมีเงินครบก็มีมากขึ้น 

Did You Know? 

เห็นไหมครับ ถ้าคุณรู้เรื่องนี้เร็วนะมันก็ไม่ต้องเครียด ถ้าคุณมารู้เรื่องนี้ช้าอย่างอายุ 50 กว่าใกล้จะเกษียณแล้วเพิ่งมารู้นี่สิที่ควรเครียดเพราะมันจะเตรียมไม่ทัน แต่ยังไงก็ตาม เห็นด้วยไหมครับ ถึงเครียดก็ต้องทำ ไม่เครียดก็ต้องทำ...จริงป่ะ?

Know Him

มงคล  ลุสัมฤทธิ์  Wealth Designer เจ้าของหนังสือ Best Seller เล่มล่าสุด “แผนการเงิน ฉบับใช้ได้ตลอดชีพ” ผู้มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล มากว่า 20 ปี  และเป็นเจ้าของบริษัท Wealth Design Consulting
 
ติดตามพูดคุยกับคุณหมงต่อได้ทาง   Facebook FANPAGE :  Financial Times by Mongkol

เริ่มช้าเครียดมาก